#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 18 ? 23 ก.พ. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 18 ? 19 ก.พ. 67 ทำให้ภาคเหนือจะมีอุณหภูมิลดลง 2 ? 3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วยตลอดช่วงรวมทั้งระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่าในช่วงวันที่ 17 - 18 ก.พ. 67
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
"สะพานข้ามกาลเวลา" ย้อนอดีตสู่ยุคดึกดำบรรพ์ ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา การได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็น "อุทยานธรณีโลกสตูล?" (Satun UNESCO Global Geopark) ในปี พ.ศ. 2561 ช่วยย้ำความสำคัญและความหลากหลายด้านธรณีวิทยาของจังหวัดสตูลได้เป็นอย่างดี โดยหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเข้าไปเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างสะดวกสบายใกล้ชิด คือ "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา" อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกาทะเลอันดามัน ในคาบมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล และ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง บริเวณที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อยู่ในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ติดริมทะเล มีทัศนียภาพของอ่าวนุ่น หรืออ่าวปอ ซึ่งมีภูมิทัศน์ของเวิ้งอ่าวสวยงามเป็นวงโค้ง มีภูเขาสูงร่มรื่นด้วยแมกไม้เป็นฉากหลัง มองไปในทะเลเห็นหมู่เกาะต่างๆอยู่ไกลลิบๆ พร้อมทั้งเรือประมงท้องถิ่นจอดเรียงรายอยู่ท่ามกลางน้ำทะเลสีเขียวมรกต จุดขายของอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายจุด โดยเฉพาะเกาะจำนวน 22 เกาะ ที่ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ เช่น เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ ฯลฯ ซึ่งมีรูปร่างแปลกตาเป็นโพรง ถ้ำ หลุมยุบ หน้าผาสูงชัน แต่มีจุดขายสำคัญอีกแห่งในอุทยานฯ ที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาชมได้ตลอดทั้งปีแบบเดย์ทริป โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพคลื่นลมฤดูมรสุม รวมทั้งไม่ต้องล่องเรือไปไกล เที่ยวได้ทุกวัย สถานที่นั้น คือ "สะพานข้ามกาลเวลา" ในพื้นที่เขาโต๊ะหงาย "สะพานข้ามกาลเวลา" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นทางเดินริมทะเลเพื่อศึกษาธรณีวิทยากับธรรมชาติเลียบชายฝั่ง เป็นส่วนหนึ่งของเขาโต๊ะหงายหน้าผาริมทะเลที่สูงชัน ซึ่งมีปรากฏการณ์ธรรมชาติปรากฏอยู่ในบริเวณช่วงหนึ่งของหน้าผากับการชนกันหรือรอยสัมผัสของหิน 2 ยุค อุทยานฯ ได้สร้างสะพานคอนกรีตแข็งแรง เป็นทางเดินเลียบชายฝั่ง เรียกว่า สะพานข้ามกาลเวลา เพื่อเป็นแหล่งธรณีวิทยาประเภทแหล่งธรณี โครงสร้างประเภทรอยเลื่อนที่เป็นรอยต่อระหว่างหินในยุคแคมเบรียน (542-488 ล้านปี) กับยุคออร์โดวิเชียน (488-444 ล้านปี) โดยข้อมูลจากสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนสตูล ระบุว่า ลักษณะของแหล่งธรณีวิทยาจุดนี้ เสมือนเป็นรอยต่อของช่วงเวลามีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนของหินในยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ในบริเวณนี้นอกจากเห็นรอยต่อแล้ว ยังพบการเกิดของหินย้อยที่มีลักษณะเป็นหินปูนฉาบ (flow stone) ที่สวยงามเป็นประกายระยิบระยับ ซึ่งเกิดจากการสะท้อนของแสงไฟที่กระทบหน้าผลึกแร่แคลไซต์ ลักษณะธรณีวิทยา เป็นรอยต่อของหินทรายและหินดินดานสีแดงในกลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียน กับหินปูนสีเทาดำในกลุ่มหินทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน โดยเป็นรอยต่อแบบรอยเลื่อน (fault contact) โดยแนวของรอยเลื่อนมีทิศทางใกล้เคียงกับทิศทางการวางตัวของชั้นหิน ดังนั้น การเดินไปตามสะพานชมธรรมชาติแห่งนี้ จะได้สัมผัสประสบการณ์การเดินเท้าที่เสมือนนำตัวเราก้าวเข้าไปสู่ยุคดึกดำบรรพ์เมื่อหลายล้านปีก่อน โดยมีจุดถ่ายภาพของเนินผา ชั้นหินต่างๆ ขนานไปกับสีมรกตของผืนน้ำทะเลจังหวัดสตูล https://mgronline.com/travel/detail/9670000014677
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
น้ำคลองสีชมพู! ผลตรวจออกแล้วสยองทีเดียว อว.ใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 600 เท่าส่อง ผลตรวจออกแล้ว น้ำในคลองบางแพรก หลังห้างค้าปลีก สาขาติวานนท์ เป็นสีชมพู กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 600 เท่า วันที่ 17 ก.พ.2567 จากกรณีบริเวณคลองบางแพรก หลังห้างค้าปลีก สาขาติวานนท์ ปรากฏว่าน้ำในคลองเป็นสีชมพู ทำประชาชนพากันหวาดกลัว ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดเรื่องนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ผลออกมาแล้ว โดยผลการตรวจวิเคราะห์น้ำสีชมพูโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Compound light microscope) กำลังขยาย 600 เท่า พบว่ามีจุลินทรีย์สีชมพูอยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นแบคทีเรียซัลเฟอร์สีม่วง (purple sulfur bacteria) ทำให้มองเห็นเป็นสีชมพู โดยแบคทีเรียซัลเฟอร์สีม่วงเป็นแบคทีเรียแบบไม่ใช้ออกซิเจน มักพบในสภาพแวดล้อมของน้ำที่มีการแบ่งชั้น รวมถึงน้ำพุร้อน และแหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งน้ำในคลองบางแพรกมีสภาพเป็นน้ำนิ่งเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อน้ำในคลองบางแพรกมีสภาพไร้อากาศ หรือมีความสกปรกสูงจึงเป็นสภาวะที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรียซัลเฟอร์สีม่วงโดยจะใช้กรดอินทรีย์ในน้ำเสียและไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นอาหาร รวมทั้งใช้แสงแดดในการสังเคราะห์พลังงาน โดยแนวทางแก้ไขออกซิเจนในคลองบางแพรกควรติดตั้งเครื่องเติมอากาศ หรือลดภาระความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์ในคลองบางแพรก เช่น การควบคุมแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ทิ้งลงคลองฯให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกิจกรรมนั้น ๆ ในด้านของประชาชน แนะนำห้ามสัมผัส ห้ามอุปโภค บริโภค จับสัตว์น้ำภายในคลองนี้ไปบริโภคโดยเด็ดขาด และหลังจากนี้ วศ.จะร่วมประชุมกับหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป ขอบที่มา เพจเฟซบุ๊ก INFO Thailand https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_8101244
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
โลกของเราเคยเกิดการสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง มีสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปมากกว่า 70-95% ซึ่งสาเหตุมาจากการที่อุณหภูมิของโลกเย็นจัด ร้อนจัด อุกกาบาตพุ่งชน แล้วการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ ? Key Point : - โลกของเราเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไปแล้วกว่า 5 ครั้ง และครั้งย่อยๆ อีกหลายครั้ง ในแต่ละครั้งเราสูญเสียสิ่งมีชีวิตบนโลกไปกว่า 70-95% - Cycle ของการสูญสลายในแต่ละยุคเกิดขึ้นจากอากาศที่เย็นสุด หรือ ร้อนสุด และหลังจากนั้นโลกจะกลับสู่สมดุล เกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ขึ้น - ปัจจุบันเราพูดถึงปัญหาโลกร้อน แต่รู้หรือไม่ว่า โลกเราเคยร้อนกว่านี้กว่า 10 องศา เกิดคำถามว่า เราจะเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 หรือไม่ และเมื่อไหร่ ? อดีตโลกเราเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง และครั้งย่อยๆ อีกหลายครั้ง ทว่าแต่ละครั้งของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะเกิดเมื่ออุณหภูมิของโลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะร้อนสุดหรือเย็นสุด และในอนาคต ยังอาจมีแนวโน้มที่จะเจอการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีก แม้ว่าจะยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกกี่ล้านปีข้างหน้า ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า จากการศึกษา พบว่า ตั้งแต่โลกเกิดมาจนปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลของโลกจะเป็น Cycle ขึ้นสูงสุด ลงต่ำสุด แสดงว่าโลกเราจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งสลับกับโลกร้อนเรื่อยๆ และตอนนี้เราอยู่ช่วงปลายยุคน้ำแข็ง ซึ่งน้ำแข็งยังละลายไม่หมด "จากหลักฐานในอดีต พบว่า จะมีช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดจากการที่น้ำแข็งละลายทั้งหมด แสดงว่ามีโอกาสที่โลกจะร้อนขึ้น จนน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ละลายหมด หากถึงตอนนั้นอุณหภูมิก็จะสูงและร้อนกว่านี้ สิ่งมีชีวิตบางชนิดน่าจะทนไม่ได้และสูญพันธุ์" การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ 5 ครั้ง ของโลก ทั้งนี้ จากอดีตโลกเกิดการสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 1-3 ห่างกันครั้งละประมาณ 100 ล้านปี ครั้งที่ 3-4 ห่างกัน 50 ล้านปี ครั้งที่ 4-5 ห่างกันราว 150 ล้านปี สูญพันธุ์ยุคแรก เกิดเพราะความหนาว การสูญพันธุ์ครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นใน "ยุคออร์โดวิเชี่ยน -ไซลูเรียน" ราว 445 ล้านปีที่แล้ว เนื่องจากอากาศหนาว เข้าสู่ยุคน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว พออุณหภูมิของโลกลดลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สิ่งมีชีวิตในช่วงนั้นตายไป 85% เมื่อน้ำในโลกก็กลายเป็นน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลลดลง สัตว์ในช่วงยุคนั้นส่วนมากอยู่ในทะเล และส่วนใหญ่ชอบทะเลที่ตื้นและอบอุ่น แสงแดดส่องถึง เพราะฉะนั้น พอหนาว ระดับน้ำทะเลลดลง ตรงที่เคยเป็นทะเลตื้นก็กลายเป็นชายหาด ส่วนที่เป็นทะเลลึกก็กลายเป็นทะเลตื้น ทำให้สิ่งมีชีวิตตายลงเกิดเพราะความหนาว สูญพันธุ์ครั้งที่ 2 ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก หลังจากนั้น เข้าสู่ "ยุคดีโวเนียน" ประมาณ 100 ล้านปีต่อมา เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 2 จากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ 70% คล้ายกับตอนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ แต่ยุคนั้นยังไม่มีสัตว์บก มีเพียงสัตว์ทะเล มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า "แล้วสัตว์ทะเลสูญพันธุ์ได้อย่างไร ?" ผศ.นุศรา อธิบายว่า เนื่องจากเกิดการระเบิดรุนแรง เกิดฝุ่นควัน แก๊สพิษ ในชั้นบรรยากาศ เกิดไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟระเบิด มีขี้เถ้าบนชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่สักพัก ฝุ่นควันพวกนี้จะบดบังแสงอาทิตย์ ทำให้แสงแดดส่องมาลงมาไม่ถึงพื้นโลก โลกจะเย็นขึ้นเรื่อยๆ เกิดยุคน้ำแข็งอีก เพราฉะนั้น สิ่งมีชีวิตในทะเลจึงสูญพันธุ์ไปกว่า 70% "แต่ทุกครั้งหลังการสูญพันธุ์ พอโลกเราปรับตัวเข้าสู่สมดุลครั้งใหม่ จะเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้น ของเก่าตายไป ของใหม่เกิดขึ้น อย่างครั้งแรกที่เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ พอโลกปรับตัวเขาสู่สมดุล เข้ายุคดีโวเนียน ก็เกิดพืชบก และสัตว์บกขึ้นมา จากก่อนหน้านี้ไม่มีสิ่งมีชีวิตบนบก เช่น สัตว์เลื้อยคลาน แมลงมีปีก ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ โลกจะมี Cycle แบบนี้อยู่" สูญพันธุ์ครั้งที่ 3 เปลือกโลกเคลื่อน การสูญพันธุ์ครั้งที่ 3 เกิดอีกประมาณ 100 ล้านปีต่อมา ในช่วงปลาย ยุคเพอร์เมียน -ไทรแอสซิก แต่ครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะสิ่งมีชีวิตของโลกหายไปกว่า 95% เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ แตกออกจากกัน พอแตกทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ภูเขาไฟระเบิดหลายลูกทั่วโลก เกิดฝุ่น ควัน แก๊สพิษในชั้นบรรยากาศ และไฟไหม้ป่าตามมา อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เรียกว่า การเกิด Global Warming ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์มากกว่า Global Cooling เป็นเหตุผลว่า พอสิ้นสุดยุคเพอร์เมียน สิ่งมีชีวิตจึงสูญพันธุ์เยอะมาก สูญพันธุ์ครั้งที่ 4 ภาวะโลกร้อน เมื่อโลกปรับตัวเข้าสู่สมดุลครั้งใหม่ เข้าสู่ "ยุคไทรแอสซิก-จูแรสซิก" สิ่งมีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น คือ ไดโนเสาร์ ก่อนหน้านี้ไม่มีมาก่อน ในช่วงกลางของยุคไทรแอสซิก ก็เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ขึ้นมาอีก จาก Global Warming รอบนี้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปอีก 76% แต่ก็ยังคงมีวิวัฒนาการต่อมา สูญพันธุ์ครั้งที่ 5 ยุคไดโนเสาร์หายไป เข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 5 ช่วงสิ้นสุด "ยุคครีเทเชียส?พาลิโอจีน" มีดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ชนโลก ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และเป็นยุคที่ไดโนเสาร์หายไปหมดโลก รวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ก็สูญพันธุ์ไปด้วย เช่น แอมโมไนต์ เป็นสาเหตุให้สิ่งที่มีชีวิตในโลกหายไปราว 80% "พอโลกปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทำให้มีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เกิดขึ้นมาอีก เช่น พืชดอก และสัตว์ชนิดใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมีหน้าตาคล้ายสัตว์ในยุคปัจจุบัน และตั้งแต่สิ้นสุดยุคครีเทเชียส?พาลิโอจีน 65 ล้านปีที่แล้ว โลกเราก็ยังไม่เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีก แต่เราอาจจะเห็นร่องรอยของการสูญพันธุ์ครั้งเล็กๆ สัตว์บางชนิดหายไป อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนบ้าง เพราะในช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ โลกร้อน โลกเย็น สลับกันไปเรื่อยๆ" ตัวอย่าง สัตว์สูญพันธุ์ไปแล้ว ไทรโลไบต์ (Trilobite) จะมีชีวิตอยู่ในโลกค่อนข้างนานกว่า 300 ล้านปี แต่มีสปีชีส์เป็นร้อย ซึ่งมีการปรับตัวอยู่เรื่อยๆ เป็นสัตว์กลุ่มแมลงชนิดหนึ่ง คลานอยู่ตามพื้นทะเล แต่พอมีหลายร้อยสปีชีส์ ทำให้มีบางสปีชีส์หายไปจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ บางสปีชีส์ก็ยังคงอยู่ และสูญพันธุ์ในยุคเพอร์เมียน หรือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 นั้นเอง โดยสัตว์ชนิดนี้หน้าตาคล้ายแมงดาทะเล ตัวเป็นปล้องๆ มีขา ขนาดตั้งแต่ไม่ถึงเซนติเมตร - 1 ฟุต แกรปโตไลต์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ อยู่ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตแบบลอยอยู่ในน้ำทะเลเฉยๆ ให้น้ำทะเลพาไปมา เป็นแพลงตอนชนิดหนึ่ง อยู่ในทะเลลึก แกรปโตไลต์อายุจะสั้นกว่า ไทรโลไบต์ อยู่บนโลกประมาณ 100 ? 150 ล้านปีก็สูญพันธุ์ไป รวมถึง ไดโนเสาร์ ที่อยู่ในโลกกว่า 200 ล้านปี และสูญพันธุ์ไปเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนโลก "อย่างไรก็ตาม ระหว่างทาง มีการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการอยู่ตลอด ปรับเปลี่ยนสปีชีส์ รูปร่างเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางชนิดสูญพันธุ์ไปบ้างระหว่างทาง บางสายพันธุ์ก็อาจจะอยู่ได้ แต่พอเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ก็หายไปทั้งหมด และในอนาคต หากเราสูญพันธุ์ไปแล้วกลายเป็นฟอสซิล หากคนในอนาคต หรือสิ่งมีชีวิตในอนาคตมาศึกษาเรา เขาอาจจะจัดกลุ่มเราอยู่ในกลุ่มเดียวกับลิงก็ได้ เพราะโครงสร้างเหมือนกัน" ผศ.นุศรา กล่าว โลกเคยร้อนกว่านี้ ทั้งนี้ หากดูจาก Cycle ของโลก โลกเราจะมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา ร้อน เย็น สลับกัน ยุคน้ำแข็งและยุคโลกร้อนจะสลับกันอยู่ ตลอดช่วงธรณีกาลหรือ 4,600 ล้านปี ตั้งแต่โลกเกิดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมาก หรือเย็นลงมาก ผศ.นุศรา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน เราอยู่ห่างจากการสูญพันธุ์ยุคที่ 5 มาแล้ว 65 ล้านปี วันนี้เพิ่งผ่านการสูญพันธุ์ครั้งที่ 5 มา 65 ล้านปี ปัจจุบัน อุณหภูมิอยู่ในช่วงลดลง มันเคยสูงมากกว่านี้ถึง 10 องศา น้ำทะเลเคยขึ้นสูงกว่านี้ ในช่วง 3,500 ปีที่แล้ว น้ำทะเลสูงกว่านี้แสดงว่าโลกเราเคยร้อนกว่านี้ "อุณหภูมิค่อนข้างเหวี่ยงกลับไปกลับมา เช่น ช่วง 50 ล้านปีที่แล้ว หรือ 30 ล้านปีที่แล้ว อ่าวไทยไม่มีน้ำทะเล เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน เรียกว่า ซุนดาแลนด์ พอโลกร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้กลายเป็นอ่าวไทย ความลึกประมาณ 2-3 กิโลเมตร เพราะโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากแผ่นดินทรุดตัวทำให้อ่าวไทยมีความลึกขึ้น" นอกจากนี้ หลักฐาน "ฟอสซิลวาฬอำแพง" (ค้นพบในช่วงปลายปี 2563 ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร) บ่งบอกว่า แต่ก่อนพื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อน แปลว่าชายฝั่งก็ต้องอยู่ไกลออกไปอีก พอโลกเย็นลง ระดับน้ำทะเลลดลง จนชายฝั่งอยู่ตำแหน่งปัจจุบัน ดังนั้น ความจริงตอนนี้โลกกำลังเย็นลงและจะค่อยๆ ร้อนขึ้น แต่ยังไม่ถึงระดับสูงสุด อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา ก็กระทบสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าจะมีอะไรสูญพันธุ์ไปมากกว่านี้หรือไม่ ผศ.นุศรา อธิบายว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับการปรับตัว อย่างที่เราเห็นว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ค่อนข้างปรับตัวได้เร็ว เช่น ไวรัส แต่บางชนิดก็ปรับตัวได้ช้า แค่อุณหภูมิของโลกเปลี่ยน 1-2 องศาก็ตาย เช่น ปะการัง ตอนนี้เมื่อโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1-2 องศา เกิดปะการังฟอกขาว และตายไปหลายสายพันธุ์ อาจไม่สูญพันธุ์ทั้งหมด แต่สายพันธุ์ไหนปรับตัวได้ก็ยังคงอยู่ โลกจะสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกหรือไม่ ผศ.นุศรา กล่าวว่า ยังอาจมีแนวโน้มที่จะเจอการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีก แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นในเวลาใด เพราะในช่วงธรณีกาลเราพูดกันเป็นหลักล้านปี การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในอดีตแต่ละยุค ห่างกันกว่า 100 ล้านปี แต่ต้องไม่ลืมว่าในอดีตไม่มีมนุษย์ แต่ปัจจุบันมีมนุษย์ อดีตคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มขึ้นจากไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด หรือเพราะอุกกาบาตชนโลก แต่ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ เป็นคนเปลี่ยนระบบนิเวศ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนหลายอย่าง เพราะฉะนั้น จะเกิดขึ้นอีกกี่ปี จึงไม่สามารถทำนายได้ แต่หากปล่อยให้โลกเป็นไปแบบธรรมชาติ ไม่มีมนุษย์ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีการใช้พลังงานฟอสซิลโลกก็ต้องปรับ และไปตาม Cycle แต่พอมีมนุษย์มันอาจจะเกิดเร็วขึ้นหรือช้าลง หากคิดวิธีที่ป้องกันแก้ไข บรรเทาให้มันเกิดช้าลงก็อาจจะเป็นไปได้ "อย่างไรก็ต้องเกิด แต่อีกกี่ปีไม่สามารถบอกได้ เพราะใช้เวลานานกว่าล้านปี" https://www.bangkokbiznews.com/environment/1113702
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'มีเทน' ตัวการ 'ก๊าซเรือนกระจก' รั่วไหลจาก 'บ่อขยะ' 1,200 ครั้งทั่วโลก ข้อมูลจากดาวเทียมชี้ "ก๊าซมีเทน" หนึ่งใน "ก๊าซเรือนกระจก" ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รั่วไหลรุนแรงจาก "บ่อขยะ" กว่า 1,200 ครั้ง ซึ่งเกิดจากการไม่แยกขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ซากพืช ออกก่อนทิ้งขยะ ผู้เชี่ยวชาญชี้ต้องรีบแก้ไข "ปัญหาขยะ" ก่อนสายเกินแก้ สำนักข่าว The Guardian เปิดเผยการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมทั่วโลก พบว่าเกิดการรั่วไหลของ ?ก๊าซมีเทน? เป็นหนึ่งใน ?ก๊าซเรือนกระจก? ตัวการที่ทำให้เกิด ?ภาวะโลกร้อน? จากบ่อขยะมากกว่า 1,000 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2019 โดยประเทศที่พบการรั่วไหลของก๊าซมีเทนจากประเทศในเอเชียใต้ทั้ง ปากีสถาน อินเดีย และบังกลาเทศ ตามมาด้วย อาร์เจนตินา อุซเบกิสถาน และสเปน ซึ่งเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนจากบ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบขยะจะปล่อยก๊าซมีเทนเมื่อขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ไม้ การ์ด กระดาษ และซากพืชซากสัตว์ ย่อยสลายโดยไม่มีออกซิเจน ซึ่งมีเทนสามารถดักจับความมร้อนในชั้นบรรยากาศได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 86 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้ได้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลุมขยะที่ไม่มีการจัดการที่ดีจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2050 หากประชากรในเมืองจะยังเพิ่มขึ้น และไม่สามารถหลีกเลี่ยงพิบัติทางธรรมชาติได้เลย ข้อมูลใหม่นี้ระบุว่าตั้งแต่ปี 2019 จนถึง มิถุนายน 2566 มีการปล่อยก๊าซมีเทนครั้งใหญ่จากหลุมขยะ 1,256 ครั้ง ก๊าซมีเทน ตัวการใหญ่ปัญหาโลกร้อน การปล่อยก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2007 และคิดเป็น 1 ใน 3 ทั้งหมดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลกในปัจจุบัน และยังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ นอกจากจะเกิดจากบ่อขยะแล้วยังมีเกิดในธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำ ประเด็นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่า มีเทนอาจจะเป็นตัวขัดขวางที่ใหญ่ที่สุดในการรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และอาจก่อให้เกิดหายนะต่อสภาพอากาศ เมื่อจำแนกประเภทการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดในปัจจุบัน พบว่า มี 20% ที่ปล่อยมาจากการทิ้งขยะอินทรีย์ของมนุษย์ อีก 40% เกิดจากการทำนาและปศุสัตว์ ส่วนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 40% โดยในปี 2022 เพียงปีเดียวเกิดเหตุการณ์ปะทุก๊าซมีเทนครั้งใหญ่จากแหล่งน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินมากกว่า 1,000 ครั้ง ศ.ยวน นิสเบต ผู้เชี่ยวชาญด้านก๊าซมีเทนจากมหาวิทยาลัยรอยัลฮอลโลเวย์แห่งลอนดอน กล่าวว่า "การฝังกลบขนาดใหญ่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ที่มีกลิ่นเหม็นจะติดไฟง่าย อีกทั้งจุลินทรีย์ในดินยังเปลี่ยนก๊าซมีเทนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 97%" ทางด้าน คาร์ลอส ซิลวา ฟิลโญ ประธานสมาคมขยะมูลฝอยระหว่างประเทศกล่าวว่า ปัจจุบันมี 150 ประเทศที่ลงนามในคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลดลง 30% ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำไม่ได้เลย ถ้าเกิดประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมขยะได้ เพราะในตอนนี้มีขยะทั่วโลกประมาณ 40% ยังคงไม่ได้ถูกจัดการ อองตวน ฮาล์ฟ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Kayrros บริษัทให้บริการการวิเคราะห์ภาพดาวเทียม กล่าวว่า "หลุมขยะเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลาย ๆ ประเทศสูญเสียโอกาสในการเปลี่ยนก๊าซเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงใช้ในประเทศได้ กลับกลายเป็นแค่ก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น" ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ในปี 2020 เกิดการรั่วไหลของ นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย มีเหตุการณ์ปลดปล่อยก๊าซมีเทนครั้งใหญ่อย่างน้อย 124 ครั้งจากการฝังกลบขยะ ดร. ริชา ซิงห์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในเมืองนี้ กล่าวว่า ในตอนนี้มีเทนรั่วไหลจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดจากการรั่วไหลของก๊าซมีเทนในอินเดีย เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2022 ที่กรุงนิวเดลี ในครั้งนั้นมีก๊าซมีเทนไหลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในอัตรา 434 ตันต่อชั่วโมง เทียบเท่ากับมลพิษที่เกิดจากรถเบนซินจำนวน 68 ล้านคันที่วิ่งพร้อมกัน นอกจากจะทำให้อากาศสกปรกแล้ว "ภูเขาขยะ" ที่มีสูงถึง 60 เมตร และมีความกว้างสุดลูกหูลูกตา ยังส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ และในช่วงฤดูร้อนจะเกิดไฟลุกไหม้ตลอดสัปดาห์ ทำให้ผู้คนในละแวกนั้นหายใจไม่ออกและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งได้ ดร.ซิงห์กล่าวว่า ปรกติแล้วมีเทนเป็นก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 0.0002% แต่บ่อขยะในอินเดียมีปริมาณก๊าซมีเทนระหว่าง 3-15% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก อินเดียเผชิญกับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการลดก๊าซมีเทนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การจัดการกับหลุมขยะจะสามารถช่วยลดการเกิดเหตุเพลิงไหม้ มลพิษทางอากาศและน้ำได้ แม้ว่าประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่จัดการกับการรั่วไหลของมีเทนจากการทิ้งขยะได้อย่างดีเยี่ยม แต่การก็ยังมีการรั่วไหลอยู่ อย่างเช่น สหราชอาณาจักรก็ยังมีก๊าซรั่วถึง 4% "ขยะยังคงเป็นประเด็นที่ถูกละเลยและไม่ได้รับความสำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบซีกโลกใต้ ผู้คนไม่ได้สนใจว่าขยะจะถูกส่งไปที่ไหน ถูกจัดการอย่างไร ขอแค่เอาขยะออกไปให้พ้นสายตาเท่านั้นก็พอแล้ว" ซิลวา ฟิลโญกล่าว จัดการการฝังกลบขยะให้ถูกวิธี การฝังกลบขยะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและราคาถูก แต่เป็นเพียงวิธีแก้ปัญหามลพิษบางส่วนเท่านั้น แถมสถานที่ฝังกลบส่วนใหญ่ในอินเดียและประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ และไม่มีกลไกกำจัดของเสียและก๊าซมีเทน "หลุมขยะถือเป็นศูนย์กลางมลพิษก็ว่าได้ เพราะคุณจะพบมลพิษครบทุกประเภท ทั้งทางบก หน้าดิน น้ำใต้ดิน และอากาศอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก" ซิงห์กล่าว ทั้งนี้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการฝังกลบได้ด้วยการไม่ทิ้งขยะอินทรีย์ หรือมีการดักจับมีเทนที่ออกมาจากหลุมฝังกลบ ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้ด้วยตัวเอง และมีต้นทุนต่ำ และถือเป็นว่าอีกวิธีที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็ว เมืองอินเทาร์ รัฐมัธยประเทศ ของอินเดีย ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดของอินเดีย มีมาตรการแยกขยะอินทรีย์จำนวนมากตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดการฝังกลบขยะที่สามารถสร้างก๊าซมีเทนในอนาคตได้ พร้อมส่งขยะอินทรีย์เหล่านั้นให้กับโรงงานไบโอมีสำหรับผลิตเชื้อเพลิงแทน นอกจากนี้ เมืองยังได้ปรับปรุงพื้นที่ฝังกลบขนาด 100 เอเคอร์ และมีการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย การลดก๊าซมีเทนนับเป็นการลงทุนด้านสภาพอากาศที่ดี ทำได้ง่าย เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว และเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ประเทศมองข้าม ที่มา: The Guardian https://www.bangkokbiznews.com/environment/1113614
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Nation
เตือนระวัง "แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส" หลังพบตายเกลื่อนหาดบ้านทอน พบ "แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส" มีพิษร้ายแรง ตายเกลื่อนหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส แนะนักท่องเที่ยวเพิ่มความระมัดระวัง หากลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้ เผยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องทำอย่างไรหากโดนพิษ 17 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กของอบต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส และ มีผู้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เจอกับตัวเลยทีนี้แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส ที่ชายหาดบ้านทอน คิดว่าน่าจะมีแทบจะตลอดแนวชายหาดเลย (เราเดินดูเฉพาะแถวโซนร้าน idyllic) มันตายแล้วแต่เข็มพิษมันก็ยังปล่อยเข็มพิษได้หากไปสัมผัส พิษมีผลต่อผิวหนัง ระบบประสาท หัวใจ หัวใจวายได้เลยระวังกันด้วยนะ ปล.หาดอื่นๆก็ต้องระวังนะคะ เมื่อวานมีคนเจอที่หาดสายบุรี หาดดาโต๊ะที่ปัตตานีด้วย จากนั้นทางเพจ อบต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีแมงกะพรุนนอนตายบริเวณชายหาดจริง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ "เรือรบโปรตุเกส" มีลักษณะหัวมีสีขาว เหมือนหมวกทหารเรือรบโปรตุเกสโบราณ ลำตัวมีสีน้ำเงิน บางตัวมีความยาวถึง 2 เมตร มีพิษร้ายแรง โดยเฉพาะคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากไปโดนพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต พบมากในช่วงมรสุม ส่งผลให้ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลพบแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส ถูกคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายหาดต่างๆ จึงขอแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังตลอดการเดินบริเวณชายหาดด้วย ล่าสุดวันนี้ (17 ก.พ. 2567) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ซึ่งพบแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส หรือแมงกะพรุนหัวขวด ที่บริเวณชายหาดบ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นจำนวนมากนอนตายตลอดแนวชายหาด จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้ ซึ่งแมงกะพรุนชนิดนี้มีพิษร้ายแรง และอาจทำให้ผู้ที่สัมผัสเสียชีวิตได้ แต่ยังไม่ได้รับรายงานผู้ที่ถูกแมงกะพรุนพิษดังกล่าว ด้าน นางสาวอาลามีน พนักงานร้าน idyllic เปิดเผยว่าทางร้านได้ทราบข่าวเมื่อช่วงตอนเย็นของวันที่ 15 ก.พ. จากลูกค้าของทางร้านที่ได้ไปเดินเล่นที่ชายหาดแล้วเจอแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสจึงได้เข้ามาแจ้งกับทางร้าน ซึ่งทางร้านมีมาตรการป้องกันเบื้องต้นคือจะแจ้งลูกค้าทุกคนที่เข้ามาในร้านว่ามีแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส และจะมีการติดป้ายระมัดระวังที่ร้านถึงลักษณะของแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส เพื่อให้ลูกค้าได้มีการระมัดระวังเมื่อมีการเดินเล่นที่ชายหาดดังกล่าว ส่วนวิธีดูแลตนเองเบื้องต้น หากพบหรือสัมผัสกับแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส มีดังนี้ - ห้ามเอามือไปจับหรือแตะหางหรือตัวมันเป็นอันขาด - หากสัมผัสตัวแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้น้ำทะเลชะล้างเศษหนวดและเข็มพิษ หรือหาวัสดุขอบเรียบแข็งครูดออกไปให้มากที่สุด - ห้ามใช้ "น้ำส้มสายชู" และ "น้ำจืด" ล้างแผลจากพิษแมงกะพรุนไฟหมวดโปรตุเกสโดยเด็ดขาด (แต่ในกรณีแมงกะพรุนกล่อง สามารถใช้น้ำส้มสายชูล้างแผลได้) - สังเกตอาการผู้ได้รับพิษอย่างใกล้ชิดแล้วนำส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง https://www.nationtv.tv/news/social/378940385
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|