#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมเวียดนามตอนบน ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 12 - 13 และ 17 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 16 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 14 - 16 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 12-08-2021 เมื่อ 03:09 |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ทร.ระทึก! ไปจับเรือประมงเวียดนาม เจอพุ่งชน-แล่นหนี ตามไม่ทัน หนีออกน่านน้ำไทยไปได้ ทหารเรือขับไล่เรือประมงเวียดนาม 2 ลำ รุกล้ำน่านน้ำไทย ทำประมงในเขตไทยกลางวันแสกๆ แต่เรือประมงเห็นทหารเรือ ขับหนีและพยายามขับเรือชนเรือจนท.สุดท้ายหนีออกน่านไทยไปได้ ช่วงเช้าวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 (ศปก.ทรภ.1) แจ้งว่ามีเรือประมงต่างชาติ (เรือประมงอวนลากคู่) จำนวน 2 คู่ ได้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทย ห่างปลายแหลมเทียน อ.เกาะกูด จ.ตราด ประมาณ 29 ไมล์ ใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน (มชด.)จึงสั่งการเรือในหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ 1 (มชด./1) ออกลาดตระเวนค้นหา ตรวจสอบและจับกุม โดยส่งเรือ ต.113 และ เรือ ต.237 ออกเรือทำการลาดตระเวนค้นหา กลุ่มเรือประมงต่างชาติ สัญชาติเวียดนาม ตามที่ได้รับจำนวน 2 ลำ เบื้องต้นพบว่า ลักษณะตัวเรือมีสีเขียว เก๋งสีขาวคาดเทา จึงนำเรือเข้าตรวจค้นและจับกุม แต่เรือทั้งสองลำได้ทิ้งอุปกรณ์ทำการประมง และพยายามหลบหนี ไม่ยินยอมให้เข้าตรวจค้นจับกุมแต่โดยดี ทั้งนี้เรือทั้งสองลำได้เพิ่มความเร็ว แล่นส่ายไปมา และพยายามจะพุ่งชนเรือที่เข้าสกัดกั้น โดยเรือ ต.113 และเรือ ต.237 ได้ปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติการตรวจค้นและจับกุมเรือประมงต่างชาติ แต่ยังไม่อาจทำให้ เรือประมงต่างชาติหยุดเรือได้ ยังคงนำเรือมุ่งหน้าไปยังทิศตะวันออก เพื่อออกนอกน่านน้ำไทย ทั้งนี้ มชด./1 ได้สั่งการให้ เรือ ต.113 และ เรือ ต.237 ไล่ติดตาม เรือประมงต่างชาติจนออกนอกเขตน่านน้ำไทย พร้อมทั้งให้ดำเนินการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพื่อรายงานให้กับหน่วยที่เกี่ยวข้องทราบ และดำเนินการต่อไป สำหรับเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยการทำประมงรุกล้ำน่านน้ำไทยของเรือประมงต่างชาติ โดยเฉพาะเรืออวนลาก สร้างความเสียหายแก่ทั้งของพี่น้องชาวประมงไทยเป็นจำนวนมาก แถมยังกีดขวาง และแย่งพื้นที่การทำประมงของพี่น้องประมงไทย อีกด้วย พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 มีความห่วงใยพี่น้องชาวประมงจึงได้มีมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อเรือประมงต่างชาติที่ทำประมงรุกล้ำน่านน้ำ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยในการบังคับบัญชา จัดเรือออกลาดตรวจการณ์ในพื้นที่ อย่างสม่ำเสมอ และออกค้นหาจับกุมหรือผลักดันเมื่อได้รับแจ้ง ส่วนชาวประมงรายใด พบเห็น เรือประมงต่างชาติทำประมง รุกล้ำน่านไทย สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 โทร 038-438008 หรือติดต่อชมรมวิทยุมดดำนาวี ทัพเรือภาคที่ 1 โทร.092-758-8977 ทางวิทยุมดดำ ช่อง 21C ความถี่ 27.215 MHz ทางวิทยุย่าน HF ความถี่ 8249 KHz ทางวิทยุย่าน VHF Maritime Band ช่อง 16 ความถี่ 156.800 MHz ตลอด 24 ชั่วโมง https://www.matichon.co.th/region/news_2880016
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
โลกร้อน : สภาพอากาศสุดขั้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร Fire-fighters tackle a wildfire near Athens ....... ที่มาของภาพ,GETTY IMAGES คลื่นความร้อน น้ำท่วมฉับพลัน และไฟป่ารุนแรง เหล่านี้คือผลกระทบที่คนต้องเผชิญในปีนี้ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ถูกปลดปล่อยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเก็บความร้อนเอาไว้ในชั้นบรรยากาศตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส ความร้อนสะสมนี้เป็นผลทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วที่เราได้เห็นมาในปีนี้ และหากไม่ลดการปลดปล่อยคาร์บอน วงจรวิกฤตนี้ก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ นี่คือสาเหตุ 4 ประการที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) 1. ยิ่งร้อน ยิ่งเกิดคลื่นความร้อนนานกว่าเดิม หากอยากจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ให้ลองนึกถึงกราฟเส้นโค้งที่มีสภาวะร้อนและเย็นสุดขั้วอยู่ 2 ฝั่ง ส่วนตรงกลางเป็นระดับอุณหภูมิโดยเฉลี่ย การเปลี่ยนแปลงของส่วนกึ่งกลางเพียงเล็กน้อยทำให้เส้นโค้งนั้นไปแตะบริเวณที่เป็นสุดขั้วมากขึ้น ดังนั้น คลื่นความร้อนที่บางประเทศเจอจึงได้เกิดขึ้นบ่อยและนานขึ้น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรให้ข้อมูลว่า สหราชอาณาจักรเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ยาวนานขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ฝั่งตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐฯ ต้องเจอกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์เพราะโดมความร้อน (heat dome) หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน ในบริเวณที่มีความกดอากาศสูง มวลอากาศร้อนถูกกดลงและกักไว้อยู่กับที่ ส่งผลให้อุณหภูมิทั้งทวีปพุ่งสูงขึ้น ที่เมืองลิตตัน ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา อุณหภูมิสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส มากกว่าสถิติเดิมเกือบ 5 องศาเซลเซียส กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ World Weather Attribution บอกว่าคลื่นความร้อนรุนแรงแบบนี้แทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีทฤษฎีหนึ่งพยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเกิดมาจากการที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแถบอาร์กติกทำให้กระแสลมกรด (Jet Stream) หรือแถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส (แนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์กับชั้นสตราโตสเฟียร์) เคลื่อนตัวช้าลง ทำให้มีแนวโน้มเกิดโดมความร้อนมากขึ้น แต่ในฤดูร้อนนี้ ไม่ใช่ทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้นที่เจอปรากฏการณ์นี้ รัสเซีย ไอร์แลนด์เหนือ และทวีปแอนตาร์กติกาก็เจอด้วย 2. ภาวะแล้งที่หนักกว่าเดิม พอมีคลื่นความร้อนที่หนักและนานกว่าเดิม ภาวะแล้งก็อาจรุนแรงกว่าเดิม เมื่อฝนตกระหว่างมีคลื่นความร้อนน้อยลง ความชื้นบนพื้นดินและแหล่งน้ำก็แห้งเหือดเร็วขึ้น พอเป็นเช่นนี้ พื้นดินก็ร้อนเร็วขึ้น ทำให้อากาศร้อนหนักขึ้นไปอีก เหล่านี้นำไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในดำรงชีวิตและการเกษตร หลังจากเจอคลื่นความร้อนในหน้าร้อน เมื่อถึงกลางเดือน ก.ค. มีพื้นที่ถึง 1 ใน 4 ของสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับภาวะแล้งอย่างรุนแรง 3. ไฟป่ารุนแรง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความร้อนอย่างยาวนานและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นวงจร เป็นผลให้พื้นดินและต้นไม้ไร้ความชุ่มชื้น ความแห้งแล้งนี้เองเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าซึ่งลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่มีให้เห็นคือที่ภูมิภาคตะวันตกของแคนาดาในหน้าร้อนนี้ ไฟป่าลุกลามรวดเร็วและรุนแรงจนสร้างระบบสภาพอากาศเฉพาะขึ้นมาพร้อมกับการก่อตัวของเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัส เมฆยักษ์เหล่านี้ทำให้เกิดฟ้าผ่า และฟ้าผ่าก็ไปทำให้ไฟลุกไหม้เพิ่มขึ้นมาอีก เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในไซบีเรียเช่นกัน ในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเกิดไฟป่าขนาดใหญ่บ่อยขึ้นมาก Climate Central องค์กรอิสระซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิทยาศาสตร์และผู้สื่อข่าวบอกว่า ไฟป่าขนาด 40 ตร.กม. ที่เผาผลาญฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เกิดขึ้นบ่อยกว่าในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 7 เท่า 4. ฝนตกหนักกว่าเดิม ในปีนี้ เกิดน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ที่จีน เยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ปีเตอร์ เกลค ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ บอกว่า เมื่อมีพื้นที่ที่แห้งแล้งมากขึ้นอย่างในไซบีเรียหรือภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ฝนก็ไปตกที่อื่นแทน ในพื้นที่ที่เล็กกว่า เกิดเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงกว่า อย่างในเยอรมนีและเบลเยียม สภาพอากาศทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ สุดขั้วมากขึ้น https://www.bbc.com/thai/international-58164331
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|