เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 13-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด และระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 15 - 16 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงมากเนื่องจากการระบายอากาศไม่ดี ส่วนภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีการสะสมน้อย เนื่องจากการระบายอากาศในบริเวณดังกล่าวยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 13 - 14 เม.ย. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 16 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17 ? 18 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ตลอดช่วง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 16 เม.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 2 (103/2566) (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 15 ? 16 เมษายน 2566)

ในช่วงวันที่ 15 - 16 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ


วันที่ 15 เมษายน 2566

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด


วันที่ 16 เมษายน 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตรพิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และ บุรีรัมย์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 13-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สุดทน นักท่องเที่ยวร้องเรียนขยะเกลื่อน "อ่าวฮาลอง" ทางการเวียดนามเร่งจัดเก็บ

ขยะลอยเกลื่อนอ่าวฮาลอง แหล่งมรดกโลกของเวียดนาม ทำเอานักท่องเที่ยวลั่นว่าจะไม่กลับมาอีกแล้ว พร้อมเข้าร้องเรียนผู้ประกอบการท่องเที่ยว ก่อนที่ทางการจะเร่งดำเนินการจัดเก็บขยะ



เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 เว็บไซต์ข่าว VN Express รายงานว่า ไม่นานมานี้ "อ่าวฮาลอง" (Ha Long Bay) สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังทางภาคเหนือของเวียดนาม ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก กำลังเผชิญปัญหามลภาวะจากขยะที่ลอยเกลื่อนอ่าว บรรดานักท่องเที่ยวที่ไปล่องเรือชมทัศนียภาพความสวยงามของธรรมชาติต้องถูกรบกวนจากเศษขยะ และกล่องโฟมที่ลอยอยู่เกลื่อนบนผิวน้ำ

โดยนายฟาม ฮา ซีอีโอของบริษัทลักซ์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการเรือนำเที่ยวสุดหรูบริเวณอ่าวฮาลอง และอ่าวลานฮา ได้โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่าบริเวณอ่าวฮาลองมีเศษขยะ และกล่องโฟมลอยเป็นแพบริเวณผิวน้ำ พร้อมระบุว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เข้าร้องเรียนว่าอ่าวฮาลองเต็มไปด้วยขยะ และพวกเขาตัดสินใจว่าจะไม่กลับมาเที่ยวที่นี่อีกแล้ว

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ทางกระทรวงการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรมของเวียดนาม ได้สั่งการให้คณะกรรมการบริหารจัดการการอ่าวฮาลอง รายงานเกี่ยวกับปัญหาขยะบริเวณแหล่งมรดกโลกแห่งนี้ ทางด้านคณะกรรมการบริหารจัดการการอ่าวฮาลอง เปิดเผยว่า ขณะในอ่าวฮาลองส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านที่เพาะเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ที่มักจะทิ้งทุ่นโฟมลงน้ำ หลังจากย้ายปลาที่โตได้ที่ไปใส่ในกรง

ทางด้านทางหน่วยงานท้องถิ่นได้จัดแคมเปญเก็บขยะอ่าวฮาลอง โดยมีเรือ 8 ลำ พร้อมด้วยเรือท้องแบน 20 ลำ ออกเก็บขยะบริเวณอ่าวฮาลอง นอกจากนี้ทางการออกแคมเปญระยะยาวปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลอ่าวฮาลอง จะเริ่มในวันที่ 21 เมษายนนี้ เพื่อสร้างความตระหนักแก่ชาวบ้านให้ช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อมและดูแลปัญหาขยะอ่าวฮาลอง.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2678118

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 13-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


"ฉลามหูดำ" โชว์ตัวเริงร่าในอ่าวมาหยา พบเฉลี่ยวันละ 15 ตัว



อาจารย์ธรณ์ เผยพื้นที่อ่าวมาหยาในวันนี้ไม่ใช่โดดเด่นเพียงทัศนียภาพความสวยงาม แต่คือพื้นที่ใช้ประโยชน์แบบแบ่งปันกันระหว่างคนกับฉลาม ชวนลงมือทำให้ยั่งยืนทั้งด้านการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ใครมาใครเห็น ใครก็ตะลึง ทึ่งกันทั่วโลก

เพราะพื้นที่อ่าวมาหยาวันนี้ยังเป็นแหล่งให้กำเนิด แหล่งอนุบาลฉลามครีบดำที่สำคัญมากๆ ของประเทศไทย และยังมีศักยภาพเป็นแหล่งอนุรักษ์ แหล่งศึกษาวิจัย และแหล่งท่องเที่ยวดูฉลามที่มีความสำคัญระดับโลกได้ หากมีการจัดการพื้นที่อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 7 จังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ส่วนจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ทำการสำรวจติดตามประชากรและพฤติกรรมของฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ภายใต้โครงการสำรวจจำนวนและพฤติกรรมตามธรรมชาติของฉลามครีบดำในอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ (Shark Watch Project)

โดยใช้วิธีถ่ายภาพทางอากาศ (อากาศยานไร้คนขับ) แบบ Transect เพื่อนับประชากรฉลาม และตั้งกล้องถ่ายใต้น้ำ BRUV (Baited Remote Underwater Video) เพื่อสังเกตพฤติกรรมฉลาม จากการสำรวจเบื้องต้น พบประชากรของฉลามครีบดำเฉลี่ยประมาณ 15 ตัว/วัน โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ในเชิงลึกขั้นต่อไป


ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเพจ Thon Thamrongnawasawat เพื่อชวนให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ฉลามหูดำ ว่า

ใครที่ไปอ่าวมาหยา อาจได้ยินเสียงนกหวีดปรี๊ดๆ ของพี่เจ้าหน้าที่เป่าเตือนเป็นระยะ เมื่อนักท่องเที่ยวบางคนทำท่าว่าจะลงทะเลลึกเกินเข่า

บางคนอาจสงสัยในใจ ไปไกลกว่านั้นได้ไหม เดี๋ยวถ่ายภาพไม่สวย ขอสักแค่เอวก็น่าจะได้ ฉลามคงไม่เข้ามาใกล้ฝั่งขนาดนั้นหรอกมั้ง

เพราะฉะนั้น ยังมีฉลามที่อ่าวมาหยา มีเยอะด้วย และเข้ามาใกล้ฝั่งด้วย

การศึกษาของอุทยานทางทะเลร่วมกับกลุ่มนักวิจัยฉลามที่อ่าวมาหยา พบว่าฉลามแบ่งเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ กลุ่มแรกเป็นลูกฉลามตัวเล็กมักอยู่ใกล้ฝั่ง หลายท่านไปก็คงเห็น

อีกกลุ่มคือพวกตัวใหญ่ จะอยู่แนวนอกห่างฝั่งออกไป 200/300 เมตร แต่ก็มีช่วงเข้ามาใกล้ฝั่งเหมือนกันนะ เหมือนในภาพนี้
เป้าหมายหลักของการจัดการท่องเที่ยวอ่าวมาหยาคือคนเที่ยวได้ ฉลามอยู่ได้ เราไม่เบียดเบียนกันและกัน

เราไม่รุกรานบ้านฉลามลึกเกินเข่า แม้เราจะไม่เคยคิดทำร้ายพวกเธอ แต่เธอๆ และลูกเธอๆ อาจตกใจ อาจว่ายหนีไปก็หนีมา รบกวนพฤติกรรม

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย ฉลามไม่คิดทำร้ายคน แต่ขนาดหมาแมวที่เราเลี้ยงยังเผลอกัดข่วนเราได้เลยครับ

เพราะฉะนั้น ลึกแค่เข่าจึงเป็นเส้นแบ่งอย่างสันติระหว่างคนกับฉลาม ทำให้แม้นักท่องเที่ยวกลับมาเยอะแล้ว แต่ยังคงมีฉลามหลายสิบอยู่ในอ่าวมาหยา

เป็นการแบ่งปันกันระหว่างคนกับฉลาม ยั่งยืนทั้งการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างที่ใครมาใครเห็นใครก็ตะลึง ทึ่งกันไปทั่วโลกา

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านคงเข้าใจความหมายของ "แค่เข่า" และปฏิบัติตามกฏกติกา เพื่อให้ฝูงฉลามคงอยู่คู่มาหยาได้ตลอดไปนะครับ


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9660000034283

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 13-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์



คณะวิทย์ มธ.เผย กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ แต่ไม่ต้องย้ายเมืองหลวง แค่เสริมแนวป้องกันริมแม่น้ำ



คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือน กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในมหานครที่เสี่ยงจมบาดาลในอีก 50 ปี แนะปรับผังเมืองโดยไม่ 'ทุบ รื้อ ถอน' เสริมแนวป้องกันริมแม่น้ำ ไม่ต้องย้ายเมืองหลวง

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) เผย กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาลภายใน 50 ปี ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย คือ

1. การทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ย 2-3 เซนติเมตรต่อปี
2. น้ำทะเลหนุน
3. การสูญเสียน้ำใต้ดินจากการใช้น้ำบาดาลในอดีต พร้อมแนะ 'ปรับผังเมือง' โดยยึดหลักไม่ 'ทุบ รื้อ ถอน' เน้นปรับฟังก์ชั่นการใช้งาน อาทิ การลดพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 1 โดยใช้งานตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป เพื่อลดผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน, การเพิ่มทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) ที่เชื่อมจากอาคารออฟฟิศ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเดินลุยน้ำ ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมากถ้าเทียบกับการรื้อผังเมืองเพื่อสร้างใหม่หรือการย้ายมหานคร, การเสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูง ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกันห่วงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ที่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเสนอไอเดียเพิ่มแรงจูงใจหยุดการเผา ที่ช่วยลด Hot Spot อย่างยั่งยืน เพื่อคืนสุขภาพปอดที่ดีให้คนไทย และไม่หนุนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบปีต่อปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) เผย กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาลภายใน 50 ปี ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย คือ
1. การทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ย 2-3 เซนติเมตรต่อปี
2. น้ำทะเลหนุน
3. การสูญเสียน้ำใต้ดินจากการใช้น้ำบาดาลในอดีต ซึ่งนอกจาก กทม. แล้ว ยังพบว่าเมืองหลวงหรือมหานครหลายแห่งของประเทศต่างๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อาทิ อินโดนีเซีย, ไนจีเรีย, รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา, รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา, รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา, รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา, บังคลาเทศ, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, อิยิปต์ ซึ่งส่วนใหญ่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ติดทะเล มีลักษณะเป็นเมืองท่า ที่มีความสำคัญง่ายต่อการเดินทางสัญจร การติดต่อค้าขายตั้งแต่อดีต ที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน และเป็นปัญหาที่หลายประเทศเร่งหาทางออก ซึ่งบางประเทศได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวง อาทิ อินโดนีเซีย

จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลรุกคืบจาก ภาวะโลกรวน (Climate Change) และ 3 ปัจจัยเสี่ยงของมหานครที่เป็นเมืองท่าติดทะเล พบว่า การย้ายมหานครควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากกระทบต่อประชาชนที่ต้องเคลื่อนย้าย และใช้งบประมาณที่สูงมากกับการจัดผังเมืองเมือง สร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภค โดยคณะวิทย์ มธ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการ 'ปรับผังเมือง' โดยยึดหลักไม่ 'ทุบ รื้อ ถอน' ซึ่งเน้นการปรับฟังก์ชั่นการใช้งานประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่

1. การลดพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 1 โดยใช้งานตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป เพื่อลดผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน

2. การเพิ่มทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) ที่เชื่อมจากอาคารออฟฟิศ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเดินลุยน้ำ ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมากถ้าเทียบกับการรื้อผังเมืองเพื่อสร้างใหม่หรือการย้ายมหานคร

3. การเสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูง ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ คณะวิทย์ มธ. ยังมองถึงปัญหาของกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่รอยต่อชายทะเลของภาคกลาง อาทิ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ที่เริ่มเห็นผลกระทบจากการรุกคืบของน้ำทะเล และการกัดเซาะชายฝั่ง และทำให้สูญเสียพื้นที่บกตามแนวชายฝั่งไป ซึ่งการการลงพื้นที่พบว่าแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่าง ?ป่าชายเลน? มีไม่มากพอที่จะทำหน้าที่ชะลอความแรงของคลื่น และเพิ่มการตกตะกอน จนนำไปสู่การเกิดแผ่นดินงอกใหม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง แต่จากการศึกษาในพื้นที่พบว่า เมื่อจบขั้นตอนการปลูกแล้ว ไม่มีการดูแลติดตามผล ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ปัญหาการระบายน้ำและของเสียภายในแปลงปลูก เนื่องจากบริเวณป่าชายเลนจะประกอบไปด้วยโคลนและตะกอน เมื่อสะสมเป็นเวลานานโดยไม่มีการไหลเวียนของน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของสารอินทรีย์ในปริมาณมาก ดินตะกอนเกิดการเน่าเสีย จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกล้าไม้ที่ปลูก และทำให้กล้าไม้ตายในที่สุด

จากการศึกษายังพบว่า มีการใช้แปลงปลูกป่าชายเลนหลายแห่ง เพื่อปลูกเวียน ปลูกซ้ำ ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าชายเลยไม่ได้เพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน บริเวณชายฝั่งถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งคณะวิทย์ มธ. มีคำแนะนำสำหรับการปลูกป่าชายเลน คือ ต้องสร้างความตระหนักรู้กับประชาชนว่า เมื่อปลูกแล้วต้องติดตามการเติบโต หมั่นดูแลการไหวเวียนของน้ำ และระบบนิเวศแปลงปลูก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ควรทำต่อเนื่องและวัดผลจากพื้นที่ป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้น แทนการวัดด้วยจำนวนต้นที่ปลูกใหม่ โดยแนะนำให้เสริมกิจกรรมการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อเพิ่มเกราะป้องกันแนวป่าชายเลนที่ปลูกใหม่ ซึ่งทั้งการปลูกป่าชายเลนที่มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และการเสริมแนวไม้ไผ่กันคลื่นก่อนปะทะแนวป่าปลูกใหม่ จะช่วยลดผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่ง และลดความเสี่ยงน้ำทะเลหนุนของ กทม. และจังหวัดที่มีติดชายฝั่งทะเลได้อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน คณะวิทย์ มธ. ยังห่วงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ที่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ที่ส่วนใหญ่เกิดจาก 'การเผาของภาคเกษตรกรรม' และรองลงมาคือ 'ไฟป่า' โดยเสนอไอเดียสำหรับการแก้ปัญหา ?ฝุ่นละอองขนาดเล็ก? ในระยะยาวที่เริ่มได้ทันที ด้วยการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อหยุดการเผา ที่ช่วยลด Hot Spot อย่างยั่งยืน และไม่ควรหนุนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปีต่อปี โดย คณะวิทย์ มธ. มีแนวทางเพื่อคืนสุขภาพปอดที่ดีให้แก่คนไทย 2 แนวทาง ดังนี้

1. เพิ่มรางวัลจูงใจแก่ชุมชนที่ปลอดการเผา 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ ให้งบประมาณอุดหนุนการซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษ, คูปองส่วนลดน้ำมันกลุ่มดีเซลสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ควบคู่กับการลงโทษด้วยการจับปรับ ที่มีกระบวนการที่ล่าช้า และมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ อาทิ พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ?ดอยหลวงเชียงดาว? ที่มีแนวทางบริการจัดการที่น่ายกย่องให้เป็นแบบอย่างของวิถีชุมชนกับป่าและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ เน้นสร้างการมีส่วนร่วม ให้คนในชมชนร่วมเป็นเจ้าของ ตั้งกำลังคนในชุนชนทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการทำแนวกันไฟอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ทำลายทรัพยากร และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จนกลายเป็นพื้นที่ป่าต้นแบบ ที่ไม่มี 'ไฟป่า' เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี ซึ่งทำให้ชุมชนสามารถต่อรองเพื่อของบประมาณเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว จนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

"อย่างไรก็ดี เรื่องของ ''สิ่งแวดล้อม' ยังคงเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาเมือง และคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) จึงเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ ที่จะได้เติบโตบนเส้นทางสู่ 'นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม' ที่จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่จะถูกยกระดับจากทีมเบื้องหลังในห้องปฏิบัติการ สู่ทีมงานแถวหน้าที่มีความสำคัญของทุกองค์กร ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการทำธุรกิจที่มุ่งสู่ Net Zero เพื่อชะลอความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ร่วมกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีภารกิจร่วมกันให้สำเร็จ" ...... ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรเทพ กล่าวทิ้งท้าย


https://mgronline.com/science/detail/9660000034092

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 13-04-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก อสมท.


ทช. ตั้งศูนย์ดูแล ปชช. 41 แห่ง ดูแลความปลอดภัยทางทะเลให้ ปชช.



11 เม.ย.66 - กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง พร้อมดูแลนักท่องเที่ยวพื้นที่ชายฝั่งทะเล เตรียมจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว จำนวน 41 แห่ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้มีวันหยุดราชการในช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13 - 17 เมษายน 2566 รวมทั้งสิ้น จำนวน 5 วัน

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจ บริเวณพื้นที่ชายทะเลเป็นจำนวนมาก อาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุขึ้นได้นั้น ตนจึงได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 - 10 จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกฯ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ เช่น รถยนต์ เรือ พร้อมอุปกรณ์เสื้อชูชีพ น้ำส้มสายชู ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ มีหัวหน้าชุด ผู้รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ และให้จัดทำแผนการดำเนินการพร้อมทั้งประสานการปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อม และให้รายงานผลการปฏิบัติงานประจำวัน ภายในเวลา 20.00 น. ของทุกวัน (ระหว่างวันที่ 13 - 17 เมษายน 2566) ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ผู้บริหารฯ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 - 10 ได้ตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวทางทะเล ในช่วงสงกรานต์ เน้นท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ 479 นาย รถยนต์ 64 คัน เรือ 31 ลำ ดูแลสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล 41 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว 13 แห่ง ชายหาด 24 แห่ง และป่าในเมืองอีก 4 แห่ง เพื่อรองรับประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในพื้นดังกล่าว

ทั้งนี้ รองอธิบดี ทช. จะลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ รวมถึงมอบเครื่องดื่มให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยฯ และได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยคาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนเป็นจำนวนมากและมาพร้อมกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการลด ละ เลิก ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งปัญหาขยะพลาสติกจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง หากขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเล จะสร้างปัญหาต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ ฝากถึงนักท่องเที่ยวให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตารักษาสิ่งแวดล้อมกันด้วย อีกทั้งยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด รวมถึงได้ให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ทำงานด้วยความตั้งใจ รอบคอบ และปลอดภัยในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 นี้อีกด้วย


https://www.mcot.net/view/jnPoxJqC

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 04:09


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger