เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศจีนตอนกลางแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในวันนี้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอันตรายจากฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนถึงปานกลางและการระบายอากาศไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 12 ? 14 มี.ค. 66 บริเวณกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ยังคงมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้

ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 17 มี.ค. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกบางในตอนเช้ากับอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 12 ? 14 มี.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอันตรายจากฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน
ฉบับที่ 6 (76/2566) (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566)


ในช่วงวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย


โดยจะมีผลกระทบดังนี้


วันที่ 12 มีนาคม 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และอุดรธานี


วันที่ 13 มีนาคม 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ และนครราชสีมา

ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด


วันที่ 14 มีนาคม 2566

ภาคตะวันออก: จังหวัดจันทบุรี และตราด













__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


IUCN หนุนชงแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันมรดกโลก

ข่าวแนะนำ


นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.และผู้บริหาร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมทรัพยากรน้ำ ให้การต้อนรับ Dr. Bruno Oberle ผู้อำนวยการใหญ่สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) และคณะ โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการคุ้มครองแหล่งมรดกโลกร่วมกัน ซึ่ง IUCN มีบทบาทในการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในระดับโลก และเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานรับความสนับสนุนจากประเทศและองค์กรต่างๆ เพื่อนำไปดำเนินการร่วมกับสมาชิกทั่วโลก ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ IUCN ได้หารือถึงการจัดทำ Host Country Agreement (HCA) เพื่อการจัดตั้งสำนักงาน IUCN ภูมิภาคเอเชียในประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงความพร้อมเป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ของไทย

รมว.ทส.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและสามารถสื่อสารข้อมูลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทยให้ออกไปสู่ประชาคมโลกได้อย่างถูกต้อง.


https://www.thairath.co.th/news/local/south/2650905
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ป่าไม้เตรียมนำพื้นที่ 48 ไร่ ๅ"หาดฟรีด้อม" ทำเป็นป่านันทนาการเปิดให้ท่องเที่ยว ระหว่างรอห้ามนำของไปขาย-เก็บค่าผ่านทางเด็ดขาด



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ป่าไม้ภูเก็ตและสำนักป่าไม้เขต 12 กระบี่ เสนอกรมป่าไม้ทำโครงการป่านันทนาการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด ?หาดฟรีด้อม? ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและป้องกันการบุกรุก ระหว่างรอกรมป่าไม้อนุญาตห้ามนำของไปขาย ห้ามเก็บค่าผ่านทางเด็ดขาด

นายวัฒนพงศ์ สุกใส ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมโครงการพัฒนาพื้นที่เตรียมการป่านันทนาการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด "หาดฟรีด้อม" หมู่ที่ 1 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมี นายสมชาย นุชนานนท์เทพ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักป่าไม้เขต 12 กระบี่ นายทิวัตถ์ สีดอกบวบ รองนายก อบจ.ภูเก็ต เรือเอกจเด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 ณ ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอโครงการโครงการพัฒนาพื้นที่เตรียมการป่านันทนาการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด "หาดฟรีด้อม" ในเบื้องต้น และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะนำพื้นที่หาดฟรีด้อม ในรูปแบบของป่านันทนาการเพื่อการท่องเที่ยว

นายสมชาย นุชนานนท์เทพ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักป่าไม้เขต 12 กระบี่ กล่าวในที่ประชุมว่า หาดฟรีด้อมเป็นชายหาดเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างหาดป่าตองกับหาดกะรน โดยก่อนหน้านี้ มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของหาดฟรีด้อม และทางกรมที่ดินได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากเป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ป่าเทือกเขานาคเกิด หลังจากนั้น ผู้ที่อ้างกรรมสิทธิ์ได้มีการต่อสู้กันชั้นศาล ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้ตัดสินให้ป่าไม้ชนะ และทางผู้อ้างสิทธิได้ฟ้องศาลฎีกาต่อ ซึ่งศาลฎีกาน่าที่จะตัดสินในเร็วๆ นี้ ทางป่าไม้ภูเก็ต และสำนักป่าไม้เขต 12 กระบี่ จึงได้ทำโครงการพัฒนาพื้นที่เตรียมการป่านันทนาการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด "หาดฟรีด้อม" คู่ขนานกันไป

เพื่อควบคุมดูแลรักษาป่าสงวนแห่งชาติโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความยั่งยืน และเพื่อจัดกิจกรรมนันทนาการให้นักท่องเที่ยว เนื่องจากในปัจจุบันนี้ หาดฟรีด้อม เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในการเดินทางไปพักผ่อน นอนอาบแดด เพราะเป็นชายหาดที่มีความสวยงาม เหมาะสำหรับการผักผ่อนที่สงบและใกล้ชิดธรรมชาติ แต่การเข้าถึงหาดฟรีด้อมนั้นค่อนข้างลำบาก นักท่องเที่ยวจะต้องมาโดยทางเรือโดยไปลงเรือที่หาดกะรน หรือจะเดินทางเข้ามาทางบก จะต้องเดินผ่านทางลาดชันถึง 1,000 เมตร

สำหรับป่านันทนาการที่หาดฟรีด้อมนั้น จะมีการดำเนินการในพื้นที่ 48 ไร่เศษ โดยการแบ่งเป็นพื้นที่หวงห้าม พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่เพื่อการบริการ ซึ่งในส่วนของพื้นที่บริการนั้นจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เช่น ห้องน้ำ และอื่นๆ แต่จะต้องไม่ทำให้ธรรมชาติเสียหาย ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นทางป่าไม้จะได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทางกรมป่าไม่เห็นชอบให้นำพื้นที่หาดฟรีด้อมมาจัดทำเป็นป่านันทนาการ แต่โดยหลักการจะดำเนินการบริการจัดการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น และตามเป้าหมายที่วางไว้จะดำเนินการภายในปี 2566-2567 นี้ และเมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกแล้วจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเหมือนกับการเข้าไปท่องเที่ยวอุทยานฯ ไม่เกิน 200 บาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่อยู่ระหว่างการเตรียมโครงการนั้น ทางป่าไม้ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราพื้นที่ทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขายของในบริเวณหาดฟรีด้อม ซึ่งจะทำให้มีขยะเกิดขึ้น ทำให้หาดสกปรก และเก็บค่าเข้าหาดฟรีด้อมกับนักท่องเที่ยวกรณีที่เดินผ่านที่ดินที่เป็นป่าไม้ รวมทั้งจะมีการนำหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอปรับปรุงทางสำรองในการเข้าถึงหาดฟรีดอมที่ผ่านที่ของกรมป่าไม้ เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงขยะออกจากหาดฟรีด้อม กรณีที่นักท่องเที่ยวนำอาหารเข้ามา รวมทั้งจะมีการทำป้ายแจ้งให้นักท่องเที่ยวนำขยะออกไปจากหาดด้วย เพื่อให้หาดสวยงาม

โดยที่ประชุมเห็นด้วยที่จะดำเนินการโครงการป่านันทนาการที่หาดฟรีด้อม เพราะมองว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย และป้องกันไม่ให้มีการเข้าไปบุกรุกพื้นที่ โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลตำบลกะรน และ อบจ.ภูเก็ต พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการของทางป่าไม้

สำหรับหาดฟรีด้อม (Freedom Beach) เดิมเรียกว่า "หาดไม้ง้าว" ซึ่งมีความหมายว่า "ไม้งาม" เป็นหาดเล็กๆ ที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด อยู่ในหุบเขาระหว่างหาดป่าตองและหาดกะรน มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสีฟ้าใส สวยงาม มีธารน้ำเล็กๆ มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เงียบสงบ เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางไปหาดฟรีดอมนั้นต้องผ่านเนินเขาลงไปลึกพอสมควร ซึ่งมีความยากลำบากเล็กน้อย แถมยังมีหาดทรายสีขาวละเอียดให้ได้ไปนอนอาบแดด

การเดินทางไปหาดฟรีด้อมมี 2 เส้นทาง คือ ทางบกและทางน้ำ การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเดินทางมุ่งหน้าจากป่าตอง ขับรถไปทางบริเวณหาดไตรตรัง เมื่อเห็นป้ายโรงแรม Avista Hideaway ให้เลี้ยวช้ายตรงไป ขับไปอีกสักพักจะถึงที่จอดรถหาดฟรีดอม เดินทางอีกประมาณ 1,000 เมตร ซึ่งจะมีความลาดชันจะต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ส่วนการเดินทางโดยทางเรือนั้น จะต้องไปขึ้นเรือรับจ้างที่หาดกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต


https://mgronline.com/south/detail/9660000022968

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


แลนด์มาร์กใหม่! "สกายวอล์ก" ชมทะเลที่ อช.เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด



อช. เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ชวนเที่ยวชมความงามของสกายวอล์กชมทะเล แลนด์มาร์กใหม่แห่งในอุทยานฯ ที่เปิดให้เที่ยวชมแล้ว

เฟซบุ๊กเพจ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด โพสต์ภาพความสวยงามของสกายวอล์กแลนด์มาร์กใหม่แห่ง อช. เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด พร้อมข้อความว่า

ถ้าไม่รู้จะไปเที่ยวไหน มาเที่ยวกับเราได้นะ ??????
#แลนด์มาร์คใหม่ skywalk ที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ???? #มาเที่ยวกันเยอะๆน้าาา????

สำหรับอุทยานแห่งชาติเขาเเหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยในท้องที่อำเภอแกลง และอำเภอเมือง จังหวดระยอง ครอบคลุมพื้นที่บนฝั่งและในท้องทะเล ตลอดจนเกาะต่างๆ ประกอบด้วยเกาะเสม็ด เกาะจันทร์ เกาะทะลุ เกาะกุฎี เกาะมะขาม และเกาะปลายตีน


https://mgronline.com/travel/detail/9660000022547


******************************************************************************************************


นักวิทย์ เผย "พลาสติโคซิส" กระทบการอยู่รอดของนกในอนาคต



นักวิทยาศาสตร์ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน เผยผลสำรวจที่น่าตกใจต่อระบบนิเวศของนกทะเลในอนาคต เมื่อพบว่านกทะเลป่วยด้วยโรคใหม่ ชื่อว่า ?พลาสติโคซิส? (Plasticosis) ซึ่งมีต้นตอจากขยะพลาสติกที่มนุษย์ทิ้งลงทะเล

ทุกวันนี้ขยะพลาสติกจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ นอกจากส่งผลให้เกิดมลพิษที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ ยังเป็นภัยต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทั้งบนบกและในน้ำอีกด้วย

ขยะพลาสติกในทะเล รวมถึงแหล่งน้ำอื่นๆ ถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าหลายประเทศยกเป็นเรื่องเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับมีความพยายามในการรณรงค์แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทว่าช่วงที่ผ่านมาก็ยังแก้ไขให้ลุล่วงถึงขั้นปลอดภัยไม่ได้

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า ได้มีการค้นพบโรคใหม่ที่เรียกว่า "พลาสติโคซิส" (Plasticosis) ในประชากรนกทะเล

"พลาสติโคซิส" คือโรคที่นกทะเลเกิดแผลในระบบทางเดินอาหารจากการกินพลาสติกเข้าไป และทิ้งแผลเป็นหรือรอยพังผืดเอาไว้ นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกการเกิดพังผืดในนกทะเลที่เกิดจากพลาสติก

นักวิทยาศาสตร์พบว่า มลพิษพลาสติกที่แพร่หลายได้ทำให้นกอายุต่าง ๆ ตั้งแต่ลูกนกไปจนถึงนกโตเต็มวัย ต่างมีแผลเป็นในระบบทางเดินอาหาร แต่ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือในกลุ่มประชากรลูกนก ซึ่งได้รับพลาสติกจากพ่อแม่ที่หาอาหารมาให้แล้วมีพลาสติกปะปนมาด้วย

ทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดย ดร.อเล็กซ์ บอนด์ และดร. เจนนิเฟอร์ เลเวอร์ส จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ ได้ศึกษาประชากรนกทะเล Flesh-footed shearwater บนเกาะลอร์ดฮาวในออสเตรเลีย เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างระดับของพลาสติกที่กินเข้าไปกับกระเพาะแท้ (Proventriculus) ของนก ซึ่งเป็นส่วนแรกของกระเพาะอาหารของนก

พวกเขาพบว่า ยิ่งนกกินพลาสติกเข้าไปมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแผลเป็นมากขึ้นเท่านั้น โรคนี้สามารถนำไปสู่การสลายตัวของต่อมท่อในกระเพาะแท้อย่างช้า ๆ การสูญเสียต่อมเหล่านี้อาจทำให้นกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและปรสิตมากขึ้น และส่งผลต่อความสามารถในการย่อยอาหารและการดูดซึมวิตามินบางชนิด

เมื่อนกกินพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ เข้าไป พวกเขาพบว่ามันทำให้ระบบทางเดินอาหารของนกอักเสบ เมื่อเวลาผ่านไป การอักเสบอย่างต่อเนื่องทำให้เนื้อเยื่อกลายเป็นแผลเป็นและทำให้เกิดพังผืด ส่งผลต่อการย่อยอาหาร การเจริญเติบโต และการอยู่รอด

ทั้งนี้ วัสดุธรรมชาติอื่นที่นกอาจเผลอกินเข้าไป เช่น หินภูเขาไฟหรือหินพัมมิซ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสรุปว่า นี่เป็นโรคที่เกิดจากวัสดุพลาสติกโดยเฉพาะ

บอนด์ กล่าวว่า "แม้ว่านกเหล่านี้ภายนอกจะดูแข็งแรงดี แต่ข้างในกลับไม่ค่อยดีนัก การศึกษานี้เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจสอบเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร และแสดงให้เห็นว่า การบริโภคพลาสติกสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบย่อยอาหารของนกเหล่านี้"

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะศึกษานกเพียงชนิดเดียวในพื้นที่ส่วนเดียวของโลก แต่พวกเขาเชื่อว่า มีแนวโน้มว่าจะมีนกอีกหลายชนิดที่ได้รับผลกระทบจากโรคพลาสติโคซิส อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่าพลาสติโคซิสแพร่กระจายไปมากเพียงใด

"การที่สัตว์ป่าในธรรมชาติจะสัมผัสพลาสติกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมนุษย์มีการทิ้งพลาสติกเพิ่มมากขึ้น และมลพิษจากพลาสติกกำลังแพร่กระจายไปในทุกสภาพแวดล้อมทั่วโลก"


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000022594

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


สดจากเยาวชน: "แมงกะพรุน" สัตว์ดึกดำบรรพ์-รู้ไหมเกิดก่อนไดโนเสาร์ 230 ล้านปี
Lifestyle



"แมงกะพรุน" คือสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่เกิดก่อนไดโนเสาร์ถึง 230 ล้านปี และคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้เราพบเห็นแมงกะพรุนได้ทั้งในก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ สุกี้ ชาบู รวมไปถึงเมนูยอดฮิต แมงกะพรุนน้ำมันงา หลายคนนิยมเลี้ยงแมงกะพรุนในตู้โชว์เพื่อใช้สำหรับดูฝึกสมาธิ เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตที่คงอยู่บนโลกก่อน ย่อมมีเรื่องน่าสนใจมากมายให้ค้นหา

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลบางแสน มหาวิทยาลัยบูรพา อ.แสนสุข จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ย่อส่วนโลกใต้ทะเลมาไว้ให้เด็กๆ และผู้สนใจได้สัมผัสบนพื้นที่กว่า 30 ไร่ เราจะได้รู้จักสัตว์ทะเลหลายร้อยชนิด หนึ่งในนั้นคือแมงกะพรุน

"โซนแมงกะพรุนทั้งสวยและน่าสนใจค่ะ เพราะจัดแสงสีจนเหมือนแมงกะพรุนเรืองแสง เปลี่ยนสีได้ หนูชอบมากค่ะ" ด.ญ.รินรดา โฉมงาม หรือสายป่าน ตื่นตาตื่นใจกับการได้กลับมาเที่ยวสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลบางแสนอีกครั้งหลังจากทำได้เพียงผ่านไปผ่านมา

ก่อนถึงโซนแมงกะพรุนเราจะพบกับห้องวิจัยนักวิทย์ฯ จัดแสดงเรื่องราวแมงกะพรุนให้ชมพร้อมความรู้แน่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแมงกะพรุน "แมงกะพรุนทุกชนิดมีพิษค่ะ เนื่องจากร่างกายของแมงกะพรุนนั้นบอบบาง ธรรมชาติจึงสร้างให้พวกเขามีเข็มพิษเล็กๆ ซ่อนอยู่ เพื่อป้องกันตัว" สายป่านเล่าความรู้ที่ได้รับจากโซนนี้ให้ฟังอย่างกะตือรือร้น

แมงกะพรุนคือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึงกว่าร้อยละ 90 เป็นสัตว์อายุขัยสั้น ลักษณะทั่วไปคือตัวนิ่มและโปร่งใส มีหนวดยาวหรือสั้นแตกต่างกันไปแต่ละชนิด

บริเวณหนวดจะมีเข็มพิษเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วเพื่อทำหน้าที่ดักจับเหยื่อและป้องกันตัว ถือเป็นสัตว์ที่ไม่มีทั้งสมองและหัวใจ จุดเด่นสำคัญคือร่มที่เคลื่อนไหวช้าๆ ไปตามกระแสน้ำทะเล และจับสัตว์เล็กๆ และแพลงค์ตอนกินเป็นอาหาร

ทุกวันนี้แมงกะพรุนมักเป็นอาหารยอดนิยมเพราะเนื้อสัมผัสกรุบกรอบ อย่างเช่นแมงกะพรุนหนังและแมงกะพรุนจานที่ให้โปรตีนสูงและแคลอรี่ต่ำ มีคอลลาเจนที่มีส่วนช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบและหลอดลมอักเสบ นอกจากนี้ยังทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื่นด้วย

ในส่วนของโซนแมงกะพรุนที่จัดแสดงภายในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลบางแสนที่เป็นไฮไลท์คือแมงกะพรุนพระจันทร์หรือแมงกะพรุนถ้วย จัดแสดงในตู้ปลาใหญ่ที่มีแสงสีจากไฟ ทำให้โปร่งใสจนเกิดการเรืองแสงออกมาอย่างงดงามจนเป็นโซนในดวงใจของผู้มาเยือน

แต่หากใครอยากรู้เบื้องหลังตู้จัดแสดงพันธุ์ปลาและสัตว์ทะเล ต้องดูแลและเลี้ยงดูสัตว์ทะเลในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสนกันอย่างไร ชวนติดตามต่อในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน หมอปลา ออกอากาศวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และทางเพจทุ่งแสงตะวัน เวลา 07.30 น.


https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_7548571
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


กองทัพเรือสั่งระงับ 'รีสอร์ตหรู' หน้าผาเขาแสมสาร



10 มี.ค. 2566 ? พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้ พล.ร.ท.สุทิน หลายเจริญ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมด้วย กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร เข้าทำการตรวจสอบรีสอร์ตสุดหรู ที่ตั้งเปิดให้บริการเป็นลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ตู้ ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาหันหน้าออกทะเล ยอดเขาหลวงพ่อดำ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

จากการเข้าตรวจสอบ สืบเนื่องพบว่า รีสอร์ตดังกล่าว ได้มีการโฆษณาอยู่ในสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อน ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.66 ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงการก่อสร้าง และเปิดให้บริการรีสอร์ทแห่งนี้ ว่าถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ และเป็นพื้นที่ดูแลของกองทัพเรือ

ด้าน กองอสังหาริมทรัพย์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค.65 ได้ออกหนังสือเลขที่ กห.0521.8/464 ได้ออกหนังสือ แจ้งไปยังเจ้าของรีสอร์ตดังกล่าว ขอความร่วมมือระงับการพัฒนา หรือดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ขอเช่าที่ราชพัสดุ ตามแบบคำขออนุญาตดำเนินการในพื้นที่ราชพัสดุ (จป.3902) เรื่องขอเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย และการเกษตร ลงวันที่ 7 พ.ย.62 ทั้งนี้ ตามที่ท่านได้ยื่นขอเช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ.481 บริเวณหมู่ 1 ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี (พื้นที่ 1) โดยมีวัตถุประสงค์การขอเช่าเพื่ออยู่อาศัย และประกอบการเกษตร กองอสังหาริมทรัพย์ ฐานทัพเรือสัตหีบ

ขอแจ้งให้ทราบว่า พื้นที่ขอเช่าดังกล่าว เป็นพื้นที่ราชพัสดุใช้ในราชการกองทัพเรือ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ.481 อยู่ในที่ดินหวงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้าม ในท้องที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พ.ศ 2479 และเมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 เวลา 10.00 น.ท่านได้นำเจ้าหน้าที่ของกองสังหาริมทรัพย์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ตรวจพื้นที่ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีการพัฒนาพื้นที่ และนำตู้คอนเทนเนอร์มาติดตั้งไว้ ในบริเวณพื้นที่ขอเช่า จำนวน 6 ตู้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กองทัพเรือกำหนด จึงขอความร่วมมือจากท่านระงับการพัฒนาและหยุดดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ขอเช่าที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว จนกว่าท่านจะได้รับความยินยอมให้เช่าจากกองทัพเรือ ลงนามโดย นาวาเอก สรณรรถ สนธิไทย ผู้อำนวยการกองอสังหาริมทรัพย์ฐานทัพเรือสัตหีบ

ล่าสุด หลังการเข้าตรวจสอบ กองทัพเรือ โดย ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้แจ้งไปยังผู้ดูแลรีสอร์ทดังกล่าว ขอให้หยุดดำเนินการทั้งหมด ไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจากผู้มีอำนาจ และระงับการโฆษณาในสื่อโซเชียล โดยมีพนักงาน เป็นผู้รับเรื่อง และรับการตรวจสอบ ส่วนกรณีดังกล่าว จะมีการดำเนินต่อไปเช่นไรนั้น อยู่ในระหว่างหาข้อสรุปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้สังคม หรือประชาชน เกิดความเคลือบแคลงใจ.


https://www.thaipost.net/district-news/338922/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


มาตรการควบคุมฟรีไดฟ์ ข้อจำกัดโลกใต้น้ำ



อุทยานแห่งชาติหลายแห่งในภาคใต้ เริ่มวางมาตรการควบคุมดูแลกิจกรรมฟรีไดฟ์ เพื่อความปลอดภัยและหวังดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ แต่กลุ่มฟรีไดฟ์บางส่วนมองว่า กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปอาจกลายเป็นข้อจำกัดโลกใต้น้ำของนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำ

โลกใต้น้ำที่เต็มไปด้วยสีสันของปะการังและปลาสวยงามหลายชนิดในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของไทย เป็นโลกที่ดึงดูดนักดำน้ำ และผู้ที่ชื่นชอบโลกใต้ทะเลที่ทั้งอิสระและเงียบสงบ ซึ่งช่วง 4-5 ปีมานี้ อีกกิจกรรมทางน้ำที่กำลังเป็นที่นิยม เรียกว่า ฟรีไดฟ์วิง หรือการดำน้ำตัวเปล่า ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นอย่างหน้ากาก ฟินที่มีลวดลายสวยงาม และชุดว่ายน้ำ เท่านั้น แต่ที่สำคัญต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝน จึงถือเป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่มีการแข่งขันระดับโลก และในต่างประเทศนิยมการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์มาไม่น้อยกว่า 10 ปี

นายวรุตม์ วงศ์ช่วย ครูสอนฟรีไดฟ์ กล่าวว่า ฟรีไดฟ์ ต้องใช้ร่างกาย ต้องฝึกฝน เพื่อพัฒนาตัวเอง จึงเรียกว่ากีฬา นักดำน้ำต้องฝึกกลั้นหายใจให้ได้นานขึ้น ต้องดำน้ำให้ลึกขึ้น ทั้งหมดต้องอาศัยความแข็งแรงของร่างกายและฝึกฝนเป็นประจำ ไม่เหมือนการดำน้ำแบบผิวน้ำ หรือดำน้ำลึกสกูบาที่ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ หากเรียนรู้การใช้ได้ ก็สามารถดำน้ำได้แล้ว

ส่วนประเทศไทย มีหลักสูตรการเรียนการสอนฟรีไดฟ์วิ่ง ที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ 4-5 สถาบัน ผู้เรียนจะต้องผ่านการฝึกอบรมภาคทฤษฎี เรียนรู้เกี่ยวกับสรีระวิทยา รวมทั้งข้อปฏิบัติขณะฟรีไดฟ์วิ่ง เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะฝึกปฏิบัติ ทั้งการกลั้นหายใจ การลอยตัว และการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินหากผ่านการฝึกอบรมและสอบปฏิบัติได้ตามหลักสูตร โดยผ่านการดำน้ำลึกระดับ 10 เมตร จะได้รับบัตรรับรองการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ขั้นต้น

ล่าสุด อุทยานแห่งชาติหลายแห่งในภาคใต้ วางมาตรการควบคุมดูแลกิจกรรมฟรีไดฟ์ อย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีการออกระเบียบข้อปฏิบัติหลายข้อ โดยระบุว่า ต้องการวางมาตรการขึ้น เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยกำหนดกฎเกณ์เกี่ยวกับกิจกรรมฟรีไดฟ์ จึงต้องป้องกันไว้ก่อน แต่ระเบียบที่ออกมาเบื้องต้น ทำให้กลุ่มนักดำน้ำฟรีไดฟ์มองว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการดำน้ำตัวเปล่าหรือฟรีไดฟ์มากพอ ทำให้หลายข้อยังตึงหรือเข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะการจำกัดโซนฟรีไดฟ์ ที่อนุญาตเฉพาะพื้นที่มีความลึกกว่า 10 เมตร

ในฐานะครูสอนฟรีไดฟ์ บอกเล่าว่า ระเบียบข้อนี้ กลายเป็นข้อจำกัด สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ เพราะส่วนใหญ่ สามารถดำน้ำลึกได้มากที่สุดเพียง 5 เมตร หากกำหนดโซน หมายถึงต้องถูกปิดกั้นโอกาส และหากไม่มีโอกาสฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมจริงหรือในทะเล ก็เท่ากับไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนหรือพัฒนาทักษะของตัวเองได้

นอกจากนี้ ยังมีระเบียบที่ระบุว่า อนุญาตเฉพาะผู้ที่มีใบรับรองผ่านการสอบดำน้ำฟรีไดฟ์แล้วเท่านั้น ก็ยังเป็นข้อจำกัด จึงเสนอให้ทางอุทยานฯ คัดกรองนักดำน้ำจากการผ่านการเรียนหลักสูตรต่างๆ แทน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อจากระบบออนไลน์ได้ไม่ยาก

จากประสบการณ์ที่สอนและสอบนักดำน้ำที่ผ่านและได้ใบรับรองมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น อีกร้อยละ 80 ไม่ผ่านการสอบตามหลักเกณฑ์ แต่ทุกคนจะได้เรียนรู้วิธีการดำน้ำที่ถูกต้อง และปลอดภัย รวมทั้งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมทางน้ำทุกชนิดย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น มันจึงเป็นเรื่องของจิตสำนึกล้วน ๆ

ผมคิดว่าใบรับรองไม่ใช่สิ่งที่การันตีหรือเอามาเป็นตัวชี้วัดได้ แต่กลับเป็นการจำกัดโอกาสของนักดำน้ำมือใหม่ และต้องการให้นำความคิดเห็นของกลุ่มนักดำน้ำฟรีไดฟ์เข้าพิจารณาก่อนประกาศเป็นระเบียบในอนาคต

อย่างก็ตาม ขณะนี้อุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับกิจกรรมฟรีไดฟ์ที่แตกต่างกันออกไป ตามดุลพินิจของหัวหน้าอุทยานฯ ขณะที่บางแห่งอย่างอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา ประกาศงดกิจกรรมฟรีไดฟ์ในพื้นที่ จนกว่าจะมีประกาศมาตรการที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ระบุว่า อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นและพิจารณาส่งไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


https://www.thaipbs.or.th/news/content/325428

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


"รับหลักการ" สนธิสัญญาทะเลหลวง เป้าเกิดเขตคุ้มครองทะเลหลวง 30%

"รับหลักการแล้ว" สนธิสัญญาทะเลหลวง ข้อตกลงสหประชาชาติที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปี ท่าทีไทย "หนุนบรรลุข้อตกลงให้เร็วที่สุด"

คาดเหมืองใต้ทะเลในน่านน้ำสากล "เกิดยากมากขึ้น" หลังสนธิสัญญา เบื้องต้นคาดไทยได้ประโยชน์เชิงข้อมูล วิชาการ ความร่วมมือและเสริมสร้างศักยภาพ ยังไม่ชัดถึงประชาชนอย่างไร

ด้าน Greenpeace ประกาศหนุนให้เกิดเขตคุ้มครองในทะเลหลวงให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ? ชวนสาธารณะจับตาการบังคับใช้ตามสนธิสัญญา


(ภาพ : Diane Keough / Moment / Getty Images)


"เห็นชอบ" หลังเจรจายาว 38 ชั่วโมง

"การประชุมที่เพิ่งจบไปคือประเทศสมาชิกรับหลักการที่ประธานในที่ประชุมนำเสนอซึ่งเป็นตัว draft ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องแปลเป็นภาษาทางการของ UN อีก 5 ภาษา ซึ่งหลังจากแปลเสร็จชาติสมาชิกก็จะต้องลงนามรับรองสนธิสัญญาแล้วนำไปสู่การ adoptation และ implement ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลในทะเลหลวง

ตัว final text ของสนธิสัญญายังไม่มีประกาศออกมาค่ะ ว่าจะได้เมื่อไร แต่ไม่ควรนานเกิน 1 เดือน

ซึ่งตัวสนธิสัญญาถือว่าเป็นหมุดหมาย แต่การจะไปสร้างเขตคุ้มครองก็จะต้องถูกผลักดันต่อไปว่าพื้นที่ตรงนี้ ชาติสมาชิกจะต้องนำเสนอให้กับสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา และต้องให้ cop รับรองว่าจะต้องมีการใช้พื้นที่ตรงนี้ในการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

ตอนนี้เรามีหลักการของสิ่งที่จะนำไปใช้เพื่อปกป้องท้องทะเล ขั้นต่อไปก็คือเลือกพื้นที่ที่จะทำเป็นเขตคุ้มครองทางทะเล และให้ประเทศที่อยู่บริเวณนั้นทำแผนเพื่อเสนอไปที่กลุ่มประเทศสมัชชาภาคี

การประชุมในครั้งนี้แต่ละประเทศเห็นชอบร่วมกัน ขั้นต่อไปคือรับรองหลักการทุกอย่างที่คุยกัน ทั้งในเรื่องการจัดการพื้นที่ การทำ EIA ของพื้นที่ทะเล การพูดคุยว่าใครจะเป็นคนลงเงิน และการแบ่งปันความรู้ในด้านเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยก็ต้องเข้ามา share ทั้งข้อมูล และเงินให้กับประเทศที่ยากจนกว่า"

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซประเทศไทย ตัวแทนจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์ การประชุมหารือเพื่อลงมติรับรองสนธิสัญญาทะเลหลวงที่ นิวยอร์ก ประเทศอเมริกา เปิดเผยกับ GreenNews วันนี้ (8 มี.ค. 2566)

การบรรลุข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 21:30 น. ของวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 มี.ค. 2566) ณ อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN headquarters) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 9:30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. 2566 ตามเวลาประเทศไทย)

หลังจากที่คณะผู้เจรจาจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติกว่า 100 ประเทศ ใช้เวลาพูดคุยกว่า 38 ชั่วโมง จนเห็นชอบร่วมกันในหลักการของ สนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติ (UN High Seas Treaty) ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาการปกป้องทะเลหลวงฉบับแรกที่ได้บรรลุข้อตกลงนี้ หลังจากต้องใช้เวลาในการหารือ ปรับแก้ไขต่าง ๆ มาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้มีการพูดคุยกันครั้งแรกเมื่อปี 2004 (พ.ศ. 2547)

สนธิสัญญานี้ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์ผืนดิน และมหาสมุทร 30% ของโลกภายใน พ.ศ. 2573 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลตามที่รัฐบาลโลกเห็นชอบในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ลงนามที่เมืองมอนทรีออลในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา

สนธิสัญญาฉบับใหม่ เมื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ลงนาม และให้สัตยาบันโดยประเทศต่าง ๆ เพียงพอแล้ว จะอนุญาตให้มีการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากลเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมที่เสนอในทะเลหลวงอีกด้วย

นักกิจกรรมจากกรีนพีซถือป้าย OCEAN TREATY NOW หน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ที่กำลังประชุมเกี่ยวกับสนธิสัญญาทะเลหลวง เมื่อ 27 ก.พ. 2566


ท่าทีไทย ในที่การเจรจา

"ที่ผ่านมาประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมมาโดยตลอด โดยกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ทั้งการประชุม IGC5 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงครั้งนี้ด้วย

ซึ่งไทยค่อนข้าง active (กระตือรือร้น) ในการแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางทะเล รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยีเกี่ยวกับ marine genetic resources

เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทะเลหลวง แต่ว่าถ้ามีการตั้งเขตคุ้มครองขึ้นมา ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกแบ่งปันให้กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้ทางทะเลของไทยกว้างมากขึ้น

ทำให้ท่าทีของไทยในการประชุมมีความโอนอ่อนผ่อนปรนค่อนข้างมาก เพื่อที่จะทำให้บรรลุข้อตกลงได้เร็วที่สุด ขณะที่มีบางประเทศที่มีเรื่องที่จะต้องปกป้อง ท่าทีก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง" ณิชนันท์ กล่าวถึงท่าทีของตัวแทนจากรัฐบาลไทยต่อสนธิสัญญาทะเลหลวง


ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับ

"สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ในเชิงระหว่างประเทศก็จะเป็นความร่วมมือ ได้รับองค์ความรู้ ประเด็นทางวิทยาศาสตร์ การเสริมสร้างงานทาง capacity building (การเสริมสร้างขีดความสามารถ) ที่ประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับจากการลงนาม เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ใกล้กับทะเลหลวงมากขนาดนั้น

แต่ในเชิงระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะทะเลหลวงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นพื้นที่ที่เรายังศึกษาไม่หมดว่า ในพื้นที่ใต้ทะเลที่อยู่ลึกลงไปมีอะไรบ้าง ในเชิงระบบนิเวศสนธิสัญญานี้จะช่วยให้พื้นที่ทางทะเลของไทยยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

แต่ถ้าเป็นผลประโยชน์อย่างประชาชนกับประชาชนยังไม่ชัดขนาดนั้นในตัวสนธิสัญญา" ณิชนันท์กล่าว


"เกิดยากมากขึ้น" เหมืองใต้ทะเลในน่านน้ำสากล

หลังจากพบว่าใต้ท้องทะเลมีแหล่งแร่ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น แบตเตอรี่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโทรศัพท์ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (ShipExpert)

จากการค้นพบนั้นทำให้การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้ามีการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลขึ้นมาก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล (Greenpeace)

ตัวแทนจากกรีนพีซจึงกล่าวว่า การเกิดขึ้นของสนธิสัญญาทะเลหลวงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหมืองใต้ทะเลเกิดยากขึ้นในน่านน้ำสากล

"ตัวสนธิสัญญากำหนดไว้ว่าให้มีการศึกษาผลกระทบ EIA ด้วย ซึ่งถ้ามันจะเกิดขึ้น (เหมืองใต้ทะเล) อย่างน้อยก็ยังมีหลักการว่าจะต้องทำ EIA ก่อน" ตัวแทนจากกรีนพีซกล่าว

"ทาง Greenpeace เราต้องการผลักดันให้เกิดเขตคุ้มครองในทะเลหลวงให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ซึ่งทางเราได้ทำการศึกษาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อดูว่าพื้นที่ทะเลหลวงตรงไหนกำลังมีปัญหา และต้องได้รับการปกป้อง

โดยพื้นที่ที่เราต้องการทำให้เกิดขึ้นเป็นที่แรกจะอยู่ที่ทะเลซาร์กัสโซ ที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหมืองใต้ทะเล

จากผลการประชุมที่ผ่านมาที่มีการเห็นชอบร่วมกันในตัวสนธิสัญญาจะมีผลกระทบแน่ ๆ ต่อการพิจารณาว่าจะให้มีการทำเหมืองใต้ทะเลหรือไม่ ต่อการประชุมที่จะเกิดขึ้นในอาทิตย์หน้าของ International Seabed Authority ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับพื้นที่ใต้ท้องทะเล" ณิชนันท์ กล่าว

จากรายงานข่าว สนธิสัญญาใหม่นี้จะจำกัดปริมาณการทำประมง เส้นทางการเดินเรือ และกิจกรรมการสำรวจ อาทิ การทำเหมืองแร่ทะเลลึก หลังจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกังวลว่ากระบวนการทำเหมืองแร่อาจรบกวนพื้นที่การผสมพันธุ์ของสัตว์ สร้างมลพิษทางเสียง และเป็นพิษต่อสัตว์ทะเล


วิกฤต-ทะเลโลก

ทะเลโลกหรือทะเลหลวง หมายถึง พื้นที่ห่างจากฝั่งมากกว่า 200 ไมล์ทะเล โดยเป็นพื้นที่ของทะเลที่ไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ในทะเลอาณาเขต หรือน่านน้ำภายในของรัฐใด ซึ่งทะเลหลวง หรือที่เข้าใจอย่างง่ายนั่นคือ "น่านน้ำสากล" มีเสรีภาพ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น เสรีภาพในการเดินเรือ, การบิน, การทำประมง ฯลฯ

ทะเลหลวงครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 43 ของพื้นผิวโลก และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด

ที่ผ่านมามีเพียงพื้นที่ 1.2% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่อยู่ในทะเลหลวงนอกเขตคุ้มครองเหล่านี้ ถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี ส่งผลให้สัตว์ทะเลเกือบ 10% ได้รับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ตามรายงานของ IUCN

และสาเหตุหลักของความเสี่ยงต่อการสูญนั้นเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่มากเกินไป รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งส่วนหนึ่งถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ทำให้มหาสมุทรกำลังกลายเป็นกรดมากขึ้นทีละน้อย

นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเกิดจากการเกิดคลื่นความร้อนในทะเลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทะเล

กว่า 20 ปีที่มีการเจรจาเพื่อให้เกิดสนธิสัญญาปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทะเลหลวง ความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ นักกิจกรรม เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาที่จะช่วยปกป้องมหาสมุทรโลก ซึ่งกินพื้นที่กว่า 60% ของพื้นผิวโลก และกำลังเผชิญกับภัยคุกคามรอบด้าน จนในที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาดังกล่าวแล้ว


ข้อกังวล ประเด็นน่าจับตา

"ไม่เชิงว่าเป็นข้อกังวล แต่ก็ยังต้องจับตาดูต่อไปในเรื่องของการ implement ตัวสนธิสัญญา สำหรับทาง greenpeace เราต้องการผลักดันให้เกิดเขตคุ้มครองในทะเลหลวงแห่งแรกให้ได้ก่อนปี 2573 ซึ่งทาง greenpeace ได้ทำการศึกษาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อดูว่าพื้นที่ทะเลหลวงตรงไหนกำลังมีปัญหา และต้องได้รับการปกป้อง

โดยพื้นที่ที่เราต้องการทำให้เกิดขึ้นเป็นที่แรกจะอยู่ที่ทะเลซาร์กัสโซ ที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหมืองใต้ทะเล ซึ่งตัวสนธิสัญญากำหนดไว้ว่าให้มีการศึกษาผลกระทบ EIA ด้วย ซึ่งถ้ามันจะเกิดขึ้นอย่างน้อยก็ยังมีหลักการว่าจะต้องทำ EIA ก่อน

ซึ่งจากผลการประชุมที่ผ่านมาที่มีการเห็นชอบร่วมกันในตัวสนธิสัญญาจะมีผลกระทบแน่ ๆ ต่อการพิจารณาว่าจะให้มีการทำเหมืองใต้ทะเลหรือไม่ ต่อการประชุมที่จะเกิดขึ้นในอาทิตย์หน้าของ international seabase organization ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับพื้นที่ใต้ท้องทะเล" ณิชนันท์กล่าว


https://greennews.agency/?p=33539

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:48


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger