#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 29 ? 30 ก.ย. 64 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 1 ? 5 ต.ค. 64 ร่องมรสุมกำลังอ่อนจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ว้าว! ฉลามหูดำกลับมาโชว์ตัวอีกครั้งหลังหายไปนาน 3-4 เดือน กระบี่ - ว้าว! ฝูงฉลามหูดำกว่า 30 ตัว ว่ายน้ำโชว์ หน.หน่วยพิทักษ์อุทยานหมู่เกาะห้อง จ.กระบี่ อีกครั้ง หลังหายไปนานหลายเดือน ระบุมีไม่บ่อยนักที่จะว่ายน้ำมารวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ วันนี้ (29 ก.ย.) ฝูงฉลามหูดำ หรือฉลามครีบดำ จำนวนกว่า 30 ตัว ขนาดความยาวประมาณ 1.5-2 เมตร ได้กลับมาเวียนว่ายหากินบริเวณชายหาดหน้าเกาะห้อง เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ อีกครั้ง และรวมตัวกันเป็นฝูง เวียนว่ายหากินอย่างเริงร่า สร้างความตื่นเต้นแก่เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หลังฝูงฉลามหายจากชายหาดเกาะห้อง เป็นเวลานานประมาณ 3-4 เดือน โดยนายจำเป็น ผอมภักดี หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานเกาะห้อง เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ได้บันทึกคลิปวิดีโอเอาไว้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ขณะทำหน้าที่เดินสำรวจเชิงคุณภาพบริเวณชายหาดเกาะห้อง เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) นายจำเป็น กล่าวว่า การกลับมารวมตัวของฝูงปลาฉลามหูดำจำนวนมาก บริเวณเกาะห้อง เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ก่อนหน้านี้ ฝูงฉลามหูดำกลุ่มนี้ได้หายไปนานประมาณ 3-4 เดือน และเพิ่งกลับมาหากินที่บริเวณชายหาดเกาะห้อง เห็นอีกครั้งในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ระลอก 2 สร้างความตื่นเต้นแก่เจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เพราะการที่ฉลามหูดำจะรวมตัวกันเป็นฝูงพบไม่บ่อยนัก จึงบันทึกภาพเก็บไว้เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ ก่อนที่จะอำลาชีวิตราชการในวันพรุ่งนี้ สำหรับทรัพยากรทางทะเลที่เกาะห้อง พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หากนักท่องเที่ยวสนใจที่มาชมฉลามหูดำ จะต้องมาตั้งแต่ช่วงเช้าระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น และหลังจากนั้นฉลามหูดำจะว่ายออกไปในทะเลลึก นายจำเป็น กล่าวอีกว่า ตนติดตามฝูงฉลามหูดำ มาตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ฉลามหูดำเข้ามารวมตัวหากินบริเวณน้ำตื้นที่ชายหาดหน้าอ่าวเกาะห้อง รู้สึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ รู้สึกใจหายที่ต้องจากธรรมชาติไป ไม่อยากจากไปไหนเลย รู้สึกผูกพันมาก แต่ต้องไปตามวาระ เพราะถึงเวลาเกษียณอายุราชการแล้ว จึงขอฝากให้ จนท. รุ่นน้องที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ช่วยกันดูแล หวังให้ฉลามหูดำฝูงนี้ให้อยู่คู่เกาะห้อง และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนต่อไป https://mgronline.com/south/detail/9640000096613 ********************************************************************************************************************************************************* งานวิจัย WWF เผยครัวเรือนในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก ยินดีจ่าย 80 ดอลลาร์ต่อปี "หนุนงานอนุรักษ์เต่าทะเล" ผลงานวิจัยล่าสุดจาก WWF ภายใต้หัวข้อ 'Money Talks: The Value of Conserving Marine Turtles in Asia-Pacific' ได้สำรวจความคิดเห็น 7,700 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศจีน, ฟิจิ, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เกี่ยวกับวิกฤตสูญพันธุ์ของเต่าทะเล และความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจตามมาด้วยการสูญพันธุ์ของเต่าทะเล 6 ใน 7 สายพันธุ์ทั่วโลก แม้กระทั่งในสามเหลี่ยมคอรัล ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของโลก ประชากรเต่าทะเลก็กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายอย่าง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย เต่าทะเลยังถูกเก็บเกี่ยวมากเกินไปเพื่อเอาไข่ เนื้อสัตว์ และเปลือกของพวกมันที่เอามาทำเป็นเครื่องประดับ ซึ่งส่วนใหญ่มีการค้าขายกันในเอเชียแปซิฟิก โดยผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า หน่วยงานภาครัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการอนุรักษ์เต่าทะเล ควรออกแบบนโยบาย และเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายอนุรักษ์และคุ้มครองเต่าทะเลมากขึ้น รวมถึงการจัดจ้างกลุ่มเจ้าหน้าที่ดูแลเต่าทะเลโดยเฉพาะในแต่ละพื้นที่ กลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจยังต้องการให้รัฐบาลพัฒนาแนวทางส่งเสริมความเข้าใจในกลุ่มคนท้องถิ่นที่อาศัยใกล้ชายทะเลว่า การอนุรักษ์ประชากรเต่าทะเลเป็นเรื่องดีมากกว่าการทำลายแหล่งวางไข่และฆ่าเต่าทะเลเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ (เช่น ฆ่าเพื่อนำเนื้อและไข่ไปผลิตเป็นอาหาร หรือฆ่าเอากระดองไปใช้เป็นเครื่องประดับ) และให้เหตุผลว่า ยิ่งจำนวนประชาชนเต่าทะเลและระบบนิเวศท้องทะเลดีขึ้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยนำรายได้เข้าสู่ชุมชน และช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น จากโมเดลที่ใช้ในงานวิจัยฉบับนี้ พบว่า ครัวเรือนในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก ยินดีจ่ายเงินเฉลี่ย 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์เต่าทะเล และเมื่อนำตัวเลขจากโมเดลมาคำนวณเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่จริงและมีรายได้ใกล้เคียงกันจำนวน 600 ล้านครัวเรือน จะพบว่า พวกเขาพร้อมจ่ายเงินจำนวนมากถึง 45.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและงานอนุรักษ์เต่าทะเลเป็นระยะเวลาหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม เรื่องของต้นทุนอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนอาจมองข้ามความสำคัญของการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระยะยาว งานวิจัยระบุว่า ต้นทุนในการจัดกิจกรรมปกป้องประชากรเต่าทะเล อาจสูงกว่ามูลค่าเชิงพาณิชย์ที่ได้จากการฆ่าเต่าทะเลถึง 50,000 เท่า หรือเราอาจใช้ต้นทุนสูงถึง 800,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ต้นทุนอาจสูงมากขึ้น เมื่อนำปัจจัยด้านอื่นๆ สำหรับงานอนุรักษ์เต่าทะเลมาพิจารณาด้วย เช่น การจัดการเขตนันทนาการและศึกษาหาความรู้เรื่องเต่าทะเล การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ที่เต่าทะเลอาศัยอยู่ ซึ่งรายงานฉบับนี้ยังไม่ได้นำมาคำนวณด้วย "ถ้ารัฐบาลในประเทศที่ยังคงพบประชากรเต่าทะเลยังคงเพิกเฉยต่อภัยคุกคามนี้ การสูญพันธุ์ของเต่าทะเลอาจก่อให้เกิดค่าความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจมีมูลค่าสูงถึง 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่หากรัฐบาลเอาจริงเอาจังในการอนุรักษ์เต่าทะเล ความสำเร็จตรงนี้จะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่า 54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี" ดร.ลูค แบรนเดอร์ (Dr. Luke Brander) นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และหนึ่งในคณะผู้จัดทำรายงาน ให้คำเตือน ข้อมูลในงานวิจัยได้รับการเปิดเผยครั้งแรกระหว่างการประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (The World Conservation Congress) ณ เมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี โดยในปีนี้ การประชุมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้เต่าทะเลอาศัยอยู่เฉพาะในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยพบอยู่ทั้งหมด 7 ชนิดทั่วโลก สำหรับประเทศไทย พบเต่าทะเลเพียง 5 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ เต่ามะเฟือง, เต่าตนุ, เต่ากระ, เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000096700
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|