#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 26 กันยายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนน้อยในระยะนี้ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 27-29 กันยายน 2563 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่แนวร่องมรสุมปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 25 - 26 กันยายน 2563 ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27 กันยายน ? 1 ตุลาคม 2563 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่แนวร่องมรสุมปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 27 ก.ย. ? 1 ต.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
สาวท้องใจเด็ด โดดทะเลฟลอริดา ช่วยสามีถูกฉลามกัดรอดตายหวุดหวิด หญิงชาวอเมริกันซึ่งกำลังตั้งครรภ์ เห็นสามีถูกฉลามกัดขณะดำน้ำนอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา จึงรีบกระโดดลงไปในน้ำอย่างไม่ลังเล แล้วพาสามีไปยังที่ปลอดภัยได้สำเร็จ สำนักข่าว บีบีซี รายงานในวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.ย. 2563 อ้างการเปิดเผยของตำรวจท้องถิ่นว่า นายแอนดรูว์ ชาร์ลส์ เอดดี วัย 30 ปี ลงดำน้ำสน็อกเกิล ที่แนวปะการัง ซอมเบรโร นอกชายฝั่งรัฐฟลอริดาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่กลับถูกฉลามกัดเกือบจะในทันทีที่ลงไปในน้ำ จนได้รับบาดเจ็บหนักบริเวณไหล่ ด้านนางมาร์กอต ดุคส์-เอดดี ภรรยาของแอนดรูว์ สังเกตเห็นครีบของฉลองโผล่ขึ้นมาจากผิวทะเล และจุดที่สามีของเธอมีเลือดไหลออกมาปนกับน้ำเต็มไปหมด เธอจึงตัดสินใจกระโดยลงไปในน้ำโดยไม่ลังเล และลากสามีของเธอไปยังที่ปลอดภัยได้สำเร็จ ก่อนที่คนอื่นๆ จะโทรศัพท์แจ้งตำรวจ นายแอนดรูว์มีบาดแผลสาหัสบริเวณไหล่ และเขาถูกส่งตัวทางอากาศไปรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองไมอามี โดยมีอาการอยู่ในขั้นวิกฤติ และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยอาการล่าสุดของเขาออกมา ทั้งนี้ สามีภรรยาเอดดีเดินทางมาจากรัฐจอร์เจีย เพื่อพักผ่อนวันหยุดที่รัฐฟลอริดาพร้อมกับครอบครัว และล่องเรือส่วนตัวด้วยกัน โดยที่สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ลงดำน้ำอยู่ก่อนแล้ว ตอนที่นายแอนดรูว์ตามลงไปแล้วโดนฉลามกัด ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ฉลามที่ก่อเหตุยาว 8-10 ฟุต และอาจเป็นฉลามหัวบาตรที่มีผู้พบเห็นในช่วงเช้าวันเกิดเหตุ อนึ่ง ฟลอริดาเป็นพื้นที่ที่มีสถิติฉลามทำร้ายมนุษย์มากที่สุดในโลก โดยมีรายงานเหตุโจมตีถึง 21 ครั้งในปี 2562 https://www.thairath.co.th/news/foreign/1936633
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก
แม่โลมาสุดอาลัยลูกตายพยุงซากแหวกว่ายอย่างเงียบงัน 7 วันไม่ปล่อย ภาพสะเทือนใจที่เห็นในคลิปบันทึกได้ใกล้กับปากแม่น้ำ รีอา เด อาเราซา แคว้นกาลีเซีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน สถาบันวิจัยโลมาปากขวด (บีดีอาร์ไอ) ในสเปน ซึ่งแชร์คลิปบน เพจเฟซบุ๊ก โพสต์ล่าสุดเมื่อวาน (25 ก.ย.) ว่า 7 วันแล้วที่แม่โลมาพาลูกที่ตายแล้วพาว่ายน้ำเป็นระยะทางกว่า 40 กม. ภาพที่เห็นบอกเล่าโดยตัวมันเองถึงความลึกล้ำซับซ้อนทางอารมณ์และความผูกพันอย่างพิเศษของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม การแสดงออกของแม่ต่อลูกที่ตาย สวนทางกับภาพความดุร้ายและรุนแรง ที่สื่อพยายามนำมาโยงกับสัตว์เหล่านี้ในระยะหลัง บรูโน เดียซ นักชีววิทยาของบีดีอาร์ไอ ระบุว่าความเศร้าของคลิปนี้ คือความเงียบ เพราะปกติแล้ว โลมาเพศเมียจะส่งเสียงสื่อสารกับโลมาตัวอื่นๆตลอดเวลา แต่แม่โลมาไม่ได้สื่อสารกับลูกของมันเลย ในทางวิทยาศาสตร์ ยากมากที่จะรู้ว่าสัตว์คิดอะไรอยู่ แต่เพราะความเงียบงัน ทำให้เชื่อว่าแม่โลมารู้ว่าลูกตายแล้ว เดียซ กล่าวเมื่อสองวันก่อนว่า แม่โลมาไม่ได้กินอะไรเลยมาอย่างน้อย 5 วันขณะพยุงซากลูกแหวกว่ายกลางทะเล ตามธรรมชาติแล้ว โลมาจะมีไขมันสำรองปริมาณมากหลังออกลูก แม่โลมาจึงอยู่ได้ เวบไซต์ข่าว La Voz De Galicia รายงานว่า ที่ผ่านมา เคยพบแม่โลมาพยุงซากลูกตายแบบนี้ เพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกพบในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่สองเกิดขึ้นในทะเลแคริบเบียน ขณะที่เดียซ นักชีววิทยาสถาบันวิจัยโลมาปากขวด กล่าวว่า สองครั้งแรกกินเวลาไม่กี่นาที แต่ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นหลายวัน https://www.facebook.com/watch/?v=32...fUcWm6yaaQq1lj https://www.komchadluek.net/news/for...B8%B5%E0%B9%89
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
สถาบันปิโตรเลียมฯผนึกเอกชนลุยใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมปลดระวางสร้างปะการังเทียม 25 ก.ย. 2563 สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยคณะทำงาน Rig to Reef (ภายใต้ E&P STC) ได้นำคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจาก นักวิชาการ ผู้ประกอบการผลิตปิโตรเลียมในทะเล สถาบันปิโตรเลียมฯ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มาสังเกตการณ์ "โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล" ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนฯ) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (Jacket) ขาแท่นที่ 7 จากแหล่งปลาทอง บริเวณกลางอ่าวไทย มาวางในพื้นที่ที่ ทช.กำหนดเพื่อการอนุรักษ์ อยู่ห่างจากเกาะพะงัน สุราษฎร์ธานีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ~15 กม. โครงการนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการนำขาแท่นผลิตหลุมปิโตรเลียม มาวางเป็นปะการังเทียม เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำ ช่วยให้ปะการังธรรมชาติกลับมาเติบโต พัฒนาเป็นแหล่งดำน้ำท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ในอ่าวไทย อนึ่ง ขาแท่นทั้ง 7 ขาแท่นนี้ เป็นขาแท่นผลิตที่ปลดระวางแล้ว ซึ่ง ทช. ได้รับมอบจากบริษัท เชฟรอนฯ โดยได้รับความเห็นชอบในการเคลื่อนย้ายและนำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับระบบนิเวศทางทะเล ในส่วนของอุปกรณ์ที่เป็นส่วนบนของแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (wellhead topsides) ได้ตัดแยกจากขาแท่น และนำขึ้นฝั่งไปจัดการรื้อถอนบนบกอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว https://www.thaipost.net/main/detail/78643
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
สั่งด่วน 'กรมทะเล' ออกมาตรการเข้มแหล่งปะการัง 4 จว. - คุ้มครองเกาะพยาม มีผลแล้ววันนี้ "วราวุธ" รมว.ทส. สั่งด่วน "กรมทะเล" ออกมาตรการเข้ม 2 ฉบับ รักษาแหล่งปะการัง 4 จังหวัด คุ้มครองเกาะพยาม ฉายามัลดีฟเมืองไทย ป้องกันภัยคุกคาม มีผลแล้ววันนี้ จากกรณีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหลายพื้นที่ ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งประกาศคำสั่งคุ้มครองแหล่งปะการังและหญ้าทะเลในพื้นที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง และแหล่งกองหินใต้น้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี พังงา และกระบี่ พร้อมมาตรการคุมเข้มกิจกรรมส่งผลกระทบต่อปะการัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เผยแหล่งปะการังสมบูรณ์ของประเทศเหลือเพียง 5.7% ต้องร่วมกันดูแลก่อนเสื่อมโทรม ด้านปลัดกระทรวง ทส. สั่งเร่งสำรวจสถานภาพปะการังทั่วประเทศ หากมีภัยคุกคามต้องเร่งดำเนินการหามาตรการป้องกันทันทีก่อนที่ปัญหาจะเกิดกับตัวทรัพยากร ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยากมาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในวันนี้ (25ก.ย.) ว่า ตนได้มีโอกาสไปดำน้ำบริเวณเกาะเต่า และอีกหลายพื้นที่ นอกจากความสวยงามของแหล่งปะการังในแต่ละพื้นที่ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละแห่งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตนพบเห็น ทั้งที่ไม่อยากเห็น คือ ขยะพลาสติก เศษเชือกและเศษอวน ที่ติดอยู่ตามแหล่งปะการัง นอกจากไม่สวยงามแล้ว เศษเชือก เศษอวนเหล่านี้ที่เกิดจากการทำประมงโดยใช้ลอบ อวน ในการจับปลาและเป็นสาเหตุของการเกี่ยว ลาก ทำให้ปะการังหักและตาย รวมทั้ง มลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยลงทะเล ปะการังซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสิ่งเหล่านี้ หากไม่รีบปกป้อง คุ้มครอง เราคงไม่เหลือปะการังที่สวยงามไว้ให้ลูกหลานได้เห็นเป็นแน่ อย่างไรก็ตาม ต้องเร่งดำเนินการในพื้นที่เร่งด่วนก่อน เช่น เกาะพยาม และแนวปะการังในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี พังงา และกระบี่ สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญและพึงระลึกถึงตลอดเวลาว่า?ปะการังเป็นสัตว์ที่ไม่มีอาวุธติดตัว อาจมีบางชนิดที่มีเข็มพิษไว้ป้องกันตัว โลกนี้จะมีมนุษย์สักกี่คนที่ตายเพราะปะการัง แต่ปะการังจำนวนนับไม่ถ้วนที่ตายเพราะมนุษย์ ปะการังยังเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวและอ่อนแอ เพียงแค่อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง มลพิษที่ปนเปื้อน กิจกรรมที่ขาดจิตสำนึก ก็พร้อมที่จะทำร้ายปะการัง? แหล่งปะการังทั้งประเทศ 149,000 ไร่ เหลือที่สมบูรณ์เพียง 5.7% ที่เหลือก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย บางแหล่งแทบไม่หลงเหลือความสวยงามของปะการังไว้เลย ถ้าเราไม่ร่วมกันดูแลปะการังในวันนี้ ใต้ท้องทะเลคงเหลือแค่ผืนทรายว่างเปล่าหรือกองหินโสโครกที่ไร้ความสวยงามและสมบูรณ์ ให้ลูกหลานได้ชม ทั้งนี้ ตนได้มอบให้นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการ กำกับ ติดตามและรายงานผลเรื่องนี้ให้ตนทราบอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องนี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้เร่งรัดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจและประเมินสถานภาพปะการังทั่วประเทศ พร้อมให้จัดลำดับความสำคัญ หลายพื้นที่ต้องประกาศมาตรการเร่งด่วน เช่น เกาะพยาม จังหวัดระนองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมัลดีฟ เมืองไทย เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี เกาะดอกไม้ จังหวัดพังงา กองหินแดง จังหวัดกระบี่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตนได้ย้ำกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่า พื้นที่ใดสำคัญเร่งด่วนให้ดำเนินการทันที ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ต้องเร่งสำรวจและกำหนดมาตรการก่อนที่ปัญหาจะเกิดกับตัวทรัพยากร ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยากมาก นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลมีลักษณะที่จำเพาะและยากต่อการฟื้นตัวโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งปะการัง ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนับสิบปี ในแต่ละพื้นที่จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ซึ่งมักจะเกิดจากกิจกรรมมนุษย์แทบทั้งสิ้น ในการนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประกาศคำสั่ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา17 แห่งพรบ.ทช.พร้อมวางมาตรการในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 2 ฉบับ ตามสาเหตุและปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรและระบบนิเวศ โดยฉบับแรก ได้กำหนดมาตรการสำหรับการทำกิจกรรมในพื้นที่เกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยห้ามมิให้จอดเรือโดยการทิ้งสมอหรือทอดสมอบริเวณแนวปะการัง ห้ามให้อาหารสัตว์เพื่อล่อ จับ หรือเก็บสัตว์น้ำ รวมทั้ง ห้ามเท ทิ้ง ระบายของเสีย ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลหรือสิ่งอื่นใด ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ห้ามทำตะกอนใต้น้ำฟุ้งกระจายจนส่งผลกระทบต่อปะการังและหญ้าทะเล สำหรับพื้นที่กองหินใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี พังงา และกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังที่สำคัญของประเทศ ที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเนื่องจากการทำประมง โดยได้กำหนดห้ามทำการประมง ลอบ และอวนทุกชนิด ในบริเวณแนวปะการังในพื้นที่กองหินชุมพร กองหินวง เกาะกงทรายแดง กองหินตุ้งกู กองหินใบ กองหินเกาะว่าว เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี กองหินหมูสัง เกาะดอกไม้ อำเภอเกาะยาว กองหินอีแต๋น อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และกองหินแดง จังหวัดกระบี่ อย่างไรก็ตาม ประกาศคำสั่งฉบับนี้ ยกเว้นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการวิจัย ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีก่อน สำหรับโทษหากมีผู้กระทำผิดตามคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ คำสั่งทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563 หากพบการกระทำผิดในพื้นที่ดังกล่าว สามารถแจ้งสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่รับผิดชอบในพื้นที่ หรือช่องทางอื่น ๆ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีทช.กล่าวชี้แจงมาตรการ https://www.bangkokbiznews.com/news/...mpaign=bangkok
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ไล่ชนเรือ-จับประมงพื้นบ้านสตูล ปมขัดแย้งไทย-มาเลย์ ความขัดแย้งยังไม่จบ หลังเรือทางการมาเลเซีย ไล่ชนเรือประมงพื้นบ้านจม ทำให้ชาวประมงเสียชีวิต 1 ราย ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องฝ่ายไทยตั้งทุ่นแนวเขตให้ชัดเจน เพราะมักถูกมาเลย์แอบอ้าง วันนี้ (25 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ทางทะเลบริเวณเขตน่านน้ำไทย-มาเลเซีย เขตรอยต่อระหว่างรัฐเปอร์ลิส และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีอาณาเขตทางทะเลติด ต.ปูยู อ.เมืองสตูล วันนี้แทบไม่มีเรือประมงพื้นบ้านจากจ.สตูล เข้าทำประมงพื้นที่ดังกล่าว หลังเรือตรวจการณ์หน่วย MMEA ประเทศมาเลเซีย พุ่งชนเรือประมงพื้นบ้านไทย ขณะทำประมงบริเวณดังกล่าวจมทะเล ทำให้นายสุริยัน ปูยู เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังทางการมาเลเซียอ้างว่า รุกล้ำน่านน้ำ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ปูยูประมาณ 1,000 ลำ ไม่กล้าออกทำประมง เพราะเกรงว่าทางการมาเลเซียจับกุม "ปัญหาที่มาเลเซียอ้างว่า พื้นที่ทำประมงเขตรอยต่อน่านน้ำไทย-มาเลเซีย เป็นน่านน้ำตัวเอง เกิดขึ้นมานานแล้ว แม้จุดทำประมงอยู่ในน่านน้ำไทย ก็ถูกทางการมาเลเซีย จับกุมมาโดยตลอด" ล่าสุดมีชาวประมงพื้นบ้าน ต.ปูยู 12 คน ถูกจับดำเนินคดี และจำคุกในเรือนจำ บางคนถูกศาลตัดสินจำคุกถึง 2 ปี สร้างความกังวลให้กับญาติพี่น้องเป็นอย่างมาก ส่วนผู้ที่เคยถูกจับและพ้นโทษมาแล้ว บอกว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ขณะทำประมงในเขตน่านน้ำไทย พร้อมเพื่อน 7 คน ถูกเรือตรวจการณ์มาเลเซีย เข้ามาจับในน่านน้ำไทย และลากเรือไปยังเกาะลังกาวี ของมาเลเซีย หลังอ้างว่า รุกล้ำน่านน้ำ จึงถูกควบคุมตัวบนเกาะลังกาวี ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นทั้งหมดถูกส่งตัวขึ้นฝั่ง เพื่อรอศาลตัดสิน นอกจากศาลสั่งถูกจำคุกแล้ว ยังถูกโบยด้วยหวายคนละ 1 ที สร้างความเจ็บปวด และบางคนยังมีรอยหวายอยู่ที่ก้นถึงปัจจุบัน นายรอสีด เตะปูยู ชาวประมง เปิดเผยว่า พื้นที่ทางทะเลซึ่งมีอาณาเขตไกลสุดสายตา และไม่มีสัญลักษณ์การแบ่งแนวเขตที่ชัดเจน กลายเป็นที่มาของปัญหา แม้พื้นที่การทำประมงจะอยู่ในเขตน่านน้ำไทย เมื่อทางการมาเลเซียเข้ามาจับ และอ้างเป็นน่านน้ำตัวเอง ชาวประมงก็ไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะเรือไม่มี GPS บอกพิกัด จึงจำยอมถูกจับดำเนินคดี "หากเป็นไปได้ต้องการให้ทางการไทย จัดวางทุนบอกพิกัดเขตน่านน้ำให้ชัดเจน และเชิญมาเลเซีย มาทำข้อตกลงร่วมกันแบ่งเขต ป้องกันปัญหาในอนาคต เพราะมาเลเซีย ยังส่งเรือตรวจการณ์ประชิดน่านน้ำ สร้างความตึงเครียดตลอดเวลา" น.อ.จุมพจน์ เสนาะพิณ รอง ผอ.ศรชล.จ.สตูล กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประมงพื้นบ้านไทย ทัพเรือภาคที่ 3 ส่งเรือ ต 995 ออกลาดตระเวณบริเวณเขตน่านน้ำไทย และมาเลเซีย เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ชาวประมง ระหว่างรอจัดวางทุนแสดงเขตน่านน้ำ ส่วนสาเหตุที่เรือทางการมาเลเซีย พุ่งชนเรือประมงไทย มีผู้เสียชีวิต ทัพเรือภาค 3 และศรชล.จ.สตูลบ ได้ทำหนังสือประท้วงไปแล้ว พร้อมทั้งให้ทางการมาเลเซียชี้แจงถึงแนวทางปฏิบัติกับประมงไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตอบจากทางการมาเลเซีย ด้าน พ.ต.ท.บรรเจิด มานะเวช สารวัตรเรือตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 9 จ.สตูล กล่าวว่า ทางคดีเรือมาเลเซียชนเรือประมงพื้นบ้านไทยเสียชีวิต ทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสตูล สอบปากคำพยานวันเกิดเหตุหมดแล้ว "พยานทุกคนยืนยัน เหตุเกิดในเขตน่านน้ำไทย แต่ไม่มี GPS มาประกอบสำนวน พนักงานสอบสวน รอเพียงทางการมาเลเซีย ส่งหลักฐานที่จะอ้างอิงว่า เกิดเหตุในน่านน้ำตัวเอง จากนั้นก็โอนคดีให้อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวน ดำเนินการต่อ เพราะเป็นคดีระหว่างประเทศ" ชณะที่ นายไกรสิทธิ์ ขุนพิทักษ์ สารวัตรกำนันตำบลปูยู ระบุว่า การแก้ปัญหาน่านน้ำไทย-มาเลเซีย ทางจังหวัด เร่งเปิดเวทีพูดคุยกับรัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากน่านน้ำสตูล มีรอยต่อชายแดนติดต่อกัน เพื่อลดบรรยากาศตึงเครียดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้สานสัมพันธ์กันมาตลอด หากยังไม่พูดคุย ชาวประมงพื้นบ้านไม่กล้าออกทำประมง เพราะยังไม่มีอะไรมาพิสูจน์ได้ว่าจะไม่เกิดเหตุขึ้นอีก https://news.thaipbs.or.th/content/296841
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE
กู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก่อนภัยพิบัติทางธรรมชาติจะทวีความรุนแรงสุดขั้วทั่วทุกภูมิภาค ................ โดย Supang Chatuchinda เป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่โลกของเราเผชิญกับการระบาดของไวรัส Covid-19 ในขณะเดียวกันชุมชนทั่วโลกก็ต้องเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ แต่ทั่วโลกกลับเกิดเหตุการณ์มากมายไม่ว่าจะเป็น ไฟป่าในรัฐแคลิฟอเนียร์ที่มีเชื้อไฟมาจากภัยแล้งอย่างหนักหน่วง ไฟป่านี้เผาผลาญพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 5 ล้านเอเคอร์ กินพื้นที่ในรัฐแคลิฟอเนียร์ โอเรกอนและรัฐวอชิงตัน ยิ่งไปกว่านั้นยังคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 33 คน และทำให้ผู้คนนับหมื่น ตั้งแต่ซานฟรานซิสโก ชิคาโก ไปจนถึงกรุงนิวยอร์กต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศจนท้องฟ้ากลายเป็นสีส้ม ขณะเดียวกัน เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้เป็นเหตุการณ์ประจำปีที่สถานการณ์เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ มีคนจำนวน 9.6 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ในภาพรวมเราอาจเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติมาในรูปแบบของพายุฝน ไฟป่า น้ำท่วม เป็นต้น แต่ทราบหรือไม่ว่า ภัยคุกคามที่เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ (ecological threats) ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นกัน การขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ (ecological threats) สถาบันเพื่อเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ หรือ The Institute for Economics and Peace (IEP) ซึ่งเป็นสถาบันชี้วัดดัชนีการก่อการร้ายและดัชนีสันติภาพของโลก วิเคราะห์ว่าประชากรโลก 1.2 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 31 ประเทศจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยประชากรโลกมากกว่า 1 พันล้านคนเหล่านี้จะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศภายใน 30 ปี รวมทั้งการเติบโตของจำนวนประชากรยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานมากขึ้น ทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายแบนเนอร์ ภาพทะเลสาบ The Laguna de Aculeo ในชิลี ที่เคยเต็มไปด้วยน้ำแต่ปัจจุบันทะเลสาบแห้งนี้ไม่มีน้ำเหลืออยู่แล้ว ? Martin Katz / Greenpeace มี 19 ประเทศที่จะตกเป็นประเทศเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ อาหาร และมีแนวโน้มเผชิญกับภัยธรรมชาติมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังพบการขาดแคลนทรัพยากรใน 40 ประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุดอีกด้วย โดยหลายประเทศที่พบเจอกับภัยการขาดแคลนทรัพยากร ประกอบไปด้วย ไนจีเรีย แองโกลา บูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) และอูกันดา ยังเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ตามที่รายงานระบุ นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวนำข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติและข้อมูลจากองค์กรอื่นๆ ประเมินและพบว่า มี 157 ประเทศที่จะต้องเผชิญการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างน้อย 8 ระลอก และพบว่ามี 141 ประเทศที่ต้องเจอกับการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างน้อย 1 ระลอก ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งภูมิภาคเช่น แอฟริกา ซาฮารา เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ อาจเป็นภูมิภาคที่ต้องเผชิญภัยเช่นนี้บ่อยขึ้น ภาพชาวบ้านใน เขต Mangalwheda taluk, Solapur ในอินเดีย กำลังเดินหาแหล่งน้ำใต้ดิน ในปี 2562 ที่ผ่านมาพื้นที่แห้งนี้เผชิญกับความแห้งแล้งอย่างหนัก ? Subrata Biswas / Greenpeace บางประเทศเช่น อินเดีย จีน เป็นสองประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนประเทศที่ไม่สามารถจัดการกับความต้องการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปากีสถาน อิหร่าน เคนยา โมซัมบิกและมาดากัสการ์ จะต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวด้วยความยุ่งยากมากกว่าเดิม การชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก คือทางออกที่ต้นเหตุ ธารน้ำแข็งในออสเตรียละลายเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อ 24 กันยายน 2563) ? Mitja Kobal / Greenpeace หากเรายังคงนิ่งเฉยและปล่อยให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการไม่จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง เราจะต้องพบเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการขาดแคลนทรัพยากร เช่น น้ำ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มนุษย์เราอาศัยอยู่บนโลกนี้ได้อย่างยากลำบากกว่าเดิม ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้ก็คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อชะลอไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นไปมากกว่านี้ เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทางไหนได้บ้าง เพื่อชะลอไม่ให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงไปยิ่งกว่านี้ เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สามารถทำได้ด้วยการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยรายงานของ IPCC ระบุว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องลดใช้ถ่านหินจาก 2 ใน 3 ภายในปี พ.ศ.2573 และต้องลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ชาญฉลาดขึ้น นั่นคือการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและเมือง นอกจากการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การลดบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมที่มาจากการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมก็ยังเป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง ระบบอาหารแบบนี้บังคับให้เราเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร และยังเป็นระบบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด หากเรายังนิ่งเฉยกับประเด็นนี้ ในปี พ.ศ. 2593 ระบบอาหารนี้จะปล่อยก๊าซจำนวนมากเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และในอีกด้านหนึ่ง เราจำเป็นจะต้องปกป้องผืนป่าโดยมุ่งลดการทำลายป่าไม้ให้เป็นศูนย์ ป่าไม้และที่ดินมีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการดูแลผืนป่าที่มีอยู่และการอนุรักษ์ดินเพื่อขยายศักยภาพในการกักเก็บและดูดซับคาร์บอน (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE
กู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก่อนภัยพิบัติทางธรรมชาติจะทวีความรุนแรงสุดขั้วทั่วทุกภูมิภาค กู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก่อนภัยพิบัติทางธรรมชาติจะทวีความรุนแรงสุดขั้วทั่วทุกภูมิภาค ............ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและประเทศทั่วโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ในระยะยาวของประเทศไทย(ปลายศตวรรษที่ 22) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นราว 2.39 เมตร เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น 4.3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับการเพิ่มของระดับน้ำทะเล 1.36 เมตร ที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.6 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงที่มาจากพายุหมุนเขตร้อนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย ภายใต้สถานการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกอยู่ที่ 2.4 องศาเซลเซียส จำนวนพายุหมุนเขตร้อนระดับ 4 และ 5 จะเพิ่มขึ้นราว 130% ความรุนแรงของภัยพิบัติจากพายุหมุนเขตร้อนยิ่งมากขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกหนักและการเพิ่มของระดับน้ำทะเล นี่เป็นเพียงวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่เราเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ เยาวชนและคนทั่วไปร่วมกิจกรรม Global Climate Strike บริเวณสวนลุมพินี ในเดือนกันยายน 2562 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ? Chanklang Kanthong / Greenpeace แม้ว่าในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(2561-2580) ของประเทศไทยระบุว่าจะมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าละเลยประเด็นความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ในขณะที่การใช้ถ่านหินนำเข้าในภาคอุตสาหกรรมยังเพิ่มปริมาณมากขึ้น สวนทางกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการ "ลด ละ เลิกถ่านหิน" ตามเจตนารมย์ของความตกลงปารีส โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา การถมทะเลขยายท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ข้อเสนอถมทะเลของเอ็กซอนโมบิล ไปจนถึงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักที่คุกคามความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น นั้นย้อนแย้งกับคำว่า "เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ" อย่างถึงที่สุด ยังมีการสนับสนุนอีกหลากหลายทางที่เราสามารถทำได้ไม่ใช่แค่การถือป้ายรณรงค์เท่านั้น เราสามารถรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้แม้แต่เวลาที่เราไม่ได้ออกไปไหน กิจกรรม Global Climate Strike โดยเยาวชนและบุคคลทั่วไปในเม็กซิโก ? V?ctor Ceballos / Greenpeace นอกจากการแชร์งานรณรงค์ของชุมชนหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การลงชื่อร่วมผลักดันงานรณรงค์บนเว็บไซต์ยังเป็นการใช้สิทธิ์ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงพลังมวลชนผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นการลงชื่อร่วมรณรงค์ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการร่วมลงชื่อผลักดันงานรณรงค์ในประเทศแล้ว เรายังสามารถร่วมลงชื่อในงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกอีกด้วย เช่น การร่วมลงชื่อสนับสนุน สนธิสัญญาทะเลหลวง ที่เป็นสนธิสัญญาคุ้มครองพื้นที่มหาสมุทร 1 ใน 3 ของโลก จำกัดการเข้าไปหาทรัพยากรของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 3 ล้านคน เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้นด้วย "ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม" (Climate Justic) การเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การฟื้นฟูผืนป่าและหวนคืนสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งทางออกเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยชะลอวิกฤตเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว แต่ยังช่วยลดระยะความเหลื่อมล้ำด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศของกลุ่มคนจนและกลุ่มคนมั่งคั่ง เมื่อโลกต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประเทศที่มีส่วนรับผิดชอบในการก่อให้เกิดหายนะสภาพภูมิอากาศควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่มากกว่าที่จะผลักภาระหนี้ให้กับประเทศเหล่านั้น การที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้เท่าเทียมขึ้นนั้น เราต้องมองภาพที่กว้างกว่ามูลค่าตลาดหุ้น มองภาพที่ใหญ่กว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) แต่ให้เรามองในมุมของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะทำให้เราเห็นถึงโอกาสในการสร้างความเป็นธรรมให้กับโลกของเราและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขนโยบายของประเทศ โครงสร้างสังคม และความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ตัวแทนจาก ชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา ร่วมกันกล่าวคำประกาศเจตนารมย์คัดค้านโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือลักษณ์ของกรีนพีซ ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศยังหมายถึงการหันกลับมามอง "ชุมชน" เป็นหลัก ซึ่งชุมชนนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและสามารถฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติทั่วโลกได้มากถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เรากล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้เกิดความเท่าเทียมกันและทำให้เรากล้าที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่ไม่ใช่แค่เป็นไปได้ แต่มันจะเป็นแนวทางที่จำเป็นและจะทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม https://www.greenpeace.org/thailand/...gical-threats/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|