#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่วนบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส และยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "นัลแก" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนในช่วงวันที่ 2-3 พ.ย. 65 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2 ? 4 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิจะลดลง 2 ? 4 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง ส่วนในช่วงวันที่ 5 ? 7 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 ? 4 องศาเซลเซียส และมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร ส่วนบริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "นัลแก" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในวันที่ 3 พ.ย. 65 และจะลดกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย และประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตก สะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควร เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ "นัลแก" ฉบับที่ 6 (307/2565) เมื่อเวลา 4.00 น. ของวันนี้ (2 พ.ย. 65) พายุโซนร้อนกำลังแรง "นัลแก" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 115.1 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนในช่วงวันที่ 2-3 พ.ย. 65 นี้ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 2 ? 5 พ.ย. 65 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ตื่นตาตื่นใจ! 'พะยูน' สัตว์ป่าสงวนดำผุดดำว่าย อวดโฉมนักท่องเที่ยว กลาง 'เกาะลิบง' สุดตื่นตา! 'พะยูน' สัตว์ป่าสงวนของไทย ดำผุดดำว่ายพลิกหงายท้อง อวดโฉมโชว์กลุ่มนักท่องเที่ยวในทะเล กลาง 'เกาะลิบง' กำนันเผยพบเห็นได้ไม่บ่อยนักบริเวณจุดดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่แหล่งหญ้าทะเล เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนัน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้บันทึกภาพและส่งต่อให้ผู้สื่อข่าว เปิดนาทีแห่งความประทับใจที่ พะยูน ตัวโต น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม ว่ายน้ำอวดโฉม ทั้งดำผุดดำว่าย พร้อมและโชว์ลีลาพลิกหงายท้องไปมาจำนวนหลายครั้ง ระยะเวลานานกว่า 15 นาที ก่อนจะดำน้ำหายไป บริเวณหอชมพะยูน (สะพานหลีกภัย) หมู่ 4 บ้านบ้านบาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง ซึ่งพะยูนตัวดังกล่าวอยู่ห่างจากจุดที่กลุ่มนักท่องเที่ยวยืนอยู่บนหอชมประมาณ 18 เมตร เท่านั้น สร้างความตื่นตาตื่นใจ และประทับใจให้กับน้ำท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ต่างนำกล้องโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพความน่ารักของพะยูนตัวดังกล่าวไว้ นายอับดุลรอหีม หรือกำนันหีม กล่าวว่า วันนี้ตนนำพานักท่องเที่ยวชายหญิง 5 คน จากพื้นที่ จ.ตรัง จ.สงขลา และ กรุงเทพฯ หลังจากเดินทางมาเที่ยวบนเกาะลิบง จึงได้นำพามาที่หอชมพะยูน ซึ่งเป็นความบังเอิญเป็นอย่างมาก พะยูนตัวดังกล่าว ได้โผล่ขึ้นมาและมาว่ายอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวชื่นชม โดยจุดดังกล่าวห่างจากฝั่งประมาณ 800 เมตร พะยูนมักจะไม่ค่อยมาเล่นน้ำเท่าใดนัก ส่วนใหญ่หากจะพบเห็นก็จะเป็นแถบเขาบาตูปูเต๊ะ ที่อยู่ถัดออกไปไม่ไกล เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเล ที่เป็นอาหารของพะยูน แต่ครั้งนี้พะยูนได้มาอยู่บริเวณไม่ไกลฝั่ง ซึ่งตนคาดว่าน่าจะมาเล่นน้ำ ไม่ได้มากินหญ้าทะเล เพราะจุดดังกล่าวหญ้าทะเลมีน้อย ไม่ชุกชุมเหมือนบริเวณเขาบาตูปูเต๊ะ และในระหว่างที่กำลังเดินกลับ นักท่องเที่ยวกลับได้พบเห็นเต่าทะเลด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นความโชคดีของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก ซึ่ง 'พะยูน' เป็นสัตว์ป่าสงวน ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย สำหรับ 'เกาะลิบง' นั้น เป็นแหล่งที่มีพะยูนฝูงสุดท้ายในประเทศไทย และมีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งยังมีแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด เมื่อเทียบกับพื้นที่หญ้าทะเลในจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย รวมทั้งยังเคยเป็นที่อยู่อาศัยของพะยูนน้อย 'มาเรียม' ก่อนหน้านี้อีกด้วย https://www.dailynews.co.th/news/1638864/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
น่าตกใจ! ประชากรสัตว์ป่า ลดฮวบ 70 % ในช่วง 50 ปี เหตุหลัก "การกระทำของมนุษย์" สิงโตหนุ่มกำลังมองไปยังเส้นขอบฟ้าของเมืองในอุทยานแห่งชาติไนโรบี สิงโตถูกระบุว่ามีความเสี่ยงในรายการแดงของ IUCN โดยอาจเหลือเพียง 23,000 ตัวในป่า เครดิตภาพ: Tony Karumba/AFP/Getty Images จากการที่มนุษย์เรากวาดล้างป่าไม้ บริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินจำเป็น และก่อมลพิษจากการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี ที่ผ่านมา ประชากรของสัตว์ป่านั้นลดลงมากถึง 70% นักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดกันว่า ตั้งแต่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ มนุษย์เราได้อาศัยผ่านการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่มาถึง 6 ครั้ง และการสูญพันธุ์แต่ละครั้งนั้น เป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ผู้เขียนรายงานปัญหาการลดลงของประชากรสัตว์ป่า 'Living Planet' จำนวน 89 คน ได้เรียกร้องและกระตุ้นให้ผู้นำโลกทำข้อตกลงภายในการประชุมสุดยอดความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ COP 15 ที่จะมีจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในเดือนธันวาคมนี้ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา และเพื่อเป็นการหยุดยั้งการเสื่อมโทรมและการทำลายธรรมชาติ รายงาน Living Planet ได้รวบรวมการวิเคราะห์ประชากรสัตว์จำนวน 32,000 ตัว จาก 5,230 สายพันธุ์จากทั่วโลก และสร้างกราฟดัชนีเพื่อทำการวัดหาการเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าทั่วทวีป การลดลงของประชากรสัตว์ป่าที่เลวร้ายที่สุดนั้น เกิดขึ้นในบริเวณ เขตลาตินอเมริกาและแคริเบียน รวมถึงอเมซอน แหล่งที่อยู่อาศัยเขตป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดของสัตว์ป่า โดยกราฟดัชนีประชากรของสัตว์ป่าในเขตบริเวณนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ประชากรเฉลี่ยของสัตว์ป่านั้นดิ่งลงเป็นอย่างมาก โดยอัตราการลดของประชากรนั้นมากถึง 94% ภายใน 48 ปี ส่วนทวีปแอฟริกานั้นมีการลดลงของประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 โดยอัตราการลดลงนั้นตกอยู่ที่ 66% ตามด้วย ทวีปเอเชียและเขตแปซิฟิก ที่ 55% และทวีปอเมริกาเหนือที่ 20% และอันดับสุดท้ายคือ ทวีปยุโรปและเขตเอเชียตอนกลาง ที่มีการลดลงของประชากรอยู่ที่ 18% ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการลดลงของประชากรสัตว์ป่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการลดลงของประชากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ หรือเรียกได้ว่า ยิ่งประชากรมนุษย์เราในพื้นที่น้อยลง อัตราการลดลงของประชากรสัตว์ป่านั้นก็จะต่ำลงเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงในการใช้พื้นที่ธรรมชาติของมนุษย์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก การใช้พื้นที่ของมนุษย์นั้นทำให้ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เริ่มกระจัดกระจายและสูญหาย อีกทั้งยังทำให้การเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นไปได้ยากขึ้นเนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางการเดินทาง ปัจจุบันเพียง 37% ของแม่น้ำที่มีความยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร นั้นยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางการ ในขณะที่พื้นที่บนบกที่มีระยะทางยาว 1,000 กิโลเมตร ที่ยังไม่โดนสิ่งก่อสร้างโดยมนุษย์กีดขวาง เหลือเพียงแค่ 10% ซึ่งในขณะนี้ IUCN หรือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กำลังพัฒนาการจัดมาตรฐานการวัดความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ โดยมาตรฐานการวัดนี้จะเป็นตัวช่วยนักวิจัยวางแผนวิธีการฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตนับล้านชนิดที่กำลังตกอยู่ในภัยคุกคามการสูญพันธุ์ ซึ่งจากการจัดมาตราฐานและศึกษา นักวิจัยได้พบว่า พิราบชมพู แรดสุมาตรา และ สัตว์ท้องถิ่นหายากของประเทศออสเตรเลียอย่าง burrowing bettong ถูกจัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูประชากร ตัวเลข 70% นั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้เป็นเพียงอัตราการลดของประชากรสัตว์ป่าโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1970 ไม่ใช่ตัวเลขของจำนวนสิ่งมีชีวิตและสายพันธุ์ที่ตายหรือสูญพันธุ์ไป ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เราได้รู้ว่าการลดลงของประชากรสัตว์ป่านั้นเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง หากเราทำแต่เพียงสงวนสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ในเขตอนุรักษ์โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตและบริโภคของเรา https://mgronline.com/greeninnovatio.../9650000104238
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ปะการังอัจฉริยะ!! Innovareef นวัตกรรมตรวจวัดภาวะโลกร้อน - ฟื้นนิเวศทะเล ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ สร้างนวัตปะการัง "Innovareef" ซีเมนต์คุณสมบัติเทียบปะการังตามธรรมชาติ ตัวอ่อนปะการังเกาะติดง่ายโตเร็ว ช่วยร่นเวลาการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการัง เสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งทำหน้าที่ Smart Station ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในทะเล แนวปะการังที่สวยงามในท้องทะเลไทยค่อยๆ หดหายลงไปเรื่อยๆ ด้วยสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ปราศจากการควบคุมและจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ จนวันนี้ แนวปะการังที่สวยงามและสมบูรณ์เหลืออยู่เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น! หากเราไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ แหล่งอาหารจากทะเล พื้นที่ดำน้ำศึกษาธรรมชาติ แหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวจะไม่เหลือให้รุ่นลูกหลาน ที่ผ่านมา มีความพยายามแก้ปัญหาแนวปะการังเสื่อมโทรมโดยการใช้ปะการังเทียมที่ทำมาจากยางรถยนต์ รถถัง ท่อพีวีซี แท่นปูนสี่เหลี่ยม แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดมลภาวะทางสายตา (visual pollution) เพราะความไม่กลมกลืนกับธรรมชาติใต้ท้องทะเล นอกจากนี้ บ่อยครั้งปะการังเทียมเหล่านี้ก็ถูกน้ำพัดพาหรือจมลงในทราย บ้างก็แตกตัวกลายเป็นขยะไมโครพลาสติกในทะเล "การอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดีนั้น วิธีการสำคัญพอๆ กับผลลัพธ์" รองศาสตราจารย์ สพ.ญ. ดร. นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยงานวิจัยโรคสัตว์น้ำ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสัตว์น้ำสวยงาม และสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ นวัตปะการัง (Innovareef) เพื่อตอบโจทย์การอนุรักษ์ปะการังและความงดงามของท้องทะเล "เราพยายามสร้างปะการังเทียมที่มีลักษณะสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติ มีกิ่งก้านแบบปะการังที่ช่วยเพิ่มการเกาะติดของตัวอ่อนปะการัง มีรูกลวงเพื่อลดแรงต้านน้ำและเป็นที่อยู่ของสัตว์ ซึ่งนวัตปะการังนี้จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของแนวปะการังให้เติบโตเร็วทันกับอัตราการถูกทำลายของปะการังในธรรมชาติ" รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว ๐ นวัตปะการัง เทียม-แทนปะการังธรรมชาติอย่างไร ในธรรมชาติ ปะการังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแนวกำแพงป้องกันคลื่นลมและกระแสน้ำยามพายุพัดโหม เป็นบ้านของสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล และเป็นแหล่งกำเนิดอาหารของมนุษยชาติ ดังนั้น การดูแลให้แนวปะการังยังคงสภาพอยู่อย่างสมบูรณ์และหลากหลายจึงเท่ากับเป็นการดูแลแหล่งอาหารกายและอาหารใจให้มนุษย์เองด้วย ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวนิ่ม พวกมันจะสร้างชั้นหินปูนเคลือบลำตัวไว้ จึงมีโครงสร้างภายนอกแข็งแรง ตัวอ่อนของปะการังที่เรียกว่า "พลานูลา" (Planula) จะล่องลอยตามกระแสน้ำและลงเกาะในพื้นที่แข็ง อย่าง ก้อนหินหรือซากปะการังเพื่อเจริญเติบโตเป็นปะการังต่อไป ส่วนปะการังชนิดที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ พวกมันจะใช้วิธีแตกหน่อไปตามรูปร่างตามลักษณะของชนิดปะการังนั้นๆ ดังนั้น ในการสร้างนวัตปะการัง ทีมผู้วิจัยจึงพยายามจำลองลักษณะที่สอดคล้องกับธรรมชาติของปะการังที่สุด ทั้งนี้ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวถึงจุดเด่นของนวัตปะการังที่ต่างจากปะการังเทียมทั่วไป ได้แก่ 1.มีสารอาหาร ? บนตัวนวัตปะการังมีการพ่นเคลือบสารอาหารจำพวกแคลเซียมและฟอสเฟตที่ปะการังตามธรรมชาติใช้ในการเติบโต ทำให้ตัวอ่อนปะการังที่มาเกาะสามารถกินอาหารเพื่อเติบโตได้ทันที ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ปะการังที่มาเกาะบน "นวัตปะการัง" โตเร็วกว่าปะการังตามธรรมชาติ เฉลี่ยละ 3-4 เซนติเมตรต่อปี (ในขณะที่โดยทั่วไปในธรรมชาติ ปะการังเจริญเติบโตช้ามาก ยกตัวอย่าง ปะการังแข็งจะงอกราว 1 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งหมายความว่า หากเราอยากเห็นปะการังที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร เราต้องรอถึงหนึ่งศตวรรษ! กันเลยทีเดียว) 2. เลียนแบบลักษณะตามธรรมชาติของปะการัง ? นวัตปะการังมีลักษณะเป็นแผ่นเหมาะสำหรับตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติจะมาเกาะ อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นรูและเป็นโพรงเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยและที่ซ่อนตัวหลบภัยของปลา สัตว์เล็กๆ หน้าดิน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเล 3.ลดแรงต้านกระแสน้ำ ? นวัตปะการังใช้เทคโนโลยีไฮโดรไดนามิก โดยออกแบบรูปร่างให้ป้องกันการถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ ซึ่งแตกต่างจากปะการังเทียมทั่วไปที่ใช้วัสดุที่มักทำให้เกิดมลภาวะ มักถูกทรายฝังกลบและอาจถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ ๐ Smart Station ปะการังตรวจวัดสภาวะโลกร้อน นอกจากการทำหน้าที่ดุจปะการังตามธรรมชาติแล้ว ทีมวิจัยยังได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเลไว้ที่ตัวนวัตปะการังด้วย เพื่อให้นวัตปะการังเป็น "สมาร์ทสเตชัน" (Smart station) ทำหน้าที่ เช่น วัดอุณหภูมิของน้ำ การไหลของกระแสน้ำ วัดความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นต้น "การตรวจวัดค่าเหล่านี้ ไม่เพียงช่วยสิ่งมีชีวิตในนวัตปะการัง แต่ยังช่วยเหลือแนวปะการังทั้งแนวในบริเวณที่นวัตปะการังตั้งอยู่ด้วย อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ปะการังฟอกขาวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ทำให้ปะการังตาย ดังนั้น เมื่อมีสมาร์ทสเตชัน เราจะมีข้อมูลที่จะช่วยให้เราสามารถช่วยเหลือชีวิตแนวปะการังทั้งแนวได้" รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว ๐ กว่าจะเป็น Innovareef นวัตปะการัง รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา อธิบายเบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตปะการังให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุดว่าต้องใช้ความรู้จากหลายศาสตร์ อาทิ เทคโนโลยี 3D Cement Printing ขึ้นรูปผลิตซีเมนต์ ซึ่งชนิดซีเมนต์ก็ได้เลือกสรรชนิดที่มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงน้ำทะเล และผสานการออกแบบตามแนวคิดเลโก้ คือ การทำเป็นบล็อกถอดประกอบชิ้นส่วนได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้ายนวัตปะการังจากแหล่งผลิตไปสู่ท้องทะเล "กว่าจะเป็นนวัตปะการัง ทีมงานต้องออกแบบ ขึ้นรูป ทำผิวสัมผัสให้ขรุขระ แยกหล่อส่วนกิ่งปะการัง ทดสอบน้ำวน ทดสอบการจมของฐาน ทดสอบการต้านกระแสน้ำด้วยการทดลองในห้องวิจัยและในทะเล จนได้เป็นนวัตปะการังที่ลดการต้านกระแสน้ำ แข็งแรง ไม่จมหายไปกับพื้นทราย มีน้ำวนเล็กๆ รอบๆ มีกิ่งที่ช่วยเพิ่มการยึดเกาะของตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้นักวิจัยต้องใช้ความรู้หลายศาสตร์มาพัฒนาจนได้ผลงานที่สมบูรณ์" รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกากล่าว นวัตปะการังที่ทางจุฬาฯ ออกแบบมี 1 ขนาด คือ 100 x 160 x 50 (กว้าง x ยาว x สูง) เซนติเมตร ซึ่งต่อมา "โครงการรักษ์ทะเล" (Love the Sea) โดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ SCG ได้นำต้นนวัตปะการังต้นแบบนี้ มาปรับพัฒนาเพิ่มเติมอีก 5 รูปแบบได้แก่ 1.ปะการังสมอง ขนาด150 x 160 x 56 เซนติเมตร 2.ปะการังสมอง ขนาด160 x 160 x 65 เซนติเมตร 3.ฟองน้ำครก ขนาด 150 x 200 x 95 เซนติเมตร 4.ฟองน้ำทะเล 1 ขนาด 50 x 50 x 65 เซนติเมตร 5.ฟองน้ำทะเล 2 ขนาด 85 x 85 x 65 เซนติเมตร ๐ ติดตั้งบ้านให้ปะการัง ฟื้นความหวังให้ท้องทะเล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ทีมนักวิจัยได้ติดตั้งนวัตปะการังแล้วในพื้นที่ชายฝั่งทะเลหลายแห่งในจังหวัดชลบุรีเป็นส่วนมาก อาทิ ชายฝั่งทะเลบริเวณเกาะสีชัง เกาะล้าน และสัตหีบ "ลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งนวัตปะการังต้องเป็นพื้นที่ชายทะเลที่มีระดับน้ำลึกไม่เกิน 10 เมตร มีแสงสว่างส่องถึง และที่สำคัญ ต้องยังมีปะการังตามธรรมชาติหลงเหลืออยู่บ้าง ลักษณะอย่างนี้จึงจะเอื้อโอกาสให้เกิดการเกาะติดและเติบโตของตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติ" สำหรับการขนย้ายและติดตั้งนวัตปะการังนั้นก็ง่ายและสะดวก เนื่องจากนวัตปะการังชุดหนึ่งๆ ประกอบด้วยก้อนซีเมนต์ปะการัง 3 ก้อน มีก้อนหลัก 1 ก้อน และก้อนสำหรับประกอบอีก 2 ก้อน "ตัวนวัตปะการังมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป น้ำหนักเบา คนๆ เดียวก็สามารถยกได้ จึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนย้าย เมื่อมาถึงทะเลก็จมชิ้นส่วนนวัตปะการังลงในบริเวณชายทะเลที่ต้องการ แล้วค่อยๆ ดำน้ำลงไปเพื่อต่อประกอบชิ้นส่วนให้เป็นนวัตปะการังที่สมบูรณ์" "เมื่อประกอบและติดตั้งนวัตปะการังเสร็จ เพียงไม่ถึง 5 นาที ปลาและสัตว์ทะเลหลายชนิดก็เริ่มเข้ามาสำรวจและจับจองพื้นที่ในบ้านหลังใหม่ เกิดความหลากหลายทางชีวิภาพรอบๆ แนวนวัตปะการัง" "ที่สำคัญ จากการเฝ้าเก็บข้อมูลภายหลังการติดตั้งนวัตปะการัง เราพบว่าอัตราการเกาะติดและเติบโตของตัวอ่อนปะการังที่ตัวนวัตปะการังดีกว่าปะการังเทียมทั่วไปอีกด้วย" รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวพร้อมรอยยิ้ม สิ่งนี้ทำให้ทีมผู้วิจัยมั่นใจว่านวัตปะการังจะช่วยเร่งอัตราการฟื้นตัวของปะการังและคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลโดยเร็ว นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับราคาวัสดุ การผลิต การขนส่ง จนถึงขั้นตอนการติดตั้งนวัตปะการังจนแล้วเสร็จ รวมแล้วค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 26,000 บาทต่อนวัตปะการังหนึ่งตัวเท่านั้น! ด้วยคุณค่ามากมายเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่นวัตปะการังได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สามารถช่วยให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะและเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งรูปแบบสวยงามมีความมั่นคงเสมือนปะการังจริง ๐ Thai Innovareef สวรรค์แห่งใหม่ของนักดำน้ำ นอกจากจะฟื้นคืนระบนิเวศทางทะเล แนวนวัตปะการังยังคืนสวรรค์ใต้ผิวน้ำสีครามให้นักท่องเที่ยวด้วย ?แนวนวัตปะการังสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้? รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าว ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากดำน้ำดูแนวปะการัง แต่ยังดำน้ำไม่ถูกหลัก จนอาจเผลอทำลายแนวปะการังตามธรรมชาติเสียหาย ผู้ที่เริ่มหัดดำน้ำใหม่ๆ หรือผู้ที่ต้องการศึกษาโลกใต้ทะเล ไม่ว่าจะเป็น sea walker, snorkeler ก็สามารถมาดำน้ำดูนวัตปะการังที่สร้างขึ้นเป็นแนวได้ เพราะมีความคล้ายคลึงกับธรรมชาติมาก และมีสัตว์น้ำสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หลายสายพันธุ์มาอาศัยอยู่ นี่จึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลได้โดยไม่เกิดความเสียหายให้ท้องทะเล" รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวพร้อมรอยยิ้ม แนวนวัตปะการัง Thai Innovareef อาจกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีสีสัน เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และสร้างรายได้ให้ประเทศอีกทาง (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ปะการังอัจฉริยะ!! Innovareef นวัตกรรมตรวจวัดภาวะโลกร้อน - ฟื้นนิเวศทะเล ............. ต่อ ๐ อนาคต นวัตปะการังไทยรุ่นต่อๆ ไป สำหรับแผนการผลิตนวัตปะการังในอนาคต รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวว่า "จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอีก และจะเพิ่มความละเอียดสมจริงตามธรรมชาติให้กับปะการังเทียมยิ่งขึ้น" "สำหรับนวัตปะการังรุ่นต่อๆ ไป เราจะออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะเจาะจงเหมาะสมกับสัตว์น้ำแต่ละชนิดในละแวกนั้นๆ เช่น ปลาหมอทะเลชอบถิ่นอาศัยแบบถ้ำ ก็จะมีนวัตปะการังที่มีลักษณะแบบนั้น เป็นต้น" นอกจากนี้ ทีมวิจัยกำลังวิจัยต่อยอดร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการออกแบบนวัตปะการังที่ผสานนาโนเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถปกป้องปะการังจากสภาวะโลกร้อน "หากอุณหภูมิในท้องทะเลเปลี่ยนแปลงถึงจุดหนึ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อปะการัง สารนาโนที่เคลือบอยู่บนนวัตปะการังจะแตกตัวแบบอัตโนมัติและปล่อยสารปกป้องไม่ให้ปะการังตาย" นวัตปะการังเป็นหนึ่งในความหวังที่จะฟื้นฟูแนวปะการังตามธรรมชาติให้กลับคืนมาสู่ท้องทะเลโดยเร็ว อาจใช้เวลา 10-20 ปี หรือกึ่งศตวรรษ แต่ก็ยังดีกว่าที่วันนี้เราไม่ได้เริ่มทำอะไร อย่างน้อยรุ่นลูกหลานต้องได้เห็นความงามของท้องทะเล "แม้ธรรมชาติจะถูกทำลายไปแล้ว แต่มนุษย์สามารถฟื้นฟูและสร้างธรรมชาติให้กลับคืนมาได้ด้วยการใช้นวัตกรรม เราหวังว่านวัตปะการังจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการฟื้นฟูระบบนิเวศ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน การประมง และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวทิ้งท้าย ผู้สนใจร่วมพัฒนา หรือนำนวัตปะการังไปใช้ฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำ สามารถติดต่อ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ (Veterinary Medical Aquatic Animals Research Center-VMARC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2251 8887, 0 2218 9510 อีเมล vmarc.clinic@gmail.com ข้อมูลเพิ่มเติม https://mgronline.com/greeninnovatio.../9650000104111
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
อช.สิมิลัน เก็บ "ดาวมงกุฎหนาม" ผู้ล่า ตัวการทำแนวปะการังเสียหาย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ดำน้ำกำจัดและสำรวจการแพร่ระบาดของปลาดาวมงกุฎหนามบริเวณเกาะบอนและเกาะตาชัย โดยปลาดาวมงกุฎหนาม (Crown-of-thorns starfish, Acanthaster planci) พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในทะเลบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ดาวมงกุฎหนาม เป็นผู้ล่าที่สำคัญของปะการังและเป็นตัวการที่ทำให้แนวปะการังเสียหาย ทำให้จำนวนปะการังลดลงในธรรมชาติ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ยังดำเนินการดำน้ำเก็บขยะเศษซากเครื่องมือทำประมง บริเวณจุดดำน้ำลึกกองหินพินาเคิล เกาะตาชัย (Tachai Pinacle) รวมทั้งลาดตระเวนในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งไม่พบการกระทำผิดแต่อย่างใด https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_3650728
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
กรมประมง ฝังไมโครชิพปลาบึกถอดDNA เล็งปั้นสายพันธุ์คุณภาพ ป้องสูญพันธุ์ กรมประมง จัดทำข้อมูลรหัสประจำตัวปลาบึกอิงหลักพันธุศาสตร์พร้อมติดไมโครชิพ 100 ตัว ป้องผสมพันธุ์สายเลือดเดียวกัน ผลิตปลาบึกสายพันธุ์คุณภาพ คงความหลากหลายทางพันธุกรรมให้ปรับตัวได้ดีแม้ในสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เล็งขยายเชิงพาณิชย์ นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ?ปลาบึก? ถือเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจัดเป็นปลาที่อยู่กลุ่มสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์? (CITES) ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ในประเทศไทยพบการกระจายตัวอยู่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี กรมประมงได้ศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาบึกจนประสบความสำเร็จด้วยวิธีผสมเทียมครั้งแรกของโลกเมื่อปีพ.ศ. 2526 ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธ์ปลาบึก และได้นำลูกพันธุ์ปลาที่ได้กระจายให้กับหน่วยงานกรมประมงทั่วประเทศเพื่อพัฒนาต่อยอดการขยายพันธุ์ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์เพื่อไม่ให้ปลาบึกสูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการนำหลักพันธุศาสตร์มาวางแผนการผสมพันธุ์ทั้งในด้านจำนวนพ่อแม่พันธุ์ วิธีการผสม การนำปลารุ่นใหม่มาทดแทนพ่อแม่พันธุ์ปลาชุดเก่า ตลอดจนควบคุมกิจกรรมในโรงเพาะฟัก และควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดี หลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิด เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมที่มีอยู่ไว้ให้มากที่สุด โดยในปี 2565 ได้วางแนวทางเบื้องต้นในการบริหารจัดการปลาบึกเพื่อการอนุรักษ์ในแม่น้ำโขงและการเพาะขยายพันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ดังนี้ 1. วางแผนบริหารจัดการพันธุ์ปลาบึกให้เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์เพื่อการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์และปลาบึกที่เหมาะสมต่อการปล่อยในถิ่นกำเนิดแม่น้ำโขง 2. มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกจังหวัดรวบรวมข้อมูลความหลากหลายของปลาบึกที่อยู่ในจังหวัดและรายงานให้ทราบถึงแหล่งที่มาทางพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก 3. มอบหมายให้กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด บูรณาการร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับปลาบึกเพื่อเสนอขอทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และล่าสุดเพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ ตลอดจนควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมปลาบึก กรมประมงได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลรหัสประจำตัวปลาพร้อมฝังไมโครชิพ เพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับตัวปลา อาทิ แหล่งที่มา เพศปลา รวมถึงการใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลเครื่องหมายพันธุกรรมเพื่อระบุคู่ผสมที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนการเพาะพันธุ์ปลาบึกให้คงความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างยั่งยืน นายสง่า ลีสง่า ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝังไมโครชิพในครั้งนี้ กรมประมงได้ทำการฝังไมโครชิพในปลาบึกน้ำหนัก 10 - 60 กิโลกรัม จำนวน 100 ตัวที่นายเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรประมง ได้มอบให้กรมประมงไว้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงราย ด้วยกระบอกฉีดพิเศษที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับร่างกายสัตว์น้ำเมื่อฝังไมโครชิพเข้าไปชั้นใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ พร้อมเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต อาทิ น้ำหนัก ความยาวลำตัวและรอบอก ตลอดจนเก็บตัวอย่างครีบปลาบึกเพื่อใช้สำหรับตรวจสอบข้อมูลด้านดีเอ็นเอในอนาคต เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมก่อนกระจายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ การเพาะขยายพันธุ์ปลาบึก ความยากอยู่ที่การลำเลียงพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาศึกษาวิจัย โดยไม่ให้ได้รับความบอบช้ำ เนื่องจากเป็นปลาที่ตายง่ายมาก อีกทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเสื่อมโทรมลงทำให้ประชากรปลาบึกไม่สามารถสืบพันธุ์และเจริญเติบโตได้ทันต่อความต้องการ ส่งผลให้จำนวนประชากรปลาบึกตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของกรมประมงที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในอนุรักษ์ปลาบึกเพื่อคงไว้ในแม่น้ำโขงสืบไป https://www.bangkokbiznews.com/environment/1035089
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Greennews
เตรียมเซ็น MOU แก้ปัญหาโลมาสูญพันธุ์จากโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา .................. โดย นราวิชญ์ เชาวน์ดี สองกระทรวง ?คมนาคม-ทรัพยากรฯ? เตรียมเซ็น MOU แก้ปัญหาการสูญพันธุ์ของ "14 ตัวสุดท้าย โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา" คาดมาตรการก่อน-ระหว่าง-หลังก่อสร้างจะช่วยได้ ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ทางทะเล "ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์" ชี้ "งบประมาณ" น่าจะเป็นปัจจัยชี้ขาดความเป็นไปได้ เสนอตั้งกองทุนอนุรักษ์โลมาช่วยระยะยาว "หากจะหาโอกาสจากวิกฤต" (ภาพ : NEGROS SEASON OF CULTURE) แก้ปัญหาด้วย MOU วันนี้ (1 พ.ย. 2565) ได้มีการจัดการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องการแก้ปัญหาโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาสูญพันธุ์ สืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ที่สำนักงาน ทส. กรุงเทพฯ "เพื่อหารือเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมป้องกันปัญหาโลมาอิรวดีสูญพันธุ์บริเวณทะเลสาบสงขลา โดยมี 6 หน่วยงานประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความมือ (MOU) การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี ในบริเวณทะเลสาบสงขลา ระหว่างสองกระทรวง โดยมีคณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงความมือ (MOU) ประกอบด้วย ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่ โดยจะมีการประชุมวางแผนจัดทำร่าง MOU ใน 8 และ 22 พฤศจิกายน 2565 และจะนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารเพื่อพิจารณาเห็นชอบกรอบความร่วมมือใน 29 พฤศจิกายน 2565 จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอพิจารณาอนุมัติในเดือนธันวาคม 2565 และคาดว่าจะมีพิธีลงนาม MOU บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างจังหวัดพัทลุง ในเดือนมกราคม 2566" อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผย โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 ต.ค. 2565 เป็นโครงการก่อสร้างสะพานขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) รูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร เชื่อม จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา เพื่อลดระยะทางประมาณ 80 กม. หรือลดระยะเวลาในการเดินทางราว 2 ชั่วโมง คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่ ส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง กำหนดเริ่มสร้างปลายปี 66-68 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนสัญจรภายในปี 69 "ส่วนของ ทช. ได้มีมาตรการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ก่อนดำเนินการก่อสร้าง จะต้องทำการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำผลการศึกษามาดำเนินการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ระหว่างก่อสร้าง หากมีอะไรส่งผลกระทบต่อโลมาอิรวดีหรือสิ่งแวดล้อม ทช. จะปรับเปลี่ยนแผนดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และหลังการก่อสร้าง ทช. จะติดตามผลการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อที่จะพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ทช. จะนำข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านมาทำการศึกษา เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมแก้ไขปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในบริเวณทะเลสาบสงขลาต่อไป" อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผย "งบประมาณ" ปัจจัยชี้ขาด "เป็นการประชุมที่สำคัญมาก ๆ เพราะถือว่าเป็นการประชุมครั้งแรก ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาและอนุรักษ์มาร่วมกันเพื่อการคงอยู่ของสัตว์ทะเลหายาก โลมาอิรวดี ที่เหลือเพียง 14 ตัวสุดท้ายในประเทศไทยที่ทะเลสาบสงขลา ผมเข้าร่วมในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ได้ฟังและได้เสนอแนะบางเรื่องต่อที่ประชุม อันมีท่านเลขารัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง ท่านอธิบดีทั้งสองกรม และอีกหลายท่านเข้าร่วม อันดับแรกคือการดูแลผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง กรมทางหลวงชนบทกำหนดไว้ 4 มาตรการ ปรากฏใน EIA (รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ) เช่น 1. ม่านดักตะกอน 2. ลาดตระเวนตรวจดูโลมาหากบังเอิญเข้ามาใกล้ 3. ระบบ Acoustic Survey ตามประชากรโลมา และ 4. การช่วยดูแลพี่น้องชาวประมงและเพิ่มที่อยู่ของสัตว์น้ำซึ่งนั่นก็เป็นตามหลักการ ดูแลผลกระทบโดยตรง เพิ่มข้อมูลวิจัยให้มากขึ้น และการช่วยลดผลกระทบอื่นๆ ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ หลักๆ คือกรมทะเล มีโครงการต่างๆ นำเสนอเพียบเลยครับ ครอบคลุมแทบทุกด้าน แต่สิ่งสำคัญในส่วนนี้คืองบประมาณที่เพียงพอปัญหาเรื่องงบเป็นปรกติทั่วไป เสนอแล้วโดนตัดจากขั้นตอนต่างๆ ทำให้หลายฝันไปไม่ถึงเป้าหมาย ว่าง่ายๆ คืองานบางอย่างโดนหั่นเยอะไปจนทำแค่นั้นมันก็ไม่มีประโยชน์เพราะฉะนั้น จุดสำคัญสำหรับผมคืองบประมาณในตอนจบ ไม่ใช่ตอนเริ่มหากเราอยากได้ผลลัพธ์ เราต้องเน้นย้ำตรงนี้" ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เสนอตั้ง "กองทุนเพื่ออนุรักษ์โลมา" นอกจากในเรื่องงบประมาณที่ต้องรอดูต่อไปแล้ว ผศ.ดร.ธรณ์ ยังเสนอการจัดตั้งกองทุนเพื่ออนุรักษ์โลมา ศูนย์อนุรักษ์โลมาในพื้นที่กรมทางหลวงชนบทโดยร่วมมือกับ กรมทะเล และหน่วยพิทักษ์ของเขตห้ามล่า ร่วมมือกับกรมอุทยาน "ผมเสนอการจัดตั้งกองทุนเพื่ออนุรักษ์โลมา ซึ่งเปิดให้องค์กรต่างๆ และผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยได้ ยังหมายถึงการใช้เงินที่ง่ายขึ้นกว่าเงินงบประมาณปรกติ ยังมีอีกบางงานที่อาจทำร่วมกัน เช่น ศูนย์อนุรักษ์โลมาในพื้นที่กรมทางหลวงชนบท (ร่วมกับกรมทะเล) หน่วยพิทักษ์ของเขตห้ามล่า (ร่วมกับกรมอุทยาน) ทั้งหมดนั้น ทำให้เราพอเห็นกรอบและเห็นเส้นทางที่ต้องไป ซึ่งนั่นเป็นเรื่องดีมาก ผมเห็นความตั้งใจจริงของทุกหน่วยงานที่เข้าร่วม ทว่า?เรื่องนี้เป็นงานแสนสาหัส นักอนุรักษ์ทั่วโลกทราบดีว่าการอนุรักษ์โลมาน้ำจืดคือที่สุดของที่สุดแห่งความยาก เป็นประชากรเฉพาะ พื้นที่อาศัยจำกัด มีการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แต่มองในมุมกลับกัน เมื่อเมืองไทยเอาจริงกับเรื่องนี้ มันจึงเป็นโอกาสดียิ่ง และเป็นก้าวกระโดดของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากของไทย" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว https://greennews.agency/?p=31266
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|