#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยอุณหภูมิจะสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวมทั้งระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดที่ปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันมากขึ้น เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 28 ธ.ค. 66 ? 1 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็น หลังจากนั้น บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง กับมีลมแรง ในช่วงวันที่ 28 ธ.ค. 66 ? 1 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร หลังจากนั้น มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเริ่มมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร ในช่วงวันที่ 28 ? 30 ธ.ค. 66 ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
จะเป็นอย่างไร เมื่อสารตกค้างจาก 'ครีมกันแดด' ปนเปื้อน 'หิมะขั้วโลก' ? ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังน่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่อง หลังมีงานวิจัยระบุว่าพบสารจาก "ครีมกันแดด" ปนเปื้อนอยู่ใน "หิมะขั้วโลกเหนือ" ทั้งที่ในจุดที่เก็บตัวอย่างได้นั้น ไม่มีผู้คน และไม่มีแสงแดดส่องถึง "สารเคมีปนเปื้อนในหิมะ" อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานการค้นพบสารปนเปื้อนในหิมะมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะมาจากไมโครพลาสติกหรือคาร์บอน แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีตัวการใหม่ที่ทำให้หิมะใน "ขั้วโลกเหนือ" เกิดการปนเปื้อน นั่นก็คือ "ครีมกันแดด" ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ เมื่อตรวจสอบที่มาของสารเหล่านั้นแล้วกลับพบว่า พวกมันไม่ได้อยู่ที่ขั้วโลกเหนือมาตั้งแต่แรก แต่เดินทางมาจากที่อื่น ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยกาฟอสการี, สถาบันขั้วโลกวิทยา, สภาวิจัยแห่งชาติอิตาลี และศูนย์มหาวิทยาลัยในสฟาลบาร์ (UNIS) เปิดเผยผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science of the Total Environment ว่า จากการติดตามสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายว่าพวกมันสามารถแพร่กระจายไปแถบอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือได้บ้างหรือไม่ ด้วยการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เม.ย. - พ.ค.2021 โดยการเก็บตัวอย่างจากธารน้ำแข็ง 5 แห่งในคาบสมุทรบรอกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ที่อยู่ห่างไกลหรือใกล้ชิดกับชุมชน ก็พบว่ามีสารจาก ?ครีมกันแดด? ปนเปื้อนอยู่ในหิมะ ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า มีสารประกอบจากผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายกระจายอยู่หลายจุด ส่วนมากคือ สารประเภทน้ำหอม และตัวกรองรังสียูวีที่อยู่ในครีมกันแดด มาริอันนา ดามิโก (Marianna D'Amico) นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ขั้วโลกจากมหาวิทยาลัยกาฟอสการี ในฐานะผู้เริ่มต้นงานวิจัยในครั้งนี้ระบุว่า จากการวิเคราะห์สารปนเปื้อนจำนวนมาก เช่น Benzophenone-3, Octocrylene, Ethylhexyl Methoxycinnamate และ Ethylhexyl Salicylate พบว่าพวกมันไม่เคยมีบันทึกไว้ก่อนหน้านี้เลยว่าเป็นสารปนเปื้อนในหิมะขั้วโลกเหนือ จึงต้องวิเคราะห์ต่อว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ทีมงานของมหาวิทยาลัยกาฟอสการียังอธิบายเพิ่มเติมว่า สารปนเปื้อนในพื้นที่ห่างไกลอย่าง "ขั้วโลกเหนือ" ที่พบเห็นได้ครั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าเมื่อฤดูหนาวสิ้นสุดลง มวลอากาศที่ปนเปื้อนจากพื้นที่อื่นก็จะเคลื่อนย้ายมาสู่บริเวณขั้วโลกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนก็คือ สารที่ทำหน้าที่กรองรังสียูวีในครีมกันแดดกลับถูกค้นพบบริเวณ "คาบสมุทรบรอกเกอร์" ในจุดที่ไม่มีแดดส่องถึง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องใช้ครีมกันแดด ท้ายที่สุดนี้แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะยังเป็นเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้น แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร โดยนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องหาคำตอบอย่างละเอียดว่า สารปนเปื้อนจากครีมกันแดดที่พบในหิมะขั้วโลกเหนือนั้น ส่วนใหญ่มาจากไหนกันแน่? และจะส่งผลเสียตามมาอย่างไรในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในแถบขั้วโลกเหนือเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่อื่นทั่วโลกถึง 4 เท่า อ้างอิงข้อมูล : Eurek Alert และ IFL science https://www.bangkokbiznews.com/environment/1105792
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
"แม่เต่ามะเฟือง" ขึ้นมาไข่อีกแล้ว รังที่ 4 ของปีนี้ ที่อุทยานฯ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง "แม่เต่ามะเฟือง" ขึ้นมาไข่อีกแล้วที่อุทยานฯ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นรังที่ 4 ของฤดูกาลนี้ พบไข่ 122 ฟอง เป็นไข่ลม 42 ฟอง ไข่สมบูรณ์ 80 ฟอง จนท.ย้ายไปรอฟัก คาดเป็นตัว ก.พ.2567 วันนี้ (27 ธ.ค.2566) เพจสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต สำรวจการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล พบร่องรอยเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่อุทยานฯ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 เวลา 01.00 น. โดยครั้งนี้นับเป็นการพบการขึ้นวางไข่เป็นรังที่ 3 ของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง (รังที่ 4 ของฤดูกาล) ทั้งนี้ร่องรอยของแม่เต่าไม่ชัดเจน เบื้องต้นจากการวัดรอย พบความกว้างช่วงอกประมาณ 70-80 เซนติเมตร ความกว้างพายทั้งหมดประมาณ 140-150 เซนติเมตร จึงได้หาไข่เต่าตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อตรวจสอบตำแหน่งหลุมไข่จนพบ เจ้าหน้าที่จึงขุดย้าย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่น้ำทะเลจะท่วมถึง ความลึกก้นหลุมไข่ 80 เซนติเมตร ความกว้างหลุมไข่ 29 เซนติเมตร พบไข่ทั้งหมด 122 ฟอง เป็นไข่สมบูรณ์ 80 ฟอง ไข่ลม 42 ฟอง ไข่เต่ามีขนาด 5.08 เซนติเมตร โดยจุดวางไข่อยู่บริเวณพิกัด UTM 47P 415180 935780 ได้ย้ายไข่เต่ามะเฟืองไปเพาะฟักในจุดที่สะดวกต่อการดูแลบริเวณหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อยู่พ้นแนวน้ำขึ้นสูงสุด เพื่อให้ไข่เต่ามีโอกาสฟักตัวตามธรรมชาติ ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่ฯ คอยตรวจสอบ ดูแลป้องกัน การรบกวนจากสัตว์หรือมนุษย์อย่างต่อเนื่อง และจะใช้เวลาอีก 55-60 วัน ไข่เต่าจะฟักตัว คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 19-24 ก.พ.2567 https://www.thaipbs.or.th/news/content/335352
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|