เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 27-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 1 ก.ย.นี้ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 27 ? 28 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย สูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ? 1 ก.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ? 1 ก.ย. นี้ โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. ? 1 ก.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 27-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


รู้จัก "ปลานกแก้วหัวโหนก" ปู่โสมเฝ้าทะเล 1 ในปลาหายากที่สุดของไทย

อ.ธรณ์ นักวิชาการทางทะเล เผยคลิปประทับใจ "ปู่หัวโหนก" หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก สายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย



วันที่ 26 สิงหาคม 2566 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยคลิป "ปู่หัวโหนก" ในทริปสำรวจทะเลโลซิน ดำเนินการโดยความร่วมมือจากกรมทะเลชายฝั่ง/ม.เกษตรศาสตร์, ม.อ./ม.ราม/มูลนิธิเอนไลฟ์ ภายใต้ความสนับสนุนจาก ปตท.สผ.

โดยระบุข้อความว่า "ปู่หัวโหนก" หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก (Green humphead parrotfish) ซึ่งเป็นปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย

สำหรับปลานกแก้วหัวโหนก คือโคตรปลานกแก้ว ความยาวเต็มวัย 1.5 เมตร น้ำหนักอาจถึง 75 กิโลกรัม เป็นปลาที่อยู่กับแนวปะการังน้ำลึก/น้ำใส สมบูรณ์ ในทะเลไทยนานทีมีรายงานหน เช่น เกาะสุรินทร์ แต่สถานที่เจอประจำคงเป็นที่เกาะโลซิน เกาะไกลฝั่งที่สุดในอ่าวไทย หรือเกาะแสนล้านที่บางคนเรียกเพราะเกี่ยวข้องกับพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดินทางไปที่นั่น เพื่อศึกษาสารพัดเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งแสนสำคัญคือพบเจอปลาหัวโหนก ปู่โสมเฝ้าทะเลแสนล้าน ว่ายังคงอยู่ดีมีสุข

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปลานกแก้วหัวโหนก ดังนี้


ทำไมเรียกปู่ปลา?

ปลานกแก้วหัวโหนกอายุยืนมาก อาจถึง 40 ปี เมื่อเทียบกับปลากระดูกแข็งด้วยกัน (ไม่นับฉลาม/กระเบน) ถือว่าเป็นระดับปู่ทวดได้เลยฮะ


ตัวใหญ่แค่ไหน?

ยาว 1.5 เมตร หนัก 75 กก. น้ำหนักเท่าผมเลยครับ แต่เตี้ยกว่า นี่คือปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก มีอยู่แค่ชนิดเดียวเท่านั้น ทั้งโลกเจอได้เฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและมหาสมุทรอินเดีย


ดูยังไงคะ ว่าเป็นปลานกแก้ว?

เด่นสุดคือฟันในปาก หนูลองสังเกตคลิปช่วงสโลว์ให้ดี จะเห็นฟันรวมเป็นแผ่นเหมือนปากนกแก้ว ยื่นออกมานอกริมฝีปาก อีกอย่างคือการว่าย สะบัดครีบเป็นจังหวะพั่บๆ ดูแล้วคล้ายนกแก้วบินจ้ะ


ปู่กินอะไรฮะ?

ฟันแบบนี้มีไว้แทะ/ขูด หากเป็นปลานกแก้วทั่วไปจะขูดสาหร่าย/ปะการัง แต่ถ้าเป็นปู่หัวโหนกตัวใหญ่ อาจงับเข้าไปเคี้ยวในปากเหมือนเรากินขนม ไปบอกคุณแม่ให้ซื้อขนมมาให้หนูทำการทดลองเคี้ยวแบบปลานกแก้วหัวโหนกสิจ๊ะ


ทำไมปลานกแก้วสำคัญคะ?

จุดเด่นคือปลาคุมปริมาณสาหร่าย ปลานกแก้วยังช่วยสร้างทรายให้แนวปะการัง คุณปู่เป็นเทพในเรื่องนี้เลยครับ

เนื่องจากตัวใหญ่จึงกินเยอะ ปลานกแก้วหัวโหนกจะสร้างทรายปีละ 5 ตัน มากกว่าปลานกแก้วทั่วไปหลายร้อยเท่า ผมใส่ภาพปู่อึไว้ในเมนต์ แนะนำให้เปิดดูครับ


แล้วทำไมหัวโหนก? เฉพาะตัวผู้หรือเปล่าครับ?

จะตัวผู้หรือตัวเมีย หัวก็โหนกครับ ปลาชนิดนี้บ่งบอกเพศจากรูปร่างภายนอกไม่ได้ หัวโหนกมีไว้ดุนดันให้เศษปะการังหักออกมา แต่ไม่ได้ทำทุกครั้งเพราะเจ็บหัว (มั้ง)

บางครั้งปลาอาจหวงอาณาเขตโดยเฉพาะช่วงผสมพันธุ์ เมื่อตัวอื่นว่ายล้ำเข้ามาอาจว่ายไล่ บางทีเอาหัวชนกัน (มีคลิปของฝรั่ง เสียงดังได้ยินในน้ำเลยครับ)


อยู่ตัวเดียวไม่เหงาเหรอคะ?

ปรกติปลานกแก้วหัวโหนกชอบอยู่เป็นฝูง เหมือนกับปลานกแก้วทั่วไปที่ชอบรวมฝูงว่ายหากินในแนวปะการังในตอนกลางวัน ช่วงกลางคืนจะแยกย้ายกันหากิน ก่อนกลับมารวมฝูงกันตอนเช้า

หากเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ อาจเจอหลายสิบหรือนับร้อยตัว แต่แนวปะการังไทยเล็ก ฝูงใหญ่สุดที่ผมเคยเจออยู่ที่เกาะสุรินทร์ นับได้ 17 ตัว

สำหรับโลซิน อยู่เดี่ยวๆ เพราะแนวปะการังใหญ่ไม่พอ ปู่เหงาอยากมีอีหนูมาปรนนิบัติก็ไม่มีเนื่องจากพื้นที่แค่นี้ไม่พอกิน


ใกล้สูญพันธุ์หรือยังจ๊ะ?

ใกล้แล้วครับ สถานภาพระดับโลก VU เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากถูกจับ ยังเกี่ยวข้องสภาพระบบนิเวศ ปลาชนิดนี้ต้องการแนวปะการังสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้โลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามที่แรงขึ้นเรื่อยๆ

ปลานกแก้วหัวโหนกในไทยมีน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่อยู่แนวสมบูรณ์ที่เป็นอุทยาน/พื้นที่อนุรักษ์ (เช่น โลซิน) ภัยคุกคามระยะยาวของเราคือระบบนิเวศอยู่ในภาวะเสี่ยง


สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคุณปู่?

แค่เห็นก็อยากยกมือไหว้ รักษาสุขภาพด้วยนะฮะ แล้วเราจะช่วยดูแลทะเลให้สวยๆ สมเป็นบ้านของปู่

ให้ปู่ปลาอยู่เป็นศักดิ์ศรีของท้องทะเลบ้านเราไปอีกนานเท่านานครับ


https://www.thairath.co.th/news/soci...oogle_vignette


******************************************************************************************************


ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาหารทะเลน่ากังวลแค่ไหน ปนเปื้อนรังสี



การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ผ่านการบำบัดแล้ว และสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติ ได้ไฟเขียว เมื่อเดือน ก.ค. หลังญี่ปุ่นศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมานาน 2 ปี แต่ยังคงสร้างความกังวลให้กับชาวญี่ปุ่น และประเทศใกล้เคียง มีการประณามญี่ปุ่นไร้ความรับผิดชอบ

เป็นเหตุให้รัฐบาลจีน ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว แต่อนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดอื่นได้ แต่ต้องผ่านการทดสอบกัมมันตภาพรังสี และมีหลักฐานว่าผลิตนอก 10 จังหวัดต้องห้าม รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งได้ออกมาประท้วง และผู้คนแตกตื่น มีการกักตุนอาหารทะเล สาหร่ายทะเล และเกลือไว้ล่วงหน้า

น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ถูกกรองออกไปแล้ว ยกเว้นทริเทียมและคาร์บอน-14 แยกออกจากน้ำได้ยากมาก แต่ญี่ปุ่นยืนยันอยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งการทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ในรอบแรกของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ TEPCO ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เริ่มปล่อยในปริมาณ 7,800 ตันในระยะเวลา 17 วัน จากปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในถังกักเก็บมากกว่า 1.3 ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก คาดจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี

โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เผชิญเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย จนสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหล เป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิลในปี 2529 ต้องใช้น้ำฉีดเพื่อลดอุณหภูมิ และเก็บน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไว้ในถังกักเก็บจนเต็มความจุ นานกว่า 10 ปี โดยการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการรื้อถอนโรงไฟฟ้า


ไทยตรวจสอบเข้มงวด อาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น

ความกังวลที่เกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ลงสู่ทะเล ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. ทางสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ออกมาระบุมีความเป็นไปได้น้อยมากที่กัมมันตภาพรังสี จะส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลของไทย แต่การตรวจสอบอาหารทะเลจากชายฝั่งของไทยยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะต้องตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เป็นการประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคไทย

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะเลเจ้าหน้าที่ด่านประมง ของกรมประมง และด่านอาหารและยาของ อย. มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที ขอให้ประชาชนวางใจในการดำเนินงานของ อย. และให้รับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน


อาหารทะเลไทย กินได้ไร้กังวล "ฟุกุชิมะ" อยู่ไกลมาก

ขณะที่ "ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าคนไทยยังสามารถกินอาหารทะเลของบ้านเราได้เหมือนเดิม เพราะทะเลบ้านเราห่างจากฟุกุชิมะ 5,000 กม. วัดเป็นเส้นตรง และหากวัดลัดเลาะชายฝั่งจะไกลกว่ามาก หากสารมีอันตราย กว่าจะมาถึงต้องผ่านหลายประเทศ

นอกจากนี้กระแสน้ำคูโรชิโอะ (Kuroshio) ซึ่งเป็นกระแสน้ำหลักในทะเลแถบนั้นยังไหลขึ้นเหนือ ก่อนเบี่ยงออกกลางมหาสมุทร ไม่ได้ไหลลงใต้มาทางบ้านเรา หากคิดถึงการสะสมระยะยาวในดินตะกอน สัตว์น้ำ ฯลฯ ยังอยู่ไกลมาก สามารถกินอาหารทะเลไทยต่อไปได้ และควรกินเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


น้ำบำบัดแล้ว เหลือทริเทียม และคาร์บอน-14 น้อยมาก

"ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย คาดว่าน้ำเสียที่ถูกบำบัดแล้วจะมีสารทริเทียม ประมาณ 190 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก ต้องไม่เกิน 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งเบ็กเคอเรลเป็นหน่วยวัดปริมาณกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวจากต้นกำเนิดรังสี และแม้ญี่ปุ่นจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงบำบัดน้ำเสียจนสารกัมมันตภาพรังสีหลายชนิดเข้าใกล้ศูนย์ แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ไม่สามารถกำจัดสารทริเทียม และคาร์บอน-14 ได้หมดแต่จะเหลือน้อยมาก

ในช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ถึง มิ.ย. 2566 จากการสำรวจพบปลา 44 ชนิดมีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนมากกว่า 100 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าที่ปนเปื้อนในมหาสมุทร และมีผลต่อสุขภาพอนามัยได้แก่ สารคาร์บอน-14, ไอโอดีน-131, ซีเซียม-137, สตรอนเซียม-90, โคบอลต์-60 และไฮโดร-3 ซึ่งเรียกว่าทริเทียม

ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกง ไม่รับประกันการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีต่อระบบนิเวศในทะเลและความปลอดภัยในอาหารทะเลเกรงจะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวโดยสั่งแบนอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยโตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุนมะ โทชิกิ อิบารากิ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ นอกจากนี้ประเทศจีนและเกาหลีใต้ ก็ได้ระงับการนำเข้าสัตว์น้ำและอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเช่นกัน.


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2720300

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 27-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ทช.เอาจริงผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว-เรือประมงทิ้งสมอบนแนวปะการังเจอโทษหนัก

ศูนย์ข่าวศีรราชา - ทช.เอาจริงผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวและเรือประมงทิ้งสมอบนแนวปะการัง พบการกระทำผิดเจอโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



วันนี้ (26 ส.ค.) นายวุฒิพงษ์ วงศ์อินทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 พร้อมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเรือเร็วลงตรวจสอบพื้นที่อ่าวบางเสร่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว และเรือประมง ป้องกันการทิ้งสมอในแนวปะการัง รวมทั้งการทำกิจกรรมทางน้ำ เช่น การดำน้ำลึก โดยห้ามสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง

โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำน้ำลงตรวจสอบสภาพสมอเรือว่าอยู่บนแนวปะการัง หรือทำลายปะการังและแนวปะการังหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่พบเรือทำความผิดแต่อย่างใด

นายวุฒิพงษ์ เผยว่า จากนี้หากเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิดตามมาตรการที่กำหนดไว้จะดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองในทันที

โดยมีบทลงโทษตาม ม.89 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามบัญชีแนบท้ายสัตว์คุ้มครองชนิดสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังลำดับที่ 4 ปะการังแข็งทุกชนิด

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีมาตราการดูแลทรัพยากรแนวปะการัวในพื้นที่ และในเร็วๆ นี้ยังจะมีการจัดวางทุ่นผูกเรือ และทุ่นแนวเขตกว่า 50 จุด เพื่อลดผลกระทบจากการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง โดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการสอดส่องดูแลผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำความผิดร่วมกันต่อไป


https://mgronline.com/local/detail/9660000077039

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 27-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ชาวประมง อ.บ้านแหลม วอนแก้ปัญหา ดินโคลน- เปลือกหอย ทับถมปากทางเข้าออกทะเล

ชาวประมง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหา ดินโคลน- เศษเปลือกหอย ทับถมปากทางเข้าออกทะเล



(26 ส.ค.2566) ชาวประมงพื้นบ้าน 4 ตำบลใน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ร้องผ่านทีมข่าวรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส ได้รับผลกระทบจากปัญหาดินโคลน-เศษเปลือกหอย หรือกระซ้า ปิดทางเข้า-ออกเรือประมงทำให้กระทบต่ออาชีพ

เป็นปัญหาซ้ำซาก มานานหลาย 10 ปี ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นเร่งหางบประมาณมาช่วยขุดลอกคลอง แต่ยังไม่เพียงพอ จึงขอให้ภาคเอกชนเข้าช่วยเหลือ รวมถึงยังประสบปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งกินเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่

ชาวประมงพื้นบ้าน หมู่ 2 ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นหนึ่งใน 8 พื้นที่คลอง ใน 4 ตำบล ที่ได้รับความเดือดร้อน จากปัญหาซากเปลือกหอย หรือ กระซ้า พร้อมกับดินโคลน ที่ถูกน้ำทะเลพัดมาทับถม

ทำให้ร่องน้ำในคลองที่ใช้สำหรับเดินเรือออกสู่ทะเล เพื่อไปหารายได้มาเลี้ยงปากท้องในครอบครัว ตื้นเขิน เป็นอุปสรรคที่พวกเขาบอกว่า บางวันกลับเข้าฝั่งไม่ได้ ต้องจอดเรือทิ้งไว้ แล้วเดินลำเลียงปลาขึ้นฝั่ง

ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าชี้แจงว่า ได้ขุดลอกลำคลองบริเวณนี้ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากงบประมาณมีจำกัดและต้องดูแลทั่วประเทศ ดังนั้นหน่วยงานในท้องถิ่นไม่นิ่งนอนใจต่างลงพื้นที่และช่วยกันจัดหางบประมาณ

บางคนมอบเงินส่วนตัวมาช่วยเหลือ เพื่อให้ทันกับความเดือดร้อนดังกล่าว และระดมกำลังชาวบ้านนำเสาไม้ มาปักเป็นแนวกั้นบรรเทาไปได้ชั่วคราวแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขอย่างถาวรได้

ล่าสุดนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพชรบุรี เขต 1 หลังลงพื้นที่ ได้นำปัญหาดังกล่าวไปเสนอญัตติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งช่วยเหลือ

ล่าสุดปัญหานี้ มีการประชุมร่วม ระหว่าง สส.,นายอำเภอบ้านแหลม, ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพรชบุรี,ตัวแทนกรมเจ้าท่า,นายก อบต. 4 แห่ง และนายกเทศมนตรีหาดเจ้าสำราญ อ.เมือง รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนคลังน้ำมันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวประมงกว่า 1,000 คน รวมถึงการดูแลป้องกันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดต่อไปด้วย


ติดตามตามการบูรณาการแก้ไขปัญหานี้ในรายการสถานีประชาชนสัญจร ณ. อบตปากทะเล ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี วันที่ 30 ส.ค.2566


https://www.thaipbs.or.th/news/content/331024

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:52


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger