เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 15-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อม ความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ค. 66 พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 66 นี้ ส่วนร่องมรสุมกำลังแรงจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 14 - 15 ก.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และ อ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 ? 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ และทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18 ? 19 ก.ค. 66


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 16 - 20 ก.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 15-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ดร.ธรณ์ เตือนไทยเตรียมรับมือมวลน้ำร้อนใหญ่ผิดปกติ ?เอลนีโญ?เคลื่อนที่จ่อปากอ่าวไทย



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เตือนไทยเตรียมรับมืออุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ชี้น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย


วันนี้ (14 ก.ค.) เฟซบุ๊ก ?Thon Thamrongnawasawat? หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ ข้อความระบุว่า "อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ภาพนี้แสดงน้ำร้อนผิดปรกติที่เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้วครับ สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น เอลนีโญจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ตัวเลข เปอร์เซ็นต์ อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญเรามาดูว่าน้ำร้อนส่งผลอย่างไร ? ผมสรุปให้เพื่อนธรณ์ 3 เรื่อง ผลกระทบต่อปะการัง แม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็น แต่ปะการังบางแห่งยังสีซีดไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆ ไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็น

หากเอลนีโญลากยาวไปถึงฤดูร้อนปีหน้า มันเป็นเรื่องน่าสะพรึง ผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูมหรือน้ำเปลี่ยนสี ช่วงนี้ฝนตกแดดออกสลับกันไป แพลงก์ตอนพืชชอบมาก เพราะมีทั้งธาตุอาหารทั้งแสงแดด จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะ มวลน้ำที่ร้อนกว่าปรกติ ทำให้น้ำแบ่งชั้น น้ำร้อนอยู่ข้างบน น้ำเย็นอยู่ข้างล่าง ออกซิเจนจากน้ำด้านบนมาไม่ถึงน้ำชั้นล่าง หากเกิดแพลงก์ตอนบลูม สัตว์น้ำตามพื้นจะตายง่ายผลกระทบต่อพายุ อันนี้ต้องออกไปดูมวลน้ำร้อนในแปซิฟิก น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ? คำตอบคือ ?รับมือ? ด้วยการยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที "ปรับตัว" ด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่เธอกำลังแย่ มองไปข้างหน้าหาทางหนีทีไล่ เช่น หากต้องปิดจุดดำน้ำในแนวปะการังหากฟอกขาวปีหน้า เราจะต้องทำอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวปรับตัวกับโลกร้อนไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ในพริบตา เราต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าครับ

อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกบอกไว้ โลกเปลี่ยนไป เอลนีโญ+โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญอีกเรื่อยๆ หนนี้เป็นแค่ชิมลางก่อนเข้าสู่ยุคธรรมชาติแปรปรวนอย่างแท้จริง เราควรต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด คิดหาหนทางไว้ในขณะที่ยังพอมีเวลา จะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าทำได้แค่ไหน ก็จะพยายามสุดแรง โดยมีความหวังเล็กๆ ว่าที่พูดไปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง เปลี่ยนเร็วๆ หน่อยก็ดีนะ เพราะมวลน้ำร้อนใหญ่มาจ่อไทยแล้วครับ"


https://mgronline.com/onlinesection/.../9660000064030

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 15-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


ปานามายึดครีบฉลามผิดกฎหมายกว่า 6 ตัน

ตำรวจปานามายึดครีบฉลามมากกว่า 6 ตันที่เตรียมพร้อมมุ่งหน้าสู่เอเชีย และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าผิดกฎหมาย 5 คน


ครีบฉลามบางส่วนจากจำนวน 6.79 ตันที่ตำรวจปานามายึดได้ในเมืองคาปิรา ห่างจากกรุงปานามาซิตี้ไปทางตะวันตก 60 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม (Photo by Handout / Panama National Police / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า การค้าครีบฉลามในตลาดมืดมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ต่อปี และปีที่แล้วปานามาเป็นหัวหอกระดับนานาชาติในการปกป้องฉลามหลายสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์

ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี ตำรวจปานามาตรวจพบและยึดครีบฉลาม 6.79 ตันจากตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตที่เตรียมส่งออกไปยังเอเชีย พร้อมจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าผิดกฎหมาย 5 คน

อัยการสูงสุดของปานามากล่าวในการแถลงข่าวว่า ครีบฉลามที่ยึดได้ส่วนใหญ่ถูกทำให้แห้งแล้วเพื่อเตรียมส่งออก โดยมีปลายทางในเอเชีย ซึ่งอาจทำเงินได้สูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 34,000 บาท)

ครีบฉลามนิยมนำไปทำอาหารที่เรียกว่า ซุปหูฉลาม ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะแถบเอเชียตะวันออกและมักรับประทานในงานแต่งงานและงานเลี้ยงหรู นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในบางประเทศ เช่น จีนและญี่ปุ่น ว่าครีบฉลามมีสรรพคุณในการชะลอวัย, เพิ่มความอยากอาหาร, ช่วยให้ความจำดี และกระตุ้นความต้องการทางเพศ

เบื้องต้น ทางการปานามาสงสัยว่าครีบฉลามที่ถูกยึดได้ อาจเตรียมส่งให้กับชาวจีนที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในกิจกรรมนี้

ระหว่างปฏิบัติการจับกุม ตำรวจยังยึดปืนพกพร้อมใบอนุญาตที่หมดอายุและเอกสารการโอนเงิน อีกทั้งยังค้นพบศูนย์จัดเก็บและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการค้าผิดกฏหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ บุคคลทั้งห้าที่ถูกจับกุมจะถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม

ในเดือนพฤศจิกายน 2565 การประชุมสุดยอดปานามาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมี 183 ประเทศและสหภาพยุโรปเข้าร่วม มีมติให้คุ้มครองฉลามอีก 54 สายพันธุ์ ท่ามกลางสถานการณ์ลักลอบค้าครีบฉลามที่กำลังเฟื่องฟู

จากข้อมูลของ Pew Environment Group ฉลามประมาณ 63 ล้านถึง 273 ล้านตัวถูกฆ่าตายในทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเพราะต้องการครีบและส่วนอื่นๆ ของพวกมัน

ในหลายพื้นที่ของโลก ชาวประมงที่จับฉลามได้มักจะตัดเฉพาะครีบของมันเก็บไว้ จากนั้นโยนฉลามกลับลงไปในมหาสมุทรให้ตายอย่างโหดร้ายด้วยการหายใจไม่ออกหรือเสียเลือด.

https://www.thaipost.net/abroad-news/413975/


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 15-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


เอลนีโญผสานโลกร้อน ปีหน้าแล้งสุดขั้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูง หายนะที่รออยู่



ถ้าเอลนีโญ ลากยาวไปไกลถึงปี 67 จะส่งผลเสียทวีคูณ ไม่ว่าการเกษตร เศรษฐกิจ ส่วนมุมที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ท้องทะเล ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีข้อมูลบอกเล่า

เอลนีโญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ปกติจะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 5-6 ปี เมื่อร้อนหรือเย็นผิดปกติก็จะก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย

ว่ากันว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เริ่มมาตั้งแต่กลางปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567 และอาจลากยาวกว่านั้น โดยมีข้อมูลยืนยันว่า เอลนีโญจะทำให้เกิดปัญหาร้อนและแล้งมากกว่าทุกปี

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ปีนี้โลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ดับเบิ้ลเอลนีโญ โลกจะร้อนมากขึ้น หนุนให้เอลนีโญแรงขึ้น ซึ่งในอดีตไม่มีปัญหาโลกร้อนเหมือนในปัจจุบัน

"นักวิทยาศาสตร์เกรงว่าเอลนีโญปีนี้จะแรงกว่าปีที่ผ่านมา และตอนนี้เอลนีโญเข้ามาชายฝั่งบ้านเราแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี2566 จะทวีความรุนแรงในช่วงปลายปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 โดยจะทำนายปรากฏการณ์เอลนีโญได้ถึงเดือนมีนาคม ปี 2567 หลังจากนั้นความแม่นยำในการทำนายจะลดลง เพราะระยะเวลาทอดยาวไกลเกินไป

ความแม่นยำในการทำนายเอลนีโญทำได้แค่ 6-8 เดือน จึงไม่อาจรู้แน่ชัดว่าเอลนีโญจะลากยาวไปไกลแค่ไหน "


ปะการังฟอกขาวที่ฟิลิปปินส์

นอกจากปัญหาเอลนีโญ ยังมีเรื่องโลกร้อนเป็นตัวเร่งให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติรูปแบบนี้ทวีความรุนแรงในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน

อาจารย์ธรณ์ เล่าต่อว่า ไทยกำลังเผชิญภาวะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น หลังจากอุณหภูมิสูงติดต่อกัน 4 ปี ก่อให้เกิดสภาวะปะการังฟอกขาวสะสมส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล

" เริ่มมีการเตือนภัยปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงที่ฟิลิปปินส์ แต่ที่เมืองไทยร้อนผิดปกติในช่วงเดียวกันแล้ว พื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจะเกิดบริเวณอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก ฝั่งอันดามันตอนล่าง อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา"


ปะการังฟอกขาวอ่าวไทย

ผลกระทบจากเอลนีโญ ที่กล่าวถึงบ่อยที่สุด ก็คือ ปัญหาปะการังฟอกขาว ประกอบกับสถานการณ์โลกร้อน และที่มากกว่านั้น ก็คือ ปะการังครึ่งหนึ่งจะเริ่มหายไปภายใน 20 ปี เพราะปะการังตาย จึงเป็นประเด็นหลักของโลก

"เอลนีโญจะทำให้ปะการังฟอกขาวรุนแรงมากขึ้น ในเมืองไทยเจอปัญหาปะการังฟอกขาวซ้ำซ้อน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ปกติจะเกิด 5-7 ปีต่อครั้ง แต่ตอนนี้ทุก 3 ปี แม้จะมีปัญหาปะการังฟอกขาวไม่รุนแรง ฟอกๆ หายๆ ในบางพื้นที่ ที่เป็นปะการังน้ำตื้น แต่ผลกระทบเหล่านี้ทำให้ปะการังฟื้นตัวไม่ได้ เพราะอยู่ใกล้ชายฝั่งประมง และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวด้วย" อาจารย์ธรณ์ เล่า


อุณหภูมิน้ำทะเลสูง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การได้เห็นน้ำทะเลเปลี่ยนสีในหลายพื้นที่ กลายเป็นเรื่องปกติของคนทำงานด้านนี้ เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ปลาตายหรือปะการังฟอกขาวมากขึ้น

อาจารย์ธรณ์ เล่าถึงความถี่ของปรากฏการณ์นี้ว่า เห็นได้ชัดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ของปีนี้ แม้เดือนกรกฎาคมน้ำทะเลจะเปลี่ยนสีไม่รุนแรง แต่มีความถี่ของอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น

"ปีนี้ปัญหาคือ ฝนตกน้อย ตกๆ หยุดๆ มีแดดบ้าง ไม่มีบ้าง ทำให้น้ำเปลี่ยนสีง่ายขึ้น และอุณหภูมิความร้อน ทำให้น้ำร้อนแบ่งชั้น น้ำที่มีความร้อนมากหน่อยอยู่ด้านบน ส่วนน้ำเย็นอยู่ด้านล่าง ออกซิเจนไม่สามารถลงไปในน้ำชั้นล่าง จึงมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำด้านล่างทะเล ถ้าพวกมันหนีไม่ทันก็ตาย" อาจารย์ธรณ์ เล่า

เอลนีโญผสานโลกร้อน ปีหน้าแล้งสุดขั้ว อุณหภูมิน้ำทะเลสูง หายนะที่รออยู่


แล้ง ร้อน ปลาตาย

ปรากฏการณ์เอลนีโญ ไม่ได้ส่งผลแค่น้ำทะเลร้อน ปะการังฟอกขาว ยังส่งผลทำให้เกิดภาวะแล้งสุดขั้ว องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เตือนทุกประเทศในเรื่องเอลนีโญ แต่ละประเทศจึงตั้งรับและประเมินความเสียหาย

อาจารย์ธรณ์ บอกว่า อเมริกาประเมินความเสียหายสูงมาก ชัดเจนเรื่องผลกระทบต่อโลกร้อน และเอลนีโญ สถานการณ์แย่สุดอยู่ในช่วงกุมภาพันธ์ ? พฤษภาคม 67 โดยปกติน้ำทะเลเมืองไทยจะร้อนสุดเดือนเมษายน-พฤษภาคม

"ดูจากข้อมูลบริเวณที่โดนหลักคือ ชายฝั่งอ่าวไทย และอันดามันตอนล่างอยู่ในวงเอลนีโญในเรื่องน้ำทะเลร้อนที่ประเมินไว้ ซึ่งปัญหาหลักอยู่ที่อ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ครึ่งหนึ่งของประเทศ แม้ทะเลจะไม่สวยเหมือนหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ แต่การใช้ประโยชน์หลักๆ อยู่ด้านนี้

ไม่ว่าจะมีเอลนีโญ หรือปัญหาโลกร้อนจะเกิดขึ้นอย่างไร การบริหารจัดการสถานการณ์ก็ยังทำแบบปกติ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ไม่ปกติ อาจารย์ธรณ์ บอกว่า จริงๆ แล้วต้องวางแผนรับมือแล้ว แต่ยังไม่ทำ ปัญหาปะการังฟอกขาวบางแห่งสามารถป้องกันได้ และส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน

"กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือเรียกสั้นๆ ว่ากรมโลกร้อน ซึ่งปรับโครงสร้างมาจาก ?กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม? ต้องเร่งทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อประมวลผลกระทบ วางแนวทางจัดการ"


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1078404

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:40


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger