#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย อนึ่ง พายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) บริเวณทางตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) กำลังเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ คาดว่า จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 3 (โซนร้อน) ในระยะต่อไป และคาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 19-20 สิงหาคม 2563 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 18 - 19 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีการกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับมีร่องมรสุมยังคงพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมหย่อมความกดอากาศต่ำมีกำลังแรง ในทะเลจีนใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อน ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 20 ? 23 ส.ค. 63 ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (18 สิงหาคม 2563) พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 117.5 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กม./ชม. พายุนี้มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 3 (โซนร้อน) ในระยะต่อไปและคาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 19-20 สิงหาคม 2563
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
"ปูไก่" เดินเพ่นพ่าน "อ่าวมาหยา" ตอกย้ำปิดอ่าวกว่า 2 ปี ธรรมชาติฟื้นตัว สัตว์หายากหวนคืน ปูไก่ เดินอวดโฉมที่อ่าวมาหยา อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โพสต์ภาพปูไก่ สัตว์หายากเดินเพ่นพ่านหน้าหาด ตอกย้ำธรรมชาติฟื้นตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ สัตว์หายากหวนคืน หลังการปิดอ่าวมาหยามากว่า 2 ปี อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เผยความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวมาหยา ล่าสุด โพสต์ภาพ "ปูไก่" สัตว์หายากออกมาเดินเพ่นพ่านที่หน้าอ่าวมาหยา โดย อช. หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้โพสต์ภาพปูไก่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ "อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี" พร้อมมีข้อความสั้น ๆ กำกับว่า ?ปูไก่? อ่าวมาหยา #อ่าวมาหยา #ปูไก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อ่าวมาหยา ตั้งอยู่ที่เกาะพีพีเล แห่งหมู่เกาะพีพี (มี 2 เกาะใหญ่สำคัญคือ เกาะพีพีเลและพีพีดอน) อยู่ภายใต้การดูแลของ ?อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี? จังหวัดกระบี่ อ่าวมาหยา มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวเล็ก ๆ ที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อม มีหาดทรายทอดตัวโค้งงาม พื้นทรายละเอียดยิบขาวเนียน น้ำทะเลสวยใสดุจดังสระว่ายน้ำธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน จนอ่าวมาหยาถูกยกให้เป็น "สวรรค์แห่งอันดามัน" ฉลามหูดำที่เข้ามาในพื้นที่อ่าวมาหยาอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความสวยงามของอ่าวมาหยา ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในระดับโลก ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวมีคนมาเที่ยวที่อ่าวมาหยาเป็นจำนวนมาก จนล้นเกินพอดีทำให้ธรรมชาติที่อ่าวมาหยาเสียหาย บอบช้ำทั้งบนบกและโลกใต้ทะเล อันนำมาสู่การประกาศปิดอ่าวมาหยา เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา วันนี้หลังการปิดอ่าวมาหยามากว่า 2 ปี โดยไม่มีกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เข้ามาบริเวณอ่าวแห่งนี้ ทำให้ธรรมชาติที่เคยเสื่อมโทรมค่อย ๆ ฟื้นตัว พืชพันธุ์ป่าชายหาดขยายตัว ผักบุ้งทะเลเกิดขึ้นมาเองบนชายหาด ซึ่งมันเป็นพืชที่ช่วยยึดเกาะและป้องกันการพังทลายของแนวหาดทราย นอกจากนี้สัตว์หลายชนิด หลังจากหนีมนุษย์ห่างหายไปไม่พบที่อ่าวมาหยามานานก็ทยอยกลับคืนสู่อ่าวอันงดงามแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ปูลม ปูทหาร ปลาการ์ตูนส้มขาว ฉลามวาฬ ฉลามหูดำ และปูไก่ "ปูไก่" คือ ปูชนิดหนึ่ง มีขนาดตัวใหญ่ประมาณ 1 ฝ่ามือ มีกระดองสีแดงอมม่วง แดงอมส้ม หรือบางตัวก็มีสีน้ำเงินเหลือบ เหตุที่เรียกปูชนิดนี้ว่าปูไก่ ก็เพราะมันมีเสียงร้องคล้ายกับไก่นั่นเอง หลังปิดอ่าว ปูไก่ สัตว์หายากกลับมาปรากฏตัวที่อ่าวมาหยาอยู่บ่อยครั้ง ปูไก่ แม้เป็นปูน้ำจืดที่ชอบอยู่ตามลำธาร แต่ที่บ้านเรามักจะพบปูไก่ตามเกาะทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะที่เกาะสี่ และเกาะตาชัยแห่งหมู่เกาะสิมิลัน ที่มีปูไก่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่อ่าวมาหยา ปูไก่เป็นสัตว์หายากที่หายตัวจากอ่าวแห่งนี้ไปนานอันเนื่องมาจากมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก กระทั่งหลังการปิดอ่าวมาหยา ปูไก่ได้กลับมาปรากฏตัวที่นี่อยู่บ่อยครั้ง นับเป็นการตอกย้ำถึงความอุดมสมบูรณ์ของการปิดอ่าวมาหยา เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี https://mgronline.com/travel/detail/9630000084324
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ตื่นตา!! ที่เกาะห้อง หิ้วปิ่นโตไปชมฉลามหูดำติดชายหาด ฉลามหูดำ กำลังแหวกว่ายบริเวณชายหาดเกาะห้อง วันนี้ (17 ส.ค.2563) เพจเฟซบุ๊ค นายจำเป็น ผอมภักดี พนักงานพิทักษ์ป่า ส3 อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ ได้โพสต์ภาพฉลามหูดำกำลังแหวกว่ายบริเวณชายหาดเกาะห้องประมาณ 30 ตัว มีขนาดตั้งแต่ 50 ซม. จนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 150 ซม. ซึ่งสะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และความสวยงามของทัศนียภาพที่งดงามของธรรมชาติทางทะเล ซึ่งหลังจากเปิด อช.ธารโบกขรณี กว่า 1 เดือนครึ่ง โดยยังเปิดเฉพาะหน่วยพิทักษ์ฯที่ธบ.1 (เกาะห้อง) และหน่วยพิทักษ์ฯที่ธบ.3 (บ่อท่อ) ส่วนที่ทำการอุทยานฯ (น้ำตกธารโบกขรณี) ยังคงปิด ปรากฎการณ์ที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวรักษ์โลก คือ การเข้ามาชมสัตว์น้ำหายาก อย่างฉลามหูดำ และการย้อนเวลากลับไปรำลึกวิถีชีวิตในอดีตที่หิ้วปิ่นโตใส่อาหาร (ยุคไร้ถุงพลาสติกใส่อาหาร) ตอนนี้นักท่องเที่ยวส่วนหลักยังเป็นชาวไทยคงนิยมนำอาหารใส่ปิ่นโตมาเที่ยวพักผ่อนที่ชายหาดบนเกาะห้อง ซึ่งตอนนี้เสมือนเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการท่องเที่ยวที่นี่ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของทางอุทยานฯ ที่ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวนำถุงพลาสติก และโฟมเข้ามาภายในเขตอุทยานฯ ที่เริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากนักท่องเที่ยวคนไทย รวมถึงการมีมาตราการในการรักษาความปลอดภัยด้วยการท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอลในเขตอุทยานฯ ฑีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นหน้ามรสุม ทางเกาะแก่งต่างๆ ประกอบด้วย เกาะห้อง เกาะเหลาลาดิง เกาะผักเบี้ย ในเขตอุทยานธารโบกขรณี ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะทางทะเลจำนวนมาก ลมเปลี่ยนทิศพัดขยะเข้าสู่ชายฝั่งกองเรียงรายตามแนวชายหาดจำนวนมาก บางส่วนลอยเป็นแพขยะอยู่กลางทะเล ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างหนักเกือบทุกวัน เพื่อเก็บกวาดนำขยะเหล่านี้ไปทำลาย ก่อนเปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าเยี่ยมชมธรรมชาติที่สวยงาม หมู่เกาะห้อง เขตอุทยานธารโบกขรณี ยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งเป็นคนในจังหวัดกระบี่และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาสัมผัสชื่นชมธรรมชาติ พร้อมกับหิ้วปิ่นโตมาร่วมรับประทานอาหาร ซึ่งถือว่าทุกคนได้ช่วยลดการสร้างปัญหาขยะ ที่จะเป็นขยะทะเล เพราะทุกวันนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังต้องระดมเก็บกวาดกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ชายหาดทุกวันสะอาดตา โดยเฉพาะในช่วงนี้ สัตว์น้ำหาดูยาก "ฉลามหูดำ" ยังเข้ามาแหวกว่ายติดชายหาดเกาะห้อง จากก่อนหน้าที่เห็นจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้บันทึกภาพไว้ตอนที่ช่วงอุทยานฯปิด ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัสจริง มีความประทับใจมาก จึงขอย้ำสั้นๆ เพียงทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนการสวมชูชีพก่อนลงเล่นน้ำเพื่อความปลอดภัย ท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอล รวมถึงการนำขยะคืนถิ่น ซึ่งเป็นการเที่ยวแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่ทำลายธรรมชาติ สำหรับปลาฉลามครีบดำ หรือ ปลาฉลามหูดำ ( Blacktip reef shark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Carcharhinus melanopterus) วิกิพีเดีย อธิบายว่าเป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเพรียวยาว ปากกว้าง มีแถบดำที่ครีบหลัง ครีบไขมัน ครีบก้น และครีบหางตอนล่าง เป็นที่มาของชื่อ กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยไม่ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาฉลามชนิดอื่นๆ นิยมอยู่รวมเป็นฝูงบริเวณใกล้ชายฝั่ง และอาจเข้ามาในบริเวณน้ำกร่อย หรือปากแม่น้ำ โดยสามารถเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง แม้กระทั่งในพื้นที่ๆ มีน้ำสูงเพียง 1 ฟุต เป็นปลาหากินในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวพักผ่อนตามแนวปะการัง โดยจะหากินอยู่ในระดับน้ำความลึกไม่เกิน 100 เมตร ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 เมตร ตัวเมียตั้งท้องนาน 18 เดือน ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 2-4 ตัว เมื่อโตขึ้นแล้วสีดำตรงที่ครีบหลังจะหายไป คงเหลือไว้แต่ตรงครีบอกและครีบส่วนอื่น นับเป็นปลาฉลามชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในทะเล และเป็นต้นแบบของปลาฉลามในสกุลปลาฉลามปะการัง มีนิสัยเชื่องคน สามารถว่ายเข้ามาขออาหารได้จากมือ เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ที่นิยมการดำน้ำ พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000084400
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
คลื่นลมสงบ! 'ฉลามหูดำ' ฝูงใหญ่กลับเข้าหากินหน้าชายหาดเกาะห้องทะเลกระบี่ 17 ส.ค.63 - นายทีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีจังหวัดกระบี่ ได้รับรายงานจากนายจำเป็น ผอมภักดี หัวหน้าหน่วยพิทักษ์หมู่เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี หมู่ที่ 3 บ้านท่าเลน ตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ว่าขณะที่เจ้าหน้าที่ออกเดินตรวจความเรียบร้อยตามแนวชายหาดของเกาะห้อง ได้พบฝูงฉลามหูดำฝูงใหญ่ จำนวน 30 ตัว หลังจากทะเลอันดามันของน่านน้ำจังหวัดกระบี่ สภาพอากาศปลอดโปร่งไม่มีฝนตกลงมา ทำให้ท้องทะเลไม่มีคลื่นลมแรง สร้างความฮือฮาและตื่นเต้นให้กับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก นานๆครั้งจะมีฝูงฉลามหูดำจำนวนมากเข้ามาหากินลูกปลาถึงหน้าชายหาดเกาะห้อง ที่มีระดับน้ำตื้นเพียง 30 เซนติเมตร โดยฉลามหูดำแต่ละตัวมีความยาวตั้งแต่ 50 เซ็นติเมตร ถึง 1.50 เมตร นายฑีฆาวุฒิ กล่าวว่า ฝูงฉลามหูดำฝูงนี้เข้ามาหากินหน้าชายหาดเกาะห้องนานหลายชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.15-08.20 น. ก่อนว่ายออกไปที่แนวปะการังน้ำลึกซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบปีนี้ เป็นผลมาจากมาตรการปิดเกาะห้อง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 และปิดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ถือว่าในช่วงนั้นได้มีการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลและบนบกให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จนทำให้สัตว์น้ำหายากและใกล้จะสูญพันธุ์หวนกลับคืนสู่ถิ่นเดิม และหลังจากที่เปิดให้มีการท่องเที่ยวได้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ฉลามหูดำเข้ามาหากินอีกครั้ง ฉลามหูดำเป็นสัตว์ทะเลที่หาดูได้ยากทั้งเป็นสัตว์สงวนหวงห้าม มาแหวกว่ายริมชายหาดของเกาะห้องเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลบริเวณดังกล่าว http://www.thaipost.net/main/detail/74682
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์
น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายจนถึงจุดที่ทำให้แก้ไขไม่ได้ ในขณะที่ชาวโลกกำลังระแวงกับการระบาดของโควิด-19 ปัญหาโลกร้อนกำลังทำให้แผ่นน้ำแข็งหมดสิ้นไปแบบเรียกคืนไม่ได้อีก พืดน้ำแข็ง (ice sheet) ของกรีนแลนด์อาจหดตัวจนเลยจุดที่แก้ไขไม่ได้แล้ว จากการวิจัยล่าสุดพบว่าน้ำแข็งมีแนวโน้มที่จะละลายหายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าโลกจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเร็วแค่ไหนก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ศึกษาธารน้ำแข็ง 234 แห่งทั่วกรีนแลนด์ซึ่งเป็นดินแดนอาร์กติกเป็นเวลา 34 ปีจนถึงปี 2018 และพบว่าปริมาณหิมะ/น้ำแข็งประจำปีเกิดขึ้นไม่ทันกับน้ำแข็งที่ละลายไปในช่วงฤดูฤดูร้อนได้อีกต่อไป การละลายดังกล่าวทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี หากน้ำแข็งทั้งหมดของกรีนแลนด์หายไป น้ำที่ปล่อยออกมาจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 6 เมตรซึ่งเพียงพอที่จะท่วมเมืองชายฝั่งหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงบางส่วนของกรุงเทพฯ พื้นที่อาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือร้อนขึ้นอย่างน้อยสองเท่ามากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนน้ำแข็งในทะเลขั้วโลกในเดือนกรกฎาคมมีระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี https://www.posttoday.com/world/630886
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
อุณหภูมิที่หุบเขามรณะในสหรัฐฯ แตะ 54.4 องศา ครองสถิติอากาศร้อนที่สุดในโลก สถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในโลกก่อนหน้านี้ก็มาจากที่หุบเขามรณะเช่นกัน ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES อุณหภูมิที่อุทยานแห่งชาติหุบเขามรณะ (Death Valley National Park) ในสหรัฐฯ พุ่งสูงแตะ 54.4 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเป็นอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในโลกที่เคยมีการวัดที่ถือว่าเชื่อถือได้ สถิติดังกล่าว ซึ่งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Weather Service) เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญคลื่นความร้อนทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ สภาพอากาศร้อนระอุทำให้เกิดเหตุขัดข้องที่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งหนึ่ง จนทางการต้องตัดไฟในพื้นที่บางส่วนของรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลา 2 วัน สถิติก่อนหน้านี้ สถิติที่วัดเมื่อวันอาทิตย์ (16 ส.ค.) จัดเก็บจากหมู่บ้านเฟอร์เนซ ครีก (Furnace Creek) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานของอุทยานแห่งชาติหุบเขามรณะ สถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในโลกก่อนหน้านี้ก็มาจากที่หุบเขามรณะเช่นกันเมื่อปี 2013 อยู่ที่ 54 องศาเซลเซียส เมื่อศตวรรษที่แล้ว มีการบันทึกอุณหภูมิที่หุบเขามรณะไว้ที่ 56.6 องศาเซลเซียส แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ในปี 1931 เคยมีการบันทึกอุณหภูมิสูง 55 องศาเซลเซียสที่ประเทศตูนิเซีย แต่ คริสโตเฟอร์ เบิร์ต นักประวัติศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ บอกว่า ข้อมูลดังกล่าว รวมถึงการบันทึกครั้งอื่น ๆ ในแอฟริกาในช่วงล่าอาณานิคมนั้นเชื่อถือไม่ได้ คลื่นความร้อนทำให้เกิดปรากฏการณ์ ทอร์นาโดไฟ (firenado) ที่มาของภาพ,REUTERS คลื่นความร้อน คลื่นความร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้แผ่ปกคลุมตั้งแต่รัฐแอริโซนาทางตะวันตกเฉียงใต้ไล่ขึ้นไปจนถึงรัฐวอชิงตันทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าคลื่นความร้อนนี้จะร้อนที่สุดวันนี้และพรุ่งนี้ (18 ส.ค.) ก่อนที่อุณหภูมิจะลดลง แต่อากาศร้อนอบอ้าวก็จะคงอยู่ไปราว 10 วัน ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าอิสระแคลิฟอร์เนีย (California Independent System Operator-ISO) ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่า ความต้องการไฟฟ้าเลยปริมาณที่สามารถผลิตได้แล้ว ผลกระทบคลื่นความร้อน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ บอกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คลื่นความร้อนคร่าชีวิตคนในประเทศมากกว่าสภาพอากาศเลวร้ายแบบอื่น ๆ นอกจากไฟดับแล้ว ผลกระทบอื่น ๆ ได้แก่ ต้องสั่งห้ามทำการบิน ถนนละลาย และระบบเครื่องยนต์ของรถร้อนจนอันตราย นอกจากนี้ คลื่นความร้อนยังจะส่งผลร้ายแรงต่อการเกษตรกรรมด้วยคือทำให้พืชผลเหี่ยวเฉาหรือตาย และยิ่งทำให้เกิดการระบาดของโรคพืช https://www.bbc.com/thai/international-53810162
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|