#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
ช่วยเหลือเต่า เหยื่อของความมักง่ายติดเศษอวนในทะเล ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สลด! เหยื่อของความมักง่าย เต่าทะเลถูกเศษอวนรัด คลื่นซัดเกยตื่นชายหาดลายัน จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือตัดเศษอวนออก นำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลรักษา เมื่อเวลา 07.30 น. วันนี้ (17 ก.ค.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สน.4 (หาดลายัน) ว่า พบเต่าหญ้า 1 ตัว ติดเศษอวน ถูกคลื่นซัดลอยมาติดบริเวณหน้าหาดลายัน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงเข้าช่วยเหลือโดยการตัดเศษอวนออก จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า เต่าตัวดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ มีแผลบริเวณขาและกระดอง จึงประสานงานเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ให้เข้ามารับไปทำการรักษาบาดแผลและ ดูแลต่อไป https://mgronline.com/south/detail/9660000064699
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ระทึก 6 ชม. เรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะช้าง อวนติดใบพัดเครื่องยนต์ดับ ลอยเคว้งกลางทะเล ระทึก 6 ชม.กลางทะเลตราด เรือเฟอร์รี่ตราดข้ามเกาะช้างถูกอวนติดใบพัดเครื่องยนต์ดับ ลอยเคว้งกลางทะเล นทท.และผู้โดยสาร 31 คนรอช่วยเหลือ สุดท้ายฐานเรือฯตราด, ศรชล.ตราดนำเรือ ต. 2 ลำไปรับได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางคลื่นลมแรง เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม ที่ฐานส่งกำลังทหารเรือตราด น.อ.วัชรพงษ์ ปรียานนท์ ผู้บังคับการฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด พร้อมทหารเรือจำนวน 10 นาย นำรถบัสของฐานฯตราด มารับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารจำนวน 27 คน และเจ้าหน้าที่ประจำเรือเฟอร์รี่ 4 คน ของบริษัท ตราดเฟอร์รี่ จำกัด แต่ผู้โดยสาร 1 คนและเจ้าหน้าที่เรือไม่ได้เดินทางมาด้วย หลังจากได้รับแจ้งขอประสานความช่วยเหลือจาก ศรชล.ตราด (ศูนย์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลตราด) เวลา 15.30 น. เรือ ต.263 กับ เรือ ต.82 เดินทางมาถึงท่าเรือฐานส่งกำลังทหารเรือตราด โดยผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว จำนวน 31 คน อยู่เรือ ต.263 มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ 1 คนที่มีอาการขาเจ็บถูกนำขึ้นจากเรือ ต.263 ซึ่งแต่ละคนมีสีหน้าอิดโรย แต่ก็ดีใจที่ปลอดภัย ผู้โดยสารคนหนึ่งชื่อ นางมณฑการ ชอบชล ชาวตราด ทำงานอยู่ในอำเภอเกาะช้าง มาพร้อมกับหลานสาว เปิดเผยว่า เป็นชาวตราดที่เดินทางไปทำงานที่เกาะช้าง และเดินทางออกมาตั้งแต่ 07.00 น.ท่ามกลางคลื่นลมที่ไม่แรงนัก กระทั่งเวลา 08.00 น. เครื่องยนต์เรือดับโดยไม่ทราบสาเหตุ กระทั่งได้รับคำชี้แจงจากกัปตันเรือว่า ใบพัดเรือเฟอร์รี่ติดอวนของชาวประมงและพันจนเครื่องยนต์ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งระหว่างนั้นทั้งเจ้าหน้าที่ประจำเรือและกัปตันพยายามแก้ไขแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ สุดท้ายต้องเรียกเรือประมงมาช่วยดึงเรือเข้าฝั่ง แต่เชือกที่ผูกเมื่อดึงก็ขาด ประกอบกับคลื่นลมแรง จึงทำให้ลำบากยิ่งขึ้น กระทั่งใช้เวลานานหลายชั่วโมง มีเรือประมง 2 ลำมาช่วยแต่ก็ล่าช้า สุดท้ายทราบว่าทหารเรือได้นำเรือ 2 ลำมาช่วยลำเลียงผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวกลับมายังฝั่ง ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่งจึงมาที่ฐานฯตราดได้ ซึ่งระหว่างนั้นต้องอยู่บนเรือเฟอร์รี่ท่ามกลางคลื่นลมแรงและเรือก็ถูกคลื่นซัดห่างออกไปเรื่อยๆ ด้วย ด้าน น.อ.วัชรพงษ์ ปรียานนท์ ผู้บังคับการฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด กล่าวว่า หลังจากได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจาก ศรชล.ตราด จึงได้สั่งการให้ ผบ.เรือหลวงกันตัง นำเรือ ต.263 กับเรือ ต. 82 ที่อยู่ในหมวดเรือลาดตระเวนชายแดนภาค1 (มชด./1) เข้าไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารจากเรือเฟอร์รี่โดยเร่งด่วน แต่เนื่องจากคลื่นลมแรงจึงทำให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความลำบาก และได้รับแจ้งว่ามีทั้งผู้สูงอายุและเด็กจึงได้เตรียมหน่วยแพทย์ไว้เพื่อให้การช่วยเหลือ ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัยทุกคน และทุกคนไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ ขณะ เรือเอกภานุพงษ์ เกษมพิณ ผบ.เรือหลวงกันตัง กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่า ใบพัดของเรือเฟอร์รี่มีอวนติดอยู่ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเมื่ออวนเข้าไปติดใบพัด เรือจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ และจำเป็นต้องหยุดเครื่องยนต์ และจากสภาพที่คลื่นลมแรงทำให้เรือหลุดและลอยไปและติดตื้นได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ทาง ศรชล.ภาค1 และ ศรชล.ตราดได้พิจารณาเห็นว่า เรามีเรือหลวงจากหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนอยู่ในฐานส่งกำลังทหารเรือตราดอยู่แล้ว จึงตัดสินใจนำเรือไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารเพื่อช่วยชีวิตทุกคน ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย เรือโทจรินทร์ กลั่นมาก เจ้าหน้าที่ ศรชล.ตราด กล่าวว่า ได้รับแจ้งประสานขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการเรือเฟอร์รี่เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. ได้มีการวางแผนเพื่อให้การช่วยเหลือ แต่เนื่องจากสภาพอากาศคลื่นลมแรง จึงได้ทำการประสานมายังฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราดและหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน (มชด./1) ซึ่งทาง มชด./1 ได้ประสานงานที่จะนำเรือหลวงกันตังเพื่ออกไปช่วยเหลือ แต่เนื่องจากเรือกันตังเป็นเรือใหญ่กินน้ำลึก ประกอบกับเรือเฟอร์รี่ถูกพัดไปบริเวณชายฝั่งด้านบ้านยายม่อม ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ ที่อยู่ห่างจากท่าเรือเฟอร์รี่เซ็นเตอร์พอยท์ ประมาณ 5 กิโลเมตรแล้ว จึงเปลี่ยนนำเรือ ต. 2 ลำ ประกอบด้วย เรือ ต.263 และ เรือ ค.82 เข้าทำการช่วยเหลือแทน และเมื่อเรือ ต. 2 ลำไปถึง พบว่าบนเรือมีผู้โดยสารที่เป็นชาวตราดส่วนใหญ่ ที่จะเดินทางไปทำงานบนเกาะช้าง รวม 31 คน ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ขึ้นเรือเพื่อกลับเข้าฝั่งก่อน แต่มีนักท่องเที่ยว 1 คนที่ไม่ยอมขึ้นมากับเรือ ขออยู่ที่เรือเพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวและชาวตราดขึ้นเรือเข้าฝั่งมา 30 คน คงเหลือไต๋เรือ ลูกเรือ และนักท่องเที่ยว 1 คน รวม 3 คนบนเรือเฟอร์รี่ ขณะที่ท่าเรือตราดเฟอร์รี่ ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด เจ้าหน้าที่ของบริษัทท่องเที่ยวกำลังวุ่นวายกับการประสานงานกับผู้โดยสารและญาติที่มารออยู่ที่ท่าเรือเพื่อติดตามข่าวสาร พร้อมมีเจ้าหน้าที่ของ ศรชล.ตราด นำโดย น.อ.สุรศักดิ์ ภาแก้ว รอง ศรชล.ตราด และเรือเอกนาวิน ศิลปวิทยากร เจ้าหน้าที่ยุทธการและการข่าว เดินทางมาติดตามสถานการณ์พร้อมเจ้าหน้าที่เจ้าท่าตราด ซึ่งขณะนี้เรือเฟอร์รี่ยังอยู่กลางทะเลตรงข้ามบ้านยายม่อม ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ห่างจากท่าเรือประมาณ 5-6 กม. https://www.matichon.co.th/region/news_4084657
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Greennews
จี้ "กรมทะเล-กรมเจ้าท่า" สอบกรณี "เอกชนอ้างสิทธิ-ก่อสร้างบนหาดปากบารา" กลุ่มอนุรักษ์ชายหาด Beach for life เรียกร้อง 4 หน่วยงานราชการ "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ และอำเภอละงู สตูล" ระงับการก่อสร้าง-ตรวจสอบสิทธิครอบครองหาดปากบารา สตูล "ต้องสั่งรื้อถอน หากพบไม่มีสิทธิตามอ้าง-ดำเนินการภายใน 15 วัน" จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มฯ ระบุ ตรวจสอบ "การอ้างสิทธิ-ครองหาดสาธารณะ" "ตามที่ปรากฏในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อเหตุการณ์กรณีที่เอกชนรายหนึ่งอ้างสิทธิ์ในที่ดินบนชายหาดปากบารา หมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล และดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในลักษณะการขุดชายหาด และหล่อเสาคอนกรีต เพื่อเตรียมดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรบนพื้นที่ชายหาดปากบารา โดยสภาพพื้นที่ชายหาดปากบาราปัจจุบันลักษณะเป็นชายหาดที่น้ำทะเลท่วมถึง พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เอกชนกลับอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก เลขที่ 1772 เลขที่ดิน 442,443,444,445 และ 446 ซึ่งการกระทำของเอกชนรายดังกล่าวนั้น ทำให้เกิดคำถามจากสังคมถึงความเหมาะสมในการดำเนินการ และความถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมายว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?" จดหมายเปิดผนึกจาก Beach for life เผย "จากการทวงถามของ Beach for life ในครั้งที่กรณีพิพาทพื้นที่ดังกล่าวเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ไปยัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยืนยันว่า ?สภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวที่มีการอ้างสิทธิ์ในที่ดินนั้น มีสภาพเป็นชายหาดที่มีน้ำทะเลท่วมถึง และไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด จึงมาถึงปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนไม่มีที่ดินชายตลิ่งเหลือยู่ จนกระทั้งปี 2564 ได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก เลขที่ 1772 และ 1773 ขึ้น? ทำให้ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขัดแย้งกับการอ้างสิทธิ์ในที่ดินเพื่อดำเนินการสร้างสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ชายหาดปากบาราของเอกชนรายดังกล่าว" กลุ่มฯ ระบุ "กรุณาทำหน้าที่" ข้อเรียกร้องต่อ 4 หน่วยงานรัฐ "Beach for life เห็นว่า สภาพพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นชายหาด และมีการใช้ประโยชน์ของพลเมืองร่วมกันมาอย่าบต่อเนื่อง มิได้มีสภาพเป็นที่ดินส่วนบุคคลแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อการสงวนรักษา คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเพื่อการพิทักษ์รักษาประโยชน์สาธารณะในการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดปากบารา Beach for life จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ดังนี้ 1. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 โดยมีคำสั่งให้เอกชนรายดังกล่าวระงับการกระทำบนพื้นที่ชายหาดไว้เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการของเอกชนรายดังกล่าวตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ และหากพบว่าเอกชนรายดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องมีคำสั่งให้เอกชนรายดังกล่าวรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้ดำเนินการบนพื้นที่ชายออกจากชายหาดทันที และให้ดำเนินการฟื้นฟูชายหาดให้กลับสู่สภาพเดิม 2. กรมเจ้าท่า ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้เอกชนรายดังกล่าวระงับการดำเนินการบนพื้นที่ชายหาดไว้เป็นการชั่วคราวก่อน รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการของเอกชนตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หากพบว่าการดำเนินการของเอกชนรายดังกล่าวมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดไว้ กรมเจ้าท่าต้องมีคำสั่งให้เอกชนรายดังกล่าวรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้ดำเนินการไว้ และฟื้นฟูสภาพชายหาดกลับสู่สภาพเดิม 3. องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ และ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ต้องบังคับใช้กฎหมายในการปกป้องดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน เนื่องจากสภาพที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นชายหาดที่พลเมืองใช้ร่วมกันมาโดยตลอด หากพบว่าการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน และการดำเนินการสร้างสิ่งปลูกสร้างบนชายหาดของเอกชนรายดังกล่าวมิได้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์ ขอให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด และฟื้นฟูชายหาด รวมถึงเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว" Beach for life เปิดเผย "ดำเนินการเร่งด่วนภายใน 15 วัน" กลุ่มฯ เรียกร้อง "ทั้งนี้ Beach for life ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะในการใช้ประโยชน์ชายหาดปากบารา หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยต่อการดำเนินการตรวจสอบ และใช้อำนาจตามที่กฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ Beach for life จะขอให้สิทธิในดำเนินการกับหน่วยงานตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป" Beach for life ประกาศข้อเรียกร้องผ่านจดหมายเปิดผนึก เผยแพร่วันนี้ (17 ก.ค. 2566) https://greennews.agency/?p=35016
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|