#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนตลอดช่วง ประกอบกับในช่วงวันที่ 13 ? 16 มิ.ย. 66 มีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17 ? 19 มิ.ย. 66 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับในช่วงวันที่ 13 ? 14 มิ.ย. 66 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 19 มิ.ย. 66 บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 14 ? 16 มิ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
สยอง ฉลามกินหนุ่มรัสเซียทั้งเป็น โดนคนตามล่า-ผ่าท้อง เจอชิ้นส่วนมนุษย์ สุดสะเทือนขวัญ หนุ่มรัสเซียโดนฉลามดุ กัดกินทั้งเป็นที่อียิปต์ ก่อนที่ฉลามตัวนี้จะถูกคนตามล่า จับมันได้และตีจนตายเพื่อแก้แค้น ผู้เชี่ยวชาญผ่าท้องเจอชิ้นส่วนร่างกาย ด้านพ่อสุดเศร้า เผยเห็นลูกชายโดนฉลามกัดต่อหน้าต่อตา เมื่อ 13 มิ.ย. 2566 เดลี่เมล รายงานเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกับนายวลาดิมีร์ โปปอฟ หนุ่มหล่อชาวรัสเซีย วัย 23 ปี เมื่อเขาตกเป็นเหยื่อฉลามเสือจอมดุตัวหนึ่งเข้าทำร้าย กัดกินเขาทั้งเป็น ขณะนายโปปอฟกำลังว่ายน้ำในทะเล ใกล้รีสอร์ตแห่งหนึ่ง ที่เมืองฮูร์กาดา ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา หนุ่มโปปอฟได้ถูกฉลามตัวนี้จู่โจมว่ายวนเพื่อรอขย้ำอย่างน่าสะพรึงกลัว ทำให้เขาตะโกนหวีดร้องเรียกพ่อให้มาช่วยด้วยความตกใจสุดขีด และคนที่เห็นเหตุการณ์พยายามบอกให้เขารีบว่ายหนี แต่ก็สายเกินไป ฉลามดุตัวนี้ได้พุ่งขย้ำ นายโปปอฟ ดึงเขาลงไปใต้น้ำและกัดกินเขาอย่างน่าสะเทือนใจ ต่อหน้าต่อตาผู้เป็นพ่อ อียิปต์ยังสั่งปิดชายหาด เมื่อ 9 มิ.ย.2566 หลังเกิดเหตุหนุ่มรัสเซีย ถูกฉลามขย้ำกัดกินจนเสียชีวิต ที่ชายหาดในเมืองฮูร์กาดา ในทะเลแดง เมื่อ 8 มิถุนายน 2566 หลังเกิดเหตุ นายโปปอฟ ถูกฉลามกิน ทำให้คนกลุ่มหนึ่งออกตามล่าฉลามตัวนี้ทันที และสามารถจับมันมาได้ จึงได้ใช้เรือลากมันขึ้นฝั่ง และทุบตีมันจนตายเพื่อแก้แค้นให้กับหนุ่มโปปอฟ ในขณะที่างการได้สั่งปิดชายหาด ห้ามนักท่องเที่ยวลงไปว่ายน้ำในทะเล หลังเกิดเหตุหนุ่มรัสเซียถูกฉลามทำร้ายจนเสียชีวิตที่ชายหาดเมืองฮูร์กาดา ริมฝั่งทะเลแดง สื่อท้องถิ่นอียิปต์ รายงานว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญในอียิปต์ได้ชำแหละและผ่าท้องของฉลามเสือตัวนี้ จึงพบชิ้นส่วนร่างกายของนายโปปอฟยังอยู่ในท้อง โดย ดร.มาห์มูด ดาร์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล สถาบันแห่งชาติอียิปต์ เผยว่า ฉลามตัวนี้เป็นฉลามเพศเมีย และไม่พบสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากนี้อยู่ในท้องของมัน นายยูรี โปปอฟ พ่อของวลาดิเมียร์ เผยเรื่องราวด้วยความโศกเศร้าเสียใจว่า เขาเห็นลูกชายโดนฉลามกัดกินต่อหน้าต่อตา ขณะที่ลูกตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ?พวกเรามาเที่ยวชายหาดเพื่อพักผ่อน ลูกของผมถูกฉลามทำร้าย ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น? นายยูรี โปปอฟ ที่ต้องสูญเสียบุตรชายอย่างคาดไม่ถึงเล่าด้วยความเสียใจ พร้อมเผยด้วยว่า ไม่มีสมาชิกในครอบครัวอยู่ใกล้กับลูกชายที่จะสามารถช่วยเขาได้เลย ในขณะที่มีสื่อในอียิปต์รายงานว่าแฟนสาวของนายวลาดิเมียร์ โปปอฟได้เห็นเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนี้ด้วย จนทำให้เธอช็อกเสียใจอย่างมาก ก่อนหน้านี้ วลาดิเมียร์ โปปอฟ ได้มาอยู่กับพ่อที่อียิปต์เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะถูกฉลามกัดกินจนเสียชีวิต โดยครอบครัวจะทำพิธีเผาศพและนำอัฐิของเขากลับบ้านที่รัสเซีย. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2701486
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
ทำไมทะเลที่ไม่มี 'ฉลาม' ถึงอันตรายที่สุด? คนส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบไปเที่ยวทะเลที่มี "ฉลาม" เพราะกลัวและนึกถึงแต่ความดุร้าย เนื่องจากฉลามเป็นนักล่าแห่งท้องทะเล แต่รู้หรือไม่? ทะเลที่ไม่มีฉลาม เข้าขั้นอันตรายสุดๆ เพราะบ่งชี้ระบบนิเวศทางทะเลกำลังเผชิญปัญหาหนัก Key Points: - นอกจากเป็นนักล่าแห่งท้องทะเลแล้ว "ฉลาม" ยังมีหน้าที่รักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย เพราะอยู่ในจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร - หากทะเลไหนไม่มีฉลามหรือมีอยู่ในจำนวนน้อย ก็จะมีความเสี่ยงที่ทะเลจะเสียสมดุล ส่งผลกระทบทั้งสัตว์น้ำและพืชทะเล - ไม่ใช่แค่ปัญหาฉลามถูกล่าไปทำ "หูฉลาม" เท่านั้นที่ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย แต่ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ เพราะทำให้น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้นจนฉลามอาจอยู่ไม่รอด "ฉลาม" เป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารของโลกใต้ทะเล เรียกได้ว่าเป็น "นักล่าแห่งท้องทะเล" ทำให้หลายคนมองว่าทะเลที่มีฉลาม เป็นทะเลที่อันตราย แต่รู้หรือไม่ว่าทะเลที่ไม่มีฉลามนั้นอันตรายยิ่งกว่า เพราะฉลามไม่ได้เป็นแค่นักล่าเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้รักษาระบบนิเวศ รวมถึงความสมดุลของทะเลทั่วโลก ดังนั้นหากฉลามหายไปอาจส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างร้ายแรงก็เป็นได้ ปลาฉลาม หรือ ฉลาม จัดเป็นสัตว์ประเภทปลากระดูกอ่อน มีรูปร่างเพรียว ส่วนมากจะมีซี่กรองเหงือก 5 ซี่ มีครีบที่แหลมคม ส่วนครีบหางเป็นแฉกเว้าลึก จุดเด่นของฉลามนั้นอยู่ที่ส่วนหัวและมีจะงอยปากแหลมยาว ปากมีลักษณะเว้าคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ที่สำคัญมันมีฟันที่แหลมคมมาก ปัจจุบันพบได้ประมาณ 400 ชนิดทั่วโลก และฉลามเกือบทุกสายพันธุ์เป็นสัตว์กินเนื้อ (มีเพียงไม่กี่ชนิดที่กินซากสัตว์หรือแพลงก์ตอน) ทำให้พวกมันถูกมองว่าอันตราย ดุร้าย และ น่ากลัว รู้จัก "ฉลาม" นักล่าแห่งท้องทะเล ก่อนจะไปรู้จักฉลามในบทบาทของ "ผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล" เรามาทำความรู้จักกับประเภทและพฤติกรรมของฉลามกันอีกนิดว่าทำไมมันถึงได้รับฉายา "นักล่า" ฉลามคือสัตว์น้ำที่สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์มายาวนาน ตั้งแต่ก่อนยุคไดโนเสาร์ หรือ ประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว โดยมีการวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ต่างจากไดโนเสาร์ซึ่งสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้ สำหรับ "ฉลาม" สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ 1. ฉลามผิวน้ำ มีรูปร่างเพรียวทำให้พวกมันปราดเปรียวและชอบว่ายน้ำอยู่ตลอด ทำให้พบเห็นได้ง่ายและอาจทำร้ายมนุษย์หากโดนรบกวน มีฟันแหลมคมเหมือนกับมีดโกนเรียงกันเป็นแถวภายในปาก 2. ฉลามหน้าดิน มีนิสัยชอบกบดานอยู่นิ่งๆ ไม่ชอบเคลื่อนที่หรือขยับตัวไปไหน มีลักษณะฟันเป็นฟันขบ ไม่ดุร้ายมากนักและมีนิสัยขี้เล่น กินซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหาร แม้ว่าฉลามส่วนใหญ่จะออกลูกเป็นตัว แต่ในบางชนิดก็ออกลูกเป็นไข่ และนอกจากจะพบพวกมันได้ทั้งในทะเลเขตอบอุ่นและเขตขั้วโลกแล้ว ยังสามารถพบฉลามบางชนิดได้บริเวณน้ำจืดและน้ำกร่อยอีกด้วย ดังนั้นการที่อาหารหลักของฉลามคือสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมถึงเหตุการณ์ที่มนุษย์ถูกฉลามทำร้าย (แม้ว่าบางครั้งจะเกิดจากการที่มนุษย์เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้านของฉลามก่อนก็ตาม) ทำให้พวกมันได้รับการขนานนามว่าเป็นนักล่าแห่งท้องทะเล ทะเลที่มีฉลาม คือทะเลที่มีความสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่เป็นนักล่าเท่านั้น แต่ "ฉลาม" ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันมีหน้าที่รักษาสมดุลของประชากรปลาทะเลเนื่องจากฉลามอยู่ลำดับสูงสุดของ "ห่วงโซ่อาหาร" พวกมันจะกำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือ กำลังจะหมดอายุขัย เพื่อให้ปลาแต่ละสายพันธุ์เหลือแต่ตัวที่แข็งแรง ควบคุมประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สร้างความเสียหายกับถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ไม่ให้พืชน้ำมีจำนวนลดลงมากเกินไป ประชากรปลาไม่หนาแน่นจนเกินไปในแต่ละท้องที่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควบคุมประชากรของปลากินเหยื่อที่มีขนาดรองลงมาให้เหมาะสม เพื่อให้มีการแบ่งสรรปันส่วนการใช้ทรัพยากรทางทะเลของประชากรปลา ดังนั้นถ้าฉลามหมดไปจากระบบนิเวศทางทะเล ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลเช่นเดียวกัน เพราะถ้าฉลามมีจำนวนน้อยลงก็จะทำให้ผู้ล่าระดับรองลงมา เช่น ปลาหมอทะเล เพิ่มปริมาณประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการล่าปลากินพืชมากเกินไปตามมา และเมื่อปลากินพืชลดลงเป็นจำนวนมาก ปริมาณสาหร่ายก็จะปกคลุมพื้นที่มากขึ้นจนมาแย่งพื้นที่ของปะการัง ทำให้เกิดปัญหาปะการังเสื่อมโทรม และทำให้ระบบนิเวศทางทะเลล่มสลายไปในที่สุด นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบจากการที่ฉลามหายไปด้วยเช่นกัน เพราะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น หอยเชลล์ และ หอยเป๋าฮื้อ ตามธรรมชาติจะมีจำนวนลดลงตามไปด้วย ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่ โลกร้อน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยให้ฉลามลดลง หากพูดถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรฉลามมีจำนวนลดลงนั้น คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการล่าฉลามเพื่อมาทำเมนูสุดหรูอย่าง "หูฉลาม" ในปัจจุบันมีรายงานว่า ฉลามจากทั่วโลกถูกจับจากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัว หรือ เฉลี่ย 190 ตัวต่อนาที ในจำนวนนี้มากกว่า 70 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 75 ถูกจับเพื่อตัดเอาครีบไปขาย ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์เลิกกินหูฉลามกันมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันสูญพันธุ์ เพราะฉลามเป็นสัตว์ที่โตช้า ตั้งท้องนาน ออกลูกน้อยต่อหนึ่งครั้ง จึงยิ่งเสี่ยงที่พวกมันจะค่อยๆ หายไป นอกจากฉลามจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือ "ภาวะโลกร้อน" เพราะส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สิ่งที่ชีวิตหลายชนิดต้องย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อไปอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลก็คือการย้ายถิ่นของ "ฉลามขาว" เนื่องจากน้ำทะเลเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2014 ทำให้ฉลามขาววัยรุ่นส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย อพยพไปทางเหนือประมาณ 600 กิโลเมตร เพื่ออยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นกว่า แน่นอนว่าการย้ายบ้านของบรรดาฉลามและสัตว์น้ำอื่นๆ ย่อมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฉลามเข้าไปรวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากร "นากทะเล" ลดลงถึงร้อยละ 86 เนื่องจากถูกฉลามฆ่า อีกหนึ่งปัญหาที่สืบเนื่องจากภาวะโลกร้อนก็คือ หลังจากที่ฉลามย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว พวกมันก็ไม่ยอมย้ายกลับมาอยู่ที่เดิม เมื่ออุณหภูมิบ้านเก่าของฉลามกลับมาเป็นปกติ นั่นหมายความว่าระบบนิเวศทางทะเลจะเสียหายทีเดียวถึงสองแห่งด้วยกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นเมนูหูฉลามหรือภาวะโลกร้อน "มนุษย์" ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ฉลามที่เป็นทั้งนักล่าและผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป เหลือไว้เพียงระบบนิเวศที่ผุพัง ดังนั้นหากทุกคนช่วยกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่สนับสนุนสินค้าและอาหารที่มาจากฉลามก็จะสามารถช่วยชีวิตพวกมันไว้ได้ไม่มากก็น้อย https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1073284
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
จอดเรือปิดร่องน้ำปากบารา ทวงสัญญาประมงเล็กถูกจับ ประท้วงรอบ 2 ชาวประมงเรือปลากะตัก นำเรือปิดร่องน้ำปากบารา เพื่อทวงคำสัญญาจากหน่วยงานเรื่องกำหนดแนวเขตทำประมง และแก้ปัญหาที่พื้นที่ทับซ้อนเขตอุทยานเกาะตะรุเตา จ.สตูล หลังพบว่าข้อเรียกร้องที่เสนอครั้งก่อนยังไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้ (13 มิ.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรือประมงอวนครอบปลากะตัก 3 ลำ พร้อมลูกเรือ 12 คน ถูกเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ และเจ้าหน้าที่ประมงเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล จับกุมขณะทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งบริเวณ เกาะเละละ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล ห่างจากชายฝั่งเกาะเละละประมาณ 969 เมตร หลังฝ่าฝืนพระราชกำหนดการประมงปี พ.ศ.2558 และปี 2560 ฉบับแก้ไข นำส่งตำรวจเกาะหลีเป๊ะดำเนินคดี หลังเรือประมงถูกจับ ทำให้ชาวประมงอวนครอบปลากะตัก นำเรือประมงเกือบ 30 ลำ ปิดเส้นทางเข้าออกร่องน้ำปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูลอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ ชาวประมงนำเรือปิดร่องน้ำมาแล้วหนึ่ง 1 เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องหน่วยงานเกี่ยวข้อง แก้ปัญหาแนวเขตการทำประมง และพื้นที่ทับซ้อนเขตอุทยานฯ แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข นายวรวิทย์ หมีนหวัง ตัวแทนชาวประมงปลากะตัก บอกว่า การนำเรือปิดร่องน้ำครั้งที่ 2 เป็นการมาทวงสัญญาจากครั้งก่อน หลังพบว่าข้อตกลงที่หน่วยงานต่างๆ รับว่าจะนำไปแก้ไขเพื่อให้ชาวประมงทำกินได้ ไม่ได้บรรลุตามที่ตกลงไว้เพราะเจ้าหน้าที่ยังจับชาวประมงที่ออกไปประกอบอาชีพต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อน และไม่กล้าออกไปประกอบอาชีพ การปิดร่องน้ำครั้งนี้ ชาวประมงจะปิดไปจนกว่าจะบรรลุข้อตกลงและปัญหาได้รับแก้ไข หากหน่วยงานเกี่ยวข้องยังเพิกเฉย จะยกระดับนำเรือ ปิดร่องน้ำเข้าออก อาจทำให้เรือนำเที่ยว หรือผู้ประกอบการอื่นๆ รับผลกระทบด้วย สำหรับการทวงถาม MOU ที่ได้จัดทำขึ้น เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เป็นประธาน ห้องประชุมเฉลิมเกียรติ จ.สตูล ว่ายังมีผลอยู่หรือไม่ https://www.thaipbs.or.th/news/content/328738
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|