#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 29 กรกฏาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 29 ? 30 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุกประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเพิ่มขึ้น สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 3 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ประกอบกับจะมีร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าฟ้าคะนองจะคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. - 3 ส.ค. 63 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และขอให้ชาวเรือในบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ในระยะเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ช็อก ออสเตรเลียสูญสัตว์ป่าเกือบ 3 พันล้านตัวจากเหตุไฟป่า นักวิทยาศาสตร์เผยตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อพบว่าสัตว์ป่ารวมเกือบ 3,000 ล้านตัวในออสเตรเลีย ต้องล้มตาย และได้รับผลกระทบจากเหตุไฟป่ารุนแรงเมื่อปีที่ผ่านมา ไฟป่าออสเตรเลียครั้งใหญ่ เมื่อปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายรุนแรงกว่าที่คิด โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสัตว์ป่าเกือบ 3,000 ล้านตัวล้มตาย และไร้ที่อยู่อาศัย โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานกว่า 2.46 พันล้านตัว นก 180 ล้านตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 143 ล้านตัว และกบอีก 51 ล้านตัว ซึ่งองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ยกให้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ไฟป่าที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงที่ไฟป่ารุนแรงที่สุด นักวิทยาศาสตร์เคยประเมินว่าน่าจะมีสัตว์ป่าราว 1.25 พันล้านตัว ที่ล้มตายจากไฟป่าเฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐวิคตอเรีย แต่ผลการศึกษาล่าสุดจะครอบคลุมพื้นที่ ราว 71.6 ล้านไร่ หรือเกือบเท่าพื้นที่ของประเทศอังกฤษ ที่ถูกเผาทำลายต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นความเสียหายในภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่ายอดเกือบ 3 พันล้านตัวจะยังไม่ใช่ยอดตายทั้งหมด แต่โอกาสที่สัตว์จะหลบหนีและอยู่รอดหลังไฟป่าก็มีไม่มาก เนื่องจากขาดแคลนอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ตัวเลขที่เปิดเผยออกมา ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนับรวม สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ปลา รวมทั้งเต่าด้วย ในขณะที่รัฐบาลออสเตรเลีย ได้ประกาศรายชื่อสัตว์ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 13 สายพันธุ์ หลังจากเกิดเหตุไฟป่า เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกทำลายไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในจำนวนนี้รวมถึง โคอาล่า วัลลาบีส์ นก ปลา และกบ โดยทางรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 1,127 ล้านบาท เพื่อช่วยฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ทางการออสเตรเลีย บังคับใช้กฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมการเกิดไฟป่าในระยะยาว เนื่องจากมีหลักฐานจำนวนมากที่ระบุว่าเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วย. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1898711
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ปะการังเทียม-ปลานานาชนิดสมบูรณ์ที่จุดจมเรือหลวงเกล็ดแก้ว หน้าถ้ำไวกิ้ง เกาะพีพี กระบี่ - นักดำน้ำเผยภาพความสวยงามและความสมบูรณ์ของปะการัง และฝูงปลากว่า 40 ชนิด บริเวณจมเรือหลวงเกล็ดแก้ว ทำปะการังเทียมหน้าถ้ำไวกิ้ง เกาะพีพีเล จ.กระบี่ ก่อนเจอฉลามวาฬคู่ วันนี้ (28 ก.ค.) นายคมศักดิ์ เจนหัตถ์ หรือ "ไก่โต้ง" ครูสอนดำน้ำจาก Profun divers ที่เกาะพีพี จ.กระบี่ ได้เผยแพร่ภาพใต้น้ำ ซึ่งเป็นภาพฝูงปลาหลากหลายไม่ต่ำกว่า 40 ชนิด แหวกว่ายหากินอยู่บริเวณปะการังเทียมเรือหลวงเกล็ดแก้ว หน้าถ้ำไวกิ้ง เกาะพีพีเล โดยภาพดังกล่าวถ่ายไว้เมื่อช่วงสายของวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำลึก นายคมศักดิ์ เปิดเผยด้วยความตื่นเต้นว่า เมื่อวานนี้ได้จัดทริปนำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังบริเวณที่มีการจมเรือหลวงเกล็ดแก้ว เพื่อทำปะการังเทียม หน้าถ้ำไวกิ้ง เกาะพีพีเล โดยเมื่อดำลงไปถึงพบว่าบริเวณดังกล่าวมีความสวยงามและความสมบูรณ์ของปะการังเป็นอย่างมาก และพบว่ามีปลาหลากหลายชนิดกว่า 40 สายพันธุ์ นับหมื่นตัวมาแหวกว่ายหาอาหารกิน และขณะที่นั่งเรือห่างออกไปจากบริเวณปะการังเทียมเรือหลวงเกล็ดแก้ว บริเวณปะการังแห้ง หรือหินไกล ใกล้กับเกาะพีพี โชคดีได้เจอฉลามวาฬขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6 เมตร จำนวน 2 ตัว กำลังว่ายน้ำอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 4-5 เมตร ทางนักดำน้ำและนักท่องเที่ยวจึงลงไปว่ายตามห่างๆ เพื่อบันทึกภาพความสวยงามของฉลามวาฬยักษ์ ซึ่งพบเห็นไม่บ่อยนักและเที่ยวนี้ยังมากันเป็นคู่ "เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างมาก ที่นานๆจะได้พบฉลามวาฬมากันเป็นคู่และมีขนาดใหญ่มาก โดยช่วงที่ว่ายน้ำตามไปนั้นฉลามวาฬไม่ได้มีท่าทีตื่นกลัวแต่อย่างใด ประกอบกับนักดำน้ำและผู้ที่ลงไปก็เว้นระยะห่างเพื่อไม่เป็นการรบกวนฉลามวาฬ ทั้งนี้ การพบรอบนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังจากได้เปิดให้มีการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา หลังจากต้องเผชิญกับโควิด-19 ที่ต้องหยุดการท่องเที่ยวมานานหลายเดือน" ทั้งนี้ อยากจะฝากไปยังนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการดำน้ำลึกเพื่อชมความงามใต้ท้องทะเลเกาะพีพี ก็สามารถเดินทางมาเที่ยวที่เกาะพีพี ซึ่งช่วงนี้มีความสมบูรณ์ของทะเลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจุดที่มีการจมเรือหลวงเกล็ดแก้ว เมื่อปี 57 โดย ทร.ร่วมกับจังหวัดกระบี่ ได้นำเรือหลวงเกล็ดแก้วที่มอบให้แก่จังหวัดกระบี่ นำไปจัดทำเป็นปะการังเทียม และเป็นแหล่งดำน้ำ ซึ่งปัจจุบันปะการังมีความสมบูรณ์และสวยงามเป็นอย่างมาก เป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมาก https://mgronline.com/south/detail/9630000077107 ********************************************************************************************************************************************************* นักวิทย์ประเมินไฟป่าออสเตรเลียทำสัตว์ตาย 3 พันล้านตัว ฝูงปศุสัตว์เล็มหญ้าท่ามกลางหมอกควันจากไฟป่าที่เปลี่ยนสีท้องฟ้าเป็นสีแดง (AFP / Peter Parks) นักวิทยาศาสตร์เผยผลการศึกษาพบไฟป่าออสเตรเลียทำสัตว์ตายเกือบ 3 พันล้านตัว นับเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของสัตว์ป่าที่เลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในโลกยุคใหม่ เอเอฟพีรายงานว่านักวิทยาศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียได้ศึกษาผลกระทบจากไฟป่าที่มีต่อสัตว์ป่า และได้ข้อสรุปว่า ไฟป่าคร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 143 ล้านตัว สัตว์เลื้อยคลาน 2.46 พันล้านตัว นก 180 ล้านตัว และกบอีก 51 ล้านตัว ทว่ารายงานไม่ได้ระบุว่า มีสัตว์ป่ามากเท่าไรที่เสียชีวิตจากไฟป่าโดยตรง แต่ คริส ดิคแมน (Chris Dickman) หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาได้ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีสัตว์ป่าที่รอดชีวิตจากเปลวเพลิงได้ แต่สัตว์ป่าเหล่านั้นก็ไม่ได้รอดไปได้ด้วยดี เพราะยังต้องเผชิญการขาดแคลนอาหาร ไร้ถิ่นอาศัยและหลบภัยจากนักล่า ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี ค.ศ.2019 และต้นปี ค.ศ.2020 ไฟป่าออสเตรเลียทำลายทุ่งไม้พุ่ม (bushland) และป่าที่เต็มไปด้วยกิ่งไม้แห้งเป็นพื้นที่มากกว่า 115,000 ตารางกิโลเมตรทั่วออสเตรเลีย และยังมีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าอีกมากกว่า 30 ราย ส่วนบ้านเรือนของผู้คนถูกไฟป่าทำลายไปหลายพันหลัง เหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียที่เพิ่งผ่านไปนั้น เป็นฤดูกาลไฟป่าที่กินพื้นที่กว้างและยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของออสเตรเลีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่าของรุนแรงของวิกฤตไฟป่านี้เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ลิลี ฟาน อีเดน (Lily van Eeden) นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าทีมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ระบุว่า การศึกษาก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค.ประเมินว่าไฟป่าได้คร่าสัตว์ไปหลายพันตัวในรัฐทางตะวันออกของนิวเซาท์เวลส์ที่ถูกไฟป่าทำลายรุนแรงที่สุด แต่การสำรวจล่าสุดที่เพิ่งเผยผลการศึกษาออกมานี้ เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ครอบคลุมพื้นที่ไฟป่าทั่วแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผลจากการสำรวจยังอยู่ระหว่างการแปลผล โดยรายงานฉบับเสร็จสมบูรณ์จะเผยแพร่ในเดือนหน้า แต่ทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า จำนวนสัตว์ 3 พันล้านตัวที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าก็ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทางด้าน เดอร์มอท์ โอกอร์แมน (Dermot O'Gorman) กรรมการผู้บริหารสาขาออสเตรเลียของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) หรือ WWF ซึ่งเป็นคณะกรรมการรายงานการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าระหว่างการค้นพบนั้นเป็นเรื่องน่าตกใจ และยังยากที่จะนึกถึงเหตุการณ์อื่นใดที่มีการฆ่าหรือกำจัดสัตว์ไปมากมายขนาดนี้ ?เหตุการณ์นี้จัดเป็นหนึ่งในพิบัติภัยของสัตว์ป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ปัจจุบัน? กรรมการผู้บริหารของ WWF สาขาออสเตรเลียกล่าว สถานการณ์อันย่ำแย่ของโคอาลาระหว่างเกิดไฟป่าทำให้สื่อนานาชาติพุ่งความสนใจไปที่สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ และเชื่อว่ามีโคอาลาหลายพันตัวต้องตายจากไฟป่า แต่รายงานของรัฐบาลเมื่อต้นปีนี้ระบุว่ายังมีสัตว์และพืชเฉพาะถิ่นอีก 100 สปีชีส์ที่สูญเสียถิ่นอาศัยไปกับเปลวไฟ ซึ่งทำให้เห็นภาพความสูญเสียมากกว่าที่คิดไว้ นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวด้วยว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูร้อนของออสเตรเลียยาวนานขึ้น และยิ่งเพิ่มความอันตราย ขณะที่ฤดูหนาวก็สั้นลง ยิ่งทำให้เตรียมการป้องกันไฟป่าทุ่งพุ่มไม้ได้ยากยิ่งขึ้น รายงานวิจัยครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันศึกษาของทีมนักวิทยาศานตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (University of Newcastle) มหาวิทยาลัยชาร์ลสสเติร์ต (Charles Sturt University) และกลุ่มอนุรักษ์นกเบิรืดไลฟ์ออสเตรเลีย (BirdLife Australia) https://mgronline.com/science/detail/9630000077230
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ขยะทะเล!! พิธีสาร ลอนดอน 1996 ที่ชาวอาเซียนพึงรู้ .............. โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ คนยุคนี้เข้าใจกันกว้างขวางขึ้นมาก ว่าในที่สุดแล้วพลาสติกทุกชิ้นจะมีอายุนานกว่าเต่า คือจะคงรูปนานกว่า 300 ปี ขึ้นไป ใน 300 ปี พลาสติกทุกชิ้นที่ไม่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลหรือเผาเป็นพลังงาน ในที่สุดจะเคลื่อนถึงแหล่งน้ำแล้วไหลลงทะเลจนได้ จากนั้นมันจะไม่สลายเปื่อยหายเป็นปุ๋ยเป็นดิน แต่ยุ่ยเป็นไมโครพลาสติก ที่มีขนาดจิ๋วจนเข้าไปอยู่ในสัตว์น้ำทุกประเภทต่อไป ดังนั้น ขยะพลาสติกในทะเลจึงทยอยเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ตั้งแต่กุ้งหอยปูปลา มาจนถึงสาหร่ายทะเลและนกทะเล ซึ่งมนุษย์กินต่ออีกที ไมโครพลาสติกจะส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์บ้าง ยังต้องวิจัยติดตาม แต่คงไม่ทำให้ฉลาดขึ้นหรืออายุยืนยาวแข็งแรงแน่ การรักษาทะเลให้สะอาดจึงจำเป็น มนุษย์มักมองว่ามหาสมุทรใหญ่กว่าแผ่นดินมาก แม้เอาภูเขา แผ่นดิน ทั้งหมดไปถมทะเล ก็จะเหลือแผ่นมหาสมุทรที่ใหญ่กว่า 7 ทวีป รวมกันอยู่นั่นเอง คือทั้งกว้างทั้งลึก ในอดีต เมื่อมนุษย์คิดค้นกฏหมายขึ้นมา จึงมองทะเลเป็นเพียงอาณาเขตอย่างหนึ่งของเผ่าพันธุ์ การใช้กฏหมายทะเลตั้งแต่เริ่มจึงเน้นเรื่อง ทะเลอาณาเขต โดยใช้วิชาสมุทรศาสตร์น้ำขึ้นน้ำลงปานกลาง และวิธีทางคณิตศาสตร์ มากำหนดเส้นฐานที่ฝั่ง แล้วตกลงกันว่า ทะเลอาณาเขตของรัฐใดๆในโลก ให้นับออกไป 12 ไมล์ทะเล คือราวๆ 22 กิโลเมตรบนบก ใครมาทำอะไรในเขตนี้ เท่ากับทำกิจกรรมใต้กฏหมายที่ผู้คนบนรัฐชายฝั่งถูกกำหนดไว้ ใช้อำนาจรัฐลุยลงทะเลไปบังคับกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ ต่อมามีการรับรองเขตออกไปเป็น 200 ไมล์ทะเล ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ นอกจากนั้นยังกำหนดเรื่องอำนาจตามเขตไหล่ทวีปอีกแนว โดยถือว่าแร่ใต้น้ำ ปลาในทะเล เป็นสมบัติของรัฐชายฝั่ง ใครจะมาจับมาขุดเอาไปโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่ได้ ที่เล่ามามีแต่เรื่องขอบเขตและทรัพยากรทั้งนั้น ยังไม่มีเรื่องระบบนิเวศทางทะเลสักเท่าใด เมื่อมนุษย์เข้าใจวงจรธรรมชาติกับห่วงโซ่อาหารจากทะเลดีขึ้น ก็มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการรักษาคุณภาพของวงจรทางทะเลเกิดขึ้น การทิ้งเทสิ่งที่เป็นขยะจากเรือ ปรากฎอยู่ในข้อตกลงระหว่างประเทศประเภทหนึ่ง ที่ชาวเรือไทยรู้จักความตกลงนี้ว่า พิธีสาร Ma Po (Marine Pollutions ) หรืออนุสัญญาป้องกันมลพิษจากเรือ 1978 และไทยเข้าเป็นภาคีไปบางฉบับ ส่วนการทิ้งเทสิ่งที่ไม่ประสงค์จากบนแผ่นดินด้วยการขนออกมาทิ้งใส่ทะเล ปรากฏในอีกความตกลงหนึ่ง อันเป็นที่มาของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับปี 1972 เรียกชื่อย่อกันว่า อนุสัญญาลอนดอน 1972 แต่ 20 ปี ต่อมา ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าสิ่งที่ตกลงกันในปี 1972 ยังไม่ทันสมัย เลยขยับมาสร้างพิธีสารฉบับ 1992 เรียก London Protocal 1992 มีสถานะเป็นสนธิสัญญาเอกเทศแยกต่างหาก กำหนดหลักการใหม่ๆเข้าไปในเวทีประชาคมกฏหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอีกสองหลัก หนึ่งคือหลัก 2P หรือ Precautionary Principle เน้นว่าควรป้องกันล่วงหน้า อย่ารอให้เกิดปัญหากับทะเลแล้วค่อยมาตามแก้ไข สองคือหลัก 3P หรือ Polluters Pays Principle ระบุว่าใครก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าแก้ไขมลพิษนั้นๆ เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาปีนี้ (2563) รัฐบาลไทยเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาไทยในการไปเข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสาร London Protocal 1992 และรัฐสภาได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบด้วย ชื่อเป็นทางการคือ พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเล เนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ.1972 แปลว่าไทยได้ภาคยานุวัตรเข้าเป็นสมาชิกพิธีสารนี้ตามหลังบรรดาประเทศที่โดดเข้าร่วมไปก่อนหน้า 53 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 40.74% ของชาติที่เป็นเจ้าของกองเรือที่มีในโลก อาเซียนยังไม่มีชาติใดเข้าเป็นภาคีพิธีสารนี้นอกจากฟิลิปปินส์ ที่เข้าไปก่อนหน้า แปลว่านับแต่นี้รัฐไทยจะมีอำนาจห้ามใครๆทั้งไทยหรือเทศ เอาอะไรก็ตามที่ไม่อยากให้อยู่บนบกไป ทิ้ง ไปเท หรือไปเผาทิ้งทำลายอยู่ในเขต 200 ไมล์ทะเล จากชายฝั่งของไทย หรือแม้แต่ไหล่ทวีป ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ไม่ว่าจะทำโดยบินอากาศยานเข้ามาโปรย จะแล่นเรือเข้ามาทิ้งเท หรือจะลอยทุ่น บังคับวิทยุอะไรเข้ามา เพื่อจมมันลงหรือเผามันทิ้ง ก็ไม่ได้ ห้ามเด็ดขาด ยกเว้นกิจกรรม 8 ประเภทที่อนุสัญญานี้ระบุไว้ในเอกสารแนบ ที่รัฐชายฝั่งอาจพิจารณาอนุญาตได้เมื่อมีการกำหนดวิธีที่ปลอดภัยกันแล้วเช่น การทิ้งตะกอน ทิ้งวัสดุขุดลอก ทิ้งเศษอินทรียวัตถุจากอุตสาหกรรมแปรรูปการประมง การจมเรือลงก้นทะเล การจมแท่นขุดเจาะพลังงานลงในทะเล แถมข้อตกลงนี้ยังก้าวหน้าไปถึงความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ที่วันหนึ่งจะมีกิจกรรมป้องกันภาวะโลกร้อนด้วยการสกัดเอาคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บในภาชนะแล้วฝังลงไปใต้ทะเล ไทยมีกฏหมายภายในเกี่ยวกับทะเลไม่มากฉบับนัก และกฏหมายแม่บทที่มี ก็ไม่ชัดว่าครอบคลุมถึงกิจกรรมถึงเขต 200 ไมล์ทะเลและไหล่ทวีปแค่ไหน ที่มีไปถึงได้ ก็เน้นเฉพาะกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อปลาและสัตว์น้ำ เพราะนั่นคือกฏหมายประมงของไทย ซึ่งไม่ใช่กฏหมายเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตรงๆ ส่วนกฏหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย ก็เป็นกฏหมายเก่าแก่อายุเกินร้อยปี จึงไม่มีหมวดหมู่หรือหลักการที่ทันสมัยเพียงพอจะระบุเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมและวงจรระบบนิเวศในทะเลชัดๆ การเข้าเป็นภาคีพิธีสาร London จึงทำให้ในไม่ช้า รัฐบาลไทยจะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาให้รัฐสภาเห็นชอบ สำหรับใช้ป้องกันมลพิษทางทะเล เพื่อระบุว่าการทิ้ง การเท การเผา การละทิ้ง สิ่งใดๆ ไม่ว่าจะโดยวิธีใด ในเขตทะเลทุกประเภทของไทย เป็นกฏหมายภายใน ห้ามอย่างมีข้อกำหนดและอนุบัญญัติที่เพียงพอ และมีอำนาจยกเว้น 8 กิจกรรมข้างต้นที่ให้ขออนุญาตอย่างเปิดเผยต่อรัฐบาลไทย ซึ่งคงต้องมีบทบาทร่วมกันหลายหน่วยในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตด้วยเงื่อนไขและวิธีการที่ทันสมัย ใช้ความรู้ ความรับผิดชอบและมีเทคโนโลยีที่สามารถเปิดเผยตรวจสอบได้ หลายปีที่ผ่านมา นับแต่รัฐบาลจีนสั่งให้หยุดรับซื้อขยะนำเข้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อก้าวสู่ยุคพัฒนาทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งขยะพลาสติกจำนวนมากที่หาทางหลบกฏระเบียบที่เข้มงวดจากประเทศต้นกำเนิดก็เริ่มถูกส่งเข้ามาในอาเซียนเพื่อให้พ้นๆตัวไป เพราะประเทศแถบนี้ยังอ่อนแอทั้งด้านหลักกฏหมายภายใน และอ่อนแอด้านความตระหนักรู้ภัยของขยะและมลพิษทะเล ใครจะรู้ ว่ามีขยะของเสียกี่ส่วนที่ลักลอบหรือตบตาเจ้าหน้าที่จนสามารถเข้าถึงบนแผ่นดินได้ และยิ่งไม่มีใครรู้แน่ ว่ามีอีกเท่าไหร่ที่ ทิ้งเทลงทะเลไปเฉยๆเสียตั้งแต่ยังไม่เข้าถึงฝั่ง อำนาจระดับรัฐในอาเซียนจึงควรเพิ่มพลังแก่กันในการตรวจตรา ลาดตระเวน เฝ้าระวังพฤติกรรม midnight run อย่างที่เคยเกิดมากในสหรัฐเมื่อสี่สิบปีก่อน ตามทุ่ง ตามป่าข้างถนน ที่รถบรรทุกกากอุตสาหกรรมแอบแล่นไปเททิ้งในที่ลับตา กว่าจะรู้ก็เมื่อถังเหล็กถังไวนิลเหล่านั้นแตกเสียหาย ในหลายๆปีต่อมา จนกระทั่งสารพิษไหลลงระบบน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน กว่าชาวบ้านผู้รับเคราะห์ออกค้นหาสาเหตุ จึงได้ไปเจอเข้า ซึ่งแก้ไขยากแล้ว เหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นคดีตัวอย่างที่พวกผมใช้เล่าเรียนในช่วงปี 1991-1992 ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ วิชากฏหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังนับเป็นวิชาใหม่ๆในสมัยนั้น แต่บัดนี้กิจกรรมทำนองเดียวกันได้กลายมาเป็นการทิ้งเทขนาดใหญ่นอกประเทศ แหล่งกำเนิดด้วยเรือขนส่งที่แล่นผ่านน่านน้ำต่างๆที่มีระบบอ่อนแอกว่าในการป้องกัน สำหรับเราคนไทยที่อยู่ในกระแสเริ่มตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก การงดแจกถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ การเตรียมยกเลิกหลอดดูดพลาสติกและโฟมบางบรรจุอาหารในปีหน้า ก็น่าเชื่อว่าคงพอใจกับการที่ไทยเข้าร่วมกติกาสากลเรื่องการรักษาทะเลไม่ให้ต้องรับสารพิษและขยะสารพัดข้างต้น เราสะเทือนใจกับการตายของพะยูน วาฬ และโลมา รวมทั้งเต่าทะเลมานับไม่ถ้วนแล้ว แถมไทยติดอันดับที่ 6 ในฐานะชาติผู้ปล่อยขยะลงทะเลของโลก พิธีสาร London ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาไปเดือนกรกฎาคม 2563 คงจะช่วยให้สังคมไทยสามารถขยับใช้มาตรการต่างๆที่ภาครัฐและประชาสังคมจะนำออกมาใช้คุ้มครองทะเลและระบบนิเวศกันอย่างเข้มแข็ง และช่วยกันหาวิธีชดเชยเพื่อลดการใช้พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษจากช่วงโควิดระบาดในปีนี้ให้ได้ร่วมกัน โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
สาระสำคัญของพิธีสารและร่างพระราชบัญญัติ 1. พิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการควบคุมการทิ้งเทลงในทะเลโดยห้ามทิ้งเทของเสียและวัสดุอย่างอื่นจากเรือ อากาศยาน แท่นหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล ดังนี้ 1.1 กำหนดให้มีผลใช้บังคับบริเวณทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน อย่างไรก็ตาม รัฐภาคีจะพิจารณาการใช้บังคับบทบัญญัติในพิธีสารกับการทิ้งเทหรือเผาในเขตน่านน้ำภายใน หรือใช้ระบบการอนุญาตและมาตรการทางกฎหมายอื่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมการทิ้งของเสียหรือวัสดุอย่างอื่นอย่างจงใจลงทะเลในเขตน่านน้ำภายในก็ได้ 1.2 กำหนดกิจกรรมที่ต้องมีการขออนุญาต ได้แก่ การทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล การเก็บวัสดุต่าง ๆ ใต้ทะเลหรือดินใต้ผิวดินในทะเล และการห้ามเผาวัสดุทุกชนิดและทุกประเภทในทะเล 1.3 กำหนดให้การทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล และการเก็บวัสดุต่าง ๆ ใต้ทะเลหรือดินใต้ผิวดินในทะเลจะต้องเป็นการทิ้งเทหรือเก็บวัสดุจากเรือหรืออากาศยานซึ่งไม่รวมถึงเรือและอากาศยานที่ได้รับความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ แท่นขุดเจาะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล 1.4 กำหนดให้ของเสียหรือวัสดุอื่นที่สามารถทิ้งเทลงทะเลได้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนทำการทิ้งเท จำนวน 8 ประเภท ได้แก่ วัสดุที่ขุดลอก กากตะกอนน้ำเสีย ของเสียจากอุตสาหกรรมประมงและวัสดุจากการปฏิบัติการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ เรือหรือแท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล วัสดุทางธรณีวิทยาหรืออนินทรีย์สารที่มีความเฉื่อย วัสดุอินทรีย์จากธรรมชาติ วัตถุขนาดใหญ่ และกระแสคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ วัสดุทั้ง 8 ประเภทข้างต้นจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนทำการทิ้งเทโดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาต ให้เป็นไปตามที่รัฐภาคีกำหนด 1.5 กำหนดให้รัฐภาคีต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะใช้ประกอบการพิจารณาประเมินการทิ้งเท ได้แก่ การป้องกันการเกิดของเสีย ทางเลือกในการจัดการของเสีย คุณสมบัติทางเคมี กายภาพและชีวภาพ รายการจัดชั้นสาร สถานที่ทิ้งเท และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 1.6 กำหนดข้อยกเว้นให้รัฐภาคีสามารถออกใบอนุญาตให้สามารถทิ้งเทวัสดุหรือของเสียลงทะเลได้ หากเข้ากรณีต่อไปนี้ 1.6.1 มีเหตุจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์ เรือ อากาศยาน แท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล ไม่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยจากความรุนแรงของสภาพอากาศ หรือด้วยเหตุสุดวิสัยใด ๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ภัยคุกคามต่อเรือ อากาศยาน แท่นขุดเจาะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล โดยที่การทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุในทะเลนั้นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะป้องกันมิให้เกิดภัยคุกคามดังกล่าว รวมถึงป้องกันอันตรายต่อชีวิตมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตในทะเล 1.6.2 เหตุฉุกเฉินจำเป็นที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ ความปลอดภัยหรือสิ่งแวดล้อมทางทะเล อย่างไรก็ตาม รัฐภาคีอาจสละสิทธิ์ในการใช้ข้อยกเว้นข้างต้นได้ โดยให้แจ้ง ณ เวลาที่ได้มีการให้สัตยาบันหรือการภาคยานุวัติพิธีสารนี้ 2. ร่างพระราชบัญญัติการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. ?. เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ออกเพื่อรองรับพันธกรณีตามพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีสาระสำคัญ ดังนี้ 2.1 กำหนดให้มีผลบังคับใช้บริเวณทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน 2.2 กำหนดรองรับเนื้อหาของพิธีสารลอนดอนฯ ในข้อ 1.2 ? 1.6 โดยกำหนดให้วัสดุที่สามารถทิ้งเทในทะเลได้ จำนวน 8 ประเภท และกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตให้ทิ้งเทวัสดุทั้ง 8 ประเภท ตามข้อ 1.4 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง 2.3 กำหนดให้มี ?คณะกรรมการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น? โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 2.3.1 กำหนดนโยบายและแผนป้องกันมลพิษทางทะเล เนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น รวมทั้งกำหนดแนวทางและให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำกับดูแลการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ 2.3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประเมินการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการประเมินการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นที่ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายงานการประเมินการทิ้งเทของเสีย หรือวัสดุอื่น 2.3.3 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย 2.4 กำหนดบทกำหนดโทษ ดังนี้ 2.4.1 มาตรการทางปกครอง กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษจากการทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล หรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต 2.4.2 มาตรการทางแพ่ง กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเป็นการลงโทษทางแพ่งเพิ่มเติมขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ทิ้งเทหรือเผารู้อยู่แล้วว่าของเสียหรือวัสดุอื่นนั้นเป็นของที่ไม่ปลอดภัย หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าไม่ปลอดภัยภายหลังทิ้งเทนั้นแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณี 2.4.3 กำหนดให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเลโดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉินซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายนี้ หรือกระทำการฝ่าฝืนใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น 2.4.4 กำหนดให้ผู้กระทำฝ่าฝืนข้อห้ามเผาของเสียหรือวัสดุอื่นในทะเล ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2563 https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000077179
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
ล็อบสเตอร์สีน้ำเงิน รอดหวุดหวิด ได้ไปสวนสัตว์แทนภัตตาคาร ล็อบสเตอร์สีน้ำเงิน - ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า สวนน้ำมอนเทอเรย์ เบย์ อควาเรียม เมืองแอ็กรอน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา โพสต์เรื่องราวล็อบสเตอร์ตัวหนึ่ง รอดตายอย่างหวุดหวิด เพราะโชคดีที่มีคนช่างสังเกต เห็นว่ามันเป็นล็อบสเตอร์สีน้ำเงิน หาได้ยากมาก เป็นสัตว์อนุรักษ์ พนักงานเรดล็อบสเตอร์ กำลังจะส่งล็อบสเตอร์ตัวนี้ไปภัตตาคารไคยาโฮกา ฟอลส์ แต่สังเกตได้ทันว่ามันมีตัวสีน้ำเงิน ต้องเป็นล็อบสเตอร์พิเศษ จึงโทร.แจ้งสวนสัตว์ส่งคนมารับไป พร้อมตั้งชื่อให้มันว่า คลอว์ดี "เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ของเรารีบไปรับมันมาทันที และเตรียมบ้านใหม่ให้" สวนสัตว์โพสต์ พร้อมระบุว่า การจะพบล็อบสเตอร์สีน้ำเงินมีโอกาสยากมากๆ หรือมีเพียง 1 ใน 2 ล้านตัวเท่านั้น การที่มันมีสีน้ำเงินได้ เป็นความผิดปกติของยีนส์ เมื่อเดือนพ.ค. 2562 ร้านอาหารที่แมสซาชูเส็ตส์พบล็อบสเตอร์สีน้ำเงิน และส่งไปยังสวนน้ำที่นั่นเช่นกัน และไม่นานจากนั้น ก็มีกรณีชาวประมงในรัฐเมน จับล็อบสเตอร์สีลูกกวาดได้ถึงสองครั้ง และอีกเดือนถัดมา มีชาวประมงอีกคนจับล็อบสเตอร์สีแดงดำ ที่หาได้ยากที่สุด คือ 1 ใน 50 ล้านตัว https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_4599120
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
ชาวบ้านหา'หอยเสียบ'หาดดงตาลพัทยามาปรุงเมนูเด็ด'หอยเสียบผัดน้ำพริกเผา' วันที่ 28 ก.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณชายหาดดงตาล-หาดจอมเทียน เมืองพัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบชาวบ้านได้นั่งเรียงรายกันตามชายหาดขุดหาหอยเสียบกันเป็นจำนวนมาก หลังว่างงานหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ยายกุ๊กไก่ (ไม่ทราบชื่อและนามสกุล) 1 ในชาวบ้านที่มาขุดหาหอยเสียบด้วย เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ว่างงานและหยุดหลายวันจึงได้ออกหาหอยเสียบเอาไปทำกับข้าวมื้อเย็นเพื่อเป็นการประหยัดเงินได้อีกหนึ่งทาง ซึ่งหอยที่ได้จะไปทำเมนู ผัดกระเพรา หรือผัดน้ำพริกเผา ก็ได้ และหากวันใหนหาได้มากก็จะแบ่งขาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ขายจะนำไปปรุงเป็นอาหารมากกว่า ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้พบว่าชาวบ้านได้นำอุปกรณ์ทัพพีตักข้าวเกลี่ยลงบนพื้นทรายลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร (ซม.) จะพบหอยซุกอยู่ครั้งละ 3-5 ตัว บางคนนั่งใช้มือนั่งช้อนทรายขึ้นมาพอถูกน้ำทะเลซะหอยก็จะโผล่ขึ้นมา ซึ่งหอยเสียบนั้นมีขนาดใหญ่พอสมควรเหมาะแกการนำไปทำอาหาร หรือจะแปรรูปเป็นหอยเสียบดองน้ำปลา สามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี https://www.naewna.com/likesara/508044 ********************************************************************************************************************************************************* นักท่องเที่ยวเกาะสมุยฮือฮา! พบฝูงฉลามหูดำหากินใกล้แนวชายฝั่ง วันที่ 28 ก.ค.63 เพจ Starving travelers ในเฟซบุ๊ก ได้โพสต์ภาพฝูงฉลามหูดำ หรือฉลามครีบดำ (Blacktip Shark) นับ 10 ตัว ที่ถ่ายไว้ได้บริเวณหน้าชายของโรงแรม ชาซ่า รีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ เกาะสมุย ห่างออกไปจากชายหาดประมาณ 200 เมตร กำลังว่ายวนเวียนอยู่ตามโขดหินหาอาหารจับปลาเล็กปลาน้อยอยู่บริเวณน้ำตื้นชายหาด จากการติดต่อสอบถามเจ้าของเพจดังกล่าวทราบชื่อว่า นายภูกิจ ปิ่นทองพันธ์ เป็นบล็อกรีวิวภาพท่องเที่ยว ได้เผยว่า ตนได้เข้ามาถ่ายภาพสถานที่ท่องเที่ยวได้พบกับฝูงฉลามครีบดำที่เห็นนี้ มีมากกว่า 10 ตัว กำลังว่ายไปมาอยู่ตามแนวโขดหิน จึงได้ถ่ายภาพเก็บไว้และนำมาเผยแพร่ถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติในเกาะสมุย พนักงานโรงแรมบอกว่าทุกวันเวลาประมาณ 7-8 โมงเช้า เจ้าฉลามครีบดำฝูงนี้จะเข้ามาว่ายอวดโฉมให้เห็น นับได้ 3 วันแล้ว และนักท่องเที่ยวที่พักอยู่ที่โรงแรมก็ได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก แต่ไม่กล้าเข้าไกลเพราะกลัวว่าจะไปรบกวนมัน และก็กลัวว่าตนเองจะโดนทำร้ายด้วย สำหรับฉลามหูดำ หรือฉลามครีบดำ (Blacktip Shark) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเพรียวยาว ปากกว้าง มีแถบดำที่ครีบหลัง ครีบไขมัน ครีบก้น และครีบหางตอนล่าง เป็นที่มาของชื่อ กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาฉลามชนิดอื่น ๆ นิยมอยู่รวมเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง และอาจเข้ามาในบริเวณน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำ โดยสามารถเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว แต่สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทำให้ธรรมชาติของเกาะสมุยกลับมาสมบูรณ์ขึ้น มีทั้งแม่เต่าตนุ เต่ากระ ขึ้นมาวางไข่ทั้งหมดถึง 19 รัง เมื่อฟักออกเป็นตัวก็คาดว่าจะมีกว่า 1,000 ตัว และฉลามครีบดำ ก็เป็นสัตว์ทะเลล่าสุดที่มาอวดโฉมให้เห็น https://www.naewna.com/likesara/508035
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|