#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้แล้ว ส่งผลให้มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนบางแห่งกับมีลมแรง โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีลมแรง และมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 2 ? 4 ธ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง กับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 1 ? 3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 5 ? 7 ธ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ยังคงมีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางแห่งเกิดขึ้นได้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 1 ? 3 ธ.ค. 66 ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1 ? 5 ธ.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกของประเทศอินเดียในช่วงวันที่ 4 ? 5 ธ.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 2 - 4 ธ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 5 ? 7 ธ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
ดร.ธรณ์ห่วง! "ปะการังฟอกขาวในหน้าหนาว" ชี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอในทะเลไทย อ.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล กังวลพบปะการังฟอกขาวในหน้าหนาว เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอในทะเลไทย สอดคล้องกับสถานการณ์เอลนีโญที่จะรุนแรงสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม วันนี้ (1 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก ?Thon Thamrongnawasawat" หรือดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "อุทยานเกาะช้างสั่งปิดจุดดำน้ำเพราะปะการังฟอกขาว ! อ่านผ่านๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่อย่าลืมว่านี่คือหน้าหนาว เท่าที่ผมจำได้ เราไม่เคยเกิดปะการังฟอกขาวในหน้าหนาว !!! หัวหน้าอุทยานรายงานว่า น้ำทะเลร้อน 30-32 องศา ซึ่งตัวเลขนี้สูงเป็นอย่างยิ่งในหน้าหนาว ยังเน้นย้ำคำว่า ?ในหน้าหนาว? เพราะในหน้าหนาวคือช่วงที่อุณหภูมิน้ำต่ำสุดในรอบปี ลองดูข้อมูลในอดีตตามจุดต่างๆ ในภาคตะวันออก อุณหภูมิน้ำในหน้าหนาวต่ำกว่า 30 องศาเป็นเรื่องปรกติ ปะการังอาจเริ่มฟอกขาวเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงเกิน 30.5 องศา ทุกครั้งจึงเกิดในหน้าร้อน แต่เมื่อหน้าหนาวแต่น้ำร้อน เราจึงเจอสิ่งที่ไม่เคยเจอในทะเลไทย ไม่เคยเจอแม้ในปีเอลนีโญที่ผ่านๆ มา หากปะการังฟอกขาวเพราะน้ำร้อนจริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่โรคปะการังเหมือนที่เคยบอกเพื่อนธรณ์เมื่อเดือนก่อน นี่คือผลกระทบจากเอลนีโญ+โลกร้อนแบบเห็นคาตา คำว่า "บวกโลกร้อน" เป็นข้อความสำคัญมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาติดตามเรียนรู้ สองเบิ้ล "เป็นโรค+ฟอกขาว" ยิ่งต้องเรียนรู้ เพราะนั่นคือสิ่งที่อาจเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เอลนีโญจะมีอีกเรื่อยๆ การเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มจึงสำคัญมาก ดีใจที่อุทยานติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำต่อเนื่องในบริเวณนั้น เหตุการณ์นี้ยังสอดคล้องกับสถานการณ์เอลนีโญที่บอกเพื่อนธรณ์มาก่อนหน้านี้ว่า จะรุนแรงสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม น้ำทะเลในแถวบ้านเราจะร้อนผิดปรกติ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะผิดปรกติจนถึงขั้นทำให้ปะการังฟอกขาวได้ ผมจึงตกใจและเป็นห่วงครับ เป็นห่วงว่าเอลนีโญจะลากยาวข้ามปี ขนาดในหน้าหนาวยังฟอกขาว ไม่ต้องพูดถึงหน้าร้อนในปีหน้า สถานการณ์แบบนี้ต้องเฝ้าระวังกันสุดๆ ผมเพิ่งเขียนบทความ COP28 ให้คาร์บอนคลับ มีข้อมูลที่น่าสะพรึงอยู่เยอะมาก สร้างความหดหู่ให้ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง เช่น UN บอกว่าโลกกำลังจะร้อนเกือบ 3 องศา เป้าหมาย 1.5 องศาเป็นเพียงแค่ฝันอันเลื่อนลอย เมื่อข้อตกลงของมนุษย์เป็นแค่ความฝัน โลกจะยิ่งร้อนอย่างรุนแรง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น ก็จะได้เห็น เช่นปะการังฟอกขาวในหน้าหนาว หมายเหตุ - ปะการังเป็นโรคด้วยนะครับ สองอย่างปนกันในที่เดียว" https://mgronline.com/onlinesection/.../9660000108184
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
WMO ชี้ปี 2023 ทุบสถิติโลกร้อนขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ยืนยันว่าปี 2023 อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 1.4 องศาเซลเซียส สูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรม เรียกร้องผู้นำเวทีสหประชาชาติ COP28 ที่ดูไบเจรจาลดก๊าซเรือนกระจก วันนี้ (1 ธ.ค.2566) ในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศประจำปีขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP28 ที่ดูไบ มีการเปิดเผยรายงานขององค์การอุตุนิยม วิทยาโลก (WMO) ยืนยันว่าปี 2566 หรือ 2023 จะเป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากข้อมูลจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอยู่ประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส สูงกว่าเส้นฐานก่อนยุคอุตสาหกรรมระหว่างปี 1850-1900 หรือเมื่อ 173 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสูงกว่าปี 2559 หรือ 2016 และปี 2563 หรือ 2020 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นปีที่อุณหภูมิสูงที่สุด ข้อมูลองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุอีกว่า ในช่วงปี 2558-2566) เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เหตุการณ์เอลนีโญที่อุ่นขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือปีนี้ และพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูร้อน มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดความร้อนมากขึ้นในปี 2024 เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วปรากฏการณ์เอลนีโญ จะมีผลกระทบมากที่สุดต่ออุณหภูมิโลกหลังจากที่อุณหภูมิถึงจุดสูงสุดแล้ว ศาสตราจารย์ Petteri Taalas เลขาธิการ WMO กล่าวว่า ระดับก๊าซเรือนกระจก สูงเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิโลกสูงเป็นประวัติการณ์ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกต่ำเป็นประวัติการณ์ "สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าสถิติ เราไม่สามารถกลับไปสู่บรรยากาศของศตวรรษที่ 20 ได้ แต่ต้องดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจำกัดความเสี่ยงของสภาพอากาศในศตวรรษนี้และต่อจากนี้" นอกจากนี้ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 50% กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศ อายุที่ยาวนานของ CO2 หมายความว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นต่อไปอีกหลายปีต่อจากนี้ ส่วนอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในช่วงปี 2556-2565 มากกว่า 2 เท่าของอัตราในทศวรรษแรก พ.ศ.2536-2545) เนื่องจากภาวะโลกร้อนและการละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งอย่างต่อเนื่อง ขอบเขตน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกสูงสุดในรอบปีนั้นต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเต็ม 1 ล้านตารางกิโลเมตร (มากกว่าขนาดของฝรั่งเศส และเยอรมนีรวมกัน) น้อยกว่าระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ เมื่อสิ้นสุดฤดูหนาวในซีกโลกใต้ ธารน้ำแข็งในอเมริกาเหนือและยุโรปเผชิญกับฤดูละลายที่รุนแรงอีกครั้ง ธารน้ำแข็งของสวิสเซอร์แลนด์ สูญเสียปริมาณที่เหลืออยู่ประมาณ 10% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตามรายงานของ WMO รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้าถึงได้ทั่วโลก โดยให้ภาพรวมของผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงทางอาหารและการพลัดถิ่นของประชากร ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้ผู้นำชาติสมาชิกที่เข้าประชุม COP28 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีแผนงานในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้รายงานสุดท้ายของสภาพภูมิอากาศโลกปี 2023 พร้อมด้วยรายงานระดับภูมิภาค จะมีการเผยแพร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม บริเวณสถานที่จัดการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ ขององค์การสหประชาชาติ COP28 ที่ ดูไบ https://www.thaipbs.or.th/news/content/334494 ****************************************************************************************************** สำรวจสัตว์ทะเลหายากอ่าวไทยตอนบน พบวาฬบรูด้า 9 ตัว กรมทะเลชายฝั่ง สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณอ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และ กทม. พบวาฬบรูด้า 9 ตัว ส่วนการสำรวจแหล่งหญ้าทะเลที่จันทบุรี ระยอง พบพะยูน 2 ตัว เต่าตนุ 9 ตัว เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณอ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 27-30 พ.ย.2566 ทั้งนี้ พบวาฬบรูด้า จำนวน 9 ตัว ทราบชื่อจำนวน 6 ตัว ได้แก่ แม่สาครกับเจ้าสาลี แม่กันยากับเจ้ามะลิ เจ้ามีทรัพย์ เจ้าสิงหา และไม่ทราบชื่อ จำนวน 3 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเล สมุทรสาคร และเพชรบุรี ระยะห่างจากฝั่ง 10-15 กิโลเมตร สัตวแพทย์ตรวจสุขภาพวาฬบรูด้าที่สำรวจพบ พบมีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ มีความสมบูรณ์ร่างกาย (Body Condition Score) อยู่ในเกณฑ์ดี และพบรอยโรค Tattoo Skin Disease (TSD) บนผิวหนังวาฬบรูด้าจำนวน 2 ตัวได้แก่ เจ้ามีทรัพย์ และแม่สาคร พบบาดแผลบริเวณด้านหน้าครีบหลังของเจ้าสาลี และรอยถูกพันรัดที่ครีบหลังของวาฬไม่ทราบชื่อ จำนวน 1 ตัว ซึ่งสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพสัตว์ทะเลหายากต่อไป ศวทอ.สำรวจแหล่งหญ้าทะเล พบพะยูน-เต่าตนุ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) สำรวจสัตว์ทะเลหายากในแหล่งหญ้าทะเล โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ ด้วยวิธี Line-transect พื้นที่ทางทะเล จันทบุรี และระยอง ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย.2566 จำนวน 44 เส้น 7 เที่ยวบิน บริเวณหาดทุ่งคา ต.เนินฆ้อ อ.แกลง อ่าวเพ-หาดสวนสน, ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง และอ่าวคุ้งกระเบน ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี รวมพื้นที่สำรวจ 1,414 ไร่ พบสัตว์ทะเลหายาก 2 ชนิด เฉพาะบริเวณแหล่งหญ้าทะเลอ่าวเพ ระยอง ได้แก่ พะยูน จำนวน 2 ตัว วัดขนาดความยาวตัวจากการคำนวณด้วยภาพจากโดรน พบว่าพะยูนทั้ง 2 ตัว มีความยาว 2.4 เมตร จากการประเมินสุขภาพภายนอก พบว่าพะยูนสภาพร่างกายปกติ มีพฤติกรรมหาอาหาร ว่ายน้ำได้ดี เต่าตนุ จำนวน 9 ตัว วัดขนาดความยาวตัวจากการคำนวณด้วยภาพจากโดรน พบว่ามีความยาวระหว่าง 46-86 เซนติเมตร จากการประเมินสุขภาพภายนอก พบว่าเต่าทะเลสามารถว่ายน้ำ ดำน้ำ และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดี โดยพฤติกรรมที่พบเป็นการเข้ามาหากินในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล โดยบริเวณแหล่งหญ้าทะเลดังกล่าวประกอบด้วยหญ้ากุยช่ายเข็ม หญ้ากุยช่ายทะเล และหญ้าใบมะกรูด https://www.thaipbs.or.th/news/content/334494
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|