#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "แลง" (LAN) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 14-15 ส.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 - 15 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 16 ? 18 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 13 ? 18 ส.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนด้านภาคตะวันออกควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 13 ? 15 ส.ค. 66 นี้ไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
เร่งค้นหา 2 ผู้สูญหาย พายุงวงช้างพัดสปีดโบ๊ตนักท่องเที่ยวล่มที่ปากอ่าวบางตะบูน จนท.กู้ภัยเพชรบุรียังคงเร่งออกค้นหา 2 นักท่องเที่ยวที่หายไปจากเหตุเรือสปีดโบ๊ตท่องเที่ยวถูกพายุงวงช้างพัดกระหน่ำ พัดเรือลอยแล้วพลิกคว่ำล่มที่ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน ที่ อ.บ้านแหลม ขณะที่อีก 5 คนว่ายน้ำขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 12 สิงหาคม ร.ต.อ.ไชยชนม์ อรุณโรจน์รังษี ร้อยเวร สภ.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี รับแจ้งเหตุเรือโดยสารล่ม มีผู้สูญหาย ที่บริเวณปากอ่าวบางตะบูน หมู่ 2 ตำบลบางตะบูนออก จึงรายงานให้ นายศนันย์ เกตุทอง นายอำเภอบ้านแหลมทราบแล้วรุดตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมประสาน เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างสรรเพชญ แพทย์ รพ.บ้านแหลม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ ที่เกิดเหตุเป็นกลางแม่น้ำบางตะบูน ห่างจากฝั่งตลิ่งด้านทิศใต้ประมาณ 15 เมตร พบผู้ประสบเหตุว่ายน้ำขึ้นมาที่บริเวณริมฝั่งได้ จำนวน 6 คน เป็นชาย 2 คน คือ นายสัมพันธ์ จีนปึ้ง เป็นคนขับเรือ และนายธนากร ริ้วสุเมธ เป็นหญิง 4 คน คือ นางสาวสุธีพร ทวนทอง นางสาววาสนา โตสกุล นางสาวสุนีย์ แซ่เล้า และนางสาว ธนาพร ชูโต โดยขณะนี้ยังมีผู้สูญหายภายในน้ำเป็นชาย 2 คน ทราบชื่อคือ นายกฤษณัฐ คำปัญญา และ นายชนินทร์ ชมปิ่นทอง สอบถาม นายสัมพันธ์ จีนปึ้ง คนขับเรือทีมงานปูเย็น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่รอดชีวิต ทราบว่าก่อนเกิดเหตุได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มนักท่องเที่ยว จำนวน 7 คน จาก Water Camping Resort บริเวณหมู่ 2 ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม ให้พานำเที่ยวบริเวณปากอ่าวแม่น้ำวังตะบูน เพื่อดูทัศนียภาพ ตนจึงนำนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวขึ้นเรือโดยสารมีหลังคา ที่ชาวบ้านเรียกเรือแท็กซี่ ยาวประมาณ 12 เมตร กว้าง 3 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 22 คน นำนักท่องเที่ยว จำนวน 7 คนดังกล่าว เป็นผู้หญิง 4 คน ผู้ชาย 3 คน ออกจากปากอ่าวบางตะบูน ไปเที่ยวชมทัศนียภาพ ช่วงพระอาทิตย์ตกที่ปากอ่าวทะเลบ้านแหลม หลังจากเที่ยวชมทัศนียภาพเสร็จ ขณะที่ตนกำลังขับเรือกลับเข้ามาในแม่น้ำบางตะบูน ขณะเหลือระยะทางอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะกลับถึงรีสอร์ต ได้ปรากฏพายุงวงช้างขนาดใหญ่ พัดรุนแรงพาเรือลอยจากนำ้และพลิกคว่ำทันที คณะนักท่องเที่ยวไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ ตนได้พยายามช่วยเหลือนำนักท่องเที่ยวชาย 2 คน ที่อยู่ใกล้ตัวพาว่ายเข้าริมตลิ่ง เมื่อใกล้ถึงริมทะเล ตนคาดว่าน่าจะปลอดภัย ตนจึงว่ายน้ำกลับไปที่เรือที่ล่มเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 5 คน แต่ปรากฏว่าเมื่อหันกลับมาก็พบชาย 2 คนที่ตนช่วยมาครั้งแรกดังกล่าวจมน้ำหายไป ขณะห่างจากตลิ่งไม่เกิน 4-5 เมตร ตนไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน จึงจำเป็นต้องหันกลับไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 5 คน ขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย เบื้องต้น นายศรันย์ เกตุทอง นายอำเภอบ้านแหลม รายงานให้ นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าฯ เพชรบุรี ทราบ และประสานสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมค้นหา นายกฤษณัฐ คำปัญญา และ นายชนินทร์ ชมปิ่นทอง ผู้สูญหายทั้ง 2 ราย อย่างเร่งด่วนแล้ว. https://www.thairath.co.th/news/local/central/2716869
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
ดร.ธรณ์ เผยสาเหตุ 'แพลงก์ตอนบลูม' เกิดบ่อย ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ-ระบบนิเวศ 'ดร.ธรณ์' เผยสาเหตุที่ 'แพลงก์ตอนบลูม' เกิดบ่อย หลังล่าสุดน้ำทะเล 'บางแสน' สีเขียวปี๋ ชี้แม้ไม่มีพิษแต่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ-ระบบนิเวศ วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ 'ดร.ธรณ์' อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุถึงกรณีเกิดปรากฏการณ์ 'แพลงก์ตอนบลูม' ที่ทะเล 'บางแสน' จนน้ำทะเลมีสีเขียวปี๋ ว่า ทะเลชายฝั่ง 'บางแสน' ศรีราชา เกิด 'แพลงก์ตอนบลูม' ต่อเนื่อง จึงอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ทราบอีกครั้ง น้ำเขียวปี๋เกิดจากแพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนมากผิดปรกติ แพลงก์ตอนที่พบในตอนนี้ไม่มีพิษ ยังกินอาหารทะเลได้ตามปรกติ แต่น้ำเขียวไม่น่าเล่นน้ำ/ท่องเที่ยว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ออกซิเจนลดลงโดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเล บางครั้งทำให้สัตว์น้ำตาย ยังส่งผลต่อการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยง แพลงก์ตอนบลูมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากธาตุอาหารลงทะเลมากในหน้าฝน บางจังหวะมีแดดแรง กระบวนการในทะเลเหมาะสม ทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มเร็ว มนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเราเพิ่มธาตุอาหารลงไป ทั้งการเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ แพลงก์ตอนบลูมเริ่มก่อตัวในทะเลนอก และขยายจำนวนขึ้น จนเข้าสู่ระยะสุดท้ายบริเวณชายฝั่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดน้ำเข้าไปรวมที่อ่าวไทยตอนในแถวชลบุรี ทำให้น้ำเขียวรวมตัวอยู่แถบนั้น ระยะสุดท้ายของแพลงก์ตอนบลูมจะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ ไม่กี่วัน จากนั้นจะหมดไป แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ตามลมที่พัดพามวลน้ำเข้ามา ยังมีปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่เกิดตามปากแม่น้ำได้อีกด้วย แต่สุดท้ายลมในช่วงนี้ก็พัดไปรวมที่ชายฝั่งชลบุรี เมื่อถึงช่วงปลายปี ลมมรสุมเปลี่ยนทิศ แพลงก์ตอนบลูมแถวชลบุรีอาจลดลง แต่ปีหน้าก็อาจกลับมาใหม่ตามลมมรสุม 'โลกร้อน' อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับแพลงก์ตอนบลูม ตามการศึกษาต่างประเทศที่พบว่าน้ำเขียวทั่วโลกเกิดถี่ขึ้นเรื่อย และขยายพื้นที่ไปในบริเวณต่างๆ ของโลก เราวัดคลอโรฟิลล์ในผิวหน้าน้ำทะเลได้โดยใช้ดาวเทียม แต่ต้องทำเป็นระบบและติดต่อเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง หากเราเข้าใจกระบวนการทางสมุทรศาสตร์เพิ่มขึ้น เช่น วัดกระแสน้ำ คุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ ฯลฯ เราจะเริ่มมีความสามารถในการทำนายและแจ้งเตือน น่าเสียดายที่สถานีวัดสมุทรศาสตร์แบบดังกล่าวตอนนี้มีเฉพาะที่ศรีราชา เป็นความร่วมมือระหว่างคณะประมง มก./สสน. ผมเคยเสนอให้มีการติดตั้งสถานีวัดสมุทรศาสตร์เพิ่มเติมไปแล้วอย่างน้อยอีก 2 ที่เพื่อให้ครอบคลุมอ่าวไทยตอนในทั้งหมด ผ่านที่ประชุมระดับชาติไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เกิด (เท่าที่ทราบ) หากเรายังไม่ทำอย่างเป็นระบบ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำได้แค่น้ำเขียวเมื่อไหร่ก็ไปตรวจสอบเหมือนอย่างที่เป็นมา เราก็ย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่มีแนวโน้มว่าน้ำเขียวจะเพิ่มขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยในอนาคต ในขณะเดียวกัน การยกระดับการบำบัดน้ำทิ้ง การปรับเปลี่ยนการเกษตรให้เหมาะสม จะช่วยลดปัญหาที่ต้นเหตุ น้ำคือทุกอย่างของทะเล เมื่อน้ำมีปัญหา ทุกอย่างในทะเลก็มีปัญหา กิจการเกี่ยวกับทะเลย่อมได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะที่ แต่เป็นปัญหาในภาพรวม การแก้ไขไม่สามารถทำเฉพาะครั้งคราว แต่ต้องลงทุนลงแรงทำจริงจังต่อเนื่อง เรียนรู้เพื่อทำนายและแจ้งเตือน กำหนดเป้าในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเราไม่ลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ ทะเลเราก็แย่ลง กิจการเกี่ยวกับทะเลก็ได้รับผลกระทบมากขึ้น สุดท้ายไม่ว่าเราลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวหรือฝันอยากเป็นอะไร เมื่อน้ำทะเลสีเขียวปี๋บ่อยขึ้นและบ่อยขึ้น เราก็คงยากไปถึงฝัน โลกเราซับซ้อนมากขึ้น ตัวแปรมีมากมาย หากเราอยากอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ได้ประโยชน์ให้เนิ่นนาน เราต้อง 'รู้จัก' ทะเลให้มากขึ้น ณ จุดนี้ เรายังทำความรู้จักกับยุคโลกร้อนทะเลเดือดได้ไม่พอครับ ขอบคุณภาพจาก 'ชอบจัง บางแสน' ย้ำเตือนว่าแพลงก์ตอนไม่มีพิษ ยังคงกินสัตว์น้ำได้ครับ https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1083277
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|