เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 12-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 12 กันยายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับบริเวณอันดามัน และอ่าวไทยทะเลตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 12 ? 14 ก.ย. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่

ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 17 ก.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังคงมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลางตลอดช่วง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 12-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ภารกิจช่วยเหลือ "ลูกเต่าทะเล" น็อกน้ำจืด ว่ายน้ำหลงเข้ามาในแม่น้ำบางปะกง

ชาวบ้านพบ "ลูกเต่าทะเล" ว่ายน้ำหลงเข้ามาภายในแม่น้ำบางปะกง มีลักษณะเหมือนน็อกน้ำจืด ด้านเจ้าหน้าที่เข้าไปรับดูแลลูกเต่าทะเลจนปลอดภัย



เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับการประสานจาก นายธีรพัฒน์ โชคชิด อายุ 43 ปี ว่า พบเต่าทะเลในแม่น้ำบางปะกง บริเวณท่าเรือเอกชน หมู่ 11 ต.บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จึงรีบเดินทางไปตรวจสอบ

ทั้งนี้ พบว่าคนงานได้ช่วยเหลือลูกเต่ากระ หรือ เต่าปากเหยี่ยว โดยที่เป็นเต่าทะเลขนาดกลาง มีลำตัวไม่ใหญ่มากนัก จะงอยปากแหลมงองุ้มคล้ายกับจะงอยปากของนกเหยี่ยว มีเกล็ดบริเวณหัวด้านหน้า 2 คู่ และเกล็ดบริเวณด้านข้างข้างละ 4 เกล็ด ลักษณะของกระดองมีลวดลายและสีสันสวยงาม ขอบกระดองเป็นหยักโดยรอบ ซึ่งพบว่าลูกเต่านั้นมีลักษณะอ่อนเพลีย เนื่องจากว่ายหลงน้ำจืดเข้ามาจากปากอ่าวไทย และมาอยู่ในแม่น้ำบางปะกงซึ่งเป็นน้ำจืด ทำให้ลูกเต่าเกิดอาการน็อกน้ำ และว่ายหงายท้อง

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้รีบนำลูกเต่ากระไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา หมู่ 8 ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง โดยมี นายกฤษณ์ธนสรรค์ อินทร์บำรุง นักวิชาการประมงปฏิบัติการ รอรับตัวพร้อมเตรียมน้ำเค็มเพื่อให้ลูกเต่ากระพักฟื้น เมื่อปล่อยลงในถังน้ำเค็มก็พบว่าลูกเต่ากระสดชื่นขึ้น ขยับขาได้ดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะประสานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมารับตัวพร้อมให้หมอตรวจดูอาการของลูกเต่ากระตัวนี้ต่อไป.


https://www.thairath.co.th/news/local/2724283

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 12-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


น้ำมันรั่วชลบุรีกระทบ "แพหอย" แนะรัฐต้องรีบช่วยเหลือ ใช้งานวิจัย ตปท.เปรียบเทียบ

น้ำมันรั่วชลบุรีส่งผลกระทบ "แพหอย" นักวิจัย EEC Watch แนะรัฐต้องรีบช่วยเหลือ พร้อมเสนอให้นำงานวิจัย ตปท.มาเปรียบเทียบ



รายงานพิเศษ

"น้ำมัน ไม่น่ากลัวเท่าไหร่หรอกครับ เราเอาบูมมาล้อมไว้ ใช้เครื่อง Skimmer ดูดออกได้ หรือถ้ายังมีบางส่วนที่ถูกพัดขึ้นฝั่งเราก็เอากระดาษมาซับได้ แต่ที่น่ากลัวกว่าน้ำมัน ก็คือ สารเคมีที่เขามาฉีดพ่นหรือโปรยใส่น้ำมันนี่แหล่ะครับ"

ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch เป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงความแปลกใจต่อวิธีการเลือกใช้ "Dispersant" มากำจัดคราบน้ำมันในครั้งนี้ เพราะเป็นวิธีการที่ไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือเอกชนใน จ.ชลบุรี ไม่เคยเลือกใช้มาก่อนในเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งอื่นๆที่ผ่านมา เนื่องจากมีเครื่องมืออื่นที่ดีกว่านี้ นั่นคือการล้อมและดูดออกไปกำจัด

"การใช้ Dispersant พ่นไปที่คราบน้ำมัน โดยปล่อยให้จมลงไป จะต้องใช้เวลาย่อยสลายเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงมีหลักให้อนุญาตใช้ได้เฉพาะในเขตทะเลน้ำลึก ห่างไกลจากแผ่นดิน (ระดับความลึกมากกว่า 100 เมตร ไกลจากชายฝั่งมากกว่า 5 กิโลเมตร) เพราะจะมีเวลาให้แบคทีเรียย่อยสลายจนหมด ไม่เกิดเป็นก้อน Tar Ball ลอยเข้าฝั่ง

แต่ในทางตรงกันข้ามหากเราใช้ Dispersant ในจุดที่น้ำไม่ลึกมากนัก (จุดเกิดเหตุระดับความลึก 20-22 เมตร) หยดน้ำมันจะย่อยสลายไม่ทัน และไปจับตัวเป็นก้อนน้ำมันเหลวปกคลุมที่ใต้พื้นทะเล หญ้าทะเล หรือปะการัง จากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ คลื่นใต้น้ำจะพัดมันเข้าฝั่งในลักษณะก้อนน้ำมันเหนียว หรือ Tar Ball จำนวนมาก สร้างความเสียหายร้ายแรงกว่าทั้งในทะเลและชายฝั่ง เมื่อเทียบกับการใช้บูมล้อมและดูดออกไปกำจัด"

และนั่นทำให้เขามีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาวต่อระบบนิเวศและการทำประมง เพราะกลุ่มประมงพื้นบ้านกำลังฟื้นฟูทะเลชลบุรี ให้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน และที่นี่ยังเป็นแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่แหล่งใหญ่อีกด้วย

งานวิจัยที่มีชื่อว่า "อิทธิพลของน้ำมัน น้ำมันที่กระจายตัว และสารช่วยกระจายตัวของน้ำมัน SD-25 ต่ออัตราการเต้นของหัวใจของหอยแมลงภู่เมดิเตอร์เรเนียน" (The Influence of Oil, Dispersed Oil and the Oil Dispersant SD-25, on the Heart Rate of the Mediterranean Mussel) ซึ่งถูกตีพิมพ์ไว้เมื่อปี ค.ศ.2015 โดย University of Belgrade ,University of Montenegro และคณะวิจัย... ถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่ ดร.สมนึก เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ควรจะนำมาใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับที่ชลบุรี เพราะในงานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาผลกระทบจากการใช้สารเคมีช่วยกระจายตัวของน้ำมันตัวเดียวกัน คือ SD-25 หรือ Super Dispersant 25 ซึ่งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ของสารเคมีตัวนี้ และยังศึกษาผลกระทบต่อสัตว์น้ำชนิดใกล้เคียงกันกับที่เพาะเลี้ยงในชลบุรี คือ หอยแมลงภู่

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ดร.สมนึก ได้ลงพื้นที่ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี และไปดูแพหอย ที่ ต.บางพระ อ.ศรีราชา พบว่า ซึ่งใกล้กับจุดเกิดเหตุน้ำมันรั่ว และพบว่า หอยแมลงภู่ที่นี่ตายไปหลายแพ ส่วนที่ยังไม่ตายก็เริ่มตัวเป็นสีแดง หรือมีลักษณะปากอ้า ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประมงและสาธารณสุขจังหวัดต้องเข้ามาตรวจสอบให้ความช่วยเหลือ

"ที่ชลบุรี มีแหล่งที่เลี้ยงหอยแมลงภู่มากถึง 3 แหล่ง คือ ที่ ศรีราชา เกาะสีชัง และบางละมุง ถือเป็นรายได้หลักของชาวบ้านใน 3 อำเภอนี้เลย เป็นรายได้ที่ดีกว่าการออกเรือด้วยซ้ำไป ดังนั้นเรื่องหอยแมลงภู่ตายจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่หน่วยงานรัฐต้องรีบมาตรวจสอบ ช่วยเหลือ เยียวยาครับ และยิ่งในระยะยาวเราควรนำงานวิจัยชิ้นนี้มาศึกษาเปรียบเทียบ เพราะเขาศึกษาและเห็นผลกระทบมาก่อนแล้ว เราจะได้นำมาหาทางช่วยเหลือชาวบ้านได้รวดเร็วขึ้น"

ดร.สมนึก ระบุด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทางเครือข่ายประมงพื้นบ้านของชลบุรี กำลังพยายามฟื้นฟูทะเลที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมายาวนาน ให้สามารถมีศักยภาพเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้บ้าง แต่พอเกิดน้ำมันรั่วแล้วกลับไปใช้วิธีการพ่นสารเคมีลงไปเช่นนี้ ทำให้กลุ่มชาวประมงมีความกังวลกันมาก โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเคยเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทะเลระยองมาแล้ว จากการใช้วิธีเดียวกันนี้มากำจัดคราบน้ำมันรั่วทั้งในปี 2556 และปี 2565


https://mgronline.com/onlinesection/.../9660000082118

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 12-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


ป่าไม้แจ้งจับ 4 ข้อหา เสี่ยเจ้าของรีสอร์ท-ผู้ใหญ่บ้าน ก่อสร้างบุกรุกทะเลแสมสาร 7 ไร่



นายชูศักดิ์ นันทิธัญญธาดา ปลัดอาวุโสอำเภอสัตหีบ พร้อมด้วย นายสุนทร พุ่มโพธิ์ทอง กำนันตำบลแสมสาร นายณัฐพงศ์ พิทักษ์กรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลแสมสาร นางสาวอุรุอาริยา บุญนำมา ประมงอำเภอสัตหีบ นายมงกรด อุ่นเรือน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส และเจ้าหน้าที่ ร่วมลงตรวจสอบพื้นที่ พร้อมตั้งข้อกล่าวหา หลังเมื่อวันที่ 4 ก.ย.66 ได้รับเรื่องร้องเรียนบุกรุกก่อสร้างเขื่อนหิน ถมหาดทราย เพื่อสร้างแลมป์ขึ้น-ลงเรือ รุกทะเลพื้นที่สาธารณะ บริเวณชายทะเล หน้าหาดด้านรีสอร์ท ม.1 ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

นายมงกรด อุ่นเรือน เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส เปิดเผยว่า จากการใช้เครื่องอ่านพิกัดตำแหน่งด้วยดาวเทียม (G.P.S.) วัดพิกัดรอบแปลงได้จำนวน 6 จุด คิดเป็นเนื้อที่บุกรุก 7-1-01 ไร่ อยู่บริเวณพิกัด 713450 E 1396450 N (WGS84) เป็นที่ชายทะเล มีการสร้างเขื่อนคอนกรีต ขนาดความกว้าง 1 เมตร ความยาว 79.50 เมตร อยู่ด้านตะวันออกของพื้นที่ และลานคอนกรีตความกว้าง 5.10 เมตร ความยาว 103.50 เมตร อยู่ด้านตะวันตกของพื้นที่ คิดเป็นเนื้อที่ 527.85 เมตร ภายในพื้นที่มีร่องรอยการขุด และนำทรายมากองไว้ บางจุดนำหินก่อสร้างจากข้างนอกมาเตรียมไว้เพื่อก่อสร้าง ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าว ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงเป็น ?ป่า? และบริเวณดังกล่าว ไม่มีการอนุญาตให้บุคคลกระทำการใดๆ จากพนักงานเจ้าหน้าที่

ดังนั้น การกระทำดังกล่าว จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 62 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกการตรวจยึด พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสัตหีบ เพื่อดำเนินคดีกับ นายนฤดล พิสิษฐเกษม เจ้าของรีสอร์ท และนายอภิชาติ อร่ามรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.แสมสาร ในความผิด 4 ข้อกล่าวหา คือ

1.พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ฐาน ร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

2.ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ฐาน ร่วมกันยึดถือหรือครอบครอง ก่นสร้าง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆให้เป็นการทำลาย หรือเสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด ที่ทราย ในบริเวณที่ดินซึ่งรัฐมนตรีประกาศหวงห้ามหรือผู้ที่กระทำการใดๆ อันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน หรือกระทำแก่ที่ดินของรัฐ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

3.พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 62 ฐานร่วมกันทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

4.พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 ฐาน ร่วมกันกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายไปนั้น


https://www.thaipost.net/district-news/446562/


******************************************************************************************************


'น้ำมันรั่วชลบุรี-ทะเลสีเขียว' ปลุกแก้ที่ต้นเหตุ



จากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณตอนใต้ของเกาะสีชัง จ.ชลบุรี กลางดึกวันที่ 3 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย ไม่พบคราบน้ำมันในทะเล และไม่พบการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันบริเวณเกาะสีชัง ตลอดจนบริเวณชายฝั่งตั้งแต่หาดบางพระ อ่าวอุดม และหาดวอนนภา จ.ชลบุรี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตลอดจนทีมนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศและท้องทะเลในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวปะการังตามเส้นทางที่คราบน้ำมันเคลื่อนผ่าน เพราะเกาะสีชังมีประการังกระจายตามจุดต่างๆ

นอกจากปัญหาอุบัติภัยสารเคมีที่รั่วไหลลงทะเลชลบุรีแล้ว เวลานี้ทะเลบางแสนและศรีราชายังเผชิญกับปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวปี๋ หรือ "แพลงก์ตอนบูม" ที่เกิดถี่ขึ้น ค่าออกซิเจนที่ต่ำมาก ส่งผลให้สัตว์น้ำเกยตื้นตาย กำลังเป็นภัยคุกคามทั้งการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เพราะบางแสนและพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก

จากสถานการณ์ที่เจอ ผลกระทบซับซ้อน นำมาสู่การตั้งคำถามถึงมาตรการป้องกันและการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความเดือดร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลไม่ให้เสื่อมโทรมไปมากกว่าที่เป็นอยู่

ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ มีสถานีวิจัยสัตว์ทะเลตั้งอยู่บนเกาะสีชัง และมีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกปะการังที่เกาะค้างคาวด้วย จึงต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นอย่างไร เพราะทั้งเกาะค้างคาวและเกาะสีชังห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่วประมาณ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้เก็บตัวอย่างและสำรวจอย่างละเอียด โดยใช้เรือจุฬาฯ วิจัย ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ดินและตะกอนที่อยู่บริเวณรอบๆ กลุ่มคราบน้ำมันจะมาถึง เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการจุฬาฯ ให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่วและสารเคมีขจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตและบอกถึงผลกระทบภายในของสัตว์ทะเล รวมทั้งปลาต่างๆ ในบริเวณนั้นได้ นอกจากนี้ ได้วางแผนการศึกษาผลกระทบการรั่วไหลน้ำมันในระยะยาว โดยจะลงไปเก็บตัวอย่างมาศึกษาเป็นระยะๆ จะเก็บตัวอย่างอีกครั้งอีกสองสัปดาห์ถัดไป เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุด

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ไม่ใช่บทเรียนครั้งใหม่ของไทย ศ.ดร.วรณพ ระบุเคยน้ำมันรั่วที่ระยองแล้ว เมื่อกรกฎาคม พ.ศ.2556 และมกราคม พ.ศ.2565 ซึ่งจุฬาฯ ได้ประเมินถึงการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่สิ่งแวดล้อม โดยเข้าไปศึกษาปริมาณโลหะหนัก ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ผลของน้ำมันและสารเคมีขจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมทั้งการสะสมและส่งผ่านสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในห่วงโซ่อาหารทะเล

จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า น้ำมันมีผลกระทบต่อการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง ทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ปล่อยออกแตก ไม่สามารถผสมกันได้ และมาชัดเจนอีกครั้งปี 65 เพราะมีการศึกษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ พบว่า น้ำมันส่งผลต่อการคลาดเคลื่อนเซลล์สืบพันธุ์ปะการัง ซึ่งปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ ส่วนสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ปลา ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ปัยหาจะเกิดกับสัตว์ทะเลหน้าดินที่กรองอาหารจากมวลน้ำพวกหอยต่างๆ ปัจจุบันก็ยังดำเนินการเก็บตัวอย่างที่ จ.ระยอง มาศึกษาเป็นระยะๆ

อย่างไรก็ตาม ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ แสดงทัศนะต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ด้วยว่า ไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์สองครั้งที่ผ่านมา เกิดบริเวณทุ่นรับน้ำมันและกระบวนการรั่วไหลมาจากท่อส่งน้ำมันดิบเหมือนกัน ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าแก้ปัญหาภายหลัง ด้วยสภาพทะเลของบ้านเรา การเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ล้วนมีผลต่ออุปกรณ์และท่อส่งน้ำมัน ต้องมองไปไกลกว่าอายุการใช้งาน อะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายส่งผลกระทบในภาพกว้างต้องยกระดับมาตรการป้องกันอุบัติภัยทางทะเลเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซาก

สำหรับปัญหาแพลงก์ตอนบลูมทะเลบางแสน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจุฬาฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับจุฬาฯ ทช.และ คพ. ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลแพลงก์ตอนบูมเกิดขึ้นทุกปี มากน้อยต่างกัน แต่ปีนี้เกิดรุนแรงและมีความต่อเนื่อง แล้วมาประดังกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วลงทะเล ก็จึงกระทบในหลายมิติ น้ำจะเลิกเขียวเมื่อไหร่ ขึ้นกับการอ่อนกำลังลงของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

" ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ฝนที่ตกชุกส่งผลให้ธาตุอาหารพัดพาจากแม่น้ำลงทะเลมากขึ้น การไหลเวียนของกระแสน้ำ กระแสน้ำจากข้างล่างพาสารอาหารจากท้องน้ำสู่ผิวน้ำก็ทำให้เกิดแพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงลมมรสุมที่ขึ้นๆ ลงๆ พัดน้ำเขียวมาสู่ชายหาด นอกจากนี้ ผมมองปรากฎการณ์เอลณีโญ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน จะต้องติดตามต่อไป แต่ภาพน้ำทะเลสีเขียวจะเตือนให้คนตระหนักถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิต สัตว์น้ำ และธุรกิจท่องเที่ยว จะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร "

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคนเดิมบอกอีกว่า จ.ชลบุรี ถือเป็นพื้นที่หน้าด่านที่มีความสำคัญ การแก้ปัญหาอย่างจริงจังต้องช่วยกันเก็บข้อมูลและบูรณาการทุกส่วนข้อมูล ต้องมานั่งคุยกัน นอกจากปรากฎการณ์ธรรมชาติแล้ว ยังมีปัจจัยเร่งอะไรทำให้น้ำเขียว ภาคอุตสาหกรรม การปล่อยน้ำเสียที่มีธาตุอาหารของแพลงก์ตอน แม้จะเกิดปรากฎการณ์ในพื้นที่ จ.ชลบุรี แต่ชายฝั่งชลบุรีอยู่ในอ่าวไทย ซึ่งจ.สมุทรสาคร และจ.สมุทรสงคราม มีชุมชน มีอุตสาหกรรม กระแสลมพัดพาธาตุอาหารมา ทำให้เกิดการสะพรั่งได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนบ้านเองก็ต้องร่วมเข้ามาแก้ปัญหา

" ขณะที่พื้นที่ชลบุรีเองก็มีอุตสาหกรรมเล็กใหญ่ เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้นเป็นพื้นที่ EEC เพื่อเกื้อกูลระบบเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ จะไม่ดูแลไม่ปกป้องทะเลไม่ได้ รวมถึงมีมาตรการช่วยลดผลกระทบหรือแนวทางปรับตัวให้ชาวประมง ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างไร เพื่อให้พวกเขามีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว การแก้ปัญหาต้องมีหัวโต๊ะที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง " ศ.ดร.วรณพ หวังจะเห็นการแก้ปัญหาทะเลอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต


https://www.thaipost.net/news-update/446313/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 12-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก อสมท.


ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022



รายงานทบทวนสภาพภูมิอากาศโลกประจำปี 2023 ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันพุธ (6 ก.ย.) ระบุว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก ระดับน้ำทะเลทั่วโลก และความร้อนในมหาสมุทร พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022

รายงานสถานะสภาพภูมิอากาศ (State of the Climate) ฉบับที่ 33 รวบรวมโดยศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สังกัดองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ อ้างอิงข้อมูลที่มาจากคณะนักวิทยาศาสตร์ในกว่า 60 ประเทศ จำนวนมากกว่า 570 คน

รายงานนี้มอบข้อมูลฉบับปรับปรุงที่มีความครอบคลุมมากที่สุดเกี่ยวกับตัวบ่งชี้สภาพภูมิอากาศของโลก เหตุการณ์สภาพอากาศที่โดดเด่น และข้อมูลอื่นๆ ซึ่งรวบรวมจากสถานีเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อม รวมถึงเครื่องมือที่ตั้งอยู่บนบก ในน้ำ บนน้ำแข็ง และในอวกาศ ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 และภาวะโลกร้อนยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก โดยผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวทั่วโลกประจำปีอยู่ที่ 0.25-0.30 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020

นอกจากนั้นปรากฏการณ์ลานีญา (La Ni?a) ในมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อกลางปี 2020 และมีช่วงสิ้นสุดกะทันหันเมื่อปี 2021 กลับมาเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดปี 2022 ขณะคลื่นความร้อนพุ่งสูงทำลายสถิติทั่วโลก ดังเช่นภูมิภาคตะวันตกของยุโรปเผชิญคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุม 14 วัน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ด้านภูมิภาคตอนกลางและตะวันออกของเอเชียเผชิญความร้อนช่วงฤดูร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำแยงซี นำสู่ภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 38 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงถึง 4.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.69 แสนล้านบาท)

ขอบคุณที่มา : สำนักข่าวซินหัว


https://www.mcot.net/view/1QQY9NIg

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 12-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


มหาอุทกภัยในเครื่องหมายคำถาม .................... โดย เพชร มโนปวิตร



"สุดท้ายน้ำก็พรากทุกอย่างจากเราไป ทั้งตัวบ้านและข้าวของต่าง ๆ แม้แต่ผืนดินที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านก็ไม่เหลือ สิ่งที่เราพอจะหยิบออกมาได้มีเพียงเอกสารสำคัญไม่กี่ชิ้นและเสื้อผ้าในเป้ ฉันไม่เคยรู้สึกเปราะบางอย่างนี้มาก่อนเลย บ้านเคยเป็นที่ที่ปลอดภัย ทำให้ฉันรู้สึกได้รับการคุ้มครอง แต่เราไม่มีที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยอีกแล้ว"?

ทุกวันนี้เราได้ข่าวน้ำท่วมแทบจะทุกวันจากแทบทุกมุมโลก เฉพาะช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่รัฐฟลอริดา ฮ่องกง สเปน และกรีซ หรือแม้แต่พื้นที่กลางทะเลทรายอย่างลาสเวกัส เหตุผลสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงในระยะเวลาสั้น ๆ ส่งผลให้มีโอกาสน้ำท่วมได้มากขึ้น ความรุนแรงจากน้ำท่วมมีหลายระดับ ตั้งแต่ทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือน ทำให้การคมนาคมและเศรษฐกิจหยุดชะงัก ไปจนถึงทำลายที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน วิถีชีวิต และอาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนจำนวนมาก

คำนิยามของอุทกภัยคือ เหตุการณ์ที่น้ำปริมาณมากไหลเข้าท่วมพื้นที่จนทำให้พื้นที่บางส่วนจมอยู่ใต้ระดับน้ำ เราอาจแบ่งประเภทของอุทกภัยได้สี่ประเภทหลัก คือ

1. อุทกภัยน้ำเอ่อท่วมขัง (Pluvial flood) มีสาเหตุจากการเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ราบหรือมีความลาดชันต่ำ และไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน หรือที่ชอบเรียกกันว่าน้ำรอระบาย

2. อุทกภัยน้ำล้นตลิ่ง (Fluvial Flood) ซึ่งมีสาเหตุจากฝนตกหนักจนทำให้ระดับน้ำในพื้นที่แหล่งน้ำต่าง ๆ เช่นแม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำเอ่อล้น ไหลเข้าท่วมพื้นที่ที่เป็นที่ราบหรือมีความลาดชันต่ำข้างเคียง

3.อุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำป่าไหลหลาก (Flash Flood) มีสาเหตุจากการเกิดฝนตกในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง หรือการพังทลายของแหล่งกักเก็บน้ำเช่นเขื่อนทำให้เกิดน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ราบด้านล่างอย่างฉับพลันและรุนแรง

และ 4.อุทกภัยคลื่นพายุซัด (Storm Surge) หรือน้ำท่วมชายฝั่ง ซึ่งเกิดจากลมพายุที่มีกำลังแรง ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงโถมเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่ง

แม้ว่าน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากจะเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีมายาวนาน และมีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนแร่ธาตุจากที่สูงไปยังที่ต่ำ บริเวณที่ราบลุ่มหรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจึงมักเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่การพัฒนาเมืองที่ผ่านมามักไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงและความเหมาะสมด้านภูมิศาสตร์เหล่านี้ ทำให้พื้นที่รับน้ำจำนวนมากถูกเปลี่ยนสภาพเป็นที่อยู่อาศัยและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ขัดขวางการไหลผ่านของน้ำตามธรรมชาติ

เมื่อการไหลเวียนของน้ำถูกขัดขวางด้วยถนน บ้านเรือน โรงงาน ทำให้เราต้องพึ่งพาการระบายน้ำผ่านท่อและคูคลองต่าง ๆ เป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันก็ประสบปัญหาขยะและมลภาวะจากพลาสติกจำนวนมหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจที่เราต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง ฝนตกหนักติดต่อกันไม่นาน ก็เกิดน้ำท่วมจนการจราจรหยุดชะงักทันที แต่ข่าวร้ายก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ภาวะน้ำท่วมเหล่านี้กลายเป็นมหาอุทกภัยอย่างที่กำลังเป็นปัญหาชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก


ภาวะโลกรวนเร่งให้เกิดน้ำท่วมได้อย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น แม้ในบางพื้นที่ปริมาณน้ำฝนอาจไม่ได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ? แต่มักจะเกิดฝนตกในปริมาณมากอย่างรุนแรงบ่อยขึ้น ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดน้ำท่วม ที่เป็นเช่นนี้เพราะอุณหภูมิโดยรวมที่สูงขึ้นทำให้อากาศอุ้มความชื้นได้มากขึ้น (อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียสทำให้ชั้นบรรยากาศดูดซับความชื้นได้มากขึ้นถึง 7%) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์อากาศแบบสุดขั้วมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งทำให้ดินแห้งแข็งขาดน้ำ ดินแห้งแข็งแบบนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็วเมื่อมีฝนตก หรืออุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้พายุที่ก่อตัวกลางมหาสมุทรมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเกิดพายุไต้ฝุ่นที่มีระดับความรุนแรงสูง (ระดับ 4 หรือ 5) บ่อยครั้งขึ้น

ในช่วงศตวรรษที่ 21 ภาวะฝนตกหนักมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่ 50% ถึง 150% จากศตวรรษก่อน นอกจากน้ำฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีบทบาททำให้น้ำท่วมกลายเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นทุกที อาทิ ความชื้นในดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำดั้งเดิม การใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์?

เมื่อปีที่แล้วปากีสถานเป็นเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ราวหนึ่งในสามของพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำเกือบ 4 เดือนตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 30 ล้านคน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท สาเหตุหลักมาจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์พร้อม ๆ กับการละลายของธารน้ำแข็ง มหาอุทกภัยครั้งนั้นเกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังจากที่ปากีสถานเผชิญกับหน้าร้อนที่ร้อนเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส


น้ำท่วมกระทบใครบ้าง?

ความรุนแรงของอุทกภัยที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทั้งประเทศที่มีรายได้ต่ำ และมีรายได้สูง น้ำท่วมใหญ่ในยุโรปเมื่อฤดูร้อนปี 2564 ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงใน เยอรมัน เบลเยียม อังกฤษ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 243 ราย ในเยอรมนี 196 คน เบลเยียม 43 คน รัฐมนตรีมหาดไทยของเบลเยียมในเวลานั้นกล่าวว่าเป็น "ภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ" สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงเกือบ 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามผู้นำประเทศเหล่านี้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกองทุนลักษณะนี้คงจะเป็นไปไม่ได้ในประเทศรายได้ต่ำที่ไม่มีเงินสำรองเพียงพอ

นักวิชาการขององค์กรพัฒนาเอกชน Oxfam ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหมายถึงเราต้องใช้เงินมากถึง 8 เท่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังเหตุการณ์เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งของความต้องการได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เช่นเดียวกับผลกระทบจากภัยธรรมชาติรูปแบบอื่น ๆ ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากปรากฏการณ์มหาอุทกภัย

งานศึกษาล่าสุดของธนาคารโลกเมื่อปีที่แล้วประเมินว่ามีประชากรราว 1.8 พันล้านคนทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะประสบภัยจากน้ำท่วม เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีการประเมินก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 ถึงเกือบ 400 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 170 ล้านคนคือกลุ่มคนยากจนที่สุดซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตในระยะยาว รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูงที่สุด โดยประชากร 780 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมอาจมีรายได้น้อยกว่า 200 บาทต่อวัน และอีก 170 ล้านคนอาจมีรายได้น้อยกว่า 70 บาทต่อวัน นั่นหมายความว่า 4 ใน 10 คนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมมีสถานะยากจนถึงยากจนมากที่สุด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีต้นทุนในการปรับตัวหรือรับมือกับภัยพิบัติที่ไม่คาดคิดได้


พื้นที่ไหนเสี่ยงต่อมหาอุทกภัยมากที่สุด?

แม้ความเสี่ยงจากน้ำท่วมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่จากการศึกษาโดยธนาคารโลกพบว่าภูมิภาคที่เผชิญกับความเสี่ยงภัยน้ำท่วมมากที่สุดคือเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย มีการวิเคราะห์ว่าเกือบ 70% ของคนที่เผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือราว 1.24 พันล้านคน โดยประชากรราวหนึ่งในสามของจีนและอินเดียเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากภัยน้ำท่วม


เราจะรับมือกันอย่างไร?

มาตรการป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจ งานศึกษาของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมสูงอย่างมีนัยสำคัญและมีความเปราะบางมากต่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาว การพัฒนาสวัสดิการของรัฐจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง การวางแผนการขยายเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องนำความเสี่ยงเรื่องภัยน้ำท่วมเข้ามาพิจารณาด้วยเสมอ

การรับมือกับภัยน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องพิจารณาถึงการปรับตัว (adaptation) เป็นพิเศษ เพราะผลกระทบจากภาวะโลกรวนได้เริ่มต้นขึ้นแล้วและจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายร้อยปี เราต้องให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยง มีระบบเตือนภัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเตรียมมาตรการลดความเสียหายล่วงหน้า เช่น พื้นที่รองรับและเส้นทางการอพยพคน

นอกจากนี้เราจำเป็นต้องมีแนวทางป้องกันน้ำท่วมอย่างชาญฉลาด เข้าใจลักษณะภูมิศาสตร์ดั้งเดิม และหันมาลงทุนกับการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งรับน้ำในเมือง รวมไปถึงพื้นที่ป่าต้นน้ำ (เพื่อป้องกันน้ำป่าไหลหลาก) และระบบนิเวศชายฝั่ง (เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากคลื่นซัด) มาตรการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) หรือการหันมาทำความเข้าใจระบบนิเวศดั้งเดิมเพื่อหาทางอยู่ร่วมกันกับน้ำ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของมาตรการลดความเสียหายเชิงระบบที่เราจำเป็นต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้


https://decode.plus/20230908-great-f...08-great-flood

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 12-09-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


จนท.อช.ตะรุเตา ออกตรวจทางทะเล พบฝูงโลมาปากขวด โดดเล่นน้ำ โชว์ความน่ารัก

จนท.อช.ตะรุเตา ออกตรวจทางทะเลหน้าอ่าวตะโล๊ะวาว พบ "โลมาปากขวด" จำนวน 1 ฝูง ประมาณ 10-15 ตัว กระโดดเล่นน้ำโชว์ความน่ารัก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทะเล หลังในช่วงปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นโลมาที่มากันเป็นฝูง



11 กันยายน 2566 นายสมศักดิ์ พูนปาน หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ 1 (อ่าวตะโละวาว) รายงานว่าวันนี้ เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนที่ 001 (อ่าวตะโละวาว/อ่าวตะโละอุดัง) ออกลาดตระเวนทางเรือในพื้นที่ตามปกติ พบ โลมาปากขวด จำนวน 1 ฝูง ประมาณ 10-15 ตัวบริเวณหน้าอ่าวตะโละวาว ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา

ทั้งนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการจัดเก็บและบันทึกฐานข้อมูล ซึ่งปรากฏว่าในช่วงปีที่ผ่านมา และต้นเดือนนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจการณ์ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ยังไม่เคยพบเห็นโลมาที่มากันเป็นฝูง และล่าสุดเพิ่งได้พบในวันนี้

สำหรับการเจอโลมาปากขวดในครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทะเล ได้แสดงว่าชายฝั่งทะเลแถบนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์น้ำวัยอ่อนที่เป็นอาหารของโลมาซึ่งอาศัยอยู่พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของสตูล


https://www.nationtv.tv/news/region/378929900

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:57


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger