เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 10-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 10-12 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะนี้

ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 13 - 15 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 10-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สัญญาณฉุกเฉิน รายงานใหม่ IPCC ชี้โลกร้อนเร็วขึ้น-แทบไม่เหลือเวลาแก้ไข



ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เตือน กิจกรรมของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และบางอย่างเปลี่ยนไปชนิดไม่อาจย้อนคืน

สำนักข่าว บีบีซี รายงานเมื่อ 9 ส.ค. 2564 ว่า คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่งานวิจัยได้รับการยอมรับจากรัฐบาลทั่วโลก เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการประมาณทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศชิ้นใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 โดยพวกเขาพบว่า โลกกำลังร้อนเร็วขึ้น และมนุษย์แทบไม่เหลือเวลาที่จะป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้นตามมาแล้ว

ศ. เอ็ด ฮอว์คินส์ จากมหาวิทยาลัยเรดดิง สหราชอาณาจักร หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ ระบุว่า รายงานฉบับนี้คือถ้อยแถลงข้อเท็จจริง นักวิทยาศาสตร์ไม่อาจมั่นใจได้มากกว่านี้อีกแล้ว มันเป็นเรื่องชัดเจนและโต้แย้งไม่ได้ว่า มนุษย์กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 50 ปีที่อุณหภูมิพื้นผิวของโลกเพิ่มขึ้นเร็วที่สุด ยิ่งกว่าช่วง 50 ปีใดๆ ในรอบ 2,000 ปีที่ผ่านมา และเริ่มส่งผลกระทบแล้วในรูปแบบสภาพอากาศสุดขั้วที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก



รายงานของ IPCC เผยสถิติสำคัญหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่า โลกของเรากำลังร้อยขึ้นเร็วกว่ายุคใดๆ ในอดีต เช่น อุณหภูมิผิวโลกในช่วงทศวรรษระหว่างปี 2011-2020 สูงกว่าช่วงปี 1850-1900 ถึง 1.09 องศาเซลเซียส ขณะที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850 ด้านอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันก็มากกว่าช่วงปี 1901-1971 เกือบ 3 เท่า

อิทธิพลของมนุษย์ยังเป็นปัจจัยหลัก (90%) ที่ผลักดันให้น้ำแข็งในทะเลอาร์กติก กับธารน้ำแข็งทั่วโลกลดลงนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 และเห็นได้ชัดว่า ประกฏการณ์สภาพอากาศร้อนสุดขั้ว รวมถึง คลื่นความร้อน เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ปี 1950 ขณะที่ปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเย็นกลับเกิดน้อยลง และความรุนแรงลดลง

รายงานใหม่นี้ยังระบุชัดเจนว่า ภาวะโลกร้อนที่เราประสบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อระบบสนับสนุนตัวเองของโลกของเรา จนไม่อาจย้อนคืนดังเดิมได้ภายในระยะเวลาหลายร้อยหรือหลายพันปี มหาสมุทรจะยังคนอุ่นขึ้นและเป็นกรดมากขึ้น ธารน้ำแข็งบนภูเขาและเข้าโลกจะละลายต่อไปเป็นเวลาหลายสิบหรือหลายร้อยปีข้างหน้า

"ผลที่ตามมาเหล่านี้จะเลวร้ายลงตามความร้อนที่เพิ่มขึ้น" ศ.ฮอว์คินส์กล่าว "และผลกระทบหลายๆ อย่าง ไม่อาจกลับมาเป็นดังเพิ่มได้"

ในด้านของระดับน้ำทะเล นักวิทยาศาสตร์ได้จัดทำแบบจำลองสถานการณ์ที่ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกระดับ และพวกเขาไม่อาจตัดความเป็นไปได้ที่น้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 2 เมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ (ค.ศ. 2100) หรือเพิ่มขึ้น 5 เมตรภายในปี 2150 ได้ ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่งภายในปี 2100 ส่งผลกระทบต่อคนนับล้านชีวิต



หัวข้อสำคัญอีกอย่างในรายงานฉบับนี้คือ การคาดการอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และผลกระทบที่จะเกิดกับมนุษยชาติ โดยในปัจจุบัน เกือบทุกประเทศทั่วโลก ลงนามใน ?ความตกลงปารีสปี 2015? ซึ่งมีเป้าหมายที่จะคงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ และมุ่งมั่นจะคงอุณภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศา

แต่รายงานใหม่ฉบับนี้ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จัดทำแบบจำลองอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกภายใต้เงื่อนไขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกสถานการณ์แล้ว พบว่า อุณหภูมิโลกจะแตะ 1.5 องศาภายในปี 2040 ในทุกสถานการณ์ และหากไม่มีการตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอมจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่านั้นอีก

"เราจะเผชิญอุณหภูมิ +1.5 องศานานหลายปีเร็วขึ้นอีก เราเคยเจอมันมาแล้วนาน 2 เดือนระหว่างปรากฏการณ์ เอลนิโญ ในปี 2016" ศ.มอลเทอ เมนชูเซน จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย และหนึ่งในผู้เขียนรายงานของ IPCC ระบุ "รายงานใหม่นี้คาดการณ์ว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในช่วงกลางปี 2034"

ผลที่ตามมาหลังอุณหภูมิโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสคือ มนุษย์จะได้เห็นคลื่นความร้อนที่รุนแรงและเกิดถี่ขึ้น ฝนตกหนักขึ้นทั่วโลก และที่บางพื้นที่จะเผชิญภัยแล้งรุนแรงขึ้นกว่าที่เห็นในปัจจุบัน และอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทวีปอาร์กติก เกือบจะไม่เหลือน้ำแข็งอยู่เลย อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนถึงปี 2050

ทั้งนี้ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า รายงานของ IPCC เปรียบเหมือน ?รหัสแดง? หรือสัญญาณฉุกเฉินต่อมนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สถานการณ์ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว หากเราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้ 50% ภายในปี 2030 และถึงเป้าหมายที่ ศูนย์สุทธิ (net zero) ภายในปี 2050 เราจะสามารถหยุด หรืออาจลดอุณหภูมิที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นนี้ได้

อนึ่ง การไปให้ถึงเป้าหมายที่ศูนย์สุทธิ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้เทคโนโลยีสะอาด แล้วลดการปล่อยก๊าซที่เหลือด้วยเครื่องดักจับคาร์บอน หรือใช้พืชดูดซับ


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2162300

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 10-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


สื่อนอกมองไทย : เมื่อชายฝั่งไทยกำลังร่นถอยจากการกัดเซาะ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย กับความพยายามแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ



พื้นที่แนวชายฝั่งของไทย ซึ่งมีความยาวเป็นระยะทางมากกว่า 3,150 กิโลเมตร กำลังเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยแตกต่างกันออกไป แนวชายฝั่งของจังหวัดจันทบุรี ที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศไทย กำลังเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะในระดับรุนแรง โดยในบางพื้นที่การกัดเซาะกินลึกเข้าไปกว่า 1 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี

แม้ประชาชนในพื้นที่จะมองว่าภัยธรรมชาติ อย่างคลื่นขนาดใหญ่และพายุมรสุม เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการกัดเซาะรุนแรง ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เอ24 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่าปัจจัยซึ่งส่งผลกระทบที่แท้จริง คือลักษณะการใช้ที่ดิน ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อหน้าดิน อย่างการทำบ่อกุ้งและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งทำให้หน้าดินมีความอ่อนแอลง และขาดความแข็งแรง

นอกจากนี้ ดร.พรศรี ยังกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินโครงการปักแนวไม้ไผ่ เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะตามแนวป่าชายเลนแล้ว.



ข้อมูลจาก : A24 News Agency


https://www.dailynews.co.th/news/141824/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 10-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


หนุ่มสหรัฐฯ ผงะ! ตกได้ปลาประหลาด มีฟันเรียงสวยเหมือนฟันมนุษย์

หนุ่มชาวนอร์ทแคโรไลนารายหนึ่งถึงกับตกอกตกใจ หลังจับปลาลักษณะแปลกประหลาดได้ตัวหนึ่ง โดยมันมีฟันคล้ายกับฟันของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญยืนยันในเวลาต่อมาว่ามันคือ ปลาชีปส์เฮด (sheepshead fish)



เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (2 ส.ค.) นายนาธาน มาร์ติน จากเมืองเซาต์มิลล์ส รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐฯ เดินทางไปยังท่าเรือ Jennette's Pier จุดหมายปลายทางตกปลายอดนิยม เพื่อไปตกปลาและเขาก็ตกได้ตัวหนึ่้ง แต่หลังจากม้วนสายเบ็ดกลับมาเขาถึงกับตกตะลึงเมื่อภาพที่ปรากฏนั้นคือปลาตัวนี้แยกเขี้ยวยิงฟันใส่เขา และมันมีฟันเต็มปาก เรียงเป็นซี่ๆ คล้ายกับฟันมนุษย์เป็นอย่างมาก

มาร์ติน เล่าว่า เขาใช้หมัดทรายเป็นเหยื่อในการตกปลา "มันเป็นการต่อสู้ที่สนุกเลยล่ะ มันเป็นการฟาดฟันตามกรอบ มันเป็นการตกปลาที่ยอดเยี่ยมเลย" พร้อมเผยกับสำนักข่าวท้องถิ่นว่า มีแผนนำฟันของปลาชีปส์เฮดตัวนี้ไปประดับไว้ที่ผนังบ้าน

เฟซบุ๊กของ Jennette's Pier ท่าเรือสาธารณะที่ยาวที่สุดของนอร์ทแคโรไลนา แชร์ภาพถ่ายปลาตัวดังกล่าว ที่มีน้ำหนัก 9 ปอนด์ (ราว 4 กิโลกรัม) พร้อมแคปชันว่า #bigteethbigtimes.

ต่อมา ภาพถ่ายของปลาเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ หลายคนแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ไม่เชื่อว่ามันเป็นของจริง ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งระบุว่า "ฟันปลอมอันนี้เอามาจากไหน?" ส่วนอีกคนเสริมว่า "ปลาตัวนี้มีฟันที่ประหลาดที่สุด" และอีกคนเขียนติดตลก "ปลาตัวนี้ฟันสวยกว่าผมอีก"

สำนักงานประมงทางทะเลนอร์ทแคโรไลนา ยืนยันว่า มันคือปลาชีปส์เฮด จุดเด่นของมันคือมีฟันหน้า ฟันกรามและฟันบดโดยรอบ ที่สามารถช่วยให้พวกมันเคี้ยวหอยและเม่นทะเลได้อย่างสบายๆ "พวกมันมีน้ำหนักระหว่าง 5 ถึง 15 ปอนด์ (ราว 2.2 ถึง 6.8 กิโลกรัม)"


https://mgronline.com/around/detail/9640000077853

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 10-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


ยูเอ็นเตือนภัย "ระดับแดง" ชี้ทั่วโลกกำลังเผชิญ "วิกฤตภูมิอากาศ"


(Elias Funez/The Union via AP)

ยูเอ็นเตือนภัย "ระดับแดง" ชี้ทั่วโลกกำลังเผชิญ "วิกฤตภูมิอากาศ" จี้เลิกใช้ถ่านหิน-เชื้อเพลิงฟอสซิล

รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมนี้ว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ระบุ โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตภูมิอากาศ ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ จนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ทำได้เพียงชะลอ เพื่อซื้อเวลาให้สามารถเตรียมการรับมือได้เท่านั้น

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวซึ่งนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญสรุปและอธิบายความจากการอ่านผลงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 14,000 ชิ้น ระบุว่า ระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในเวลานี้สูงมากพอที่จะก่อให้เกิดปัญหากับสภาพภูมิอากาศต่อเนื่องต่อไปอีกหลายสิบปีหรืออาจเป็นหลายศตวรรษ

ปัญหาดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมนอกเหนือจาก คลื่นความร้อนที่ทำให้ถึงตายได้, พายุเฮอริเคนรุนแรงขนาดมหึมา หรือภาวะภูมิอากาศแบบสุดโต่งต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นอยู่ในเวลานี้ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็นระบุว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นการเตือนภัย "ระดับแดงสำหรับมนุษยชาติ" เป็นการเตือนภัยที่เสียงดังมากชนิดทำให้หูดับได้ "รายงานนี้คือสัญญาณบอกเหตุถึงการสิ้นสุดการใช้งานถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อนที่ของเหล่านี้จะทำลายโลกของเรา" เลขาฯยูเอ็นระบุ

ทั้งนี้รายงานชิ้นนี้ให้รายละเอียดและสร้าวความเข้าใจได้อย่างครอบคลุมว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้ธรรมชาติของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร โดนระบุว่า หากปราศจากการดำเนินการขนานใหญ่โดยทันทีและรวดเร็วเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิของโลกเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่การรับปากว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนานาประเทศในเวลานี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศลดลงแต่อย่างใด

รายงานระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างชัดเจน ได้ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรม และสามารถเพิ่มสูงขึ้นไปอีก 0.5 องศาลเซลเซียส โดยไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มมลภาวะในชั้นบรรยากาศแต่อย่างใด

ทั้งนี้การที่อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าระดับ 1.5 องศาเซลเซียสนั้น สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนได้แล้ว โดยจตะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับหายนะ อย่างเช่นเกิดความร้อนจัดถึงขนาดแค่ออกไปข้างนอกบ้านก็ทำให้เสียชีวิตได้ หากอุณหภูมิสูงมากขึ้นไปอีก สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือภาวะภูมิอากาศสุดโต่งที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะร้อนสุดขีด หรือภาวะฝนตกหนักไม่ลืมหูลืมตา


(AP Photo/Noah Berger)

โซเนีย เซนเนวีรัตเน นักวิทยาศาสตร์จาก อีทีเอช ซูริค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานของไอพีซีซีชิ้นนี้ ระบุว่า "เรามีหลักฐานทุกอย่างเท่าที่จำเป็นในการแสดงให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ระหว่างวิกฤตภูมิอากาศแล้วในเวลานี้" ในขณะที่ เอ็ด ฮอว์กินส์ ผู้เขียนร่วม ระบุว่า การเพิ่มขึ้นทุกๆ เสี้ยวองศามีความหมายทั้งสิ้น โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น

แทมสิน เอดเวิร์ดส์ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจาก คิงส์คอลเลจ ลอนดอน ผู้เขียนร่วมอีกคนระบุว่า สายเกิดไปแล้วสำหรับมนุษยชาติในการป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำเพาะบางสิ่งบางอย่างได้ อย่างเช่น การหลอมละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ซึ่งจะละลายต่อเนื่องไปอีกนับสิบปีหรือนับศตวรรษ ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

"ตอนนี้เราก่อให้เกิดคุณลักษณะบางประการของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศขึ้นแล้วชนิดที่ไม่สามารถกู้คืนได้ภายในหลายร้อยหรือหลายพันปีข้างหน้า เท่าที่เราสามารถทำได้ในเวลานี้คือการจำกัดการร้อนขึ้นของโลก เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ลงให้มากที่สุด"

แต่แค่การชะลอการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โลกก็แทบไม่เหลือเวลาให้ดำเนินการแล้ว โดยถ้าหากโลกร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมหาศาลในช่วง 10 ปีถัดไป อุณหภูมิเฉลี่ยก็จะยังสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2040 และอาจเพิ่มเป็น 1.6 องศาในปี 2060 ก่อนที่จะทรงตัว แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันปรับลดลงให้มากพอ โดยปล่อยให้เป็นไปตามแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงปี 2060 โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.0 องศาเซลเซียส และ 2.7 องศา ณ สิ้นศตวรรษนี้

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โลกเราในอดีตเคยร้อนถึงระดับนั้นมาแล้ว เมื่อประมาณ 3 ล้านปีก่อน ในยุค ไพลโอซีน อีพ็อค ซึ่งระดับน้ำในมหาสมุทรในตอนนั้น สูงกว่าระดับน้ำในมหาสมุทรตอนนี้ ถึง 25 เมตร

โจรี โรเกลจ์ นักวิชาการด้านภูมิอากาศจากอิมพีเรียล คอลเลจ ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมอยู่ด้วยระบุว่า เราได้เปลี่ยนโลกของเราไปแล้ว แล้วเราก็ต้องรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นต่อไปอีกหลายศตวรรษ หรือสหัสวรรษ ในอนาคต แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากเราเลือกที่จะทำในเวลานี้


NASA Earth Observatory


https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2876167

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 10-08-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


โลกร้อน : ประเทศยากจนต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร


ปี 2563 เกาะในแถบแคริบเบียนต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อน 30 ลูก สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นพายุเฮอร์ริเคน 6 ลูกด้วยกัน ........ Getty Images

เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้เชี่ยวชาญบอกกับบีบีซีว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำกำลังเผชิญอุปสรรคในการป้องกันตนเองจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

องค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 90 ประเทศระบุว่าแผนป้องกันความเสียหายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เตรียมไว้ไม่ทันรับมือกับ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรงและถี่ขึ้นกว่าเก่า

สหประชาชาติบอกว่า ประเทศที่มีแผนเตรียมปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าแผนเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้จริงหรือเปล่า

"เราต้องปรับเปลี่ยนแผนเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่แย่ลงเรื่อย ๆ แผนที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะปกป้องผู้คนของเราแล้ว" โซนัม วังดี ประธานกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries Group ? LDC) กล่าว

นี่เป็นการเรียกร้องก่อนที่คณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติจะตีพิมพ์รายงานวิเคราะห์เรื่องโลกร้อนวันนี้ (9 ส.ค.) โดยรายงานนี้จะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักรในเดือน พ.ย. นี้


ความโกลาหลในแถบแคริบเบียน


เกาะบาร์บูดา เมื่อปี 2017 ............. Getty Images

เมื่อปีที่แล้ว ภูมิภาคแคริบเบียนต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อน 30 ลูก สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นพายุเฮอร์ริเคน 6 ลูกด้วยกัน

บนเกาะที่ตั้งของประเทศแอนติกาและบาร์บูดา ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอาคารหลายหลังไม่สามารถต้านทานลมแรงที่มากับพายุเหล่านี้ได้

"เราเคยเห็นแต่พายุเฮอร์ริเคนระดับ 4 ดังนั้นนั่นคือสิ่งที่เราเตรียมไว้ในแผนปรับตัว แต่ตอนนี้เราถูกพายุเฮอร์ริเคนระดับ 5 พัดถล่มเข้าใส่แล้ว" ไดแอน แบล็ค เลย์เนอร์ หัวหน้าผู้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศของกลุ่มรัฐเกาะขนาดเล็ก (Alliance of Small Island States) กล่าว

เธอบอกว่าเฮอร์ริเคนระดับ 5 ทำให้เกิดลมแรงถึง 180 ไมล์ต่อชั่วโมงซึ่งหลังคาอาคารไม่สามารถรับมือได้เพราะมันสร้างความกดอากาศแรงขึ้นภายในตัวอาคารด้วย


กำแพงกั้นคลื่นทลายในหมู่เกาะแปซิฟิก

ประเทศที่ตั้งบนเกาะหลายแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกโดนพายุไซโคลน 3 ลูกถล่มระหว่างกลางปี 2020 ถึงเดือน ม.ค. 2021


Getty Images

"หลังจากไซโคลน 3 ลูกนั้น ชุมชนในภาคเหนือของประเทศเราพบว่ากำแพงกั้นคลื่นที่สร้างขึ้นตามแผนในการปรับตัว พังทลายไป" วานี คาตานาซิกากล่าว เขาเป็นหัวหน้าคณะกรรมการบริการสังคมของฟิจิ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนขององค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สังกัดสภาเพื่อการจัดการภัยพิบัติของประเทศ

เขาบอกว่าคลื่นและลมโหมเข้าไปยังที่ตั้งถิ่นฐานจนทำให้คนในพื้นที่บางส่วนต้องอพยพหนี

แม้ว่าการเกิดพายุหลายลูกในช่วงสั้น ๆ แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าพายุทะเลรุนแรงมากขึ่นเรื่อย ๆ

รายงายวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าพายุไซโคลนฤดูร้อนรุนแรงมากขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องความถี่ของพายุ


ภูเขาในยูกันดา

ในยูกันดา ผู้คนในแถบเทือกเขารเวนซอรี ต้องเผชิญกับเหตุดินถล่มและน้ำท่วมแม้จะพยายามป้องกันด้วยการขุดคูดินและปลูกต้นไม้

"ฝนตกหนักมากจนเราเห็นน้ำท่วมใหญ่ที่หนักและกะทันหันพัดทำลายสิ่งที่สร้างและปลูกขึ้นมาเพื่อพยายามป้องกัน" แจ็คสัน มูฮินโด ผู้ประสานด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของมูลนิธิอ็อกซ์แฟม (Oxfam) กล่าว


Getty Images

เขาบอกว่า ผลคือทำให้เกิดเหตุดินถล่มหลายครั้งจากเนินเขาซึ่งเข้าไปกลบทับที่อยู่อาศัยและไร่นาของคน เขาบอกว่าการป้องกันด้วยการอนุรักษ์ดินหมดประโยชน์ลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเจอสภาพอากาศที่รุนแรงแบบนี้


การปรับตัวไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด

สหประชาชาติบอกว่า มากกว่า 80% ของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มคิดและบังคับใช้แผนปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว

อย่างไรก็ดี งานวิจัยโดยสถาบันนานาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (International Institute for Environment and Development) บอกว่า 46 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในโลกไม่มีเงินทุนในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถาบันนานาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาบอกว่า ประเทศเหล่านี้ต้องการเงินอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ?ต่อปีในการทำตามแผนปรับตัว แต่ระหว่างปี 2014 ถึง 2018 พวกเขาได้เงินแค่ 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

สหภาพยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วอีก 23 ประเทศ สัญญาว่าจะให้ทุนช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ตัวเลขล่าสุดชี้ว่าพวกเขายังให้ได้แค่ 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายงานโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี ระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วให้เงินถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ?climate finance? อย่างไรก็ดี มีการพบว่า ในจำนวนนั้น มีเพียง 21% เท่านั้นที่ให้ใช้เพื่อปรับตัวรับมือกับผลกระทบกับสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ส่วนใหญ่ถูกใช้สำหรับมาตรการลดการปล่อยคาร์บอน

คาร์ลอส อกิลาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับตัวรับมือกับสภาพภูมิอากาศของอ็อกซ์แฟมบอกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาลเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการของรัฐ ความยากจน และโควิด-19


https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6553687

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:18


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger