#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้และอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมชายฝั่งประเทศเมียนมา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 66 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 8 ? 10 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 11 ? 13 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรงโดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 7 ? 10 มิ.ย. 66 ขอให้ประชาชนในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักมากและฝนที่ตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 11 มิ.ย.
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
โลกรวน ความเสียหายยากแก้ไข เพราะน้ำมือมนุษย์ ไทยร้อนยาวนาน กว่าหนาว สถานการณ์สุขภาวะของคนไทยในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร กับหลายสิ่งที่ต้องเผชิญ ได้ฉายภาพให้เห็นในการประชุม ?Forum รายงานสุขภาพคนไทย 2566? มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กับสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ซึ่งพบว่าปัจจัยสังคม เป็นตัวกำหนดสุขภาพของคนไทย เพราะการจะมีสุขภาพดีได้ ต้องมีสภาพแวดล้อมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อหนุนด้วย นั่นหมายความว่าการเจ็บป่วย เกิดโรค ความเสี่ยงทางสุขภาพ ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมสถานที่เกิด เติบโต อาชีพการทำงาน และดำรงชีวิต ของแต่ละคนมีความหลากหลายและเหลื่อมล้ำ ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ ยกตัวอย่างพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในปี 2564 มีความแตกต่างระหว่างภูมิภาค พบว่าคนอาศัยในภาคใต้สูบบุหรี่สูงสุด ร้อยละ 22.4 เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 17.4 ในขณะที่กรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงสุด ร้อยละ 1.2 เปรียบเทียบกับในภาพรวมของประเทศ ที่ร้อยละ 0.8 โดยกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มต้องเฝ้าระวัง เพราะมีสัดส่วนคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปสูงสุดในทุกกลุ่มอายุ ขณะที่สภาพแวดล้อมที่ทำงาน พบว่าคนทำงานด้านการผลิตและบริการ สูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่คนทำงานด้านบริหาร ดื่มแอลกอฮอล์และมีภาวะอ้วนมากที่สุด ที่น่าสนใจในรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 "รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร" สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอในประเด็นคำสัญญาของไทยใน "คอป" กับการรับมือ "โลกรวน" ว่า จากรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นความเสียหายทางธรรมชาติ ไม่อาจกู้คืนกลับมาได้จากน้ำมือของมนุษย์ และแม้วันนี้โลกจะเดินตามเส้นทางใหม่ เพื่อฟื้นฟูความเสียหายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม อย่างในเวทีคอป 26 มีความพยายามจะควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2583 และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่จะไม่สามารถกลับไปเป็นโลกใบเก่าใบเดิมอย่างที่เคยเป็นได้อีกต่อไป อีกทั้งมหาวิบัติจากความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน เป็นจุดที่โลกรับไม่ไหว 1. ความเสื่อมโทรมของผืนดิน เพราะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมทั้งพืชและสัตว์ การระบาดของโรคที่ขยายออกไปจากพื้นที่ดั่งเดิม อาทิ ฝีดาษลิง 2. ความแปรปรวนของระบบนิเวศมหาสมุทร ปริมาณความกรดในระบบนิเวศของมหาสมุทรที่มากขึ้น ส่วนออกซิเจนลดลง 3. ความผันแปรของวัฏจักรน้ำ คุณภาพของน้ำลดลงเพราะปริมาณของออกซิเจนลดลง น้ำแข็งขั้วโลกลดลง ส่งผลต่อประเทศแถบชายฝั่งส่งผลให้เกิดอุทกภัย แม้ผลการพยากรณ์อุณหภูมิด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ โดยศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรายงานว่าอุณหภูมิของประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่จำนวนวันที่อากาศเย็นในรอบปี จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในทางกลับกัน จำนวนวันที่อากาศร้อนในรอบปีก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ฤดูร้อนนานยาวขึ้นกว่าเดิมและฤดูหนาวหดสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งความแปรปรวนระหว่างฤดูต่อฤดู หรือระหว่างปีต่อปีก็อาจเพิ่มสูงขึ้นด้วย สถิติสภาพอากาศย้อนหลัง 6 ปีที่ผ่านมา ไทยประสบสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันมาโดยตลอด เพราะอยู่ท่ามกลางปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายอย่างเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดฝนผิดปกติ โดยเฉพาะร่องมรสุมทำให้เกิดฝนบริเวณกว้าง และพายุหมุนเขตร้อนทำให้ฝนตกมากขึ้น จากการติดตามอุณหภูมิผิวน้ำทะเล และระบบการหมุนเวียนบรรยากาศบริเวณตอนกลาง ด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตร ช่วงปี 2560-2564 พบว่า ไทยประสบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา สลับกัน และบางปีก็พบปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงต้นปี และปลายปีก็พบกับปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนีโญกับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ หรือปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) "ทั้งหมดนี้ทำให้สภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปริมาณฝน และความแล้ง เกิดความแปรปรวน เกิดน้ำท่วมปี 2554 ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย มาจากพายุเข้ามามากกว่า 5 ลูก ในช่วงปลายฤดูฝนที่น้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ใกล้เต็มแล้ว และผลกระทบจากลานีญา ทำให้ฝนตกเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณมากกว่าปกติ สร้างความเสียหายกว่า 24,000 ล้านบาท หลังจากนั้นในปี 2556 ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ เกิดภัยแล้งรุนแรง สร้างความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท และปี 2563 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าเป็นปีที่แล้งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท" ขณะที่พื้นที่ป่าไม้ของไทยที่สามารถช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้มีนโยบายอนุรักษ์ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ แต่มีเพียงภาคเหนือและตะวันตกที่รักษาพื้นป่าไว้ได้นอกนั้นต่ำกว่าร้อยละ 40 และไทยนับเป็นประเทศลำดับที่ 9 เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้กำหนดให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของชาติ เห็นได้จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 "แผนการทำงานของไทย แต่เดิมตั้งใจจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 แต่ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเป้าหมายใหม่ในการประชุม COP 26 จาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ และจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยภายในปี 2593 ยังมีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ไม่ทำลายระบบนิเวศ เพราะปัญหาโลกรวน ไม่สามารถรอได้อีกต่อไป ถึงเวลาที่มนุษย์จะต้องปรับพฤติกรรมหลายอย่างเพื่อช่วยโลก และต้องทำทันที เพราะใครไม่ Change...แต่ Climate Change" การให้คำมั่นสัญญาในเวที COP เป็นความสมัครใจและการกำกับดูแลของแต่ละประเทศ ไม่ได้มีกระบวนการติดตามหรือลงโทษต่อประเทศที่ไม่ทำตามสัญญา การจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่นั้นจึงขึ้นอยู่กับความจริงจังของนโยบาย การปฏิบัติและการมีส่วนร่วมของประเทศนั้นๆ เมื่อสิ้นสุดการประชุม COP แต่ละครั้งโลกก็คงต้องรอด้วยความหวังจากความจริงใจและความจริงจังในการทำตามสัญญาของนานาประเทศ รวมทั้งไทยด้วย "เป็นทั้งความท้าทายและแรงกดดันต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพราะหากไม่ร่วมกันดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ และเอาจริงเอาจัง ก็คงจะยากแม้แต่จะเฉียดเป้าหมาย". https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2700112
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
โลกร้อนพ่นพิษ นับถอยหลัง 30 ปี ปะการังทั่วโลกตาย 90 % นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เผยปะการังได้รับผลกระทบฟอกขาวในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา แต่พบว่า ปะการังบริเวณอ่าวไทยปรับตัวได้ดีขึ้น พร้อมเผยนักวิทย์คาดหากไม่ชวนลดโลกร้อนในอีก 30 ปีข้างหน้าปะการังอาจตายถึง 90 % ทั่วโลก รายงานฉบับที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ปี 2022 ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 2030 - 2040 แต่ข้อเท็จจริงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 ย่อมส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทั้งบนดินและในทะเลลึก โดยเฉพาะปะการังปะการัง (Coral) เป็นสัตว์ทะเล ประเภทสัตว์ชั้นต่ำ ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ใน (Phylum Coelenterate) อยู่ใน (Class Anthozoa) มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูน ที่ตัวปะการังสร้างขึ้น มาเองโดยอาศัยแคลเซียม ซึ่งมีอยู่มากมายในท้องทะเล ตัวปะการัง อยู่ภายในโครงสร้างหินปูน เรียกว่า โพลิป ( Polyp ) มีลักษณะเป็นถุงอ่อนนิ่มขนาดเล็ก เมื่อมีอยู่จำนวนมากจะก่อตัวเป็นแนวปะการัง ซึ่ง ระบบนิเวศปะการัง มีความหลากหลายทางชีววิทยา ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ แต่เมื่อน้ำทะเลร้อนจัด ระบบนิเวศเปลี่ยน การปล่อยน้ำเสีย หรือแม้แต่การใช้ครีมกันแดดของมนุษย์ที่ลงไปเล่นน้ำทะเล ก็ทำให้กิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) หรือเนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสีย สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ต้องออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการัง น้ำทะเลอุณหภูมิสูง เสี่ยงปะการังฟอกขาว รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ ไทยพีบีเอส ออนไลน์ ว่า โลกไม่ได้ร้อนเพิ่มขึ้นแค่ 1.5 องศาเซลเซียส แต่บางพื้นที่สูงขึ้นมากกว่านั้น เช่นที่ขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 - 4 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ไม่ได้กระทบเฉพาะในชั้นบรรยากาศ แต่ยังส่งผลไปในทะเลด้วย โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวที่สุดอย่าง ปะการัง โดยปกติ ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวและอาจจะตายได้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นปีเว้นปี หรือในแต่ละพื้นที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น "ปีนี้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศสูงถึง 40 องศาเซลเซียส จึงต้องเฝ้าระวังว่า ปะการังจะได้รับผลกระทบแค่ไหน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ได้รับผลกระทบคือ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะในเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ที่มีปะการังฟอกขาวพอสมควร" ส่วนสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในไทยช่วง 10 ปีที่แล้ว ได้รับผลกระทบมาก แต่ปัจจุบันปะการังทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น และแม้จะมีการฟอกขาวก็ยังถือว่าน้อย รศ.สุชนา อธิบายว่า อุณหภูมิทั่วโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งขั้วโลกและขั้วโลกใต้ละลาย แม้ระยะทางจะห่างจากไทยกว่า 10,000 กม.อาจรู้สึกไม่ส่งผลกระทบ แต่เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายระดับน้ำก็จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ หมายความว่าปะการังก็จะอยู่ในน้ำที่ลึกกว่าปกติ และแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะส่องลงไปถึงปะการังยากขึ้น ก็จะทำให้ปะการังตายได้ "ระดับน้ำที่สูงขึ้น ยังส่งผลต่อปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทำให้ตะกอนก็จะตกลงไปในทะเล และเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปะการังตายได้ ทุกอย่างส่งจะผลเชื่อมโยงกันหมด" รศ.สุชนา กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า หากอุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นและยังมีการทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องกับทะเลและปะการัง ปะการังมากกว่า 90% ทั่วโลกจะสูญพันธุ์ไป และจะส่งผลกระทบต่อตัวสัตว์และมนุษย์เป็นห่วงโซ่ เพราะปะการังเปรียบเสมือนบ้านให้กับสัตว์นานาชนิด ถ้าไม่มีบ้าน สัตว์เหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็จะสูญพันธุ์ไป สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนปะการัง "ทะเลอันดามัน" ปรับตัว ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในไทยจะเกิดขึ้นทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน แต่ในทะเลฝั่งอันดามันปะการังจะมีอ่อนไหวมากกว่า เนื่องจากน้ำทะเลใส แสงแดดจะส่องถึงปะการังได้มากกว่าจึงฟอกขาวมากกว่า ขณะที่ปะการังฝั่งอ่าวไทยจะฟอกขาวน้อยกว่า เนื่องจากน้ำขุ่นแสงแดดส่องลงมาได้น้อย นอกจากนี้ ปัญหาดินตะกอน และมลพิษก็ส่งผลกระทบต่อการฟอกขาวของปะการังเช่นกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้ปะการังในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยปรับตัว ทนต่อการฟอกขาวและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้สูงกว่าปะการังฝั่งอันดามัน รศ.สุชนา กล่าวว่า ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พบว่า หากอุณหภูมิในทะเลอันดามันสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส จะทำให้ปะการังฟอกขาวได้ง่าย ขณะที่ อ่าวไทยถ้าอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ปะการังอาจจะยังไม่ฟอกขาว ทั้งนี้ พบข้อมูลว่า ปะการังในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเคยมีการฟอกขาวที่รุนแรง โดยอุณหภูมิช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 33-34 องศาเซลเซียสขึ้นไปจึงจะมีการฟอกขาวหนัก แต่การจัดการที่ดีในปัจจุบัน ทำให้ปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ระดับหนึ่งแต่ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังให้ถี่ขึ้น ในช่วงเดือน เม.ย.ปี 2566 พบว่า ปะการังมีการฟอกขาว แต่ไม่มากนักโดยอยู่ที่ 5 -10 % ประกอบกับเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกก็จะช่วยให้อุณหภูมิของน้ำลดลงเป็นสิ่งที่ดีกับตัวปะการังทำให้ไม่ฟอกขาวรุนแรง ปะการังที่อ่อนไหวมากจะเป็นปะการังกิ่ง ปะการังก้อนจะฟอกขาวน้อยกว่าเพราะทนมากกว่า แต่เปลี่ยนแปลงได้ เพราะการที่จะฟอกขาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของปะการัง ซึ่งปะการังก้อนอาจปรับตัวเก่งกว่าในบางพื้นที่ ปลูก-เพาะพันธุ์ พลิกฟื้นชีวิต "ปะการัง" เมื่อปะการังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การอนุรักษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น และการช่วยลดภาวะโลกร้อน แม้จะเป็นการแก้ปัญหาทางอ้อม และการปลูกปะการังทดแทนถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้ปะการังกลับมา แต่จะทำให้กลับมาทดแทนได้ 100 % นั้นเป็นไปได้ยาก รศ.สุชนา บอกว่า ปะการังทั่วโลกมีหลายร้อยชนิดขณะที่ปะการังที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ มีอยู่ในราว 10 กว่า ชนิดเท่านั้น ซึ่งสามารถเอาไปช่วยได้บางส่วนแต่ความหลากหลายอาจไม่เพียงพอหากสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิไม่กลับมาเหมือนเดิม ซูแซนเทลลีซึ่งเป็นอาหารของปะการังจะไม่กลับมา โดยปกติซูแซนเทลลีจะสังเคราะห์แสงและให้อาหารกับปะการังถึงร้อยละ 70 -80 % และปะการังจะจับอาหารเองอีก 20 % ในช่วง 2-3 สัปดาห์ในช่วงที่ปะการังฟอกขาว ถ้าซูแซนเทลลีกลับมาในตัวปะการัง ปะการังก็จะกลับมามีชีวิตได้ แต่การทำให้สภาพแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิมหรือเป็นปกติก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าว และย้ำว่า ปัญหาปะการังฟอกขาว ไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศ แต่เป็นปัญหาระดับโลก เพราะหากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดปะการังฟอกขาวได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกพร้อม ๆ กัน และมาตรการแก้ปัญหา โดยกำหนดขอบเขตการใช้ปะการังเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งหลายประเทศอยู่ระหว่างดำเนินเพื่อให้ปะการังได้มีเวลาฟื้นตัว นอกจากนี้ต้องรักษาสมดุลยภาพระหว่างการอนุรักษ์ปะการังและการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศด้วยเช่นกัน https://www.thaipbs.or.th/news/content/328506 ****************************************************************************************************** แมงกะพรุนไฟโผล่หาดภูเก็ต เตือนลงทะเลให้ระวัง ไลฟ์การ์ดภูเก็ต เตือนระวังแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส ตัวเล็กพิษร้าย พบโผล่ใกล้หาดกะรน จ.ภูเก็ต แนะนักท่องเที่ยวเพิ่มความระมัดระวังหากลงเล่นน้ำทะเล วันนี้ (7 มิ.ย.2566) เพจ Phuket Lifeguard Service ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด พบแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส บริเวณหาดเมอริเดี้ยน ใกล้กับหาดกะรน ขณะที่หาดอื่น ๆ ยังไม่มีรายงานแจ้งเข้ามา และยังไม่มีรายงานนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส แอดมิน Phuket Lifeguard Service ยังเตือนว่า หากพบเห็นแมงกะพรุนชนิดดังกล่าว ไม่ควรไปสัมผัส หรือ แตะต้อง เนื่องจากหนวดของแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส จะมีพิษทำให้แสบร้อน แผลจะเป็นเส้นนูนยาวตามความยาวของหนวด ซึ่งหนวดอาจมีความยาวถึง 2-3 ม. หรือในผู้ที่แพ้อาจมีอาการหายใจติดขัด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากถูกพิษให้ใช้น้ำทะเลล้างบริเวณที่ถูกพิษและดึงหนวดออกเพื่อบรรเทาอาการปวด จากนั้นให้แช่บริเวณที่ถูกพิษในน้ำอุ่นเป็นเวลา 20 นาที หรือพบแพทย์ ทั้งนี้ ในช่วงฤดูมรสุม เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด มักที่จะพบแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส ถูกคลื่นซัดมาลอยติดชายหาด ในช่วงฤดูมรสุมเดือน มิ.ย. - ต.ค. โดยจะพบมากในช่วง มิ.ย.- ก.ค. ในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดจะเดินตรวจตลอดแนวชายหาดหลักของภูเก็ต เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและเก็บแมงกะพรุนดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะลงเล่นน้ำบริเวณหาด โดยเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดจะดูแลหาดสำคัญเช่น หาดในทอน หาดสุรินทร์ หาดกะรน หาดป่าตอง หาดบางเทา หาดกะตะ หาดในหาน เป็นต้น "ขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแล บุตร หลาน หากพบแมงกะพรุนไฟหมวก ให้หลีกเลี่ยง หรือไปสัมผัส เพราะเด็กอาจจะไปเล่นเพราะเห็นว่ามีสีสันสวยงาม แต่ที่จริงแล้วมีอันตรายหากพบเห็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่" ข้อมูลจาก เพจ https://phuketaquarium.org ระบุว่า ชื่อของ แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) ได้มาจากความอันตรายของ แมงกะพรุนชนิดนี้เปรียบได้กับเรือรบของประเทศโปรตุเกสสมัยมีการล่าอาณานิคม และรูปทรงของแมงกะพรุนก็คล้ายกับหมวกของทหารโปรตุเกสอีกด้วย แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มของ Hydrozoa ซึ่งจะต่างจากแมงกะพรุนทั่วไปที่เราพบที่อยู่ในกลุ่ม Scyphozoa แมงกะพรุนตัวที่พบใน จ.ภูเก็ต คือแมงกะพรุนขวดเขียว (blue bottle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Physalia utriculus ) ซึ่งจะพบแพร่กระจายในบริเวณอินโดแปซิฟิก โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่าแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Physalia physalis) ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ถึงชีวิตได้ แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าแมงกะพรุนขวดเขียว (blue bottle) ทำให้คนเสียชีวิตได้ https://www.thaipbs.or.th/news/content/328570
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|