#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน และประเทศจีนตอนใต้แล้ว ในขณะที่มีลมตะวันตกพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป คลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก1วัน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็น กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. คาดหมาย0 ในช่วงวันที่ 4 - 6 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่จะมีลมตะวันตกพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 7 - 9 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีกำลังแรง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 4 ? 7 ธ.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
เมื่อภาวะโลกร้อน กลายเป็นความปกติใหม่ ............... โดย มนนภา เทพสุด สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม สภาพการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า และพายุ ที่ล้วนทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาสู่ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคงทางอาหาร การลี้ภัยเนื่องจากสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนน้ำจืด และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เป็นต้น เป็นสภาพซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ กำลังกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดเพิ่มมากขึ้นในทุกแห่งหน จนเหมือนเป็น "ความปกติใหม่" ของโลกใบนี้ที่ทุกคนคุ้นเคย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหลักของการเกิดวิกฤตการณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน มหันตภัยร้ายระดับโลก ที่กำลังดำเนินไปด้วยอัตราเร่ง จนก้าวมาถึงครึ่งทางของขีดอันตรายที่บรรดานักวิทยาศาสตร์เคยเตือนไว้แล้วว่า จะเป็นจุดพลิกผันที่จะทำให้ระบบนิเวศของโลกถึงคราวล่มสลายได้ ทั้งที่ความพยายามลดขนาดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนนั้น ได้มีการดำเนินกันมาตั้งแต่พิธีสารเกียวโต จนมาถึงข้อตกลงปารีสแล้วก็ตาม ผลการบันทึกสถิติค่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกในช่วงปี พ.ศ.1543-2543 (ค.ศ.1000-2000) ได้แสดงให้เห็นว่า สภาวการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเกินกว่าค่าเฉลี่ยในเกณฑ์ปกติ เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2404 เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา และเพิ่มสูงมากสุดสิบปีในช่วงปี พ.ศ.2553-2562 โดยเมื่อในรอบปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกร้อนขึ้นจากยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นปีที่ร้อนสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากปี พ.ศ.2559 ที่ร้อนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งที่หากภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติ อันเนื่องมาจากผลการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลก (Variations in The Earths Orbital Characteristics) โลกซึ่งเคยเปลี่ยนผ่านช่วงยุคน้ำแข็งสลับกับยุคโลกร้อนมาแล้ว 7-8 ครั้งในรอบหนึ่งล้านปีที่ผ่านมา โตยผ่านยุคโลกร้อนครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว จะต้องอยู่ในช่วงเวลาของการปรับสมดุลให้อุณหภูมิค่อยๆ ลดต่ำลง เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งตามวัฏจักร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานราวแสนปี แต่สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่า โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกร้อนด้วยช่วงเวลาเพียง 200 ปีเท่านั้น ยิ่งเมื่อสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ส่งเสริมให้ก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกผลิตแล้วปล่อยออกมาสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้อย่างไม่หยุดนิ่ง ประเทศทั่วโลกต่างมุ่งระดมเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานกระแสหลักกันอย่างมหาศาล เพื่อผลิตพลังงานมาใช้ทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การคมนาคม และการผลิตไฟฟ้า ประสานกับมีการเผาทำลายผืนป่า เพื่อขยายพื้นที่อุตสาหกรรม การเกษตร และสร้างชุมชนที่อยู่อาศัย รองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 351 ppm ในปี พ.ศ.2531 ซึ่งนับว่าสูงเกินกว่าระดับความปลอดภัยเป็นครั้งแรก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดไว้ที่ 350 ppm และถึงที่ระดับ 409.8 ppm แล้วในปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังนับเป็นค่าความเข้มข้นที่สูงมากสุดยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ที่ชั้นบรรยากาศเหนือโลกเคยมีมาในรอบ 800,000 ปีด้วย เนื่องจากตลอด 800,000 ปีที่ผ่านมา ภายในชั้นบรรยากาศเหนือโลก ไม่เคยปรากฏมีปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินกว่าที่ระดับ 300 ppm และนับว่าเพิ่มสูงจากยุคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 46.36 เลยทีเดียว ในด้านสภาพภูมิอากาศที่ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลร้ายให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายลงทุกขณะ ภาวะอากาศร้อนรุนแรงที่แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก นอกจากจะส่งผลโดยตรงให้จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูง (อากาศร้อน) มากขึ้น และจำนวนวันที่มีอุณหภูมิต่ำ (อากาศเย็น) น้อยลง จนฤดูกาลแปรปรวนแล้ว ความวิปริตแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ยังส่งผลให้บางประเทศต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ขัดแย้งในช่วงเวลาเดียวกัน ดังเช่น ที่ประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกากลับต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัด เมื่อในช่วงต้นปี พ.ศ.2560 นอกจากนี้แล้ว การระเหยของน้ำจากแผ่นดินและผืนน้ำที่เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น ก็ส่งผลให้พื้นที่เขตร้อน เขตกึ่งร้อน และบางส่วนของเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในทวีป ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงและไฟป่าลุกลามได้บ่อยครั้ง ส่วนพื้นที่ซึ่งถูกมวลเมฆเคลื่อนตัวเข้ามาแล้วกลั่นตัวเป็นฝน ก็ประสบกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและรุนแรงจนเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ส่วนมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ก็เป็นเหตุปัจจัยที่กระตุ้นให้ให้ลมพายุก่อตัวเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น และพายุเหล่านี้ก็ทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ตามมามากขึ้นด้วย โลกที่กำลังร้อนขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ให้ดำเนินไปด้วยอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติ (National Snow and Ice Data Center-NSIDC) ได้เปิดเผยผลการสำรวจขั้วโลกเหนือด้วยดาวเทียมให้ทราบว่า แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผืนโลกบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภาวะโลกร้อนนั้น เคยมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่เฉลี่ยถึง 7.7 ล้านตารางกิโลเมตรเมื่อในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ.2522-2543 ได้เกิดการละลาย จนมีขนาดพื้นที่ลดลงเหลือเพียง 4.15 ล้านตารางกิโลเมตรในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ.2562 ซึ่งนับว่าละลายเร็วกว่าปกติ และละลายมากเป็นอันดับสองรองจากปี พ.ศ.2555 ที่เคยละลายมากสุดจนมีขนาดพื้นที่หดเล็กเหลือเพียง 3.39 ล้านตารางกิโลเมตร ยิ่งไปกว่านั้น น้ำแข็งที่อาร์กติกซึ่งปกติจะละลายตัวในช่วงฤดูร้อน แล้วก่อตัวกลับมาเป็นน้ำแข็งอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว กลับไม่สามารถแข็งตัวขยายขอบเขตขึ้นมาได้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ เป็นเพราะในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ คลื่นความร้อนซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5-10 องศาเซลเซียสจากไซบีเรีย ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาทำให้ผืนน้ำแข็งแห่งนี้มีอัตราการละลายของน้ำแข็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอัตราการแข็งตัวของน้ำแข็งลดต่ำลง อีกทั้งยังมีการประเมินจากคณะสำรวจอาร์กติกของบริเตน (BAS) ด้วยว่า มหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งภายในปี พ.ศ.2578 และในปีนี้ ภาวะโลกร้อนได้เข้าคุกคามธารน้ำแข็งทั่วโลก ให้เกิดการละลายตัวเร็วขึ้นจนเกิดแตกหักแล้วหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ธารน้ำแข็งที่ใหญ่และเก่าแก่ที่กรีนแลนด์ ซึ่งได้แตกหักลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนธารน้ำแข็ง ไพน์ ไอส์แลนด์ (Pine Island) กับธารน้ำแข็ง ธเวตส์ (Thwaites) ที่ทวีปแอนตาร์กติกา ก็กำลังอยู่ในสภาวการณ์ที่แตกตัวมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ที่สำคัญอีกประการคือ การละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลกละลายและการขยายตัวของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ยังส่งผลกระทบเชื่อมโยงให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตามมาอีกด้วย ปัจจุบันระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี พ.ศ.2423 ประมาณ 21-24 เซนติเมตรแล้ว โดยระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะแรก แต่เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 เมตร ก็จะเพิ่มขึ้นต่อไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเมื่อใดที่น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ถูกละลายจนหมด ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูง 7 เมตร และหากผืนน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกละลายจนหมด ระดับน้ำทะเลจะมีโอกาสเพิ่มสูงได้ถึง 57 เมตร แน่นอนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ย่อมนำพาปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะจนต้องสูญเสียผืนแผ่นดินไปบางส่วน ปัญหาการลดลงของพืชผลทางการเกษตร ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กต่างๆ ดังเช่น มัลดีฟส์ และเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำหลายแห่ง เช่น นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีการทำการเกษตรในพื้นที่เขตร้อนอย่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จะถูกน้ำทะเลเข้าท่วมจนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงภายในสิ้นศตวรรษนี้ นอกจากนี้ การสูญเสียผืนน้ำแข็งยังนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อชีวิตของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในขั้วโลกเหนือ ทั้งแมวน้ำ หมีขั้วโลก แพลงตอน และสาหร่ายทะเล ซึ่งการลดลงของแพลงตอนและสาหร่ายทะเล ยังส่งผลให้ความสามารถในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศลดต่ำลงด้วย ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทั้งไฟป่า น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และการละลายตัวของชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) คงตัว ถือเป็นปัจจัยป้อนกลับที่ซ้ำเติมให้โลกร้อนยิ่งขึ้นได้ เหตุเพราะเมื่อไฟป่าลุกไหม้ จะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกผลิตออกมาสู่ชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น ส่วนการละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ก็จะส่งผลให้ผืนน้ำแข็งสีขาวที่เหลือมีศักยภาพสะท้อนความร้อนสู่อวกาศได้น้อยลง แต่ปริมาณน้ำซึ่งมีศักยภาพดูดซับความร้อนไว้ได้ดีกลับเพิ่มมากขึ้น โลกจึงร้อนยิ่งขึ้นได้อย่างเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ และร่วมกันเร่งแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจัง โอกาสที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นบรรยากาศจะเพิ่มสูงต่อไป จนถึงขีดอันตรายที่ระดับ 450 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส (จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) ก็จะมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น โลกก็จะก้าวเข้าสู่จุดพลิกผัน อันนำมาซึ่งการพังทลายของระบบภูมิอากาศ ความล่มสลายในส่วนต่างๆ ของระบบสิ่งแวดล้อมโลก และสภาพการณ์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นความปกติใหม่ของโลกใบนี้ ที่ทุกคนต้องเผชิญหน้า https://www.matichon.co.th/article/news_2467590
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์
ปี 2020 ติดโผ 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ องค์การสหประชาชาติเตือนโลกกำลังอยู่ในหายนะ โดยปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดในรอบร้อยกว่าปี Photo by JOSH EDELSON / AFP เอเอฟพี รายงาน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนว่าโลกกำลังอยู่ในช่วง "หายนะของสภาพภูมิอากาศ" โดยปีนี้เป็น 1 ใน 3 ปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกตั้งแต่ปี 1850 หรือเมื่อ 170 ปีที่แล้ว อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเผยรายงานปี 2020 ระบุว่าโลกกำลังเข้าใกล้ภัยพิบัติจากสภาพอากาศ โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม พายุไซโคลน และเฮอริเคนกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ "มนุษย์กำลังทำสงครามกับธรรมชาติซึ่งนี่ถือเป็นการฆ่าตัวตายเพราะธรรมชาติมักจะโต้กลับเสมอ และมันก็กำลังทำเช่นนั้นด้วยพลังและความโกรธที่เพิ่มมากขึ้น" กูเตอร์เรสกล่าว เพตเตรี ทาลัส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีโอกาสอย่างน้อย 1 ใน 5 ที่จะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2024 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่าในปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 2 เท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยในช่วงปี 2015 ถึง 2020 อุณภูมิโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 6 ครั้ง และอุณภูมิเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ก๊าซเรือนกระจกทำสถิติสูงสุดในปีที่แล้วและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้แม้จะมีมาตรการระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม เช่นเดียวกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ดังนั้นมาตรการจากโควิด-19 นั้นแทบจะไม่มีผล โดยจะต้องมีการผลิตน้ำมันก๊าซและถ่านหินลดลง 6% ต่อปีเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ในช่วงปี 2020 เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าในออสเตรเลีย ไซบีเรีย ชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐ และอเมริกาใต้, น้ำท่วมในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เกิดพายุอย่างน้อย 30 ครั้ง, ความร้อนทางตอนเหนือของไซบีเรียสูงถึง 38 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดที่เคยพบทางตอนเหนือของอาร์กติกเซอร์เคิล, 80% ของพื้นที่มหาสุมรประสบกับคลื่นความร้อนทางทะเลอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ รวมถึงระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเนื่องจากแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย อย่างไรก็ตามรายงานอุณหภูมิดังกล่าวเป็นเพียงฉบับชั่วคราวโดยอ้างอิงจากอุณหภูมิตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม ซึ่งรายงานฉบับสุดท้ายของปีนี้จะเผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2021 https://www.posttoday.com/world/639505
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
สหประชาชาติเรียกร้องนานาชาติผนึกกำลังกอบกู้สิ่งแวดล้อมโลก เลขาธิการยูเอ็นเตือนว่า "ธรรมชาติมักจะโต้กลับด้วยสัพพะกำลังและความโกรธเกรี้ยว" "โลกของเรากำลังพัง" นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเตือนว่ามนุษยชาติกำลังทำสงคราม "ฆ่าตัวตาย"กับธรรมชาติ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์อย่างแท้จริง เลขาธิการยูเอ็น กล่าวเรื่องนี้ในงานพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมของบีบีซีว่า "ธรรมชาติมักจะโต้กลับด้วยสัพพะกำลังและความโกรธเกรี้ยว" นอกจากนี้เขายังต้องการให้การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญในภารกิจโลกขององค์การสหประชาชาติในปีหน้านี้ ในสุนทรพจน์ที่มีชื่อว่า "สภาพการณ์โลก" นายกูเตอร์เรสประกาศว่า เป้าหมายหลักในปี 2021 ของยูเอ็นคือการสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์หมายถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และสร้างภาวะสมดุลระหว่างก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยออกมาในอนาคตกับการลดปริมาณก๊าซดังกล่าวที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก นายกูเตอร์เรสกล่าวว่า ทุกประเทศ เมือง สถาบันการเงิน และบริษัทต่าง ๆ "ควรต้องดำเนินแผนการสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050" ซึ่งในมุมมองของเขา องค์กรเหล่านี้จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อมุ่งสู่วิถีทางที่ถูกต้อง นั่นคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกลง 45% จากระดับในปี 2010 ให้ได้ภายในปี 2030 ส่วนข้อเรียกร้องอื่น ๆ ของเลขาธิการยูเอ็นได้แก่ - ตั้งราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ - ยุติการให้เงินช่วยเหลือและการอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล - เปลี่ยนภาระภาษี (tax burden) จากภาษีเงินได้ไปเป็นภาษีคาร์บอน และเปลี่ยนสถานะจากผู้เสียภาษีไปเป็นผู้ก่อมลพิษ - ให้บรรจุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ไว้ในนโยบายและการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจและการคลังต่าง ๆ - ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติล้างโลก นายกูเตอร์เรส ยอมรับว่าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการสุดโต่งเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน "ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงชัดเจนว่า ถ้าโลกไม่ลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลง 6% ทุกปี ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปี 2030 อะไร ๆ ก็จะเลวร้ายลงอย่างมาก" เลขาธิการยูเอ็น ชี้ว่า นโยบายด้านสภาพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะใช้รับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า "หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม เราก็อาจมุ่งสู่หายนะ นั่นคือ การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้" ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก "ไฟป่าและน้ำท่วม พายุไซโคลนและเฮอร์ริเคนที่รุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ในปัจจุบัน" เขากล่าว "ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังล่มสลาย ทะเลทรายกำลังแผ่ขยายอาณาเขต มหาสมุทรกำลังเต็มไปด้วยขยะพลาสติก ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีพลาสติกมากกว่าปลาในทะเล" นายกูเตอร์เรส เรียกร้องให้ประชาคมโลกให้คำมั่นอันทะเยอทะยานที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในเดือน พ.ย. ปีหน้า นอกจากนี้เขาจะกดดันให้มีการดำเนินการเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันแก้วิกฤตการสูญพันธุ์ ซึ่งกำลังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และดำเนินความพยายามเพื่อลดมลพิษ โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องหยุดทำสงครามกับโลก "เราต้องประกาศสงบศึกอย่างถาวรและกลับมาปรองดองกับธรรมชาติอีกครั้ง" https://www.bbc.com/thai/international-55160422
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|