#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ 23 ตุลาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง จะมีอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "โซเดล" (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 25-26 ต.ค.63 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนบางแห่งกับมีลมแรง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 23 - 25 ต.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 ต.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่จากประเทศจีนจะแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็น โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "โซเดล" (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าบริเวณอ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 25-26 ต.ค. 63 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำอย่างรวดเร็วตามลำดับ ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 23-26 ต.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุไต้ฝุ่น "โซเดล" (พายุระดับ 5)" ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2563 เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (23 ตุลาคม 2563) พายุไต้ฝุ่น "โซเดล" (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 115.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 25-26 ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนบางแห่งกับมีลมแรง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ฮือฮา! เขาทะลุพังกลายเป็นหน้าผา มองคล้ายหน้าสิงโต ปักธงแดงห้ามเข้าเด็ดขาด กระบี่ - ฮือฮา! เขาทะลุพังกลายเป็นหน้าผา มองคล้ายหน้าสิงโต ล่าสุด เจ้าหน้าที่นำธงแดงไปปักเตือนนักท่องเที่ยวห้ามเข้าเด็ดขาด หวั่นเกิดอันตราย จากกรณีที่เกิดเหตุเขาทะลุ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ พังถล่มลงมา 1 ซีก ตกลงไปในทะเล แยกเป็น 2 ส่วน เมื่อช่วงที่เกิดฝนตกหนักและลมพายุพัดแรง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เบื้องต้น เจ้าหน้าที่อุทยานได้เข้าสำรวจเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า หินที่พังถล่มลงมา มีน้ำหนักกว่า 30,000-40,000 ตัน กองอยู่ในทะเล มองเห็นได้อย่างชัดเจน และพบว่าบริเวณรอบๆ เกาะทะลุยังมีรอยร้าวอีกหลายจุดมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมาได้ จึงได้ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังห้ามเข้าใกล้จุดเกิดเหตุ ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (22 ต.ค.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้นำธงแดงไปปักไว้ที่บริเวณหินภูเขาเกาะทะลุ พังลงมา เพื่อห้ามนักท่องเที่ยวหรือชาวประมงเข้าใกล้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายได้ เพราะจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เบื้องต้น พบว่า บริเวณเขาทะลุยังมีรอยแยกแตกร้าวอีกหลายจุด ส่วนใต้ทะเลตรงจุดบริเวณที่หินพังลงไปกองอยู่ใต้น้ำ ก็ยังมีช่องอากาศขนาดใหญ่ อาจจะมีการยุบตัวของก้อนหินลงได้อีก และนอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่รู้แน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้ภูเขาแตกพังลงมา เพียงสันนิษฐานว่า เกิดจากฝนตกหนักและลมพัดแรงติดต่อกันหลายวัน ด้าน นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่ดำน้ำลงสำรวจบริเวณด้านล่างใต้เขาทะลุ พบว่า มีก้อนหินขนาดใหญ่ตกลงไป และมีปะการังได้รับความเสียหายบางส่วน เบื้องต้น ได้ให้เจ้าหน้าที่นำธงแดงไปปักไว้ตรงจุดที่หินภูเขาทะลุพังลงมา และเตรียมติดตั้งป้ายข้อความ เขตอันตราย ห้ามเข้า อยู่ระหว่างการสำรวจ เพื่อห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยว หรือเรือประมงเข้ามาใกล้บริเวณดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่เขาทะลุพังลงมาในลักษณะแตกออกไป 1 ซีก ทำให้กลายเป็นหน้าผาขนาดใหญ่ และเมื่อนักท่องเที่ยวและคนที่ขับเรือผ่านไปมา เมื่อหันไปมองตรงจุดที่ภูเขาแตกกลายเป็นหน้าผา ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คล้ายกับหน้าสิงโต และนำมาพูดต่อๆ กันจนกลายเป็นที่ฮือฮา https://mgronline.com/south/detail/9630000108073
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
ชาวสงขลาลุกฮือ ต้านกำแพงกันคลื่นเซาะฝั่ง 219 ล้าน ผิดแบบที่ทำประชาพิจารณ์ ชาวเขารูปช้าง จ.สงขลา ต้านโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง งบ 219 ล้านบาท ชี้ผิดรูปแบบที่เคยทำประชาพิจารณ์ จี้ให้กรมเจ้าท่าหยุดดำเนินการทันที เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณชายหาดบ้านทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ดำเนินงานโดยกรมเจ้าท่า มีการประชุมร่วมกันทุกฝ่าย โดยมีนายประสงค์ บริรักษ์ นายกเทศมนตรี(ทม.)เขารูปช้าง เป็นประธานการประชุม วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมเจ้าท่า เจ้าหน้าที่เทศบาล ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เนื่องจากโครงการฯ ไม่ได้ก่อสร้างตามรูปแบบที่ได้มาทำประชาพิจารณ์ไว้ กรณีเข้ามาศึกษาในพื้นที่หมู่ 3 หมู่ 7 ต.เขารูปช้าง เมื่อปี 2552 ทม.เขารูปช้าง จึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินโครงการฯ โดยที่ประชุมมีมติไม่รับโครงการฯ และขอให้กรมเจ้าท่าสั่งให้ผู้รับเหมาหยุดดำเนินโครงการนี้ไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุป นายประสงค์ กล่าวว่า ความคิดเห็นของประชาชนกับโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของหมู่ 3 และ หมู่ 7 ในเขต ทม.เขารูปช้าง ประชาชนมีมติไม่รับโครงการฯ จึงสั่งให้ระงับการก่อสร้างทันที และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อมูลมาใหม่ เพื่อที่จะมาดำเนินการตามกระบวนการของการดำเนินโครงการนี้ต่อไป นายประสงค์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ ทม.เขารูปช้าง จะไปรวบรวมข้อมูลที่ได้วันนี้ พร้อมเอกสารข้อมูลที่ทำไว้เมื่อปี 2552 ส่งไปยังผู้เกี่ยวข้องในส่วนกลาง เพื่อแจ้งให้รับทราบว่าโครงการนี้มีปัญหา เพราะไม่ได้ปฏิบัติไปตามที่ได้มาทำประชาพิจารณ์ไว้ รายงานข่าวว่าโครงการฯ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ต.เกาะแต้ว และการก่อสร้างรุกล้ำเขาในเขต ต.เขารูปช้าง 2 หมู่บ้าน ความยาวประมาณ 300 เมตร ใช้งบประมาณทั้งหมด 219 ล้านบาท แต่การก่อสร้างไม่เป็นไปตามที่มีการทำประชาพิจารณ์ไว้จนทำให้ชายหาดบ้านทุ่งใหญ่ ต.เขารูปช้าง เสียหาย https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_5169895
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'กรมธรณี' ชี้ 'หินยักษ์ถล่ม' เป็นหินปูน 260 ล้านปี แตกเพราะสูญเสียเสถียรภาพ "กรมธรณี" ชี้ "หินยักษ์ถล่ม" เป็นหินปูน 260 ล้านปี แตกเพราะสูญเสียเสถียรภาพ เตือนนักท่องเที่ยวห้ามเข้าใกล้ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.63 กรมทรัพยากรธรณีสนับสนุนข้อมูลธรณีวิทยาและติดตามสถานการณ์กรณีเกิดเหตุ "หินยักษ์ถล่ม" บนเกาะทะลุ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี ระบุความว่า จากเหตุการณ์ หินยักษ์หนักว่า 3 หมื่นตัน ถล่มลงทะเล บนเกาะทะลุ(เกาะแม่อุไร) เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เหตุเกิดในช่วงที่มีพายุดีเปรสชั่น ฝนตกต่อเนื่อง คลื่นลมกระโชกแรงในพื้นที่ จังหวัดกระบี่และใกล้เคียง เกาะทะลุ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ มีลักษณะธรณีวิทยาเป็นหินปูน ยุคเพอร์เมียน อายุประมาณ 260 ล้านปี และพื้นที่มีลักษณะแบบคาสต์ หินปูนมีรอยแตก-รอยแยกมาก เมื่อฝนตกหนักและคลื่นลมแรง น้ำจะแทรกซึมเข้าไปในรอยแตก จนทำให้มวลหินสูญเสียเสถียรภาพ ประกอบกับด้านล่างของภูเขาถูกกัดเซาะจากคลื่นทะเลทำให้เกิดรอยเว้า ทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักหินปูนด้านบนได้น้อยลง จึงทำให้หินปูนแตกเคลื่อนตัวและถล่มลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลกลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นเหตุการณ์หินถล่มปกติตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ทั้งบนบกและในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภูมิประเทศแบบคาสต์ ช่วงที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันมีกำลังแรง ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีคลื่นลมแรง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดหินถล่ม ทั้งนี้ มีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ช่วงที่ "พายุโนอึล" พัดผ่านประเทศไทย https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/904048
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|