เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 11-11-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2564

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 11 - 13 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 16 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อน โดยบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 11 ? 13 พ.ย. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย ส่วนประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย




*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศหนาวเย็นลงบริเวณประเทศไทยตอนบน กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ (มีผลกระทบถึงที่ 13 พฤศจิกายน 2564)" ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอุณหภูมิลดลง กับมีอากาศเย็นและลมแรง โดยประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2564 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 11-11-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ส่อง COP26 : ความหวังสำคัญในการอนุรักษ์มหาสมุทร ................... บทความโดย ดร.เพชร มโนปวิตร



การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ครั้งที่ 26 ที่กรุงกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. ถึง 12 พ.ย. 2564 นับเป็นการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ

หลายคนเชื่อว่าผลของการประชุมน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญต่อต่อการแก้วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน การเลิกใช้พลังงานถ่านหิน การยุติการทำลายป่าไม้ รวมไปถึงความหวังในการอนุรักษ์มหาสมุทร ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน แต่มักถูกมองข้ามมาโดยตลอด


มหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ผิวของโลกราวร้อยละ 70 และคือที่กักเก็บน้ำร้อยละ 96.5 ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่มหาสมุทรคือกลไกควบคุมสมดุลของสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตบนโลกอย่างแท้จริง ผ่านวัฏจักรของน้ำ กระแสคลื่นลมที่ไหลเวียนไปทั่วโลก รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่เหมือนปั๊มน้ำชีวภาพขนาดยักษ์อย่างวาฬ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วอย่างแพลงก์ตอนพืชที่ทำให้มหาสมุทรเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนราวครึ่งหนึ่งของอากาศที่เราทุกคนหายใจ ช่วยดูดซับความร้อนกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์ และยังกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1 ใน 4 ที่ถูกปล่อยออกมาทุกๆ ปี

นอกจากนี้ ระบบนิเวศชายฝั่งและทะเลโดยเฉพาะป่าชายเลน หญ้าทะเล และพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลประเภทอื่น ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ

งานวิจัยในช่วงหลังพบว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 10 เท่า ในขณะที่หญ้าทะเลกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า

ปัจจัยที่ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นดี ก็เพราะเป็นพืชโตเร็วและสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินตะกอนที่ทับถมสะสมอยู่ได้นับพันๆ ปี ต่างจากพืชบนบกที่มีอายุการดูดซับคาร์บอนได้สูงสุดราว 50 ปีเท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่างหญ้าทะเลและป่าชายเลนว่า คาร์บอนสีน้ำเงิน (blue carbon) ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสู้โลกร้อนที่ทรงอานุภาพที่สุด

จากรายงานล่าสุดของ IPCC ว่าด้วยมหาสมุทรและหิมะภาค ระบุว่าพื้นที่ป่าชายเลนหรือหญ้าทะเลเพียง 1 ไร่สามารถกักเก็บคาร์บอนโดยเฉลี่ยได้ถึง 160 ตันต่อปี สูงกว่าระบบนิเวศป่าไม้บนบกซึ่งกักเก็บคาร์บอนโดยเฉลี่ย 4-5 ตันต่อปีหลายสิบเท่า

อย่างไรก็ตาม ความร้อนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มหาสมุทรกักเก็บไว้มหาศาลเริ่มส่งสัญญานอันตรายชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ก็เริ่มจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไม่ไหวแล้วเช่นกัน ในปี 2020 ร้อยละ 80 ของมหาสมุทรทั่วโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน และส่งผลกระทบลงลึกไปถึงระดับ 1,000 เมตร

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งจากรายงานประเมินฉบับล่าสุดของ IPCC (AR6) ก็คือ แม้เราจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5-2 องศาได้ตามข้อตกลงปารีส แต่ความร้อนที่สะสมไว้แล้วและที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนบ่อยกว่าเดิมถึง 4 เท่าภายในศตวรรษนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและนิเวศบริการด้านต่างๆ

คลื่นความร้อนในทะเลเคยเป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ในช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยและทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ รายงานการประเมินผลกระทบด้านระบบนิเวศของ IPCC ระบุว่าปะการังเกือบทั้งหมดในโลก (99%) จะเสื่อมโทรมหรือตายลงหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยังจะส่งผลให้เกิดสาหร่ายบลูม (algal bloom) บ่อยและรุนแรงขึ้น เกิดการขยายตัวของเขตมรณะที่ไร้ออกซิเจน (dead zone) และเกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ รูปแบบการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในภูมิภาคต่างๆ จะเปลี่ยนไป สัตว์น้ำเริ่มเคลื่อนย้ายจากเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร

ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในมหาสมุทรยังทำปฏิกิริยากับน้ำทะเลเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก โมเลกุลของกรดคาร์บอนิกทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของน้ำ เกิดเป็นไอออนไบคาร์บอเนตและไอออนไฮโดรเจน (H+) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในทะเล (ocean acidification) และกำลังเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก หากไม่ได้รับการแก้ไขปรากฏการณ์ทะเลเป็นกรดที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้สัตว์ทะเลจำนวนมากโดยเฉพาะสัตว์มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู เม่นทะเล หรือแม้แต่ปะการัง ไม่สามารถสร้างเปลือกและโครงสร้างแข็งได้ ข้อมูลในอดีตชี้ว่าผลกระทบของสภาวะทะเลเป็นกรดคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต (mass extinction) ซึ่งมีหลักฐานปรากฏเมื่อ 66 ล้านปีมาแล้วที่พบว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลสูญพันธุ์ไปกว่าร้อยละ 75

ผลกระทบจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งทั่วโลก และการขยายตัวของมหาสมุทรอันเนื่องมาจากพลังงานความร้อนที่สะสมส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้วราว 20 เซนติเมตรระหว่างปี 1901-2018 แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคืออัตราการเพิ่มสูงขึ้นที่เพิ่มจาก 1.3 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1901-1971 เป็น 1.9 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1971-2006 และเพิ่มเป็น 3.7 มิลลิเมตรต่อปีในช่วง 2006-2018 นั่นหมายความว่าในช่วงทศวรรษหลังสุดระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิมถึงเกือบ 2 เท่า หรือเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 1971

อัตราการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทำให้เป็นไปได้ที่ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายในปี 2150 ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบระดับหายนะต่อมหานครทั่วโลก เช่น กรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ริมทะเล
ยังส่งผลต่อระบบนิเวศชายฝั่งทั้งหมด เช่น ป่าชายเลนและหญ้าทะเลที่อาจปรับตัวไม่ทัน หรือไม่มีพื้นที่ให้ถอยร่นได้อีกแล้วเพราะมีการตั้งถิ่นฐานและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ครอบครองอยู่

ด้านหนึ่งมหาสมุทรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่อีกด้านหนึ่งมหาสมุทรเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาวะโลกร้อนเช่นกัน ไม่นับวิกฤติด้านต่างๆ ที่กำลังคุกคามสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงเกินขนาด การทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง ขยะพลาสติกจำนวนมากในทะเลที่เมื่อปล่อยไว้ในสภาพแวดล้อมก็ปลดปล่อยก๊าซมีเทนและเอทิลีนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 เท่า


COP26 กับข้อเรียกร้องเพื่อการอนุรักษ์ทะเล

ความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีความพยายามยกระดับความสำคัญของการอนุรักษ์และปกป้องระบบนิเวศทางทะเลให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อครั้งที่แล้ว (COP25) ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน การประชุมครั้งนั้นได้รับการขนานนามว่าเป็นการประชุมสุดยอดสีน้ำเงิน หรือ Blue COP ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคาดหวังว่า ในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 26 จะมีข้อตกลงด้านการคุ้มครองมหาสมุทรที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้าการประชุม COP26 ได้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการอนุรักษ์มหาสมุทรที่น่าสนใจหลายอย่าง เริ่มจาก สหประชาชาติได้กำหนดให้ทศวรรษ 2021-2030 เป็นทศวรรษแห่งวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (The United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development) ซึ่งมีคำขวัญว่า "วิทยาศาสตร์ที่เราจำเป็นต้องรู้เพื่อทะเลที่เราต้องการ"

ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่ามหาสมุทรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการหาทางออกของวิกฤติหลายด้านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจถดถอย ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลและองค์กรอนุรักษ์นานาชาติหลายแห่งได้พยายามกระตุ้นให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเลอีกครั้ง หลังจากที่ทุกอย่างถูกทำให้หยุดชะงักเพราะโควิด มีการประชุมระดับสูงโดยสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 (มหาสมุทร) และการประชุมนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ซึ่งล้วนได้ผลสรุปไปในทิศทางเดียวกัน คือ ข้อเรียกร้องทางออกที่ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน (transformative change) และปฏิบัติได้จริง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหามลภาวะทางทะเล คุ้มครองและฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง และหยุดยั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย รวมไปถึงหยุดเงินอุดหนุนการประมงเกินขนาด

กิจกรรมของมนุษย์หลายอย่างในทะเลส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การขนส่งทางเรือที่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล การทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง และการทำเหมืองใต้ทะเล งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รายงานว่า การทำประมงด้วยเรืออวนลาก (bottom trawling) ซึ่งเปิดหน้าดินบริเวณพื้นมหาสมุทรทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1.5 พันล้านตันทุกๆ ปี มากกว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเสียอีก การทำประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายล้างจึงจำเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัดและต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้มีความยั่งยืนและรับผิดชอบมากขึ้น


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 11-11-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ส่อง COP26 : ความหวังสำคัญในการอนุรักษ์มหาสมุทร .......... ต่อ



เครดิตภาพ https://thaipublica.org/2021/11/sustainability4all05/

จอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกา กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐอเมริกาตระหนักดีถึงความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรกับสภาพภูมิอากาศอย่างแยกไม่ออก และจะให้การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ทะเลที่สำคัญๆ เช่น 30?30 ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล หรือพื้นที่ที่ปลอดจากกิจกรรมประมงทำลายล้าง เช่น อวนลาก ให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2030 รวมไปถึงการผลักดันพันธกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งทางเรือให้เป็นศูนย์ (Zero Emission Shipping Mission) โดยเรือขนส่งขนาดยักษ์อย่างน้อยร้อยละ 5 ต้องเดินเรือโดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยภายในปี 2030

ข้อเรียกร้อง 30?30 ที่พยายามผลักดันให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลทั่วโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการบรรจุอยู่ในร่างเบื้องต้นของข้อตกลงการประชุมสุดยอดด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (COP15) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะนักวิทยาศาสตร์มองว่า เป็นมาตรการที่ชัดเจนและจับต้องได้ที่สุด โดยในปัจจุบันเรามีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยรวมทั้งหมดทั่วโลกราวร้อยละ 8 เท่านั้น ส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลไม่ถึงร้อยละ 6 การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ถึงร้อยละ 30 ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกจึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ความร่วมมือ Because the Ocean เป็นการรวมกลุ่มของประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาจำนวน 41 ประเทศ (พ.ย. 2021) ที่ต้องการชูบทบาทของมหาสมุทรในนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ocean-Climate nexus) ตั้งแต่การประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือ Because the Ocean ได้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการพิจารณามาตรการอนุรักษ์ทะเลให้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contributions ? NDCs) ภายใต้ข้อตกลงปารีส นอกจากนี้ยังได้รวบรวมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรในยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำเอามหาสมุทรมาเป็นส่วนหนึ่งของทางออก ซึ่งสามารถใช้ได้กับ NDCs แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAPs) แผนการสื่อสารด้านการปรับตัว (AC) และกรอบนโยบายระดับชาติ (National Policy Framework)

แอนนา-มารี ลอรา ผู้อำนวยการนโยบายสภาพภูมิอากาศของ Ocean Conservancy กล่าวว่า การประชุม COP26 ต้องบูรณาการประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรเข้าไปในกระบวนการพิจารณาด้วย โดยหวังว่าจะเห็นการเชื่อมโยงด้านนโยบายระหว่างมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศ (Ocean-Climate Dialogue) เป็นผลสำเร็จหลังการประชุม ส่วน Ghislaine Llewellyn รักษาการฝ่ายมหาสมุทรของ WWF International ให้ความเห็นว่า หาก COP26 ประสบความสำเร็จ เราคงจะได้เห็นเรื่องของมหาสมุทรอยู่ในแผนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน รวมไปถึงการลงทุนด้านงบประมาณให้มากเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา

"คนนับล้านๆ ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งและหมู่เกาะที่ลุ่มต่ำ ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องสู้สุดชีวิต และเรียกร้องให้หัวหน้ารัฐบาลในงานประชุมครั้งนี้ต้องยกระดับการแก้ปัญหา เพราะวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศก็คือวิกฤติทางทะเล ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างจากปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้นจนทำให้ระบบนิเวศทางทะเลหลายแห่งพังพินาศ โดยเฉพาะแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟในออสเตรเลีย"

แอนนา-มารี กล่าวทิ้งท้าย

ล่าสุดระหว่างการประชุม COP26 ปานามา เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และคอสตาริกา ได้ประกาศถึงความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก (Eastern Tropical Pacific Marine Corridor หรือ CMAR) ที่จะทำให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ปราศจากการทำประมงที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ร้อยล้านไร่ หรือมีขนาดพอๆ กับประเทศไทยทั้งประเทศ พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางการอพยพสำคัญของสัตว์ทะเลหายากทั้งเต่าทะเล วาฬ ฉลาม และปลากระเบน นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์สำคัญในการอนุรักษ์มหาสมุทร ที่จะช่วยสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน

การประชุม COP26 เป็นเวทีสำคัญในการประชุมและต่อรองเพื่อหาทางออก ทุกประเทศต้องเร่งแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนและรับผิดชอบโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบก้าวกระโดดให้ได้ และต้องตระหนักว่าการแก้ปัญหาวิกฤตทางทะเลก็นับเป็นการลงมือแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน

ยังต้องติดตามว่าจะมีแผนการอนุรักษ์มหาสมุทรที่ได้รับรองจากการประชุม COP26 ครั้งนี้หรือไม่ ทั้งนี้ ทุกประเทศต้องไม่ลืมว่าการที่มหาสมุทรจะช่วยปกป้องเราจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ต้องเป็นระบบนิเวศที่ยังสมดุล สมบูรณ์และได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น



ดร.เพชร มโนปวิตร
นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโครงการเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน, เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef รวมถึงเป็นนักเขียน นักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมและทางออกด้านการอนุรักษ์

เครดิตข้อมูลที่มา : https://thaipublica.org/2021/11/sustainability4all05/


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000111443

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 11-11-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


ชาวฮินดูลงแม่น้ำในอินเดีย แม้ "โฟมพิษ" ลอยฟ่อง ตัก-อาบประกอบพิธีกรรม



ชาวฮินดูลงแม่น้ำในอินเดีย ? วันที่ 10 พ.ย. ซีเอ็นเอ็น และ รอยเตอร์ รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในอินเดียว่า โฟมพิษที่ก่อตัวเป็นชั้นลอยเหยือผิวน้ำหลายส่วนของแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ใกล้กรุงนิวเดลี ขณะที่ชาวฮินดูรวมตัวกันริมแม่น้ำสายนี้เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลศาสนา และศาสนานิกชนบางคนลงไปอาบน้ำด้วย.

ฟองโฟมขาวที่ผสมกันระหว่างน้ำเสียและขยะอุตสาหกรรมก่อตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในหลายส่วนของแม่น้ำยมุนา (Yamuna River) ? สาขาของแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ? ซึ่งไหลไปทางใต้ราว 1,376 กิโลเมตร จากเทือกเขาหิมาลัย ผ่านหลายรัฐของประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า โฟมที่มีกลิ่นฉุนและลอยเหนือผิวน้ำประกอบด้วยแอมโมเนียและฟอสเฟตในปริมาณสูง ซึ่งสามารถส่งผลในปัญหาระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง. ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลฉัฐปูชา (Chhath Puja) ซึ่งเป็นเทศกาลที่อุทิศแด่สุริยเทพ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยชาวฮินดูบางคนลุยโฟมพิษเพื่ออาบน้ำและสวดมนต์ในแม่น้ำ.

กัณจัญ เทวี ศาสนิกชนผู้หนึ่ง บอกกับรอยเตอร์ว่า ไม่มีทางเลือกแต่จำเป็นต้องอาบน้ำปนเปื้อน "น้ำสกปรกสุดๆ แต่เราไม่ทางตัวเลือกมากนัก. การอาบน้ำในแม่น้ำเป็นพิธีกรรม เราจึงมาที่นี่เพื่ออาบน้ำ"

ส่วนเพรส ทรัสต์ ออฟ อินเดีย รายงานว่า รัฐบาลส่งเรือดำน้ำไปตักโฟมออก แต่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า อาจเกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ.

"แม่น้ำในเขตพื้นที่ของกรุงเดลีเป็นแม่น้ำที่เสื่อมโทรมในระบบนิเวศ. ไม่มีปลาหรือนกน้ำจืด เป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว" ภิม สิงห์ เรวัต จากเครือข่ายเอเชียใต้ว่ายด้วยเขื่อน แม่น้ำ และประชาชน (SANDRP) กล่าว


NEW DELHI, INDIA ? NOVEMBER 8: A view of the toxic foams floating on Yamuna Water at ITO, on November 8, 2021 in New Delhi, India. (Photo by Amal KS/Hindustan Times via Getty Images)


แม่น้ำปนเปื้อนของอินเดีย

เป็นเวลาหลายทศวรรษ หลายพื้นที่ของแม่น้ำยมุนาได้รับผลกระทบจากการทิ้งสารเคมีที่เป็นพิษและน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด. ในหลายพื้นที่ แม่น้ำดำและเป็นโคลน ขณะที่ขยะพลาสติกเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำ.

คณะกรรมการติดตามของรัฐบาลระบุว่า แม่น้ำแห้งนี้มีมลพิษมากที่สุดในพื้นที่โดยรอบกรุงนิวเดลี เนื่องจากประชากรหนาแน่นในเมืองและมีขยะในปริมาณสูง. แม่น้ำเพียง 2% ของความยาวไหลผ่านเมืองหลวง แต่เมืองหลวงมีส่วนปริมาณมลพิษราว 76% ของทั้งหมดในแม่น้ำ.

เรวัต จาก SANDRP กล่าวว่า แม่น้ำที่มีมลพิษส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยอยู่ในหลายเมืองที่อยู่ปลายน้ำ "ชาวบ้านหลายพันคนใช้น้ำชลประทานจากแม่น้ำ. พวกเขาเอาถังลงแม่น้ำเพื่ออาบน้ำและดื่ม"

ในปี 2560 โฟมคล้ายกันลอยเหนือผิวทะเลสาบ Varthur ในเมืองทางใต้ของบังกาลอร์ จากนั้น ลมกระโชกแรงพัดสารเคมีที่เป็นฟองออกมาบนถนน และในปีเดียวกันนั้น ไฟไหม้ทะเลสาบในบังกาลอร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเกิดจากร่องรอยของน้ำมันในน้ำ.


https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_6725250

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:29


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger