เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 13-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกรฺที่ 13 พฤศจิกายน 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ส่วนยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. 63


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นกับมีลมแรง โดยมีฝนร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-29 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 13 ? 15 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง 3-5 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 16 ? 18 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีฝนบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง

อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง (พายุระดับ 4) "หว่ามก๋อ" ได้เคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางแล้ว คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 15 พ.ย. 63 ทำให้ในช่วงวันที่ 16 ? 17 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ มีฝนบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 13 ? 15 พ.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนไว้ด้วย และประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุโซนร้อนกำลังแรง "หว่ามก๋อ" (พายุระดับ 4)" ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563

เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (13 พฤศจิกายน 2563) พายุโซนร้อนกำลังแรง "หว่ามก๋อ" (พายุระดับ 4) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 13-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


ภูเขาใต้ทะเล เศษอวน และหนทางเพื่อปกป้องมหาสมุทร ................... โดย Nichanan Tanthanawit

ผ่านมาแล้วเป็นเวลากว่า 7 เดือน ที่เรือเอสเพอรันซา ของกรีนพีซได้ออกเดินทางสำรวจพื้นที่ในมหาสมุทรเรื่อยมาตั้งแต่ทวีปอาร์กติกที่อยู่เหนือสุด ไปจนถึงทวีปแอนตาร์กติกที่อยู่ใต้สุด เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูล หลักฐานของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ เพื่อมาใช้สนับสนุนข้อเสนอให้องค์การสหประชาชาติรับรองสนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) ปัจจุบัน เรือเอสเพอรันซาได้เดินทางมาถึง บริเวณเขตภูเขาใต้ทะเลวีมา (Vema Seamouth) ใกล้กับเมืองเคปทาวน์ ของประเทศแอฟริกาใต้


จาก "ความบังเอิญ" สู่การค้นพบแหล่งอาหารจานเด็ด

พื้นที่เขตภูเขาใต้ทะเลวีมาถูกค้นพบโดยบังเอิญระหว่างการสำรวจหาสายธารแหล่งแร่เพชรในทะเล แม้ว่าจะต้องผิดหวังเพราะไม่พบแร่เพชรตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่นักสำรวจก็ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า เพราะนักสำรวจได้พบกับแหล่งที่อยู่ของกุ้งร็อคล็อบสเตอร์ (Tristan Rock Lobster) ซึ่งเป็นกุ้งที่สามารถพบได้เฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น กุ้งร็อคล็อบสเตอร์ ถือเป็นอาหารจานโปรดของบรรดาคนรักอาหารทะเล และมีราคาขายที่แพง ส่งผลให้มีการทำประมงอย่างหนักเพื่อจับกุ้งชนิดนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของของผู้บริโภค จนทำให้จำนวนประชากรกุ้งร็อคล็อบสเตอร์ลดลงอย่างรวดเร็ว และยังคงไม่ฟื้นตัวจนถึงทุกวันนี้


กุ้งร็อคล็อบสเตอร์ (Tristan Rock Lobster) ซึ่งเป็นกุ้งที่สามารถพบได้เฉพาะบริเวณภูเขาใต้ทะเลเท่านั้น ? Richard Barnden / Greenpeace

ขณะที่ ตัวภูเขาใต้ทะเลวีมา สันนิษฐานว่าค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยเรือวิจัยทางสมุทรศาสตร์ที่ภายหลังนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อของภูเขาแห่งนี้ จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ระบุว่า ภูเขาใต้ทะเลวีมามีความสูงจากพื้นมหาสมุทรถึงปากปล่องที่ 4,600 เมตร สูงกว่าภูเขารูปโต๊ะ (The Table Mountain) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลกยุคใหม่ที่ตั้งอยู่ในประเทศแอฟริกาถึง 4-5 เท่า หรือเท่ากับต้องนำยีราฟ 767 ตัวมาต่อตัวซ้อนกันถึงจะสูงเท่ากับยอดของภูเขาใต้ทะเลวีมาเลยทีเดียว นอกจากนี้ จากลักษณะระบบนิเวศที่ซับซ้อนของภูเขาใต้ทะเลวีมา ที่อุดมไปด้วยสารอาหารชั้นดีสำหรับสัตว์ทะเลยังดึงดูดสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ให้มายังเขตภูเขาใต้ทะเล เพื่อหาอาหาร หรืออพยพมาเพื่อให้กำเนิดสัตว์น้ำรุ่นต่อไปจำนวนมาก นับตั้งแต่กุ้งร็อคล็อบสเตอร์ที่กล่าวมาข้างต้น ไปจนถึงฉลาม เต่า และวาฬขนาดใหญ่


นักประดาน้ำกำลังสำรวจบริเวณยอดภูเขาใต้ทะเลซึ่งปกคลุมไปด้วยสาหร่าย ฟองน้ำ และปะการังวัยอ่อน ? Richard Barnden / Greenpeace


เศษอวน "ฆาตกรร้าย" จากความมักง่าย

ในท่ามกลางความพิเศษและอุดมสมบูรณ์ของเขตภูเขาใต้ทะเลวีมาที่ดึงดูดสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ให้เข้ามา ยังรวมถึงมนุษย์และเรือจำนวนมากที่เข้ามาทำประมงในน่านน้ำแห่งนี้ ผลสืบเนื่องที่ตามมานอกเหนือจากปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงก็คือ เศษซวกอวน (ghost gear) ที่ถูกทิ้งจากเรือประมง โดยบางส่วนลอยออกสู่ทะเลเปิด และพันเข้ากับสัตว์ทะเล เช่น วาฬ เต่า หรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ คร่าชีวิตสัตว์หายากจำนวนมากให้ยิ่งลดจำนวนเหลือน้อยลงเรื่อยๆ


เศษอวนที่พบบริเวณแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก ? Justin Hofman / Greenpeace

เศษอวนที่มีซากสัตว์ถ่วงอยู่นั้นจะจมลงสู่พื้นทะเล ก่อนจะลอยกลับขึ้นมาใหม่หลังสัตว์กินซากกำจัดซากสัตว์ออกจากเศษอวน วนลูปการทำลายล้างอยู่อย่างนี้และในหลายครั้ง เศษอวนยังสร้างความเสียหายให้กับแนวประการังที่เป็นที่อยู่อาศัย และอนุบาลปลาวัยอ่อนอีกด้วย

จากการสำรวจพบว่า ในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะติดเศษอวนมากกว่า 100,000 ตัว และประเมินว่ามีเศษอวนลอยอยู่ในทะเลมากถึง 600,00- 800,000 เมตริกตัน หรือใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอลหนึ่งเลยทีเดียว ในประเทศไทยเอง ในปีนี้ ก็มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องจบชีวิตลงเพราะเป็นเหยื่อของเศษอวนเช่นกัน เช่น กรณีของลูกพะยูนมาเรียมและยามีล

นอกจากนี้ เศษอวนยังใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 600 ปี และจะปล่อยไมโครพลาสติกออกมาปนเปื้อนขยะย่อยสลาย ซึ่งสุดท้ายจะกลับเข้าไปสะสมอยู่ในตัวปลาขนาดเล็ก ที่มนุษย์นิยมนำมาบริโภคกัน


"สนธิสัญญาทะเลหลวง" การต่อสู้เพื่อปกป้องมหาสมุทรของเรา

เช่นเดียวกับแหล่งทรัพยากรทางทะเลหลายแห่งในโลก เขตภูเขาใต้ทะเลวีมานั้นตั้งอยู่พื้นที่ทะเลหลวง (High Sea) หมายถึงส่วนทั้งหมดของทะเลที่มีอยู่นั้น ไม่อยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของรัฐหนึ่งรัฐใดโดยเฉพาะ ข้อดีของพื้นที่ทะเลหลวงคือ ทุกรัฐมีเสรีภาพในการใช้ทะเลหลวง เพื่อการเดินเรือ การบิน การประมง การสร้างและติดตั้งอื่นๆ รวมถึงการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็ทำให้ยากต่อการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพราะยังมีช่องว่างทางกฎหมาย ทั้งด้านกายภาพและเขตอำนาจของรัฐชายฝั่ง ซึ่งเอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรมทำลายล้าง เช่น กลุ่มที่ทำเหมืองแร่ในทะเล และกลุ่มอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่นำมาใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่


รูปปั้นรูปวาฬและเต่าถูกจัดแสดงบริเวณสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภ้ยคุกคามของอุตสาหกรรมการประมง ? Stephanie Keith / Greenpeace

สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) เป็นประเด็นที่กรีนพีซ ร่วมกับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อเสนอให้องค์การสหประชาชาติประกาศรับรองการสร้างเขตปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 จากพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อหยุดยั้งและปกป้องระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษเช่น ภูเขาใต้ะทะเลวีมา และในที่อื่นๆ ให้ไม่ถูกทำลาย และเสียหายไปมากกว่าที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีประชุมหารือในประเด็นสนธิสัญญาทะเลหลวง ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทร เป็นครั้งที่ 3 แล้ว


https://www.greenpeace.org/thailand/...gear-seamount/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 13-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


นโยบายคสช.ทำ 'เศรษฐกิจสีน้ำเงิน' น่วม เครือข่ายภาคปชช.นานาชาติจัดเวที 'ศาลประชาชน' หาทางออก ...................... โดย จรัสรวี ไชยธรรม

ผลกระทบนโยบายรัฐบาลคสช. ทำให้สิทธิชุมชนการประกอบอาชีพทางทะเล ?เศรษฐกิจสีน้ำเงิน? น่วม เครือข่ายระดับนานาชาติร่วมจัดเวี 'ศาลประชาชน' รวมนักวิชาการทั่วโลกพูดคุยถกประเด็นความเหลื่อมล้ำ และแนวทางแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 เครือข่ายประมงพื้นบ้านโลก (The World Forum of Fisher Peoples), มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Foundation), และองค์กรพัฒนาเอกชนประเทศอินเดีย (Sneha India) จัดเวทีเสวนาศาลประชาชน ผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงินในประเทศไทย โดยมี นักเคลื่อนไหวนานาชาติ, นักวิชาการ และแกนนำชุมชน ร่วมพูดคุยปัญหาและทางออกจากผลกระทบการประกอบอาชีพทางทะเล (เศรษฐกิจสีน้ำเงิน) ในประเทศไทย ที่ ห้องประชุมร้านอาหารเฒ่าทะเล ชายทะเลบ้านอ่าวอุดุม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี


การประกอบอาชีพทางทะเล "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" // ขอบคุณภาพจาก: Sustainable Development Foundation

สมบูรณ์ คำแหง แกนนำนักปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.สตูล เปิดเผยว่า 10 ปีกับการเคลื่อนไหวของชุมชนอ่าวปากบารา จ.สตูล ใช้ชื่อ "สมัชชาคนสตูล" ร่วมกันจัดการทรัพยากรธรรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดการทรัพยากรประมง, การจัดการสัตว์น้ำในเชิงคุณภาพ, การออกแบบการท่องเที่ยวชุมชน ? ภาครัฐ และ การจัดการผลผลิต เครื่องกลจับสัตว์น้ำ ? อาหารปลอดสารพิษ อีกทั้งพื้นที่ถูกประกาศจากองค์กร UNESCO จ.สตูลเป็นแหล่งทาง ?อุทยานธรณีสตูล? ทำให้โครงการพัฒนาท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม ถูกชะลอโครงการ นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวสังเกตกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพในสิ่งแวดล้อม ESA มีความไม่ชอบธรรม

"สมัชชาคนสตูล คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมเนื่องจากมีความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพยายามที่จะสื่อสารกับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ไม่ควรให้มีโครงการขนาดใหญ่เนื่องจาก อ่าวปากบาราเป็นพื้นที่ต้นทุนของชุมชนที่สำคัญในด้านการประมง และการท่องเที่ยว" สมบูรณ์ กล่าว

"ยุคสมัยรัฐบาล คสช. การเรียกร้องสิทธิชุมชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้พี่น้องนักเคลื่อนไหวจ.สตูล ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 9 ราย ปัจจุบันกำลังดำเนินคดีซึ่งรวมเป็นเวลา 6 ปีแล้วเห็นได้ชัดว่าการออกปกป้องสิทธิชุมชนในประเทศไทย ในยุครัฐบาล คสช. มีความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งชุมชนพร้อมใจยอมรับชะตากรรมตรงนี้" เขาทิ้งท้าย

ปิยะดา เด็นเก คณะกรรมการสมาพันธ์สตรีชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ตัวแทนสตรีชุมชนอ่าวปากบารา กล่าวว่า ชุมชนอ่าวปากบาราและชุมชนใกล้เคียง ร่วมทำงานวิจัยเรื่องการประมงและ การท่องเที่ยว ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา และเกาะเขาใหญ่ เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมยืนยันว่าการโครงการพัฒนาอุตสาหกรรม กับ การท่องเที่ยว และอาชีพการประมงในจ.สตูล ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน และบริบทในพื้นที่

"พื้นที่อ่าวปากบาราเป็นพื้นที่หลายชุมชนใช้ทรัพยากรร่วมกัน จึงเกิดความร่วมมือในการทำวิจัยการท่องเที่ยว และการประมง ศึกษางานตามเวทีต่างๆ พวกเราพร้อมให้กำลังใจนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชุมชนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี" ปิยะดา กล่าว

สุนทรี เซ่งกิ่ง เครือข่ายผู้หญิง หรือ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน อธิบายว่าเรื่องการเมืองและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จากผลการศึกษาพบว่ารัฐบาลยุค คสช. มีความเร่งรัดในกฎหมายพิเศษ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่การนิคมอุตสาหกรรม (EEC) และการสร้างท่าเรือ สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องต่อสู้ทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง นโยบายมีผลสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ในเรื่องของการจัดการทรัพยากร การแย่งชิง พื้นที่ในการทำการประมง

"ปัญหาที่ต้องแก้ไขในเรื่องบทบาทของผู้หญิงสัดส่วนของกลไก คณะกรรมการระดับจังหวัด รวมถึงระดับชาติ ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เรื่องการทำประมงซึ่งผู้หญิงไม่สามารถขึ้นทะเบียน ได้เนื่องจากกฎหมายยังไม่ยอมรับ อีกทั้งมาตราการในรัฐธรรมนูญปี 40 จนถึงปัจจุบัน ในมาตรา 27 กล่าวถึง การเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล แต่มาตรการที่รัฐกำหนดให้การส่งเสริมพิเศษสำหรับผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฎิบัตินั้น ควรให้มีการทบทวนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในมิติกฎหมาย" สุนทรี กล่าว

"บทบาทของผู้หญิงควรถูกพูดเพิ่มมากขึ้น มาตราการระดับสังคม และความตระหนักในหน่วยงานรัฐ บทบาทผู้ชาย ผู้หญิง ในการมีส่วนร่วมชาวประมง การยอมให้ขึ้นทะเบียนอาชีพประมง การแปรรูป และการค้า" เธอทิ้งท้าย


https://greennews.agency/?p=22133

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 13-11-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


พบทะเลสาบโบราณขนาดมหึมา ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์ คาดอายุเก่าแก่นับล้านปี


ภาวะโลกร้อนทำให้ผืนน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ
ที่มาของภาพ,NASA / MICHAEL STUDINGER


นักธรณีฟิสิกส์ค้นพบร่องรอยของทะเลสาบโบราณขนาดใหญ่ยักษ์ ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผืนน้ำแข็งที่ปกคลุมเกาะกรีนแลนด์เกือบ 2 กิโลเมตร โดยคาดว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่หลายแสนปีไปจนถึงระดับหลายล้านปีก็เป็นได้

รายงานการค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth and Planetary Science Letters ระบุว่า ทะเลสาบแห่งนี้อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ มีขนาดกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 7,100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่จังหวัดสงขลาของไทย หรือรัฐโรดไอแลนด์และรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ รวมกัน


กรีนแลนด์จะเป็นอย่างไรถ้าไร้น้ำแข็ง?

บีบีซีกลับไปที่ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงหลังผ่านไป 15 ปี
เจอทะเลสาบใต้ผืนน้ำแข็งเพิ่มอีกหลายแห่งที่ขั้วใต้ดาวอังคาร แม้ในปัจจุบันทะเลสาบดังกล่าวจะไม่มีน้ำขังอยู่ แต่ยังคงเหลือร่องรอยชั้นหินที่เป็นแอ่งทะเลสาบ โดยจุดที่มีความลึกมากที่สุดอยู่ที่ 250 เมตร ทั้งยังมีตะกอนปริมาณมากที่ส่วนก้นซึ่งสะสมตัวหนาถึง 1.2 กิโลเมตร

คาดว่าในอดีตทะเลสาบแห่งนี้สามารถจุน้ำได้ถึง 580 ลูกบาศก์กิโลเมตร โดยน้ำปริมาณมหาศาลไหลมาจากธารน้ำแข็งที่ละลายตัวกลายเป็นลำธาร 18 สาย ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยปรากฏอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบในทุกวันนี้


ธารน้ำแข็งฮัมโบลต์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ ใกล้กับบริเวณที่พบทะเลสาบโบราณ
ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES


ทีมนักธรณีฟิสิกส์ในโครงการ Operation Icebridge ขององค์การนาซา เป็นผู้ค้นพบร่องรอยของทะเลสาบโบราณขนาดใหญ่ หลังจากใช้อุปกรณ์เรดาร์ที่ทันสมัยสำรวจจากทางอากาศ โดยได้ตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศด้านล่าง รวมทั้งค่าแรงโน้มถ่วงและสนามแม่เหล็กใต้ผืนน้ำแข็งของกรีนแลนด์

ดร. กาย แพ็กซ์แมน นักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐฯ สันนิษฐานว่า ทะเลสาบโบราณดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่ภูมิภาคแห่งนี้มีสภาพอากาศอบอุ่นและไม่มีน้ำแข็งปกคลุม โดยแอ่งทะเลสาบก่อตัวหลังรอยเลื่อนโบราณของแผ่นเปลือกโลกถูกดึงแยกออกจากกัน


ฝูงสุนัขลากเลื่อนไปบนแผ่นน้ำแข็งที่กำลังละลายจนมีน้ำท่วมนอง

"ร่องรอยทางธรณีวิทยาที่เหลืออยู่ของทะเลสาบโบราณแห่งนี้คือคลังข้อมูลสำคัญ ที่เก็บรักษาเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอดีต ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางในอนาคต สำหรับการปกป้องผืนน้ำแข็งของกรีนแลนด์จากภาวะโลกร้อนได้" ดร. แพ็กซ์แมนกล่าว

อย่างไรก็ดี การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลข้างต้น รวมทั้งเพื่อทราบอายุที่แน่นอนของทะเลสาบ จะต้องใช้การขุดเจาะผืนน้ำแข็งลงไปเก็บตัวอย่างชั้นหินและตะกอนก้นทะเลสาบขึ้นมาวิเคราะห์ ซึ่งนักวิจัยของสหรัฐฯ จะเริ่มการขุดเจาะภายใต้โครงการ GreenDrill ในปีหน้า


https://www.bbc.com/thai/features-54916810

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:19


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger