เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 05-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ประกอบกับมีลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกบางในตอนเช้า และมีเมฆบางส่วน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 5 ? 8 ก.พ. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลง 1 ? 2 องศาเซลเซียส ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 9 ? 10 ก.พ. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียสกับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 5 ? 9 ก.พ. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในวันที่ 10 ก.พ. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนบนของภาค ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 9 - 10 ก.พ. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 05-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


รู้แล้วบอกต่อ น้องชื่อ "ไดมอนด์" หมึกสีแดงที่ชาวประมงจับได้ในทะเลกระบี่



จากกรณีที่มีชาวประมงจังหวัดกระบี่ ออกทำประมงอวนล้อมจับในทะเลกระบี่ และ สามารถจับหมึกตัวสีแดงขนาดใหญ่ได้ จำนวนหนึ่ง โดยแต่ละตัวมีน้ำหนักประมาณ 5 กก. แต่ละครั้งจับได้ประมาณ 4-5 ตัว และ ทราบว่ากมึกชนิดดังกล่าวนานๆ จึงจะรับได้สักครั้ง โดยชาวประมงจะเรียกกันว่าหมึกจีน ซึ่งไม่ทราบชื่อที่แน่ชัด

ล่าสุด นายเจริญไชย ศรีสุวรรณ์ ประมงจังหวัดกระบี่ เปิดเผยถึงชื่อของหมึกดังกล่าวว่า สำหรับหมึกชนิดดังกล่าวได้สอบถามไปยังนักวิชาการกรมประมงทราบว่า หมึกชนิดดังกล่าวเรียกว่า หมึกไดมอนด์ (อังกฤษ: Diamond squid, Diamondback squid; ชื่อวิทยาศาสตร์: Thysanoteuthis rhombus) เป็นหมึกประเภทหมึกกล้วยชนิดหนึ่ง

โดยหมึกไดมอนด์ เป็นหมึกกล้วยที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง สามารถโตเต็มที่ยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร และมีน้ำหนักได้มากถึง 30 กิโลกรัม แต่น้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 20 กิโลกรัม หมึกไดมอนด์เป็นหมึกน้ำลึก อาศัยอยู่ในระดับน้ำที่มีความลึกกว่า 200 เมตร นับเป็นหมึกที่ไม่ค่อยจะพบเห็นได้บ่อยนัก


https://mgronline.com/south/detail/9...10322?tbref=hp


******************************************************************************************************


"ยักษ์ใหญ่" โผล่ต้อนรับนักท่องเที่ยวกลางทะเลเกาะพะงัน



สุราษฎร์ธานี - ขวัญใจนักท่องเที่ยว "วาฬบรูด้า" ไม่ทำให้ผิดหวัง ว่ายน้ำอวดโฉมบริเวณทะเลเกาะพะงัน เจ้าหน้าที่วอนเรือนำเที่ยวควรดูอยู่ห่างๆ

กลายเป็นขวัญใจของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่มีโอกาสได้พบกับยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล ?วาฬบรูด้า? ที่มักจะว่ายน้ำเข้ามาหากินใกล้ๆ กับเรือที่พานักท่องเที่ยวชมความสวยงามของทะเล

ล่าสุด วันนี้ (4 ก.พ.) นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวทางทะเลกับเรือลมหลัก ของบริษัทเรือเร็วลมพระยา เมื่อเรือผ่านบริเวณเกาะแตนอก อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ได้พบ "วาฬบรูด้า" ขนาดใหญ่ ที่โผล่ขึ้นมาอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวได้รับชมกันอย่างใกล้ชิด

การพบวาฬบรูด้าในทะเลบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเกาะพะงัน ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งประสานถึงเรือประมงเรือท่องเที่ยวและผู้ประกอบการควรเว้นระยะห่างในการรับชม ไม่ให้เข้าไปใกล้จนเกินไป และต้องเดินเรือด้วยความระมัดระวัง


https://mgronline.com/south/detail/9670000010370

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 05-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


อาจารย์ธรณ์ ชี้เหตุ! "หญ้าทะเล" ที่ตรัง-กระบี่ หายไปเพราะโลกเดือดกระทบ "พะยูน"



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดต่อเนื่องมา 2-3 ปี คือความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ตรัง/กระบี่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์ทะเลหายาก อย่างพะยูน

อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ขอเกริ่นสั้นๆ ว่าในช่วงที่ผ่านมา หญ้าทะเลในหลายพื้นที่ลดลงอย่างเห็นแล้วใจหาย

ผมเคยเล่าถึงแหล่งหญ้าบางแห่งในภาคตะวันออกที่หายไปกับตาในช่วงเวลาแค่ไม่ถึงปี ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นผลทั้งจากมนุษย์และจากธรรมชาติ ยังรวมถึงผลกระทบจากโลกร้อนทะเลเดือด

แหล่งหญ้าแต่ละแห่งอาจได้รับผลต่างกัน เช่น ตะกอนทับ โรค (ซึ่งต้องพิสูจน์) การเปลี่ยนทิศกระแสน้ำ ฯลฯ แต่ที่รุนแรงต่อเนื่องคือแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดของบ้านเรา ตรัง/กระบี่

พื้นที่หญ้าทะเลหลายหมื่นไร่ มีความหมายมากมายต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและการทำมาหากินของพี่น้อง

ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์หายาก โดยเฉพาะพะยูนกว่า 70% ของไทยอยู่ในบริเวณนั้น

หากดูจากภาพใหญ่ เราพอแบ่งช่วงหญ้าโทรมได้เป็น 2 กลุ่ม

ช่วงแรกเกิดปี 64-65 บริเวณอ่าวทุ่งจีน ทางใต้เกาะลิบง สมมติฐานคืออาจเกิดจากกิจกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่แถวนั้น ทำให้ตะกอนลอยมา

แต่กลุ่มสองเริ่มปลายปี 65 ต่อเนื่องถึง 66 จนปัจจุบัน หนนี้คลุมพื้นที่กว้างมากตลอดแนวชายฝั่งตรัง ยังเริ่มลามเข้าไปสู่บางพื้นที่ในจังหวัดกระบี่

หญ้าที่โดนผลกระทบหนักคือหญ้าคาทะเล อันเป็นชนิดใหญ่ที่สุด มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อสัตว์น้ำและการกักเก็บคาร์บอน ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศ

เมื่อหญ้าชนิดนี้ลดลง ทำให้ตะกอนในพื้นที่เปลี่ยนไป สภาพระบบนิเวศเปลี่ยนตาม ผลกระทบจึงรุนแรงต่อ ecosystem service เทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง

แปลง่ายๆ คือประโยชน์ของระบบนิเวศที่มีต่อสัตว์น้ำและผู้คนจะลดลงเฉียบพลัน


ตัวอย่างแสนง่ายคือพะยูนจะกินอะไร ?

แม้พะยูนกินอย่างอื่นได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่หญ้าทะเลคืออาหารหลัก มีข่าวว่าปลายปีก่อน/ต้นปีนี้ มีพะยูนจากไปแล้ว 3 ตัว แม้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการลดลงของหญ้าทะเลได้ชัดเจน แต่เริ่มมีสัญญานบ่งบอก

ในต่างประเทศ หญ้าทะเลที่ลดลงในฟลอริดา ทำให้มานาตี(ญาติพะยูน หางกลม) ในบางพื้นที่ลดลง 10% หรือกว่านั้น กรมทะเลจึงกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เราทราบก่อนที่จะเกิดปัญหา

ยังรวมถึงความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่จะน้อยลงแน่ หากระบบนิเวศเปลี่ยนไป จากหญ้าหนาทึบกลายเป็นพื้นทรายโล่งๆ ผลกระทบอีกประการที่เกิดขึ้นคือ Blue Carbon

แหล่งหญ้าทะเลคือเทพในการกักเก็บคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน แต่เมื่อเสื่อมโทรม ความสามารถในการกักเก็บย่อมน้อยลง
มีการศึกษาในต่างประเทศในเรื่องนี้ และผลออกมาน่าหวั่นใจเป็นอย่างมาก

หลายเปเปอร์สรุปคล้ายกัน โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจัยบางประการเปลี่ยนไป หญ้าไม่ออกเมล็ด เริ่มโทรม ความหนาแน่นลดลง ก่อนพื้นที่เริ่มหายไปเรื่อยๆ

โรคของหญ้าอาจเกิดง่ายขึ้น ทำให้เราต้องเริ่มศึกษาเรื่องนี้เป็นครั้งแรกๆ ในไทย เช่น การเพาะเชื้อที่ร่วมกันระหว่างคณะประมง/กรมทะเล (ดูภาพนะครับ)

ปัญหาคือความซับซ้อนของสาเหตุ หลายอย่างเกี่ยวข้องกัน การระบุให้แน่ชัดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากกว่านั้นคือการแก้ปัญหา
หากพื้นที่ได้รับผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เราอาจหยุดกิจกรรมดังกล่าว

แต่ถ้าเป็นพื้นที่ไม่มีกิจกรรมใด หญ้าดันตาย คราวนี้แหละครับคือเรื่องยาก เพราะเมื่อโลกร้อนทะเลเดือด สิ่งแวดล้อมแปรปรวน ระบุสาเหตุก็ยาก แก้ไขยิ่งยากกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงการจัดการที่ต้นทาง

แม้ต้นทางก็รู้ๆ กันอยู่ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ รู้กันมาหลายสิบปี แต่เรายังแก้ไขได้น้อยมาก

ที่น่าเจ็บใจคือเมื่อผลกระทบเกิดกับระบบนิเวศ คนที่เดือดร้อนกลุ่มแรกๆ คือคนที่อยู่อย่างพึ่งพาและพอเพียง ไม่ใช่เป็นคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ แต่เจอผลกระทบก่อนและเจอเยอะ

คำถามสำคัญคือเราควรทำอย่างไรในการช่วยแหล่งหญ้า พะยูน และผู้คน ?

คำตอบน่าเศร้า มันไม่ง่ายที่จะแก้ ที่เรามาประชุมกันยาวนานก็เพราะหาทางอยู่

แต่อย่าลืมว่าเราไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ เราแทบไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเจอโลกที่ร้อนฉ่าขนาดนี้ ไม่เคยเจออุณหภูมิน้ำสูงเป็นประวัติการณ์ หากผลจากโลกร้อนแก้ง่าย เราคงไม่กลัวกันเช่นทุกวันนี้


ข้อเสนออย่างแรกคือเรียนรู้อย่างจริงจัง เก็บข้อมูลให้มาก ศึกษาให้เยอะ นำข้อมูลหลายด้านมาเชื่อมต่อกันให้ได้ เราจำเป็นต้อง "ลงทุน" บุคลากร อุปกรณ์ งบประมาณอย่างเร่งด่วน

เหตุผลง่ายๆ ก็เหมือนกับเราต้องไปตรวจร่างกายเป็นประจำ มิใช่ป่วยหนักแล้วค่อยไปหาหมอ แต่เราละเลยมาจนเริ่มป่วยแล้ว เริ่มหนักแล้ว จะไปให้คุณหมอรักษา มันก็ไม่ง่ายแน่นอน

นักรักษาระบบนิเวศ หากปราศจากข้อมูล ก็เหมือนกับคุณหมอที่ยืนอึ้ง บอกว่าทำไมปล่อยให้ป่วยได้ถึงขนาดนี้

ผมกำลังพูดถึงหญ้าทะเลเป็นหมื่นๆ ไร่ เป็นงานที่แสนสาหัสแน่นอนจึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ถึงอาการป่วยหนักสำหรับแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งของบ้านเรา

ถึงตอนนี้ รู้สึกดีใจที่ตั้งหน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อนที่คณะประมง ขอบคุณท่านคณบดีและเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกัน ขอบคุณเพื่อนๆ ภาคเอกชนที่สนับสนุน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญ้าทะเลบางแห่งในฝั่งอันดามัน ทำให้ทราบแล้วว่าแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวไทยที่กำลังทำงานอยู่สำคัญมากๆ จะพยายามเต็มกำลังที่จะดูแลไว้ให้ได้

ฝากเพื่อนธรณ์ที่อยู่ริมทะเลหรือทำงานเกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าทะเลไม่ว่าแห่งใด กรุณาติดตามและปกป้องไว้

ผมพูดไว้วันนี้เลยว่า ในวันหน้า แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์จะหายากขึ้นเรื่อยๆ

กิจกรรมใดๆ ที่เกิดผลกระทบ สร้างตะกอนจำนวนมาก น้ำเสีย ฯลฯ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงที่สุดครับ


รู้หรือไม่! พะยูนช่วยกระจายเมล็ดหญ้าทะเล

พะยูน กินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลและความหลากหลายของแนวหญ้าทะเล เริ่มจากพฤติกรรมการกินหญ้าทะเลของพะยูน ที่จะไถกินทั้งใบและลำต้นใต้ดิน จึงทำหน้าที่เหมือนการตัดแต่ง พรวนดิน ขุดต้นหญ้าชุดเก่าออกไป เปิดโอกาสให้ลำต้นใต้ดินชุดใหม่ได้แตกงอกออกมาทดแทน ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้มีการแข่งขันระหว่างหญ้าชนิดต่างๆ จึงทำให้เกิดความหลากชนิดของหญ้าทะเล ยิ่งมีหญ้าทะเลหลากหลายชนิดก็ยิ่งมีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้นตามไปด้วย

พะยูนยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แพร่กระจายเมล็ดหญ้าทะเล เหมือนกับสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ในป่า เมล็ดหญ้าที่ถูกถ่ายออกมาจากพะยูนจะสามารถงอกได้ดีกว่าปกติ งานวิจัยจากออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้พบว่าในอึพะยูนทุกๆ 1 กรัมพบว่ามีเมล็ดหญ้าทะเลถึง 2 เมล็ด และราว 1 ใน 10 ของเมล็ดเหล่านี้มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกเป็นหญ้าต้นใหม่

ทั้งนี้ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า พะยูนกินหญ้าทะเลมากถึง 35 กิโลกรัมต่อวัน พะยูนจึงเป็นนักปลูกหญ้าทะเลตัวยง แถมยังช่วยใส่ปุ๋ยให้เสร็จสรรพด้วยการถ่ายมูลออกมา พะยูนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุสารอาหารในแนวหญ้าทะเล พะยูนต้องพึ่งพาแนวหญ้าทะเล แต่ขณะเดียวกันถ้าหญ้าทะเลขาดสัตว์อย่างพะยูนความสมบูรณ์ก็จะค่อยๆ ลดลง และย่อมส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงชุมชนชายฝั่งที่ต้องอาศัยหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9670000010274


******************************************************************************************************


"ดร.ธรณ์" โพสต์เศร้า "แม่ตายแล้ว" พวกเธอจะได้ลืมตาดูโลกหรือเปล่า รอลุ้น



พังงา - "ดร.ธรณ์" โพสต์เศร้า "แม่ตายแล้ว" แต่พวกเธอยังไม่รู้จะได้ออกมาสู่โลกในค่ำคืนนี้หรือเปล่า หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบหลุมฝังไข่เต่ามะเฟืองรังสุดท้ายของ "แม่ท้ายเหมือง" ก่อนถูกเชือกอวนรัดคอตายเริ่มยุบตัว คาดลืมตาดูโลกคืนนี้

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุข้อความว่า "พวกเธอคือลูกๆ ของแม่ท้ายเหมือง คือ เต่ามะเฟืองตัวน้อยๆ ที่กำลังจะเกิดบนหาดชื่อเดียวกับแม่ และเป็นที่ตายของแม่ เมื่อ 10 วันก่อน แม่ท้ายเหมืองติดลอบหมึกตาย ในท้องมีไข่กว่าร้อยฟอง ลูกเต่าเหล่านั้นไม่มีแม้โอกาส แต่ก่อนตายแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ไว้บนหาดแห่งนี้แหละ หาดชื่อเดียวกับเธอ ที่ฟูมฟักของลูกเธอ และที่ตายของเธอ

วันนี้หลุมเต่ายุบ ลูกแม่ตัวแรกส่ายหัวไปมา ทำทีท่าว่าจะออกมาสู่โลกในค่ำคืนนี้ พร้อมกับพี่น้องอีกหลายสิบ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีลูกเต่ามะเฟืองเกิดที่ชายฝั่งอันดามันกว่า 2 พันตัว แต่ไม่มีครั้งไหนเหมือนครั้งนี้ แม่ของพวกเธอตายแล้ว?

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการโพสต์ข้อความดังกล่าวออกไป ปรากฏว่ามีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และคืนนี้ (4 ก.พ.) เป็นคืนที่ลูกของแม่เต่า "ท้ายเหมือง" จะลืมตาออกมาดูโลก ทุกคนต่างอวยพรขอให้ลูกเต่าทั้งหมดปลอยภัย

สำหรับแม่เต่า "ท้ายเหมือง" เคยขึ้นมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมืองหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านพบซากเต่ามะเฟืองขนาดใหญ่ถูกเชือกอวนรัดคอและใบพานจนตาย และซากลอยมาติดชายหาดท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งสร้างความเสียใจให้เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านเป็นอย่างมาก เต่าเป็นสัตว์ทะเลหายาก

และที่ทำร้ายจิตใจของคนรักเต่ามากขึ้นไปอีกต้องพบกับเรื่องเศร้า เมื่อเจ้าหน้าที่นำซากเต่ามาผ่าพิสูจน์พบว่า ภายในท้องของ "แม่ท้ายเหมืองมีไข่เต่า จำนวนกว่า 100 ฟอง" ซึ่งคาดว่าในช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่แม่เต่ากำลังว่ายน้ำกลับมาที่ชายหาดเพื่อที่จะวางไข่เพิ่ม แต่มาถูกเศษอวนรัดจนตายก่อนที่จะมาถึงชายหาดด้วยซ้ำ


https://mgronline.com/south/detail/9670000010315

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 05-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


กรดในมหาสมุทรทำลายแนวปะการังหอยนางรม ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

ในระบบนิเวศชายฝั่งที่ซับซ้อน ภัยคุกคามจากการทำให้เป็นกรดในมหาสมุทรกลายเป็นพลังคุกคาม มันก้าวข้ามขอบเขต ทิ้งร่องรอยที่น่าวิตกแต่ยังคงน่าจดจำไว้ในแหล่งที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงหอยนางรมด้วย




Key points

- แนวปะการังหอยนางรมมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในการค้าขาย และเนื่องมาจากความสามารถในการปกป้องระบบนิเวศชายฝั่งได้

- หอยเหล่านี้ถูกคุกคามจากการทำให้เป็นกรดในมหาสมุทร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการสร้างแนวปะการังหอยนางรม และวิธีที่หอยสองฝาซึ่งมักถูกมองข้ามเหล่านี้ ซึ่งเป็นหอยที่มีเปลือกสองส่วนติดบานพับ มีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างไร

ในขณะที่ความเป็นกรดในมหาสมุทรทวีความรุนแรงมากขึ้น อนาคตของหอยนางรมก็แขวนอยู่บนความสมดุล และด้วยเหตุนี้ระบบนิเวศด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหานี้จะกำหนดให้ผู้กำหนดนโยบาย อุตสาหกรรม และผู้คนทั่วโลกต้องเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรและดำเนินการตามนั้น

หอยนางรมมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล แนวปะการังของพวกมันเป็นมากกว่ากลุ่มเปลือกหอย ทำหน้าที่เป็นรากฐานของความหลากหลายทางชีวภาพและให้ประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตรอบตัว แต่การรักษาเสถียรภาพของแนวชายฝั่งไปจนถึงการกรองน้ำ และการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด

แม้แต่แนวปะการังหอยนางรมสามารถลดการล่าถอยตามแนวชายฝั่งได้กว่า 40% และเพิ่มจำนวนประชากรของสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ปูม้า ได้ 297% และเพิ่มจำนวนได้ 79% ในอีกการทดลองหนึ่งที่ดำเนินการในรัฐลุยเซียนาของสหรัฐอเมริกา แนวปะการังหอยนางรมมีส่วนทำให้การกัดเซาะชายฝั่งลดลงโดยเฉลี่ย 1.07 เมตรต่อปีในพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะในระดับสูงหรือปานกลาง

หากใช้แทนอุปกรณ์รักษาเสถียรภาพแนวชายฝั่งที่มีราคาแพงซึ่งได้รับการออกแบบทางวิศวกรรม พื้นที่แนวปะการังหอยนางรมที่จัดวางอย่างเหมาะสมจะมีมูลค่าสูงถึง 85,998 ดอลลาร์ ตามผลการศึกษาทางวิชาการในปี 25

นอกจากจะปกป้องพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันมีค่าแล้ว หอยนางรมยังกำจัดไนโตรเจนออกจากน้ำ ป้องกันสาหร่ายที่เป็นอันตราย และทำให้ชายฝั่งของเราปลอดภัยและสนุกสนานยิ่งขึ้น หอยนางรมกินของเสียจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมถึงของเสียไนโตรเจนของมนุษย์จากปุ๋ย เป็นต้น การวิจัยแสดงให้เห็นว่า อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 6,716 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการกำจัดไนโตรเจนในปริมาณเดียวกับที่แนวปะการังหอยนางรมขนาด 1 เฮกตาร์จะย่อยได้

ข้อมูลของ World Economic Forum ระบุว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะจับมูลค่าทางการเงินได้เต็มที่ บางอย่างเช่น หอยนางรม ที่สามารถมอบให้กับระบบนิเวศได้ แต่มันเริ่มต้นด้วยสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่ถูกดึงดูดและอาศัยอยู่ในแนวปะการัง เมื่อพวกมันถูกสัตว์ใหญ่กิน พลังงานและสารอาหารจะไหลเวียนไปจนถึงห่วงโซ่อาหารเข้าสู่แหล่งประมง

แนวปะการังหอยนางรมปกป้องปลาเหล่านี้ การวิจัยแสดงให้เห็นว่าแนวปะการังหอยนางรม 1,000 ตารางเมตรสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกครัสเตเชียนหรือปลาขนาดใหญ่ประมาณ 2,600 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสามารถสร้างได้มากถึง 4,123 เหรียญสหรัฐต่อเฮกตาร์ของแนวปะการัง (มีสุขภาพดีต่อระบบนิเวศ) ต่อปีสำหรับอุตสาหกรรมประมง

การศึกษาเดียวกันจากปี 2012 ประเมินมูลค่าการเก็บเกี่ยวหอยนางรมโดยเฉลี่ยของแนวปะการังที่บริสุทธิ์ในรัฐนอร์ธแคโรไลนาและเวอร์จิเนียของสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 51,217 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์ (รวมกันทั้งหมดในปี 2554 ดอลลาร์) หรือ 17,072 ดอลลาร์หลังต้นทุนการเก็บเกี่ยว ในขณะเดียวกัน บริการระบบนิเวศที่จัดทำโดยแนวปะการังที่ไม่ได้รับการเก็บเกี่ยวมีมูลค่า 99,421 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์ต่อปี ตามการวิจัยนี้

แน่นอนว่าต้นทุนและมูลค่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมประมงจากการไม่ปกป้องแนวปะการังจากการเป็นกรดในมหาสมุทร การทำให้เป็นกรดในมหาสมุทรเกิดขึ้นเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินถูกดูดซึมเข้าสู่น้ำทะเล สิ่งนี้จะเพิ่มความเข้มข้นของอะตอมไฮโดรเจนเชิงบวกอิสระในมหาสมุทรและลดค่า pH ของน้ำ สิ่งนี้จะบ่อนทำลายโครงสร้างของแนวปะการังหอยนางรม

เปลือกหอยนางรมส่วนใหญ่ประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นสารประกอบที่ละลายได้ในสภาพแวดล้อมที่มีค่า pH ต่ำ เปลือกหอยนางรมมีแนวโน้มที่จะเสียหายได้ในระดับ pH ต่ำกว่า 7.2 ระดับ pH ในมหาสมุทรในปัจจุบันอยู่ที่ 8.1 และคาดว่าจะลดลงเหลือ 7.8 ที่พื้นผิวภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากแนวโน้มในปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง

หอยนางรมวัยอ่อนจะมีเปลือกที่เล็กกว่าและบางกว่า จึงมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อผลกระทบของกรดในมหาสมุทร สำหรับหอยนางรมที่ปลูกเปลือกป้องกันในสภาพแวดล้อมที่พวกมันพังทลายพร้อมกัน การก่อตัวของเปลือกหอยอาจถูกทำลายเนื่องจากการเป็นกรดในมหาสมุทร ขัดขวางการอยู่รอดของพวกมัน และอาจลดจำนวนประชากรหอยนางรมโดยรวมลง

การลดลงของประชากรหอยนางรมอาจส่งผลกระทบแบบต่อเนื่องต่อสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยแนวปะการังหอยนางรมเพื่อเป็นที่พักพิงและอาหาร ความสมดุลที่ละเอียดอ่อนของระบบนิเวศเหล่านี้กำลังตกอยู่ในอันตราย แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายแง่มุม และอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นซึ่งเกิดจากก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของเราในหลายๆ ด้าน

การศึกษาว่าต้นโกงกางส่งผลต่อแนวปะการังหอยนางรมอย่างไร แสดงให้เห็นอีกวิธีหนึ่งที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้ ป่าชายเลนถูกผลักดันไปทางขั้วโลกเนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และเทือกเขาทางเหนือของพวกมันตอนนี้ตัดกับแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยนางรม ป่าชายเลนซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ปัจจุบันเติบโตบนแนวปะการังและทำให้เป็นกรดในน้ำที่ต่ำกว่าระดับ pH 7.2 ที่หอยนางรมจำเป็นต้องเจริญเติบโต

การทำให้เป็นกรดในมหาสมุทรอาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมประมง เนื่องจากระดับการจับที่ลดลง การผลิต และอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นของสิ่งมีชีวิตในทะเล ผลกระทบระลอกคลื่นอาจขยายไปสู่งาน ธุรกิจ และเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม สำหรับหอยนางรมโดยเฉพาะ เปลือกหอยที่อ่อนแอและบางลงเนื่องจากการทำให้เป็นกรดทำให้พวกมันอ่อนแอต่อความเสียหายจากสัตว์นักล่า ปรสิต และความเครียดจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสียหายระหว่างการจัดการ การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียเพิ่มเติม

อุตสาหกรรมหอยอาจเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ความพยายามในการบรรเทาผลกระทบของการทำให้เป็นกรดในมหาสมุทร เช่น การปรับวิธีปฏิบัติในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการพัฒนาพันธุ์หอยนางรมที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จำเป็นต้องมีการลงทุนและการวิจัยจำนวนมาก หอยนางรมยังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายกันทั่วโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของจำนวนหอยนางรมและคุณภาพอันเนื่องมาจากความเป็นกรดในมหาสมุทรอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าในท้องถิ่นและระหว่างประเทศ

การกระทำของเรามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมหาสมุทรของเรา เช่นเดียวกับตัวเราด้วย การระบุถึงต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลงทุนในกลยุทธ์การปรับตัว อย่างการสร้างแนวปะการังในปัจจุบัน ในขณะที่พวกมันยังสามารถดำรงอยู่ได้และทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เราไม่เพียงแต่ปกป้องชายฝั่งของเราเท่านั้น แต่ยังรับประกันความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย และเศรษฐกิจรุ่นต่อๆ ไป


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1111223

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 05-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ส่อหายนะ "หญ้าทะเล" อาหารพะยูนเสื่อมโทรม 5,000 ไร่



สถานการณ์วิฤตหญ้าทะเลที่ จ.ตรัง ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เริ่มประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นการตั้งคณะชุดแรก นับตั้งแต่เกิดปัญหาปี 2562 จนถึงวันนี้ยังหาวิธีป้องกันและฟื้นฟูไม่ได้

"ถ้าตะกอนยังสะสมเรื่อยๆ ยังไม่เซ็ตตัว ไม่นิ่งการฟื้นฟูยังคงยาก ทช.ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่ขุดลอกว่า ขอความร่วมมือว่าอย่าทิ้งตะกอนในทะเล และเขาเริ่มหยุดตั้งแต่ปี 2564"

นายสันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สะท้อนถึงปัญหา

ข้อสันนิษฐานแรก ของภาวะหญ้าทะเลเสื่อมโทรมใน จ.ตรัง คือ โครงการขุดลอกร่องน้ำกันตัง เพื่อสนับสนุนการเดินเรือ และการพัฒนาภาคธุรกิจภาคใต้ แม้จะมีการชะลอโครงการไปตั้งแต่ปี 2565 เพื่อรอผลศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ยังไม่ชัดเจน นักวิจัยจึงต้องเก็บตัวอย่างดินต่อเนื่อง

อ่าวขาม อยู่หน้าท่าเรือปากเมง การสำรวจหญ้าทะเลเมื่อปี 2564 พบกระจายตัวกว่า 500 ไร่ แต่ปีที่แล้ว พบจุดเสื่อมโทรมบริเวณสามเหลี่ยมสีเหลืองถึง 6 จุด จากการสำรวจเดิมที่พบหญ้าทะเลแน่นเต็มพื้นทราย

หญ้าคาทะเลมีลักษณะใบขาดสั้น ช่วงปลายมีสีเหลืองและเริ่มอ่อนแอ มีเพียงหญ้ากุยช่ายทะเล ที่ยังพอเติบโตได้

ทั้งนี้พะยูน 188 ตัวในทะเลตรัง อาจจะไม่เป็นปัญหามากนัก กับพื้นที่หญ้าทะเลกว่า 20,000 ไร่เมื่อคำนวณต่อตัว จะกินหญ้าทะเลวันละประมาณ 1.5 กิโลกรัมฝูงพะยูนเหล่านี้ ถูกบันทึกภาพไว้ช่วงเดือนก.พ.2566 บริเวณเกาะมุก - แหลมหยงหลำ

อีกข้อสงสัยหนึ่ง คือ การเพิ่มจำนวนของเต่าตนุ มูลนิธิอันดามัน เคยยื่นข้อเสนอให้ทุกหน่วยงาน ยุติการปล่อยเต่าตนุในทะเลตรังแล้วเมื่อปีก่อน และนับจำนวนเพื่อวัดค่าความสมดุลในพื้นที่ ตรงนี้เคยมีหญ้าทะเลกว่า 10,000 ไร่ แต่พบว่าหญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมไปแล้วเกือบ 7,000 ไร่

โรคระบาดในหญ้าคาทะเล ก็อีกข้อสันนิษฐานที่มองข้ามไม่ได้ แม้ในทะเลไทยยังไม่เคยพบรายงาน ตอนนี้นักวิชาการ ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมวิจัยเพื่อหาคำตอบ

รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง ม.เกษตรฯ กล่าวว่า ไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคนี้ ในประเทศไทย หญ้าทะเลอาจเพิ่มขึ้นลดลงตามฤดูกาล แต่ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่หายไปเลยในออสเตรเลียเคยมีการเกิดโรคนี้ แต่ยังไม่ชัดเจนถือเรื่องใหม่ของเรา

ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นของหญ้าทะเล ไม่สามารถปลูกใหม่ เพื่อทดแทนได้ หากตะกอนดินที่ไม่สามารถระบุที่มา ยังไม่หยุดการทับถม พื้นที่เสียหายลุกลามไปถึงทะเลกระบี่ตอนล่าง ที่อาจส่งผลต่อการย้ายถิ่นของพะยูน และเสี่ยงต่อการสูญหายของอาชีพประมงชายฝั่งบางชนิด


https://www.thaipbs.or.th/news/content/336666


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:16


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger