#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2565
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งได้แผ่เสริมลงมาถึงประเทศจีนตอนกลางและปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อยในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่วนยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส และยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซียและช่องแคบมะละกา ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. 65 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนกลางจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 3 ? 4 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 5 ? 9 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1 ? 3 องศาเซลเซียส และมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 4 - 6 พ.ย. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนที่พาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 4 - 6 พ.ย. 65 สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร ส่วนบริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 3 ? 4 พ.ย. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลง ส่วนในช่วงวันที่ 5 ? 9 พ.ย. 65 สำหรับประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก และประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควร เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ********************************************************************************************************************************************************* ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 1 (311/2565) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ในช่วงวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนกลางจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ อ่าวไทย และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางพื้นที่ จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ ในวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2565 จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ยูเอ็นคาดการณ์ ธารน้ำแข็งสำคัญของโลกจะหายไปภายในปี 2593 ธารน้ำแข็งที่มีชื่อเสียงในสถานที่บางแห่งของโลก เช่น เทือกเขาโดโลไมต์สในอิตาลี, อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี และอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในสหรัฐ และภูเขาคิลิมันจาโรในแทนซาเนีย จะละลายหายไปภายในปี 2593 เพราะภาวะโลกร้อน ไม่ว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะเป็นไปในรูปแบบใดก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เฝ้าติดตามธารน้ำแข็งราว 18,600 แห่ง ทั่วแหล่งมรดกโลก 50 แห่ง และกล่าวว่า 1 ใน 3 ของธารน้ำแข็งเหล่านั้น จะหายไปภายในปี 2593 ธารน้ำแข็งมรดกโลกตามที่ยูเนสโกกำหนดไว้ แสดงถึงสัดส่วนประมาณ 10% ของพื้นที่ธารน้ำแข็งในโลก และรวมไปถึงธารน้ำแข็งที่โด่งดังของโลกบางแห่งด้วย ซึ่งความสูญเสียนั้น สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากพวกมันเป็นจุดโฟกัสสำหรับการท่องเที่ยวทั่วโลก นักธรณีวิทยาเตรียมวัดความหนาของธารน้ำแข็ง บนภูเขาในเมืองกรีส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ นายทาเลส คาร์วัลโญ ผู้เขียนนำของรายงาน บอกกับรอยเตอร์สว่า ธารน้ำแข็งมรดกโลกสูญเสียน้ำแข็งโดยเฉลี่ยราว 58,000 ล้านตันทุกปี ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่ฝรั่งเศสและสเปนใช้ต่อปีรวมกัน และมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลที่มีการสังเกตการณ์ทั่วโลกสูงขึ้นเกือบ 5% คาร์วัลโญ กล่าวว่า มาตรการป้องกันที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว ในการป้องกันการลดลงของธารน้ำแข็งสำคัญทั่วโลก คือ การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมาก นอกจากนี้ ยูเนสโกยังแนะนำว่า เนื่องจากธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ลดลงมากกว่าเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ หน่วยงานท้องถิ่นควรกำหนดให้ธารน้ำแข็งเป็นจุดรวมของนโยบาย ด้วยการปรับปรุงการเฝ้าติดตามและการวิจัย ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงของภัยพิบัติ https://www.dailynews.co.th/news/1644346/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย
ไทยฉีดฮอร์โมนปลาทูกระตุ้นวางไข่สำเร็จครั้งแรกของโลก กรุงเทพฯ 3 พ.ย.- นักวิจัยกรมประมงประสบความสำเร็จในการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่ปลาทูสำเร็จครั้งแรกของโลก ทำให้ไม่ต้องรอฤดูวางไข่ที่มีปีละครั้ง จับมือสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดินหน้า "โครงการปลาทูคู่ไทย" รวบรวมพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงในระบบปิด พร้อมฉีดฮอร์โมน ทำให้สามารถคุมรอบการตกไข่ของปลาทูได้มากขึ้น พบสัญญาณดีปลาทูวางไข่มากถึง 30,000 ฟอง หวังช่วยทดแทนปริมาณการจับปลาทูในธรรมชาติ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ปลาทูเพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติจนประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์ได้สำเร็จเมื่อปี 2554 แต่ปลาทูเป็นปลาที่มีความอ่อนแอ บอบบาง จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำขึ้นจากทะเลมาเพาะเลี้ยงโดยไม่ให้บอบช้ำหรือตายไปเสียก่อน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้รวบรวมข้อมูลทางด้านชีววิทยา ฤดูกาลวางไข่ ลักษณะของนิเวศที่อยู่อาศัย เป็นต้น มาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ด้านงานวิชาการและประยุกต์ใช้ในการผลิตปลาทูทั้งด้านการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์ อาทิ การพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพและการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน เทคนิคการลำเลียงพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ การอนุบาลลูกพันธุ์เพื่อเพิ่มอัตราการรอด เป็นต้น ปัจจุบันนอกจากการดำเนินงานตามแผนการอนุรักษ์แล้ว กรมประมงยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการโครงการ ?ปลาทูคู่ไทย? เพื่อจัดการองค์ความรู้สู่การสรุปแบบเบ็ดเสร็จ (one stop) ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของปลาทูไทย ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางเชิงนโนบายเพื่อแก้ไขปัญหาปลาทูที่มีโอกาสสูญพันธุ์จากปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการประมงและอุตสาหกรรมปลาทูของประเทศ ด้วยการจัดระบบตามห่วงโซ่คุณค่าของทรัพยากรทางทะเล ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการจัดการและด้านการเพาะเลี้ยง ซึ่งล่าสุดโครงการได้ดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาทูฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพาะขยายพันธุ์ปลาทู โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงและทดลองฉีดฮอร์โมนตามรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งมีโอกาสได้ลูกปลาทูมากกว่าวิธีตามธรรมชาติที่ปลาทูจะมีฤดูวางไข่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น สำหรับความท้าทายในการเพาะพันธุ์ปลาทู อยู่ที่การปรับสภาพการเลี้ยงให้คล้ายคลึงกับระบบนิเวศในทะเลและต้องปรับพฤติกรรมปลาให้คุ้นเคยกับทีมนักวิจัย เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่ายดังนั้นการจับปลาทูขึ้นมาฉีดฮอร์โมนจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงนับเป็นอีกผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกรมประมงในการพัฒนาผลงานวิจัยด้านต่างๆ เพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนสืบไป นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทูธรรมชาติจากโป๊ะในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มาขุนเลี้ยงในบ่อผ้าใบด้วยระบบน้ำหมุนเวียนในโรงเพาะให้เกิดความพร้อมในการสืบพันธุ์ด้วยอาหารที่ต่างกัน 2 ชนิด ได้แก่ อาหารเม็ดสำเร็จรูป และอาหารผสมสด เพื่อศึกษาและตรวจสอบความสมบูรณ์เพศ โดยเมื่อเริ่มต้นขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีไข่และน้ำเชื้ออยู่ในระยะที่ 2 ภายในระยะเวลาการขุนเลี้ยง 3 เดือน พ่อแม่พันธุ์มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 134 ? 210 กรัม ความยาวอยู่ในช่วง 19- 20 เซนติเมตร ไข่และน้ำเชื้อพัฒนาเป็นระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่พร้อมจะฉีดฮอร์โมน จึงนำมาทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้ปลาวางไข่ที่ระดับความเข้มข้นต่างกัน 3 ระดับ ในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง ได้ไข่ทั้งหมดอยู่ในช่วง 15,833 ? 95,833 ฟอง เป็นไข่ดีอยู่ในช่วง 14,978 ? 85,003 ฟอง ได้ลูกปลาแรกฟักอยู่ในช่วง 2,250 ? 20,000 ตัว คิดเป็น 7.04 ? 44.94 % จากไข่ทั้งหมด และ 7.94 ? 61.54 % จากไข่ดี และระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนอนุบาลลูกปลาพร้อมวางแผนพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการอนุบาลลูกพันธุ์ปลาทูให้มีอัตราการรอดสูงที่สุด นับได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่ของปลาทู จากอดีตที่ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูผสมกันเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นความหวังในการเพาะพันธุ์ปลาทูเพื่อปล่อยสู่ทะเลในเชิงอนุรักษ์ หรือการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาทูเชิงพาณิชย์ต่อไป และนอกจากมาตรการที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรปลาทู โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูได้อย่างง่ายๆ คือ ไม่บริโภคปลาที่มีไข่หรือปลาตัวเล็กๆ ปล่อยให้ปลาเหล่านี้ได้เติบโตมาเป็นอาหารในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีมูลค่าที่เศรษฐกิจดีกว่า หากทุกคนช่วยกัน กรมประมงเชื่อมั่นว่า ท้องทะเลและทรัพยากรประมงจะกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งอย่างแน่นอน. https://tna.mcot.net/agriculture-1050476
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|