#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส และยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้น ในระยะนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆบางส่วน กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 28 - 29 ม.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 30 ม.ค. ? 2 ก.พ. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมา ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง โดยภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 29 ม.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย และในช่วงวันที่ 30 ม.ค. ? 2 ก.พ. 65 ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
บทเรียนน้ำมันรั่วซ้ำๆ หายนะระบบนิเวศทางทะเล ต้องตระหนัก อย่าหละหลวม เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งล่าสุด กลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง หวังว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศทางทะเล โดยในช่วง 45 ปี เกิดเหตุน้ำมันรั่วในทะเลไทย มากกว่า 235 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม และท่าเทียบเรือจำนวนมาก มีปริมาณการสัญจรทางน้ำหนาแน่น โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมัน ทำให้มีความเสี่ยงการเกิดน้ำมันรั่วไหล ลงสู่ทะเล สูงกว่าจังหวัดชายทะเลอื่น สถานการณ์ล่าสุด แม้ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลไม่ใช่ 2-4 แสนลิตร แต่รั่วไหลประมาณ 2 หมื่นลิตร มีลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ ลอยบนผิวน้ำ แต่จะประมาทไม่ได้ขึ้นอยู่กับทิศทางลมและกระแสน้ำ จะต้องสกัดไม่ให้คราบน้ำมันพัดเข้าฝั่ง จากการใช้เครื่องบินโปรยสารให้น้ำมันสลายตัวจมลงใต้ทะเล และขณะนี้สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด ยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน ขณะที่ความกังวลน้ำมันที่จมลงใต้ทะเล จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหรือไม่ จะต้องติดตามในระยะยาว ไม่ให้ซ้ำรอยเหตุน้ำมันรั่วจำนวนมหาศาล เมื่อปี 2556 ซึ่งครั้งนั้นเป็นน้ำมันหนัก ควบคุมได้ยากกว่าน้ำมันเบา จากคราบน้ำมันทะลักเข้าชายฝั่งอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ทำให้ทะเลเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว สร้างหายนะต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และการท่องเที่ยว ต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เหตุน้ำมันรั่ว เกิดขึ้นซ้ำๆ กลางทะเลไทย ไม่เคยถอดเป็นบทเรียนในการแก้ไขอย่างจัง และครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นครั้งสุดท้าย "ดร.วิจารย์ สิมาฉายา" ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เห็นว่า ต้องมีการทบทวนในเรื่องการขนถ่ายน้ำมัน และควรซ่อมแซมดูแลระบบท่อน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งขณะนี้เทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก ต้องนำมาใช้ดูแลระบบ มีเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อม เพื่อแก้ไขปัญหาและสกัดกั้นน้ำมันที่ลอยในทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ สิ่งที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า เมื่อไม่เกิดเหตุก็ไม่มีการพูดถึง จนเกิดการหละหลวม จะต้องทำให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญ และเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้เป็นน้ำมันเบา กำจัดและสลายได้เร็วกว่าน้ำมันหนัก ถือว่าโชคดีไป ไม่ซ้ำรอยเหตุน้ำมันรั่วพัดไปชายฝั่งเกาะเสม็ด เมื่อปี 2556 ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก หวังว่าเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสุดท้าย และต่อไปการใช้น้ำมันจะน้อยลง ตามข้อตกลงที่ประชุม COP26 ให้ลดการใช้น้ำมัน มาเป็นพลังงานทางเลือก "น้ำมันรั่วครั้งนี้ คิดว่าไม่น่าพัดถึงฝั่ง และเรื่องผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลจะต้องมีการศึกษา ซึ่งครั้งนี้อาจกระทบบ้าง ไม่เหมือนน้ำมันหนักรั่วไหล แต่ต้องติดตามระวังให้ดี ต้องป้องกันไว้ก่อน ไม่ให้เกิดความหละหลวม ไม่ใช่ปล่อยๆ ให้ผ่านไป 20 ปี แล้วค่อยมาแก้ไข คิดว่าบริษัทพร้อมจะจ่ายค่าชดเชย เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าไม่มีใครอยากให้เกิด" สาเหตุที่ทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เกิดน้ำมันรั่วบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนส่งทางทะเล และมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แม้การรั่วไหลของน้ำมันไม่มาก เช่นเดียวกับพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามันแถบภูเก็ต แต่เมื่อถูกคลื่นลมพัดขึ้นฝั่ง จะกลายเป็นก้อนน้ำมันสีดำ โดยเฉพาะช่วงฤดูพายุ และกว่าจะสลายต้องใช้เวลานานหลายเดือน เหมือนกับไมโครพลาสติก ซึ่งปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเข้าไป จะเกิดการปนเปื้อนของสารพิษ จากการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเล เป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก สำหรับสถานการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ น่าจะดีขึ้น แต่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ในการศึกษาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศทางทะเล พร้อมกับถอดบทเรียนนำมาแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วมาล้อมคอกอย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า. https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2298994 ********************************************************************************************************************************************************* เก็บตัวอย่างน้ำทะเลสีเขียว ส่งพิสูจน์ เชื่อเป็น "แพลงก์ตอนบลูม" จนท.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง "น้ำทะเลสีเขียว" จากชายหาดบ้านกรูดไปตรวจวิเคราะห์ หลังตรวจเบื้องต้นไม่พบคราบน้ำมันอย่างที่กลัวกัน ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะทะลุ ยังพานักท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง ชี้ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือแพลงก์ตอนบลูม เกิดทุกปีในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. วันที่ 27 มกราคม 2565 ที่ชายหาดบ้านกรูด อ.บางสะพาน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายอิศรา กาญจนรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกรูด ได้ลงสำรวจบริเวณชายหาดอีกครั้ง หลังจากเมื่อช่วงเย็นวานนี้ได้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวคล้ำ ลักษณะคล้ายปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือแพลงก์ตอนบลูม ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี นายอิศรา เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อช่วงค่ำวานนี้ พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงพื้นที่บริเวณชายหาดบ้านกรูด และมีการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า บริเวณชายหาดไม่พบว่ามีคราบน้ำมันแต่อย่างใด หลังจากมีเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันดีเซลอับปางบริเวณกลางทะเล ห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ 24 ไมล์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 โดยช่วงเช้านี้ได้ลงสำรวจบริเวณชายหาดบ้านกรูดอีกครั้ง พบว่าน้ำทะเลยังคงมีสีเขียว แต่ไม่คล้ำเท่ากับเมื่อช่วงเย็นวานนี้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ในช่วงนี้เทศบาลบ้านกรูดยังคงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวงดการลงเล่นน้ำทะเล หรือประกอบกิจกรรมทางน้ำบริเวณชายหาดบ้านกรูดตลอดแนวเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์อีกประมาณ 1-2 วัน ต่อมาเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ลงพื้นที่ชายหาดบ้านกรูด เก็บตัวอย่างน้ำทะเลไปวิเคราะห์ เพื่อสร้างความมั่นใจ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจากการลงเล่นน้ำของผู้ที่มาพักผ่อนที่ชายหาดบ้านกรูด ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มติมว่า เพจ GSTIDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) ได้มีการเผยภาพจากดาวเทียม Sentinel-1 โดยพบคราบน้ำมันยังคงอยู่บริเวณเขตจังหวัดชุมพร โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 18.36 น. พบคราบน้ำมันลอยบริเวณชายฝั่งจังหวัดชุมพร ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มน้ำมันจากตำแหน่งที่เรืออับปาง (ดาวสีแดง) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 ไหลย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ (กรอบสีเหลือง) ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร โดย GISTDA ได้คาดการณ์การเคลื่อนตัวและทิศทางของคราบน้ำมันไปจนถึงวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 ด้วยระบบ Geo-Spatial for Maritime System หรือ GMaS พบว่า คราบน้ำมันมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ (เส้นสีน้ำเงิน) ทั้งนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ทาง GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้วางแผนติดตามตรวจสอบในพื้นที่ต่อไป ด้านนายประจักษ์ ทองรัตน์ เจ้าของธุรกิจเรือนำเที่ยว-ดำน้ำ เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเที่ยวที่ดำเนินการอยู่ ในวันนี้ยังคงเปิดบริการเรือนำเที่ยวพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำดูปะการังบริเวณเกาะทะลุตามปกติ ปรากฏการณ์ที่น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวเข้มขึ้นนั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกกันว่า ?แพลงก์ตอนบลูม หรือปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ? ซึ่งเกิดขึ้นเสมอในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี สำหรับทะเลในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย ซึ่งถือเป็นเขตรอยต่อติดกับจังหวัดชุมพร ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีคราบน้ำมันลอยมาจากเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่อับปางที่ จ.ชุมพรแต่อย่างใด โดยทางผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวในพื้นที่ได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มีการช่วยกันสอดส่องดูแลหากพบความผิดปกติ หากพบคราบน้ำมันลอยมาในปริมาณมากๆ ทางผู้ประกอบการก็จะมีการประสานแจ้งเจ้าหน้าที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยทันที. https://www.thairath.co.th/news/local/central/2298737
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
จนท.ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบนิเวศหญ้าทะเล-ปะการัง ชายฝั่งระยอง หลังน้ำมันดิบรั่ว พบยังปกติ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกร่วมกับ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบนิเวศหญ้าทะเลและปะการัง และชายฝั่งจังหวัดระยอง หลังจากได้รับแจ้งข่าวน้ำมันดิบรั่วไหล จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ผลการตรวจสอบพื้นที่แนวปะการัง 5 สถานี โดยวิธี Line intercept transect บริเวณอ่าวพร้าว และวิธี Spot check บริเวณเขาแหลมหญ้า อ่าวปลาต้ม อ่าวกิ่วใน และอ่าวลุงดำ ในเบื้องต้นพบว่าแนวปะการังมีสภาพปกติ ยังไม่พบคราบน้ำมันและตะกอนน้ำมันบนผิวโคโลนีปะการังและในมวลน้ำทะเล นอกจากนั้น ทำการตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเล 2 สถานี ได้แก่ เขาแหลมหญ้า และอ่าวบ้านเพ เบื้องต้นพบว่าแหล่งหญ้าทะเลเป็นปกติ ยังไม่พบคราบน้ำมันผิวน้ำทะเล และบนผิวใบหญ้าทะเล ทั้งนี้ ยังทำการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศปะการัง จำนวน 3 สถานี ได้แก่ อ่าวพร้าว อ่าวกิ่วใน และอ่าวลุงดำ และตรวจสอบชายหาดตั้งแต่หาดแสงจันทร์ถึงหาดแม่รำพึง รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร พบว่าน้ำทะเลมีสภาพเป็นปกติ ไม่มีกลิ่น ไม่พบคราบฟิล์มน้ำมันบนผิวน้ำและชายหาด และไม่พบสัตว์น้ำตาย โดยคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติ (มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 2 และ 4 เพื่อการอนุรักษ์ปะการังและการนันทนาการ) https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_3154563
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
คาด 7 วันกู้คราบน้ำมันจบ งดเล่นน้ำทะเล แจ้งเอาผิดเอกชน กรมควบคุมมลพิษ อนุมัติใช้สารกำจัดคราบน้ำมันรั่วทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง เร่งสลายคราบก่อนถึงชายหาดท่องเที่ยว คาด 7-10 วันดำเนินการเสร็จ แจ้งเอาผิดเอกชนก่อมลพิษทางทะเล ประเมินเสียหายทางแพ่ง พร้อมงดเล่นน้ำทะเลและงดเรือเล็กออกจากฝั่ง วันนี้ (27 ม.ค.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ความคืบหน้ากรณีอุบัติเหตุน้ำมันดิบของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง รั่วกลางทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง ว่า จากการประชุมของคณะทำงานเมื่อเช้านี้ มีมติร่วมกันว่าจะยังใช้สารเคมีชื่อ dispersant มาใช้ในการกำจัดคราบน้ำมันบนผิวทะเลร่วมกับการใช้จุลินทรีย์เข้าไปฉีดพ่นทางเรือ เพื่อให้คราบน้ำมันย่อยสลายเร็วขึ้น เบื้องต้นถือว่าควบคุมได้ระดับหนึ่ง "ครั้งแรกมีการขออนุญาตใช้สาร dispersant จำนวน 40,000 ลิตร วันนี้มีการขอใช้เพิ่มเติม แต่ให้อยู่ในการควบคุมของคพ.โดยจะใช้เครื่องบินในการบินโปรยสาร เพราะตอนนี้คราบน้ำมันยังเหลืออีก 18 กม.ที่จะเข้าชายฝั่ง ต้องควบคุมให้ได้" คพ-ทช.แจ้งความเอาผิดก่อมลพิษทางทะเล อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่า เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทแล้ว และทางคพ.และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ส่งเจ้าหน้าที่แจ้งดำเนินคดีข้อหาทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ประเมินตัวเลขค่าเสียหายทางแพ่งต่อทรัพยากร เพราะยังอยู่ระหว่างการเก็บกู้คราบน้ำมัน นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ยังอยู่ในขั้นตอนประเมินตัวเลขค่าเสียหายทางแพ่ง ต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับส่งทีมวิจัยของคพ.-ทช.ลงไปเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำชายหาด ทรัพยากรต่างๆที่อาจเสียหายจากน้ำมันรั่วครั้งนี้ รวมทั้งตรวจหาสารมลพิษจากน้ำมันดิบที่รั่วไหล ซึ่งอยู่ระหว่างการวิเคราะห์องค์ประกอบอย่างละเอียดว่าตรงตามที่แจ้งและมีสเปกที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบ ที่รั่วลงทะเลยังมีความคลาด เคลื่อน ไม่ตรงกันตั้งแต่วันแรก จนถึงตอนนี้บริษัทมีรายงานล่าสุดอ้างว่ามีน้ำมันรั่วแค่ 50,000 ลิตร ดังนั้นถ้าผลสอบสวนยังไม่ปรากฎก็ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ เพราะปริมาณน้ำมันที่รั่วจะมีผลต่อการจัดการคราบน้ำมัน "ตราบใดที่ผลการสอบสวนยังได้ข้อยุติยังไม่มีตัวเลขน้ำมันรั่วที่แน่ชัด แต่สภาพที่เห็นในทะเลต้องกำจัดให้ได้ ประสานกรมเจ้าท่า และตำรวจ เข้าสอบสวนและสรุปว่ารั่วเท่าไหร่ ต้องกำจัดให้เร็วที่สุด" งดเล่นน้ำทะเล-เรือเล็กงดออกฝั่ง นอกจากนี้นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับโมเดล OilMap ที่คาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ที่อาจจะเคลื่อนเข้าใกล้พื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว และมาบตาพุด ขณะนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ขอความร่วมมมือเล่นงดเล่นกิจกรรมทางทางทะเล และประมงชายฝั่ง ขอให้งดออกเรือไปก่อนในระยะนี้ รวมทั้งจัดทีมเครือข่ายอาสาสมัคร เฝ้าระวังคราบน้ำมันบางส่วนเกิดจากการย่อยสลายของสารเคมีที่บางส่วนอาจจะถูกพัดลอยไปยังชายหาดในพื้นที่อ.เมือง จ.ระยองทั้งหมด "สารจะย่อยสลายฟิล์มน้ำมันอาจใช้เวลาอีก 7-10 วัน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ต้องควบคุมให้อยู่กับที่ไม่ให้เคลื่อนตัว ถ้าจะมีการเคลื่อนตัวไปทิศทางไหนจะแจ้งให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ทันที จะไม่มีการปกปิดข้อมูล" https://news.thaipbs.or.th/content/312058
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|