เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ยุนยาง" (YUN-YEUNG) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 8?9 กันยายน 2566 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 7 ? 8 ก.ย. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 9 ? 12 ก.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ยุนยาง" (YUN-YEUNG) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 8?9 กันยายน 2566 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ตื่นตาตื่นใจ "ฉลามหูดำ" ว่ายน้ำหากินใน "อ่าวมาหยา" หลังปิดฟื้นฟูธรรมชาติ

เจ้าหน้าที่อุทยาน เผยคลิปฝูง "ฉลามหูดำ" ว่ายโชว์ตัวหน้าอ่าวมาหยา หลังปิดฟื้นฟูธรรมชาติ งดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวชั่วคราว



วันที่ 6 กันยายน 2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยคลิปวิดีโอฉลามหูดำ พร้อมระบุข้อความว่า ชื่นใจฉลามหูดำ ว่ายโชว์ตัวหน้าอ่าวมาหยา หลังปิดฟื้นฟูธรรมชาติ เมื่อที่ 4 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์-ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เปิดภาพมุมสูงจากโดรน กล้องถ่ายภาพใต้น้ำ

เพื่อนับประชากรฝูงปลาฉลามครีบดำ หรือปลาฉลามหูดำ และติดตามพฤติกรรม การหากิน การผสมพันธุ์ของฉลาม แสดงให้เห็นฝูงฉลามครีบดำ จำนวนมากว่ายน้ำหากินอยู่ ภายในอ่าวมาหยา ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่

ตั้งแต่มีการปิดเพื่อฟื้นฟูบริเวณอ่าวมาหยา ในเขตอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2566 เพื่องดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวชั่วคราว และเพื่อให้ธรรมชาติทั้งบนฝั่ง และใต้ทะเลบริเวณอ่าวมาหยาได้ฟื้นตัว ช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามารบกวนฉลามครีบดำ จึงเข้ามาหากินในอ่าวมาหยาเพิ่มขึ้น.


https://www.thairath.co.th/news/local/2722979

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ยูเอ็นชี้ "ทะเล-มหาสมุทรโลก" โดนขุดทรายออก 6 พันล้านตันต่อปี

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ทรายและตะกอนอื่น ๆ ในทะเลและมหาสมุทรของโลก ถูกขุดออกประมาณ 6,000 ล้านตันต่อปี พร้อมกับเตือนถึงความเสียหายร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และชุมชนชายฝั่ง


เครดิตภาพ : AFP

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ว่า โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) เปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลระดับโลก เกี่ยวกับการแยกตะกอนในสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยเตือนว่า ระดับของการขุดลอกกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งมันส่งผลกระทบร้ายแรง

"ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ของกิจกรรมการขุดในทะเลน้ำตื้น และการขุดลอกนั้น อยู่ในระดับที่น่าตกใจ" นายปาสคาล เปดุซซี หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ "กริด-เจนีวา" ของยูเอ็นอีพี ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นเดียวกับความขุ่นของน้ำ และผลกระทบทางเสียงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล

แพลตฟอร์มข้อมูลใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า "มารีน แซนด์ วอทช์" ใช้สัญญาณจากระบบแสดงตนอัตโนมัติ (เอไอเอส) ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อระบุการดำเนินงานของเรือขุดลอก ตลอดจนติดตาม และตรวจสอบกิจกรรมการขุดลอกทราย, ดินเหนียว, ตะกอน, กรวด และก้อนหิน ในสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลก

แม้กระบวนการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และจนถึงขณะนี้มีการติดตามเรือประมาณ 50% ของจำนวนทั้งหมด แต่แพลตฟอร์มข้างต้นประเมินว่า ทรายและตะกอนอื่น ๆ ในทะเล ราว 4,000-8,000 ล้านตัน ถูกขุดออกจากสภาพแวดล้อมทางทะเล ระหว่างปี 2555-2562 ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 ล้านตันต่อปี

นอกเหนือจากการนำเสนอตัวเลข ยูเอ็นยังคาดหวังว่า แพลตฟอร์มใหม่นี้จะนำไปสู่การหารือกับภาคส่วนการขุดลอก ผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการขุดของพวกเขาให้ดีกว่านี้

