#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 24 - 26 กันยายน 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 29 กันยายน 2563 ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนตัวผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ระวังอันตรายฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 29 ก.ย. 63 ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
เอกชนกู้รถพ่วงขนขยะ ในเรือเฟอร์รี่ราชา 4 ที่จมกลับขึ้นมาเกาะสมุยได้แล้ว บริษัทกำจัดขยะเอกชนนำเรือบาร์จไปบรรทุกรถพ่วง 18 ล้อ พร้อมขยะที่กู้ขึ้นมาจากเรือเฟอร์รี่ที่จม กลับมายังเกาะสมุยได้แล้ว โดยจะนำไปห่อก้อนขยะใหม่ ก่อนขนไปกำจัดบนฝั่งต่อไป โดยไม่พบขยะหลุดลอยในทะเล วันที่ 23 ก.ย.2563 หลังจากเมื่อววานนี้ ทางบริษัท เอ็ม.เอส.เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทที่ทางบริษัทท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) ได้มีการว่าจ้างให้ทำการกู้ซากเรือเฟอร์รี่ราชา 4 ที่อับปางลงกลางทะเล เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้กลับมาดำเนินการกู้เรือ และรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ อีกครั้งเมื่อวานนี้ หลังคลื่นลมในทะเลเริ่มอ่อนกำลังลง โดยล่าสุดจนถึงขนะนี้ทางทีมกู้เรือได้ดำเนินการกู้รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ พร้อมกับขยะที่อยู่ในรถบรรทุกพ่วงขึ้นมาได้แล้วจำนวน 2 คัน พร้อมพ่วง ยังคงเหลือจมอยู่ในทะเลอีก 1 คัน พร้อมลูกพ่วง โดยทางทีมกู้เรือจะเร่งกู้รถบรรทุกพ่วง 18 ล้ออีก 1 คันให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าคงจะไม่เกินวันพรุ่งนี้ นายศรจักร สุวรรณปาล กรรมการบริหาร บริษัท ลัคกี้คลีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เปิดเผยว่า ทาง กิจการค้าร่วม ปัญจะ ลัคกี้ คลีน เอ็นไวรอนเมนทอล ได้นำเรือบาร์จ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกได้ถึง 800 ตัน มายังจุดที่มีการกู้เรือ เพื่อมาบรรทุกรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ จำนวน 2 ค้น ที่ทางบริษัม เอม.เอส.เซอร์วิส กู้ขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว โดยจะนำทั้งรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ และขยะที่อยู่ในรถบรรทุกพ่วงที่กู้ขึ้นมาได้กลับเข้าฝั่งเกาะสมุย เพื่อจะได้นำขยะที่กู้ขึ้นมาได้ไปเข้าสู่ขนวบการจัดการใหม่ โดยทำการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำการห่อก้อนขยะใหม่ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขนส่งนำไปกำจัดที่บ่อกำจัดขยะของบริษัท ในเขตพื้นที่ ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ต่อไป กรรมการบริหาร บริษัท ลัคกี้คลีนเอ็นเนอร์ยี่ กล่าวอีกว่า ส่วนการกู้รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่ยังจมอยู่อีก 1 คัน ทางทีมกู้แจ้งว่า คาดว่าจะกู้ขึ้นมาได้ภายวันนี้ หรือไม่ก็วันพรุ่งนี้ ซึ่งหลังจากที่ทางทีมกู้การดำเนินกู้เรือ จนถึงขณะนี้ทางบริษัทยังไม่ได้รับแจ้งว่าเกิดผลกระทบบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามทางบริษัทก็จะดำเนินการนำขยะกลับเข้าฝั่งอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ด้าน นายอภิชาติ ชโยภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกู้เรือราชา 4 ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทจะดำเนินการกู้เรือราชา 4 ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และยืนยันว่าที่ผ่านมาได้เตรียมอุปกรณ์การป้องกันและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้รองรับทั้ง บูมกันน้ำมัน ม่านดักตะกอน ผ้าซับน้ำมัน และสารสลายคราบน้ำมัน พร้อมทั้งติดตั้งอวนล้อมรอบจุดที่ปฏิบัติการ รวมถึงเรือขนาดประมงขนาดเล็ก เพื่อตักเก็บขยะบางส่วนที่อาจจะหลุดลอยออกมาทันที เพื่อให้ทุกคนเกิดความสบายใจได้ว่าทางบริษัทมีมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม. https://www.thairath.co.th/news/loca...Pos=4#cxrecs_s ********************************************************************************************************************************************************* แหล่งกำเนิดเก่าแก่เพนกวินนิวซีแลนด์ (ภาพ : Credit : Massey University) ประเทศนิวซีแลนด์ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร และเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดนกทะเลจากทั่วโลก กลายเป็นจุดสำคัญของความหลากหลายของนกทะเลในระดับโลก แต่ต้นกำเนิดจุดสำคัญนี้ก่อตัวขึ้นอย่างไรและเมื่อไหร่ ยังเป็นปริศนาท้าทายนักวิจัย เพราะยังขาดการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล ที่เชื่อมโยงถึงนกทะเลที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์กับเครือญาติในสมัยโบราณ ล่าสุด ทีมวิจัยหลายสถาบันนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมสเซย์ ในนิวซีแลนด์ เผยว่าได้วิเคราะห์ฟอสซิลกระดูกเพนกวินโบราณชนิด Eudyptes atatu เป็นวงศ์เพนกวินมีขนที่ตา ซึ่งค้นพบตรงชายฝั่งทารานากิ ในเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ พบว่ามีความเชื่อมโยงที่สำคัญกับเพนกวินมีขนที่ตาและนกทะเลชนิดอื่นๆที่เคยอาศัยอยู่ในทวีปซีแลนเดีย (Zealandia) เมื่อนานหลายล้านปีมาแล้ว การพบฟอสซิลเพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นว่าดินแดนซีแลนเดียเป็นแหล่งบ่มเพาะความหลากหลายของเพนกวิน โดยเพนกวินตัวแรกมีแนวโน้มที่จะวิวัฒนาการและแยกย้ายกันไปในเวลาต่อมา เพนกวิน Eudyptes atatu จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการไขปริศนาเกี่ยวกับเพนกวินมีขนที่ตาในนิวซีแลนด์ ซึ่งผลวิจัยสรุปว่า บรรพบุรุษของเพนกวินทั้งหมดอาศัยอยู่ในซีแลนเดียเมื่อ 60 ล้านปีก่อน แต่บรรพบุรุษของเพนกวินมีขนที่ตา อาจมีต้นกำเนิดในซีแลนเดียก่อนหน้าที่ลูกหลานของมันจะแพร่กระจายไปทั่วซีกโลกใต้. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1935032 ********************************************************************************************************************************************************* ตะลึง เพนกวินตาย ในท้องมีหน้ากากอนามัย N95 ทั้งชิ้น บราซิลพบซากเพนกวินนอนตายบนชายหาด ผ่าท้องดูในกระเพาะอาหารพบหน้ากากอนามัย N95 คาดว่ามันเข้าใจผิดว่าหน้ากากอนามัยเป็นอาหาร เลยกินเข้าไปทั้งชิ้น เมื่อวันที่ 22 ก.ย. อาสาสมัครองค์กรอนุรักษ์สัตว์ทะเล "Instituto Argonauta" ในบราซิล เปิดเผยผลการตรวจสอบ ซากเพนกวินตัวหนึ่งที่ตายเกยตื้นบริเวณชายหาดจูเกย์ ในเมืองเซา เซบาสเตียน รัฐเซาเปาโล และถูกพบเมื่อวันที่ 9 ก.ย. โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่นำร่างของมันไปตรวจสอบ พบว่าเพนกวินตัวนี้ เป็นเพนกวินสายพันธุ์แมคเจนแลน สภาพร่างกายผอมแห้ง ในกระเพาะของมันมีหน้ากากอนามัย N95 อยู่ 1 ชิ้น เจ้าหน้าที่ระบุว่า คาดว่าเพนกวินตัวนี้อยู่ในฝูงเพนกวินอพยพมาจากแถบพาตาโกเนีย ทางตอนใต้ของอาร์เจนตินา และคาดว่าเพนกวินตัวนี้เข้าใจผิดว่าหน้ากากอนามัยเป็นอาหาร เลยกินเข้าไปทั้งชิ้น ขณะที่เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลขยะบริเวณชายหาดทางตอนเหนือของเซาเปาโล พบว่า ระหว่างวันที่ 16 เมษายนถึง 13 กันยายน มีขยะหน้ากากอนามัย 113 ชิ้น ถูกทิ้งเกลื่อนปะปนกับขยะอื่นๆ. https://www.thairath.co.th/news/foreign/1935259
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
รู้จัก "เกาะโลซิน" เกาะแสนล้านสุดอ่าวไทย ที่หวังว่าจะได้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ เกาะโลซิน เกาะที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมากที่สุดของอ่าวไทย ในทะเลไทยฝั่งอ่าวไทย มีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายทั้งที่มีและไม่มีผู้คนอาศัย โดยเกาะที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมากที่สุดต้องยกให้ "เกาะโลซิน" แห่งจังหวัดปัตตานี ซึ่งนอกจากจะไกลชายฝั่งแล้วก็ยังเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย แต่กลับมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง ทั้งในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล ด้านพลังงาน และด้านทรัพยากรธรรมชาติ "เกาะโลซิน" ที่เรียกกันนี้ แท้จริงแล้วมีลักษณะเป็นกองหินใต้ทะเล คล้ายกับภูเขาหินขนาดย่อมที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ยอดภูเขาโผล่พ้นน้ำขึ้นมาประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร ไม่มีหาดทรายไม่มีต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงประภาคารตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น แต่เกาะเล็กๆ นี้กลับมีความสำคัญมหาศาลในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล โดยเมื่อแต่ละประเทศเริ่มมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 370 กิโลเมตร ตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทำให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของหลายๆ ประเทศทับซ้อนกัน โดยเฉพาะทะเลในเขตน่านน้ำรอยต่อไทย-มาเลเซียนั้นมีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวาง และเมื่อสำรวจพบว่าใต้ทะเลบริเวณนี้เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนเกิดข้อโต้แย้งกันขึ้น และมีการตั้งโต๊ะเจรจาอย่างจริงจังใน พ.ศ.2515 ซึ่งการเจรจาในครั้งนั้นใช้การแบ่งเขตทางทะเลด้วยวิธีการลากเส้นตั้งฉากจากแนวโค้งของแผ่นดินแต่ละฝ่าย หรือที่เรียกว่าเขตไหล่ทวีปตามหลักสากล ด้วยวิธีเช่นนั้นทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบอย่างมาก และพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็นของมาเลเซียทั้งหมด ปะการังเขากวางเป็นดงกว้าง (ภาพจาก e-book ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : เกาะโลซิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สีสันแห่งท้องทะเล โดย: แน่งน้อย ยศสุนทร) แต่สุดท้ายแล้ว "เกาะโลซิน" ได้กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเป็นจุดอ้างอิงในการประกาศน่านน้ำอาณาเขตจากเกาะโลซินออกไป 200 ไมล์ทะเล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างก๊าซธรรมชาติ โดยไทยยืนยันว่าได้ก่อสร้างประภาคารติดไฟส่องสว่างไว้บนเกาะหินแห่งนี้เพื่อแสดงอาณาเขตมาเนิ่นนาน อีกทั้งตามอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1958 ที่ไทยเป็นสมาชิกในอนุสัญญาดังกล่าว ได้ระบุความหมายของเกาะว่า คือแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ ซึ่งมีความหมายรวมถึงเกาะที่เป็นหิน หรือกองหินโผล่น้ำเข้าไปด้วย โลซินจึงได้กลายเป็นเกาะสุดท้ายของประเทศไทย ที่ทำให้ฝ่ายมาเลเซียต้องยอมจำนน และที่สุดใน พ.ศ.2522 ไทยและมาเลเซียจึงเจรจาตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area หรือ JDA) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตร.กม. โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันแล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง เป็นเวลา 50 ปี ซึ่งเมื่อมีการสำรวจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาก็พบว่า แหล่งก๊าซที่มีปริมาณมากถึงราว 75% นั้น อยู่ในซีกพื้นที่ใกล้ชายฝั่งมาเลเซีย แต่ไทยเราได้รับผลประโยชน์ไปด้วยเพราะการอ้างอาณาเขตจากเกาะโลซินที่เป็นเพียงกองหิน จนหลายคนให้ฉายาเกาะโลซินว่า "กองหินแสนล้าน" ตามมูลค่าของแหล่งก๊าซธรรมชาตินั่นเอง แม้จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงน้อยนิด แต่โลกใต้ทะเลของเกาะโลซินนั้นยิ่งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านทรัพยากรทางทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของปะการังและฝูงปลาไม่แพ้ที่ใดๆ โดยพื้นที่กว่า 100 ไร่ใต้ทะเลของเกาะโลซินนั้นเต็มไปด้วยปะการังนานาชนิด ตั้งแต่บริเวณน้ำตื้น (2-10 ม.) ที่ประกอบไปด้วยปะการังแข็งกลุ่มเล็กๆ บริเวณน้ำลึกปานกลาง (10-20 ม.) ส่วนใหญ่เป็นดงปะการังเขากวางซึ่งมีจำนวนมากจนเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักร สลับกับปะการังช่องเล็กและปะการังรูปทรงแบบก้อนชนิดต่างๆ และแนวปะการังน้ำลึก (20-40 ม.) เป็นปะการังอ่อนและกัลปังหาที่เต็มไปด้วยสีสันอันงดงาม อีกทั้งที่ตั้งของเกาะโลซินซึ่งเป็นกองหินใต้ทะเลแห่งเดียวในทะเลอันเวิ้งว้างบริเวณนั้น และมีแนวปะการังโอบล้อมโดยรอบ ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์รวมของสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล ที่นักดำน้ำต่างถือว่าเป็นดังสวรรค์ของการดำน้ำลึกฝั่งทะเลอ่าวไทย มีโอกาสที่จะพบฝูงปลานับร้อยชนิด โดยชนิดที่พบเห็นได้บ่อยๆ ก็คือ ปลานกขุนทอง ปลาสลิดหิน ปลานกแก้ว ปลาสลิดหิน ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ ฯลฯ รวมถึงพี่ใหญ่ใจดีอย่างปลาฉลามวาฬ ปลาที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็สามารถพบเจอได้บ่อยครั้งบริเวณเกาะแห่งนี้ ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีมาเยือนเกาะโลซิน (ภาพ: บารมี เต็มบุญเกียรติ) ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเลและความสำคัญของเกาะแห่งนี้ ทำให้มีความพยายามที่จะเสนอเกาะโลซินให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ตาม มาตรา 20, 23 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์และคุ้มครองความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรใต้ทะเล และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องและร่วมกันจัดทำร่างมาตรการทรัพยากรทางทะเลเกาะโลซินอยู่หลายครั้ง ด้านผู้เชี่ยวชาญทางทะเลอย่าง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ร่วมผลักดันเต็มที่เพื่อให้โลซินเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของเกาะโลซินในแง่มุมต่างๆ ผ่านเพจ Thon Thamrongnawasawat ว่า "...ที่นี่คือเกาะครบเครื่องที่สุด เพราะก่อประโยชน์ 5 ด้าน ตามนิยามของผลประโยชน์ทางทะเล โดยเป็นเกาะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะทำให้เขต EEZ (Exclusive Economic Zone หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ของไทยขยายออกไปอีกหลายสิบกิโลเมตร เป็นเกาะที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพราะเขต EEZ ที่ขยายไปทับซ้อนบนแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดเขตเศรษฐกิจร่วมไทย-มาเลเซีย ก๊าซธรรมชาติวันละหลายร้อยล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งไปโรงไฟฟ้าจะนะและขนอม หล่อเลี้ยงเกือบทั้งภาคใต้" "เป็นเกาะที่เกี่ยวข้องกับการประมง ทั้งการจับปลาที่ดี และจุดหลบลมพักชั่วคราว แม้กันคลื่นใหญ่ไม่ค่อยได้ ยังเป็นจุดที่บางครั้งอาจมีปัญหาประมงต่างชาติ ต้องดูแลรักษากันให้ดี เป็นเกาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว นักดำน้ำมากหน้าหลายตาล้วนมาที่นี่ ในฐานะจุดดำน้ำที่น้ำใสสุดและห่างฝั่งสุด และสุดท้ายคือเป็นเกาะแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเอกลักษณ์แห่งอ่าวไทย ยากหาที่ใดเสมอเหมือน เป็นที่อยู่ของฉลามวาฬ ปลายักษ์และสัตว์สงวน ยังมีรายงานการพบปลาหายากระดับ A+ เช่น นกแก้วหัวโหนก โรนิน และระดับ A เช่น แมนต้า โรนัน กระเบนนก ...ฯลฯ" ผศ.ดร.ธรณ์ ยังกล่าวอีกว่า นั่นคือเหตุผลที่เรากำลังเสนอชื่อเกาะโลซินให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ของไทย และทำให้ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากคณะประมง เกษตรศาสตร์ ม.สงขลา ม.ราชภัฎ ภูเก็ต และม.วลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช ร่วมกับทีมจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และเหล่าช่างภาพมืออาชีพ เดินทางมาที่นี่เพื่อทำการสำรวจ ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งใหญ่ในอ่าวไทย การสำรวจครอบคลุมทุกด้าน ทั้งสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์ เคมี กระแสน้ำ คุณภาพน้ำ สัตว์ทะเลแทบทุกกลุ่ม ขยะทะเล/ไมโครพลาสติก ภายใต้ความสนับสนุนจาก ปตท.สผ. และบริษัทร่วมทุนด้านพลังงาน กัลปังหาพัด (ภาพจาก e-book ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง : เกาะโลซิน ความหลากหลายทางชีวภาพ สีสันแห่งท้องทะเล โดย: แน่งน้อย ยศสุนทร) แม้กระทั่งขณะที่ทีมสำรวจลงไปสำรวจยังเกาะโลซิน ก็ยังเจอฉลามวาฬว่ายวนเวียนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่นี่เป็นแนวปะการังกลางทะเลเปิด ฉลามวาฬจึงแวะเวียนมาหาอาหารและพักผ่อนเป็นประจำ รวมถึงปลาหายากชนิดต่างๆ แสดงถึงความสมบูรณ์เต็มที่ของเกาะโลซินแห่งนี้ ในปี 2572 ข้อตกลงเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่กำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมจะหมดอายุลง โลซินจะยังถูกตีความให้เป็นเกาะตามนิยามใหม่หรือไม่ อะไรจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเป็นสิ่งที่เรายังไม่ทราบ แต่สิ่งหนึ่งที่รู้แน่ชัดแล้วก็คือ ความพร้อมของเกาะโลซินในด้านความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใต้ทะเลนั้น มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานนี้น่าจะมีข่าวดีให้เราคนรักทะเลไทยได้ฟังกัน https://mgronline.com/travel/detail/9630000097180
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ราคาที่ต้องจ่าย (เพิ่ม) ให้คลองไทย ความพังพินาศของทะเลอันดามัน! ความพยายามผลักดันให้มีการขุดคลองไทยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปี พ.ศ.2558 โดยมีทุนจีนเข้ามาสนับสนุนทุนในการศึกษา รวมถึงการผลักดันคลองไทยของกลุ่มนายพลที่เกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ.2560 มีการจัดตั้งสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการเคลื่อนไหวให้ข้อมูลด้านดีของโครงการ มีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ขุดคลองร่วมกับผู้นำท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง หว่านล้อมให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบลงนามสนับสนุนเพื่อเสนอโครงการต่อรัฐบาล จากนั้นในปี 2561 มีการจัดตั้งพรรคคลองไทย ชูนโยบายเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คลองไทย นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ที่มีนโยบายสนับสนุนคลองไทย ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลคลองไทยในด้านดีอย่างต่อเนื่อง ในส่วนรายงานชิ้นนี้จะนำเสนอข้อมูลคลองไทยในอีกด้านหนึ่ง โดยเรียบเรียงข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ผลักดันโครงการ งานศึกษาของบริษัทจีน งานศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และการเข้าร่วมเวทีนำเสนอข้อมูลคลองไทย ๐ "คลองไทย" ตัดแบ่งแผ่นดิน คลองไทยเป็นการขุดคลองขนาดใหญ่ ตัดแบ่งแผ่นดินภาคใต้ เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อเป็นช่องทางสัญจรทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า เส้นทางที่เหมาะสมที่สุดของคลองไทยคือ เส้น 9A ซึ่งผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีความยาว 135 กม. ความกว้างประมาณ 400 เมตร ความลึกประมาณ 30 เมตร คาดว่า ต้องเสียพื้นที่เฉพาะพื้นที่ขุดอย่างน้อย 1,400 ตารางกิโลเมตร นอกจากนั้น ยังต้องขุดร่องน้ำลึกประมาณ 30 เมตร โดยฝั่งอันดามันขุดห่างออกจากฝั่งไปประมาณ 30-40 กิโลเมตร ส่วนฝั่งอ่าวไทยประมาณ 50-55 กิโลเมตร เส้นทางคลองไทยเริ่มจากปากทางเข้าด้านทะเลอันดามันในพื้นที่ จ.กระบี่ อยู่ระหว่างเกาะไหงกับเกาะลันตา ไปยังพื้นที่ จ.ตรัง ที่บ้านแหลมไทร ต.เขาไม้แก้ว ต.กะลาเส อ.สิเกา ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ ต.วังคีรี ต.บางดี ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด ต.หนองบัว อ.รัษฎา ไปยัง จ.นครศรีธรรมราช ในพื้นที่ ต.น้ำตก อ.ทุ่งสง ต.ควนหนองหงส์ ต.เขาพระทอง ต.ท่าเสม็ด ต.เคร็ง อ.ชะอวด ผ่าน จ.พัทลุง ในพื้นที่ อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน ไปยัง ต.ควนชะลิก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ไปยัง จ.สงขลา ในพื้นที่ ต.คลองแดน ต.ท่าบอน อ.ระโนด แล้วออกทะเลอ่าวไทย คาดว่าจะมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ขุดคลองอย่างน้อย 63,441 คน ๐ ผู้ผลักดันคลองไทยให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน กลุ่มผู้ผลักดันโครงการ ระบุว่า คลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียไปทะเลจีนใต้ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าโลกตะวันออกแทนสิงคโปร์ นอกจากนั้น จะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวระดับโลก โดยชูวาทกรรม "คลองไทยหัวใจของชาติ" ด้านผู้ประกอบการเดินเรือมีความเห็นว่า มีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในหลายเรื่อง นายเฉลิมพล ชัยวรพงศา ผู้ประกอบการเดินเรือวงศ์สมุทรนาวี กล่าวว่า สมาคมคลองไทยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น ช่องมะละกาไม่ได้แคบ ส่วนที่แคบสุดมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และมีความลึก 30 เมตรขึ้นไป ลึกพอๆ กับคลองไทยที่จะขุด หลายประเทศมีการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำและทางบก เช่น จีนพัฒนารถไฟจากซีอานไปยังปราก ยุโรป ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมาใช้คลองไทย ต้นทุนโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.4 ล้านล้านบาท ตามที่ให้ข้อมูล ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่านำดินที่ขุดไปถมเกาะขนาดใหญ่ ซึ่งมีเนื้อที่รวมประมาณ 1 แสนไร่ การขุดคลองไทยใช้ผู้รับเหมาจากบริษัทต่างประเทศ ไม่ได้ใช้แรงงานไทย จะมีการนำคนงานต่างชาติประมาณ 30,000 คนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจัดการงานก่อสร้าง คลองไทยขาดทุนอย่างมาก ต้องพึ่งพารายได้จากนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าหากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องขุดคลอง นายเฉลิมพล กล่าวอีกว่า การขุดคลองไทยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งปะการัง แหล่งวางไข่ของปลา ต้องเตรียมแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่สำหรับเติมในคลอง เราต้องสูญเสียหลายอย่าง เพื่อแลกกับคลองที่ขาดทุน ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย เราจะเลือกทางเดิม ซึ่งเป็นจุดแข็งไหม หรือจะเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรม เราต้องตัดสินใจว่าอะไรที่ดีกว่า ๐ "เขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทอง" ใหญ่กว่า EEC การขุดคลองไทยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่เท่านั้น หากแต่จะมีการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจโดยเรียกว่า "เขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทอง" ซึ่ง ส.ส.พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านประกาศจะผลักดันให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้ ข้อมูลจากผู้ผลักดันโครงการ ระบุว่า ในพื้นที่คลองไทย พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ประมาณ 800 ตารางกิโลเมตร หรือ 5 แสนไร่ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือ 2.5 แสนไร่ นอกจากนั้น เป็นเกาะท่าเรือ การท่องเที่ยว และอื่นๆ โดยมีการนำดินที่ได้จากการขุดคลองอย่างน้อย 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร มาถมทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ประมาณ 10 เกาะ รวมเนื้อที่ประมาณ 1 แสนไร่ ในส่วนรายงานการศึกษาของบริษัทจีน ระบุถึงการถมทะเลในพื้นที่อันดามัน จ.ตรังและ จ.กระบี่ ว่า จะมีการถมทะเลที่เกาะมุก จ.ตรัง เพื่อเป็นเกาะพลังงานหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื้อที่ 92 ตารางกิโลเมตร ในส่วนเกาะกระดาน จ.ตรัง กับเกาะไหง จ.กระบี่ จะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย นอกจากนี้ จะมีการถมทะเลเชื่อมเกาะลันตาใหญ่ เกาะลันตาน้อย และเกาะปอ จ.กระบี่ เพื่อเป็นท่าเรือ นอกจากนั้น มีการกำหนดพื้นที่บ้านบ่อม่วง อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการประมงทางทะเล เนื้อที่ 47 ตารางกิโลเมตร บ้านแหลมไทรเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจชายฝั่งทะเล เนื้อที่ 10 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ระหว่างเกาะลันตากับเกาะไหงเป็นจุดจอดเรือใหญ่ก่อนเข้าร่องน้ำ ๐ หายนะของอันดามัน พังทั้งแถบ! นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่า หากมีการขุดคลองไทยจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จ.กระบี่ จ.ตรัง รวมถึงการท่องเที่ยวอันดามัน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากมีการขุดร่องน้ำบริเวณทางเข้าคลองไทย บริเวณเกาะลันตา เกาะไหง ตะกอนจากการขุดจะไหลตามน้ำไปถึงเกาะพีพี เกาะห้า เกาะหมา เกาะรอก และเกาะอื่นๆ นอกจากนั้น เมื่อมีการถมทะเลเพื่อรองรับอุตสาหกรรม โครงการคลองไทย จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง "เราจะต้องสูญเสียทะเลที่สมบูรณ์ไป พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 2 แห่งในบริเวณนี้ ได้แก่ อุทยานฯ หมู่เกาะลันตา กับอุทยานฯ หาดเจ้าไหม จะต้องถูกยุบ ต้นทุนของคลองไทยที่ไม่ได้นำมาคำนวณคือมูลค่าการท่องเที่ยว มูลค่าประมง ต้นทุนของทรัพยากรตลอดเส้นทางคลองไทย" นายธีรพจน์ กล่าว นายธีรพจน์ กล่าวว่า ข้อมูลจากบริษัทจีน บอกว่า จะถมเกาะมุก เพื่อเป็นเกาะปิโตรเคมี จากเนื้อที่ในปัจจุบัน 7.688 ตารางกิโลเมตร จะนำดินจากการขุดคลองมาถมให้มีเนื้อที่ 92 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าปัจจุบันประมาณ 12 เท่า ใหญ่กว่าเกาะลันตาใหญ่ที่มีเนื้อที่ 78.270 ตารางกิโลเมตร นั่นคือเกาะมุกในอนาคต จะมีการถมทางเชื่อมเกาะมุกกับเกาะกระดาน ทำให้เกาะกระดานแปรสภาพเป็นส่วนหน้าของท่าเรือของเกาะมุก เกาะกระดานเป็นจุดจอดเรือบรรทุกผลิตภัณฑ์อันตราย "การถมพื้นที่ขนาดใหญ่ในทะเลจะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและหญ้าทะเลในบริเวณนั้น ปะการังอ่อนที่เกาะเชือก เกาะม้า เกาะแหวนก็ไม่น่าจะรอด ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการังก็ถูกทำลาย ชายหาดจะเปื้อนฝุ่นตลอดการก่อสร้างเป็นระยะเวลามากกว่า 6 ปี และจะต้องขุดลอกร่องน้ำทุกปี" นายธีรพจน์ กล่าว โครงการคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดยักษ์เป็นหายนะครั้งใหญ่ของประชาชนภาคใต้และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวผลักดันโครงการโดยใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากการจัดทำรายงานการศึกษา มีการผลักดันกฎหมาย แผนงานของรัฐบาล และบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับนักลงทุนชาวต่างชาติอีกด้วย https://mgronline.com/south/detail/9630000090570
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
หมึกหนวด7เส้นสุดหายาก คาดถูกคลื่นซัดมาไกล นาทีพายุเข้าสหรัฐ หมึกหนวด7เส้นสุดหายาก - เดลีเมล์ รายงานผลการตรวจสอบหมึกหน้าตาประหลาด บนชายหาดวิดบีย์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้พบโดยบังเอิญ ว่า มันเป็นหมึกที่มีหนวด 7 เส้น น้อยกว่าหมึกทั่วไปที่มี 8 เส้น รอน นิวเบอร์รี เป็นผู้พบ เช้าวันที่ 29 ส.ค. ขณะน้ำลด จึงถ่ายรูปไว้และไม่ค่อยแน่ใจว่ามันเป็นหมึกยักษ์เพราะดูเหมือนแมงกะพรุนตัวใหญ่ที่ถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดมากกว่าและไม่อยากจะแตะมันด้วย แม้ว่ามันตายแล้วก็ตาม และประมาณว่าน่าจะมีความยาว 106 เซนติเมตร จึงส่งรูปให้มูลนิธิวิดบีย์ คามาโน แลนด์ ตอนแรกเจ้าหน้าที่มูลนิธิวิดบีย์ คามาโน แลนด์ สันนิษฐานว่าอาจเป็นหมึกแดงอีสต์ แปซิฟิก หรือ หมึกแวมไพร์ ซึ่งอยู่ในน้ำลึก 600-900 เมตร แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ด้านบ๊อบ คีล หัวหน้าวิศวกรพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำซีแอตเทิล เห็นรูปแล้ว คิดว่าอาจจะเป็น หมึกดัมโบ้ หรือ สัตว์น้ำลึกที่โตเต็มวัยแล้วอาจยาวได้ถึง 152 เซนติเมตร ต่อมา รูปถูกส่งต่อไปยังสถาบันวิจัยหลายแห่ง รวมทั้ง สถาบันสมิธโซเนียน สถานบันวิจัยอ่าวมอนเทอเรย์และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา ในที่สุด ได้คำตอบว่าเป็นหมึกยักษ์ 7 หนวด หรือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Haliphron atlanticus หมึกฮาลิฟรอน หรือ หมึก 7 หนวดอาศัยเขตน้ำอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ภาวะโลกร้อน มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของสัตว์ทะเลจำนวนมาก อีไลนา ยอร์เจนเซน นักชีววิทยาทางทะเลจากโนอา กล่าวว่าเคยเห็นรูปหมึกชนิดนี้จากชายฝั่งรัฐบริติช โคลัมเบียของแคนาดา จึงเป็นไปได้ที่หมึกจะถูกกระแสน้ำพัดผ่านมาทางช่องน้ำพิวเจ็ตซาวน์เข้ามายังรัฐวอชิงตัน ระหว่างเกิดพายุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและตายเพราะน้ำมีระดับความเค็มต่ำ ความจริงแล้ว หมึกชนิดนี้มีหนวด 8 เส้น แต่อีกเส้นหนึ่งจะเผยให้เห็นต่อเมื่อผสมพันธุ์เท่านั้น หมึกตัวผู้ดูเหมือนจะมีหนวด 7 เส้น แต่ความจริงแล้ว หมึกชนิดนี้มีหนวด 8 เส้น หนวดที่ซ่อนอยู่ใกล้กับตาจะเผยให้เห็นต่อเมื่อผสมพันธุ์เท่านั้น ทำให้นักวิจัยมักเรียกว่า หมึกหนวด 7 เส้น หมึกฮาลิฟรอนถือว่าเป็นหมึกขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งในโลกและเคยมีตัวอย่างหมึกที่วัดความยาวได้ 3.3 เมตร หนัก 75 กิโลกรัม และยังเคยพบหมึกฮาลิฟรอนตัวอื่นๆ วัดความยาวได้ 3.9 เมตร แต่มนุษย์ไม่ค่อยเห็นมักบ่อยนักเพราะหมึกชนิดนี้อาศัยในน้ำลึกตลอดชีวิต ส่วนหมึกอีกชนิดหนึ่งทีมีความใหญ่โตสูสีกัน คือ หมึกยักษ์แปซิฟิก ซึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน หมึกฮาลิฟรอนว่ายน้ำเหมือนแมงกระพรุนและกินแมงกระพรุนและแพลงตอนเป็นอาหาร แต่ตัวมันเองตกเป็นอาหารของฉลามสีน้ำเงิน แมวน้ำมังค์ฮาวาย วาฬหัวทุยและปลากระโทงดาบ ทั้งนี้ เกาะวิดบีย์เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด นิวเบอร์รีกล่าวว่าเห็นนากแม่น้ำว่ายน้ำอยู่ประมาณ 10 นาที หลังจากที่เห็นหมึก 7 หนวด และตามชายหาดตอนกลางของเกาะ มักจะเห็นโลมา แมวน้ำ สิงโตทะเล ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเกาะมหัศจรรย์ได้เลย https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_4966496
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
กรมโยธาฯรับฟังเขื่อนกันคลื่นเกาะสุกร ชาวบ้านห่วงกระทบวิถีเลี้ยงควายริมทะเลอันดามัน กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น โครงการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จ.ตรัง ระยะที่ 2 23 ก.ย.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ระยะที่ 2 โดยมี นายมเหสักข์ หิรัญตระการ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง สนง.ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งที่ 7 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายอรินทร์ โสมบ้านกวย ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่ง ร่วมให้ข้อมูลโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ในส่วนภาคประชาชนและชุมชน มีนางราตรี จิตรหลัง นายก อบต.เกาะสุกร พร้อมด้วยผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. รพ.สต. โรงเรียน องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการอิสระ สถานประกอบการ(รีสอร์ท) เจ้าของที่ดิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านในพื้นที่ศึกษา เช่น หมู่ 1, 2,3,4 ต.เกาะสุกร เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น ซึ่งหัวข้อในครั้งนี้คือทางเลือกรูปแบบโครงสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่เหมาะสม ซึ่งมีถึง 5 รูปแบบ มีแบบมีนั่งสำหรับพักผ่อน และไม่มีที่นั่ง และแนวทางและขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การเสนอความคิดเห็นหลายฝ่ายมองว่าการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ต้องเหมาะสมกับการใช้งานโครงสร้างรากฐานต้องหนักแน่นแข็งแรง คงทน สามารถรองรับกระแสคลื่นลมพายุได้ดี นางราตรี ให้ความคิดเห็นว่า เป็นห่วงวิถีชีวิตบนเกาะสุกร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมมีจุดขายคือ ควายเล่นน้ำทะเล หลายคนเป็นห่วงว่าเมื่อสร้างเขื่อนขึ้นมาจะกระทบต่อการใช้ชีวิตของควายที่ทุกวันจะต้องลงทะเลเพื่อไปเล่นน้ำตามวิถีปกติ ซึ่งควายมีอยู่ 2 หมู่บ้าน กลัวว่าควายจะไม่เดินลงทะเลเพราะระยะทางการสร้างเขื่อนยาวหลายกิโลเมตร ที่ผ่านมาควายยังมีตัวเลือกที่จะเดินเลี่ยงเขื่อนเก่าเพื่อลงทะเลได้ แต่ถ้าสร้างเขื่อนเพิ่มเติมอีกก็ไม่แน่ใจว่าควายเหล่านี้จะกล้าลงบันใดหรือไม่ ซึ่งอยากให้ชาวบ้านช่วยกันมองส่วนนี้ด้วย ในขณะที่บางคนเสนอแนะว่าควรจะนำงบส่วนนี้มาปรับปรุงคลองส่งน้ำหรืออย่างอื่นให้กับคนบนเกาะสุกร ซึ่งให้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของกรมโยธาฯจะได้หรือไม่ แทนการสร้างเขื่อน มีหลายคนเสนอความคิดเห็นว่าพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่น้ำกัดเซาะ แต่ที่ทุกคนของบสร้างเขื่อนเพราะรักษาพื้นที่ถนนรอบเกาะเพราะน้ำเข้ามากัดเซาะเข้ามาเป็นเมตรกว่าแล้ว และมองว่าควรจะแก้ปัญหาในพื้นที่ที่น้ำกัดเซาะชายฝั่งให้ถูกต้อง นายมเหสักข์ กล่าวว่า ประเด็นที่ตนเองมีความห่วงใยและกังวลคือ จากการลงตรวจสอบพื้นที่บริเวณนี้ ตามที่สำรวจในปีนี้ไปเปรียบเทียบข้อมูลของปี 49 บริเวณพื้นที่ตรงนี้ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะฉะนั้นการจะแก้ปัญหาการการกัดเซาะชายฝั่งต้องแก้พื้นที่ที่น้ำกัดเซาะจริงๆ การจะเอาโครงการอะไรลงไปขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบลักษณะของพื้นที่ที่จะดำเนินการว่ามันเกิดปัญหาจริงหรือไม่ เพราะมองว่าพื้นที่ดังกล่าวมีทรายสะสมตัว "ส่วนตัวมองว่าพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง จึงไม่ควรเอาโครงการลงมาในพื้นที่ ตามที่หลายคนมองว่าจะกระทบวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้น ตนมองว่าถ้าสร้างเขื่อนก็ต้องมีผลกระทบเพราะกระแสของคลื่นที่เข้ามากระทบจะแรงกว่าหลายเท่าตัว แต่ในส่วนของสัตว์เลี้ยงตนไม่ขอออกความคิดเห็นในส่วนนั้น" ด้านนางราตรี กล่าวอีกว่า จากการฟังความคิดเห็นของชาวบ้านสรุปได้ว่าชาวบ้านให้สร้างเขื่อน เพราะพื้นที่ของชาวบ้านส่วนนั้นหากปล่อยนานไปจะโดนน้ำเข้ากัดเซาะทำให้พื้นที่อยู่อาศัยต้องสูญหายไป แต่ทั้งนี้ได้ขอร้องว่าต้องเว้นพื้นที่ให้ควายได้ลงทะเลด้วย เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนเกาะมีการเลี้ยงวัวควายจำนวนมาก ตนมองว่าถ้าสร้างเขื่อนไม่น่าจะเสียทัศนียภาพเพียงแต่เราเพิ่มสันเขื่อนไปนิดหนึ่ง แต่พื้นที่อื่นยังเหมือนเดิมอยู่ ซึ่งฟังจากเสียงชาวบ้านแล้วไม่มีใครคัดค้านการสร้างเขื่อนกัดเซาะของคลื่นทะเลในครั้งนี้ https://www.thaipost.net/main/detail/78388
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์
คอคอดกระชักศึกเข้าบ้าน? จีน สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย จะรุมทึ้งไทย หากขุดคลอง คอคอดกระจะกลายเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกมหาอำนาจโจมตี แผนการที่จะขุดคลองเชื่อต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามันมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจวบจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ในการควบคุมชายฝั่งทั้งสองของไทยและป้องกันการคุกคามจากศัตรู เมื่อเข้าสู่ล่าอาณานิคม การขุดคลองผ่านปักษ์ใต้ก็ยังถูกพูดถึงเรื่อยมาและบางครั้งมีอธิปไตยของชาติเป็นเดิมพัน เช่น การที่รัฐบาลอังกฤษกดดันไม่ให้รัฐบาลสยามขุดคลอง เช่นเมื่อปี พ.ศ. 2437 มอริซ เดอ บันเซน (Maurice de Bunsen) ทูตอังกฤษเดินทางมายังกรุงเทพมหานครโดยได้รับคำสั่งว่า อังกฤษไม่อาจปล่อยให้มีอำนาจจากต่างชาติ (ฝรั่งเศส) เข้ามาแทรกแซงดินแดนสยามในคาบสมุทรมลายูได้ และ De Bunsen ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลว่าควรป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสพยายามสร้างคลองข้ามคอคอดกระ รัฐบาลสยามทราบดีว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสรู้สึกกังวลกับสถานะของคอคอดกระ และการที่อังกฤษไม่ยอมยึดสยามเป็นอาณานิคมก็เพราะไม่อยากปะทะกับฝรั่งเศสที่ปกครองอินโดจีน ดังนั้ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษจึงตกลงที่จะปล่อยสยามให้เป็นเขตกันชน และดังนั้นจึงไม่มีใครที่จะมีโอกาสได้ขุดคอคอดกระ ทำให้คอคอดกระเป็น "ไพ่ตาย" ของสยามในการถ่วงกับมหาอำนาจ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยสามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามได้และทำสัญญาสันติภาพกับอังกฤษโดยอังกฤษตั้งข้อแม้ว่า "รัฐบาลสยามรับปากว่าจะไม่มีคลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวสยาม" หรือถ้าจะขุดต้องได้รับอนุญาตจากอังกฤษเสียก่อน ทุกวันนี้ "คลองไทย" ก็ยังเป็นไพ่ตายของไทยเช่นเดิมในการถ่วงดุลกับมหาอำนาจ ปัจจุบันโครงการขุดคอคอดกระของไทยถูกพูดถึงบ่อยครั้ง เพราะหากขุดสำเร็จคลองแห่งนี้จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเดินเรือของโลก และที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามผลักดันอย่างหนักให้โครงการนี้เกิดขึ้น จนมีข่าวออกมาว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับฝ่ายจีนที่เมืองกวางโจวในศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ แต่ต่อมาทั้งคนใกล้ชิดบิ๊กจิ๋วและทางการจีนปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงปล่อยข่าวลวงเท่านั้น แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่จีนที่สนใจคอคอดกระของไทย เพราะพลตรี ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ เผยกับผู้สื่อข่าวในไทยว่า นอกจากจีนแล้ว ยังมีอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐ สนใจสนับสนุนโครงการขุดคอคอดกระของไทยด้วย สำหรับจีน คอคอดกระเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายด้าน โดยอดีตประธานาธิบดี หูจิ่นเทาของจีนเคยพูดไว้ตั้งแต่ปี 2003 ว่า หากขุดคอคอดกระสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหา "วิกฤตมะละกา" ที่จีนเผชิญอยู่ จีนต้องพึ่งพาเส้นทางนี้ในการนำเข้าน้ำมันถึง 80% และวัตถุดิบต่างๆ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจีนไปทั่วโลก แต่การจราจรในช่องแคบมะละกาค่อนข้างหนาแน่น แต่ละปีมีเรือกว่า 84,000 ลำขนส่งสินค้า 30% ของสินค้าทั่วโลกสัญจรผ่าน และธนาคารโลกคาดว่าภายในปีนี้จะมีเรือเข้ามากกว่า 122,000 ลำซึ่งเกินความสามารถสูงสุดในการรองรับของช่องแคบมะละกา จีนจึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ทดแทน แต่นอกจากความสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้าแล้ว คอคอดกระยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหาร จีนหวั่นว่าวันหนึ่งช่องแคบมะละกาอาจถูกปิดหากสถานการณ์ความขัดแย้งในอินโดแปซิฟิกทวีความตึงเครียดขึ้น เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งแล้ว อินเดียที่ฮึ่มฮั่มอยู่กับจีนที่พรมแดนเทือกเขาหิมาลัย สามารถปิดฝั่งตะวันตกของช่องแคบมะละกาตัดเส้นทางเดินเรือของจีนได้ง่ายๆ อีกทั้งหากขุดคอคอดกระเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน กองทัพเรือของจีนจะสามารถย่นระยะทางเดินเรือข้ามจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย หรือสามารถสร้างฐานทัพเรือในคอคอดกระเช่นที่ทำกับโครงการสร้างท่าเรือที่จีนเข้าไปลงทุน อาทิ จิบูตี นิตยสารข่าวออนไลน์ The Diplomat ระบุว่า ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างท่าเรือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกันระหว่างประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และในขณะที่จีนยังคงขยับขยายอิทธิพลทางทะเลอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างคอคอดกระย่อมมีอิทธิพลต่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่อินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐซึ่งเป็น 3 ประเทศในกลุ่มภาคี 4 ประเทศมหาอำนาจเพื่อต้านทานอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ (Quad) จะเข้ามาแย่งชิงความได้เปรียบเหนือคอคอดกระทำลายฝันหวานของจีนด้วย สำหรับอินเดีย คลองคอดกระจะกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเลของอินเดียในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเรือรบของจีนจากทะเลจีนใต้สามารถไปถึงมหาสมุทรอินเดียได้อย่ารวดเร็ว อินเดียไม่ยอมอยู่นิ่งแน่นอน เว็บไซต์ TFIPOST ของอินเดียระบุว่า รัฐบาลอินเดียพยายามผลักดันแผนเพิ่มกำลังทหาร รวมทั้งเรือรบและเครื่องบินรบในหมู่เกาะอันดามันที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนั้นเมื่อบวกกับที่อินเดียได้สยายปีกอยู่แล้วในหมู่เกาะแห่งนี้ หากอินเดียยังได้คอคอดกระไปอีกคงเป็นฝันร้ายที่สุดของจีน เดิมพันครั้งนี้จึงสูงมาก ทั้งอินเดียทั้งจีนไม่มีทางอ่อนข้อให้กันแน่ อีกทั้งหากปล่อยให้บรรดามหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐ เข้ามายึดหัวหาดในคอคอดกระ ประเทศไทยเองอาจเพลี่ยงพล้ำเสียอำนาจอธิปไตยหรือถูกคุกคามเสียเอง ดังที่เคยเกิดขึ้นกับคลองสุเอซและคลองปานามาที่ถูกมหาอำนาจผลัดกันยึดครองหลายครั้ง หากขุดคลองคอคอดกระ จุดนี้จะเป็นเส้นทางสำคัญที่จีนใช้เคลื่อนกองทัพเรือจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย สมทบกับกำลังของจีนในฐานโลจิสติกส์ด้านการทหารในศรีลังกาและปากีสถาน ส่วนสหรัฐก็ผนึกสามารถกำลังกับอินเดีย ออสเตรเลียรับมือจีน คอคอดกระจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งสหรัฐและจีน หากเกิดความขัดแย้งของสองมหาอำนาจจนถึงขั้นมีการเผชิญหน้ากันทางทหาร คอคอดกระจะกลายเป็นจุดที่มีความเสี่ยงถูกโจมตีสูง ด้านความคิดเห็นจากฝั่งของไทยเองมีทั้งที่เห็นด้วยกับการขุดและเห็นต่าง นักวิชาการวิจารณ์ว่า ประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการขุดคอคอดกระมากที่สุดน่าจะเป็นจีน เพราะคลองช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปประเทศจีน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มองว่า การขุดคอคอดกระไม่น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย และยังมีข้อจำกัดหลายเรื่องโดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม "ไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไรสำหรับไทย เพราะว่าระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยไม่เท่ากัน เมื่อไม่เท่ากันสิ่งที่ต้องทำคือ เวลาเรือวิ่งเข้าไปในคลอง ต้องมีจุดพักเพื่อปรับระดับน้ำ ซึ่งตรงนั้นจะใช้เวลานาน เพราะใช้พื้นที่มาก" นายศักดิ์สยามกล่าว ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ที่มีส่วนร่วมในทรัพยากรท้องถิ่นต่อต้านการขุดคอคอดกระ ยืนยันว่าจะไม่ยอมเป็นผู้เสียโอกาสแบกรับผลเสียของโครงการ รวมถึงยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากต่างชาติและการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งมองว่าผลตอบรับที่ได้อาจคุ้มที่จะลงทุน เพราะจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่กับจีน เมื่อมีเรือสินค้าเข้ามาพื้นที่ทางภาคใต้อาจเจริญขึ้น รวมถึงได้ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐกับจีนที่นับวันมีแต่จะทวีความตึงเครียดและสนใจจะครอบครองคอคอดกระทั้งคู่ หากขุดคลองแล้วเกิดเหตุการณ์ช้างสารชนกันเหนือจุดยุทธศาสตร์นี้ หญ้าแพรกอย่างไทยก็มีแต่จะแหลกลาญ https://www.posttoday.com/world/633780
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Greennews
ไทยร้อนขึ้นแล้ว 1.5 เซลเซียส เตรียมคลอดพ.ร.บ.โลกร้อนอีก 2 ปี ...................... โดย ณิชา เวชพานิช สผ.เผยอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีไทยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจากศตวรรษก่อน เตรียมคลอดพ.ร.บ.โลกร้อนในอีก 2 ปี บังคับเอกชนส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากไม่ส่งมีโทษปกครอง 21 กันยายน พ.ศ.2563 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดงานประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั่วประเทศ ต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 1 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ มีจุดประสงค์เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมแสดงความเห็นต่อการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตัวใหม่ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระร่วมของประชาคมโลกและเป็นเรื่องของเราทุกคน การออกพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย ซึ่งเราจำเป็นต้องยกระดับการทำงานเรื่องนี้ เพราะว่าการค้าขายกับต่างประเทศจะถูกบังคับด้วยกรอบสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น" ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผย เมื่อเทียบกับปลายศตวรรษที่แล้ว ค่าเฉลี่ยรายปีอุณหภูมิประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1- 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นนำไปสู่เกิดภัยพิบัติหลายอย่าง เช่น ปะการังฟอกขาว พายุดีเปรสเพสชั่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอุทกภัยและภัยแล้ง เธอชี้แจ้งว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อตกลงปารีส โดยปีนี้ ไทยมีเป้าลดการปล่อยให้ได้ 11-20% ในภาคพลังงานและขนส่ง และจะขยับขึ้นเป็น 20% ทุกภาคส่วนในปี 2030 ซึ่งสามารถผลักดันให้ได้ถึง 25% หากมีการสนับสนุนทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนราชการจะมีเป้าหมาย ทว่าการดำเนินงานยังมีข้อติดขัดหลายอย่าง เช่น ไม่มีกลไกการตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครบถ้วน ทำให้ปัจจุบันข้อมูลนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและยังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่เคยเก็บ ดังนั้นจึงได้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นเพื่อเป็นกลไกให้อำนาจหน่วยงานรัฐเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเอกชน ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการกล่าวถึงความสำคัญของพ.ร.บ. / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็ก หรือใหญ่ มีหน้าที่เก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในกิจการตน เช่น วางมิเตอร์การใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงาน และจัดทำรายงานให้หน่วยงานรัฐในกำกับ เพื่อที่หน่วยงานนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้สผ.คำนวณออกมาเป็นข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ "จุดประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการร่วมมือกับเอกชน ดังนั้นในประเด็นบทลงโทษจะไม่มีโทษอาญากำหนดไว้ พูดง่ายๆ ว่าไม่มีคำจับคนติดคุกแน่นอน ทว่าหากผู้ประกอบการรายไหนไม่รายงานข้อมูลหรือรายงานข้อมูลเท็จจะถูกปรับเงินและยึดทรัพย์ ทั้งตัวนิติบุคคลเองและกรรมการบริหาร ส่งเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมที่จะใช้สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาศักยภาพลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ดร. กิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า ผู้ประกอบการบางรายอาจได้รับการยกเว้น ในกรณีที่การรายงานข้อมูลเสี่ยงทำให้ความลับทางธุรกิจรั่วไหล เช่น มีผู้แข่งขันน้อยราย ประเด็นดังกล่าวนี้ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ตั้งคำถามว่า อาจเป็นช่องโหว่ให้บริษัทเอกชนรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเท็จและไม่อาจตรวจสอบได้ ขณะที่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ตั้งคำถามกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า อาจซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว เช่น กฎหมายพลังงานทดแทน และคาดหวังว่าจะเห็นการเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายต่างๆ ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 8 หมวด 56 มาตรา เมื่อพ.ร.บ.ออกบังคับใช้แล้ว จะมีการออกแผนแม่บทกับแผนปฏิบัติต่างๆ ตามมา คาดว่าจะดำเนินการเสนอร่างพ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรีได้ปลายปีนี้ "ตามหลักการแล้ว การออกพ.ร.บ.ฉบับหนึ่งจะใช้ราว 2 ปี พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้เร่งด่วนเหมือนกฎหมายปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา" ตัวแทนศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมร่างพ.ร.บ.ชี้ งานประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั่วประเทศ ต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะจัดทั้งหมด 5 ครั้ง จนถึงเดือนตุลาคม ในทุกภูมิภาค ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ในงาน หรือแสดงความเห็นทางออนไลน์ กำหนดการ งานประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 2) เชียงใหม่ 25 กันยายน 2563 8.30 ? 15.30 ณ นิมมาน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ 3) นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 3 30 กันยายน 2563 8.30 ? 15.30 ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน 4) ชลบุรี 2 ตุลาคม 2563 8.30 ? 15.30 ณ โรงแรมเคป ราชา ศรีราช 5) ขอนแก่น 9 ตุลาคม 2563 8.30 ? 15.30 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น https://greennews.agency/?p=21881
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#9
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
วาฬนำร่องเกือบ 400 ตัวตายในรัฐแทสเมเนีย เป็นการเกยตื้นที่เลวร้ายที่สุดของออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามรักษาความชุ่มชื้นและความเย็นให้กับวาฬที่เกยตื้น ที่มาของภาพ,BILAL RASHID/REUTERS เจ้าหน้าที่ทางการระบุว่า มีวาฬตายแล้วราว 380 ตัวในเหตุการณ์ที่คาดว่าเป็นการเกยตื้นครั้งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา วาฬนำร่องครีบยาวหลายร้อยตัวถูกพบเกยตื้นอยู่ที่ชายฝั่งทางตะวันตกของรัฐแทสเมเนีย เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยชีวิตวาฬไว้ได้ 50 ตัวในวันพุธ (23 ก.ย.) และกำลังพยายามช่วยวาฬที่เหลืออีกราว 30 ตัว เจ้าหน้าที่ทางการรัฐแทสเมเนีย กล่าวว่า ความพยายามช่วยชีวิตวาฬจะดำเนินต่อไป "ตราบเท่าที่ยังมีวาฬที่ยังมีชีวิตอยู่" นิก เดคา จากหน่วยงานอุตสาหกรรมพื้นฐานของรัฐแทสเมเนีย กล่าวว่า "ขณะที่พวกมันยังมีชีวิตอยู่ และอยู่ในน้ำ ก็ยังพอมีหวัง แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกมันจะค่อย ๆ หมดแรง" เขากล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ การกำจัดซากวาฬหลายร้อยตัวที่กระจายอยู่ตามแนวชายฝั่ง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนทำความสะอาดอยู่ ในอดีตซากวาฬจำนวนมากถูกฝังอยู่บนชายหาด หรือไม่ก็ถูกลากออกไปในทะเลเปิด เจ้าหน้าที่ทำงานแข่งกับเวลาช่วยชีวิตวาฬนำร่องเกยตื้นในออสเตรเลีย ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทำไมวาฬเหล่านี้จึงมาเกยตื้น แต่เป็นที่ทราบกันว่า วาฬสายพันธุ์นี้มักเกยตื้นอยู่บ่อย ๆ การเกยตื้นครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการเกยตื้นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ทั่วโลก และทำลายสถิติการเกยตื้น 320 ตัวในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียในปี 1996 วาฬเหล่านี้เกยตื้นที่ไหน วาฬเหล่านี้ถูกพัดมาติดอยู่ที่หลุมทรายในน่านน้ำบริเวณที่เรียกว่า แม็กควารี เฮดส์ (Macquarie Heads) ตอนแรกเมื่อวันจันทร์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยนับจำนวนวาฬได้ 270 ตัว แต่เมื่อวันอังคาร เจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์ พบวาฬตายอีก 200 ตัวในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ทางการ ระบุว่า วาฬกลุ่มที่สองอาจจะถูกพัดขึ้นมาด้วยกระแสน้ำ แต่คาดว่า จะเป็นวาฬฝูงเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทำอย่างไรเพื่อช่วยชีวิตวาฬ เจ้าหน้าที่ราว 60 คน ได้ใช้สลิงและอุปกรณ์อื่นในการช่วยดึงวาฬออกจากหาดทราย เพื่อที่จะให้มันจมลงในน้ำทั้งตัว เมื่อวาฬ "กลับไปลอยอยู่ในน้ำได้" พวกมันก็จะถูกนำทางให้ว่ายน้ำออกไปในเขตน้ำลึก เจ้าหน้าที่กู้ภัย กล่าวว่า พวกเขาได้ช่วยนำทางวาฬว่ายกลับสู่ทะเลแล้ว 50 ตัว ซึ่งถือว่าเป็น "ความสำเร็จ" Dead pilot whale calves on the beach in Macquarie Heads ที่มาของภาพ,BILAL RASHID/REUTERS เจ้าหน้าที่ระบุว่า ความพยายามในการช่วยชีวิตวาฬเผชิญกับอุปสรรคจากกระแสน้ำที่รุนแรง ซึ่งทำให้วาฬที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว กลับเข้ามายังชายฝั่งอีกครั้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวาฬ ระบุว่า วาฬที่รอดตายจะอ่อนแรงและอ่อนแอ วาฬนำร่องมีความยาวได้ถึง 7 เมตร และหนักถึง 3 ตัน ศ.ปีเตอร์ แฮร์ริซัน จากกลุ่มวิจัยวาฬ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นครอสส์ (Southern Cross University) กล่าวว่า การที่ไม่มีน้ำช่วยพยุงตัวไว้ วาฬจะค่อย ๆ ถูกน้ำหนักตัวของมันเองกดทับ ทำไมวาฬจึงว่ายมาเกยตื้น นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การว่ายน้ำมาเกยตื้นของวาฬมักจะไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีอธิบายเรื่องนี้หลายทฤษฎี รวมถึง การที่วาฬว่ายตามฝูงปลามาที่ชายฝั่งจนสับสน โดยเฉพาะวาฬนำร่อง เป็นที่ทราบกันดีว่ามักจะเกยตื้นเป็นฝูง เพราะพวกมันเดินทางเป็นฝูงใหญ่ และเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ด้วยการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง นักวิจัยระบุว่า เป็นไปได้ว่า วาฬที่เป็นผู้นำทางอาจจะพาวาฬที่เหลือในฝูงมาผิดทาง นอกจากนี้ยังคาดว่า ฝูงวาฬน่าจะมีความเสี่ยงเมื่อเข้าใกล้ชายหาด ซึ่งมีลักษณะค่อย ๆ ลาดลงเป็นบริเวณกว้าง เพราะว่าคลื่นเสียงสะท้อนใต้น้ำของพวกมันอาจจะไม่สามารถตรวจจับแนวชายฝั่งในน้ำตื้นได้ กว่า 80% ของวาฬที่เกยตื้นในออสเตรเลีย เกิดขึ้นที่รัฐแทสเมเนีย และผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า แม็กควารี เฮดส์ เป็นจุดที่มีพบการเกยตื้นบ่อย การเกยตื้นครั้งใหญ่ที่สุดก่อนหน้านี้ในรัฐแทสเมเนียเกิดขึ้นในปี 1935 โดยมีวาฬนำร่องเกยตื้น 294 ตัว ส่วนการเกยตื้นขนาดใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2009 ซึ่งมีวาฬนำร่องเกยตื้นราว 200 ตัว https://www.bbc.com/thai/international-54262419
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|