#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ มีกำลังอ่อน ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลักษณะเช่นทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน รวมทั้งฟ้าผ่าไว้ด้วย สำหรับทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 18 - 19 เม.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 เม.ย. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ เนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับลมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน อ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 18 ? 19 เม.ย. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก และลูกเห็บตก รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับพายุไต้ฝุ่น "ซูรีแค" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
กระแส "อูนิ" ฟีเวอร์ คนหัวใสทำทัวร์จับ "เม่นทะเล" หวั่นกระทบแนวปะการัง ก่อนหน้านี้ ค่านิยมการบริโภค Uni (อูนิ) หรือ อัณฑะ กับ รังไข่ของเม่นทะเล ซึ่งหลายคนเรียกว่า "ไข่หอยเม่น" ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในประเทศไทย ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่รับประทานอูนิมานานแล้ว และอูนิ ยังจัดเป็นวัตถุดิบที่มีราคาแพง แต่ต่อมา เมื่อคนไทยบางกลุ่ม ซึ่งต้องมีกำลังซื้อพอสมควร มีความต้องการบริโภค อูนิ มากขึ้น ร้านอาหารญี่ปุ่นบางร้านในประเทศไทย จึงมีการนำเข้า อูนิ ส่งตรงจากญี่ปุ่น โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมก็คือ Murasaki (มุราซากิ) และ Bafun (บาฟุน) ซึ่งอูนิเกรดพรีเมียมที่นำเข้านั้น กว่าจะได้ลิ้มลองก็ต้องจ่ายเงินพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานแบบโอมากาเสะ แบบซูชิ หรือแบบทั้งถาดก็ตาม ทำให้ หลายคนเริ่มหันกลับมามอง "เม่นทะเล" ของไทย จนเกิดเป็นทัวร์จับเม่นทะเล และให้นักท่องเที่ยวได้รับประทาน อูนิ กันสดๆ ที่สำคัญคือได้รับความนิยมอย่างมาก จนหลายคนกังวลว่า ค่านิยมรับประทานเม่นทะเลตามแนวปะการัง จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทยหรือไม่ "เม่นทะเล" นักทำความสะอาดแห่งท้องทะเล ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เม่นทะเลมีมากกว่า 900 สายพันธุ์ กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ พบในทะเลลึกเกือบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นหาดหิน หาดทราย แนวปะการัง ประโยชน์หลักของเม่นทะเล คือ ช่วยขูดและกินสาหร่ายที่เกาะปะการัง ซึ่งในแนวปะการังจะมีทั้งปะการังและสาหร่ายปะปนกันอยู่ สาหร่ายจะมีลักษณะเคลือบอยู่ตามปะการัง ก้อนหิน โดยเม่นทะเลจะขูดสาหร่ายกินไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดพื้นที่ว่าง ตัวอ่อนปะการังที่ลอยน้ำมาก็สามารถหาที่เกาะได้ หากไม่มีเม่นทะเล คอยกินสาหร่าย สาหร่ายก็จะเคลือบก้อนหินอยู่อย่างนั้น ตัวอ่อนปะการังก็จะลงเกาะไม่ได้ หรือลงเกาะได้ยาก ส่งผลกระทบให้ปะการังมีน้อยลง สาหร่ายยึดพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นกรณีปกติ จะไม่ส่งผลกระทบเท่าไร แต่เมื่อเกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งจะเกิดทุก 2-3 ปี จะทำให้ปะการังที่อ่อนแออยู่แล้วเสื่อมโทรม ที่สำคัญคือ เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว จะฟื้นฟูได้ยากมาก ถ้าเม่นทะเลหายไปจะยิ่งแย่ เพราะการฟื้นฟูเม่นทะเล ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน "เม่นทะเลทำหน้าที่ควบคุมสาหร่ายบริเวณแนวปะการัง หากไม่มีเม่นทะเล สมดุลก็จะเปลี่ยนแปลงไป หรือหากเกิดประการังฟอกขาว หรือ ภัยพิบัติ แนวปะการังจะเสื่อมโทรมฉับพลัน จะไม่ฟื้นตัว เพราะไม่มีเม่นทะเลมาควบคุมสาหร่าย" ตามธรรมชาติ แนวประการังจะมีสัตว์หลายชนิดในการควบคุมสมดุล หลักๆ คือ ปลิงทะเล กับ เม่นทะเล ซึ่งแนวปะการังในเมืองไทยมีธาตุอาหารสูง ทำให้สาหร่ายโตง่าย หน้าที่ของ "ปลิงทะเล" จะกินตะกอน ส่วน "เม่นทะเล" จะกินสาหร่ายโดยตรง บทเรียนแสนเศร้า "ปลิงทะเล" ถูกจับเกือบหมด ผศ.ดร.ธรณ์ เล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน คือ ปลิงทะเลถูกจับเกือบหมด ตนขอยืนยันในฐานะคนที่ทำงานเรื่องนี้มานานพอสมควร ในอดีตเรามีประชากรปลิงทะเลในแนวปะการังมากกว่า 10 เท่าของปัจจุบัน หลังจากปลิงทะเลโดนจับ แม้ว่าจะเลิกจับแล้ว แต่จำนวนปลิงทะเลก็ไม่เคยกลับมาจำนวนเท่าเดิมอีกเลย เมื่อไม่มีปลิงทะเลคอยกินตะกอน จะทำให้ตะกอนมีจำนวนมาก ซึ่งตะกอนเป็นปุ๋ยช่วยเร่งให้สาหร่ายโตเร็วขึ้น เมื่อสาหร่ายมีมากขึ้น ดังนั้นเม่นทะเลก็จำต้องมีมากขึ้นเพื่อกินสาหร่าย เรามีบทเรียนเรื่องปลิงทะเลแล้ว หากเม่นทะเลถูกจับ แม้ว่าจะเลิกจับก็จะเหมือนเดิม สิ่งที่ตามมาคือ แนวปะการังจะค่อยๆ พังไปเรื่อยๆ อาจจะไม่พร้อมกันทั่วประเทศ แต่ที่ไหนจับเม่นทะเลเยอะ แนวปะการังก็จะพังก่อน เม่นทะเลในประเทศไทย มีหลายสายพันธุ์ ในแนวปะการังส่วนใหญ่ คือ เม่นทะเลสีดาหนามยาว เป็นสายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์อื่นๆ อีกประมาณ 10 ชนิด ซึ่งในท้องทะเลมีอีกหลายสิบสายพันธุ์ แต่ยังไม่มีใครไปศึกษารายละเอียดยิบย่อย สำหรับเม่นทะเลไทย ที่ถูกคนจับกินจะเป็นเม่นหนามสั้น เพราะตัวอ้วนกว่า แกะง่ายกว่า แต่ปัญหาคือ เม่นทะเลหนามสั้นมีไม่มาก หากเทียบกับ เม่นทะเลหนาวยาว ดังนั้น คนจึงจับเม่นทะเลดำหนามยาวกันมาก เพราะเจอตัวได้ง่ายกว่า เม่นทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงเม่นทะเล เริ่มเพาะเลี้ยงตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน หวังส่งญี่ปุ่น แต่มาทราบภายหลังว่า คนญี่ปุ่นไม่นิยมกินสายพันธุ์ของเรา เขากินสายพันธุ์ของเขา และสายพันธุ์เวียดนาม เพราะเม่นทะเลของไทย มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งปัจจุบันยังพยายามวิจัยกันอยู่ ปัญหาคือการเพาะเลี้ยงไม่ยาก แต่การเลี้ยงยาก เพราะหนามชนกัน หนามทิ่ม ปริมาณที่ได้น้อย ไม่คุ้มค่า เมื่อถามว่าสำเร็จไหม ตอบว่ามีการทดลองเลี้ยง วิจัย และเป็นฟาร์ม ซึ่งคำว่า "ฟาร์ม" ไม่ใช่แค่จับเม่นทะเลมารวมกัน แต่ต้องเป็นการเพาะพันธุ์ตั้งแต่ต้นมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เลี้ยงจนออกลูก และนำไปขาย การจับเม่นทะเลตามแนวปะการังนั้น ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับร้านอาหารญี่ปุ่น เพราะเป็นการนำเข้า "อูนิ" มาจากญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นมีฟาร์ม เขาศึกษาพัฒนามานานแล้ว ต่างจากประเทศไทย ที่เมื่อก่อนไม่กินเม่นทะเลเลย จนกระทั่งได้รับความนิยมมาจากญี่ปุ่น ดังนั้นคิดว่าในประเทศไทยจะมีการเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์มจึงยาก หลายพื้นที่ความต้องการไม่สูง ทัวร์หัวใสพากิน "เม่นทะเล" แนวปะการัง ทุบหม้อข้าวตัวเอง ความนิยมที่พูดถึงคือ "การพาทัวร์ไปกินเม่นทะเลตามแนวปะการังโดยเฉพาะ" เกาะบางแห่งในภาคตะวันออก มีการโปรโมตในอินเทอร์เน็ต เมื่อชาวบ้านเห็นว่าคนในพื้นที่ทำทัวร์ ก็ทำตามๆ กัน เพราะฉะนั้นจึงห่วงบางจุด ไม่ใช่ทั้งประเทศ ที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีการเลียนแบบเร็วมาก เม่นทะเลอาจหมดได้ภายใน 1 ปีกว่า ไม่ใช่ค่อยๆ หมด ดังนั้นจึงต้องเตือนเผื่อไว้ล่วงหน้า หากปล่อยให้ถึงช่วงพีคแล้วจะหยุดไม่ทัน ขณะนี้ ชาวบ้านหลายเจ้าเริ่มทำทัวร์กันมาก สิ่งที่ต้องการจะพูดคือ เม่นทะเลไม่สามารถทำเป็นสัตว์คุ้มครองได้เพราะยากมาก ดังนั้น คนต้องมีจิตสำนึก ต้องกระจายข่าวให้คนที่คิดจะจองทัวร์ไปกินเม่นทะเลตามแนวปะการังได้ทราบว่า เขากำลังจะไปทำลายแนวปะการัง ความนิยมก็จะหายไป ทัวร์ก็จะลดลง สำหรับคนที่ทำทัวร์เอง ก็กำลังทุบหม้อข้าวตัวเอง ยกตัวอย่าง ลุงเอ ทำทัวร์แนวปะการัง มีคนมาเที่ยวอยู่แล้ว แต่ลุงเอเห็นว่ามีกระแสกินเม่นทะเล ซึ่งเม่นทะเลมีอยู่ในแนวปะการังอยู่แล้ว จึงเพิ่มการกินเม่นเข้ามาในทัวร์ มีการโฆษณาให้คนสนใจมากขึ้น แต่เมื่อพาคนไปกินเม่นทะเล จนเม่นทะเลหมด จะส่งผลกระทบทำให้แนวปะการังพัง ลุงเอจะต้องหาแนวปะการังใหม่ที่อาจจะไกลขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำลายแนวปะการัง หรือการทุบหม้อข้าวตัวเอง. https://www.thairath.co.th/news/loca...IDGET#cxrecs_s
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ฟิลิปปินส์ยึดซากหอยมือเสือน้ำหนัก 200 ตัน หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์บุกเข้ายึดซากหอยมือเสือน้ำหนักรวม 200 ตันมูลค่ากว่า 1,200 ล้านเปโซ (25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้ที่จังหวัดปาลาวัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ สำนักข่าวเอพีรายงานจากประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่า หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ แถลงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งได้บุกเข้ายึดสินค้าผิดกฎหมาย เป็นซากหอยมือเสือน้ำหนักรวม 200 ตัน มูลค่าราว 1,200 ล้านเปโซ (25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 750 ล้านบาท) ในจังหวัดปาลาวัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการจับกุมซากหอยมือเสือครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ พร้อมกับผู้ต้องสงสัย 4 รายถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรสัตว์ป่า สำนักข่าวบีบีซีรายงานด้วยว่า หอยมือเสือถ้าโตเต็มที่อาจใหญ่กว่า 1 เมตร และหนักได้ถึง 250 กก. ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล และฟิลิปปินส์ก็ยังเป็นถิ่นฐานของสายพันธุ์หอยมือเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ฟิลิปปินส์ระบุโทษของผู้กระทำผิดฆ่าสัตว์ป่าหายาก ระวางโทษจำคุกสูงสุด 12 ปีและปรับ 1 ล้านเปโซ https://www.dailynews.co.th/foreign/837890
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
ดร.ธรณ์ชี้ปะการังกำลังฟื้นคืนวอนต้องช่วยกันดูแล 18 เม.ย.64- ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Thon Thamrongnawasawat" ระบุ ทะเลกำลังสงบ ปะการังกำลังฟื้นคืน แต่บางครั้งการท่องเที่ยวอาจรบกวน ไม่ใช่แค่คนไปมากน้อยแค่ไหน แต่ขึ้นกับว่าเราปฏิบัติตัวอย่างไรด้วย การถ่ายภาพใต้น้ำกำลังเป็นที่นิยม ใครก็อยากได้ภาพสวย ปัญหาคือเบื้องหลังภาพเป็นอย่างไร คนถ่ายย่อมรู้ดี เพื่อนๆ ในวงการดำน้ำมีมากมาย แทบทุกคนรับผิดชอบต่อการถ่ายภาพ และหลายต่อหลายภาพเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทะเล ไม่ใช่น้อยๆ แต่มากด้วยครับ ทว่า...บางครั้งบางคน อาจมองข้าม อาจมุ่งแต่อยากได้ภาพสวยสุดโดยหลงลืมไปว่าหัวใจของการดำน้ำคืออะไร หัวใจไม่ใช่การตื่นเต้นผจญภัย ไม่ใช่เพียงความสนุกของมนุษย์ จุดกำเนิดที่แท้จริงคือเป็นสะพานเชื่อมต่อคนกับเพื่อนๆ ในโลกสีคราม ทำให้เรารู้จัก ทำให้เรารัก และทำให้เราช่วยกันดูแลได้ หากหัวใจถูกมองข้าม การดำน้ำก็แทบจะไม่มีความหมาย จึงอยากขอร้องกันไว้ ทุกท่านทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร ชีวิตใต้ทะเลบอบบางแค่ไหน ช่วยกันบอกกล่าว ช่วยกันแนะนำ ช่วยกันดูแล โควิดมา โควิดจากไป เราคงหวังให้ทะเลดีขึ้นอย่างยั่งยืนจากโรคระบาดไม่ได้ แต่เราหวังได้กับความรักความเข้าใจในทะเลไทย เพราะความรักอยู่ได้เป็นนิรันดร์ หมายเหตุ - จุดประสงค์ของโพสต์นี้คือเพื่อการอนุรักษ์ทะเลและเพื่อแจ้งเตือนว่า ปะการัง ปะการังอ่อน ฯลฯ เป็นสัตว์คุ้มครอง ต้องระมัดระวังไม่ให้ทำอันตรายต่อสัตว์เหล่านี้ครับ https://www.thaipost.net/main/detail/99863
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
"ซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติบ้านท่าเลน" บ้านท่าเลน ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ "บ้านท่าเลน" อยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่ ประมาณ 30 - 35 กิโลเมตร ที่นี่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีป่าโกงกางและป่าชายเลนรายรอบ ชาวบ้านที่นี่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 80% และมีเรือที่เรียกว่า "เรือหัวโทง" เป็นดั่งแขนขาช่วยในการออกไปหากินกลางทะเล ดังนั้นทุกครั้งที่มีเรือใหม่หรือจะเอาเรือขึ้นคาน จึงมีการ "ทำบุญเรือ" เวลาที่นำเรือเข้ามาชายฝั่ง ก็จะผูกเรือไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นทั่วริมหาดประหนึ่งบริเวณนี้เป็นอู่จอดเรือ ผู้ใหญ่สุชาติ สงวนสินธ์ บอกว่าที่หมู่บ้านแห่งนี้มี "ซูเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ" เพราะแค่ออกเรือจากหมู่บ้านมาไม่ถึง 10 นาทีก็จะเจอแหล่งเลี้ยงกุ้งมังกรตัวใหญ่หรือเพียงหย่อนเบ็ดมือลงไปไม่ถึง 10 วินาทีก็ได้ปลามากินแล้ว นอกจากนั้นที่นี่ยังคงวิถีหากินกับทะเลแบบดั้งเดิม เป็นวิถีง่าย ๆ ที่ชาวบ้านได้สืบทอดกันมานาน ซึ่งความคึกคักในการประกอบอาชีพทั้งในทะเลและริมฝั่งทะเลของชาวบ้านที่นี่ทำได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยช่วงกลางวันจะ "ตกปลาทราย" ด้วย "เหยื่อรัง" หรือไส้เดือนทะเล โดยนำเหยื่อรังเกี่ยวกับเบ็ดไม้ยาวประมาณ 2 เมตร แล้วเดินลงไปในน้ำทะเลที่หน้าหาดเพื่อยืนตกปลาทรายเพียงไม่เกิน 1 นาทีเจ้าปลาทรายก็มากินเหยื่อ นอกจากนี้ยังมีการใช้ตะขอแหลมเจาะ "หอยติบ" ซึ่งเกาะติดบนก้อนหินริมหาดมากมายนับล้าน ๆ ตัว ช่วงกลางคืนการหากินจะต้องเชี่ยวชาญเป็นพิเศษโดยเฉพาะการจับกุ้ง หรือที่เรียกว่า "โหล๊ะกุ้ง" ชาวบ้านจะใช้ไฟที่ติดศรีษะส่องไปให้แสงไฟกระทบกับตากุ้ง หากมีกุ้งก็จะเห็นเป็นแสงวิบวับสีแดงระเรื่อแทบทั้งหาด จากนั้นใช้ฉมวกแหลมที่ทำขึ้นเองแทงไปที่ตัวกุ้งทีละตัว ก็จะได้กุ้ง ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังเดินหากุ้งด้วยวิธีแบบนี้อยู่ แต่ความพิเศษคือต้องจับช่วงข้างขึ้นตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะต้องอาศัยธรรมชาติดูพระจันทร์ และต้องทำในช่วงข้างขึ้น เวลาหัวค่ำช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ทุ่มและหัวรุ่งคือ ช่วงเวลา ตี 2 - ตี 3 ออกเดินหาครั้งละประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ก็จะได้กุ้งจำนวนมากมาทำกินและสามารถจับกุ้งได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านที่นี่บอกว่า หมู่บ้านแห่งนี้จะเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน เพราะว่าคนทุกรุ่นที่ถูกสอนกันมาเรื่องการหากินด้วยวิถีพอเพียง เพื่อคนที่คนรุ่นหลังจะได้ไม่เดือดร้อนเรื่องการทำกิน https://program.thaipbs.or.th/TheConnect/episodes/77760
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|