ขณะที่ ยูเอ็นอีพี ระบุเสริมว่า มันมีความจำเป็นเร่งด่วน ในการจัดการทรัพยากรทรายในทะเลให้ดีขึ้น และลดผลกระทบของการทำเหมืองในทะเลน้ำตื้น.


https://www.dailynews.co.th/news/2693223/


******************************************************************************************************


รู้จักกรมโลกร้อน



รู้หรือไม่! ประเทศไทยมี "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "กรมโลกร้อน" หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดปรับโครงสร้างจาก "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" โดยโครงสร้างของกรมฯ ใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการกรม, กองยุทธศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ, กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ยังมีกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และมีหน่วยงานกลุ่มตรวจสอบภายในและกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร มีอัตรากำลัง ประกอบด้วย ข้าราชการ 219 คน พนักงานราชการ 309 คน และลูกจ้างประจำ 19 คน มีนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล เป็นอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงฯ คนแรก

หน้าที่กรมที่เกิดขึ้นใหม่ มีหน้าที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนภารกิจรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายด้าน เช่น เสนอแนะและจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน มาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทำและให้บริการข้อมูลและข้อสนเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ศึกษา วิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นศูนย์เทคโนโลยีสะอาดและศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิงด้านสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งดูแลภารกิจ เพื่อให้ไทยดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ เสนอแนะแนวทาง และท่าทีในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และรายงานข้อมูลตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย

"วราวุธ ศิลปอาชา" รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ผลักดันกรมฯ ใหม่ขึ้น เคยระบุว่า ที่ต้องปรับโครงสร้างกรมฯ ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือปัญหาภาวะโลกร้อน กำลังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ทั่วโลกต่างกำลังเร่งสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกมาชี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าอุณหภูมิของพื้นผิวโลก และอุณหภูมิของมหาสมุทรในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในปีนี้อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณเตือนว่า เรากำลังเริ่มต้นสิ้นสุดยุคของ "ภาวะโลกร้อน" และกำลังเข้าสู่ยุค "ภาวะโลกเดือด" แล้ว ดังนั้นการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยตรง


https://www.dailynews.co.th/news/2688216/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


เจ้าหน้าที่ ทช. แจ้งจับผู้ใหญ่บ้าน ขุดทำลายซากปะการังชายฝั่งทะเลแสมสาร


.
6 ก.ย.2566 - นายวุฒิพงษ์ วงศ์อินทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) พร้อมด้วย นายนพดล แสงขาว ผู้อำนวยการศูนย์ และเจ้าหน้าที่ ได้เดินเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.ไพบูลย์ เลาหะนะวัฒน์ สารวัตรสอบสวน สภ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ให้ดำเนินคดีกับ นายอภิชาติ อร่ามรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านตำบลแสมสารหมู่ 3 และพวก ตามฐานความผิด ล่าหรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่อย่างอิสระ ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 3 ประกอบมาตรา 12 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 จำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมี นายณัฐพงศ์ พิทักษ์กรณ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.แสมสาร ร่วมเป็นพยาน

นายวุฒิพงษ์ วงศ์อินทร์ เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ กรณีที่ได้รับการร้องเรียนจากเครือข่ายพื้นที่แสมสาร เมื่อวันที่ 4 ก.ย.66 กรณีมีบุคคลใช้เครื่องจักรใหญ่ (รถแบคโฮ) ก่อสร้างลงไปในทะเล พื้นที่ราว 4 ไร่ บริเวณหน้าชายหาดหลังรีสอร์ทหรูแห่งหนึ่ง ม.1 ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งต่อมาได้ตรวจสอบพบว่าคือ นายอภิชาติ อร่ามรัตน์ และพวก ได้กระทำการใช้เครื่องจักรใหญ่ (รถแบคโฮ) ขุดซากปะการัง เพื่อปรับแต่งพื้นที่ บริเวณชายฝั่งทะเล ตรวจสอบพบเป็นปะการังชนิด ปะการังโขด Porites lutes อยู่ใน Order Scleractinia เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง สัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ลำดับที่ 4 ปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ (Order Scleractinia) กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการล่า หรือทำอันตรายด้วยปะการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของ และอยู่อย่างอิสระ จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อสารวัตรสอบสวนในวันนี้

ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยทราบว่า นายอภิชาติ อร่ามรัตน์ ได้จดทะเบียนในนามนิติบุคคล บริษัท ไร่ภูพญา 168 กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 วัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับจ้างเหมาปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ซึ่งระหว่างตรวจสอบการก่อสร้างปรับพื้นที่ได้พบรถแบคโฮ และรถบรรทุก 6 ล้อ ติดสติ๊กเกอร์หน้ารถว่า ไร่พญากรุ๊ป กำลังขุดและปรับพื้นที่


https://www.thaipost.net/district-news/443961/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


น้ำมันรั่วทำปะการังเป็นหมัน นักวิจัยแนะต้องติดตามผลกระทบน้ำมันรั่วระยะยาว



รายงานล่าสุด สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำเผย แม้ตอนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากเหตุน้ำมันรั่วที่ชลบุรี แต่มีผลวิจัยชี้ชัดว่ามลพิษน้ำมันรั่วทำให้ปะการังเป็นหมัน จึงต้องติดตามผลกระทบน้ำมันรั่วไหลในระยะยาว

เหตุน้ำมันรั่วไหลที่ จ.ชลบุรี ถือเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุด ที่ทะเลอ่าวไทยตอนในต้องประสบ หลังจากเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เกิดเหตุน้ำมันดิบกว่า 60 ตัน หรือ 60,000 ลิตร รั่วไหลลงทะเลบริเวณทางตอนใต้ของเกาะสีชัง จากอุบัติเหตุขณะขนถ่ายน้ำมันดิบจากทุ่นกลางทะเลของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

ภายหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจเบื้องต้น พบว่ายังไม่พบผลกระทบที่เห็นชัดเกิดขึ้น เนื่องจากคราบน้ำมันได้ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมวิจัยที่ทำงานศึกษาผลกระทบของน้ำมันรั่วที่มีต่อระบบนิเวศปะการังในอดีตที่ จ.ระยอง พบว่า

การรั่วไหลของน้ำมันดิบลงทะเลสามารถส่งผลต่อนิเวศแนวปะการังบริเวณข้างเคียง ทำให้ปะการังเป็นหมันได้


ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาในอดีตและในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา พบว่าน้ำมัน หรือคราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมันสามารถทำให้ปะการังเป็นหมัน โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมัน

"แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่ก็สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะไม่ 100% ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวอย่างไรต่อสัตว์ทะเล" ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา กล่าว

น้ำมันรั่วทำปะการังเป็นหมัน นักวิจัยแนะต้องติดตามผลกระทบน้ำมันรั่วระยะยาว
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสถานีวิจัยสัตว์ทะเลตั้งอยู่บนเกาะสีชัง และมีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกปะการังที่เกาะค้างคาว จึงต้องมีการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นอย่างไร เพราะทั้งเกาะค้างคาวและเกาะสีชังห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่วประมาณ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ ทางทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ กำลังดำเนินการเก็บตัวอย่างและสำรวจอย่างละเอียดโดยจะใช้เรือจุฬาฯ วิจัย ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและดิน ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ กลุ่มคราบน้ำมัน เพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่วและสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spil Dispersant) ต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะนำมาศึกษาวิจัยในเชิงลึกต่อไป

"สำหรับในครั้งนี้ ทางทีมวิจัยจะติดตามศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขในระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" ศ.ดร.วรณพ กล่าว

ด้าน ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มีพื้นที่แนวปะการังอยู่ประมาณ 250 ไร่ ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน หลักๆ คือเกาะค้างคาว/ท้ายตาหมื่น เกาะร้านดอกไม้ และเกาะขามใหญ่

อ.ธรณ์ อธิบายว่า น้ำมันส่งผลกระทบต่อปะการัง 2 แบบ อย่างแรกคือเฉียบพลัน เกิดเมื่อน้ำมันเยอะๆ สะสมในอ่าว เมื่อน้ำลง คราบน้ำมันโดนปะการังโดยตรง ขาวทันทีตายทันที อีกแบบคือส่งผลระยะยาว ปะการังอาจไม่ตาย มองภายนอกก็ปรกติ แต่จะอ่อนแอและเริ่มเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น

"ผลกระทบอย่างแรกประเมินไม่ยาก แต่อย่างที่สองยากครับ ต้องติดตามกันเป็นปีๆ ซึ่งก็คงต้องใช้งบประมาณ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการตกลงกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมทะเล และผู้ก่อเหตุ จะครอบคลุมถึงส่วนนี้ไว้ครบถ้วน ให้มากพอ ถี่พอ และรับผิดชอบต่อระบบนิเวศและท้องทะเลเพียงพอครับ" อ.ธรณ์ กล่าว


https://www.nationtv.tv/gogreen/378929360


******************************************************************************************************


น้ำเสียคือพลังงาน เปลี่ยนภัยสิ่งแวดล้อม เป็นพลังกู้โลกร้อน



รู้หรือไม่ น้ำเสียเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมการบิน แต่ถ้าจัดการอย่างเหมาะสมก็สามารถแปลงเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถจ่ายไฟให้กว่า 50 ล้านคนใช้ได้พอทั้งปี เปลี่ยนวิกฤตภัยสิ่งแวดล้อม เป็นพลังกู้โลกร้อนกันเถอะชาวโลก

น้ำเสีย ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่แทบทุกประเทศทั่วโลกต้องประสบ เพราะน้ำเสียนอกจากจะทำให้ระบบนิเวศและธรรมชาติเสื่อมโทรมลงแล้ว ยังเป็นแหล่งก่อภัยสุขภาพให้กับมนุษย์ หากแต่ทุกวันนี้มีเพียง 11% ของน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาทั่วโลกเท่านั้น ที่ได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า น้ำเสียสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นทรัพยากรทรงคุณค่าที่สามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน การขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังสามารถสกัดเอาสารต่างๆ ในน้ำเสีย ออกมาใช้เป็นปุ๋ย และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย

"จริงๆ แล้ว น้ำเสียเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์มาก แต่ว่าเรากลับปล่อยน้ำเสียเหล่านี้ทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ต่อโลกธรรมชาติที่เราพึ่งพา" Leticia Carvalho หัวหน้าผู้ประสานงานสาขาสิ่งแวดล้อมทะเลและน้ำจืดของ UNEP กล่าว


Carvalho กล่าวว่า

ในปัจจุบัน ปัญหาน้ำเสีย กำลังทำให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกหนักหนายิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จาก สารเคมีในน้ำเสียอุตสาหกรรมและบ้านเรือนทำให้เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศ ส่งผลกระทบต่อทั้งธรรมชาติและสุขภาพมนุษย์ เช่นเดียวกับธาตุอาหารมหาศาลในน้ำเสียจากการเกษตร ที่เร่งให้เกิดปรากฎการณ์แพลงตอนบลูมจนทะเลเป็นพิษ

ไม่เพียงเท่านั้น น้ำเสีย ยังเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดรุนแรงอย่าง ก๊าซมีเทน และไนตรัส ออกไซด์ จนเมื่อคำนวณรวมแล้ว ก๊าซเรือนกระจกจากน้ำเสียมีเป็นสัดส่วนถึง 1.57% ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งมีปริมาณเกือบเทียบเท่ากับการปลดปล่อยคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรมการบินทั้งภาค

Carvalho ยังเผยอีกว่า

น้ำเสีย ก็สามารถเป็นทางออกในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน โดยน้ำเสียสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดจากไบโอแก๊ซ ซึ่งมีศักยภาพสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงประชากรกว่า 50 ล้านคน ให้มีไฟฟ้าใช้ได้ทั้งปี

นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ง่ายขึ้น น้ำเสียยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยสารธาตุอาหารในน้ำเสีย สามารถกรองนำกลับมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเกษตร ช่วยลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีในภาคเกษตรได้ถึง 13.4%

น้ำเสียคือพลังงาน เปลี่ยนภัยสิ่งแวดล้อม เป็นพลังกู้โลกร้อนน้ำเสีย ที่ได้รับการบำบัดแล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้อุปโภคบริโภคได้ใหม่ โดยจากรายงาน UNEP คาดการณ์ว่า หากเราสามารถบำบัดน้ำเสียทั้งหมดที่เราปลดปล่อยออกมา เราจะได้ทรัพยากรน้ำสะอาดที่สามารถใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรได้มากกว่า 40 ล้านเฮกตาร์ หรือกว่า 150 ล้านไร่

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถสกัดเอาสารหรือทรัพยากรอื่นๆ ออกมาจากน้ำเสีย ซึ่งทรัพยากรจากน้ำเสียเหล่านี้สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในหลากหลายอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ การทำกระดาษ โพลิเมอร์ ยาฆ่าแมลง น้ำมันไบโอดีเซล ไปจนถึงสารกันเสียหรือแต่งกลิ่นในอาหาร

"ดังนั้น เราจึงไม่ควรปล่อยทรัพยากรทรงคุณค่าเช่นนี้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะหันกลับมามองถึงศักยภาพของน้ำเสียในการนำมาเป็นแหล่งพลังงานสะอาดในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน" Carvalho กล่าวทิ้งท้าย


https://www.nationtv.tv/gogreen/378929368

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 07-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


พบแพลงก์ตอนบลูม ทะเลอ่าวไทยบริเวณ "น้ำมันรั่วไทยออยล์"



นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเผยพบปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมในพื้นที่ผลกระทบคราบน้ำมันจากเหตุ "น้ำมันรั่วไทยออยล์" เปิดประเด็น "หรือที่ไม่พบคราบ เพราะปนไปกับน้ำทะเลสีเขียวของแพลงก์ตอนบลูม?" ขณะกรมควบคุมเผย "ไม่พบคราบน้ำมันแล้ววันนี้"

"หวั่นกระทบประการัง โดยเฉพาะระยะยาว" ทีมวิจัยจุฬาฯ เผยหลังลงพื้นที่สำรวจผลกระทบเบื้องต้น

ด้าน สส.ก้าวไกล ระยอง เปิดแถลงที่สภา กรณีน้ำมันรั่วไทยออยล์ "ข้องใจอีไอเอไทยออยล์-จี้เปิดข้อมูลจำเป็นแก่สาธารณะ-ชี้รั่วบ่อยเกิน ดำเนินการเหมือนเดิม"


"ข้องใจอีไอเอไทยออยล์-จี้เปิดข้อมูลจำเป็น" สส.ก้าวไกล

"เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จ.ชลบุรี มีลักษณะเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่ จ.ระยอง ช่วงต้นปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรั่วในลักษณะเดียวกันคือ รั่วระหว่างการขนถ่าย

โดยทางเราตั้งข้อสังเกตแรก คือ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัทไทยออยล์ มีการกำหนดวิธีการดำเนินการไว้อย่างครบถ้วน และมีมาตรฐาน แต่บริษัทได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งหากมีการปฏิบัติจริงตามรายงานก็ไม่น่าส่งผลกระทบร้ายแรงถึงขนาดนี้

รวมถึงบริษัทมีการปฏิบัติตามประกาศตามของประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 เรื่อง มาตรการความปลอดภัย การป้องกัน และขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือหรือไม่ ที่กำหนดว่าการขนถ่ายน้ำมันต้องมีบูมที่มีความยาว 3 เท่าของลำเรือ ซึ่งกรณีนี้เรายังไม่สามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้ วิธีการกำจัดคราบน้ำมันได้มีการทำตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะเท่าที่มีการตรวจสอบมีการใช้สารเคมีที่ควรใช้ในขั้นตอนสุดท้ายตั้งแต่ขั้นตอนแรก จึงทำให้เกิดความเสียหาย และผลกระทบจำนวนมาก โดยขอให้การถอดบทเรียน และดูแลภาคประชาชนอย่างทั่วถึง"

กฤช ศิลปชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระยอง พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จากเหตุน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมัน รั่วไหลขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ วันนี้ (6 ก.ย. 2566) ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา

"ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น ดังนั้นรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตรวจสอบอย่างรอบด้าน และเปิดเผย โดยขอให้มีการรายงานตัวเลขน้ำมันรั่วที่แท้จริง และขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากฝั่งเอกชนร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนตรวจสอบการใช้สารละลายคราบน้ำมันว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่

รวมถึงต้องมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล เยียวยาให้กับชาวประมง และผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย เหตุการณ์น้ำมันรั่วเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง แต่การเยียวยา และแก้ปัญหาก็ยังไม่ดีพอ ปัจุบันทรัพยากรทางทเะลของระยองก็ยังไม่ฟื้นตัว ชาวบ้านก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาที่เป็นธรรม" กฤช กล่าว

"จากสถิติของ ทช. เหตุการณ์น้ำมันรั่วไม่ได้ลดลงเลย สิ่งที่เราจะเรียกร้องคือ ผู้เกี่ยวข้อง จะต้องเพิ่มมาตรการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำอีก ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร และการรับมือภัยพิบัติหลังจากเกิดเหตุ ที่ยังใช้วิธีเดิม ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล และทรัพยากรธรรมชาติ

ภาครัฐและเอกชนต้องมาพูดคุย หาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเยียวยาที่ต้องพูดถึงกรณีทรัพยากรธรรมชาติด้วยว่าจะทำอย่างไร" สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระยอง พรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติม


"ไม่พบคราบน้ำมันแล้ววันนี้" อธิบดีคพ.

"จากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจทางเรือ และใช้ดาวเทียมสำรวจคราบน้ำมันที่รั่วไหลไม่พบมีคราบน้ำมันเข้าถึงชายฝั่งบริเวณหาดบางพระ และอ่าวอุดมตามที่ทำโมเดลไว้ โดยเมื่อวานนี้ พบคราบน้ำมันมีลักษณะเป็นฟิล์มน้ำมันบาง ๆ กระจายตัวกันเป็นกลุ่มบริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะสีชัง แต่ไม่พบกลุ่มน้ำมันที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเข้มหนา

ถึงจะไม่พบคราบน้ำมันเข้าชายฝั่ง แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และติดตามผลกระทบจากการใช้สาร Dispersant ขจัดคราบน้ำมัน 4,500 ลิตร จะมีผลต่อสัตว์ทะเล และทรัพยากรระยะยาวอีกอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้ ภาพรวมการสกัดคราบน้ำมันไม่ให้เข้าถึงชายฝั่งได้อย่างรวดเร็วภายใน 2 ? 3 วัน ส่วนหนึ่งมาจาก บริษัทไทยออยล์ฯ ใช้แผนเผชิญเหตุทันต่อสถานการณ์และทันทีหลังเหตุน้ำมันรั่ว พร้อมขออนุญาตใช้สาร Dispersant ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยังคงติดตามผลกระทบต่อเนื่อง ด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล และตะกอนดินเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเปรียบเทียบกรณีเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล 5 จุด คือ เกาะสีชัง อ่าวอุดม เกาะลอย (บริเวณสวนสุขภาพศรีราชา) หาดบางพระ และหาดวอนนภา"

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS วันนี้ (6 ก.ย. 2566) ถึงความคืบหน้าเหตุน้ำมันรั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันดิบของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดชลบุรี โดยจากประกาศชี้แจงของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด ที่เปิดเผยวานนี้ (5 ก.ย. 2566) คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเลทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 60,000 ลิตร

ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว หากในอนาคตมีผลกระทบเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ทะเลจะได้มีหลักฐานข้อมูลดำเนินคดี


"ไม่เจอคราบ หรือเพราะปนไปกับแพลงก์ตอนบลูม?" ดร.ธรณ์

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เปิดเผยว่า วานนี้ 5 (ก.ย. 2566) คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ลงพื้นที่ชายฝั่งศรีราชา เพื่อสำรวจคราบน้ำมันที่รั่วไหล แต่สิ่งที่เจอกลับเป็นมวลน้ำเขียวจากแพลงก์ตอนบลูมกำลังเข้าสู่ชายฝั่ง ในบริเวณเดียวกับที่คาดการณ์ว่าจะมีคราบน้ำมันเข้ามา ทำให้ไม่เจอคราบน้ำมัน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งคราบน้ำมันถูกกำจัดไปแล้ว หรืออาจเป็นเพราะปนกับน้ำเขียว

"ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงซ้อนกัน ทำให้ซับซ้อนจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ได้แต่เศร้าว่าทำไมเราถึงเจอแบบนี้

ทั้งหมดนี้ อาจเป็นเพราะเราใส่ใจทะเลไม่พอ ทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อม เช่น น้ำทิ้ง เร่งให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมถี่ยิบ ยังมีผลกระทบทางตรงจากคราบน้ำมัน แม้เป็นอุบัติเหตุ แต่เราก็ต้องยกระดับเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซาก

มิฉะนั้น เจอทั้งน้ำเขียวบวกน้ำมัน ทะเลจะเป็นอย่างไร พี่น้องคนทำมาหากินชายฝั่งจะเหนื่อยแค่ไหน" ดร.ธรณ์ เผยผ่านโพสต์เฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat วานนี้ (5 ก.ย. 2566)

"ประเด็นน้ำมันรั่วอยู่ห่างจากเกาะสีชังประมาณ 2 กิโลเมตรขณะขนถ่ายน้ำมันของบริษัทไทยออยล์ มีปริมาณน้ำที่รั่วไหลประมาณ 70,000 ลิตร โดยกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบ และพบว่ามีคราบน้ำมันสลายไปประมาณ 3,500 ลิตร และมีคราบน้ำมันกระจายตัวถูกพัดเข้าหาฝั่งชายหาดบางพระ ยาวไปจนถึงอ่าวอุดมประมาณ 4 กิโลเมตร แต่โชคดีที่มีแพลงก์ตอนบลูมสกัดไว้

อย่างไรก็ตามแพลงก์ตอนบลูมได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำบริเวณหน้าดินทั้งหมดตาย จึงขอเรียกร้องไปยังผู้ที่ต้องรับผิดชอบว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร และขอร้องเรียนไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมเจ้าท่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาแพลงก์ตอนบลูม และการป้องกันน้ำมันรั่วไหล" กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวในการแถลงข่าว


"หวั่นกระทบประการัง" ทีมวิจัยจุฬาฯ

"จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จ.ชลบุรี สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจเบื้องต้น พบว่า ยังไม่พบผลกระทบที่เห็นชัดเกิดขึ้น เนื่องจากคราบน้ำมันได้ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมวิจัยที่ทำงานศึกษาผลกระทบของน้ำมันรั่วที่มีต่อระบบนิเวศปะการัง ในอดีตที่ระยองทั้ง 2 ครั้ง พบว่า ผลกระทบอาจจะยังไม่เกิดให้เห็นทันที แต่สิ่งมีชีวิตอาจจะใช้เวลาในการแสดงออกถึงผลกระทบที่ได้รับภายหลัง

โดยทางทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ กำลังดำเนินการเก็บตัวอย่าง และสำรวจอย่างละเอียดโดยจะใช้เรือโดยการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล และดิน ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ กลุ่มคราบน้ำมัน เพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่ว และสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spil Dispersant) ต่อสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะนำมาศึกษาวิจัยในเชิงลึก และนำเทคโนโลยีการแยกลำดับสารทางพันธุกรรม (DNA) ของสิ่งมีชีวิตแบบ metagenomic มาประยุกต์ใช้ โดยการศึกษาในลักษณะนี้จะสามารถบ่งบอกถึงผลกระทบภายในของสัตว์ทะเล รวมทั้งปลาต่าง ๆ ในบริเวณเหล่านั้นได้

นอกจากนี้ ทางทีมจุฬาฯ ได้วางแผนการศึกษาผลกระทบของการรั่วไหลของน้ำมันในระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยจะมีการลงไปเก็บตัวอย่างมาศึกษาเป็นระยะ ๆ" Thai PBS รายงานวันนี้

"จากการศึกษาในอดีต และในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา พบว่า น้ำมัน หรือ คราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมันสามารถทำให้ปะการังเป็นหมัน โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่ และสเปิร์มได้ หรือ ถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่ และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมันชั่วคราว

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่ก็สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะไม่ 100 % ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบในระยะกลาง และระยะยาวอย่างไรต่อสัตว์ทะเล ซึ่งการตรวจติดตามผลกระทบนี้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขึ้นสูงเพื่อดูไปถึงสรีรภายในของสัตว์ทะเล" ศ.สุชนา ชวนิชย์ รอง ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ Thai PBS


https://greennews.agency/?p=35493

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:04


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger