เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 18-07-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 18 ? 23 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 18 ? 23 ก.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 18-07-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


จับ ขาย กิน 'ปลาเด็ก' ไม่ใช่เรื่องเล็ก ! อย่าปล่อยให้ (อาหาร) ทะเลถึงวันวิกฤต


ปลาทูแก้ว
หมึกกะตอย ปูกะตอย
ปลาข้าวสาร


นี่ไม่ใช่สัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ ทว่าเป็นสัตว์น้ำวัยละอ่อนที่ถูกนำมาตั้งชื่อน่ารัก น่าซื้อ และน่ากิน

แต่ทราบหรือไม่ ว่าการจับสิ่งมีชีวิต 'โตไม่เต็มวัย' ขึ้นจากท้องทะเลกว้างใหญ่ในวันนี้ อาจสร้างวิกฤตครั้งใหญ่ในวันข้างหน้า ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างน่าหวาดหวั่น

เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายประเทศในโลกพยายามป้องกันก่อนจะสายเกินแก้

'ปัญหาปลาเด็ก เรื่องไม่เล็กของทะเลไทย' เวทีเสวนาออนไลน์ สนับสนุนโดยองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย และสหภาพยุโรปซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นถึงวิกฤตในวันพรุ่งนี้ หากไม่หยุดขายและบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน พร้อมเรียกร้องผู้บริโภคส่งสารถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตให้เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะหมดแล้วจริงๆ

แน่นอนว่า ไม่ใช่การคาดการณ์หรือกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย หากแต่มีการเปิดข้อมูลจากผลงานวิจัย 'การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน' โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood in Thailand) พร้อมด้วยปากคำของประจักษ์พยานในวงการประมงพื้นบ้าน อีกทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง


สัตว์น้ำ 'ไม่เต็มวัย' ไม่ใช่ 'สายพันธุ์เล็ก'

"ปลาทูวัยเด็กที่ถูกจับมาขายจะถูกนำไปเปลี่ยนชื่อ เป็นปลาทูแก้ว หรือหมึกกล้วยวัยละอ่อนจะถูกเรียกว่าหมึกกะตอย ปลากะตักก็ถูกใส่ชื่อว่าเป็นปลาข้าวสาร หรือปูม้าวัยละอ่อนก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นปูกะตอย โดยผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่หรือเป็นชื่อสัตว์น้ำสายพันธุ์เล็ก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นสัตว์น้ำวัยเด็กที่ยังไม่โตเต็มวัย"

คือข้อมูลจากปาก วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย องค์กรพัฒนาเอกชนด้านงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน

"ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตกคือการเอาสัตว์น้ำละอ่อนมาใช้ในการบริโภค โดยพบว่าในการประมงนั้นมีการจับสัตว์น้ำละอ่อนเยอะมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศตลอดจนเศรษฐกิจและผู้บริโภคเอง เนื่องจากเมื่อสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยถูกจับไปจนหมดจึงไม่เหลือสัตว์น้ำให้ขยายพันธุ์ในเวลาต่อๆ ไป ที่ผ่านมาเมื่อสัตว์น้ำละอ่อนถูกจับมาวางขายมักถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเสมอจนผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นปลาสายพันธุ์เล็ก ไม่ใช่ปลาวัยอ่อน" วิโชคศักดิ์ย้ำอีก

สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของ จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งย้อนเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.2551 เคยเกิดวิกฤตมาแล้ว โดยที่ตนก็เป็นคนหนึ่งซึ่งใช้อวนตาถี่จับลูกปลาหลายพันกิโลกรัมต่อวัน ทำให้ในที่สุดไม่มีปลาให้จับ ต้องอพยพครอบครัวไปหากินต่างอำเภอ จน สมาคมรักษ์ทะเลไทย ต้องลงพื้นที่ถอดบทเรียน ได้ข้อสรุปว่า เมื่อจับลูกปลาจนหมด ทำให้ไม่มีปลาขยายพันธุ์ ชุมชนจึงมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ใช้อวนขนาดเล็กมาจับปลาอีก ไม่เช่นนั้นอาชีพก็พัง


หากประมงพาณิชย์ รวมถึงประมงพื้นบ้านยังคงจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจจนอาจเข้าสู่วิกฤต

อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลายคนมองว่าทางออกของปัญหาเหล่านี้อาจต้องไปแก้ไขที่ชาวประมงเป็นหลัก โดยเน้นไม่ให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อน แท้จริงแล้ว ยังมีแง่มุมที่ต้องพิจารณาไปมากกว่านั้นด้วย นั่นคือ ประมงพาณิชย์ ซึ่งจับสัตว์น้ำได้มากกว่าประมงพื้นบ้านอย่างมากมาย

"สัตว์วัยอ่อนเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก การใช้เครื่องมือจึงต้องเล็กกว่าตัวปลาซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้จับกันได้บ่อยนัก โดยการทำประมงนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือชาวประมงพื้นบ้านที่จะออกเรือแค่วันละครั้ง จับสัตว์น้ำแบบแยกประเภททำให้การออกเรือแต่ละครั้งต้องนำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดไป ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้คราวละมากๆ ต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง ขณะที่ประมงพาณิชย์เป็นประมงขนาดใหญ่ เครื่องมือมีความพร้อมกว่า ถ้าเป็นอวนล้อมจับก็จะมีออกคืนหนึ่ง 3-5 ครั้ง ทำให้จับสัตว์น้ำได้เป็นปริมาณมาก" จิรศักดิ์อธิบาย


ระบบนิเวศพัง ห่วงโซ่อาหารขาดหาย ปลาใหญ่ต้องกินลูกตัวเอง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การที่สัตว์น้ำวัยเด็กหายไปจากน่านน้ำทะเลนั้นส่งปัญหาโดยตรงต่อระบบนิเวศ สำหรับปลาที่ถูกมนุษย์จับมาวางขายมากที่สุดคือ ปลากะตัก ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กโดยธรรมชาติไม่ว่าจะวัยเด็กหรือวัยโต ทำให้มันเป็นอาหารหลักของปลาทุกชนิดในระบบนิเวศ แต่เมื่อมนุษย์จับปลากะตักมาขายทำให้ห่วงโซ่อาหารขาดหายไป และทำให้ปลาโตกว่าต้องหันมากินลูกตัวเอง

ต่อมา ปลาชนิดอื่นๆ ก็เริ่มลดน้อยถอยลง ปลาทูแทบจะหายไปจากทะเลไทย เมื่อจับปลาได้น้อยลง ก็ยิ่งออกเรือจับกันมากขึ้น

ผู้ได้รับผลกระทบหลักๆ คือชาวประมงพื้นบ้านที่มีรายได้น้อย ส่วนประมงพาณิชย์ก็ต้องใช้เวลา อวนและน้ำมันเรือมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบ เพราะต้องใช้สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมากจึงจะมีน้ำหนักครบหนึ่งกิโลกรัม แต่ถ้ารอให้สัตว์น้ำโตเต็มวัยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณมากถึงขนาดนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วแค่เพียงหกเดือน ปลาส่วนใหญ่ก็โตเต็มวัยแล้ว และยังทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนเป็นราคาถูกลง หากไม่จัดการเรื่องนี้จะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรง คนไทยจะต้องกินปลาด้วยราคาที่แพงขึ้น และหาปลาที่มีคุณภาพมาบริโภคได้ยากขึ้น


ชาวประมงรุ่นใหม่สนับสนุนจับสัตว์น้ำโตเต็มวัยซึ่งปลาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน

ดวงใจ พวงแก้ว Producer Outreach Manager-SE Asia องค์กรมาตรฐานอาหารทะเลยั่งยืน ASC ลงรายละเอียดในประเด็นนี้ว่าสัตว์น้ำแต่ละสายพันธุ์นอกจากจะมีหน้าที่เรื่องห่วงโซ่อาหารของกันและกัน ยังมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกันในการสร้างความสมดุลในท้องทะเล หากมนุษย์บริโภคมากไปโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้ฟื้นฟู เช่น บริโภคโดยไม่ให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ หรือรักษาความสมดุลในระบบนิเวศก็อาจจะเกิดปัญหา

"ประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ เมื่อออกเรือจากเมื่อก่อนออกไปไม่นานก็ได้สัตว์น้ำกลับมาคุ้มค่าแรง แต่เมื่อสัตว์น้ำน้อยลง ทำให้เรือประมงวิ่งออกไปไกลมากขึ้น หมดน้ำมันมากขึ้น เสียทรัพยากรแรงงานและเวลา ทั้งยังก่อให้เกิดคาร์บอน ฟุตปรินต์มากขึ้น และสิ่งต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพื่อชดเชยในการเอาอาหารทะเลกลับมายังฝั่งด้วย" ดวงใจกล่าว


'ชนชั้นกลาง' ลูกค้าหลัก ที่ต้องกล้า 'ตัด (สิน) ใจ'

มาถึงประเด็นที่ว่า ลูกค้าหลักของห่วงโซ่การซื้อขายสัตว์น้ำโตไม่เต็มวัยคือใครบ้าง ข้อมูลจากงานวิจัย พบว่าอันดับหนึ่งคือ ห้างโมเดิร์นเทรด หรือตลาดค้าปลีก รองลงมาคือ กลุ่มตลาดขายของฝาก ส่วนตลาดสด และตลาดออนไลน์ อยู่ในลำดับถัดมา ส่วนผลจากการสำรวจใน 15 จังหวัดพบว่า 3 อันดับความนิยมของการบริโภค ได้แก่ 1.ชลบุรี 2.นครราชสีมา และ 3.กรุงเทพฯ นั่นหมายความว่ากลุ่มเมืองใหญ่และชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมาก คือกลุ่มลูกค้าหลักในการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนในไทย

สำหรับภาพกว้าง ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ 'กรีนพีซ' ประเทศไทยให้ข้อมูลว่า หากดูประมงโลกจะพบว่าจีนเป็นมหาอำนาจของประมงทะเล เข้าใจว่ากองเรือประมงออกหาปลามีจำนวนมาก จีนจับปลา 15 เปอร์เซ็นต์ของประมงโลก โดยนิยมจับปลาเป็ดจนส่งผลกระทบวงกว้างต่อระบบนิเวศทางทะเลของจีน โดย 80 เปอร์เซ็นต์เป็นปลาวัยอ่อน ปริมาณของปลาเป็ดเหล่านี้มากกว่าปลาทั้งหมดที่จับได้ในประเทศไทย นโยบายการประมงของจีนนั้นท้าทายมาก และได้มีการคุยกันว่าพยายามการลดการทำประมงทะเลให้เหลือ 10 ล้านตันต่อปีจาก 12-13 ล้านตัน และลดจำนวนกองเรือประมงลง จะช่วยให้ทะเลฟื้นฟูกลับมาได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างการณรงค์โดยกรีนพีซใน ตุรกี ในประเด็นนี้ตั้งแต่ 1 ทศวรรษที่แล้ว นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงของประเทศ

"กรีนพีซในตุรกีมีงานรณรงค์เรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเมื่อราว 10 ปีก่อน และมีคนร่วมลงชื่อให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามจับปลาวัยอ่อน 8 ชนิด กว่า 5-6 แสนคน ทั้งยังมีการกดดันในหลายๆ ทางจนเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงในตุรกีตามมา" ธารากล่าว

ถามว่า นอกเหนือจากนโยบายในภาพใหญ่ และกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม ภาคประชาชนจะมีบทบาทได้อย่างไรบ้าง?

วงเสวนาระดมความเห็นได้ข้อสรุปว่า ผู้บริโภคมีส่วนอย่างมากในการกำหนดชะตากรรมของทะเลไทย โดยอาจต้องใช้แคมเปญดึงดูดใจ ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมผู้บริโภคแต่ละคนในเมืองหลวงที่ซื้อของจากห้างโมเดิร์นเทรด หรือตลาดค้าปลีก

กุ้งหอยปูปลา โยงไปถึงชาวประมงพื้นบ้าน ถึงชุมชนที่ดูแลทะเล พลังผู้บริโภคในเมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางทะเลไทย นอกจากนี้ ต้องกระจายความรู้เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องชื่อที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ให้สัตว์น้ำที่ยังโตไม่เต็มวัยซึ่งกลายเป็นความทรงจำใหม่ว่าเป็นชื่อสายพันธุ์



อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวล ต้องมีการร่วมมือกันจากคน 4 กลุ่ม ได้แก่

1.ชาวประมงที่เป็นคนจับปลา หากทะเลกลับมาสมบูรณ์ชาวประมงจะได้กำไรและไม่ต้องออกทะเลไกลๆ

2.ผู้บริโภค ซึ่งนอกจากมีส่วนสำคัญได้ด้วยการไม่ซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน ยังสามารถเข้าร่วมแคมเปญต่างๆ ลงชื่อเรียกร้องต่อบรรดาตลาดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ให้หยุดขายสินค้าสัตว์น้ำวัยอ่อน

3.ภาครัฐ ต้องออกกฎหมายเป็นภาพรวมให้ได้

4.ลำดับสุดท้ายคือ ห้างโมเดิร์นเทรด ที่เป็นตลาดใหญ่มาก จากผลสำรวจชี้ชัดว่าเป็นมือที่สำคัญในห่วงโซ่การบริโภคอาหารทะเล ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ต้องรอกฎหมาย แค่ใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจว่าจะไม่ขายสัตว์น้ำยังไม่โตเต็มวัยก็เป็นอันจบ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เกิดแคมเปญ ซุปเปอร์มาร์เก็ต: เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ โดยมี ธันวา เทศแย้ม ชาวประมงรุ่นใหม่เป็นผู้ริเริ่มเพื่อรณรงค์เลิกกินปลาเล็กผ่านเว็บไซต์ Change.org/BabySeafood โดยเชิญชวนให้ผู้บริโภคช่วยกันลงชื่อเพื่อบอกกับซุปเปอร์มาร์เก็ต ให้เลิกขายสัตว์น้ำวัยอ่อน

หากซุปเปอร์มาร์เก็ตนับพันทั่วไทยเลิกขาย ก็จะช่วยตัดตอนวงจรระหว่างคนจับและคนซื้อได้อย่างมหาศาล


https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2830852

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 18-07-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


โซไซตี้ : เปิดตัว 'Hope Reef' โครงการฟื้นฟูปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก



แบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยง SHEBA?ในเครือของ มาร์ส อินคอร์ปอเรทเต็ด ร่วมมือกับชุมชนเกาะบอนโตซัว บริเวณนอกชายฝั่งซูลาเวซี เปิดตัวโครงการฟื้นฟูปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้ชื่อ Hope Reef พร้อมเชิญทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ได้ โดยการชมคลิป "The Film That Grows Coral" บนช่องทาง YouTube ซึ่งยอดวิวทั้งหมดจะนำ ไปใช้สนับสนุนโครงการฟื้นฟูแนวปะการังต่อไป

รัชกร เจนพัฒนพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทยและอินโดจีน มาร์สไทยแลนด์อิงค์ ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารแมวและขนมแมวเกรดพรีเมียมแบรนด์ SHEBA? กล่าวว่าแนวปะการังนับว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศในมหาสมุทร เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมาก แต่ปัจจุบันแนวปะการังกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการแสวงหาผลประโยชน์ การทำประมงที่ไม่ถูกวิธี รวมไปถึงมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ มาร์ส อินคอร์ปอเรทเต็ด จึงได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูปะการัง Hope Reef ขึ้นในปี 2562 เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังขนาดใหญ่ซึ่งมีผลกับระบบนิเวศที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยอาศัยความร่วมมือระดับโลก ทั้งจากรัฐบาล มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน ภายใต้โครงการ Hope Reef ได้ดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณนอกชายฝั่งซูลาเวซี ประเทศอินโดนีเซีย บนแท่นแนวปะการังซาลิซี เบซาร์ ใกล้กับเกาะบอนโตซัว โดยใช้นวัตกรรม "Reef Star" ซึ่งเป็นโครงสร้างเหล็กรูปดาวทำด้วยมือ ภายใต้ชื่อ Mars Assisted Reef Restoration System (MARRS) วัสดุของดาวแนวปะการังนั้นมาจากแหล่งในท้องถิ่นและทำด้วยมือของชุมชนท้องถิ่นบอนโตซัว โดย SHEBA?



นอกจากนี้ แนวปะการังดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเป็นตัวสะกดคำว่า H-O-P-E ที่แปลว่าความหวัง มีขนาด 45x15 เมตร เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้โลกได้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกสามารถเกิดขึ้นได้ภายในช่วงชีวิตของเรา และความหวังนั้นก็สามารถเติบโตได้ ซึ่งสามารถมองเห็นได้จาก Google Earth โดยบริษัทแม่อย่าง มาร์ส อินคอร์ปอเรทเต็ด ได้ตั้งเป้าหมายในการฟื้นฟูแนวปะการังตามจุดต่างๆ ทั่วโลกให้ได้มากกว่า 185,000 ตารางเมตร ซึ่งเท่ากับขนาดของสระว่ายน้ำโอลิมปิกประมาณ 148 สระภายในสิ้นปี 2572

"เรียกได้ว่า Hope Reef เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังสำหรับอนาคตของมหาสมุทร โดยมาร์ส หวังว่าโครงการHope Reef จะสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการดูแลระบบนิเวศและร่วมกันกู้คืนที่อยู่อาศัยและความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไป ซึ่งการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างความยั่งยืน ซึ่งมารส์ทราบดีว่าผู้บริโภคไม่เพียงคาดหวังอาหารคุณภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังต้องการแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฟื้นฟูปะการัง Hope Reef จนถึงปัจจุบันแนวปะการังรอบเกาะบอนโตซัว ได้เพิ่มขึ้นจาก5% เป็น 55% ความอุดมสมบูรณ์ของปลาเพิ่มขึ้น300% อีกทั้งยังได้เห็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ฉลาม และเต่า กลับมายังพื้นที่นี้ด้วย" รัชกร กล่าว



ขอเชิญชวนผู้รักสัตว์เลี้ยงทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูแนวปะการัง และร่วมสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์เพียงชมและแชร์วีดีโอ#hopegrows: The Film That Grows Coral ผ่านช่อง YouTube ของ SHEBA? โดยทุกยอดการรับชมจะเปลี่ยนเป็นเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง ผ่านทางองค์กร The Nature Conservancy เนื่องในวันมหาสมุทรโลก SHEBA? ได้เปิดตัวแอป iOS ตัวแรกที่ชื่อ SHEBA Hope Grows ซึ่งจะพาทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์ 3 มิติ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแนวปะการังได้จากทุกที่ทั่วโลก เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นและฟื้นฟูแนวปะการังของคุณเอง ด้วยการติดตั้งนวัตกรรม Reef Stars เสมือนจริง หลังจากนั้น สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในบริเวณนั้นจากเศษหินที่แห้งแล้งไปสู่สภาพแวดล้อมทางทะเลที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์


https://www.naewna.com/lady/588383

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:45


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger