เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 05-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 ? 5 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 6 ? 10 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 4 ? 5 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วยในช่วงวันที่ 8 ? 10 พ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 05-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ค่ามลพิษทางอากาศในนิวเดลี วิกฤติหนัก สูงกว่าเกณฑ์ WHO ถึง 100 เท่า

วิกฤติหนัก ค่ามลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย พุ่งทะลุ 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 100 เท่า



สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ฤดูฝุ่นเริ่มแล้ว ประชาชนในอินเดียเผชิญวิกฤติมลพิษทางอากาศเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา โดยสภาพอากาศที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ต้องเผชิญกับวิกฤติมลพิษทางอากาศเข้าขั้นรุนแรงหนัก โดยพบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 พุ่งทะลุ 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดไว้ถึง 100 เท่า หรือเฉลี่ยไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ทางการอินเดียต้องสั่งปิดโรงเรียน และหยุดการก่อสร้างที่ไม่จำเป็นทั่วกรุงนิวเดลี

คุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลี เริ่มแย่ลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการเผาพื้นที่การเกษตร สำหรับเตรียมการเพราะปลูกในฤดูต่อไป ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรัฐหรยาณา และรัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของประเทศ ประกอบกับลมแรงที่พัดพามลพิษเข้าสู่กรุงนิวเดลี และอุณหภูมิที่เย็นลงมีมวลหนักดักจับฝุ่น

คณะกรรมการเพื่อการจัดการคุณภาพอากาศแห่งภูมิภาค ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) ว่า "สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การจุดไฟเผาพื้นที่เกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดพามลพิษไปยังนิวเดลี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน"

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้านมลพิษในกรุงนิวเดลีก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสามารถคาดคะเนคุณภาพของอากาศได้อย่างแม่นยำ

ทั้งนี้ กรุงนิวเดลีถือเป็นเมืองที่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเป็นประจำ ซึ่งผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐฯ พบว่า ผลจากวิกฤติมลพิษทางอากาศ ทำให้ประชาชนที่อาศัยในกรุงนิวเดลีมีอายุขัยสั้นลง 11.9 ปี


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2738112


******************************************************************************************************


เผยผลการวิจัยขนาดตัวที่เติบโตของจระเข้ทะเลจูราสสิก



พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ ในเมืองสตุตการ์ต เยอรมนี เป็นแหล่งรวบรวมซากสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลที่สำคัญทั่วโลก มีตัวอย่างมากมายตั้งแต่ช่วงที่เรียกว่า ?โพสิโดเนีย เชล? (Posidonia Shale) ซึ่งตะกอนโคลนถูกบีบอัดจากการฝังและน้ำหนักของชั้นหินที่อยู่ด้านบน ล่าสุด ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งนี้ เผยว่า หลังตรวจสอบฟอสซิล 62 ชิ้นจากโพสิโดเนีย เชล ทำให้สามารถศึกษาอัตราการเติบโตของจระเข้ทะเลโบราณในยุคจูราสสิกได้

เนื่องจากสิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยก็คือ จระเข้ทะเลยุคจูราสสิกเหล่านี้เติบโตจากช่วงเป็นทารกที่มีขนาด 50 เซนติเมตร ไปเป็นจระเข้โตเต็มวัยขนาด 5 เมตรได้อย่างไร ทีมนักบรรพชีวินวิทยามุ่งไปที่จระเข้ทะเลดึกดำบรรพ์กลุ่ม Macrospondylus bollensis อยู่ในวงศ์ Teleosauroidea เป็นวงศ์ใหญ่ของทาแลตโตซูเชียน (Thalattosuchian) คือกลุ่มของสัตว์คล้ายจระเข้ที่อาศัยในทะเลยุคจูราสสิกตอนต้นจนถึงยุคครีเตเชียสตอนต้น และสูญพันธุ์ไปแล้ว ซากของมันพบได้ทั่วไปในชั้นโพสิโดเนีย เชล อายุ 182 ล้านปีทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี

ผลการวิจัยนี้ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ เพราะนักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า Macrospondylus bollensis ทั้งในตอนเป็นเด็ก วัยก่อนโตเต็มวัย และโตเต็มวัย มีการเติบโตเกือบเท่ากันในหลายส่วนของร่างกาย เรียกสิ่งนี้ว่า การเจริญเติบโตแบบมีมิติเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสัตว์มีกระดูกสันหลัง และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจระเข้ Macrospondylus bollensis วัยเด็กจึงดูค่อนข้างคล้ายจระเข้โตเต็มวัย.

Credit : Papers in Palaeontology (2023). DOI: 10.1002/spp2.1529


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2737583

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 05-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


เปิดภาพจากอวกาศ 'แสงสีเขียว' ทะเลไทย ที่นักบินอวกาศนาซายังสงสัย



หลังจากที่ โลกออนไลน์ ได้เผยแพร่ภาพตื่นตาจากแสงสีเขียวที่เกิดบริเวณเขาพะเนินทุ่ง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จ.เพชรบุรี เทียบกับปรากฏการณ์แสงเหนือ ขณะที่หลายคนได้เข้ามาคอมเมนต์ว่า น่าจะเป็นแสงจากเรือไดหมึก

ทั้งนี้ นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า แสงสีเขียวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นแสงที่เกิดจากเรือไดหมึกจากทะเลอ่าวไทยสะท้อนกับก้อนเมฆ ในอ่าวไทยนั้นมีเรือไดหมึกจำนวนมาก

และว่า "ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนบนโลกเราจะตื่นเต้นกับแสงสีเขียวที่คิดว่าเป็นแสงเหนือ เพราะก่อนหน้านี้ มนุษย์อวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศนอกโลกเองก็เคยตกใจกับแสงสีเขียวจากเรือไดหมึกในอ่าวไทย จนถึงขั้นถ่ายภาพส่งไปวิเคราะห์ยังนาซามาแล้วว่า มันคือแสงอะไร โดยเมื่อสถานีอวกาศโคจรผ่านพื้นที่ที่มองเห็นทะเลอ่าวไทย ที่ชาวประมงใช้ไฟสีเขียวล่อหมึกให้มาติดกับ เป็นแสงสีเขียวที่มีขนาดกว้างใหญ่มาก สร้างความประหลาดใจแก่มนุษย์อวกาศอย่างมาก เพราะพวกเขาวิเคราะห์ไม่ได้ว่า มันคือแสงอะไรจากโลก จึงถ่ายภาพส่งไปให้ทางต้นสังกัดคือ นาซา หาคำตอบ จนในที่สุดถึงได้รู้ว่ามันคือแสงไฟจากเรือไดหมึกในประเทศไทยนั่นเอง"


เฉลยแล้วแสงสีเขียวพะเนินทุ่ง ดาราศาสตร์ชี้ นักบินอวกาศเคยอึ้ง จนนาซาต้องหาคำตอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพถ่ายดังกล่าวของนาซานั้น ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2014 นักบินอากาศชาวอเมริกัน Reid Wiseman ที่ประจำอยู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้โพสต์ภาพลงในเอ็กซ์ว่า "กรุงเทพฯเป็นเมืองที่สว่าง ส่วนแสงสีเขียวนอกกรุงเทพฯนั้น โนไอเดีย" ซึ่ง คริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยในขณะนั้น ก็ได้โพสต์ตอบว่า "คนกรุงเทพฯทั้งหลาย มีไอเดียไหม"


ก่อนที่จะได้รับคำตอบว่าเป็นเรือตกหมึกของไทย ที่เรือประมงจะใช้แสงสีเขียวเพื่อเรียกปลาหมึกและแพลงตอนให้ขึ้นมาบนผิวน้ำ

ทั้งนี้ บทความเมื่อเดือนตุลาคม 2013 ของหอสังเกตการณ์โลก โดย Michael Carlowicz ได้บอกว่า ชาวประมงจากอเมริกาใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้มหาสมุทรสว่างไสวด้วยโคมไฟ ที่ดึงดูดแพลงตอนและสายพันธุ์ปลาที่ปลาหมึกกินเป็นอาหาร ปลาหมึกจะติดตามเหยื่อไปยังผิวน้ำ ซึ่งชาวประมงจะจับได้ง่ายขึ้น เรือปลาหมึกสามารถบรรทุกโคมไฟเหล่านี้ได้มากกว่าร้อยดวง ทำให้เกิดแสงสว่างได้มากถึง 300 กิโลวัตต์ต่อลำ

ขณะที่เว็บไซต์ Scientific Visualization Studio ก็ได้โพสต์ภาพวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2020 เผยภาพ ?ตกปลาตอนกลางคืนจากอวกาศ-ประเทศไทย? อธิบาย อ่าวไทย ทะเลอันดามัน รวมไปถึงเรือประมง และว่า ภาพถ่ายนี้ ถ่ายโดยนักบินอวกาศจากสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2017 แสดงให้เห็นเมืองกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย สว่างไสวด้วยแสงนีออน ขณะที่ น่านน้ำที่ติดกันของทะเลอันดามันและอ่าวไทย สว่างไปด้วยแสงสีเขียวหลายร้อยดวงบนเรือประมง ชาวประมงใช้แสงไฟดึงดูดแพลงตอนและปลา ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของปลาหมึก ที่มีความสำคัญ


https://www.matichon.co.th/local/news_4267028

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 05-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


"FAO" ชี้ 1/3 ผลผลิตประมงทิ้งให้สูญเปล่า แปลง ขยะจากปลา สู่ความมั่นคั่งอาหาร ................ โดย จุลวรรณ เกิดแย้ม



"อาหารทะเล"เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยผลิตภัณฑ์ทั้งแช่แข็งและแปรรูป ปี2565 มีมูลค่าส่งออกมากถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ และ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2566) มีมูลค่าส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศแล้ว 3.7 พันล้านดอลลาร์

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญจากสัตว์น้ำในทะเล โดยเฉพาะปลาเป็นหลัก นับเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าตกใจคือ สัตว์ทะเลที่จับขึ้นมาและเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารทั่วโลกนั้น มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ที่ต้องถูกทิ้งไปเป็น?ขยะ?

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ประมาณการว่าอาหารทะเลมากกว่า 1 ใน 3 สูญหายหรือสูญเปล่า ไปในกระบวนการทำประมงหรือในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเล ซึ่งสวนทางกลับการทำประมงทั่วโลกที่มากกว่า 92%ที่มุ่งจับสัตว์น้ำแบบเต็มศักยภาพหรือมากเกินความพอดี

"ความสูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งจากในทะเลจากการแปรรูปสัตว์น้ำที่จับได้ขั้นต้นและบนบกจากการแปรรูปในโรงงานที่แม้ว่าโรงงานส่วนใหญ่สามารถส่วนเหลือของปลาไปใช้ในการผลิตปลาป่นหรือน้ำมันปลา ปัจจุบันการผลิตปลาป่นประมาณ 25-35% มาจากผลพลอยได้จากการแปรรูปอาหารทะเล"

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความต้องการพัฒนาและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง โดยชิ้นส่วนสัตว์น้ำที่กำลังมีการพัฒนาคือ ผิวหนังและตับของสัตว์ทะเล และคาดว่าจะต้องเร่งการพัฒนาให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะ ความไม่มั่นคงด้านอาหารยังคงเป็นข้อกังวลอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเล สำหรับแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะสร้างโอกาสการจ้างงาน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการขยายขนาดของนวัตกรรมส่งผลไปถึงท้องถิ่น เพราะการเพิ่มมูลค่าโดยรวมของปลาคือการเพิ่มรายได้ให้คนจับปลานั่นเอง

ตัวอย่างความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้คุ้มค่า คือ กลุ่มมหาสมุทรไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรในไอซ์แลนด์และทั่วโลก เป็นผู้นำในการบรรลุการใช้ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของการประมงและสามารถสร้างงานประมาณ 700 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าตลาดของการประมงเป็นประมาณ 500 ล้านดอลลาร์

"สิ่งที่ทำคือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอาหารทะเลเพื่อเพิ่มการใช้และมูลค่าของปลาแต่ละตัว สนับสนุนโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มการจ้างงาน และลดของเสีย ผลิตภัณฑ์ใหม่"

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ร่วมสนับสนุนแนวทางนี้ด้วยการใช้ชิ้นส่วนสัตว์น้ำมาเป็น วัสดุปิดแผล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่มสไตล์โคล่าที่แซงหน้ายอดขายโคล่าแบรนด์ระดับพรีเมียมในไอซ์แลนด์ไปแล้ว ซึ่งนวัตกรรมผลพลอยได้จากปลากำลังได้รับความสนใจในประเทศชายฝั่งทะเลอื่นๆอีกมาก

ธอร์ ซีกฟุสสัน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Iceland Ocean Cluster กล่าวว่าการเคลื่อนไหวเพื่อลดการสูญเสียจากการประมงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจที่ดี การจัดการประมงที่ยั่งยืน และระบบอาหารที่เหมาะสมต่อโลก โดยภารกิจของกลุ่มคือการนำภาคส่วนอาหารทะเลนามิเบียและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นพันธมิตรมารวมกันในฟอรัมความร่วมมือที่ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งเชื่อร่วมกันในการทำงานเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์สูงสุดจากอาหารทะเล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ การวิจัย วิธีการ และการตลาด

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้ประโยชน์สูงสุดจากอาหารทะเลในประเทศไทยนั้นทำได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทูน่ากระป๋องเป็นลำดับ 1 ของโลกประเทศไทยสามารถใช้ชิ้นส่วนของปลาไม่ว่าจะเป็นเกล็ดปลา กางปลาไปจนถึงเลือดปลา ที่เหลือจากการทำปลากระป๋องสามารถมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดเพราะส่วนต่างๆเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก

ชิ้นส่วนปลานำไปเปลี่ยนเป็น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สารสะกัดต่างๆในอาหารเสริม เป็นส่วนผสมอาหารสุนัขและแมว ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ 100% เป็นไปตามเป้าหมาย BCG ( เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยได้อย่างยั่งยืน

"ผลที่ได้คือ อุตสาหกรรมอาหารที่ไม่เหลือ Food Lost และสามารถสร้างอาชีพหรือการสร้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นจำนวนมากจากการใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนของปลาได้อีกด้วย"

เมื่อ"อาหาร"เริ่มหายาก แม้แต่ "อาหารจากท้องทะเล" การจัดการอุตสาหกรรมประมงและอาหารแปรรูปที่ให้มีของเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลย เป็นแนวทางที่จะส่งผลระยะยาวต่อการ "ผลิตอาหารและความมั่นคงทางโภชนาการ" เพิ่มขึ้น เมื่อปลามีมูลค่าสูงขึ้น ผลก็ส่งมาที่เศรษฐกิจก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1096810

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 05-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เหตุผลค้าน "แลนด์บริดจ์" ถมทะเล 7 พันไร่-วิถีประมงเสี่ยงพัง


ป้ายคัดค้าน คนพะโต๊ะ-ชุมพร ไม่เอาโครงการแลนด์บริดจ์ พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้าน

หลังรัฐบาลปัดฝุ่น โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติรับทราบในหลักการของโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการใน จ.ชุมพร และระนอง โดยกลุ่มอนุรักษ์ และชาวบ้านในพื้นที่ตั้งโครงการเริ่มออกมาคัดค้านโครงการ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอพะโต๊ะ ขอให้ทุกหน่วยงานยุติทุกกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองไว้ก่อน

และเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ทั้งจากโครงการท่าเรือน้ำลึก และเส้นทางรถไฟที่จะพาดผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ

เพจความอุบัติเมืองมลพิษแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ระบุว่า จากการที่เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เดินสายให้ข้อมูลชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ จากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ใน 4 ตำบล เขตอำเภอพะโต๊ะ ชุมชน คนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง และเคือข่ายประชาชน 5 อำเภอ จ.ชุมพร

"สรุปผลสำคัญคือ ทุกพื้นที่มติคัดค้านแลนด์บริด และเชิญชวนประชาชนในทุกจังหวัด ร่วมเวทีชำแหละแลนด์บริดจ์ วันที่ 15 พ.ย.นี้ เริ่มเวลา 08.30 น.ที่อบต.พะโต๊ะ"


แลนด์บริดจ์กระทบอะไรบ้าง?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า พื้นที่โครง การแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง อยู่ในพื้นที่อันดามันมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 4 ซึ่งไทยได้รับการบรรจุขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น กับคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อปี 2564

"ไทยต้องส่งรายงานการศึกษาฉบับเต็มให้กับมรดกโลก ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเวียนให้หน่วยงานต่างๆ ก่อนชงเสนอ ครม.ส่งไปศูนย์มรดกโลก"

นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า ประเด็นไม่ใช่แค่การจะทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกล่าช้า แต่เป็นผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ป่าชายเลน ป่าชายหาด เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล แนวปะการังน้ำตื้น น้ำลึก และมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากเมกกะโปรเจ็กต์ ถ้าไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบทุกมิติ โดยเฉพาะพื้นที่สงวนชีวมณฑลปี 2545 มีการประกาศให้พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำกระบุรี จ.ระนอง


ถมทะเล 7,000 ไร่เสี่ยงนิเวศพัง

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวอีกว่า ที่น่าห่วงจากโครงการแลนด์บริดจ์คือ การมีการถมทะเล 7,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เกือบเท่าเกาะพยาม จ.ระนอง เกาะกลางทะเล จะกระทบวงจรที่ของกระแสน้ำ การเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตสัตว์ทะเล ที่จะเข้ามาวางไข่ในป่าชายเลนถูกขวางด้วยท่าเรือแน่นอน

ดังนั้นจึงอยากเสนอทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานฯ ต้องศึกษาว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่เข้ามาใช้พื้นที่ และจะกระทบจากโครงการนี้

"เป็นโจทย์คำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะยังไม่มีใครศึกษามาก่อน และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลกระทบ"

นอกจากนี้ นักวิชาการ ระบุด้วยว่า แม้ว่าโครงสร้างตัวท่าเรืออยู่นอกเขตอุทยานแหลมสน แต่ว่าโครงสร้างขนาดใหญ่ ที่จะอยู่รอบพื้นที่ บล็อกเส้นทางที่สิ่งมีชีวิตจะเข้ามาการถมทะเล 7,000 ไร่ ซึ่งไม่เพียงแค่นั้นยังมีเขื่อนกันคลื่น ขุดร่องน้ำให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาได้ โดยตัวโครงการไม่จบแค่แค่เฟส 1 แต่มีเฟส 2 และ 3 ซึ่งถนนเส้นท่าเรืออยู่นอกเขตป่า แต่ถนนเส้นที่ผ่านป่าชายเลนที่มีความหนาของป่า 4-6 กม.แล้วแต่พื้นที่

โลหะหนัก-น้ำมันรั่วไหลไม่ควรมองข้าม

นายศักดิ์อนันต์ ยังกังวลว่าเรื่องสารโลหะหนัก เพราะปกติโลหะหนัก จะจับตัวกับสารอินทรีย์ในดินเลน ไม่ว่าจะมาจากแผ่นดินมาลงทะเลก็จะถูกจับในดินเลนได้และสะสมในพื้นดิน

"การขุดลอกขึ้นมาเท่ากับเป็นการขุดตะกอนโลหะหนักขึ้นมาจะฟุ้งกระจายไปไหน ไกลแค่ไหน"

รวมทั้งการมีท่าเรือมีการขนส่งน้ำมัน มีแปรรูปน้ำมัน จึงมีใครรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่เกิดน้ำมันรั่วไหล เพราะที่ผ่านมาหลายท่าเรือทั้งแหลมฉบัง มาบตาพุด ศรีราชา เกาะเสม็ด จ.ชลบุรี เมื่อรั่วไหลแล้วน้ำมันพัดผิวหน้าน้ำ เข้าเกาะหาดทราย ยังเก็บได้รวบรวมได้

"แต่ถ้ารั่วในพื้นที่หาดเลน ที่เป็นหาดเลนที่มีสารอินทรีย์เยอะ น้ำมันกับสารอินทรีย์มันจับตัวกัน มันมองไม่เห็น มันจับตัวกันเข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายยิ่งกว่าเก็บออกไม่ได้"

ประเด็นต่อมาเส้นทางบนบก ตัวท่าเรือในทะเล แต่ถนนที่ผ่านป่าชายเลน 4 กม. จะทำอย่างไรตอนนี้ ตอนนี้มีการพูดถึงถนนผ่านป่าชายเลน ที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะทำทางยกระดับทำถนนหรืออะไร ต้องประเมิน

สุดท้ายวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งตลอด 4,000 ครัวเรือนพึ่งพาทรัพยากรชายฝั่ง และไม่ใช่แค่รัศมี 5 กม. แต่ทำประมงชายฝั่งตลอดระนอง หาต้องถอยร่นทำประมงด้านล่างลงไป หรือถ้านิเวศเสียหายจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการแลนด์บริจด์ จะทำต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จะสูญเสีย ต้องประเมินผลกระทบอย่างละเอียด ไม่ใช่แค่การศึกษาแบบเดาๆ

สอดคล้องกับข้อกังวลของ สมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ บอกว่า ชาวบ้านอ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ทำเกษตร 6,178 ครัวเรือน คิดเป็น 97.09% มีพื้นที่เกษตรรวม 149,578 ไร่ มีรายได้จากเกษตรปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท จำนวนนี้ 80% ไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้าถูกเวนคืนจะได้รับเฉพาะค่าอาสินที่ให้ผลผลิตแล้ว เช่น ทุเรียน ต้นละ 18,740 บาท มังคุด ต้นละ 5,710 บาท ปาล์มน้ำมัน อายุ 3 ปีขึ้นไป ต้นละ 5,800 บาท ยางพารา ต้นละ 4,370 บาท

กรณีสวนทุเรียน เนื้อที่ 8 ไร่ ประมาณ 60 ต้น ถ้าถูกเวนคืนจะได้ค่าอาสินแค่ 1.1 ล้านบาท ไม่สามารถซื้อที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ได้เท่าเดิม เพราะที่ดินมีราคาสูง แต่หากยังคงอยู่ในพื้นที่จะมีรายได้จากทุเรียน ปีละประมาณ 2.5 ล้านบาท สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต และเป็นมรดกให้ลูกหลาน จึงยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่และต่อสู้จนถึงที่สุด


อะไรคือโครงการแลนด์บริดจ์

ผลการศึกษาเบื้องต้นของ สนข.กระทรวงคมนาคม ประมาณมูลค่าลงทุนในการพัฒนาแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ไว้ 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

- การก่อสร้างท่าเรือ 636,477 ล้านบาท (ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท, ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท)

- การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) ทั้งสองฝั่งมีมูลค่าลงทุนรวม 141,103 ล้านบาท

- มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ รวม 223,626 ล้านบาท

- โครงการท่าเรือนานาชาติระนอง

- การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ ครม.เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 รับทราบ ตามแผนช่วงเดือนพ.ย.2566 จะรับฟังความเห็นในพื้นที่โครงการ จากนั้นปี 2567 จะจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

และเมื่อเข้าสู่ปี 2568 ประมาณเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เม.ย.-มิ.ย.2568 ก่อนที่จะออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิที่ดินช่วงม.ค.2568 -ธ.ค.2569

คาดว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาได้ในเดือนก.ค.-ส.ค.2568 ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ในเดือน ก.ย.2568 - ก.ย.2573 และเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.2573


https://www.thaipbs.or.th/news/content/333502

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 05-11-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


เอลนีโญรุนแรงทำฤดูหนาวมาช้า-น้ำจืดจ่อแห้งหมดซีกโลกใต้



เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาระบุว่า จำเป็นจะต้องเลื่อนการประกาศวันเริ่มต้นฤดูหนาวปี 2566 ของประเทศไทยออกไปจากเดิมราว 2 สัปดาห์ เพราะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ อากาศจะยังคงร้อนชื้นแบบฤดูฝนอยู่ แม้มวลอากาศเย็นจะเริ่มแผ่ปกคลุมลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้วก็ตาม

มวลอากาศเย็นตามฤดูกาลดังกล่าวได้อ่อนกำลังลง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Ni?o) ซึ่งในปีนี้มีความรุนแรงเป็นพิเศษในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้หลายภูมิภาคของโลกต้องเผชิญภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่าที่ลุกลามเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำในแหล่งที่ใช้อุปโภคบริโภคกันเป็นประจำ ยังแห้งเหือดลงอย่างรวดเร็วน่าใจหาย จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงว่า ประชากรโลกจำนวนไม่น้อยจะต้องเผชิญกับหายนะในการดำรงชีวิตเร็ว ๆ นี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ของมนุษย์ แต่มีน้ำจืดเพียง 1% จากปริมาณน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก เหลืออยู่ให้เรานำมาใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ยังชี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กำลังทำให้น้ำในซีกโลกใต้เหือดแห้งหายไปอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลกด้วย

ดร.เควิน คอลลินส์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย Open University ของออสเตรเลีย ได้อธิบายถึงแนวโน้มทางภูมิอากาศที่ค้นพบในงานวิจัยข้างต้น ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ร่วมกับองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ของออสเตรเลีย ได้เป็นผู้ทำการศึกษาและเขียนรายงานชิ้นดังกล่าวขึ้น

ดร.คอลลินส์ กล่าวอธิบายในบทความของเขาซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation ว่าข้อมูลการสำรวจด้วยดาวเทียมและการตรวจวัดปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำลำธารสายต่าง ๆ ระหว่างปี 2001-2020 ชี้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำที่ใช้ในการดำรงชีวิตเหือดแห้งไปในแถบซีกโลกใต้มากกว่าซีกโลกเหนือหลายเท่าตัว

คำว่า "ปริมาณน้ำที่มีอยู่" (water availability) หมายถึงปริมาณน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ ซึ่งเราสามารถคำนวณจากการนำตัวเลขปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบนผืนแผ่นดิน มาลบออกด้วยปริมาณน้ำที่ระเหยเป็นไอกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณสุทธิของน้ำที่มีอยู่ในซีกโลกใต้ ลดลงไปมากจนน่าวิตกอย่างยิ่ง

ผลวิเคราะห์จากงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่สำหรับใช้อุปโภคบริโภคของภูมิภาคอเมริกาใต้, ทวีปแอฟริกาเกือบทั้งหมด, รวมทั้งบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างน่าใจหาย ซึ่งในระยะยาวความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อภูมิอากาศของโลกทั้งใบ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในซีกโลกเหนือด้วย แม้ว่าในปัจจุบัน หลายประเทศในซีกโลกเหนือสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ดีกว่า จนส่งผลให้ยังมีปริมาณน้ำคงเหลือที่สมดุลกับความต้องการอุปโภคบริโภคของผู้คนมากกว่า

บทความของดร.คอลลินส์ บอกว่า หายนะเรื่องทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นกับผู้คนในซีกโลกใต้ จะพลอยส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกลุ่มประเทศในซีกโลกเหนือไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นกรณีของป่าฝนแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ อันเป็นสถานที่ทรงอิทธิพลสำคัญในการกำหนดควบคุมระบบภูมิอากาศโลก ทั้งเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดพันธุ์

หากป่าฝนแอมะซอนประสบหายนะจากการที่น้ำในป่าเหือดแห้งลง ความตายและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของพืชและสัตว์นานาชนิดจะต้องมาถึงในไม่ช้านี้ เนื่องจากไฟป่าและภาวะอดอยากขาดแคลนอาหาร ซึ่งก็จะปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนหลายพันล้านตันที่ป่ากักเก็บไว้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้ภาวะโลกร้อน-โลกรวน จากปรากฏการณ์เรือนกระจกร้ายแรงยิ่งกว่าเก่า

ความแห้งแล้งผิดปกติที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้และแอฟริกา ยังส่งผลกระทบทางสังคม-เศรษฐกิจ ได้อย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากสองภูมิภาคใหญ่นี้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก โดยมีการทำเกษตรกรรมเพื่อผลิตถั่วเหลือง, ผักผลไม้, เนื้อสัตว์, น้ำตาล, โกโก้, และกาแฟปริมาณมหาศาลออกสู่ท้องตลาด

หากทรัพยากรน้ำถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าราคาอาหารในตลาดโลกจะถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อปัญหาความยากจน รวมทั้งเกิดศึกแย่งชิงทรัพยากรในการผลิตอาหาร ซึ่งอาจกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง หรือแม้กระทั่งเป็นชนวนก่อสงครามขึ้นได้

ความแห้งแล้งเนื่องจากการสูญเสียปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ จะส่งผลกระทบทางลบต่อพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ โดยพืชพรรณของป่าไม้จะเสื่อมโทรมและตายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นเหนือระดับ 35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 หากเราสูญเสียป่าไม้จนอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศยังคงสูงลิ่วโดยไม่ลดลงไปจากระดับปัจจุบันเลย

ภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลร้ายต่อสุขภาพ, การทำมาหาเลี้ยงชีพ, และพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้บริเวณที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ของโลก จะไม่ได้อยู่ในเขตที่เกิดภาวะน้ำแห้งเหือดอย่างรุนแรงก็ตาม ตัวอย่างเช่นภัยแล้งในพื้นที่ตอนกลางของออสเตรเลียซึ่งมีประชากรเบาบาง จะส่งผลกระทบต่อเมืองใหญ่แถบชายฝั่งด้วยเช่นกัน

เหตุไฟป่าลุกลามและพายุโหมกระหน่ำที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นแรงกดดันให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งการแย่งชิงทรัพยากรที่เหลือน้อยลงทุกทีในอนาคต หากมนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และปรับตัวแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วทันท่วงที ในภาวะที่โลกกำลังนับถอยหลังสู่จุดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ที่เราไม่อาจจะทำให้หวนคืนเป็นเหมือนดังเดิมได้อีกแล้ว


https://www.bbc.com/thai/articles/ce9p1kve0y0o

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:52


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger