#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง เว้นแต่ภาคเหนือยังคงมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2- 3 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 7 ก.ค. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 4 ? 7 ก.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 03-07-2021 เมื่อ 03:59 |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ช็อก นักพาราเซลลิ่งร่อนร่มลงกลางทะเลแดง โดนฉลามโดดงาบขาเหวอะ เกิดเหตุการณ์สุดระทึก นักพาราเซลลิ่งชาวจอร์แดน ร่อนร่มลงกลางทะเลแดง จู่ๆ ก็มีฉลามตัวหนึ่งโผล่ขึ้นจากผิวน้ำงาบขาชายคนนี้จนเนื้อขาดเหวอะ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เว็บไซต์ข่าวเดลี เมล รายงานว่า เกิดเหตุนักร่อนร่ม "พาราเซลลิ่ง" ที่กำลังลงแตะผิวน้ำ แต่จู่ๆ ก็มีฉลามตัวหนึ่งพุ่งตัวทะยานขึ้นจากน้ำมากัดขาของเขาฉีกเป็นแผลเหวอะ ราวกับฉากหนึ่งในหนังฉลามเลือดสาดของฮอลลีวูด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงที่บริเวณทะเลแดง นอกชายฝั่งเมืองอัคคะบา ของจอร์แดน เมื่อวันศุกร์ (25 มิ.ย.) ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า ผู้เคราะห์ร้ายรายนี้เป็นชาวจอร์แดน วัย 37 ปี เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส เนื้อและกล้ามเนื้อที่ขาและเท้า ถูกฉลามกัดขาดออกไป พบกระดูกหักหลายจุด เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทหารปริ้นส์ ฮาเช็ม ตอนนี้อาการยังทรงตัว ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ดำน้ำของจอร์แดนเปิดเผยว่า นับเป็นเหตุการณ์สุดช็อก เพราะแทบจะไม่เคยมีข่าวฉลามทำร้ายคนบริเวณอ่าวแห่งนี้มาก่อน เพราะเป็นจุดที่น้ำตื้น เขาดำน้ำแถวนี้มากว่า 20 ปีเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรก ด้านผู้อำนวยการสำนักงานเขตเศรษฐกิจเมืองอัคคะบา เปิดเผยว่า กำลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนรายละเอียดของเรื่องนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2129377
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
นักวิจัยจีนทำการทดลอง'ใต้ทะเลลึก' ศึกษากลไกเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิต 1 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน คณะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลของจีนบนเรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทำการทดลองในท้องทะเลลึก เพื่อเปิดเผยกลไกการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมสุดขั้วของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึก เมื่อวันจันทร์ (28 มิ.ย.) สถาบันสมุทรศาสตร์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (IOCAS) ระบุว่าเมื่อไม่นานนี้ เคอเสวีย (Kexue) เรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีน ได้เดินทางกลับมายังเมืองชิงเต่า มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน หลังทำการทดลองในทะเลด้วยอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ หวังหมิ่นเสี่ยว นักวิจัยของสถาบันฯ กล่าวว่ามีการส่งตัวอย่างจากทะเลลึกเข้าห้องปฏิบัติการในการทดลองหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่คณะนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถประเมินกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกได้อย่างถูกต้อง เพราะตัวอย่างเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของความดัน อุณหภูมิ และสภาวะทางเคมีอื่นๆ ฉับพลัน คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ จึงสร้างแท่นทดลองใต้น้ำที่พื้นทะเลลึกและทำการทดลองในพื้นที่ดังกล่าวโดยอาศัยอุปกรณ์บนเรือวิจัย นำไปสู่การตรวจจับวัตถุเป้าหมายหลายรายการ อาทิ ของเหลวจากช่องระบายอากาศใต้น้ำ ก๊าซไฮเดรตธรรมชาติ และหินคาร์บอเนตที่ก่อตัวมานานใกล้ช่องระบายอากาศ ผลการวิจัยเบื้องต้นบ่งชี้ว่าจุลินทรีย์มีส่วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบในชั้นธรณีภาค (พื้นผิวโลกซึ่งห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็ง) ส่วนลึก ชั้นอุทกภาค (ส่วนที่ห่อหุ้มเปลือกโลกที่เป็นน้ำทั้งหมด) ที่อยู่ใกล้ด้านล่าง และชั้นชีวภาค (ส่วนของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก) ส่วนที่มืดมิด ทั้งนี้ ข้อมูลและตัวอย่างที่ได้จากการทดลองทั้งหมดจะช่วยตอบคำถามสำคัญ เช่น องค์ประกอบของห่วงโซ่อาหารใต้ทะเลลึก แหล่งคาร์บอนใต้ทะเลลึกและการไหลจมของคาร์บอน รวมถึงต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต https://www.naewna.com/inter/584556
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย
ฟิลิปปินส์ยกระดับเตือนภัยภูเขาไฟตาอัล มะนิลา 1 ก.ค. ? ฟิลิปปินส์ประกาศยกระดับเตือนภัยภูเขาไฟตาอัล ที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงมะนิลา เป็นระดับ 3 หลังประทุพ่นก๊าซและไอน้ำที่มีความเข้มข้นสูงขึ้นฟ้าเป็นทางยาว 1 กิโลเมตร สำนักงานแผ่นดินไหวและภูเขาไฟของฟิลิปปินส์ แจ้งวันนี้ว่า ได้ยกระดับเตือนภัยภูเขาไฟตาอัล ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางใต้ราว 70 กิโลเมตร จากระดับ 2 เป็นระดับ 3 ที่หมายถึงมีแนวโน้มสูงที่ภูเขาไฟอาจระเบิดขึ้นได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์ได้สั่งอพยพประชาชนในเมืองอากุนซิลโญ และเมืองลอเรล ในจังหวัดบาตังกัส เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากภูเขาไฟระเบิด เช่น สึนามิภูเขาไฟ ภูเขาไฟตาอัล เป็นหนึ่งในกลุ่มภูเขาไฟมีพลังที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก แม้ภูเขาไฟดังกล่าวมีความสูงเพียง 311 เมตร แต่ก็ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ และเคยระเบิดมาแล้วในปี 2454 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,300 คน ก่อนหน้านี้ ภูเขาไฟตาอัลเคยพ่นเถ้าถ่านขึ้นสู่ท้องฟ้าในเดือนมกราคมปีก่อน ทำให้ทางการต้องอพยพประชาชนกว่า 100,000 คน ไปอยู่ในที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังไม่อนุญาตให้ประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ภูเขาไฟตาอัล ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ กลางทะเลสาบตาอัล ทางตอนใต้ของเกาะลูซอน ในจังหวัดบาตังกัส. https://tna.mcot.net/world-729620
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ผลผ่าพิสูจน์ "วาฬบรูด้า" เกาะทะลุ ชี้ตายโดยธรรมชาติ ทีมสัตวแพทย์ ทช. ผ่าพิสูจน์ซากวาฬบรูด้า น้ำหนัก 10 ตัน หลังลอยตายด้านหลังเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชี้ตายโดยธรรมชาติ ล่าสุดฝังกลบซากแล้ว วันนี้ (1 ก.ค.2564) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 07.45 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่าพิสูจน์ซากวาฬบรูด้า เพศเมีย อยู่ในช่วงอายุที่โตเต็มวัย (ประมาณ 6 ปีขึ้นไป) ขนาดลำตัวยาว 12.48 เมตร น้ำหนักประมาณ 10 ตัน ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ทีมสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ได้สรุปสาเหตุการตายของวาฬบรูด้าตัวดังกล่าวว่า เป็นการตายโดยธรรมชาติ ไม่เกิดจากฝีมือมนุษย์ หรือเครื่องมือทำประมง จึงได้ทำการฝังกลบตามหลักวิชาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ชาวประมงพื้นบ้านได้พบซากวาฬบรูด้าตัวดังกล่าว ลอยอยู่บริเวณด้านหลังของเกาะทะลุ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากชายฝั่งของเกาะทะลุ 5-6 กิโลเมตร https://news.thaipbs.or.th/content/305713 ********************************************************************************************************************************************************* ดีเดย์ 3 ก.ค. ทช.-อาสาสมัคร ดำน้ำตัดอวนคลุมปะการังเกาะมารวิชัย ดีเดย์ 3 ก.ค.นี้ ทช.จับมือกลุ่มนักดำน้ำอาสาสมัคร เตรียมเก็บกู้ซากอวนคลุมแนวปะการัง บริเวณเกาะมารวิชัย จ.ชลบุรี พบคลุมปะการังกว้าง 414 ตารางเมตร เริ่มมีปัญหาฟอกขาวบางส่วน วันนี้ (1 ก.ค.2564) นายธเนศ มั่นน้อย สำนักเลขานุการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้รับแจ้งพบอวนถูกตัดทิ้งทับแนวปะการังที่เกาะมารวิชัย จ.ชลบุรี จึงเข้าพื้นที่ตรวจสอบพบว่า เป็นอวนดำ มีขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 23 เมตร ขนาดตา 1.2 เซนติเมตร ไม่มีปาก ไม่มีตีนอวน ไม่มีทุ่นลอย ไม่มีตะกั่วถ่วง พบที่ระดับน้ำลึก 8-13 เมตร ส่วนใหญ่พาดอยู่บนโขดหิน และปะการังเล็กน้อย ครอบคลุมพื้นที่ 414 ตารางเมตร โดยปะการังที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด เริ่มมีปะการังบางส่วนตายและฟอกขาว บางส่วนที่ยังมีชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับความหนาของอวน การสัมผัสของอวนกับปะการัง และระยะเวลาที่ปกคลุม ทั้งนี้ทาง ทช.ได้ประชุมกับทีมเจ้าหน้าที่ และกลุ่มนักดำน้ำอาสาสมัคร เพื่อประเมินสภาพพื้นที่ สภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเก็บกู้ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทช.ร่วมกับกองทัพเรือ กลุ่มนักดำน้ำ เข้าเก็บกู้ซากอวนปกคลุมบนแนวปะการังเกาะโลซิน จ.ปัตตานี ซึ่งมีน้ำหนัก 800 กิโลกรัม และมีขนาดอวนความยาว 200 เมตร ความกว้าง 50 เมตร และอยู่ระหว่างการตามหาเจ้าของอวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย https://news.thaipbs.or.th/content/305703
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE
ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจริงหรือ? การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศจนจมเมืองชายฝั่งทะเลเป็นเรื่องที่พูดกันมาพักใหญ่แล้วๆ แต่หลายคนยังสงสัยว่าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจริงไหม? คำตอบคือ "จริง" และไม่เพียงแค่นั้น การวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือวัดบนดาวเทียมทั่วโลกที่เก็บรวบรวมต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปียังชี้ว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่เราเคยคิดเสียอีก แต่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพิ่มขึ้นแล้วทำไม และเราทำอะไรได้บ้าง? เดี๋ยวเราเล่าให้ฟัง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างหนักทำให้เมืองหลายๆเมืองในเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูง ? Sungwoo Lee / Greenpeace ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นได้อย่างไรและเพิ่มขึ้นเร็วแค่ไหน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเกิดจากสองสาเหตุหลักๆ และทั้งสองสาเหตุมีต้นตอจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปกติแล้ว เมื่อน้ำร้อนขึ้น ปริมาตรจะขยายตัว เช่นเดียวกันกับน้ำในมหาสมุทร มหาสมุทรช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกและเก็บความร้อนจนอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือการขยายตัวของน้ำ ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นยังทำให้ธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วและไหลไปรวมกับน้ำในมหาสมุทร ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แล้วระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วแค่ไหน ? นับตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมา ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.88 มิลลิเมตรต่อปี รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2562 ระบุว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2558 ระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 3.3 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและนักสมุทรศาสตร์หลายคนเชื่อว่าสาเหตุที่น้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วขนาดนี้มาจากพืดน้ำแข็งที่ละลายในกรีนแลนด์ (Greenland) ปัจจุบันไม่มีสัญญาณว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็วจะชะลอลงเลย โดยเฉพาะในวันที่โลกยังคงเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกโดยเฉลี่ยอาจเพิ่มขึ้นถึง 84 เซนติเมตรในระหว่างปี พ.ศ.2562-2643 รถเมล์และรถกระบะขับฝ่าน้ำท่วมในบางแค กรุงเทพฯ กรีนพีซเตือนว่า ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วบวกกับการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอาจทำให้เกิดการแบกรับต้นทุนด้านเศรษฐกิจมากขึ้น อาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรรมและทำให้แหล่งน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปนเปื้อน ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแล้วยังไง? ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเมตรอาจฟังดูไม่น่ากลัวอะไร แต่เพียงหนึ่งเมตรนี่ก็สร้างความพินาศให้ชีวิตมนุษย์ทั่วโลกตั้งเท่าไหร่แล้ว ในปี พ.ศ.2553 กว่า 11% ของประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลและอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางไม่ถึง 10 เมตร เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น พื้นที่ลุ่มต่ำจะเสี่ยงจมน้ำ ซ้ำยังอาจต้องเผชิญกับพลังทำลายของพายุหมุนเขตร้อนและคลื่นพายุซัดฝั่ง แหล่งน้ำจืดในธรรมชาติก็จะถูกรุกด้วยน้ำเค็ม มีการคาดการณ์ว่าภายในศตวรรษนี้ พายุหมุนเขตร้อนจะมีพลังทำลายล้างมากกว่าเดิม ผู้คนจะสูญเสียที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตที่คุ้นเคย หรือแม้กระทั่งชีวิต คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดการณ์ว่าก่อนปี พ.ศ.2593 กว่า 600 ล้านคนทั่วโลกที่อาศัยในที่ราบลุ่มอาจต้องเผชิญกับน้ำท่วมชายฝั่งซึ่งเป็นผลมาจากระดับน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น นอกจากชีวิตมนุษย์แล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นๆและระบบนิเวศก็หนีไม่พ้น น้ำท่วมและพายุหมุนเขตร้อนจะคร่าชีวิตทั้งหลายไปจากโลก ก่อให้เกิดความเสียหายเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ชายคนหนึ่งก้มลงมองรถของเขาที่ถูกน้ำท่วมจากบนชั้นสองของบ้านในจาการ์ตา อินโดนีเซีย แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ก่อนอื่นเลยผู้คนต้องตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มีงานเชิงวิทยาศาสตร์และข้อมูลหลายชิ้นที่ยืนยันถึงวิกฤตที่ว่านี้ เมื่อรู้แบบนี้แล้วรัฐบาลเองก็ควรที่จะวางแผนรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก เผยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี พ.ศ.2573 ตัวรายงานวิเคราะห์ถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและประชากรในเมืองอย่างกรุงเทพฯ จาการ์ตา และมะนิลา หากเกิดน้ำท่วมขึ้นจริง โดยพิจารณาจากแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงโดยที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปลายศตวรรษที่ 21 จะอยู่ระหว่าง 2.6-4.8 องศาเซลเซียส ซึ่งนำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่าในปี 2573 อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี(ten-year flood) ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งที่เกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่งและระดับน้ำขึ้นสูงสุด โดยมีโอกาส 10% ต่อปีที่จะเกิดน้ำท่วมสูงเกินระดับน้ำทะเล คาดว่าผู้คนกว่า 15 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ มีความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 7.2 แสนล้านดอลลาร์ในเจ็ดเมืองใหญ่ที่ทำการศึกษา ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ได้กำหนดกรอบที่ประเทศต่างๆต้องทำเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้สูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่ปัจจุบันการดำเนินการยังล่าช้าและไม่จริงจังมากพอ และนี่คือข้อเรียกร้องของเราต่อรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ - เดินหน้าตามเป้าหมายที่มุ่งมั่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง - ยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ให้เร็วขึ้น และเน้นพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด - ตัดงบการเงินการลงทุนโพ้นทะเลในอุตสาหกรรมฟอสซิล - ยุติการทำลายผืนป่าและการเปลี่ยนพื้นที่ป่าพรุเพื่อเกษตรเชิงอุตสาหกรรม - ทำให้เมืองและชุมชนมีความเข้มแข็งและมีแผนสำรองในภาวะวิกฤต ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน ให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ ตั้งระบบเตือนภัย กระจายศูนย์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤต และเตรียมการเพื่อลดความเสี่ยงของภัยพิบัติในระดับชุมชน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอาจดูน่ากลัว แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่สิ้นหวัง เหมือนกับที่เรากำลังต่อกรกับโรคระบาดครั้งใหญ่ตอนนี้ เวลาเพียงหนึ่งปี ผู้นำทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการรับมือกับโรคระบาด วิกฤตสภาพภูมิอากาศก็ต้องการความแข็งขันแบบนี้เช่นกัน กรีนพีซและนักกิจกรรมรุ่นใหม่จากทั่วโลกกำลังเรียกร้องเพื่อให้โลกเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด สถาบันการเงินหลายแห่งก็กำลังเข้าร่วมกับเราและร่วมวางแผนในการแก้ปัญหา การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นแล้ว และจะดำเนินต่อไป คุณเป็นส่วนหนึ่งได้ ใช้เสียงของคุณเป็นพลังในการขับเคลื่อนเรียกร้องอนาคตของโลกเรา https://www.greenpeace.org/thailand/...really-rising/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|