#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 14 กันยายน 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศลาวตอนบน และเวียดนามตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.ย. 65 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ตลอดช่วง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 65 ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ทำไมฝนตกแป๊บเดียวก็ท่วมแล้ว?เม็ดฝนเดี๋ยวนี้มันใหญ่จัง? "ดร.ธรณ์" ชี้โลกร้อนเป็นเหตุ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เล่าให้เพื่อนธรณ์ เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องโลกร้อนล่าสุด ว่า วัฏจักรของน้ำคือระเหยจากทะเล ไอน้ำอยู่ในอากาศ เมฆลอยเข้าแผ่นดิน กลายเป็นฝนตกลงมา วัฏจักรนี้ไม่เปลี่ยน แต่ที่เปลี่ยนคือรายละเอียดที่เกิดจากโลกร้อน เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำระเหยได้มากขึ้น ไอน้ำขึ้นไปในอากาศมากขึ้น อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากกว่า หากอุณหภูมิในอากาศเพิ่มขึ้น 1 องศา อากาศจะจุความชื้นได้เพิ่ม 7% อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.1-1.2 องศา แต่นั่นคือค่าเฉลี่ย อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นมากกว่าในบางพื้นที่ เมฆยุคนี้ในบางพื้นที่จึงมีน้ำจุอยู่เยอะมาก ตกลงมาเป็นฝนที่หนักมากในช่วงเวลาสั้นๆ เม็ดฝนใหญ่ๆ ที่เห็นในภาพ ผมเพิ่งถ่ายมาเมื่อบ่ายนี้เอง ไม่ใช่หมายความว่าแต่ก่อนไม่เคยมีฝนแบบนี้ แต่หมายความว่าฝนแบบนี้จะมีบ่อยขึ้น ข้อมูลจากกรุงเทพฯ ระบุว่าปีที่แล้วมีฝนตกหนักเกิน 100 มม. แค่ 4 วัน ปีนี้ยังไม่จบไตรมาส 3 เกินไปแล้ว 10 วัน คราวนี้มาดูสิว่า เราจะเจอฝนแบบนี้มากขึ้นอีกไหม ? ผมนำภาพโมเดลมาให้เพื่อนธรณ์ดู นั่นคือเปอร์เซนต์ฝนตกหนักที่มีเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศา แต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางแห่งฝนตกน้อยลงด้วยซ้ำ กลายเป็นแห้งแล้งกว่าเดิม ลองดูจุดสีแดง ประเทศไทย จะเห็นว่าเราอยู่ในเขตที่ฝนจะตกหนักเพิ่ม 8-12% โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราจะเจอฝนโลกร้อน น้ำเทโครมจากฟ้า เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ 8-12% ต่อทุกองศา และเชื่อว่าโลกร้อนกำลังอยู่ในอัตราเร่ง แม้อาจไม่สามารถวัดกันปีต่อปี แต่เมื่อดูความเสี่ยง ดูเทรนด์ มันจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นแน่ๆ ถี่ขึ้นและถี่ขึ้น ความเดือดร้อนจากฝนตกหนักคงไม่ต้องอธิบาย เราเห็นกันอยู่แล้ว แทบทุกวัน หลายสถานที่ เมื่อเราทราบว่ามันไม่ลด มีแต่เพิ่ม เราก็ต้องพยายามหาทางเท่าที่ได้ เราต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก แต่มันไม่เห็นผลเร็วขนาดนั้น ว่าง่ายๆ คือหากโลกหยุดปล่อย GHG ทั้งหมดในวันนี้ ที่ปล่อยไปแล้วอยู่บนฟ้าก็ยังทำให้โลกร้อนขึ้นลากยาวไปอีก 25 ปี (GHG - Greenhouse Gas) เราจึงต้องปรับตัวให้พออยู่ได้ แน่นอนว่าการปรับตัวต้องทั้งช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐทำ ท้องถิ่นทำ แต่เราก็ต้องช่วยตัวเองเท่าที่ทำได้ ของบางอย่างไม่เคยทำก็อาจต้องทำ บางอย่างไม่เคยลงทุน ไม่เคยคิด ไม่เคยระวัง ก็คงจำเป็นต้องคิดถึงให้มากขึ้น มันเป็นยุคสมัยของการเอาตัวรอด ด้วยการหาข้อมูลให้เยอะ คิดให้รอบคอบ ที่จะช่วยเราได้ตั้งแต่การวางแผนกลับบ้านในวันนี้ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน หาโรงเรียนลูก ฯลฯ หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับเพื่อนธรณ์บ้างนะครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ครับ https://www.carbonbrief.org/explainer-what-climate.../ ก่อนหน้านี้ ดร.ธรณ์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2021 เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา ซึ่งอุณหภูมิฐานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.1-1.2 องศาเซลเซียสเหนือกว่าระดับในปี 1850 -1900 ก่อนช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยการที่โลกร้อนถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าสังเกตุไม่ได้อยู่ที่ว่าโลกร้อนมากแค่ไหน แต่อยู่ที่โลกร้อนเร็วแค่ไหน แต่สาเหตุนั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตโลกไม่ได้ร้อนขึ้นเร็วขนาดนี้ ช่วงของการที่ร้อนเร็วมันคือการเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเรียกว่า extreme weather หรือ สภาพอากาศสุดขั้ว ส่วนรูปแบบที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น Heat wave ความแห้งแล้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ฝนที่ตกหนักขึ้นเยอะมากในเวลาสั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้น้ำทะเลก็ร้อนขึ้น การระเหยของน้ำในทะเลก็มีมากขึ้น เมื่อไอน้ำลอยขึ้นในอากาศร้อนที่เก็บไอน้ำได้มากกว่าอากาศเย็น ฉะนั้นถ้าเทียบเมฆในยุค100 กว่าปีก่อนที่เก็บไอน้ำได้น้อยกว่าในยุคนี้ ดังนั้นเมื่อเมฆจุไอน้ำไว้มากขึ้น จึงทำให้เวลาตกจะมีปริมาณน้ำที่มาก ปัญหาที่ตามมา เมื่อฝนตกในพื้นที่เล็กๆในช่วงเวลาสั้นๆส่งผลให้มีปริมาณน้ำมหาศาล จึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่ายขึ้น อาจจะเห็นได้จากเหตุการณ์ ทั้งอเมริกา หรือ เกาหลีใต้ที่กรุงโซล ที่เกิดอุทกภัยหนักอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือประเทศไทยที่ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นร้อยกว่ามิลลิลิตรในเวลาเพียงสั้นๆ https://mgronline.com/greeninnovatio.../9650000088149
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม สั่งกรมป่าไม้ กับบริษัทถ่ายทำหนังเรื่อง "เดอะบีช" ร่วมกันฟื้นฟูชายหาดมาหยา จ.กระบี่ ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม สั่งกรมป่าไม้ กับบริษัทถ่ายทำหนังเรื่อง "เดอะบีช" ร่วมกันปรับปรุงฟื้นฟูหาดมาหยา บนเกาะพีพี จ.กระบี่ ส่วน ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ มอบเงิน 10 ล้าน ใช้อนุรักษ์ตามสัญญาประนีประนอม วันนี้ (13 ก.ย.) ศาลแพ่ง นัดฟังคำพิพากษาฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ โจทก์ที่ 1 องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ โจทก์ที่ 2 กับพวกรวม 19 ราย ร่วมกันยื่นฟ้อง รมว.เกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 1 กรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 อธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 3 บริษัท ซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม จำเลยที่ 4 บริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ จำเลยที่ 5 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง ความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรณีเมื่อปี 2541 ได้มีการอนุมัติให้บริษัทถ่าทำยภาพยนตร์ เรื่อง เดอะบีช เข้าไปตกแต่งเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาดอ่าวมาหยา บนเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีเล จ.กระบี่ เพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดิม โจทก์จึงขอให้มีคำพิพากษาให้คำสั่งจำเลยที่ 1-3 ที่อนุญาตจำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายภาพยนตร์เป็นโมฆะ ให้จำเลยร่วมกันวางเงินประกันค่าความเสียหาย หากจำเลยไม่วางเงินขอให้ศาลมีคำสั่งกระทำการใดๆ เพื่อตกแต่งอ่าวมาหยา ขอให้จำเลยที่ 1-3 เพิกถอนใบอนุญาตจำเลยที่ 4-5 เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ และขอให้จำเลยร่วมกันปรับปรุงแก้ไขสภาพชายหาดมาหยา กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ปรับปรุงแก้ไขหาดมาหยาให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยให้จำเลยที่ 2 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทําแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยา ประกอบด้วย โจทก์ที่ 1-2 ผู้เชี่ยวชาญที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งในคดีนี้ และผู้แทนจากภาคเอกชนตามที่จำเลยที่ 2 เห็นสมควรภายใน 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา เพื่อเสนอแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศนี้ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาต่อศาลเพื่อพิจารณาการปฏิบัติตามแผนของคณะทํางาน สำหรับจำเลยที่ 4-5 ให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 ก.พ. 2562 ซึ่งตามสัญญานั้น จำเลยที่ 5 ประสงค์และยินดีจะอำนวยการช่วยเหลืออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยมอบเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้โจทก์ที่ 1-2 นำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์ตามอำนาจหน้าที่ และโจทก์ที่ 1 จะรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกกำหนด 1 ปีต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปีหรือจนกว่าเงินจะหมด ส่วนจําเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้น ต่อมา โจทก์ที่ 1-2 ยื่นฎีกา โดยคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปว่า ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งนี้ จนกว่าหาดมาหยามีสภาพเดิมตามธรรมชาติตามที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานเพื่อทำแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาเห็นชอบร่วมกัน หรือตามที่ศาลเห็นสมควรในกรณีที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานดังกล่าวไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ การปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกา ให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกาภายใน 30 วัน มิฉะนั้น จะถูกบังคับตามคำพิพากษาตามขั้นตอนกฎหมาย https://mgronline.com/crime/detail/9650000087938
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|