เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 20-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณ ที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

โดยในช่วงวันที่ 19 - 20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และ อ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกและภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 25 ก.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ตลอดช่วง โดยมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 20-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


ช่วย เต่าหญ้าติดเศษอวน ลอยติดหน้าหาดในยาง ภูเก็ต



เต่าหญ้าติดเศษอวน ได้รับบาดเจ็บ ลอยเกยหน้าหาดในยาง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ รุดให้ความช่วยเหลือ พบบาดเจ็บ มีบาดแผลบริเวณขา และกระดองจึงส่งมอบให้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบนรับไปดูแล

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นายสรศักด์ รณะนันทน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ได้รับการประสานงานจากนักท่องเที่ยว ว่าพบเต่าทะเลติดเศษอวนลอยมาบริเวณหน้าหาดในยาง ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ซึ่งมีคลื่นสูงและลมแรงมาก เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงเข้าช่วยเหลือโดยการตัดเศษอวนออก และพบมีบาดแผลบริเวณขาและกระดอง

จากการวัดขนาดความกว้างของกระดองได้ 62 ซ.ม. และวัดความยาวของกระดองได้ 60 ซ.ม. เป็นเต่าหญ้า พิกัดที่พบเต่า UTM 47P 422985E 895916N เนื่องจากเต่าได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลบริเวณขา และกระดอง จึงประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน มารับเต่าหญ้า ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และได้ส่งมอบเต่าหญ้าตัวดังกล่าว ให้ นายปฐมพงษ์ จงจิตต์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เพื่อรับไปทำการรักษาบาดแผลและดูแลต่อไป

นายสรศักด์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนตกหนักและทะเลมีคลื่นสูง จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถเก็บขยะบริเวณหาดในยาง ได้พบทุ่นจอดเรือขาดลอยมาเกยหาด จำนวน 2 ลูก คือทุ่นสีเหลือง สำหรับผูกเรือขนาดใหญ่ จำนวน 1 ลูกและทุ่นสีขาวสำหรับผูกเรือขนาดเล็ก จำนวน 1 ลูก จึงเก็บรวบรวมไว้ที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เพื่อรอดำเนินการ กลับไปติดตั้งหลังคลื่นลมเงียบสงบต่อไป


https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7774315


******************************************************************************************************


เปิดวินาทีสะพรึง! นทท.ญี่ปุ่น ถูกโลมาไล่กัดจนจมน้ำ ซี่โครงหัก พบรอยกัดหลายคน



เปิดวินาทีสะพรึง! นทท.ญี่ปุ่น ถูกโลมาไล่กัดจนจมน้ำ ซี่โครงหัก พบรอยกัดหลายคน ทางการขึ้นป้ายเตือนมาตลอด อย่าลงน้ำหาพบโลมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน วิดีโอที่น่าตกใจจับภาพเหตุการณ์ที่จู่ ๆ โลมาโจมตีนักท่องเที่ยวที่กำลังว่ายน้ำใกล้ชายหาด ทำนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ตกใจเมื่อเห็นโลมามีพฤติกรรมรุนแรง พยายามลากชายคนดังกล่าวลงไปใต้น้ำ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นชายหาดซุยโชฮามะ ในเมืองมิฮามะ จังหวัดฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ฝูงโลมาจำนวนมากโจมตีนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง โดยวินาทีโลมาทำร้ายถ่ายโดยนักท่องเที่ยวยืนอยู่บนชายหาดแสดงให้เห็นชายคนหนึ่งพยายามว่ายน้ำเข้าฝั่งหลังจากถูกโลมาไล่กวด ผู้ยืนดูอยู่ตะโกนใส่ผู้ที่ยังอยู่ในน้ำและกรีดร้องเสียงดัง

ไม่กี่วินาทีต่อมา โลมาก็กระโดดขึ้นจากน้ำและกัดนักท่องเที่ยวชายและพยายามลากลงไปในน้ำ ขณะที่นักพายเรือและนักพายเรือคายัคที่หวาดกลัวถอยหนีด้วยความสยดสยอง หลังจากดิ้นรนอยู่สักพักหนึ่งกว่าจะถึงผิวน้ำ โลมาก็จู่โจมอีกครั้ง ลากชายคนนั้นกลับลงไปในน้ำ

เคราะห์ดีที่ชายคนดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือจากนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ได้ทันเวลา สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นักท่องเที่ยวชายวัย 60 ปีได้รับบาดเจ็บ ซี่โครงหักหลายซี่ หลังถูกโลมาทำร้าย ในวันเดียวกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คนชายวัย 40 ปีอีกคนถูกกัดที่แขนโชคดีที่เธอสามารถว่ายน้ำหนีจากโลมาได้

ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวอีก 3 คนถูกโลมากัดที่แขนขณะว่ายน้ำนอกชายหาดเดียวกันจะได้เห็นการโจมตีของโลมาหลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานของตำรวจท้องที่ มีเหตุการณ์อย่างน้อย 6 เหตุการณ์นอกชายฝั่งฟุคุอิในปีนี้ และพวกเขาได้แนะนำนักท่องเที่ยวว่า อย่าว่ายน้ำหากพบเห็นโลมาอยู่ใกล้ ๆ พร้อมทั้งติดป้ายเตือนประชาชนห้ามเข้าใกล้หรือสัมผัสโลมา

นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าโลมาปากขวดจะเครียดเมื่อว่ายน้ำกับมนุษย์ พฤติกรรมก้าวร้าวอาจเกิดขึ้นบ่อยขึ้นหากโลมารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคาม มีส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่โลมาไม่ชอบให้สัมผัส ได้แก่ ปลายจมูกหรือครีบหลัง


https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7773646
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 20-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'กรมโลกร้อน' คอนมานโดสู้ 'โลกรวน'



ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่คาดว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิร้อนขึ้น การเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ รวมถึงไฟป่าตามมา หรือหลายพื้นกลับต้องเจอสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงและฉับพลัน ในช่วงวงจรการเกิดสภาพอากาศแบบ ?เอลนีโญ ?หรือสภาพอากาศแห้งแล้งในปีนี้ ซึ่งนักวิชาการคาดว่าสำหรับประเทศไทยจะเจอเอลนีโญลากยาวไปถึง 3 ปี เป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า เราควรจะต้องมีการเตรียมการรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังแล้ว และอาจต้องทำงานในเชิงรุกแก้ปัญหา

จากเหตุผลดังกล่าว ในแง่ความรับผิดขอบของภาครัฐ ทำให้ล่าสุดกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่และโครงสร้างการทำงาน โดยเปลี่ยนชื่อกรมเป็น?กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม? (Department of Climate Change and Environment : CCE) ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของของสถานการณ์โลก แต่ถ้าเรียกแบบชาวบ้านสั้นๆ ง่ายๆ อาจเรียกได้ว่า "กรมโลกร้อน" ก็ว่าได้

บทบาทหน้าที่ของ "กรมโลกร้อน" ที่ว่านี้ คือ มีภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยตรง ทั้งการเสนอแนะและจัดทำนโยบาย การทำแผน และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การทำงานที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นตัวเร่งให้โลกร้อน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ระดับประเทศและระดับพื้นที่ ตลอดจน จัดทำรายสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โครงสร้างของกรม หน่วยงานภายในแบ่งออกเป็นสำนักเลขานุการกรม ,กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก, กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ, กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะเป็นศูนย์ติดตามและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แจ้งเตือน สำหรับแก้ไขปัญหา การรับมือ และปรับตัวกับความเสี่ยงเชิงพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึนในอนาคตด้วย

การปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ.2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ. 2608

เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัด ทส. โฆษกประจำ ทส. กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อกรมใหม่เป็นไปตามเทรนด์โลก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทั่วโลก ประเทศไทยต้องร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหา การปรับโครงสร้างเป็นกรมส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีภารกิจใหม่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon neutrality กรมนี้จะติดตาม กวดขัน และกำกับดูแล ส่วน Net Zero GHG emission ต้องมีการทำงานที่ชัดเจนเพื่อบอกนานาขาติ ไทยเอาจริงเรื่องภาวะโลกร้อน แม้ไทยจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกก็ตาม แต่เผชิญปัญหาความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศไม่น้อย ปีที่ผ่านมา เจอภัยแล้ง น้ำท่วม ส่วนปีนี้มีการพยากรณ์ไทยจะเจอแล้งจากเอลนีโญ่ ซึ่งกรมนี้จะมีภารกิจร่วมแก้ปัญหาด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกกระทรวงต้องช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน เพราะล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง

สมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีความชัดเจนด้านภารกิจขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปลี่ยนชื่อกรมแสดงความแน่วแน่แก้ไขปัญหา ซึ่งมีภารกิจขับเคลื่อนการปรับตัวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น การลดก๊าซเรือนกระจกเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน เกษตร อุตสาหกรรม คมนาคม ซึ่งจากการจัดทำโพลเพื่อสอบถามถึงความตระหนักของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการกำหนดผู้รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน พบว่า ประชาชนเกือบ 90% เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อและเสริมภารกิจใหม่

กรมน้องใหม่ ยังมีภารกิจเสนอแนวทางตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ นอกจากนี้ยังรวมถึงการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ มีการเปิดศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นศูนย์ข้อมูลกลางเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ทุกภาคส่วน ตลอดจนส่งสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะประขาชน องค์กรเอกชน โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ซึ่งมีการเปิดศูนย์ย่อยนำร่อง 3 แห่ง ที่ จ.กระบี่ เลย และเชียงใหม่ โดยมีแผนจะขยายให้ครบทุกจังหวัด

จากงานเดิมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" ยังมีโครงสร้างอีกส่วนหนึ่งที่แตกต่างจากบทบาทหน้าที่เดิม ที่เป็นงานยกมาจากกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ.กล่าวว่า กรมใหม่เป็นไทม์มิ่งสำคัญ จะช่วยให้การขับเคลื่อนการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก้าวกระโดดอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในมุมกว้างและเชิงลึก ถ้าพิจารณาแรงกดดันที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น มีทั้งเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และแรงกดดันด้านการค้าการลงทุนเริ่มจะแสดงให้เห็นถ้าไม่ยกระดับการทำงานให้รวดเร็วทุกมิติ จะไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันที่ถาโถมมาได้ทัน ด้าน สผ.จะตัดกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปร่วมกับกรมใหม่ เพื่อทำให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดิมตั้งกองนี้รองรับภารกิจเร่งด่วนบนเวทีโลก

นอกจากนี้ ยังมีหลายส่วนที่เชื่อมโยงกับกรมใหม่ได้ โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะนี้ทุกเวทีเน้นการคิดร่วมกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อบริหารอนุสัญญาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกองทุนสิ่งแวดล้อมในการกำกับของสผ. มีการยกระดับให้เงินสนับสนุนแก้ภาวะโลกร้อน ทุกการพัฒนาต้องมีแผนลดโลกร้อน

ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) กล่าวว่า อบก. เป็นหน่วยงานมีภารกิจให้บริการเทคนิควิชาการเฉพาะด้าน ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกรมใหม่ หาก อปท. จังหวัด ภาคเอกชน ต้องการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก อบก.ให้บริการประเมินการลดก๊าซเรือนกระจก การตั้งเป้าหมาย และรับรองปริมาณการลดก๊าซ รวมถึงการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตในระดับโครงการ ผู้พัฒนาโครงการต้องการความมั่นใจสิ่งที่ทำลดปล่อยก๊าซได้เท่าไหร่ หรือโครงการปลูกป่าดูดซับกักเก็บในเนื้อไม้ อบก. สนับสนุนให้การรับรอง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก กรม CCE จะหนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผนึกกำลังร่วมกับ TGO ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุดทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเท่านั้น ถึงจะเกิดผลสำเร็จและเป็นไปได้


https://www.thaipost.net/news-update/414883/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 20-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


'คลื่นความร้อน' โลกระอุ อุณหภูมิพุ่งทำชีวิตคนอยู่ยาก



"คลื่นความร้อน (Heat Wave)" หมายถึงปรากฏการณ์อากาศร้อนจัด ที่สะสมอยู่ในพื้นที่บริเวณหนึ่ง ซึ่งตามคำอธิบายของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.แบบสะสมความร้อน ซึ่งเกิดในพื้นที่ที่สะสมความร้อนเป็นเวลานาน อากาศแห้ง ลมนิ่ง ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เมื่ออุณหภูมิร้อนสะสมหลายวันจะเกิดคลื่นความร้อนมากขึ้น เช่น หากพื้นที่ไหนมีอุณหภูมิ 38-41 องศาเซลเซียส แล้วไม่มีลมพัดต่อเนื่อง 3-6 วัน ไอร้อนจะสะสมจนกลายเป็นคลื่นความร้อน

คลื่นความร้อนประเภทสะสมความร้อนมักเกิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ ฯลฯ กับ 2.แบบพัดพาความร้อน คลื่นความร้อนชนิดนี้เกิดจาก ลมแรงหอบความร้อนจากทะเลทรายขึ้นไปในเขตหนาว มักเกิดขึ้นแถวทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในยุโรป แคนาดาตอนใต้
ฯลฯ "พิษภัยจากคลื่นความร้อน" เช่น ทำให้เสี่ยงเป็นโรคลมแดด (Heatstroke) หรือโรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) อากาศร้อนนั้น สามารถบั่นทอนระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายของผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีอาการความดันโลหิตสูง ให้ล้มเหลวได้

ในปี 2566 คลื่นความร้อนก่อผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเดือน เม.ย. 2566 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน สื่อหลายสำนักได้กล่าวถึง ?Monster Asian Heat Wave? เปรียบเทียบคลื่นความร้อนครั้งนี้ราวกับปีศาจ ทำให้หลายชาติในทวีปเอเชียเผชิญอากาศร้อนจัด อาทิ ในวันที่ 19 เม.ย. 2566 ทั้งอินเดีย เมียนมา บังกลาเทศ ไทย ลาว เวียดนาม และจีน ล้วนวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะที่อินเดีย อากาศร้อนได้คร่าชีวิตประชากรไป 13 ศพ แม้กระทั่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อุณหภูมิก็ยังสูงอย่างผิดปกติ ไปอยู่ที่กว่า 30 องศาเซลเซียส

ล่าสุดในเดือน ก.ค. 2566 ประเทศในภูมิภาคยุโรปใต้ อาทิ อิตาลี ถึงกับต้องประกาศเตือนภัยขั้นสูงสุด โดยคาดว่าในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ อุณหภูมิจะแตะ 40 องศาเซลเซียส ขณะที่กรีซและสเปน อากาศร้อนจัดทำให้เกิดไฟป่าจนทางการต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงในทวีปอเมริกา องค์การบริการสภาพอากาศแห่งชาติ (NWS) เปิดเผยว่า หลายเมืองในสหรัฐอเมริกา เผชิญอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และมีประชากรได้รับผลกระทบมากถึง 113 ล้านคน

"อากาศร้อนยังซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ" รายงานข่าว No city is ?truly prepared? for the heatwaves that lay ahead. Here?s what can be done about it จากสื่อยุโรปอย่าง Euronews เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 ฉายภาพสถานการณ์ในสหรัฐฯ ว่าเมื่ออากาศร้อนจัด ผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือประชากรที่พักอาศัยในอาคารที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ รวมถึงแพทย์ที่พบผู้ป่วยเข้าใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้นแม้อาการป่วยจะไม่เกี่ยวกับอากาศร้อนโดยตรง เช่น หัวใจวาย ไตวาย และปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนทำงานกลางแจ้งคนพิการและคนไร้บ้าน

เช่นเดียวกับรายงานข่าว Thousands of street vendors are hit hard by severe heat wave in Los Angeles จาก นสพ. Los Angeles Daily News เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 บอกเล่าชะตากรรมของผู้จำหน่ายสินค้ากลางแจ้งในเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ที่อากาศร้อนจัดทำให้สุขภาพทรุดโทรม บางคนมีอาการปวดศีรษะ อีกทั้งรายได้ก็ลดลงเพราะผู้คนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านมาจับจ่าย

"โครงสร้างอาคาร" ก็เป็นอีกประเด็นที่อาจต้องให้ความสำคัญมากขึ้น รายงานข้างต้นของ Euronews ตอนหนึ่ง ระบุว่า ที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ความแห้งแล้งและความร้อนที่ยืดเยื้อทำให้อาคารเก่าแก่แตกร้าวและเอียง โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยคำนึงถึงอุณหภูมิที่ร้อนจัด ซึ่ง รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อธิบายว่า ที่อุณหภูมิประมาณ 40-60 องศาเซลเซียส ถือว่าสูงสำหรับการอยู่อาศัย แต่ยังไม่สูงสำหรับโครงสร้างอาคาร

อย่างไรก็ตาม อาคาร 1 หลัง นอกจากจะมีโครงสร้างแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ?วัสดุสถาปัตยกรรม? อาทิ บานประตู-หน้าต่าง ผนังอิฐก่อ-ปูนฉาบ ม่าน ฯลฯ ซึ่งเมื่อเจอความร้อนสูงๆ ก็มีโอกาสพองตัว กาวหลุดไม่ยึดติด หรือหดตัวไปจนถึงละลายได้ เช่น วงกบที่มีผนังอิฐไปก่อยึด เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะดันขยายจนมีรอยแตกร้าว (Crack) ที่ผนังได้ เพราะผนังเป็นงานสถาปัตย์ไม่ใช่งานโครงสร้าง อนึ่ง โครงสร้างนั้นมี 3 ประเภท คือ 1.โครงสร้างไม้ 2.โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และ 3.โครงสร้างเหล็ก ซึ่ง ?อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจมีผลบ้างกับโครงสร้างเหล็ก? เช่น โครงหลังคา อาจมีการขยายตัวของโครงสร้างเมื่อเจออุณหภูมิสูง

"ยกตัวอย่างรางรถไฟ ในระยะประมาณ 100 เมตรเขาจะเว้นรอยต่อไว้ห่าง เพราะเวลาร้อนจัดรางรถไฟจะขยายตัว ถ้าเราไม่เว้นช่องว่างไว้มันจะไปดันให้รางรถไฟคดได้ อันนี้ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือรางรถไฟมันตากแดด มันเปลือย อุณหภูมิมันจะสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศ เป็นการสะสมความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งรางรถไฟมีสีเข้ม มันก็จะยิ่งอมและดูดความร้อน เอามือไปแตะมันจะร้อนเลย อันนั้นมันจะมีการขยายตัว

ฉะนั้นโครงสร้างก็เหมือนกัน โครงสร้างสะพานที่เป็นเหล็ก โครงสร้างหลังคาที่เป็นเหล็กแต่ไรวัสดุคลุมอยู่ หมายถึงความร้อนมันก็จะไม่สัมผัสเต็มที่ แต่ก็จะมีผลกับการขยายตัวของเหล็กพื้น การออกแบบกับการก่อสร้างมันต้องเผื่อเรื่องเหล่านี้ไว้เผื่อการขยายตัว ซึ่งในการออกแบบมันก็มีการเผื่อไว้อยู่แล้ว อย่างสะพานโครงสร้างเหล็กวิ่งข้ามแยก ในแง่รายละเอียดเขาจะเว้นระยะให้มันขยับตัวได้" รศ.สุพจน์ กล่าว

รศ.สุพจน์ กล่าวต่อไปว่า ในการก่อสร้างแบบโครงสร้างเหล็ก บางครั้งผู้ก่อสร้างไม่ทราบแล้วก็เชื่อมติดกันหมดไม่ปล่อยให้สามารถเคลื่อนได้โดยไม่เกิดแรงเพิ่ม จึงต้องให้ความสำคัญ เพราะสำหรับโครงสร้างเหล็ก ที่อุณหภูมิ 40-50 องศาเซลเซียส ก็มีผลให้เกิดการขยายตัวของมวลของเหล็กของวัสดุ อนึ่ง "งานไม้ก็มีความเสี่ยงขยายตัวจากอุณหภูมิสูงเช่นกัน" เช่น การปูพื้นปาร์เกต์ในห้องซึ่งยึดกับพื้นด้วยกาว เมื่อห้องมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม้ก็อาจขยายตัวดันให้พองโก่งขึ้นไม่ติดพื้นได้ เพียงแต่นี่เป็นงานสถาปัตยกรรมไม่ใช่งานโครงสร้าง

นั่นคือเรื่องของโครงสร้างอาคารซึ่งสามารถออกแบบและปรับปรุงได้ แต่ความท้าทายกว่านั้นในการเปลี่ยนแปลงคือ "ผังเมืองและวิถีชีวิต" ดังรายงานข่าวข้างต้นของ Los Angeles Daily News ที่เสนอแนะให้ "เพิ่มพื้นที่สีเขียว-ลดการให้ความสำคัญกับรถยนต์" เพื่อแก้ไขปัญหา "เกาะความร้อน (Urban Heat Island)" ที่เขตเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าเขตรอบนอก!!!


https://www.naewna.com/likesara/744811

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:24


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger