#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยเริ่มมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมายังคงมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 ส.ค 64 อนึ่ง พายุโซนร้อน "ลูปิต" บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 6-7 ส.ค. 64 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 5 ? 6 ส.ค. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่พายุโซนร้อน "ลูปิต" บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 ? 10 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "ลูปิต" แล้ว คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนตัวทางเกาะไต้หวัน โดยไม่มีผลกระทบโดยตรงลักษณะอากาศของประเทศไทย ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 5 ? 6 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 7 ส.ค. 64 ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุโซนร้อน ลูปิต" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 05 สิงหาคม 2564 เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (5 ส.ค. 64) พายุโซนร้อน "ลูปิต" มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ หรือที่ละติจูด 22.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนไปทางเกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 6-7 ส.ค. 64 พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงลักษณะอากาศของประเทศไทย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
เผย "ราชกิจจาฯ" ประกาศห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานฯ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone, Octinoxate, 4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท จากกรณีเฟซบุ๊ก สำนักอุทยานแห่งชาติ - National Parks of Thailand ได้ออกมาโพสต์วอนนักท่องเที่ยวเลือกผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ไม่ทำร้ายปะการัง ระบุว่า ผลการวิจัยพบว่าทุกปีมีครีมกันแดดมากถึง 14,000 ตันที่นักท่องเที่ยวใช้กันถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในท้องทะเล อีกทั้งยังมีครีมและเครื่องสำอางจำนวนมากที่ปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำ ขณะที่ชำระล้างร่างกายไหลลงสู่ทะเล โดยสารเคมีที่ผสมอยู่ในครีมกันแดดทำให้ประการังเสื่อมโทรม เพราะฆ่าตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ได้แก่ สารเคมี 4 ชนิดนี้ คือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ดังนั้น สำนักอุทยานแห่งชาติจึงได้แนะนำวิธีช่วยลดการทำร้ายปะการัง คือ นักท่องเที่ยวต้องเลือกครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และใช้เฉพาะครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นฐาน เช่น Zinc oxide ซึ่งจะไม่ละลายน้ำและตกตะกอนสู่ก้นทะเลได้อย่างปลอดภัย ควรเลือกใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะระหว่างอยู่ในน้ำจะหลุดน้อยกว่าครีมกันแดดแบบทั่วไป รวมถึงสวมหมวก เสื้อแขนยาว และกางร่ม เพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดปริมาณมากๆ ล่าสุดวันนี้ (4 ส.ค.) เพจ "IGreen" ได้ออกมาเผยเรื่องสำคัญ เมื่อราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามโดย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยได้ระบุข้อความว่า "เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามโดย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ ระบุเหตุผลว่า ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยจากข้อมูลวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว กรมอุทยานฯ พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงออกประกาศ ดังนี้ 1.ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท 2. ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564" https://mgronline.com/onlinesection/.../9640000076328
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'เซิร์ฟ' จะตายเพราะ 'ทราย' จะเติม เมื่อแผนแม่บทพัฒนาชายหาด "เขาหลัก" ด้วยการ "เสริมทราย" อาจหมายถึงความตายของการ "ท่องเที่ยว" ที่เคยมีกีฬา "เซิร์ฟ" ทำให้ที่นี่เป็นหมุดหมายของนักโต้คลื่นจากทั่วโลก เราอาจต้องตั้งคำถามกับคำว่า "การพัฒนา" กันใหม่ เมื่อมีแผนแม่บทที่กรมเจ้าท่าเตรียม เสริมทราย ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเป็นการสนับสนุนท่องเที่ยวบริเวณ เขาหลัก ถึง แหลมปะการัง จังหวัดพังงา รวมระยะทางตามเป้าหมายคือ 12 กิโลเมตร ครอบคลุมชายหาดตั้งแต่บริเวณเขาหลักซันเซ็ทรีสอร์ททางด้านทิศใต้ ไปจนถึงบริเวณแหลมปะการังด้านทิศเหนือ กินพื้นที่อำเภอตะกั่วป่าและอำเภอท้ายเหมือง แม้วัตถุประสงค์ของโครงการจะกล่าวถึงข้อดีของการ "เสริมทราย" ว่าป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัติทั้งนักวิชาการ ชาวบ้าน ผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรม ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ จำนวนมากแสดงความกังวลอย่างมากถึงผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวที่จะเสียหายมากกว่าจะดีขึ้น ถ้าเสริมทราย...คลื่นอาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล กีฬากระดานโต้คลื่น หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เซิร์ฟ (Surf) เป็นหนึ่งในกีฬาที่กลายเป็นเทรนด์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา "เซิร์ฟ" อาจไม่ได้มีรากเหง้าในไทย แต่ตลอดเวลาที่การโต้คลื่นเข้ามาที่พังงา ก็กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักเซิร์ฟและนักเดินทางมาค้นพบความงามของดินแดนนี้ จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการเซิร์ฟในทุกซีซั่น แต่จะน่าเสียดายมาก ถ้าหาก "เซิร์ฟ" ซึ่งเป็นสีสันของทะเลพังงา โดยเฉพาะบริเวณ "เขาหลัก" จะต้องจมหายไปกับการมาของทรายที่จะถูกเติมจนเต็มชายหาด ต๊ะ - ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช ประธานชมรมกีฬากระดานโต้คลื่นจังหวัดพังงา เล่าในฐานะคนพังงาแท้ๆ และในฐานะนักเซิร์ฟว่า ต้องยอมรับว่ามีการกัดเซาะจริงๆ โดยเฉพาะบางจุดของหาดบางเนียง ส่งผลกระทบต่อโรงแรมบางแห่งมีการทรุดตัว แต่หลายปีที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีต เมื่อแห่งหนึ่งสร้างอีกแห่งข้างเคียงก็ได้รับผลกระทบ เพราะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโครงสร้างแข็งทำให้เกิดการกัดเซาะในบริเวณรอบๆ มากขึ้นไปอีก จนกลายเป็นทุกแห่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีต จนหาดบางเนียงแทบจะไม่เหลือชายหาดอีกต่อไป แต่ก็ไม่ใช่ทั้ง 12 กิโลเมตรที่ถูกบรรจุในแผนแม่บทที่จะต้องได้รับการ "เสริมทราย" เพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะภูมิประเทศของทะเลเขาหลักเอื้อต่อการเกิดคลื่นที่เหมาะสมสำหรับ "เซิร์ฟ" "เซิร์ฟเป็นกีฬาที่เกิดจากธรรมชาติ อาศัย Swell คือพลังงานของคลื่น ลม และที่สำคัญคือเกิดจากสันทรายใต้ทะเล ถ้ามีการเสริมทรายโดยไม่มีความรู้ แน่นอนว่าจะกระทบถึงคลื่น ในอนาคตอาจไม่เกิดคลื่น หรือไม่คลื่นก็จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจากปัญหาเรื่องนี้มีคนแสดงความคิดเห็นเป็นวงกว้างเลย เพราะกีฬาเซิร์ฟเกี่ยวข้องกับจิตใจ การพักผ่อน และเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากเซิร์ฟไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พวกเขาตื่นมาเซิร์ฟ ผูกพันกับธรรมชาติ ทุกคนก็เลยออกมาปกป้องมัน" เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าจากแผนแม่บท จุดประสงค์ของการ "เสริมทราย" คือเพื่อลดคลื่น ผลที่ได้ไม่ว่าจะทำให้คลื่นลดลง หรือเปลี่ยนทิศทางคลื่น หรือเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำ ล้วนทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีใครการันตีได้เลยว่าจะดีหรือไม่ดี ถ้าผลคือพลาดก็ใช่ว่าจะแก้ไขได้ง่ายๆ การเสริมทรายแบบปูพรมจึงไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดี "ต้องอย่าลืมว่าพื้นที่บริเวณที่เล่นคลื่นได้ ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาการกัดเซาะใดๆ รวมไปถึงโรงแรมที่อยู่ตรงนั้น ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบอะไรเรื่องกัดเซาะเลย เขาไม่ได้ต้องการโครงการนี้ แต่เขาห่วงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของคลื่นมากกว่า ซึ่งตอนนี้เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา" "สายเซิร์ฟ" ไม่ถูกใจสิ่งนี้ จังหวัดที่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวหลายแห่งไม่ได้เที่ยวได้ตลอดทั้งปี จะมีช่วงไฮซีซั่น โลว์ซีซั่น หรือบางทีอาจเรียกให้ไพเราะว่ากรีนซีซั่น พังงาก็เช่นกัน ในอดีตช่วงฤดูฝนคือกรีนซีซั่นที่นอกจากพังงาจะชุ่มฝนแล้วยังเงียบเหงาด้วย แต่เมื่อการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ปลุกให้พังงาเที่ยวได้ทั้งปี เศรษฐกิจของที่นี่จึงเติบโตอย่างมาก "ฤดูเซิร์ฟ คือฤดูฝนของพังงา ซึ่งปกติไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเลย หลายโรงแรมเลือกจะปิดมากกว่าเปิด เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม การที่เซิร์ฟเข้ามาช่วยให้ครบไซเคิลพอดี ธุรกิจที่เคยเปิดได้แค่ 6 เดือน กลายเป็นว่าเปิดได้ทั้งปี ปีที่แล้วมีสถิติคนมาเรียนโต้คลื่น 4 เดือน อยู่ที่ประมาณ 8 พันคน ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะนั้นคือหลังจากมีโควิดแล้ว เขาหลักคนนิยมมาโต้คลื่นมาก ทุกโรงแรมจะเต็มค่อนข้างหมดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์" ลักษณะพิเศษของคลื่นที่ "เซิร์ฟ" ได้ในไทย มีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ Beach Break คือคลื่นที่เกิดขึ้นหน้าทะเล เกิดจากระดับความลึกต่างๆ สันทรายต่างๆ คลื่นลักษณะนี้จะเกิดบริเวณ Memories Beach ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนมาเรียนเซิร์ฟกันเยอะ คลื่นอีกแบบคือ Reef Break เกิดจากการกระทบปะการังและหินใต้ทะเล ลักษณะนี้เป็นคลื่นที่นับว่ามีคุณภาพ เกิดที่บริเวณแหลมปะการัง ทวีโรจน์ บอกว่าเป็นจุดที่มีคลื่นสำหรับโต้คลื่นที่ดีที่สุดในไทย เป็นคลื่นขวาที่ยาวที่สุดในไทย และเป็นคลื่นซ้ายที่ยาวที่สุดในไทย ความไม่แน่นอนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ "เซิร์ฟ" เมื่อเกิดการ "เสริมทราย" อาจเป็นความล่มสลายของการโต้คลื่นเขาหลัก หรืออย่างน้อยก็คือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เพียงน้อยนิดก็มากพอจะทำให้เสน่ห์ของ "เซิร์ฟ" ที่ "เขาหลัก" ลดลง "เราเดาไม่ได้เลยว่าคลื่นจะเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น หรือมันจะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะส่งผลต่อกิจกรรมที่นี่แน่นอน ยิ่งถ้าเป็นการเสริมทรายตรงบริเวณแหลมปะการัง ทรายจะไปถมหินและปะการัง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับคลื่นแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์" ชีวิตและวิถีที่จะโดนถม "บริเวณแหลมปะการังเป็นจุดที่ชาวบ้านไปเก็บสัตว์ทะเล เช่น หมึกโวยวาย เป็นหมึกตัวเล็กๆ เป็นอาหารทางภาคใต้ ช่วงโควิดนี้คนก็มาเก็บโวยวายไปประกอบอาหาร และเก็บสัตว์ทะเลต่างๆ จากบริเวณกองหินไปทำกิน ผมเลยมองว่าการเสริมทรายจะกระทบทั้งการโต้คลื่นและวิถีชีวิตของชาวบ้าน" ทวีโรจน์ มองถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงชีวิตของคนเท่านั้น แต่กับสัตว์ทะเลหายากก็เช่นกัน อย่างที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เตือนว่าการ "เสริมทราย" อาจรบกวนการวางไข่ของ เต่ามะเฟือง "เต่ามะเฟืองเป็นเต่าหายากระดับโลก เป็นเต่าทะเลใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเต่าที่ได้รับการคุกคามจากสถานะใกล้สูญพันธุ์มาก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และเต่ามะเหืองเข้ามาวางไข่เฉพาะที่ชายหาดที่เปิดรับลมและค่อนข้างชัน บริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เยอะคือตั้งแต่หาดท้ายเหมืองจนถึงบริเวณเขาหลัก บางเนียง ไล่ไปตามพื้นที่จนถึงแหลมปะการัง มีแวะแถวภูเก็ตบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นบริเวณดังกล่าว" เหตุผลที่เต่าขึ้นมาที่ "เขาหลัก" เพราะธรรมชาติของ "เต่ามะเฟือง" คือไม่วางไข่ที่ชายฝั่งแนวปะการังเหมือนเต่าชนิดอื่น เพราะขนาดตัวใหญ่มากจึงเข้าที่ตื้นไม่ได้ และพื้นที่ดังกล่าวมีชายฝั่งที่ค่อนข้างลึก อาจารย์ธรณ์บอกว่าแต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนมีปัจจัยทำให้เต่ามะเฟืองหายไป ไม่มาวางไข่ กระทั่งมีการรณรงค์ผลักดันให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนสำเร็จเมื่อปี 2562 และเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่อีกครั้งบริเวณชายหาดคึกคักซึ่งอยู่ในบริเวณ 12 กิโลเมตรตามแผนการ "เสริมทราย" ซึ่งการ "เสริมทราย" จะทำให้ลักษณะชายหาดมีการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดการตื้นเขิน ส่งผลกระทบต่อ "เต่ามะเฟือง" โดยตรง "ถ้าเต่ามะเฟืองไม่มาวางไข่ เท่ากับสูญพันธุ์จากเมืองไทย เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่วางไข่ยากมาก ไม่ได้เป็นเต่าที่เพาะเลี้ยงกันได้ มีแต่เขาปกป้องกันสุด พื้นที่ไหนในโลกที่มีเต่ามะเฟืองมาวางไข่ ไม่ต้องห่วงหรอก เพราะฉะนั้นเราพยายามคุยกับชาวบ้าน ร่วมกันดูแลเต่า แต่ถ้าเปลี่ยนสภาพชายหาด การที่ขาดเต่ามะเฟืองไปเพียง 1 รัง จะส่งผลกระทบต่อประชากรเต่ามะเฟืองที่มาวางไข่ในประเทศไทยอย่างมหาศาล" สำหรับข้อเสนอที่ทั้งคนพื้นที่ นักเซิร์ฟ และนักวิชาการแนะนำเอาไว้เป็นทางออกเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือควรจะต้องชะลอโครงการ "เสริมทราย" แล้วทบทวนหาจุดที่เหมาะสม อย่างทวีโรจน์ที่เป็นคนพังงา ก็ยืนยันว่าการเสริมทรายไม่ใช้ผู้ร้ายไปเสียหมด แค่คิดให้ถี่ถ้วนก่อนทำ "โครงการนี้ผมไม่ได้ไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะมีบางพื้นที่เดือดร้อนจริงๆ เช่น หาดบางเนียง อาจจะต้องทำ แต่ถ้าหาดไหนไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่ควรทำ เพราะถ้าทำอาจจะได้รับผลที่แก้ไขไม่ได้" https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/952873
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก บ้านเมือง
ลูกเต่าฟักเป็นตัวนับร้อย เตรียมปล่อยคืนสู่ทะเลประจวบฯ วันที่ 4 ส.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจาก นายภัทร อินทรไพโรจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ) กรณีการฟักตัวของลูกเต่ากระ จำนวน 2 รัง หลังจากได้รับคำสั่งให้ลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม การขึ้นวางไข่ของเต่ากระและเฝ้าติดตามการฟักไข่ของเต่ากระอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น รังที่ 1 ของแม่ศรีจันทร์ พบเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.64 จำนวนไข่เต่าทั้งหมด 148 ฟอง จำนวนเต่าที่ฟักออกเป็นตัวทั้งหมด 145 ตัว ไข่ลม 3 ฟอง ระยะเวลาที่ใช้ในการฟักออกเป็นตัว 60 วัน อัตราการรอดตาย 98 % นับเป็นรังที่ 5 ของการฟักออกมาเป็นตัว รังที่ 2 พบเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.64 จำนวนไข่ทั้งหมด 108 ฟอง ไม่ทราบแม่ จำนวนเต่าที่ฟักออกเป็นตัวทั้งหมด 101 ตัว ไข่ลม 7 ฟอง ระยะเวลาที่ใช้ในการฟักออกเป็นตัว 60 วัน อัตราการรอดตาย 94 % นับเป็นรังที่ 6 ของการฟักออกมาเป็นตัว รวมยอดเต่าที่ฟักออกเป็นตัว 2 รัง ทั้งหมด 246 ตัว สำหรับลูกเต่ากระ 2 รังนี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามได้นำไปอนุบาลไว้ก่อนเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบการขึ้นวางไข่ของเต่ากระ แต่ไม่พบตัวแม่เต่าบริเวณอ่าวเทียน พิกัด 47 P 560324 E 1223947 N ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) จึงทำการขุดหลุมรังไข่ ทำการย้ายรังไปไว้ในที่ซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ที่จะเข้ามากินไข่เต่าและน้ำทะเลที่อาจท่วมถึงในช่วงเวลาน้ำทะเลขึ้นสูง โดยนับเป็นรังที่ 19 มีจำนวนไข่สมบูรณ์ทั้งหมด 134 ฟอง ขนาดหลุมวางไข่ความกว้าง 23 เซนติเมตร ความลึก 42 เซนติเมตร จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับ"เต่ากระ" ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricata (Linnaeus, 1766) เป็นสัตว์ทะเลหายาก สถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ด้วย. https://www.banmuang.co.th/news/region/244897
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
กรมเจ้าท่าฟื้นชายหาดจอมเทียน เสริมทราย 15 กม. จุดท่องเที่ยว กรมเจ้าท่าเผยผลคืบหน้าโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน ชลบุรี ผลดำเนินการ 4.39% กำหนดแล้วเสร็จ พ.ย. 65 รองรับการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังยุคโควิด นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี อยู่ในขั้นวิกฤตรุนแรงมากขึ้นทุกปี กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนระยะที่ 1 มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 900 วัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-พฤศจิกายน 2565 โดยแหล่งทรายที่จะนำมาใช้เสริมบริเวณชายหาดจอมเทียนนำมาจากทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ห่างจากชายหาดจอมเทียนไปทางทะเล 15 กิโลเมตร ปัจจุบันเริ่มเสริมทรายชายหาดตั้งแต่โรงแรมจอมเทียนชาเล่ต์จนถึงโรงแรมยู จอมเทียน พัทยา มีผลการดำเนินงาน 4.39% ทั้งนี้ สภาพพื้นที่ชายหาดจอมเทียนประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่ภาคพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ประสานขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างเร่งด่วน อีกทั้งการรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2552 ได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยตะวันออก และจัดให้พื้นที่ชายหาดจอมเทียนเป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ต่อมาในปี 2557 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน โดยมีพื้นที่ศึกษาตลอดแนวชายหาดจอมเทียนความยาว 6.2 กิโลเมตร ตั้งแต่บริเวณหน้าร้านอาหารลุงไสวถึงบริเวณแนวโขดหินหน้าสวนน้ำพัทยาปาร์ค วอเตอร์เวิลด์ ระยะที่ 1 มีความยาว 3,575 เมตร และระยะที่ 2 มีความยาว 2,855 เมตร ในอนาคตเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบูรณะฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงาม รวมทั้งการทำงานมีกำหนดเสร็จในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง โครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชายหาดจอมเทียน สร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ สอดรับกับนโยบายการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี https://www.prachachat.net/property/news-727045
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|