#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และทะเลจีนใต้ ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านอ่าวไทย และภาคใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 ? 14 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นประเทศจีนที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ มีกำลังอ่อนลง ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 18 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเวียดนามเข้าสู่ภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนบน ตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ตลอดช่วง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ในช่วงวันที่ 15 ? 18 ต.ค. 66
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
OCEANIX ต้นแบบเมืองกลางน้ำ สร้างบนความยั่งยืน เพื่อรับมือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในอนาคต ภาพ : OCEANIX ทำความรู้จัก OCEANIX แลนด์มาร์กลอยน้ำ ชุมชนแห่งความยั่งยืน เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบผังเมืองในการรับมือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สถานการณ์ทางธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจก และภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในทุกปี ผู้คนทั่วโลกจำนวน 1.47 พันล้านคน อาจพบความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมใหญ่ และในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีเมืองหลัก จากประเทศทั่วโลกถูกน้ำทะเลกลืนหายไปกว่า 90% OCEANIX จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ถูกจับตามอง เพื่อริเริ่มให้เป็นเมืองลอยน้ำต้นแบบแห่งแรกของโลก ที่มีเทคโนโลยี และรูปแบบการก่อสร้างที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการวางระบบความยั่งยืน เพื่อให้เมืองที่ก่อตั้งบนพื้นน้ำนี้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 'โอเชียนิค' จึงเป็นความท้าทาย ที่น่าสนใจในการเป็นต้นแบบผังเมืองของเมืองติดชายฝั่งทะเลในอนาคต ที่สามารถป้องกันระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และเข้ากลืนกินพื้นที่ทางบก โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) ให้ตั้งอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมืองปูซาน โดยการก่อสร้างนี้คาดว่าจะมีพื้นที่บนพื้นน้ำทั้งหมด 6 ส่วนเชื่อมต่อกันโดยแท่นลอยน้ำ (Biorock) เป็นเกาะรูปทรงหกเหลี่ยม ส่วนละ 37.5 ไร่ รวมทั้งหมดเป็น 225 ไร่ และสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้ประมาณ 12,000 คน ความพิเศษของ โอเชียนิค คือ พื้นที่ฐานของเกาะนั้นจะใช้ Biorock (ไบโอร็อก) ซึ่งเป็นวัสดุลอยน้ำที่แข็งแรงขึ้นได้จากแร่ธาติในน้ำ รวมถึงยังสามารถเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้เปลือกแข็งชนิดต่างๆ เช่น หอยหลากชนิด และแนวปะการังหลายประเภท ที่ทำให้วัสดุมีความทนทานเพิ่มมากยิ่งขึ้น หนึ่งเกาะจะสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างได้ถึง 20 อาคาร แผนเบื้องต้นจะเริ่มสร้างพื้นที่ทั้งหมด 3 เกาะ ซึ่งแต่ละส่วนจะทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน และในอนาคตจะสามารถรองรับจำนวนประชากรได้ถึง 100,000 คนของพื้นที่ทั้งหมด โดยพื้นที่ในแต่ละส่วนจะมีการออกแบบให้พึ่งพาตนเองได้ โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง ทำน้ำจืดได้ รวมไปถึงการผลิตอาหาร ปลูกพืช และการทำปศุสัตว์ รวมทั้งจะมีพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับทำกิจกรรม การวิจัย และที่อยู่อาศัยสำหรับผู้พักอาศัย และแขกผู้มาท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เหลือสำหรับแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีทัศนียภาพริมน้ำสุดสวย วิวท่าเรือ อาคารเรือนกระจกที่มีแสงสว่างส่องถึง และเพียงพอต่อร้านค้าต่างๆ ที่จะมาลงหลักปักฐาน ณ เมืองลอยน้ำแห่งนี้ ข้อมูล : OCEANIX, worldeconomicforum https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2732134
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
ดร.ธรณ์ เตือน "บุ้งทะเล" บุกชายฝั่งทะเลแถบอ่าวไทย ดร.ธรณ์ เตือน "บุ้งทะเล" บุกชายฝั่งทะเลแถบอ่าวไทย หากใครพบเจอห้ามจับหรือให้โดนตัว เพราะถึงแม้บุ้งทะเลจะไม่มีพิษร้าย แต่ขนของมันก็ทำให้แสบคันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Thon Thamrongnawasawat เตือนให้ระวังเกี่ยวกับ "บุ้งทะเล" พร้อมวิธีรับมือหากเผลอไปจับมันเข้า โดยให้ข้อมูลไว้ว่า ช่วงนี้ในทะเลอ่าวไทยมีอะไรแปลกๆ หลายอย่าง เช่น ตัวยึกยือที่เห็นในภาพ เป็นสัตว์ที่เรียกว่า "บุ้งทะเล" คันมาก เพื่อนธรณ์เจอแล้วอย่าไปจับนะครับ ผมเคยโดนมาแล้ว แสบคันเหมือนโดนหนอนบุ้งผีเสื้อเลยครับ ตอนนี้มีรายงานบุ้งทะเลขึ้นมาตามชายฝั่ง ตามเกาะในอ่าวไทยฝั่งตะวันตก บุ้งทะเลเป็นหนอนปล้อง พวกเดียวกับแม่เพรียงและไส้เดือนทะเล บุ้งทะเลอยู่ใทะเลตลอดเวลา การเข้ามาเกยชายฝั่งเกิดเพราะกระแสน้ำหรือคลื่นลม จุดสำคัญคือขนละเอียดมากเหมือนบุ้ง ไม่แนะนำให้จับ หยิบ โดน หรือไปเล่น โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเตือนคุณลูกหากลอยมาติดหาดเยอะๆ บุ้งทะเลอยู่ในน้ำ ว่ายน้ำเก่ง อาจโดนเราได้ หากเห็นต้องระวังอย่าไปโดน หากมีเยอะไปก็หลีกเลี่ยงการลงน้ำ หากโดนเข้าไป จะแสบคันเหมือนโดยขนบุ้ง อย่าเกาอย่าถู ต้องพยายามเอาขนออก แต่มันทำยากมากครับ สมัยก่อนใช้เทียนไขคลึงเบาๆ หรือใช้ขี้ผึ้ง ปัจจุบันจะแก้ยังไงก็ตามถนัด หลักการคือเอาขนออกจากผิวหนังเรา จากนั้นก็ทาครีมแก้คัน บุ้งทะเลไม่มีพิษ คันเพราะขน ไม่ต้องแก้พิษเหมือนแมงกะพรุน น้ำส้มสายชูหรือใดๆ ไม่มีประโยชน์ ปรกติในทะเลกระจายกันอยู่ ไม่ได้มาทีเยอะๆ แต่บางช่วงเวลาอาจเจอเยอะหน่อย เช่น ช่วงผสมพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้เยอะปานนี้ ผลกระทบต่างๆ ที่เราทำต่อทะเล อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น แพลงก์ตอนบลูมที่เกิดบ่อยขึ้น อาจทำให้ลูกสัตว์บางชนิดช่วงที่เป็นแพลงก์ตอนวัยอ่อน รอดมากขึ้นเนื่องจากมีแพลงก์ตอนพืชให้กินเยอะ ย้ำว่านั่นเป็นสมมติฐาน เรายังต้องทำความเข้าใจอะไรอีกเยอะ เพราะทะเลยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน ธาตุอาหาร มลพิษ และโลกร้อน ทำให้เกิดอะไรแปลกๆ ตอนนี้เอาเป็นว่า เตือนเพื่อนธรณ์ไว้ หากเจอจะได้ระวัง หากเยอะจัดก็อย่าลงน้ำ หากโดนก็แก้ตามที่บอกไว้ เป็นทะเลที่เริ่มเดาทางไม่ได้ ผลที่เราก่อเริ่มย้อนกลับมาหาเราในรูปแบบต่างๆ แล้วครับ https://mgronline.com/travel/detail/9660000091794
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|