เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 14-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศร้อนในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 14 - 17 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย

ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 19 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 18 ? 19 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 14-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ความหวังใหม่ของการพัฒนาปิโตรเลียมของกัมพูชา .............. โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี


Summary

- การพัฒนาปิโตรเลียมของกัมพูชาเริ่มต้นขึ้นนานแล้ว แต่สะดุดช่วงเขมรแดง แม้จะกลับมาฟื้นตัวในยุคของ ฮุน เซน จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่กัมพูชาก็ไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม

- ขณะนี้กัมพูชายังมีแหล่งปิโตรเลียมในทะเลในส่วนของตัวเหลืออีก 5 บล็อกที่ให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศทำการสำรวจไปแล้ว แต่ยังไม่มีบริษัทใดแสดงความคืบหน้ามากนัก

- หากประสบความสำเร็จในการเจรจากับไทยในการร่วมพัฒนา และแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนอีก 16,000 ตารางกิโลเมตร (เฉพาะในส่วนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน) น่าจะทำให้กัมพูชาพื้นที่ที่คาดว่าจะมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมมากขึ้นกว่าเดิม




ความพยายามครั้งใหม่ในการเปิดเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย และการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันระหว่างสองประเทศดูเหมือนจะจุดประกายความหวังให้กับการพัฒนาแหล่งพลังงานใต้ท้องทะเลของกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการขุดเจาะน้ำมันในทะเลแห่งแรกในประวัติศาสตร์ประสบกับความล้มเหลวภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือนเมื่อปี 2021

กัมพูชาเริ่มมองหาแหล่งพลังงานจากทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลพร้อมๆ กับไทย คือในห้วงทศวรรษ 1970 เมื่อมีการประกาศเขตไหล่ทวีปและให้สัมปทานแก่บริษัทต่างประเทศเข้าทำการสำรวจ โดยในยุคแรกๆ นั้น รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานกับบริษัทน้ำมันฝรั่งเศส คือ Elf du Cambodge ในพื้นที่ 80,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ในเขตที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นไหล่ทวีปของตน แล้วหลังจากนั้นก็มีบริษัทจากฮ่องกง สหรัฐฯ และแคนาดาเข้าร่วมกับ Elf เพื่อทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในทะเลกัมพูชาอีกหลายบริษัท

แต่บริษัทเหล่านั้นยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้จริงจัง ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกัมพูชาเมื่อเขมรแดงทำการปฏิวัติปลดปล่อยประเทศในปี 1975 และทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด แล้วตามมาด้วยสงครามกลางเมืองเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของกัมพูชา

จนกระทั่งย่างเข้าสู่ปลายทศวรรษ 1980 เมื่อสงครามเริ่มสงบลง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของแผนสันติภาพ จึงปรากฏว่ามีนักธรณีวิทยาชาวรัสเซียเริ่มเข้ามาทำการสำรวจและจัดทำแผนผังทางด้านปิโตรเลียมแบ่งพื้นที่ในเขตของกัมพูชา (คือพื้นที่ซึ่งอยู่นอกบริเวณที่ไทยอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปเมื่อปี 1973) ออกเป็น 5 บล็อก รัฐบาลกัมพูชาในเวลานั้นจึงเริ่มประกาศให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศเพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกครั้งหนึ่ง บริษัทเหล่านั้นได้แก่ Enterprise Oil, Premiere Oil, Campex, Idemitsu และ Woodside ได้เข้าสำรวจด้วยเทคนิคคลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อน ซึ่งทำให้รู้ว่าในทะเลกัมพูชานั้นมีศักยภาพทางด้านปิโตรเลียมอยู่พอประมาณ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรไปมากกว่านี้

การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเริ่มจริงจังมากขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 21 นี่เอง เมื่อการปิโตรเลียมกัมพูชา ได้ประกาศปรับปรุงแผนผังปิโตรเลียมใหม่โดยใช้อักษร A ถึง F เป็นชื่อบล็อกแทนหมายเลข และ ให้บริษัท Chevron และ MOECO เข้าสำรวจบล็อก A

บริษัท เชฟรอน และหุ้นส่วน ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในปี 2010 แต่ไม่สามารถตกลงเรื่องการแบ่งปันรายได้และการเสียภาษีกับรัฐบาลกัมพูชาได้ เชฟรอนจึงถอนตัวจากโครงการนี้ และขายหุ้นให้กับ บริษัท KrisEnergy จากสิงคโปร์ ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ได้เซ็นสัญญาผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ 3,140 ตารางกิโลเมตรของบล็อก A กับทางการกัมพูชาในปี 2014

KrisEnergy ได้เซ็นสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับทางการกัมพูชาจากการพัฒนาทรัพยากรปิโตเลียมในแหล่ง อัปสรา ในบล็อก A ในปี 2017 และเตรียมการผลิตน้ำมันจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมาประสบความสำเร็จในเดือนธันวาคม 2020 เมื่อ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเวลานั้น ได้ประกาศให้โลกรู้ว่า น้ำมันหยดแรกของกัมพูชาถูกดูดขึ้นจากใต้ทะเลแล้ว นับเป็นการเริ่มศักราชของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศได้เสียทีหลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนาน

ราวกับว่าดินแดนแห่งนี้ต้องคำสาป KrisEnergy ไม่สามารถผลิตน้ำมันจากแหล่งดังกล่าวให้ได้ 7,500 บาร์เรลต่อวันตามที่คาดหมายไว้ในตอนต้น แต่สามารถทำได้เพียงประมาณ 1,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น ทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินย่ำแย่ ขาดทุน 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 แถมมีหนี้สินอยู่อีกถึง 503 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องประสบกับภาวะล้มละลาย ปิดฉากการผลิตน้ำมันในกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 นับเวลาได้เพียง 6 เดือนนับแต่วันเริ่มการผลิต

แถมเรื่องที่สร้างความขมขื่นใจให้อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ก็เกิดขึ้นอีกหลังจากบริษัทล้มละลายแล้ว น้ำมันดิบจำนวน 300,000 บาร์เรล ที่บรรจุอยู่ในเรือบรรทุกน้ำมัน ก็ถูกเชิดหนีเข้าน่านน้ำไทย ก่อนที่จะออกไปลอยลำอยู่ที่เกาะบาตัมของอินโดนีเซีย รัฐบาลกัมพูชาใช้เวลาอีกนับปีในการไปตามน้ำมันนั้นกลับคืนมา ที่สุดก็ตัดสินใจขายเอาเงินแบ่งกันโดยให้รัฐบาลกัมพูชา 70 เปอร์เซ็นต์ ให้บริษัทเรือบรรทุกน้ำมัน 24 เปอร์เซ็นต์ และอีก 6 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือให้เป็นของบริษัทผู้ผลิตที่ล้มละลายไปแล้ว

ความล้มเหลวของ KrisEnergy สะท้อนปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้หลายประการ กล่าวคือ

ประการแรก ปัญหาการเมือง และสงคราม เป็นตัวฉุดรั้งที่สำคัญทำให้ขาดความต่อเนื่องในการสำรวจและขุดเจาะ

ประการที่สอง ทางการกัมพูชาให้สัมปทานในพื้นที่จำกัด ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ หรือการคาดหมายได้ จนต้องประสบกับภาวะขาดทุน

ประการที่สาม พื้นที่ด้านตะวันออกของ สันเกาะกระ (Ko Kra Ridge) ในอ่าวไทยนั้นประกอบไปด้วยแอ่งที่คาดว่าจะมีทรัพยากรปิโตรเลียมอยู่ 3 แอ่งด้วยกัน คือ แอ่งมาเลย์ ซึ่งเป็นแอ่งที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะมาเลเซีย รองลงมา คือ แอ่งปัตตานี อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย และแอ่งขะแมร์ของกัมพูชานั้นเล็กและตื้นที่สุด ซึ่งทำให้อนุมานได้ว่าน่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยู่น้อยที่สุดด้วย แม้ว่าลักษณะทางธรณีวิทยาไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง อายุ และชนิดของชั้นหินจะคล้ายกันก็ตาม

อย่างไรก็ตาม กัมพูชาก็ยังไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกต่อไป ล่าสุดรัฐบาลกัมพูชาประกาศเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2022 ว่าได้ให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแก่ บริษัท EnerCam Resource จากแคนาดา เพื่อขุดเจาะในบล็อก A ไปแล้ว แต่ผ่านไปปีกว่าแล้วยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าบริษัทใหม่นี้จะดำเนินการให้ได้ผลอย่างที่คาดหวัง

ในขณะที่กัมพูชายังมีแหล่งปิโตรเลียมในทะเลในส่วนของตัวเหลืออีก 5 บล็อกที่ให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศทำการสำรวจไปแล้ว แต่ยังไม่มีบริษัทใดแสดงความคืบหน้ามากนัก

ดังนั้น ถ้าหากประสบความสำเร็จในการเจรจากับไทยในการร่วมพัฒนา และแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนอีก 16,000 ตารางกิโลเมตร (เฉพาะในส่วนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน) ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเองก็ได้แบ่งเป็น 4 พื้นที่ และได้ให้สัมปทานกับบริษัทต่างชาติรวมทั้ง Conoco, Idemitsu และ Total ทับซ้อนกับไทยเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 1997 นั้นจะทำให้กัมพูชาพื้นที่ที่คาดว่าจะมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมมากขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญจะมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมจากไทยซึ่งมีประสบการณ์ที่ต่อเนื่องยาวมากกว่า ก็น่าจะสามารถช่วยต่อความหวังในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของกัมพูชาไปได้อีกพอสมควร แต่ทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่ทัศนคติของคนไทยอีกด้วยว่า อยากจะพัฒนาไปด้วยกันกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่ชาตินี้คงหนีกันไปไม่พ้น หรือว่าโลภเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว


https://plus.thairath.co.th/topic/po...society/104287
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 14-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


อธิบดี ทช.ลงมือขุดทรายเองดูตำแหน่งเหง้าหญ้าคา หาสาเหตุหญ้าทะเลตาย พบพะยูนหากินลำบากขึ้น



ตรัง-"ปิ่นสักก์" ลงสำรวจด่วน! วิกฤตพะยูนตรัง พลิกมุมหาสาเหตุใหม่ เจอกับตาตะกอนปริศนาทับถมแนวหญ้าทะเล นำตัวอย่างวิเคราะห์หาที่มา รู้ผลใน 1 เดือน เตรียมหารือกรมเจ้าท่าวางแนวทางป้องกันผลกระทบจากการขุดลอก แจงบินสำรวจรอบแรกพบประชากรพะยูนลดฮวบ เพราะสภาพอากาศไม่อำนวย-น้ำทะเลขุ่น เชื่อตัวเลขที่หายไปไม่ตาย อาจย้ายถิ่นฐานเพราะไม่พบซาก ระดมทีมใหญ่บินสำรวจใหม่ปลายเดือนนี้ ดึงกองทัพอากาศช่วย เชื่อไม่กระทบความเชื่อมั่นนานาชาติอนุรักษ์สัตว์ไซเตสเหลว

จากกรณีวิกฤตหญ้าทะเลตรัง เสื่อมโทรมตายลงเป็นจำนวนมากนับหมื่นๆไร่ ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศไทย รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ สาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น และการทับถมของดินตะกอนบริเวณแหล่งหญ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้ระดมทีมนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกระทิของประเทศลงพื้นที่สำรวจหาสาเหตุ

พบเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลลดต่ำลงมากขึ้นและนานกว่าปกติ ทำให้หญ้าผึ่งแดดนานขึ้น ขณะที่ชาวบ้านชายฝั่งในพื้นที่รวมทั้งเครือข่ายอนุรักษ์ ระบุอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือการทับถมของตะกอนทรายจากการขุดลอกร่องน้ำกันตังโดยกรมเจ้าท่าเพื่อการเดินเรือ แม้จะหยุดขุดไปแล้วเมื่อราวปี 2563 แต่ผลกระทบยังคงมีมาต่อเนื่อง

โดยถือว่าขณะนี้สถานการณ์หญ้าทะเลอยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลให้พะยูนเสี่ยงสูญพันธุ์ หรือย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการตายจากอุบัติเหตุ และภัยคุกคามอื่นๆได้ โดยระหว่างวันที่ 5-11 มีนาคม 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้ปฏิบัติภารกิจออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และ Hot spot ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร และวิธีการสำรวจทางเรือ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง ผลการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้น พบพะยูนเพียง 36 ตัว พบพะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 1 คู่ เป็นตัวเลขที่ลดฮวบลงจาการสำรวจในปี 2566 ที่ผ่านมาที่เคยพบถึง 194 ตัว
.
ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) พร้อมด้วย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กรม ทช. ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกรมทช. และทีมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ที่แต่งตั้งโดยอธิบดีกรมทช. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำรวจสถานการณ์ปัญหาวิกฤตหญ้าทะเลตรัง รวมทั้งสถานการณ์พะยูน อย่างเร่งด่วนอีกครั้ง

โดยคณะได้ล่องเรือจากท่าเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อสำรวจตามแนวโครงการขุดลอกร่องน้ำปากเมงของกรมเจ้าท่าที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ก่อนจะไปสมทบกับคณะทำงานที่กำลังลงพื้นที่สำรวจแปลงหญ้าทะเลแปลงใหญ่บริเวณหน้าเกาะมุกด์ อำเภอกันตังในช่วงน้ำลงต่ำสุด โดยปรากฏพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นบริเวณกว้าง ทั้งหญ้าคาทะเลที่มีใบขาดสั้นจากที่เคยมีความยาวเกือบ 1 เมตร บางส่วนทั้งใบและเหง้ามีภาวะแห้งตาย รวมทั้งหญ้าใบมะกรูดที่มีสภาพเสื่อมโทรม โดยคณะทำงานได้นำเอาเทคโนโลยีการบินสำรวจพะยูนด้วย UAV Lider scan และการสำรวจชายฝั่งด้วย USV เพื่อจัดทำแบบจำลองลักษณะสมุทรศาสตร์กายภาพท้องนำมาใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิ่นสักก์ ได้ลงมือขุดลงไปบนพื้นทรายเพื่อต้นหาตำแหน่งของเหง้าหญ้าคาทะเลด้วยตัวเอง โดยพบว่า ต้องขุดลึกลงไปมากกว่าปกติ เนื่องจากมีตะกอนทรายทับถมค่อนข้างหนา ต้องขุดลงไปราว 10-15 เซนติเมตร จึงจะเจอโคนใบและเหง้า จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่าง ทั้งหญ้าทะเล เหง้า และหน้าดินนำสู่การทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ ชนิดและที่มาของตะกอนต่อไป ขณะที่บริเวณน้ำตื้นใกล้ๆกัน

ปรากฏมีพะยูนตัวใหญ่กำลังลอยตัวกินหญ้าทะเลอยู่ โดยมีพฤติกรรมใช้ปากดุนไปตามพื้นทรายเพื่อหาหญ้าทะเลซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย ทำให้พะยูนต้องเคลื่อนที่เพื่อหาหญ้าอยู่ตลอดเวลา โดยนายปิ่นสักก์ได้ยืนสังเกตการณ์อยู่ไม่ไกลพร้อมถ่ายภาพบันทึกไว้ด้วย ทราบภายหลังว่าพะยูนตัวดังกล่าวเป็นเพศผู้ ชื่อ "เจ้าลาย" เป็นพะยูนดาวดังประจำเกาะมุกด์ ที่คุ้นเคยกับคน และมักจะหากินหญ้าทะเลอยู่ตามแนวชายฝั่ง

นายปิ่นสักก์ ให้สัมภาษณ์หลังลงพื้นที่ ว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทส. รับทราบปัญหาก็ได้สั่งการให้กรมทช.หาสาเหตุที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดและยั่งยืน พร้อมอนุมัติงบศึกษาวิจัยที่คณะทำงานเสนอไปทั้ง 8 โครงการ โดย 1 เดือนที่ผ่านมาเราได้ลงพื้นที่ พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริง โดยสมติฐานที่อยู่หลายด้าน เช่น จากโรค จากเต่ากิน จากตะกอนเปลี่ยนแปลง หรือ จากปัญหาโลกรวน แต่การลงพื้นที่รอบที่แล้วไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรคือสาเหตุหลัก ล่าสุดเราจึงแยกทีมทำงานกัน ทั้งทีมจากกรมทช. ทีมมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นปัญหาหลัก พบว่าเรื่องโรคน่าจะไม่ใช่สาเหตุหลัก เรื่องเต่าทะเลก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง แต่หลังเสื่อมโทรมแล้วเต่าที่มีปริมาณเท่าเดิมรวมทั้งพะยูนได้มารุมกินหญ้าทะเลที่เหลืออยู่

"ซึ่งสาเหตุหลักที่หลงเหลืออยู่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของตะกอน เพราะพบว่า หญ้าทะเลที่ตายเกิดจากการที่มันติดแห้งนานกว่าปกติ ทำให้ใบแห้งตาย แต่ในโซนที่อยู่ในทะเลไม่ได้ตายในอัตราส่วนเดียวกัน การสำรวจตะกอนในรอบนี้เราต้องการจะรู้ว่าน้ำและท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยเรามีทีมโดรนสำรวจในวงกว้าง ตรงไหนที่ติดแห้งสามารถใช้โดรนเรด้าวัดค่าได้เลย ตรงไหนที่อยู่ในน้ำเราใช้เรือสำรวจแบบติดคลื่นสัญญาณ มีการวัดระดับความลึกของท้องทะเลเพื่อให้รู้ว่าสาเหตุติดแห้งเป็นสาเหตุหลักหรือไม่ และพื้นที่ไหนที่ติดแห้งนาน โดยทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสำรวจและจำลองว่าตะกอนดังกล่าวมาจากไหน มาจากการขุดลอกหรือไม่ และทีมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะรวมข้อมูลตะกอนที่เปลี่ยนไปว่ามีผลต่อสัตว์หน้าดินหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อจะได้ให้ยาได้ถูกโรค" อธิบดีกรมทช.กล่าว
.
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงเรื่องตะกอนในทะเลมี 2 สมมติฐาน คือ การขุดลอกร่องน้ำ และ ปัญหาโลกร้อน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำต่ำลงผิดปกติ และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บางช่วงระดับน้ำต่ำกลงกว่า 40 เซนติเมตร ตอนนี้อาจารย์ในหลายมหาวิทยาลัยกำลังจะทำการศึกษาเรื่องตะกอนทะเลร่วมกัน เพื่อติดตามและวิเคราะห์องค์ประกอบของตะกอนทะเล เพื่อดูว่าตะกอนที่เพิ่มขึ้นเป็นตะกอนตัวเดียวกับตะกอนที่ขุดลอกหรือไม่ ซึ่งต้องใช้หลักวิชาการมายืนยัน โดยจะใช้เวลาวิเคราะห์ประมาณ 1 เดือน

ระหว่างนี้สำหรับการประสานระหว่างหน่วยงานในการขุดลอกที่อาจส่งผลกระทบ มาตรการต้องเป็นมาตรการที่อยู่ร่วมกัน กิจกรรมทำได้ แต่ต้องก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และไม่ทำกิจกรรมที่ไม่สมควรทำ เรามีการประกาศเขตสงวนอยู่แล้วว่าโครงการไหนทำได้ทำไม่ได้ บางโครงการต้องทำ EIA แต่ในการดำเนินการหากมีช่องโหว่ต้องไปปรับตรงนั้น และการทำกิจกรรมต่างๆต้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมทช.มีแผนจะไปหารือกับกรมเจ้าท่าอยู่แล้ว การสำรวจจึงถือว่ามีความจำเป็น เพราะต้องคุยกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ตอนนี้เรื่องตะกอนมันมีมิติว่าในการเก็บตัวอย่างในบางจุดมันมีองค์ประกอบที่มีสัดส่วนเป็นทรายเพิ่มขึ้น มีลักษณะเป็นเฉพาะจุด เป็นพื้นที่ แต่ไม่อยากให้ด่วนสรุป เพราะแหล่งหญ้าทะเลไม่ได้เสียหายเฉพาะที่จังหวัดตรัง แต่ยังเสียในจังหวัดกระบี่ และมาเลเซียก็มีปัญหาเดียวกับเรา
.
นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์วิกฤตในขณะนี้ด้านผลกระทบต่อสัตว์และผลกระทบต่อมนุษย์ เต่าทะเล และ พะยูน เป็นสัตว์สงวนที่เป็นสัตว์สำคัญของจังหวัดตรัง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราบินสำรวจในพื้นที่จังหวัดตรัง และ กระบี่ จากเดิมที่เราเคยพบกว่าร้อยตัว ตอนนี้พบเพียง 30 กว่าตัว แต่ขอเรียนว่าในสัปดาห์นั้นมีคลื่นลมและสภาพน้ำไม่ดี อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หาตัวพะยูนพบน้อยกว่าปกติ แต่มันก็อาจจะเคลื่อนย้ายไปที่อื่นจริง แต่เชื่อว่าส่วนที่หายไปนั้นไม่ตาย เพราะเราไม่พบซาก หากตายซากจะลอยและเครือข่ายชาวประมงจะพบ ซึ่งปลายเดือนมีนาคมนี้ เราจะบินสำรวจใหม่โดยทีมชุดใหญ่ จะบินให้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเดิม ใช้ทีมบินมากกว่า เดิมโดยกองทัพอากาศจะเข้ามาช่วยด้วย เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องหาคำตอบให้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพะยูน มีการย้ายแหล่งหากินออกนอกเขตอนุรักษ์ จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ นายปิ่นสักก์กล่าวว่า หากเคลื่อนย้ายไปที่อื่น ก็ต้องดูว่าพื้นที่นั้นมีภัยคุกคามหรือไม่ ขณะนี้เรายังเน้นย้ำถึงเรื่องการบินสำรวจพะยูนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน รวมทั้งดูว่าถ้าอพยพไปที่อื่นจะมีหญ้าทะเลพอหรือไม่ และเรามีการตรวจสุขภาพพะยูนทั้งซากที่เจอ และพะยูนในทะเล ดูว่าว่ายน้ำปกติหรือไม่ รูปร่างผิดปกติหรือไม่ หรือถ้าพบพะยูนป่วยเรากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง ได้ร่วมมือกันจะอนุบาลพะยูนอยู่แล้วโดยทีมสัตวแพทย์ เตรียมยา เตรียมแผนจัดการอาหารไว้แล้ว เมื่อถามว่า พะยูนเป็นสัตว์สงวน และสัตว์ตามบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์(ไซเตส) วิกฤตที่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อภาพการอนุรักษ์ของประเทศไทยหรือไม่ อธิบดีกรมทช.กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการระดมทุกสรรพกำลังในเรื่องเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันให้ต่างชาติเห็นว่าเราใส่ใจเรื่องพะยูน รวมทั้งดูแลบ้านให้พะยูนด้วย เป็นการทุ่มเทเพื่อดูแลอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทยและในจังหวัดตรัง


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4470440

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 14-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ภาวะโลกเดือดกับชะตากรรมของมหาสมุทร (ตอนที่ 2)
มหันตภัยปะการังฟอกขาว

....... โดย เพชร มโนปวิตร

"เมื่อไหร่เราจะหยุดเสแสร้งว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาปะการังน่าจะรอด ในเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแค่ 1 องศาเราก็เห็นปะการังในเกรทแบริเออร์รีฟฟอกขาวไปกว่า 90% แล้ว"

? Prof. Terry Hughes James Cook University




งานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports คาดการณ์ว่ามีโอกาสถึง 90% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2024 บางภูมิภาคจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่อื่น โดยเฉพาะพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ บางส่วนของอเมริกากลางและทะเลแคริบเบียน สิ่งที่ตามมานอกจากสภาวะแห้งแล้งรุนแรงและไฟป่าแล้ว ยังหมายถึงปรากฏการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าทะเลเดือด หรือภาวะคลื่นความร้อนใต้น้ำที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

อุณหภูมิที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับทำลายสถิติอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ปี 2023 ที่ผ่านมาก็เพิ่งจะถูกบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1850 ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดเมื่อปี 2016 ขาดลอยและเมื่อเทียบกับหลักฐานในอดีต อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมราว 1.5 องศาของปี 2023 น่าจะเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงที่สุดในรอบ 1 แสนปีที่ผ่านมา

"เราเคยเห็นแล้วว่าความร้อนระดับนี้จะสร้างปัญหารุนแรงให้กับโลกขนาดไหน เราจึงต้องการเตือนให้ทุกคนเตรียมตัว" Deliang Chen ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์โลกแห่งมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก หนึ่งในนักวิจัยกล่าว

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนบกและในทะเลคาดว่าจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจะทำให้แนวปะการังจำนวนมากตายลงในปีนี้ "ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแนวปะการังกำลังเข้าสู่ภาวะที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และเรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์" Ove Hoegh-Guldberg ศาสตราจารย์ด้านปะการังแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ให้ความเห็น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปีนี้อากาศจะร้อนมากผิดปกติเพราะเรายังอยู่ในช่วงของเอลนีโญ (El Nino) อันเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำและกระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นเป็นวงรอบทุก ๆ 5-7 ปี จากที่ในภาวะปกติกระแสลมที่รู้จักกันในชื่อลมสินค้าตะวันออก (Eastery Trade Wind) เคยพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อเมริกาใต้) ไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) โดยนำพากระแสน้ำอุ่นมาด้วย ทำให้เอเชียและออสเตรเลียได้รับความชุ่มชื้นฝนตกชุก ส่วนชายฝั่งของอเมริกาใต้ก็จะได้กระแสน้ำเย็นที่ไหลเข้าแทนที่ นำพาธาตุอาหารจากทะเลลึกขึ้นมาสู่น้ำตื้น ทำให้ปลาชุกชุม เป็นแหล่งอาหารของนกทะเลและการทำประมงชายฝั่งที่สำคัญ

แต่ระหว่างที่เกิดเอลนีโญ กระแสลมสินค้าตะวันออกอ่อนกำลัง กระแสลมพื้นผิวและกระแสน้ำจะเคลื่อนที่กลับทิศจากฝั่งตะวันตกไปสู่ตะวันออกของมหาสมุทรแทน ทำให้เกิดฝนตกหนักทางอเมริกาใต้ ส่วนออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดความแห้งแล้ง อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ

อุณหภูมิของมหาสมุทรเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนและส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เริ่มสังเกตว่าปะการังเกิดการฟอกขาวเป็นบริเวณกว้าง (Mass coral bleaching) บ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ

คนทั่วไปอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าปะการังความจริงเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่มีโครงสร้างเรียบง่ายแต่สามารถสร้างโครงสร้างแข็งอันสลับซับซ้อนใหญ่โต เกิดเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่หลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อใดที่อุณหภูมิสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปะการังจะเกิดความเครียด และขับเอาสาหร่าย zooxanthellae ที่คอยผลิตอาหารให้ปะการังออกจากตัวจนเหลือแต่โครงสร้างหินปูนขาว ๆ เหมือนโครงกระดูก

ถ้าอุณหภูมิไม่ลดลงในเร็ววัน ปะการังที่ฟอกขาวส่วนใหญ่จะตายลง บางโคโลนีอายุหลายสิบปี บางโคโลนีอาจมีอายุหลายร้อยปี อาจตายลงทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์ เปรียบไปจึงไม่ต่างอะไรกับไฟป่า ถ้าไฟไหม้ไม่หนักมาก ต้นไม้อาจจะฟื้นกลับมาได้เอง แต่ถ้าไหม้หนัก ไหม้นาน ป่าทั้งป่าก็ตายเรียบ และใช้เวลานานกว่าจะสามารถฟื้นตัวเองกลับมาได้

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงระดับโลกครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1998 ซึ่งฆ่าปะการังทั่วโลกไปราว 16% ภายในปีเดียว

ครั้งที่สองคือปี 2010 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อแนวปะการังทางฝั่งอันดามันของประเทศไทย ซึ่งทำให้ปะการังแข็งในหลายพื้นที่ตายลงเป็นจำนวนมาก แนวปะการังน้ำตื้นภายในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ที่เคยเป็นป่าดงดิบใต้น้ำกลายสภาพเป็นสุสานซากปะการังสุดลูกหูลูกตา ภายในเวลาไม่กี่เดือนแนวปะการังที่เคยอุดมสมบูรณ์ตายลงมากกว่า 90%

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานที่สุดระหว่างปี 2014-2017 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้แนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟ ที่มีความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตรเกิดฟอกขาวอย่างรุนแรงสองปีซ้อนคือในปี 2016 และ 2017 ทำให้แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ตายลงราวครึ่งหนึ่ง และยังเกิดฟอกขาวรุนแรงซ้ำอีกครั้งในปี 2020 และ 2022

ศาสตราจารย์ Terry Hughes แห่งมหาวิทยาลัย James Cook และคณะ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลปะการัง 100 แห่งทั่วโลก พบว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในช่วงหลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงกว่าเดิม จากที่เคยเกิดขึ้นครั้งใหญ่ทุก ๆ 25-30 ปีในช่วงต้นทศวรรษ 1980s กลับลดสั้นลงเหลือแค่ทุก ๆ 6 ปีโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน จนแทบไม่เปิดโอกาสให้ปะการังได้ฟื้นตัว อนาคตของระบบนิเวศที่มีความหลากหลายที่สุดในทะเลกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

"มันเหมือนการขึ้นชกกับนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวท คุณอาจจะยืนระยะได้สักยก แต่พอขึ้นยกสอง คุณมีโอกาสถูกน็อคแน่ ๆ" Dr. Mark Eakin แห่ง NOAA ผู้ดูแลระบบเตือนภัยปะการังฟอกขาว Coral Reef Watch กล่าว

"ปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น สอดรับกับโมเดลสภาพภูมิอากาศที่พยากรณ์ไว้เป๊ะ ๆ จากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ภายในกลางศตวรรษนี้ ปะการังส่วนใหญ่ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ฟอกขาวอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นของน้ำทะเลเกือบทุกปี ถ้าไม่ทุกปี"

แต่ก่อนอาจจะมีช่วงอุณหภูมิลดต่ำลงอันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ ปีที่ควรจะมีอุณหภูมิหนาวเย็น ร้อนกว่า ปีที่ควรจะร้อน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ?เดี๋ยวนี้ไม่มีปีที่หนาวเย็นอีกแล้ว (ในทะเล) มีแต่ปีที่ร้อน กับร้อนเกินไป? Dr Eakin กล่าว

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคืองานวิจัยของ Ove Hoegh-Guldberg และคณะ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยได้ทำการวิเคราะห์รูปแบบอุณหภูมิผิวทะเลในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาแล้วพบว่ามีโอกาสสูงมากที่จะเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตลอดปี 2024 นี้

"หน้าร้อนปีนี้อาจจะเป็นหน้าร้อนแรกที่พวกเราไม่เคยพบเจอมาก่อน และสิ่งที่น่ากลัวก็คือมันอาจเป็นจุดเปลี่ยน (tipping point) ที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีกแล้ว เราอาจพบกับพายุที่รุนแรงที่สุดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุณหภูมิกระโดดสูงขึ้นไปขนาดนั้น" Ove Hoegh-Guldberg ให้สัมภาษณ์ไว้ระหว่างการเข้าร่วมประชุมภาคีสมาชิกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวร้ายก็คือ งานสำรวจทางอากาศและใต้น้ำล่าสุดทางตอนใต้ของแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟพบว่า เริ่มมีการฟอกขาวเป็นบริเวณกว้างแล้ว ในขณะที่ทางตอนเหนือเริ่มมีการฟอกขาวเป็นบางจุด

ปะการังนอกจากจะมีความสวยงามอันนำมาสู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่ามหาศาล ระบบนิเวศประเภทนี้ยังมอบนิเวศบริการให้กับคนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ทั้งในแง่แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และปราการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นอกจากผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนแล้ว ในปัจจุบันปะการังหลายแห่งอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะขยะ ตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่ง และการทำประมงมากเกินขนาด รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่ไม่รับผิดชอบ

นักวิจัยด้านปะการังต่างเรียกร้องให้มีความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็ต้องลดผลกระทบต่าง ๆ จากกิจกรรมมนุษย์ให้มากที่สุด

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวคือหลักฐานสำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างไกลขนาดไหน

ถ้าโลกลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ทันการณ์? นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปรากฏการณ์ฟอกขาวจะฆ่าปะการังเกือบทั้งหมดภายใน 30 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประชากรกว่า 1 พันล้านคนที่พึ่งพาอาศัยแนวปะการังในการดำรงชีวิต จะเกิดอะไรขึ้นกับกุ้ง หอย ปู ปลา และเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวปีละกว่า 1.2 ล้านล้านบาท


https://decode.plus/20240301-coral-b...oral-bleaching

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 14-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


"ดร.ธรณ์" ปลื้ม "พัชรวาท" แก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม

ดร.ธรณ์ นักวิชาการด้านประมง ปลื้ม "พัชรวาท วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ และรมว.ทส. มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม พื้นที่ จ.ตรัง และจ.กระบี่ เพื่อฟื้นฟูกลับมาให้เป็นแหล่งอาหารของพะยูนต่อไป



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตนในฐานะคณะทำงานฯ รู้สึก ดีใจที่ได้เห็น นักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง จากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชนและมหาวิทยาลัย รวมถึงอาสาสมัครที่ได้มาร่วมกันแก้ไขปัญหาหญ้าทะเล ในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล

และต้องขอขอบคุณ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ห่วงใยในปัญหาดังกล่าว โดยได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับงานวิจัยให้กับคณะทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้ง 8 โครงการ ซึ่งถือเป็นการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านระบบนิเวศหญ้าทะเล ด้านสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ และด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งหญ้าทะเล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลจังหวัดตรังให้กลับคืนมาสมบูรณ์ โดยเร็วที่สุด และยั่งยืนอีกครั้ง

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามสถานการณ์แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ มาโดยตลอดพร้อมได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ รวมถึงได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาหญ้าทะเลตรังอย่างใกล้ชิด เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกรมทะเลได้ส่งทีมนักวิชาการร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยที่มีการสอนด้านทรัพยากรทางทะเล กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดตรัง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ออกสำรวจตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลและดินตะกอน เพื่อเร่งหาสาเหตุการเกิดปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ครอบคลุมในทุกภารกิจทั้งการบินสำรวจพะยูนด้วย UAV Lider scan การสำรวจชายฝั่งด้วย USV การจัดทำแบบจำลองลักษณะสมุทรศาสตร์กายภาพ การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพหญ้าทะเลเชิงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อหาสาเหตุการตายของหญ้าทะเลให้เร็วที่สุด ก่อนจะฟื้นฟูหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นแหล่งอาหารของพะยูนไทยต่อไป


https://www.nationtv.tv/news/pr/378941388

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:19


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger