เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 28-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง มีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันลดลง เนื่องจากมีลมพัดปกคลุม


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 27 - 28 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ม.ค. ? 2 ก.พ. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า

ในช่วงวันที่ 28 ม.ค. ? 2 ก.พ. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1?2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 27 ? 28 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอากาศแห้งและลมแรง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่วนช่วงวันที่ 29 ม.ค. ? 2 ก.พ. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 28-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักชีววิทยา สหรัฐฯ เผยความจริงของขนาดฉลามเม็กกาโลดอน



เม็กกาโลดอน (Megalodon) หรือฉลามเมกะทูธ (megatooth) ฉลามยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 3.6 ล้านปีก่อน มักถูกมองว่าเป็นสัตว์ประหลาดตัวยักษ์จากภาพจำในภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ เม็ก" (The Meg) ที่ออกฉายในปี 2561 และ "เม็ก 2 : เดอะ เทรนช์" (Meg 2 : The Trench) ที่เพิ่งผ่านตาไปเมื่อปี 2566 ซึ่งในการศึกษาก่อนหน้านี้มีข้อสันนิษฐานว่าฉลามชนิดนี้น่าจะยาวอย่างน้อย 15 เมตร โดยอาจยาวได้มากสุดเกือบ 20 เมตร

ทว่าซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของเม็กกาโลดอนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ มักเป็นฟันและกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่ค่อนข้างไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ฉลามขาวยุคปัจจุบันเลยถูกนำมาใช้เป็นแบบอย่างของร่างกายเม็กกาโลดอนในการวิจัยก่อนหน้านี้ แบบจำลองดังกล่าวทำให้นักวิจัยสรุปได้ว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างกำยำคล่องแคล่วเหมือนฉลามขาว แต่ในการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ในสหรัฐอเมริกา ที่ตรวจสอบซากฟอสซิลของเม็กกาโลดอนอีกครั้ง โดยเปรียบเทียบฟอสซิลกระดูกสันหลังของเม็กกาโลดอนกับฟอสซิลกระดูกปลาฉลามที่มีชีวิตในยุคปัจจุบัน ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พร้อมกับเปรียบเทียบกับการสร้างกระดูกสันหลังเม็กกาโลดอนในการวิจัยครั้งก่อนๆ

ผลการตรวจสอบพบว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างเพรียวบางกว่าที่การศึกษาก่อนหน้านี้นำเสนอไว้ แต่มันยังคงเป็นนักล่าขนาดใหญ่ที่น่าเกรงขามในห่วงโซ่อาหารทางทะเลยุคโบราณ ซึ่งรูปร่างที่เพรียวบางและยาวนั้น อาจบ่งบอกว่าเม็กกาโลดอนมีช่องทางเดินอาหารที่ยาวขึ้น และในกรณีนี้ มันน่าจะมีการดูดซึมสารอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องกินอาหารบ่อยๆอย่างที่เคยเชื่อกันมา.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2758041

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 28-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


พะยูนทะเลตรังตายต่อเนื่อง 3 ตัวในรอบ 1 เดือน พบเศษอวน-พลาสติก พยาธิเต็มท้อง

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - พะยูนตายต่อเนื่อง 3 ตัวในรอบ 1 เดือน ตัวล่าสุดยาว 2 เมตร น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ลอยติดใต้ถุนบ้านเกาะลิบง ชันสูตรทั้ง 3 ตัวคล้ายกัน พบเศษอวน เศษพลาสติก พยาธิเต็มท้อง เชื่อเป็นธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในทะเลตรัง



วันนี้ (26 ม.ค.) เพจมูลนิธิอันดามัน save Andaman network foundation โพสต์ข้อความพร้อมภาพพบพะยูนตายลอยน้ำมาติดฝั่งใต้ถุนบ้านของชาวบ้าน เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นเพศผู้ ความยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม

เพจมูลนิธิอันดามันระบุว่า เกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเลตรัง? ธ.ค.ที่ผ่านมาถึงต้นปี 2567 เราพบพะยูนตายถึง 3 ตัวแล้ว ตัวล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 เวลาประมาณ 11.00 น. มีพะยูนตายลอยน้ำเข้ามาติดฝั่งใต้ถุนบ้านของชาวบ้าน ณ เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นเพศผู้ ความยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม

อ้างอิงจากผลชันสูตรตัวที่พบก่อนหน้า พบว่า ภายนอกสภาพที่พบค่อนข้างเริ่มเน่า ร่างกายค่อนข้างซูบผอม ภายนอกพบเขี้ยวพะยูน ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงเกาะรอบตัว ภายในปากพบหญ้าทะเลเล็กน้อย ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์อื่นๆ คล้ายคลึงกันใน 2 ตัวแรก

ภายในของซากพะยูนที่พบมีความคล้ายคลึงกันคือ ในกระเพาะอาหารพบเศษหญ้าทะเลเล็กน้อย และพยาธิตัวกลมจำนวนมาก รวมถึงเศษอวน เศษพลาสติกอ่อน ผนังกระเพาะอาหารหลุดลอกบางส่วน ผนังลำไส้เล็กพบจุดเนื้อตายเป็นหนองและลำไส้หลุดลอก

การตายของพะยูนในช่วงนี้นับว่ามีความถี่ขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในทะเลตรัง ซึ่งอาจจะมาจากหลากหลายสาเหตุของบริบทและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป คุณภาพน้ำในทะเลจากการขยายตัวของครัวเรือน กิจกรรมการท่องเที่ยว โรงงานยางพารามีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลมากยิ่งขึ้น การขุดลอกแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งระบบ

ความไม่สมดุลของห่วงโซ่อาหารในปัจจุบัน และแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลที่กำลังเกิดวิกฤต (หญ้าทะเล) ที่อาจเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้สภาวะขาดแคลนอาหารอาจเกิดขึ้นได้ และที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะทะเลที่เข้าไปอยู่ในกระเพาะของพะยูน และผลชันสูตรในหลายๆ ตัวเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พะยูนต้องตายลง

จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายสาเหตุทีเดียวที่เราควรที่จะหันกลับมาใส่ใจ ให้ความสำคัญ และตระหนักในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น เรื่องราวเหล่านี้ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

การที่พะยูนตาย สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ท้องทะเล และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สุดท้ายทุกคนควรทำอย่างไรถึงจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้อย่างยั่งยืน


https://mgronline.com/south/detail/9670000007865


******************************************************************************************************


โฉมใหม่สวยปัง!ถมทรายชายหาดจอมเทียน "มนพร" สั่งเจ้าท่าลุยแผน 12 ปี แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งยั่งยืน

"มนพร"สั่งเจ้าท่า เดินหน้าแผนแม่บทระยะ 12 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2577 แก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งและสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ ล่าสุดฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนเสร็จสมบูรณ์ ขยายความกว้าง 50 เมตร ยาว 3,575 เมตร สร้างจุดขายแหล่งท่องเที่ยว



วันที่ 26 มกราคม 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีส่งมอบการฟื้นฟูอนุรักษ์ชายหาดจอมเทียนเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ "คมนาคมส่งยิ้ม เจ้าท่าสร้างสุข มอบหาดสวย สู่ประชาชน @หาดจอมเทียน" ณ บริเวณชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) เดินหน้าสานต่อความสำเร็จพลิกฟื้นชายหาดท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ให้มีความสวยงาม เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้เร่งรัดผลักดันให้ จท. จัดทำแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเลด้านการเสริมทราย (Beach Nourishment) เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ซึ่งถือเป็นหนึ่งหมุดหมายในการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ตามนโยบาย "คมนาคมเพื่ออุดมสุขของประชาชน และราชรถยิ้ม"

ทั้งนี้ จท. ได้จัดทำแผนแม่บทระยะ 12 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2577 ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ โดยดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดในพื้นที่ชายหาดจอมเทียนเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากชายหาดพัทยา เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 แล้วเสร็จวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ใช้ทรายจากบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งอยู่ห่างจากหาดจอมเทียนประมาณ 15 กิโลเมตร ปริมาณทรายที่ใช้ทั้งสิ้น ประมาณ 640,000 ลูกบาศก์เมตร ภายหลังจากการฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนเสร็จสิ้น ส่งผลให้ชายหาดมีความกว้างเฉลี่ย 50 เมตร ยาว 3,575 เมตร สามารถสร้างประโยชน์ในพื้นที่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการพลิกฟื้นคืนความงดงามของชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงามและใช้เป็นพื้นที่สันทนาการได้มากขึ้น พร้อมเป็น Landmark ดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้กลับมาคึกคัก พร้อมแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศ อนุรักษ์หาดทรายให้สมบูรณ์สวยงามดังเดิม


https://mgronline.com/business/detai...07931?tbref=hp


******************************************************************************************************


ตื้นเต้นกันทั้งหาด! แม่เต่าหญ้าขึ้นวางไข่ บนหาดกะรน จ.ภูเก็ต นับได้กว่า 126 ฟอง

ศูนย์ข่าวภูเก็ต ?สร้างความตื่นเต้นให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่อยู่บนชายหาดกะรนเป็นอย่างมาก ในช่วงเช้าวันนี้ เมื่อพบแม่เต่าหญ้าตัวใหญ่ ขึ้นมาวางไข่ นับได้กว่า 126 ฟอง เจ้าหน้าที่ย้ายไข่ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย



เมื่อเวลา 06.00 น. วันนี้ (27 ม.ค.) นายอุดม พัฒกอ เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด หาดกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบแม่เต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่บนหาดกะรน บริเวณใกล้ๆหนองน้ำในหานขณะเดินตรวจตราความปลอดภัยบนชายหาด จึงแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ

การขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าหญ้าในวันนี้ สร้างความตื่นเต้นให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาทำกิจกรรมบนชายหาดที่ได้เห็นแม่เต่าหญ้าตัวใหญ่ขึ้นมาวางไข่และกำลังคลานลงทะเล

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ขุดหลุมไข่เต่า นับได้กว่า 126 ฟอง และพิจารณาพื้นที่การขึ้นวางไข่พบว่า อยู่ในระดับน้ำทะเลท่วมถึงอาจจะทำให้ไข่เต่าได้รับความเสียหายได้ เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดย้ายไข่เต่าและนำมาอนุบาล ณ โรงอนุบาลเต่าทะเล ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าหญ้าบนหาดกะรนในครั้ง เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่าหาดแห่งนี้มีความเป็นธรรมชาติและเงียบสงบในยามค่ำคืน


https://mgronline.com/south/detail/9670000008022

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 28-01-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'เต่ามะเฟือง' สัตว์ป่าสงวน เสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลก

'เต่ามะเฟือง' เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่หายาก และถือเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ของโลก ปัจจุบัน เต่ามะเฟือง ถูกบรรจุอยู่เป็น สัตว์ป่าสงวนของไทย ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562



Key Point :

- เต่ามะเฟือง จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ และถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย

- ถือเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม เวลาวางไข่ มักจะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง

- ปัจจุบัน ภัยที่เป็นอันตรายต่อ เต่ามะเฟือง มีทั้งเครื่องมือประมง กิจกรรมในทะเลและชายฝั่ง การสูญเสียชายหาดสำหรับวางไข่ และ 'ขยะทะเล' โดยเฉพาะเชือกและเศษอวน ซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต


จากกรณี แม่เต่ามะเฟือง ถูกเชือกอวนหมึกรัดคอและพายหน้า 2 ข้าง ตายคาหาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเมือง วัดขนาดกระดองความกว้าง 105 ซม.ยาว 181 ซม. โดยผลชันสูตร พบไข่ในรังไข่ 136 ฟอง ถือเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าครั้งสำคัญ เพราะเต่ามะเฟือง ถือเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ของโลก และ ถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยอีกด้วย


ทำไม 'เต่ามะเฟือง' ถึงใกล้สูญพันธุ์

ข้อมูลจาก คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ เต่ามะเฟือง เป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัว

ทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชนิดนี้ เต่ามะเฟือง จัดอยู่ในสถานภาพการอนุรักษ์ในระดับโลก คือ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) โดย IUCN และ ถูกบรรจุเป็น สัตว์ป่าสงวนของไทย ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562


เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน

อาศัยอยู่ในทะเลเปิดกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต


การออกลูกของ แม่เต่ามะเฟือง

เต่ามะเฟืองออกลูกเป็นไข่ แม่เต่ามะเฟือง จะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง จากนั้นจึงคลานลงสู่ทะเล ปล่อยให้ลูกเต่าฟักออกมาเป็นตัวเพียงลำพัง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55-60 วัน ในระหว่างนี้อุณหภูมิจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่ออัตราการฟัก ระยะเวลาที่ใช้ฟัก และที่สำคัญเป็นตัวกำหนดเพศของลูกเต่า

โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเล ลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้อง

ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่


ภัยอันตรายต่อเต่ามะเฟือง


1. ติดเครื่องมือประมง

ระหว่างการเดินทางมาวางไข่และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น


2. ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล

การรบกวน เช่น จากแสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย


3. การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่

การสูญเสียสภาพชายหาดเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงของปริมาณ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือในเชิงคุณภาพ เช่น มีกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า ความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด


4. ถูกรบกวนจากกิจกรรมบนชายฝั่ง

การพัฒนาบนฝั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชายหาดที่เต่าทะเลจะเลือกขึ้นมาวางไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแสง การขาดการจัดการที่ดีของการพัฒนาชายฝั่ง ส่งผลต่อปริมาณขยะ และน้ำเสียที่ไหลลงมาสู่ชายหาด


5. ขยะทะเล

ปัญหาของขยะทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มของประชากรของมนุษย์และการขาดจิตสำนึกในการใช้สิ่งของและการทิ้งขยะ ผลการผ่าชันสูตรซากเต่าทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิตบางตัวพบขยะพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหารอันเป็นสาเหตุของการตาย

เต่ามะเฟือง ซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักเมื่อเห็นพวกเศษถุงพลาสติกใสอาจหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนจึงกินเข้าไปได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลืนกินขยะทะเลเข้าไป ปัญหาขยะทะเล ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเต่าทะเล

แต่ยังเป็นสาเหตุการเกยตื้นในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทั้งจากการกินโดยไม่ตั้งใจ หรือการกินโดยตั้งใจเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัญหาขยะที่พบได้บ่อยมาก คือ ขยะจำพวกเชือกและเศษอวนซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1110424

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:54


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger