เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 16-04-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2565

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่และมีอากาศร้อนจัดบางแห่งกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้ และมีลมใต้พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นไว้ด้วย สำหรับลมตะวันตกที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้

อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบน ลาวตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ (16 เม.ย. 65) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ในช่วงวันที่ 16-18 เมษายน 2565 โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มได้รับผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 16 - 19 เม.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 21 เม.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 16 - 19 เม.ย. 65 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 16-04-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ซากฟอสซิลอิกทิโอซอรัสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในเยอรมนี


(ภาพประกอบ Credit : Lene L Delsett)

อิกทิโอซอรัส (ichthyosaurus) แปลว่า "กิ้งก่าปลา" ในภาษากรีกโบราณ เป็นสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลขนาดใหญ่ในวงศ์อิกทิโอซอร์ (Ichthyosaur) อยู่ร่วมยุคไดโนเสาร์เมื่อ 251?65.5 ล้านปีก่อนและสูญพันธุ์ไปแล้ว ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของพวกมันถูกพบทั่วโลก มีชื่อเสียงว่ารูปร่างเหมือนปลาซึ่งคล้ายโลมาในปัจจุบัน

ล่าสุดมีทีมวิจัยนานาชาติได้อธิบายตัวอย่างของซากฟอสซิลอิกทิโอซอรัส 2 ตัวอย่างที่เป็นสมบัติในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติฌูว์ราในเยอรมนี ซากตัวอย่างแรกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ในขณะที่อีกซากตัวอย่างคือส่วนของหาง ซากตัวอย่างเหล่านี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ฟอสซิลของอิกทิโอซอรัส 2 ตัวอย่างนี้ได้มาจากพื้นที่โซล์นโฮเฟนทางตอนใต้ของเยอรมนี พื้นที่แห่งนี้มีชื่อเสียงด้านการค้นพบซากฟอสซิลจากยุคจูราสสิกตอนปลาย เช่น อาร์คีออปเทอริกซ์ (Archaeopteryx) จัดอยู่ในสกุลไดโนเสาร์สายพันธุ์เทอโรพอด โดยมีชีวิตอยู่เมื่อ 150 ปีที่แล้ว รวมถึงสัตว์อื่นๆอีกจำนวนมาก และฟอสซิลส่วนใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้มักถูกเก็บรักษาไว้ด้วยเนื้อเยื่ออ่อน นอกเหนือไปจากโครงกระดูกและฟัน ซึ่งหาได้ยากในหลักฐานซากฟอสซิล

การศึกษาฟอสซิลพบว่า อิกทิโอซอรัสตัวที่สมบูรณ์มีโครงกระดูกภายในและโครงร่างของเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆร่างกายที่เก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่อีกตัวอย่างเป็นครีบหางที่สมบูรณ์ ซึ่งเก็บรักษาไว้ด้วยกระดูกสันหลังส่วนหางและเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ การค้นพบนี้ยืนยันว่าอิกทิโอซอรัสในกลุ่มนี้มีหางรูปวงพระจันทร์เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของพวกมัน ที่น่าแปลกคืออิกทิโอซอรัสเป็นสัตว์ในทะเลเปิด แต่ที่โซล์นโฮเฟนในเวลานั้นค่อนข้างตื้น และมีเกาะมากมาย จึงสงสัยว่าอิกทิโอซอรัสเข้าไปได้อย่างไร จากการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆวิเคราะห์ นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าฟอสเฟตที่พบในเนื้อเยื่อของอิกทิโอซอรัสน่าจะมีส่วนช่วยในการถนอมรักษาซากของสัตว์ชนิดนี้ไว้.


https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2367840
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 16-04-2022
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


?โลกร้อน? ใกล้สุดทาง ?ไอพีซีซี? ชี้หายนะ
วันที่ 15 เมษายน 2565 - 07:29 น.
FacebookTwitterLINECopy Link


'โลกร้อน' ใกล้สุดทาง 'ไอพีซีซี' ชี้หายนะ



คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (IPCC: The Intergovernmental Panel on Climate Change) ขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เพิ่งเผยแพร่รายงานเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2021: ข้อมูลพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม" ในส่วนที่ 3 หลังจากมีการเปิดเผยรายงาน 2 ส่วนแรกไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2021 และเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ที่ผ่านมา

รายงานฉบับนี้มีความยาวรวม 10,000 หน้า นับเป็นการประเมินภาวะโลกร้อนที่ครอบคลุมมากที่สุดในโลกที่ไอพีซีซีทำมาเป็นครั้งที่ 6 แล้วนับตั้งแต่ปี 1990 และครั้งนี้นับเป็นการส่งสัญญาณอันตรายที่เป็นจริงเป็นจังมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ไอพีซีซี เป็นองค์กรที่มีนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนจากทั่วโลกร่วมกันประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และเป็นการส่งคำเตือนให้มนุษยชาติหลีกเลี่ยงหายนะที่จะเกิดขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในอนาคต

รายงานใน "ส่วนแรก" ไอพีซีซีออกมาเตือนว่า เวลานี้โลกมี "สัญญาณอันตราย" ที่โลกจะร้อนเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ก่อนที่ "ส่วนที่ 2" จะชี้ให้เห็นว่า โลกที่ร้อนขึ้นอาจส่งผลให้อารยธรรมมนุษย์ล่มสลายแบบไม่อาจหวนคืนกลับ และรายงาน "ส่วนที่ 3" นี้ ที่มีจำนวน 2,800 หน้า เป็นการบอกวิธีการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้โลกใบนี้ "สามารถอยู่อาศัยได้" ในอนาคต และเน้นย้ำว่าต้อง "เริ่มทำทันที" เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ

รายงานฉบับนี้ของยูเอ็นยังเป็นรายงานอีกฉบับที่ตบหน้าบรรดาผู้นำประเทศและผู้นำธุรกิจ ที่เคยให้คำมั่นไว้อย่างตรงไปตรงมาด้วยเช่นกัน

"ผู้นำรัฐบาลและผู้นำธุรกิจบางคนกำลังพูดอย่างทำอย่าง พูดง่ายๆ พวกเขากำลังโกหก และผลจากการกระทำนั้นคือหายนะใหญ่" อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ระบุ

ปัจจุบัน พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่ายุคมิดเซนจูรี (mid-century) หรือยุคก่อนอุตสาหกรรม มาแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส และโลกก็ตั้งเป้าที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่สูงเกินกว่า 2 องศา หรือหากเป็นไปได้ไม่เกิน 1.5 องศา ภายใต้ข้อตกลงปารีสในปี 2015 ที่ผ่านมา และแน่นอนว่า รายงาน "ส่วนที่ 3" ของไอพีซีซี ก็ได้ประเมินสถานะของโลกใบนี้ในปัจจุบันที่เป็นสัญญาณเตือนเอาไว้ และก็บอกวิธีที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ไอพีซีซีระบุว่า เวลานี้หากโลกไม่สามารถจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าที่แต่ละประเทศประกาศเอาไว้ภายในปี 2030 นั่นหมายความว่า เป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศา เหนือยุคมิดเซนจูรีนั้น จะไม่สามารถเป็นไปได้แล้ว

นโยบายตัดลดการปล่อยคาร์บอนได ออกไซด์ของแต่ละประเทศในปัจจุบันจะสามารถลดการปล่อยก๊าซได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นภายในปี 2050 และโลกจะร้อนขึ้นถึงระดับ 3.2 องศา เหนือยุคมิดเซนจูรี ในปี 2100

แม้แต่เป้าหมายไม่เกิน 2 องศาเองยังคงมีความยากลำบาก เนื่องจากโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปีลงถึง 1,500 ล้านตันทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2030 ถึง 2050 หรือเท่าๆ กับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงในปี 2020 ปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์ และส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงัน แบบนั้นทุกๆ ปี

ไอพีซีซีแนะแนวทางในการไปสู่เป้าหมายเอาไว้ด้วย ก็คือการหาพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลมาใช้ โดยไอพีซีซีระบุว่า หากโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ไม่มีการดักจับก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ การควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศา จะเป็นไปไม่ได้เลย

นอกจากนี้ยังระบุว่า หากจะจำกัดไม่ให้โลกอุณหภูมิสูงกว่าช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เกิน 2 องศาแล้วล่ะก็ โลกจะต้องไม่ใช้น้ำมันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซสำรอง 50 เปอร์เซ็นต์ และถ่านหินสำรอง 80 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วก็ตาม และระบุด้วยว่าการยุติการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลของรัฐบาลทั่วโลกจะสามารถลดการปล่อยก๊าซได้มากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030

ไอพีซีซีระบุอีกแนวทางเอาไว้ด้วย นั่นก็คือการ "เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด" โดยระบุว่า โลกจะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น "ศูนย์" หรือ "เน็ตซีโร่" ให้ได้ภายในปี 2050 โดยจะต้องหันไปใช้ พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไร้มลพิษอื่นๆ เพื่อให้เป้าหมายตามข้อตกลงปารีสยังมีความหวัง

แม้ปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น พลังงานลมที่เพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น 170 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2015-2019 แต่พลังงานทั้งสองส่วนก็คิดเป็นเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2019 เท่านั้น ขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตจากเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรืออยู่ในระดับต่ำอย่างเช่น พลังงานน้ำ หรือนิวเคลียร์นั้น ผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนราว 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานฟอสซิลที่สร้างก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

ไอพีซีซีระบุด้วยว่า มีวิธีลดความต้องการพลังงานลงจากฝั่งผู้บริโภคได้ด้วย เช่น การกินอาหารจากพืชเป็นหลัก การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การคมนาคมโดยไม่ใช้รถยนต์ การสื่อสารทางไกล การสร้างอาคารที่ทนต่อสภาพอากาศ ลดเที่ยวบินระยะไกล รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 40-70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงวิธีการแบบกำปั้นทุบดินแต่เป็นไปได้จริง ก็คือการดูดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า หรือการใช้เครื่องมือทางเคมีในการแยกคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย "เน็ตซีโร่" และ "ลดอุณหภูมิโลก" ลงได้

แน่นอนว่าการจะไปถึงเป้าหมายด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ ย่อมต้องใช้งบประมาณสูง โดยไอพีซีซีระบุว่า การจะหยุดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา ตามเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 76 ล้านล้านบาทต่อปี ระหว่างปี 2023-2052 แต่หากเป้าหมายอยู่ที่ 2 องศา งบประมาณจะลดลงมาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56.9 ล้านล้านบาทต่อปี

เทียบกับงบประมาณที่โลกลงทุนกับพลังงานสะอาดในปี 2021 ที่ผ่านมา ที่ 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังคงห่างเป้าหมายอีกไกลมากๆ เลยทีเดียว

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมที่ไอพีซีซีบอกให้โลกได้รู้ เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนว่าหายนะดังกล่าว ไอพีซีซีเคยเตือนมาแล้วในรายงาน 2 ส่วนก่อนหน้านี้ เช่น น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลายจนหมดสิ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในฤดูร้อน อัตราน้ำช่วยชายฝั่งเพิ่มขึ้น 2 เท่า คลื่นความร้อนจัดที่ปกติเกิดขึ้นทุก 50 ปี จะเกิดขึ้นทุก 10 ปี พายุหมุนเขตร้อนจะรุนแรงมากขึ้น ฝนและหิมะตกมากขึ้นในช่วง 1 ภาวะแห้งแล้งจะเกิดบ่อยขึ้นกว่าเดิม 1.7 เท่า และฤดูกาลไฟป่าจะยาวนานและรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

แน่นอนว่าแนวทางเหล่านี้ที่ไอพีซีซีให้คำแนะนำ นอกจากจะไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ประเทศทั่วโลกด้วย

เวลานี้คงได้แต่หวังว่า รายงานฉบับนี้จะสามารถกระตุ้นเตือนให้โลกหันมาร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

เพื่อให้โลกยังสามารถ "อยู่อาศัยได้" สำหรับลูกหลานในอนาคต


https://www.matichon.co.th/article/news_3289925

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:51


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger