#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคกลางมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ อนึ่ง พายุดีเปรสชัน "โคะงุมะ" ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศลาวตอนบนแล้ว ลักษณะเช่นนี้ส่งผลทำให้ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 ? 14 มิ.ย. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่พายุโซนร้อน ?โคะงุมะ? ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในระยะต่อไป ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และ บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 19 มิ.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 13 ? 14 มิ.ย. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
วาฬหัวแตงโมเกยตื้น เสียชีวิตแล้ว หลังอาการทรุดต่อเนื่อง เครดิตภาพ - อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อุทยานแห่งชาติสิรินาถเผย วาฬหัวแตงโมเกยตื้น-บาดเจ็บเสียชีวิตแล้ว หลังจากอาการทรุดลงต่อเนื่อง พร้อมรายงานการชันสูตร สันนิษฐานเบื้องต้นว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ นายปราโมทย์ แก้วนาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เปิดเผยเมื่อวาน (12 มิถุนายน 2564) ถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือวาฬหัวแตงโมเกยตื้น ที่หาดในยาง ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ว่า หลังจากส่งมอบวาฬ ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) นำไปอนุบาลพักฟื้น โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีบาดแผลถลอกเล็กน้อยบริเวณครีบหลัง และลำตัว ใต้ท้องมีแผลเปื่อย บริเวณปากมีลักษณะแหว่ง ฟันด้านในกร่อน ไม่สามารถว่ายน้ำได้อย่างปกติ ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า วาฬมีระดับความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับผอม อัตราการหายใจ 6 ครั้งต่อ 5 นาที แต่พบภาวะหายใจเบาและช้ากว่าปกติ รวมทั้งมีฟองอากาศพ่นออกมาจากรูหายใจตลอดเวลา เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ของ ศวอบ. ได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ผลการตรวจเลือดบ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง ภาวะแห้งน้ำ ภาวะตับอักเสบและภาวะไตอักเสบ จึงพิจารณาให้สารน้ำและยา แต่วาฬหัวแตงโมมีอาการทรุดลงอย่างต่อเนื่องและเสียชีวิตในที่สุด เจ้าหน้าที่ ศวอบ. ชันสูตรซาก พบน้ำและฟองอากาศในหลอดลมจำนวนมาก ซึ่งบ่งบอกถึงภาวการณ์สำลักน้ำ โดยคาดว่าเกิดขึ้นระหว่างการเกยตื้น ปอดพบภาวะอักเสบปานกลาง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณปอดขยายใหญ่สอดคล้องกับภาวะปอดอักเสบ ตับมีขนาดใหญ่กว่าปกติและพบภาวะอักเสบ สอดคล้องกับผลค่าเลือดก่อนหน้า ไตมีขนาดใหญ่กว่าปกติและพบภาวะอักเสบปานกลาง สอดคล้องกับผลค่าเลือดก่อนหน้า ท่อกรวยไตโป่งและพบปัสสาวะคั่งร่วมกับก้อนซีสต์ (Cyst) พยาธิจำนวนมากบริเวณท่อนำปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาจเกิดจากการกดทับของก้อนซีสต์ กระเพาะอาหารพบภาวะอักเสบปานกลางและพบพยาธิภายในกระเพาะ ลำไส้เล็กพบภาวะอักเสบรุนแรง และกระเพาะปัสสาวะพบภาวะอักเสบเล็กน้อย จึงสันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นว่า เกิดจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ ทำให้วาฬหัวแตงโมเกยตื้นและเสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้ วาฬหัวแตงโม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เมื่อมองจากด้านบนเห็นส่วนหัวรูปสามเหลี่ยม ครีบข้างเรียวปลายแหลมตั้งตรงออกจากลำตัว ลำตัวสีดำ คางและใต้ท้องแนวสะดือและช่องเพศสีขาว แถบสีจาง ตั้งแต่ช่องหายใจไปจนถึงปลายปาก ขอบปากขาว หน้ามีสีดำรูปสามเหลี่ยม โตเต็มที่ยาว 2.78 ม. และหนัก 275 กก. ลูกแรกเกิดยาวประมาณ 1 ม. ลักษณะฟันซี่เล็ก เรียวแหลม มี 20-25 คู่บนขากรรไกรบนและล่าง ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 11.5 ปี (ยาว 2.35 ม.) ส่วนตัวผู้อายุ 16.5 ปี (ยาว 2.44 ม.) ออกลูกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ระยะหย่านม 9-12 เดือน ว่ายน้ำเร็ว วาฬหัวแตงโม ชอบรวมกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ จำนวน100-500 ตัว อาจมากถึง2,000 ตัว พบรวมกับโลมาชนิดอื่น เช่น โลมาฟราเซอร์ เป็นต้น อาหารของวาฬแตงโม เป็นปลาขนาดเล็ก และปลาหมึก บางครั้งกินกุ้งเป็นอาหาร ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจายเช่นเดียวกับวาฬเพชฌฆาตเล็ก บริเวณน้ำลึกในเขตร้อนและกึ่งร้อน ระหว่างเส้นรุ้งที่40oN-35oS มักมีการเกยตื้นหมู่ (Mass strandings) และพบการเกยตื้นหมู่มากที่สุดถึง 250 ตัว สำหรับประเทศไทยพบซากเกยตื้นที่ จ.ชลบุรี และสงขลา https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000056906
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ชาวเมารีอาจค้นพบทวีปแอนตาร์กติกาก่อนนักสำรวจชาวยุโรปถึง 1,300 ปี ชาวเมารีซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ อาจเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ค้นพบทวีปแอนตาร์กติกา ดินแดนทางใต้สุดและหนาวเย็นที่สุดของโลก ก่อนที่บรรดานักสำรวจชาวยุโรปจะตามรอยไปถึงในอีก 1,300 ปีต่อมา ทีมวิจัยด้านประวัติศาสตร์ชีววิทยาและการอนุรักษ์ของนิวซีแลนด์ นำโดย ดร. พริสซิลลา เวฮี จากมหาวิทยาลัยไวกาโต (University of Waikato) นำเสนอผลการศึกษาล่าสุดในวารสารราชสมาคมแห่งนิวซีแลนด์ (JRSNZ) โดยระบุว่าชาวเมารีอาจเป็นผู้ล่องเรือไปถึงน่านน้ำมหาสมุทรใต้ และเป็นผู้มองเห็นแนวชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาก่อนใคร ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 แล้ว หลักฐานที่ชี้ถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว มาจากการรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์แบบมุขปาฐะที่บอกเล่าสืบต่อกันมา รวมทั้งวรรณกรรมที่ไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง (grey literature) ซึ่งที่ผ่านมาแวดวงวิชาการไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลประเภทนี้ เท่ากับประวัติศาสตร์การสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาที่บันทึกอย่างเป็นทางการโดยชาวยุโรป ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ตำนานของบรรพบุรษชาวเมารีบางสำนวนเล่าว่า "ฮุย เต รังงีโอรา" (Hui Te Rangiora) วีรบุรุษชาวโพลีเนเชียนและผู้นำในการสำรวจท้องทะเล ได้ออกเดินทางลงใต้ไปไกลกว่าดินแดนของชาวเมารีมาก จนได้พบกับ "ทะเลแป้ง" ( Te tai-uka-a-pia ) ซึ่งเป็นคำที่พวกเขาใช้พรรณนาถึงผืนน้ำที่เต็มไปด้วยหิมะและแผ่นน้ำแข็งสีขาว ดูคล้ายกับเนื้อของหัวมันท้าวยายม่อม (Arrowroot) ที่ขูดออกมากินได้นั่นเอง เรือ "วากา" แบบดั้งเดิมของชาวเมารี ขณะร่วมขบวนรับเสด็จเจ้าชายแห่งเวลส์เมื่อปี 2015 ก่อนหน้านี้บันทึกประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกระบุว่า มีการค้นพบทวีปแอนตาร์กติกาครั้งแรกในปี 1820 ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า สมาชิกทีมสำรวจของรัสเซียหรือสหราชอาณาจักรกันแน่ที่เป็นผู้มองเห็นผืนแผ่นดินของแอนตาร์กติกาก่อน นอกจากหลักฐานที่เป็นตำนานมุขปาฐะแล้ว ทีมผู้วิจัยยังพบรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Polynesian Society เมื่อปี 1899 โดยรายละเอียดของรายงานฉบับนี้ชี้ว่า นักล่องเรือชาวเมารีในอดีตได้บรรยายถึงสิ่งมีชีวิตและสภาพทางภูมิศาสตร์ของแอนตาร์กติกาเอาไว้นานแล้ว มีการเอ่ยถึงภูเขาหินที่ยอดสูงเสียดฟ้า แต่กลับไม่มีพืชหรือสัตว์หรือสิ่งใดเลยอยู่บนนั้น บ้างก็ว่าพบปีศาจหญิงอาศัยอยู่ในทะเล โดยผมของนางสยายลอยอยู่เหนือคลื่น ซึ่งกรณีนี้ทีมวิจัยคาดว่าน่าจะเป็นการพรรณนาถึงสาหร่ายเคลป์บางชนิดในแถบมหาสมุทรใต้ ดร. เวฮี ผู้นำทีมวิจัยกล่าวสรุปว่า "การมีส่วนร่วมของชาวเมารีในการล่องเรือและสำรวจมหาสมุทรแอนตาร์กติกนั้น มีมานานตั้งแต่ในอดีต และปัจจุบันพวกเขายังคงมีส่วนร่วมในการสำรวจยุคใหม่อย่างแข็งขัน แต่แทบจะไม่มีการยอมรับและยกย่องให้ชาวโลกได้ทราบโดยทั่วกัน" "การส่งเสริมให้มีนักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจชาวเมารีที่ศึกษาทวีปแอนตาร์กติกามากขึ้น จะทำให้เราสามารถรวบรวมเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นและมุมมองของชนพื้นเมืองเข้ามาได้ดียิ่งกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของแอนตาร์กติกาต่อไป" ดร. เวฮีกล่าว https://www.bbc.com/thai/features-57459781
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|