#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 13 มีนาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมใต้และ ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจาก สภาพอากาศร้อนในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่น สูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 13 - 17 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง หลังจากนั้น บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด รวมถึงลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อนลงในช่วงวันที่ 13 - 17 มี.ค. 67 แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
โลกร้อน! กับทะเลไทย สามผลกระทบที่เห็นได้ด้วยสายตา ............. บทความโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เกาะกระดาน จ.ตรัง คว้าอันดับ 1 ชายหาดดีที่สุดในโลก เมื่อปีที่ผ่านมา โดย World Beach Guide (เครดิตภาพ :กรมอุทยานฯ) พ.ศ. 2567 เป็นปีที่ทะเลเดือดกว่าปีไหน ๆ ข้อมูลจาก NOAA* และ NASA ยืนยันว่าปีนี้น้ำร้อนจัดแน่นอน ร้อนกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีประมาณ 1 องศา และร้อนกว่าปีที่แล้ว (2566) ที่เป็นปีน้ำทะเลร้อนสุดที่บันทึกกันมา ว่าง่าย ๆ คือสถิติกำลังถูกทำลายลงแบบปีต่อปี น้ำเก็บความร้อนได้ดีกว่าอากาศ น้ำที่ร้อนขึ้นแม้เพียง 0.5-1 องศา สามารถส่งผลกระทบได้มากมหาศาล เช่น ปรากฏการณ์ Global Conveyer Belt กระแสน้ำโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นล่มสลาย นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเริ่มมีสัญญาณเตือนไม่สู้ดี แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? พรุ่งนี้หรืออีก 10-20 ปีข้างหน้า แต่พอบอกได้ว่าหากเกิดโลกจะปั่นป่วนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ยุโรปจะหนาวจัดในฉับพลัน ผลกระทบจะมากมายมหาศาลจนประมาณไม่ได้ นั่นคือการคาดคะเน ซึ่งเราเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาเยอะ ถ้าโลกร้อนจัดจะเกิดเหตุร้ายภัยพิบัติแบบต่าง ๆ แต่เรื่องนี้ตั้งใจจะเขียนถึงความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจากผลกระทบโลกร้อนในทะเลไทย สามารถมองเห็นด้วยสายตา ทั้งหมดนี้มี 3 ประเด็นหลัก ปะการังฟอกขาว เมื่อน้ำร้อนจัด ปะการังจะเกิดอาการผิดปรกติ สีซีดจางลงจนอาจถึงขั้นตาย จากนั้นก็มีสาหร่ายขึ้นคลุมจนยากที่จะฟื้นได้ ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สมัยก่อนเคยเกิดทุก 10-15 ปี แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ความถี่ในการเกิดเริ่มเยอะ จนในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เกิดถี่ยิบแทบทุกปีในมหาสมุทรต่าง ๆ ของโลก ในเมืองไทยมีเหตุการณ์เช่นนั้น นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพบว่าน้ำร้อนในทะเลไทยไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในอ่าวไทย น้ำทะเลภาคตะวันออกจะร้อนกว่าพื้นที่อื่น ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ติดตามปะการังตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดชลบุรีและระยอง พบว่าเกิดปะการังฟอกขาวแทบทุกปี ปะการังในเขตชายฝั่งหรือในเขตน้ำตื้นบางพื้นที่ฟอกขาวจนตายและไม่มีโอกาสฟื้นเพราะน้ำร้อนต่อเนื่อง สำหรับปีนี้ เริ่มมีรายงานปะการังฟอกขาวจากหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น Great Barrier Reef ประเทศออสเตรเลีย เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่หลายครั้ง นักวิทยาศาสตร์รายงานว่าปีนี้น่าเป็นห่วง แนวปะการังยาว 1,100 กิโลเมตรเริ่มฟอกขาว กำลังอยู่ในระหว่างสำรวจติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่หลายประเทศในมหาสมุทรอินเดียเริ่มประกาศเตือนภัยในประเด็นนี้ เพราะฉะนั้น หากอยากเห็นผลกระทบโลกร้อน ขอเชิญไปแนวปะการังแถวหมู่เกาะสีชัง พัทยาบางพื้นที่ เรื่อยไปจนถึงแถวระยองที่เกาะมันใน เขตปะการังน้ำตื้นเปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีก่อนแบบแทบไม่เชื่อสายตา เคราะห์ดีที่ในเขตน้ำลึกยังอยู่รอดแม้เกิดการฟอกขาวซ้ำซาก ได้แต่หวังว่าปีนี้พวกเธอจะรอดต่อไป วิกฤตหญ้าทะเล มีรายงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ว่าหญ้าทะเลบางพื้นที่ในจังหวัดตรังเริ่มลดน้อยลง ก่อนจะลุกลามไปทั่วเกือบทุกแห่งในจังหวัดช่วงปี 2566 ต่อเนื่องถึงปีนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร่งด่วน ผลที่ได้จากการสำรวจต่อเนื่องคือแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดในประเทศ ตั้งแต่จังหวัดตรังจนถึงจังหวัดกระบี่ กำลังทรุดโทรมอย่างหนัก โดยคาดว่าโลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ล่าสุด เริ่มมีรายงานเพิ่มมากขึ้นในจังหวัดกระบี่ พังงา และบางส่วนของจังหวัดสตูล ที่น่าตกใจคือสถานการณ์ไม่ใช่เกิดเฉพาะอันดามัน มีรายงานเหตุการณ์คล้ายกันเกิดในจังหวัดตราด ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง บางพื้นที่หายไปทั้งหมด หรือแม้กระทั่งทีมงานจากคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เดินทางไปร่วมสำรวจทะเลที่รัฐซาบาห์ เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย พบสถานการณ์คล้ายคลึงกัน หญ้าทะเลสีซีดเน่าเปื่อยจากปลายใบลงมาหาโคน เกิดลักษณะใบกุด ก่อนสุดท้ายรากจะเน่าและหายไป นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามศึกษาเพื่อหาคำอธิบายกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางแก้ไขที่ตอนนี้ยังต้องใช้เวลา น้ำเขียว แพลงก์ตอนบลูม เป็นอีกข่าวใหญ่ที่บางแสนในช่วงเดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวไปทะเลหวังเล่นน้ำ กลับพบว่าน้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวเต็มไปด้วยแพลงก์ตอนพืช เหตุการณ์เช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เมื่อในน้ำมีธาตุอาหารเยอะและมีแสงแดดจัด แพลงก์ตอนอาจเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นน้ำเขียวที่กินเวลา 2-3 วันก่อนหายไป แพลงก์ตอนไม่มีพิษ ยังคงกินอาหารทะเลได้ แต่จะเล่นน้ำหรือไม่ ? บอกได้ว่าขุ่น มีกลิ่น และอาจคันบ้าง ขึ้นกับว่าอยากลงไปเล่นหรือเปล่า ปัญหาคือในอดีตปรากฏการณ์แบบนี้เกิดปีละ 2-3 ครั้ง แต่ปัจจุบันเกิดบ่อยขึ้นถี่ยิบ นอกจากนี้ น้ำเขียวจะเกิดในหน้าฝน เพราะน้ำจืดไหลลงทะเลมาก แต่ปัจจุบันกลับเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นหน้าแล้ง คำตอบคือพื้นท้องทะเลมีธาตุอาหารที่เราปล่อยลงไป ทั้งจากน้ำทิ้งชุมชน อุตสาหกรรม การเกษตร (ปุ๋ยเคมี) สะสมอยู่มากมาย ขอเพียงแสงแดดมีเยอะ อาจเกิดได้โดยไม่ต้องรอน้ำจืดไหลลงมา ยังรวมถึงอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากโลกร้อน กลายเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวได้ง่ายขึ้น นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลทั่วโลกจากข้อมูลดาวเทียมย้อนหลัง ระบุว่าปัจจุบันการเกิดแพลงก์ตอนบลูมมีบ่อยขึ้นและกินพื้นที่มากขึ้นกว่าในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด สามปรากฏการณ์ที่เกิดในทะเลไทยล้วนเกี่ยวข้องกับโลกร้อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลลดลง แต่ยังส่งผลตรงสู่พี่น้องประชาชนริมฝั่ง ทั้งการท่องเที่ยว ทั้งการทำมาหากินจับสัตว์น้ำ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยทะเลจะกลายเป็นผู้เดือดร้อนกลุ่มแรก ที่สำคัญคือปัญหาไม่ได้เกิดชั่วครั้งคราว แต่จะเกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์โลกร้อนที่รุมเร้าหนักขึ้น การแก้ไขปัญหาโลกร้อนคงต้องบอกตามตรงว่าเน้นหนักในด้านการเงินการลงทุน จำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จัดประชุม อบรม หาแนวทางไฟแนนซ์ใหม่ ๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องดี ทว่า...การลดโลกร้อนโดยนำไปผูกกับกติกาด้านการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะกลุ่มที่เดือดร้อนก่อนกลับไม่มีทางออก ไม่มีทางแก้ไข และยังแทบจะปราศจากความรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทะเลที่เขาเคยทำมาหากิน เคยใช้ชีวิตเคียงคู่อย่างมีสุข ผลดังกล่าวจะทำให้ครอบครัวเปลี่ยนแปลง ชุมชนเปลี่ยนแปลง ทำให้คนไม่สามารถทำอาชีพเดิมได้ ต้องหาทางอพยพย้ายถิ่น ก่อเกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมาไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาดังกล่าวเกิดทั่วโลก และเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจะมีคนนับร้อยล้านได้รับผลกระทบจนต้องอพยพในเวลา 5-10 ปีข้างหน้า แม้แต่ในเมืองไทยก็เริ่มเห็นปัญหาที่ค่อย ๆ สะสมเพิ่มขึ้นมา เช่น ชาวประมงพื้นบ้านในบางจังหวัดเหลือน้อยลงและที่เหลือส่วนใหญ่คือคนสูงวัย แทบไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบต่อ เพราะมองไปแล้วไม่เห็นอนาคต จึงนำมาบอกเล่าให้ทราบว่า โลกร้อนไม่ใช่แค่ทำให้ร้อนขึ้น น้ำท่วมมากขึ้น พายุแรงขึ้น ฯลฯ แต่โลกร้อนกำลังจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนระบบนิเวศที่เราคุ้นเคย เปลี่ยนชีวิตริมฝั่งทะเลที่สืบทอดกันมาเนิ่นนาน และการเปลี่ยนแบบนั้นเป็นการเปลี่ยนที่เราสามารถมองเห็นด้วยสายตา ก็ขึ้นกับว่า เราจะสนใจอยากดูหรือไม่? หรือเราแค่ปล่อยผ่านไปไม่สนใจเพราะไม่ใช่เรื่องของเรา ทว่า...โลกนี้มีโลกเดียว เรื่องของคนอื่นจะกลายเป็นเรื่องของเราในสักวัน! หมายเหตุ* NOAA..เป็นชื่อที่ใช้เรียกดาวเทียมขององค์กร NOAA ของสหรัฐ (ชื่อดาวเทียมคือ Advanced Television Infrared Observation Satellite ย่อเป็น TIROS-N หรือ ATN) https://mgronline.com/greeninnovatio.../9670000022030
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก มติชน
ทช.เร่งหาสาเหตุการตายพะยูน-หญ้าทะเลให้เร็วที่สุด วันที่ 12 มีนาคม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตนในฐานะคณะทำงานฯ รู้สึกดีใจที่ได้เห็น นักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง จากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนและมหาวิทยาลัย รวมถึงอาสาสมัครที่ได้มาร่วมกันแก้ไขปัญหาหญ้าทะเล ในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และต้องขอขอบคุณ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ที่ห่วงใยในปัญหาดังกล่าว โดยได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับงานวิจัยให้กับคณะทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้ง 8 โครงการ ซึ่งถือเป็นการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านระบบนิเวศหญ้าทะเล ด้านสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ และด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งหญ้าทะเล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลจังหวัดตรังให้กลับคืนมาสมบูรณ์โดยเร็วและยั่งยืนอีกครั้ง ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ได้ติดตามสถานการณ์แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่มาโดยตลอด พร้อมได้สั่งการให้ทช.จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ รวมถึงได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาหญ้าทะเลตรังอย่างใกล้ชิด เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทช. ได้ส่งทีมนักวิชาการร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่มีการสอนด้านทรัพยากรทางทะเล กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดตรัง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ออกสำรวจตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลและดินตะกอน เพื่อเร่งหาสาเหตุการเกิดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมในทุกภารกิจทั้งการบินสำรวจพะยูนด้วย UAV Lider scan การสำรวจชายฝั่งด้วย USV การจัดทำแบบจำลองลักษณะสมุทรศาสตร์กายภาพ การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพหญ้าทะเลเชิงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อหาสาเหตุการตายของหญ้าทะเลให้เร็วที่สุด ก่อนจะฟื้นฟูหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นแหล่งอาหารของพะยูนไทยต่อไป https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4468935
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Nation
ใจหาย ประชากร "พะยูน" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป เปิดผลบินสำรวจเบื้องต้น ปีนี้ พบพะยูน ทะเลตรัง เหลือเพียง 36 ตัว คู่แม่ลูกเพียง 1 คู่ จากปีที่ผ่านมาพบพะยูน 194 ตัว แม่ลูก 12 คู่ ส่งสัญญาณวิกฤต ด้าน มูลนิธิอันดามัน จี้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ หลังประชากร "เจ้าหมูน้ำ" ตรัง ลดฮวบ-หญ้าทะเลตาย ชี้ ควรเร่งหาสาเหตุควบคู่ฟื้นฟู ก่อนสายเกินไป สถานการณ์ "พะยูน" ทะเลตรัง น่าเป็นห่วง โดยล่าสุด ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พบพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี เกยตื้นในสภาพร่างกายซูบผอมอย่างมาก เมื่อนำซากไปผ่าพิสูจน์พบว่า ทางเดินอาหารมีพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย และยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ และในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย โดยในกระเพาะพบว่ามีหญ้าทะเลชนิดหญ้าใบมะกรูด หญ้าเข็ม (ซึ่งหญ้าเข็มจะพบในระดับน้ำลึกกว่าหญ้ามะกรูด) แต่มีอยู่น้อย โดยในปี 2567 นี้ผ่านมาไม่ครบ 3 เดือน แต่มีพะยูนในทะเลตรังเกยตื้นตายแล้วเป็นตัวที่ 4 ซึ่งทั้งหมดที่ตายพบมีอาการป่วยและร่างกายซูบผอม คาดสาเหตุหลักเกิดจากปัญหาสภาพระบบนิเวศในทะเลที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นดินปกคลุมด้วยตะกอนดิน หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนทั่วทะเลตรังเสื่อมโทรมหนัก รวมไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งผลทำให้พะยูนและสัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลาหายไป จนชาวบ้านไม่มีแหล่งหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งเหมือนที่ผ่านๆมา หน่วยงาน-ตัวแทนเครือข่ายในพื้นที่ เร่งหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ส่ง คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วนตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้ เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด โดยคณะทำงานได้แบ่งการทำงานทั้งภาคพื้นดินในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลหน้าดินบริเวณแหล่งหญ้า ติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรัง (Line Transect, เก็บตัวอย่างดินตะกอน) เก็บข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์กายภาพในพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม เก็บตัวอย่างการปนเปื้อนของโลหะหนัก (Heavy metals) และ มลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน(Persistent Organic Pollutants) ในตะกอนดินและหญ้าทะเล เปิดผลบินสำรวจเบื้องต้น นอกจากคณะทำงานลงพื้นที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลแล้ว ยังมีการสำรวจด้วยโดรนและการบินสำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ด้วยเครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และ Hot spot ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร นาย Eduardo Angelo Loigorri และวิธีการสำรวจทางเรือ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง เบื้องต้น เจอพะยูนเพียง 36 ตัว พบพะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 1 คู่ โลมาหลังโหนก 6 ตัว พบโลมาคู่แม่-ลูก 2 คู่ และเต่าทะเล 38 ตัว ผลการตรวจสุขภาพประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่าพะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล นอกจากนี้ ยังพบพะยูนคู่แม่-ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ โดยโลมาหลังโหนกพบว่าสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยที่เกิดจากการถูกเครื่องมือประมงหรือขยะทะเลพันรัด รวมถึง เต่าทะเล สุขภาพโดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้นำไปคำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณพื้นที่จังหวัดตรังต่อไป โดยสรุป การสำรวจประชากรพะยูนในปีนี้พบพะยูนลดลงอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงประมาณ 36 ตัวเท่านั้น พบคู่แม่ลูกเพียง 1 คู่ โดยในปี 2566 พบพะยูน 194 ตัว คู่แม่ลูกถึง 12 คู่ เชื่อว่าพะยูนทะเลตรังกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างหนัก มีโอกาสจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังในอนาคตอันใกล้นี้ ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ ทางด้านนักวิชาการให้น้ำหนักกับเรื่องปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ แต่ในขณะที่ชาวบ้าน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน นักวิชาการในพื้นที่ และเครือข่ายภาคประชาสังคมให้น้ำหนักกับจุดเริ่มต้นจากการทับถมของตะกอนทรายจากการขุดลอกร่องน้ำกันตัง โดยกรมหนึ่ง เพื่อการเดินเรือที่ตะกอนดินเข้ามาทับถมแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณเกาะลิบง และขณะนี้แม้จะหยุดขุดไปแล้ว แต่ผลกระทบยังคงมีมาต่อเนื่อง ตามด้วยปัญหาโลกร้อนที่คืบคลานเข้ามา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลตรังตามมาจนถึงปัจจุบันนี้ จนส่งผลต่อพะยูนขาดแหล่งอาหารในที่สุด มูลนิธิอันดามัน จี้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้วิกฤต นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง ทีมข่าวได้ไปพูดคุยกับ นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ที่แต่งตั้งโดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดย นายภาคภูมิ บอกว่า พะยูนตัวล่าสุดที่ชาวบ้านพบเกยตื้นตายมีสภาพผอม มีเพรียงเกาะตามลำตัวจำนวนมาก แสดงอาการชัดเจนว่าป่วยและขาดอาหาร การที่หญ้าทะเลในทะเลตรังเสื่อมโทรมทุกพื้นที่รวมกว่า 30,000 ไร่ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาหารพะยูนขาดแคลน เพราะทะเลตรังมีพะยูนจำนวนมาก พะยูนจึงอยู่ในภาวะวิกฤติหนัก ซึ่งมีสัญญาณมาตั้งแต่ประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว เพราะมีการพบพะยูนเกยตื้นตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย และสาเหตุหลักเกิดจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่มาจากความไม่สมดุลทางระบบนิเวศ ล่าสุด ทาง "กรมทะเล" ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมกันหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งตอนนี้ทุกฝ่ายจะต้องเร่งมือทำงาน มัวแต่หาสาเหตุอย่างเดียวไม่ได้ จะไม่ทันการณ์ พะยูนจะตายหมด ใจหาย ประชากร "พะยูน" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป โดยทุกฝ่ายต้องจริงจังในการร่วมมือกันทำงาน ปัจจุบันภาระตกอยู่กับกรม ทช. ซึ่งในภาวะวิกฤตตอนนี้หน่วยงานเดียวทำงานไม่พอ ยังมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งดูแลอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงถิ่นพะยูนอาศัยอยู่ จะต้องร่วมกันทำงาน นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรจะลงมาดำเนินการด้วยตัวเอง เพื่อให้กระทรวงเป็นหน่วยบูรณาการ เพราะลำพังกรม ทช. แม้จะพยายามแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน และงบประมาณ จึงต้องดำเนินการในระดับนโยบาย "เรื่องนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะมีข้อสั่งการ และต้องเร่งกู้วิกฤตในครั้งนี้โดยเร็ว เพราะต้องอาศัยทั้งคน ความรู้ งบประมาณ และต้องการความเร็วในการทำงาน หากมัวแต่หาสาเหตุเพียงเรื่องเดียว พะยูนคงตายหมด ควรทำด้านการฟื้นฟูควบคู่กันไปด้วย" นายภาคภูมิ กล่าว ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง บอกอีกว่า จากการบินสำรวจพะยูนล่าสุด ของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง พบพะยูนรวมฝูงน้อยลง โดยพบพะยูนทั้งหมด 36 ตัว พบคู่แม่ลูก 1 คู่ ซึ่งปีที่ผ่านมาบินสำรวจพบพะยูน 194 ตัว คู่แม่ลูก 12 คู่ โดยปีนี้ประชากรลดฮวบเสี่ยงสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้เนื่องจากขาดอาหารคือ หญ้าทะเล อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ในวันที่ 13 มี.ค. นี้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทีมนักวิยาศาสตร์ทางทะเล จะลงพื้นที่จังหวัดตรังด่วนอีกครั้ง เพื่อสำรวจสถานการณ์ตลอดจนสาเหตุของหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ตลอดจนจำนวนพะยูนและสัตว์ทะเลหายากที่ลดจำนวนลง โดยจะออกเดินทางจากท่าเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อทำการสำรวจหลายพื้นที่ อาทิ เขตอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลเกาะลิบง เกาะมุกด์ และแหลมหยงหลำ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นต้น ทำความรู้จัก "พะยูน" หรือ "หมูน้ำ" ใจหาย ประชากร "พะยูน" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป จากข้อมูลในเว็บไซต์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า พะยูน เป็นสัตว์สงวนแห่งท้องทะเล มีรายละเอียดดังนี้ ชื่อเรียก : หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง ขนาดแรกเกิด : 1-1.5 ม. / หนักประมาณ 20 กก. ลำตัว : รูปกระสวยคล้ายโลมา , สีเทาอมชมพู หรือน้ำตาลเทา หายใจ : ทุก 1-2 นาที อาหาร : หญ้าทะเล ส่วน ในเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึงความสำคัญของเจ้าหมูน้ำ ว่า พะยูนกินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะ "หญ้าทะเล" ชนิดต่างๆ ตามแนวชายฝั่ง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่น และกว้างใหญ่เพียงพอ จึงถือได้ว่าพะยูนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง "หญ้าทะเล" ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เป็นทั้งออกซิเจน แหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ที่วางไข่และหลบซ่อนศัตรู ช่วยลดมลพิษในทะเล ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้ดี ในบริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่ จึงจัดเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลไทยอีกด้วย ของเสียจากพะยูน กลายเป็นปุ๋ยที่มีคุณค่า การที่พะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร จึงปล่อยของเสียออกมาเป็นปุ๋ยที่มีคุณค่า เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำขนาดเล็ก และปลาขนาดใหญ่ สอดคล้องกับ นักวิจัยจาก James Cook University ในออสเตรเลีย ที่พบว่า เมล็ดหญ้าทะเลที่ผ่านระบบย่อยอาหารของสัตว์อย่าง พะยูนและเต่าทะเล งอกเร็วกว่าและมีอัตราการงอกที่สูงกว่าเมล็ดที่หลุดมาจากต้น จากสถานการณ์ของ "พะยูน" และหญ้าทะเล ทะเลตรัง ดังที่กล่าวมาข้างต้น คงต้องจับตาดูกันต่อว่า จะมีการฝ่าวิกฤตนี้อย่างไร... ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเล คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง https://www.nationtv.tv/news/region/378941372
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Nation
ฉลามไม่ได้อยากงับคุณ ปีหนึ่งมีคนเสียชีวิตเพราะถูกฉลามกัดแค่ 10 คน ทำไมคนทั่วโลกจึงหวาดกลัวฉลามเมื่ออยู่ในทะเล ทั้งที่ฉลามแทบจะไม่ได้สนใจมนุษย์ หรือมองว่ามนุษย์เป็นอาหารเลย อย่างปีที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตเพราะถูกฉลามกัดแค่ 10 คน ถ้าฉลามมองมนุษย์เป็นอาหาร คงมีคนถูกฉลามกินหลายพันคนต่อวัน ฉลามถูกสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวใต้ท้องทะเล ที่ทำให้นักว่ายน้ำและนักดำน้ำทั่วโลก หวาดกลัวต่อการเจอฉลามเมื่อลงทะเล เพราะกลัวว่าจะถูกฉลามกินเป็นอาหาร แต่ข้อมูลและสถิติที่บันทึก พบว่าในแต่ละปี มีคนที่เสียชีวิตเพราะฉลามน้อยมาก น้อยจนเราควรจะไปกลัวอะไรอย่างอื่นมากกว่าที่จะกลัวฉลาม ข้อมูลล่าสุดจากพิพิธภัณประวัติศาสตร์ธรรมชาติฟลอริดา เปิดเผยว่า ในปี 2023 มีคนทั่วโลกถูกฉลามกัดทั้งหมด 91 คน ในจำนวนนี้ มีคนเสียชีวิต 10 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก หากเทียบกับตัวเลขคนหลายร้อยล้านคน ที่ลงว่ายน้ำหรือดำน้ำในทะเล ในแต่ละปี โจ มิเกซ นักนิเวศวิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา บอกว่า การที่มีคนถูกฉลามกัดน้อยมากในแต่ละปี แสดงให้เห็นว่าฉลามไม่อยากยุ่งกับมนุษย์ และพยายามอยู่ห่างมนุษย์เท่าที่จะทำได้ และเป็นที่แน่ชัดว่าฉลามไม่ได้มองมนุษย์เป็นอาหาร เพราะถ้าฉลามมองมนุษย์เป็นอาหารเมื่อไร ตอนนั้น คงมีคนที่เสียชีวิตเพราะถูกฉลามกัดหลายพันคนต่อวัน ทั่วโลกมีฉลามประมาณ 550 สายพันธุ์ และในปี 2023 มีฉลามแค่ 3 สายพันธุ์ที่กัดมนุษย์จนเสียชีวิต คือฉลามขาว ฉลามหัวบาตร และฉลามเสือ ซึ่งคำแนะนำในการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกฉลามกัด ก็คือ 1. ไม่ว่ายน้ำในทะเลคนเดียว 2. ไม่ว่าน้ำห่างจากชายฝั่งมากไป และ 3. ไม่ว่ายน้ำในช่วงพระอาทิตย์กำลังขึ้นหรือพระอาทิตย์กำลังตก https://www.nationtv.tv/foreign/378941351
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยสิ้นสุดแล้ว แต่ไม่พบผู้สูญหายทั้ง 5 คน ตลอดระยะเวลา 19 วันของภารกิจนี้ มีการดำน้ำทั้งสิ้น 83 เที่ยว รวมระยะเวลาดำน้ำ 65 ชั่วโมง 15 นาที เป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน กับอีก 23 วัน ที่เรือหลวงสุโขทัยอับปางลงบริเวณอ่าวไทย ซึ่งต่อมาทางกองทัพเรือของไทยและกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันค้นหาผู้สูญหายและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. ? 11 มี.ค. 2567 รวมระยะเวลา 19 วัน ผลสำรวจไม่พบผู้สูญหายที่เหลืออีก 5 คน ขณะที่ชุดปฏิบัติการผสมสามารถปลดวัตถุอันตรายและทำให้ยุทโธปกรณ์หมดขีดความสามารถได้สำเร็จ รวมถึงนำอาวุธและสิ่งของมีคุณค่าทางจิตใจของเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาจากน้ำได้สำเร็จ พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ระบุว่า ชุดปฏิบัติการได้หลักฐานพยานครบถ้วนตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องการทุกประการ จึงไม่จำเป็นต้องนำเรือขึ้นมาทั้งลำอีกต่อไป ด้าน นายชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร เขต 8 พรรคก้าวไกล ซึ่งติดตามการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการอับปางของเรือหลวงสุโขทัยมาโดยมาตลอด แย้งว่า เร็วเกินไปที่จะสรุปว่า กองทัพเรือควรกู้เรือขึ้นมาทั้งลำหรือไม่ เพราะต้องติดตามต่อว่ารายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือจะออกมาเช่นไร และตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ทำโดยกองทัพเรือเองนั้น จะสามารถไว้ใจได้หรือไม่ว่า "เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา" ไม่พบผู้สูญหายทั้ง 5 คน วานนี้ (11 มี.ค.) เป็นวันสุดท้ายของปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย หลังจากดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ภารกิจนี้เป็นปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาจัดซื้อเรือหลวงสุโขทัยจากสหรัฐฯ ที่ระบุว่าไทยมีข้อตกลงกับกองทัพสหรัฐฯ เรื่องการห้ามไม่ให้ชาติอื่นเข้าถึงเทคโนโลยีอาวุธ และแผนการกู้เรือต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน เรือหลวงสุโขทัยที่มีน้ำหนักกว่า 930 ตัน อับปางลงเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 หลังเดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ มุ่งหน้าไปร่วมงานคล้ายวันประสูติของ เสด็จเตี่ย หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ จ.ชุมพร โดยเรือลำดังกล่าวบรรทุกกำลังพลทั้งหมด 106 นาย เป็นกำลังพลประจำเรือกว่า 70 นาย ขณะที่อีกกว่า 30 นาย ไม่ใช่กำลังพลประจำเรือ แต่มาจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นต้น จุดอับปางอยู่ห่างจากท่าเรือ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 ไมล์ทะเล ที่ความลึก 50 เมตร ตัวเรือตั้งตรง เอียงซ้ายประมาณ 7 องศา โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้สูญหาย 5 นาย เสียชีวิต 24 นาย และรอดชีวิตกว่า 70 นาย "ปัจจุบันตัวเรือจมโคลนประมาณ 1 เมตร บริเวณภายนอกตัวเรือรวมถึงอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยตะกอนดิน เพรียง และหอย ความหนาประมาณ 1 นิ้ว ขณะที่ภายในตัวเรือเริ่มถูกปกคลุมไปด้วยตะกอนดินและเศษวัสดุต่าง ๆ ที่เริ่มย่อยสลาย ไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมีต่าง ๆ" พล.ร.อ.ชาติชาย ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย กล่าวในการแถลงข่าวปิดปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด เมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม การกู้เรือหลวงสุโขทัยครั้งนี้เป็นการกู้แบบจำกัด ไม่ใช่การกู้เรือขึ้นจากทะเลทั้งลำ โดยใช้เรือโอเชียน เวเลอร์ (Ocean Valor) ของสหรัฐฯ เป็นฐานปฏิบัติการกลางอ่าวไทย ตลอดระยะเวลา 19 วันของภารกิจนี้ มีการดำน้ำทั้งสิ้น 83 เที่ยว รวมระยะเวลาดำน้ำ 65 ชั่วโมง 15 นาที แต่ไม่พบผู้สูญหายทั้ง 5 คน พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าว่า ชุดประดาน้ำลงสำรวจตัวเรือทั้งภายในและภายนอก รวมถึงห้องที่คาดว่าผู้สูญหายทั้ง 5 คนน่าจะติดอยู่ ได้แก่ สะพานเดินเรือ ห้องศูนย์ยุทธการ ห้องผู้บังคับการเรือ ห้องวิทยุ ห้องโถงนายทหาร ห้องเมสพันจ่า ห้องเมสจ่า ห้องเครื่องจักรใหญ่ ห้องเสมียนพลาธิการ ห้องเรดาห์ 2 ห้องเก็บแผนที่ และช่องทางเดินในชั้นดาดฟ้าหลัก แต่ด้วยความข้อจำกัดและความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถสำรวจได้ทุกห้องตามแผนที่วางไว้ "แต่เนื่องจากระดับความลึกของน้ำที่ 50 เมตร รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงห้องต่าง ๆ ภายในตัวเรือ ในชั้นที่ต่ำกว่าดาดฟ้าหลัก รวมทั้งความเสี่ยงในระดับสูงต่อนักดำน้ำ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปได้ทุกห้อง" ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าว ปลดวัตถุอันตรายและทำให้สิ้นสภาพความเป็นยุทธบริภัณฑ์ได้สำเร็จ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ แถลงต่อว่า ทางกองทัพเรือของสหรัฐฯ ทำให้ยุทโธปกรณ์จำนวน 3 รายการสิ้นสภาพความเป็นยุทธบริภัณฑ์ (Demilitarization) ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นฮาร์พูน, ตอร์ปิโด MK309 และเครื่องมือสื่อสารที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ทางกองทัพเรือได้นำอาวุธบางส่วนขึ้นมาจากน้ำ ได้แก่ ปืนกล 20 มม. จำนวน 2 กระบอก, ปืนเล็กยาว M16 จำนวน 10 กระบอก นอกจากนี้ ยังมีการนำสิ่งของมีคุณค่าทางจิตใจของเรือหลวงสุโขทัยจำนวน 11 รายการขึ้นมาจากน้ำเช่นกัน เช่น ป้ายชื่อเรือสุโขทัย, พญาครุฑประจำเรือ, พระพุทธรูปประจำเรือ, พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, แผ่นนูนรูปเสด็จเตี่ย, ระฆังเรือ, ธงราชนาวีผืนใหญ่, สมอเรือ, ป้ายขึ้นระวางประจำการเรือ และป้ายทำเนียบผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย เป็นต้น ทางชุดปฏิบัติการยังตัดเสากระโดงเรือความสูง 4.5 เมตร ออกจากตัวเรือด้วย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้านการเดินเรือให้กับเรือลำอื่น ๆ ทำให้จากเดิมส่วนที่สูงที่สุดของเรือหลวงสุโขทัยถึงผิวน้ำอยู่ที่ระยะ 27 เมตร เพิ่มเป็นระยะ 31.5 เมตร "กองทัพเรือจะจัดสร้างอนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัยต่อไป โดยใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนของเรือที่ถอดถอนและนำขึ้นมาจากปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงเรือหลวงสุโขทัยที่ประจำการมา 37 ปี รวมถึงความกล้าหาญและความเสียสละของกำลังพลที่เสียชีวิตและสูญหาย" พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าว (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
ภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยสิ้นสุดแล้ว แต่ไม่พบผู้สูญหายทั้ง 5 คน .............. ต่อ เก็บพยานวัตถุเพื่อประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงหาสาเหตุการอับปาง ทีมปฏิบัติการยังสำรวจเก็บพยานวัตถุจำนวน 58 รายการเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการสอบสวนหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการอับปางด้วย โดยทางเจ้าหน้าที่บันทึกวิดีโอความละเอียดสูงขณะสำรวจและเก็บหลักฐานพยานวัตถุไว้ตลอด ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสามารถนำไปใช้ได้ ช่วงที่ผ่านมาพบว่า ทางกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหลังเกิดเหตุเรืออับปางลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังคมและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจำนวนหนึ่งเสนอแนะว่า ควรมีคณะผู้ตรวจสอบภายนอกหรือคณะกรรมการกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์หรือตรวจสอบกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือ แต่ พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือในขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ว่า ไม่มีระเบียบที่เปิดช่องให้ตั้งคณะผู้ตรวจสอบภายนอกร่วมการสอบสวน แต่ยืนยันว่าจะสอบสวน "อย่างตรงไปตรงมา" ต่อมา พล.ร.อ.ปกครอง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 ว่าการสอบสวนกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% สอบปากคำพยานไปแล้ว 289 คน เหลือเพียงพยานวัตถุเรือหลวงสุโขทัยที่ยังได้ไม่ครบ ต้องรอจากขั้นตอนการกู้เรือ ระหว่างการแถลงปิดปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัย ทางผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ระบุว่า การเก็บพยานวัตถุทั้ง 58 รายการเป็นไปตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแจ้งความต้องการมา เช่น แผ่นกันคลื่นหน้า, ป้อมปืน 76/62 มม., ป้อมปืน 76/62 มม., ฝา Hatch หรือช่องทางลงห้องกระชับหัวเรือ, ฝา Hatch ทางลงห้อง Gun Bay หรือห้องที่อยู่ใต้ป้อมปืน 76/62 มม., ประตูผนึกน้ำรอบตัวเรือ, รอยทะลุทางกราบซ้าย 2 รอย พร้อมกับสำรวจรอบตัวเรือเพื่อหารอยทะลุอื่นๆ, การปิด/เปิดประตูผนึกน้ำภายในตัวเรือและบริเวณห้องป้อมปืน, สภาพแท่นแพชูชีพทั้ง 6 แผง นอกจากนี้ยังมีพยานวัตถุอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง, เครื่องบันทึกภาพวงจรปิดหรือเครื่อง DVR 1 เครื่อง, เสื้อชูชีพ 1 ตัว, คอมพิวเตอร์พกพา 1 เครื่อง, และสมุดจดคำสั่งการนำเรือ 1 เล่ม "ในส่วนของเครื่องบันทึกวิดีทัศน์กล้องวงจรปิดหรือ DVR ปัจจุบันเราได้ส่งไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม เพื่อกู้ข้อมูลหรือเก็บข้อมูลพยานหลักฐานชิ้นนี้ให้กับเรา โดยเร่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำงานให้เร็ว สรุปว่าเราได้หลักฐานพยานครบถ้วนตามที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องการทุกประการ เราไม่จำเป็นต้องนำเรือสุโขทัยขึ้นจากน้ำ ขอเน้นย้ำว่า เราได้หลักฐานประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางครบถ้วน และไม่จำเป็นต้องนำเรือขึ้นมาทั้งลำ" พล.ร.อ.ชาติชาย ระบุ ด้านนายชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร เขต 8 พรรคก้าวไกล ซึ่งติดตามการสอบข้อเท็จจริงกรณีการอับปางมาตลอด ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยวันนี้ (12 มี.ค.) ว่า อาจเร็วเกินไปที่จะมีข้อสรุปว่ากองทัพเรือควรกู้เรือขึ้นมาทั้งลำหรือไม่ "มันขึ้นอยู่กับว่ากองทัพเรือกู้หลักฐานอะไรขึ้นมาได้บ้าง และจะเปิดเผยหลักฐานทั้งหมดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทางกองทัพเรือไม่เคยเปิดหลักฐานพยานใด ๆ เลย แต่ถ้าหากเปิดเผยให้เห็นหลักฐานพยานทั้งหมด พร้อมกับระบุได้ชัดเจนว่าสาเหตุการอับปางจริง ๆ คืออะไร ก็อาจไม่จำเป็นต้องกู้เรือขึ้นมาทั้งหมด" สส.พรรคก้าวไกลยังบอกว่า ต้องติดตามรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือที่จะออกมาหลังจากนี้ว่ามีหน้าตาเช่นไร พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ทำโดยกองทัพเรือเองนั้น จะสามารถไว้ใจได้หรือไม่ว่าเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากจนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปิดเผยผลการสอบปากคำพยานกว่า 200 คน ซึ่งเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ต้นปี 2566 "ต่อจากนี้ทางกองทัพเรือไม่เหลือข้ออ้างใด ๆ ที่จะไม่เปิดเผยหลักฐานอีกต่อไปแล้ว" นายชยพล ระบุ พร้อมกับเน้นย้ำว่าทางกองทัพเรือต้องเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด ตั้งแต่รายละเอียดการสอบปากคำพยาน รายละเอียดจากหลักฐานพยานที่เก็บกู้จากเรือทั้งหมด ไม่ใช่เปิดข้อมูลเพียงรายงานสรุปการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น นายชยพล ยังบอกด้วยว่า การสอบสวนหาสาเหตุการอับปางที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา จะทำให้ทุกฝ่ายทราบว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดดังกล่าว โดยเขามองว่า หากเรือหลวงสุโขทัย "มันปกติจริง เรือก็คงไม่จม" "หากความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการซ่อมบำรุงจริง ก็ต้องมีการแก้ไขการซ่อมบำรุง เราก็ต้องมาดูว่าที่ผ่านมาที่ [กองทัพเรือ] เบิกเงินไป 2,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ซ่อมให้ดีขึ้นจริงหรือเปล่า และล่าสุดในปี 2567 ทางกองทัพเรือเบิกงบประมาณไป 4,000 ล้านบาท ก็ต้องดูด้วยว่าเงินที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว มันซ่อมถูกต้องและดีจริงหรือเปล่า มีหลักฐานประกอบหรือเปล่า เพราะถ้าเกิดเขาไม่มี Lesson learned (บทเรียน) จากเรื่องนี้เลย แค่ซ่อมตามความเคยชิน ไม่ได้ซ่อมตามคู่มือหรือหลักการ มันก็ต้องปรับปรุง หรือถ้ามีทุจริตเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์หรือค่าแรงซ่อมบำรุง แล้วปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ เรือฟริเกตของเราที่มีน้อยอยู่แล้วในตอนนี้ ก็อาจเกิดเหตุล่มก่อนเวลาอันควรอีก" นายชยพล กล่าวกับบีบีซีไทย สส.พรรคก้าวไกลยังมองว่า สำคัญที่สุดคือครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายต้องได้รับคำตอบว่าทำไมพวกเขาถึงสูญเสียคนที่รักไปโดยไม่มีวันกลับและอะไรคือสาเหตุที่พรากชีวิตกำลังพลเหล่านี้ "กองทัพต้องปรับทัศนคติว่า เขาคือกองทัพของประชาชน ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ จะมาขอเบิกเงินโดยไม่อธิบาย ไม่ชี้แจงประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีไม่ได้ สุดท้ายแล้วเมื่อนำของไปใช้งานอะไรที่ผิด ๆ พลาด ๆ พากำลังพลไปสูญเสีย รวมถึงเรือและยุทโธปกรณ์ ทหารที่สูญเสียชีวิตไปก็คือประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นกองทัพเรือก็ต้องชี้แจงให้กระจ่าง เพราะมันคือหน้าที่ของกองทัพต่อประชาชน" นายชยพล กล่าวทิ้งท้าย https://www.bbc.com/thai/articles/cll5qe9empdo
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|