#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 25 - 28 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่งใน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตราย ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ธารน้ำแข็งกำลังบอกเราว่าโลกร้อนแค่ไหน แม้แต่หิมาลัยยังละลายเร็ว เนปาลต้องย้ายที่ตั้ง 'เอเวอเรสต์เบสแคมป์' - ภาวะโลกร้อนออกฤทธิ์หนักขึ้นๆ เห็นได้จากข่าวธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา มีข่าวผลการศึกษาที่พบว่า ธารน้ำแข็งที่อยู่สูงที่สุด-ใกล้ยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สุดละลายเร็วจนความหนาของน้ำแข็งลดลงไปถึง 54 เมตร ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา - และล่าสุดมีข่าวว่า ประเทศเนปาลกำลังเตรียมย้ายที่ตั้งเอเวอเรสต์เบสแคมป์ (EBC) เหตุเพราะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลายเร็ว จนผู้เกี่ยวข้องหวั่นว่าจะเป็นอันตรายต่อนักปีนเขา และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยวและปีนเขา - กรมการท่องเที่ยวของเนปาลเปิดเผยว่า ที่ตั้งแคมป์แห่งใหม่อาจจะอยู่ต่ำลงไปจากที่ตั้งเดิมประมาณ 200-400 เมตร การย้ายแคมป์จะส่งผลให้ระยะทางที่นักปีนเขาต้องเดินทางในการพิชิตจุดสูงสุดของโลกไกลขึ้น ภาวะโลกร้อนแสดงฤทธิ์เดชให้เราเห็นหนักขึ้นๆ เห็นได้จากข่าวธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลก รายงานการประเมินสภาพอากาศ ฉบับที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2021 เปิดเผยข้อมูลว่า ทศวรรษที่ผ่านมา (2010-2019) ถือเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี เป็นผลมาจากการบริโภคและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ทำให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และพื้นผิวดินมีอุณหภูมิสูงขึ้น ในช่วง ค.ศ. 2010-2019 ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายไปมากกว่า 1,200,000 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากช่วง 10 ปีก่อนหน้า (ค.ศ. 1990-1999) ที่มีอัตราการละลาย 760,000 ล้านตันต่อปี ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา BBC รายงานข่าวผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเมน (University of Maine) ที่พบว่า ธารน้ำแข็งเซาท์โคล (South Col Glacier) ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งที่อยู่สูงที่สุด-ใกล้ยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สุด ละลายเร็วจนความหนาของน้ำแข็งลดลงไปถึง 54 เมตร ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หัวหน้าคณะนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การที่น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วอาจมีนัยสำคัญหลายอย่างในระดับภูมิภาคถึงระดับโลก ล่าสุดมีข่าวว่า ประเทศเนปาลกำลังเตรียมย้ายที่ตั้งเอเวอเรสต์เบสแคมป์ เหตุเพราะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลายเร็ว จนผู้เกี่ยวข้องหวั่นว่าจะเป็นอันตรายต่อนักปีนเขา และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยวและปีนเขา เอเวอเรสต์เบสแคมป์ หรือชื่อที่คุ้นหูกันในหมู่นักปีนเขาว่า EBC (Everest base camp) มีสองแคมป์ ซึ่งแคมป์ที่เราพูดถึงนี้เป็นแคมป์ทางทิศใต้ที่ตั้งอยู่บริเวณธารน้ำแข็งคุมบู (Khumbu Glacier) ที่ระดับความสูง 5,364 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนเทือกเขาหิมาลัย ในเขตประเทศเนปาล เอเวอเรสต์เบสแคมป์ทางทิศใต้นี้เป็นจุดพักเตรียมตัวของนักปีนเขาก่อนออกสตาร์ตปีนป่ายขึ้นไปพิชิตจุดสูงสุดของโลก ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าเอเวอเรสต์เบสแคมป์ทางทิศเหนือที่อยู่ในเขตประเทศจีน แต่ละปีเอเวอเรสต์เบสแคมป์ (ทิศใต้) รองรับนักปีนเขาที่จะขึ้นไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ปีละ 1,500 คน แคมป์บนเทือกเขาสูงแห่งนี้กำลังเผชิญปัญหากับภาวะโลกร้อนเช่นกันกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ธารน้ำแข็งคุมบูบริเวณที่ตั้งแคมป์และใกล้เคียงกำลังละลายและบางลงอย่างรวดเร็ว และพบรอยแตกของธารน้ำแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวของประเทศเนปาลจึงวางแผนย้ายที่ตั้งแคมป์ไปที่อื่น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากปัจจัยหลักของการละลายที่มาจากภาวะโลกร้อนแล้ว ปัสสาวะ-ของเสียที่นักท่องเที่ยวขับถ่ายออกมาถึงวันละ 4,000 ลิตร และความร้อนจากเชื้อเพลิงการทำอาหารของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ก็เป็นหนึ่งในตัวเร่งที่ทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นด้วย การศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยลีดส์ (Leeds University) เมื่อ ค.ศ. 2018 พบว่า ธารน้ำแข็งคุมบูซึ่งเป็นที่ตั้งของเอเวอเวรสต์เบสแคมป์ ธารน้ำแข็งในบริเวณนี้ละลายและบางลงปีละ 1 เมตร อัตราการละลายดังกล่าวส่งผลให้ธารน้ำแข็งไม่เสถียร มีรอยแตกร้าวปรากฏขึ้นเรื่อยๆ และธารน้ำแข็งละลายสูญเสียปริมาตรน้ำไปถึง 9.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลักษณะของธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยเศษหินและน้ำแข็งทับถมกัน เมื่อพื้นผิวที่เป็นน้ำแข็งละลายลง หินและน้ำแข็งที่อยู่ด้านบนจะตกลงลงมาในน้ำ แล้วละลายในที่สุด นอกจากนักปีนเขาและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลแคมป์จะสังเกตเห็นว่าลำธารมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว หลายครั้งพวกเขาก็ได้ยินเสียงแตกหักจากการละลายของน้ำแข็ง เสียงการตกลงของหิน และเสียงการเคลื่อนตัวของน้ำแข็ง นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเตรียมแผนย้ายที่ตั้งแคมป์ เพราะไม่รู้ว่าวันไหนที่มวลน้ำและมวลน้ำแข็งปริมาณมากมายมหาศาลจะถล่มลงมา ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคนในแคมป์ และจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เกิดเหตุการณ์การถล่มของธารน้ำแข็งนันฑาเทวี (Nanda Devi Glacier) ที่ตั้งอยู่ในอีกด้านหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ในรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ประเทศอินเดีย มวลน้ำคร่าชีวิตผู้คนที่อาศัยในบริเวณนั้นไปกว่า 50 ศพ สูญหายอีกนับร้อย นี่คือตัวอย่างความสูญเสียที่อาจจะเกิดที่เอเวอเรสต์เบสแคมป์หากไม่รีบป้องกัน ทารนาถ อธิการี (Taranath Adhikari) อธิบดีกรมการท่องเที่ยวของเนปาล เปิดเผยว่า กรมและผู้เกี่ยวข้องกำลังวางแผนที่จะย้ายเอเวอเรสต์เบสแคมป์ออกจากจุดเสี่ยงนี้ไปยังบริเวณที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งคาดว่าอาจจะอยู่ต่ำลงไปจากที่ตั้งเดิมประมาณ 200-400 เมตร การย้ายแคมป์จะส่งผลให้ระยะทางที่นักปีนเขาต้องเดินทางในการพิชิตจุดสูงสุดของโลกไกลขึ้น แต่ก็คุ้มที่จะแลกเพื่อความปลอดภัย แม้ว่า เชอริง เชอร์ปา (Tshering Sherpa) ผู้จัดการเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการควบคุมมลภาวะซาการ์มาธา (Sagarmatha Pollution Control Committee: SPCC) บอกว่า แคมป์ปัจจุบันนี้ ยังสามารถให้บริการต่อไปได้อีก 3-4 ปี แต่ทางการเนปาลบอกว่าจะย้ายภายในปี 2024 หรือภายใน 2 ปีนี้ ทารนาถ อธิการี อธิบดีกรมการท่องเที่ยวเนปาล บอกกับ BBC ว่า ขณะนี้กำลังเตรียมการย้ายที่ตั้งเบสแคมป์ ซึ่งได้ประเมินด้านเทคนิคและสิ่งแวดล้อมของเบสแคมป์แล้ว แต่ก่อนที่จะย้ายจะต้องหารือกับชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อพิจารณาในด้านอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมของชุมชน โดยจะเริ่มปรึกษาหารือในเร็วๆ นี้ https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/101707
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|