#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2566
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
"แม่เพรียง" เต่ากระ กลับขึ้นมาวางไข่หาดเกาะทะลุ รังที่ 2 ของปี 161 ฟอง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม พบ "แม่เพรียง" เต่ากระ กลับขึ้นมาวางไข่ที่บริเวณชายหาดเกาะทะลุ รังที่ 2 รวม 161 ฟอง วันที่ 28 พฤษภาคม 2566 มีรายงานว่า นายเอกฤทธิ์ ดวงมาลา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) กล่าวว่า ในช่วงระยะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูขึ้นมาวางไข่ของเต่ากระ ที่บริเวณชายหาดเกาะทะลุ เป็นประจำทุกปี โดยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 เวลา 01.49 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับ มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ได้ร่วมกันออกลาดตระเวนบริเวณพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดที่เต่ากระมักขึ้นมาวางไข่เป็นประจำทุกปี จนไปพบรอยเต่ากระคลานขึ้นมา และคอยติดตามจนกระทั่งเต่ากระทำการวางไข่แล้วเสร็จ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นแม่เต่ากระชื่อว่า "แม่เพรียง" หมายเลขไมโครชิพ 933.076400505 867 ขึ้นวางไข่บริเวณอ่าวในหุบของเกาะทะลุ จำนวน 1 รัง จำนวน 161 ฟอง ซึ่งเป็นรังที่ 2 ของปีนี้ ก่อนหน้านี้ "แม่เพรียง" ได้วางไข่รังที่ 1 จำนวน 135 ฟอง จากการตรวจสอบขนาดลำตัวของแม่เพรียงมีความกว้าง 76 เซนติเมตร ยาว 83 เซนติเมตร ขนาดของหลุมกว้าง 21 เซนติเมตร ลึก 43 เซนติเมตร ซึ่งห่างจากน้ำทะเล 10 เมตร เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันทำการเคลื่อนย้ายรังไปยังบ่ออนุบาลของมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม เพื่อเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางธรรมชาติ โดยมีมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ เฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งไข่เต่ากระจะใช้เวลาในการเพาะฟักที่จะโผล่ขึ้นมาจากหลุมคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 60-65 วัน ซึ่งหากลูกเต่าออกมาแล้วก็จะนำไปอนุบาลไว้ในบ่อเพาะเลี้ยงต่อไปจนกว่าสุขภาพจะแข็งแรง จึงจะปล่อยกลับลงสู่ทะเล. https://www.thairath.co.th/news/local/2697580
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
วอนเร่งสอบ! ต่างชาติเปิดคอร์สเรียนวาดรูปใต้ทะเลภูเก็ต ชี้พบใช้สีอันตรายต่อสัตว์น้ำ-ปะการัง เพจดังเผยพบดรามาจากต่างประเทศมีการเปิดสอนวาดรูปใต้ทะเลที่จังหวัดภูเก็ต พบมีการใช้สีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำและปะการัง และคอร์สเรียนเปิดสอนมานานในราคาหลักแสน คาดอาจมีทำในเขตอุทยานฯ ด้วย วันนี้ (28 พ.ค.) เพจ "ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND" ได้โพสต์ภาพชาวต่างชาติดำน้ำพร้อมวาดรูปไปด้วย โดยระบุว่าเป็นคอร์สเรียนที่เปิดในทะเลภูเก็ตมานาน และมีราคาสูงถึงหลัก 100,000 บาท และกังวลว่าเป็นการทำร้ายต่อปะการังหรือไม่ เพราะสังเกตเห็นการฟอกขาว จึงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยข้อความระบุว่า "ตรวจสอบสีที่เขาใช้ด่วนๆ พอดีมีดรามามาจากเมืองนอก แต่มันดันเป็นที่ภูเก็ตครับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ได้รับรายงานเข้ามาว่า ที่ภูเก็ตมีการเปิดคอร์สสอนดำน้ำวาดภาพ คอร์สเรียนหนึ่งเป็น 100,000 บาท มานานแล้ว ทำโดยชาวต่างชาติ โดยไม่รู้มีใบอนุญาตไหม แต่ที่กังวลคือ สีที่เขาใช้นั้นเป็นอันตรายต่อปะการังรึเปล่า สังเกตในภาพมีการฟอกขาว จึงอยากให้หน่วยงานมีการตรวจสอบครับ ว่าถูกต้องหรือไม่ และสีวาดรูปนั้นมีสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและปาการังหรือไม่ พบเอกสารระบุว่าสียี่ห้อนี้อันตรายต่อ สิ่งมีชีวิตในน้ำและปะการัง จึงอยากให้มีการเร่งตรวจสอบครับ เพื่อคลายความกังวลของคนที่ห่วงใยทะเลไทย เพราะเชื่อว่าอาจมีทำในเขตอุทยานฯ ด้วย" https://mgronline.com/onlinesection/.../9660000049070 ****************************************************************************************************** จีนพบฟอสซิล 'ปีศาจแห่งทะเล' ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ใกล้ยอดเขาสูงสุดในโลก คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนค้นพบซากฟอสซิล "หิมาลายาซอรัส" (Himalayasaurus) สัตว์นักล่าใต้ทะเลลึกยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 2 รายการ บริเวณพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 4,000 เมตร ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานระบุว่า มีการค้นพบซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัสใกล้กับตำบลกังกา ของอำเภอติ้งรื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากเบสแคมป์ภูเขาโชโมลังมาราว 100 กิโลเมตร โดยการค้นพบนี้จะเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต และส่งเสริมการศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคระหว่างมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) หิมาลายาซอรัส ถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานสูญพันธุ์ที่เคยครอบครองท้องทะเลเมื่อ 210 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ไดโนเสาร์จะครอบครองผืนดิน โดยหิมาลายาซอรัส มีปากยาว ฟันแหลมคม และลำตัวยาวมากกว่า 10 เมตร จัดเป็นนักว่ายน้ำตัวฉกาจที่กินปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เป็นหลัก คณะนักวิจัยของจีนเคยค้นพบซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัส ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1960 ระหว่างการสำรวจพื้นที่ภูเขาโชโมลังมา ซึ่งยกตัวขึ้นจากทะเลลึกเพราะการชนกันของแผ่นเปลือกโลก และกลายเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกวันนี้ ส่วนการค้นพบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้โดยทีมสำรวจอันประกอบด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งกำลังมุ่งวิจัยขนาด พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ของหิมาลายาซอรัสในปัจจุบัน หวังเวย นักวิจัยร่วมของสถาบันระบุว่าฟอสซิลเหล่านี้ประกอบด้วยกระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงสภาพดีที่หาได้ยากในการค้นพบก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัดขวางของกระดูกมนุษย์มีขนาดเท่าเหรียญ แต่ส่วนตัดขวางของกระดูกสันหลังที่เพิ่งค้นพบมีขนาดราวหมวกเบสบอล คณะนักวิจัยวางแผนแกะซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัสออกจากก้อนหินที่ล้อมรอบ และตรวจสอบซากฟอสซิลเหล่านี้อย่างละเอียดด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์และการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ในอนาคตอันใกล้ เติ้งเทา หัวหน้าสถาบันกล่าวว่า ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการขนาดมหึมาสำหรับการสังเกตการณ์วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยคณะนักวิจัยจะมุ่งปรับปรุงประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตกว่า 200 ล้านปีบนที่ราบสูงแห่งนี้ให้สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เติ้ง กล่าวว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตในยุคแรกได้รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานจำนวนมากและเติมเต็มความรู้ด้านบรรพมานุษยวิทยา ส่วนการค้นพบใหม่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาช่วยนักบรรพมานุษยวิทยาตรวจสอบบทบาทสำคัญของที่ราบสูงแห่งนี้ที่มีต่อวิวัฒนาการของความหลากหลายทางชีวภาพในมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era) https://mgronline.com/china/detail/9660000048064
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
วาฬเพชฌฆาตออกอาละวาด โจมตีเรือยอชต์แถบชายฝั่งยุโรป รายงานข่าวล่าสุดจากพื้นที่คาบสมุทรไอบีเรีย ซึ่งเป็นบริเวณแถบชายฝั่งของประเทศสเปนและโปรตุเกสระบุว่า วาฬเพชฌฆาตชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ฝูงหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในน่านน้ำดังกล่าว ออกอาละวาดโจมตีเรือหลายลำที่แล่นผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ จนทำให้มีเรือยอชต์จมลงเป็นลำที่ 3 แล้ว นับตั้งแต่เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงกลางปี 2020 งานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวสเปน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Marine Mammal Science ฉบับเดือนมิ.ย. ของปีที่แล้ว ระบุว่าพฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติของวาฬเพชฌฆาตหรือ "ออร์กา" (orca) ฝูงดังกล่าว มีสาเหตุมาจากออร์กาตัวเมียตัวหนึ่งในฝูงเริ่มเข้ากัดและพยายามหักหางเสือเรือยอชต์ทุกลำที่มันเห็น หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุถูกหางเสือของเรือลำหนึ่งกระแทก พฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากความเจ็บแค้นฝังใจดังกล่าวได้แพร่ขยายออกไปในวงกว้าง โดยออร์กาตัวอื่น ๆ ในฝูงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและพยายามเข้ารุมโจมตีทำลายเรือหลายครั้ง จนผู้คนพากันเกิดความสงสัยว่า ออร์กาฝูงดังกล่าวกำลังมุ่งทำร้ายมนุษย์เพื่อแก้แค้น หรือต้องการจมเรือเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับฝูงของมันในอนาคตกันแน่ ดร. ลูค เรนดัลล์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ของสหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ว่าเราไม่อาจทราบได้แน่ชัดถึงเจตนาของวาฬเพชฌฆาตฝูงดังกล่าวว่ามันโจมตีเรือไปเพื่ออะไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าพวกมันอาจทำไปเพื่อแก้แค้นหรือป้องกันตัว แต่ก็มีโอกาสสูงที่พฤติกรรมก้าวร้าวจะไม่ได้เกิดจากเหตุจูงใจทั้งสองนี้เลย ดร. เรนดัลล์ อธิบายว่า ตามปกติแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล อย่างเช่นแมวน้ำ สิงโตทะเล โลมา วาฬชนิดต่าง ๆ และออร์กา มักมีพฤติกรรมแปลกประหลาดที่ไม่ได้เกิดจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอยู่บ่อยครั้ง โดยจะมี "แฟชั่น" ที่ทั้งฝูงทำเลียนแบบตามกันในระยะสั้นโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด เช่นมีช่วงหนึ่งที่ออร์กาบางกลุ่มนิยมทูนซากปลาแซลมอนไว้บนหัวหรือเลียนเสียงสิงโตทะเล ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ได้มาจากแรงจูงใจเรื่องแหล่งอาหารหรือการได้คู่ผสมพันธุ์ ดร. เรนดัลล์ มองว่าพฤติกรรมรุมโจมตีและจมเรือของฝูงออร์กาในช่องแคบยิบรอลตาร์ มีแนวโน้มว่าจะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบระยะสั้นที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัด มากกว่าจะเป็นพฤติกรรมเชิงปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ก็มีความเป็นไปได้อยู่บ้างว่า ฝูงออร์กาเหล่านี้รุมโจมตีเรือเพราะความอยากรู้อยากเห็น และต้องการจะตรวจสอบว่ามีแหล่งอาหารบนเรือที่พวกมันนำมาแบ่งกันกินได้หรือไม่ มีรายงานว่าพฤติกรรมโจมตีทำลายเรือได้แผ่ขยายออกไปในวงกว้าง โดยเริ่มมีออร์กาฝูงอื่น ๆ ในน่านน้ำบริเวณดังกล่าวทำตามแล้ว ซึ่งดร. เรนดัลล์เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีความฉลาดมากพอที่จะถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารระหว่างกลุ่มและเกิดการเรียนรู้ทางสังคม (social learning) ตัวอย่างเช่นโลมาที่เคยถูกมนุษย์เลี้ยงดูและฝึกฝนมาก่อน สามารถสอนทำท่ากายกรรมให้แก่เพื่อนโลมาที่เติบโตในธรรมชาติได้ โดยตั้งลำตัวตรงเหนือผิวน้ำและใช้หางโบกให้ดูคล้ายกับเดินบนน้ำ นอกจากนี้ สาเหตุที่ฝูงออร์การุมโจมตีเรือเพื่อแสดงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าช่วยเหลือปกป้องเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์นั้น ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียว เพราะเคยมีมาแล้วที่สัตว์ทะเลซึ่งเลี้ยงลูกด้วยนม แสดงการเสียสละเข้าช่วยชีวิตเพื่อนต่างสายพันธุ์โดยไม่หวังผลตอบแทน อย่างเช่นวาฬหลังค่อมมักเข้าช่วยแมวน้ำที่ถูกออร์กาไล่ล่าเสมอ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ออร์กาพยายามจมเรือไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในบันทึกประวัติศาสตร์ ตัวของดร. เรนดัลล์เองเคยพบเพียงเหตุการณ์ที่ฝูงออร์กาเข้ามาสำรวจเรือของนักวิทยาศาสตร์อย่างสันติเท่านั้น ส่วนตำนานเรื่องสัตว์ทะเลที่เที่ยวจมเรือของมนุษย์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด เห็นจะได้แก่นิยายเรื่องโมบีดิ๊ก (Moby Dick) ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องจริงที่มีวาฬสเปิร์มสีขาวตัวใหญ่นอกชายฝั่งอเมริกาใต้ และเหตุการณ์ที่เรือล่าวาฬเอสเซ็กซ์ (Essex) ถูกวาฬตัวใหญ่ทำให้จมลงในน่านน้ำเขตเส้นศูนย์สูตร ดร. เรนดัลล์ ยังแสดงความห่วงกังวลว่า หากเหตุการณ์ที่ฝูงออร์กาเที่ยวโจมตีและจมเรือยังคงดำเนินอยู่ต่อไป จนส่งผลกระทบต่อการประมงระดับท้องถิ่นและการท่องเที่ยวในเส้นทางเดินเรือดังกล่าว อาจเกิดอันตรายกับพวกมันได้ เนื่องด้วยแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มผลประโยชน์ อาจทำให้ทางการต้องกำจัดฝูงออร์กาที่แสนดุร้ายนี้ไปเสีย ดร. เรนดัลล์หวังว่า การแก้ปัญหาจากพฤติกรรมก้าวร้าวของฝูงออร์กาจะกระทำโดยละมุนละม่อม ซึ่งมนุษย์ควรพิจารณาที่จะยอมเป็นฝ่ายเสียสละ โดยให้เรือเล็กหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าวเสีย แม้ปัจจุบันเส้นทางผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ที่ลัดสั้น จะเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ตาม https://www.bbc.com/thai/articles/cx9n2y9ww81o ****************************************************************************************************** ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจก่อสึนามิยักษ์ในซีกโลกใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ (hydrography) จากทั่วโลก ออกมาเตือนว่าภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ อาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ที่ก้นมหาสมุทรแอนตาร์กติก จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาซัดถล่มซีกโลกใต้ได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วถึงสองครั้งเมื่อหลายล้านปีก่อน ระหว่างที่โลกอยู่ในช่วงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเหมือนกับทุกวันนี้ ดร. เจนนี เกลส์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธของสหราชอาณาจักรบอกว่า คลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาเนื่องจากเหตุชั้นตะกอนก้นมหาสมุทรพังถล่ม เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อราว 3 ล้านปีก่อน และเมื่อ 15 ล้านปีก่อน ซึ่งล้วนเป็นช่วงเวลาที่เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้มีคลื่นยักษ์ซัดถล่มภูมิภาคอเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากหากเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เมื่อปี 2017 ทีมผู้วิจัยค้นพบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ชี้ว่า เคยเกิดเหตุดินถล่มก้นสมุทรนอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกาบริเวณทิศตะวันออกของทะเลรอสส์ (Ross Sea) ทำให้ในปีต่อมามีการขุดเจาะแกนของชั้นตะกอนก้นสมุทรขึ้นมาตรวจสอบ ผลวิเคราะห์พบว่าชั้นตะกอนที่เกาะตัวกันเพียงหลวม ๆ และพังถล่มลงมานั้น แท้ที่จริงคือซากแพลงก์ตอนปริมาณมหาศาล ซึ่งขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในยุคไพลโอซีนตอนกลางและยุคไมโอซีน เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรแอนตาร์กติกยุคนั้นสูงกว่าปัจจุบันถึง 3 องศาเซลเซียส ดร. โรเบิร์ต แม็กเคย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาสมุทรแอนตาร์กติก ประจำมหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งกรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่า "ในช่วงยุคน้ำแข็งที่อากาศหนาวเย็นลง ชั้นตะกอนที่เกิดจากซากแพลงก์ตอนถูกทับถมด้วยหินกรวดที่ธารน้ำแข็งพัดพามา ทำให้เกิดโครงสร้างที่ไม่มั่นคงและมีความเสี่ยงจะพังถล่มลงมาได้ง่าย" แม้ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สาเหตุที่จะทำให้ชั้นตะกอนก้นสมุทรพังถล่มนั้นได้แก่อะไรบ้าง แต่คาดว่าการละลายและหดตัวของธารน้ำแข็งจากภาวะโลกร้อนในอดีต ทำให้แผ่นเปลือกโลกรับน้ำหนักน้อยลงและเกิดการ ?ดีดตัว? (isostatic rebound) ซึ่งจะทำให้มีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เขย่าให้ชั้นตะกอนก้นสมุทรพังลงมาและเกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้ อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่สามารถคำนวณได้ว่า คลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาที่อาจซัดถล่มซีกโลกใต้อีกครั้งนี้ จะมีขนาดและความสูงเป็นเท่าใดกันแน่ แต่พวกเขาคาดว่าน่าจะมีขนาดไม่เล็กไปกว่า "สึนามิแกรนด์แบงส์" (The Grand Banks Tsunami) เมื่อปี 1929 ที่ซัดถล่มชายฝั่งเขตนิวฟาวด์แลนด์ของแคนาดา โดยมีความสูงถึง 13 เมตร นอกจากนี้ คลื่นยักษ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว น่าจะมีขนาดใหญ่กว่าสึนามิที่ถล่มปาปัวนิวกินีเมื่อปี 1998 ซึ่งมีความสูงถึง 15 เมตร และทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2,200 คน https://www.bbc.com/thai/articles/c4nknvn27lmo
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|