#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วย ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 19-20 มีนาคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 17 - 18 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในช่วงวันที่ 19 - 21 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 22 - 23 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับในช่วงวันที่ 21 ? 22 มี.ค. 67 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 17 ? 18 มี.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ส่วนในช่วงวันที่ 19 ? 20 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ****************************************************************************************************** ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 3 (62/2567) (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 19-20 มีนาคม 2567) ในช่วงวันที่ 19-20 มีนาคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้ วันที่ 19 มีนาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด วันที่ 20 มีนาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และตาก ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ความหวังใหม่ของการพัฒนาปิโตรเลียมของกัมพูชา ............... โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี Summary - การพัฒนาปิโตรเลียมของกัมพูชาเริ่มต้นขึ้นนานแล้ว แต่สะดุดช่วงเขมรแดง แม้จะกลับมาฟื้นตัวในยุคของ ฮุน เซน จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่กัมพูชาก็ไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม - ขณะนี้กัมพูชายังมีแหล่งปิโตรเลียมในทะเลในส่วนของตัวเหลืออีก 5 บล็อกที่ให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศทำการสำรวจไปแล้ว แต่ยังไม่มีบริษัทใดแสดงความคืบหน้ามากนัก - หากประสบความสำเร็จในการเจรจากับไทยในการร่วมพัฒนา และแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนอีก 16,000 ตารางกิโลเมตร (เฉพาะในส่วนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน) น่าจะทำให้กัมพูชาพื้นที่ที่คาดว่าจะมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมมากขึ้นกว่าเดิม ความพยายามครั้งใหม่ในการเปิดเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย และการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันระหว่างสองประเทศดูเหมือนจะจุดประกายความหวังให้กับการพัฒนาแหล่งพลังงานใต้ท้องทะเลของกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการขุดเจาะน้ำมันในทะเลแห่งแรกในประวัติศาสตร์ประสบกับความล้มเหลวภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือนเมื่อปี 2021 กัมพูชาเริ่มมองหาแหล่งพลังงานจากทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลพร้อมๆ กับไทย คือในห้วงทศวรรษ 1970 เมื่อมีการประกาศเขตไหล่ทวีปและให้สัมปทานแก่บริษัทต่างประเทศเข้าทำการสำรวจ โดยในยุคแรกๆ นั้น รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานกับบริษัทน้ำมันฝรั่งเศส คือ Elf du Cambodge ในพื้นที่ 80,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ในเขตที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นไหล่ทวีปของตน แล้วหลังจากนั้นก็มีบริษัทจากฮ่องกง สหรัฐฯ และแคนาดาเข้าร่วมกับ Elf เพื่อทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในทะเลกัมพูชาอีกหลายบริษัท แต่บริษัทเหล่านั้นยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้จริงจัง ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกัมพูชาเมื่อเขมรแดงทำการปฏิวัติปลดปล่อยประเทศในปี 1975 และทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด แล้วตามมาด้วยสงครามกลางเมืองเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของกัมพูชา จนกระทั่งย่างเข้าสู่ปลายทศวรรษ 1980 เมื่อสงครามเริ่มสงบลง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของแผนสันติภาพ จึงปรากฏว่ามีนักธรณีวิทยาชาวรัสเซียเริ่มเข้ามาทำการสำรวจและจัดทำแผนผังทางด้านปิโตรเลียมแบ่งพื้นที่ในเขตของกัมพูชา (คือพื้นที่ซึ่งอยู่นอกบริเวณที่ไทยอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปเมื่อปี 1973) ออกเป็น 5 บล็อก รัฐบาลกัมพูชาในเวลานั้นจึงเริ่มประกาศให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศเพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกครั้งหนึ่ง บริษัทเหล่านั้นได้แก่ Enterprise Oil, Premiere Oil, Campex, Idemitsu และ Woodside ได้เข้าสำรวจด้วยเทคนิคคลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อน ซึ่งทำให้รู้ว่าในทะเลกัมพูชานั้นมีศักยภาพทางด้านปิโตรเลียมอยู่พอประมาณ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรไปมากกว่านี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเริ่มจริงจังมากขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 21 นี่เอง เมื่อการปิโตรเลียมกัมพูชา ได้ประกาศปรับปรุงแผนผังปิโตรเลียมใหม่โดยใช้อักษร A ถึง F เป็นชื่อบล็อกแทนหมายเลข และ ให้บริษัท Chevron และ MOECO เข้าสำรวจบล็อก A บริษัท เชฟรอน และหุ้นส่วน ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในปี 2010 แต่ไม่สามารถตกลงเรื่องการแบ่งปันรายได้และการเสียภาษีกับรัฐบาลกัมพูชาได้ เชฟรอนจึงถอนตัวจากโครงการนี้ และขายหุ้นให้กับ บริษัท KrisEnergy จากสิงคโปร์ ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ได้เซ็นสัญญาผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ 3,140 ตารางกิโลเมตรของบล็อก A กับทางการกัมพูชาในปี 2014 KrisEnergy ได้เซ็นสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับทางการกัมพูชาจากการพัฒนาทรัพยากรปิโตเลียมในแหล่ง อัปสรา ในบล็อก A ในปี 2017 และเตรียมการผลิตน้ำมันจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมาประสบความสำเร็จในเดือนธันวาคม 2020 เมื่อ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเวลานั้น ได้ประกาศให้โลกรู้ว่า น้ำมันหยดแรกของกัมพูชาถูกดูดขึ้นจากใต้ทะเลแล้ว นับเป็นการเริ่มศักราชของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศได้เสียทีหลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ราวกับว่าดินแดนแห่งนี้ต้องคำสาป KrisEnergy ไม่สามารถผลิตน้ำมันจากแหล่งดังกล่าวให้ได้ 7,500 บาร์เรลต่อวันตามที่คาดหมายไว้ในตอนต้น แต่สามารถทำได้เพียงประมาณ 1,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น ทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินย่ำแย่ ขาดทุน 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 แถมมีหนี้สินอยู่อีกถึง 503 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องประสบกับภาวะล้มละลาย ปิดฉากการผลิตน้ำมันในกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 นับเวลาได้เพียง 6 เดือนนับแต่วันเริ่มการผลิต แถมเรื่องที่สร้างความขมขื่นใจให้อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ก็เกิดขึ้นอีกหลังจากบริษัทล้มละลายแล้ว น้ำมันดิบจำนวน 300,000 บาร์เรล ที่บรรจุอยู่ในเรือบรรทุกน้ำมัน ก็ถูกเชิดหนีเข้าน่านน้ำไทย ก่อนที่จะออกไปลอยลำอยู่ที่เกาะบาตัมของอินโดนีเซีย รัฐบาลกัมพูชาใช้เวลาอีกนับปีในการไปตามน้ำมันนั้นกลับคืนมา ที่สุดก็ตัดสินใจขายเอาเงินแบ่งกันโดยให้รัฐบาลกัมพูชา 70 เปอร์เซ็นต์ ให้บริษัทเรือบรรทุกน้ำมัน 24 เปอร์เซ็นต์ และอีก 6 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือให้เป็นของบริษัทผู้ผลิตที่ล้มละลายไปแล้ว ความล้มเหลวของ KrisEnergy สะท้อนปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้หลายประการ กล่าวคือ ประการแรก ปัญหาการเมือง และสงคราม เป็นตัวฉุดรั้งที่สำคัญทำให้ขาดความต่อเนื่องในการสำรวจและขุดเจาะ ประการที่สอง ทางการกัมพูชาให้สัมปทานในพื้นที่จำกัด ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ หรือการคาดหมายได้ จนต้องประสบกับภาวะขาดทุน ประการที่สาม พื้นที่ด้านตะวันออกของ สันเกาะกระ (Ko Kra Ridge) ในอ่าวไทยนั้นประกอบไปด้วยแอ่งที่คาดว่าจะมีทรัพยากรปิโตรเลียมอยู่ 3 แอ่งด้วยกัน คือ แอ่งมาเลย์ ซึ่งเป็นแอ่งที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะมาเลเซีย รองลงมา คือ แอ่งปัตตานี อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย และแอ่งขะแมร์ของกัมพูชานั้นเล็กและตื้นที่สุด ซึ่งทำให้อนุมานได้ว่าน่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยู่น้อยที่สุดด้วย แม้ว่าลักษณะทางธรณีวิทยาไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง อายุ และชนิดของชั้นหินจะคล้ายกันก็ตาม อย่างไรก็ตาม กัมพูชาก็ยังไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกต่อไป ล่าสุดรัฐบาลกัมพูชาประกาศเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2022 ว่าได้ให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแก่ บริษัท EnerCam Resource จากแคนาดา เพื่อขุดเจาะในบล็อก A ไปแล้ว แต่ผ่านไปปีกว่าแล้วยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าบริษัทใหม่นี้จะดำเนินการให้ได้ผลอย่างที่คาดหวัง ในขณะที่กัมพูชายังมีแหล่งปิโตรเลียมในทะเลในส่วนของตัวเหลืออีก 5 บล็อกที่ให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศทำการสำรวจไปแล้ว แต่ยังไม่มีบริษัทใดแสดงความคืบหน้ามากนัก ดังนั้น ถ้าหากประสบความสำเร็จในการเจรจากับไทยในการร่วมพัฒนา และแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนอีก 16,000 ตารางกิโลเมตร (เฉพาะในส่วนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน) ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเองก็ได้แบ่งเป็น 4 พื้นที่ และได้ให้สัมปทานกับบริษัทต่างชาติรวมทั้ง Conoco, Idemitsu และ Total ทับซ้อนกับไทยเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 1997 นั้นจะทำให้กัมพูชาพื้นที่ที่คาดว่าจะมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมมากขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญจะมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมจากไทยซึ่งมีประสบการณ์ที่ต่อเนื่องยาวมากกว่า ก็น่าจะสามารถช่วยต่อความหวังในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของกัมพูชาไปได้อีกพอสมควร แต่ทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่ทัศนคติของคนไทยอีกด้วยว่า อยากจะพัฒนาไปด้วยกันกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่ชาตินี้คงหนีกันไปไม่พ้น หรือว่าโลภเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว https://plus.thairath.co.th/topic/po...0xJnJ1bGU9MQ==
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ดีเดย์! อุทยานแห่งชาติฯหมู่เกาะพีพี ลุยจัดระเบียบการท่องเที่ยว 'อ่าวปิเละ' หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กระบี่ ดีเดย์ ประชาสัมพันธ์ มาตรการ - ข้อปฏิบัติ การเข้าแหล่งท่องเที่ยว อ่าวปิเละ 11 ข้อ ตามนโยบายลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หน.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า ตามนโยบาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 สั่งการให้อุทยานแห่งชาติฯ จัดการดูแลสถานที่แหล่งท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ให้ควบคุมดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว บริหารจัดการเพื่อจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ให้เกิดภาพความแออัด โดย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี นำโดยนายยุทธพงค์ พร้อมด้วยนายสิรณัฐ สก็อต ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายจินดา ศรีสุพพัตพงษ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง และพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ 25 นาย นำเรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือยางท้องแข็ง 2 ลำ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ มาตรการและข้อปฏิบัติว่าด้วยการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวอ่าวปิเละ ตามประกาศอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ลงฉบับวันที่ 13 มีนาคม 2567 ซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตรการในการท่องเที่ยวในอ่าวปิเละ ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 เป็นวันแรก ซึ่งที่มาในการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในอ่าวปิเละในครั้งนี้ สืบเนื่องมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 67 อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ดำเนินการจัดประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชมรมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี กลุ่มพิทักษ์พีพี ชมรมเรือหางยาวเกาะพีพี ผู้ประกอบการเรือหางยาว และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ณ ห้องประชุมโรงแรม พีพี อันดามัน บีช รีสอร์ท (เกาะพีพี) จ.กระบี่ ในที่ประชุม และได้มีมติที่ร่วมกันที่ในการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในอ่าวปิเละลากูน เพื่อลดปัญหาความหนาแน่นของเรือที่เกิดจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีภูมิทัศน์ไม่สวยงาม เกิดมลพิษ ทั้งทางด้านเสียงจากเครื่องยนต์เรือ และมลพิษทางอากาศ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้าไปได้รับโดยตรง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะหาแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งอุทยานแห่งชาติได้ดำเนินการในการติดตั้งทุ่นจอดเรือ และทุ่นไข่ปลาเพื่อกำหนดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำได้ในพื้นที่ปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว หลังจากการประชุมดังกล่าวได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ประธานในที่ประชุม โดยมติที่ประชุมเห็นชอบ ให้เร่งดำเนินการจัดระเบียบการท่องเที่ยวภายในอ่าวปิเละ เพื่อลดความแออัด และความหนาแน่นของเรือนำเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการลดผลกระทบที่อาจส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยากแก่การฟื้นฟูภายหลัง จึงได้กำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติว่าด้วยการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวอ่าวปิเละ จำนวน 11 ข้อ ดังนี้ 1. เรือทุกลำที่เข้าดำเนินกิจกรรมบริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในอ่าวปิเละ เกาะพีพีเล ต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2. ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเรือสปีดโบ๊ท ไปยังเรือหางยาวภายในบริเวณอ่าวปิเละ กิจกรรมการถ่ายลำจากเรือขนาดใหญ่ไปยังเรือหางยาวต้องดำเนินการนอกอ่าวปิเละ หรือบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น 3. การประกอบกิจกรรมเล่นน้ำ ดำน้ำตื้น (Snorkeling) ของนักท่องเที่ยว ให้กระทำได้ในบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น 4. ห้ามมิให้มีการประกอบกิจกรรมพายเรือคายัค เซิร์ฟบอร์ด ซับบอร์ดทุกชนิด หรืออุปกรณ์สำหรับกิจกรรมทางน้ำชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียง 5. ห้ามเรือทุกชนิดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปจอดเรือภายในอ่าวปิเละ การจอดเรือต้องจอดในบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น 6. เรือที่เข้าไปประกอบกิจกรรมในอ่าวปิเละ ต้องใช้ความเร็วในการเดินเรือไม่เกิน 3 นอต 7. เรือที่เข้าไปยังอุทยานแห่งชาติต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีการรั่วไหลของน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันเครื่อง เครื่องยนต์ไม่มีเสียงดัง หรือควันดำที่ผิดวิสัย 8. การจอดเรือต้องจอดในบริเวณทุ่นจอดเรือ หรือบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้และห้ามไม่ให้เรือทุกลำทิ้งสมอในแนวปะการัง 9. ห้ามมิให้เก็บหา นำออกไปหรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความเสียหายแก่ปะการัง สัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานแห่งชาติ 10. เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแนวปะการังในเส้นทางเข้า-ออกเรือ โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าอ่าวในช่วงน้ำขึ้นลงตามช่วงเวลา กำหนดให้การเดินเข้า-ออก ของเรือ ต้องปฏิบัติตามมาตรการแนบท้ายประกาศฉบับนี้ 11. บุคคลเข้าไปในอุทยานแห่งชาติต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น หรือตนเอง หรือเป็นการรบกวนและทำให้เกิดความเดือดร้อนประการใดแก่บุคคลหรือสัตว์ป่า หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งห้ามมิให้ผู้นั้นกระทำการดังกล่าวต่อไปได้ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการ มัคคุเทศก์ ไกด์นำเที่ยว ผู้ให้บริการเรือหางยาว รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยว ถึงมาตรการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเรือหางยาว ผู้ประกอบการเรือสปีดโบ๊ทบนเกาะพีพี รวมถึง กัปตันเรือ และมักคุเทศก์ และผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่เข้ามาท่องเที่ยว ที่จะให้ความร่วมกับอุทยานแห่งชาติดำเนินการตามข้อปฏิบัติดำเนินการตามแนวทางและกฎระเบียบที่กำหนด เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับการจัดการที่เหมาะสม สามารถใช้อำนวยประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่และของประเทศ ให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เข้ามาท่องเที่ยวยังเกาะพีพี ได้รับความประทับใจทั้งในเรื่องของความสวยงานของแหล่งท่องเที่ยว มาตรการจัดการความปลอดภัยในการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยว เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป https://www.dailynews.co.th/news/3265544/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
อช.หาดเจ้าไหม เผยภาพธรรมชาติงดงาม พบหญ้าทะเลยังอุดมสมบูรณ์ ภาพ: แฟนเพจอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง โพสต์ภาพธรรมชาติน่าประทับใจ โดยระบุว่า "เดินเล่นชายหาด ฝั่งทิศใต้ของเขาแบนะ" ซึ่งประกอบไปด้วย เขาแบนะ, หญ้าทะเล, ปูทหาร, ดาวทะเล ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ยังให้ความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเลเพิ่มเติมแก่ผู้อ่านว่า หญ้าทะเลสามารถเพาะได้โดยต้องเก็บเมล็ด แต่จะยากตอนปลูกให้รอด ขึ้นเองจะดีกว่า ทั้งหมดก็มีปัจจัยกระแสน้ำ ความอุ่นของน้ำช่วงนี้ที่ร้อน อีกทั้งช่วงมรสุมตะกอนดินทรายจะฝังกลบ นอกจากนี้ หากไปเหยียบหญ้าทะเล ยอดหัก หรือพับ จะขาดในที่สุดเมื่อเจอคลื่น จะเติบโตต่อแบบช้าๆ หรือไม่เติบโต สำหรับ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีเนื้อที่ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา แม้ชื่ออุทยานฯ ขึ้นต้นด้วยคำว่า "หาด" แต่ที่นี่กลับมีทั้งพื้นที่ชายหาดและกลุ่มเกาะมากมายอีก 7 แห่ง ในท้องทะเลอันดามันของจังหวัดตรัง โดยสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ดินสถานที่ท่องเที่ยวของอุทยานฯ คือ หาดปากเมง หาดฉางหลาง หาดยาว หาดหยงหลิง หาดสั้น หาดเจ้าไหม ถ้ำเจ้าไหม อีกส่วนหนึ่ง คือ เกาะน้อยใหญ่อีก 7 เกาะในทะเลตรัง ได้แก่ เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะปลิง เกาะแหวน เกาะเมง และเกาะเจ้าไหม https://mgronline.com/travel/detail/9670000023760
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
ป่าไม้ไทยหายแสนไร่ต่อปี! ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงทุกปี จากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของกรมป่าไม้ มีข้อมูลว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2562-2566 พื้นที่ป่าหายไปเฉลี่ยประมาณปีละ 1 แสนกว่าไร่ เฉพาะปี 2566 เพียงปีเดียวป่าหายไปถึง 317,819.20 ไร่ สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง อันดับต้นๆ จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน รองลงมาเกิดจากปัญหาไฟป่า พื้นที่ป่าไม้ของไทยที่ยังเหลืออยู่ หากดูจากระบบบัญชีข้อมูลกรมป่าไม้ ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้รวมทั้งหมด 101,818,155.7 ไร่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 31.47 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด โดยสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เป็นป่าปฐมภูมิคิดเป็นร้อยละ 82 และที่เหลือเป็นป่าปลูกคิดเป็นร้อยละ 18 ในจำนวนนี้พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สะท้อนปัญหาวิกฤตป่าไม้ไทยและตั้งคำถามถึงโครงการพัฒนาของรัฐที่ปักธงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และผืนป่ามรดกโลกผ่านงาน ?ปกป้องคลองมะเดื่อ? หยุดสร้างเขื่อนในป่ามรดกโลก เขาใหญ่ ที่วัดบ้านดง จ.นครนายก เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคมของทุกปี โอกาสเดียวกันนี้ เครือข่ายนักอนุรักษ์ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติโครงการเขื่อนคลองมะเดื่อและเขื่อนรอบๆ ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และปกป้องพื้นที่มรดกโลก หยุดการละเมิดสิทธิชุมชนด้วยการผลักดันโครงการเขื่อน และนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้จัดการทรัพยากรธรมชาติ อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ป่าไม้ไทยลดลงทุกปี ปี 63 พบว่าป่าลดลงจากปี 62 ประมาณ 1.3 แสนไร่ ปี 63 เทียบปี 64 ป่าหายไป 1.4 แสนไร่ ปี 65 พบป่าลดลงจากปี 64 ประมาณ 7.3 หมื่นไร่ แต่ปี 66 เทียบปี 65 ป่าหายไปถึง 3.1 แสนไร่ ถ้ารวมตัวเลขที่เสียพื้นที่ป่าไม้ไทยไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราว 665,900 ไร่ ปัจจัยสำคัญกิจกรรมที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง จากการศึกษาของคณะวนศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 1 การชลประทานหรือสร้างเขื่อน รองลงมาการสร้างถนน เหมืองแร่ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ขุดดินขุดทราย ระเบิดย่อยหิน ปิโตรเลียม ล่าสุด มีผลการศึกษาใหม่ของนักวนศาสตร์ มก. มีตัวเลขการใช้พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งกิจกรรม คือ การจัดสรรที่ดินทำกิน อีกทั้งระบุปี 66 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเป็นการเกิดไฟป่าลุกลามในหลายพื้นที่ " ทุกกิจกรรมล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ กรณีไฟ เราพยายามพูดอยู่ตลอดว่าเป็นไฟที่คนจุด ส่วนโครงการชลประทานทำให้เราเห็นภาพตัวเลขชัดเจนป่าหายไปเท่าไหร่ อย่างโครงการสร้างเขื่อน 7 แห่ง ในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถ้าสร้างเขื่อนทั้งหมดนี้ พื้นที่ป่าไทยจะหายไปอย่างน้อยเกือบ 20,000 ไร่ ปกติโครงการเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจะต้องมีการปลูกป่าทดแทนสองเท่าในพื้นที่ แต่มีข้อมูลวิชาการปลูกไม้สักเส้นรอบวง 100 เซนติเมตร ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 60 ปี ไม้ตะแบกเปลือกบางไม่ต่ำกว่า 80 ปี พูดง่าย แต่การปลูกทดแทนให้ได้โครงสร้างใกล้เคียงสภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่องง่าย " อรยุพา กล่าว เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า นโยบายป่าไม้แห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับปัจจุบันตั้งเป้าหมายประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บอกจะต้องมีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศด้วยซ้ำ นั่นคือ หมุดหมายที่รัฐวางไว้ แต่กลับมีโครงการชลประทาน ตัดถนนในป่า มันคือ การลดทอนพื้นที่ป่า เป็นความย้อนแย้งในการทำนโยบาย รัฐไปให้ปฏิญญาระดับโลก จะเพิ่มพื้นที่ป่า ยุติตัดไม้ทำลายป่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล้วนทำให้ผืนป่าไทยลดลงทั้งนั้น ถ้าประเทศไทยจะทำให้ได้ตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เราจะต้องมีพื้นที่ป่าทั้งประเทศให้ได้ 129 ล้านไร่ นับจากจำนวนป่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบันแล้ว ไทยจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อีก 27 ล้านไร่ เป็นตัวเลขที่ท้าทายของรัฐบาลที่มีโครงการจะทำลายป่าอยู่มาก สำหรับผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่มีโครงการเขื่อนคลองมะเดื่อจ่ออยู่ มีพื้นที่รวม 3,846,875 ไร่ ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อช.ทับลาน อช.ปางสีดา อช.ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ผืนป่าแห่งนี้มีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นป่าต้นน้ำลำธาร เป็นถิ่นอาศัยสัตว์ป่านานาชนิด นี่คือ เหตุผลสำคัญที่นักอนุรักษ์และภาคประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องป่า อรยุพาเผยหากสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ น้ำจะท่วมพื้นที่ของชุมชน 600 ไร่ และพื้นที่ป่าจะหายไป 1,800 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นผืนป่าของเขาใหญ่ประมาณ 1,100 ไร่ อีกพื้นที่น่ากังวลที่สุด คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว ในอุทยานแห่งชาติตาพระยา พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่รวม 4,753 ไร่ หากสร้างเขื่อนน้ำจะท่วมผืนป่า 4,579 ไร่ พื้นที่สร้างอ่างค่อนข้างเป็นเขตเงาฝน และด้านทิศใต้มีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อยู่แล้ว จากการลงพื้นที่เกิดคำถามว่าหากสร้างอ่างเก็บน้ำจะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ขณะนี้ขั้นตอนสร้างอยู่ระหว่างเตรียมขอเพิกถอนพื้นที่ ต้องช่วยกันติดตามสถานการณ์ " อุทยานฯ ตาพระยา เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะเสือโคร่ง พื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนมีข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งเดินบริเวณนี้ เหมือนเป็นพื้นที่แห่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง รองลงมาจากผืนป่าตะวันตก นักอนุรักษ์ และกรมอุทยานฯ มีโครงการทางเชื่อมผืนป่า หวังให้เสือโคร่งข้ามมาป่าเขาใหญ่ซึ่งปัจจุบันเขาใหญ่ไม่พบเสือโคร่ง แต่กลับมีสารพัดเขื่อนจะผุดขึ้นมากลางป่าที่เสือโคร่งใช้หากินอยู่ บริเวณนั้นยังมีทุ่งกระทิง เป็นพื้นที่ราบ มีกระทิง วัวแดง น่าเสียดายถ้าป่ามรดกโลกอันอุดมสมบูรณ์จะถูกทำลายไป อีกสิ่งที่กังวลสัตว์ป่ามีพื้นที่หากินลดลง จะสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากขึ้น ทุกวันนี้ช้างมีพื้นที่เหมาะสมให้อยู่อาศัยเพียง 8 % ทั้งประเทศ อย่างแผนสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ในพื้นที่มีช้างอาศัย 60 ตัว แต่ก็เป็นพื้นที่เป้าหมาย " อรยุพาย้ำคุณค่าป่ามรดกโลก จากสถานการณ์ป่าไม้ไทยในวินาทีนี้ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ แสดงทัศนะว่า ทุกวันนี้เราเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม ผจญฝุ่น PM2.5 เจอสถานการณ์ไฟป่า แพลงตอนบูมกระจายในหลายพื้นที่ ทุกปีไทยทำลายสถิติคลื่นความร้อน ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ปี 67 ร้อนทุบสถิติแตะ 45 องศาเซลเซียส ตนมองว่า การลดลงของพื้นป่า ไม่ใช่แต่สูญเสียป่าไม้ แต่ส่งผลกระทบใกล้ตัว เรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพถึงขั้นวิกฤต เราก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกมาแล้ว 6 ด้าน จากทั้งหมด 9 ด้าน ระดับโลก รวมถึงประเทศไทย วิกฤตมาก เราจะเดินลงเหวไปเรื่อยๆ ใช่มั้ย จะไม่ช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ " ส่วนนโยบายการใช้พื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ อยากให้รัฐทบทวนกลับมาดูโครงการแหล่งน้ำที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วว่า สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ อ่างเก็บน้ำไม่พอหรือระบบจัดการน้ำอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมไม่พอกันแน่ ข้อมูลสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมแล้วกว่า 13,400 กว่าโครงการ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย อยากให้ใช้อย่างเต็มศักยภาพ ส่วนแผนโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้กลับไปทบทวนคำมั่นสัญญาและเป้าหมายพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าที่วางไว้ " อรยุพา กล่าว พลังชุมชนปกป้องผืนป่า ไพบูลย์ จิตเสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.สาริกา นครนายก กล่าวว่า พวกเรากังวลมากเกี่ยวกับเขื่อนคลองมะเดื่อนี้ ถ้ามีการสร้างขึ้นมาจริง ๆ ช้างก็จะเสียพื้นที่ราบกว้างใหญ่ รวมถึงแนวชายป่าที่ใช้หากิน แล้วก็จะพากันลงมาที่หมู่บ้านและสวนผลไม้ของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะออกไปไกลถึงตัวเมืองเลย ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างก็จะยิ่งเลวร้ายลง ส่วนเรื่องค่าชดเชย ความเสียหายและระบบนิเวศที่จะฟื้นฟู ที่ทางหน่วยงานมักล่าวอ้างก่อนการสร้างเขื่อน ตนเห็นมาหลายเขื่อนแล้ว บางเขื่อนสร้างเสร็จมา 6 ปียังไม่ได้มีการฟื้นฟูป่าเลย สักตารางนิ้วเดียว อย่างไรก็ดี โครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำมีจำนวนมาก ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไม่สามารถเข้าไปจับตาอย่างใกล้ชิดได้ทุกโครงการ แต่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ 7 อ่างเก็บน้ำในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ , อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด, อ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง และโครงการอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ https://www.thaipost.net/news-update/553725/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
เตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ชี้รบกวน-ทำลาย กรมทะเลฯ แจ้งนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" เกาะสุกร จ.ตรัง ชี้เป็นการรบกวน ทำลาย วันที่ 16 มี.ค.กรณีเพจแนวหน้าออนไลน์ ได้ลงข่าวว่า ที่เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พบกลุ่ม "กัลปังหาแดง" หรือ "Sea Fan" โผล่พ้นน้ำหลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด เผย 1 ปีมีให้เห็นแค่ไม่กี่ครั้งและเป็นกัลปังหาแดงกลุ่มเดียวใน จ.ตรังที่พบในเขตน้ำตื้น กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร ที่นักท่องเที่ยวแห่ชมความสวยงามตื่นตาตื่นใจ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยหลังทราบข่าว และแจ้งว่า กัลปังหา (Sea Fan) คือสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง กัลปังหา ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวกัลปังหา (polyp) ที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างของกัลปังหา และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายพัดและซี่หวีแล้วแต่ชนิด กิ่งโครงสร้างนี้ตัวกัลปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเองและเป็นสารจำพวกเขาสัตว์ (keratin) ชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้ และจะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกัลปังหาออกไป โดยกัลปังหาจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน ดังนั้น การรบกวนกัลปังหาและแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น การสัมผัส การเหยียบย่ำ การทำให้เกิดการฟุ้งของตะกอนจะเป็นการรบกวนการหาอาหารและการดำรงชีวิตของกัลปังหาได้ อีกทั้ง กัลปังหามีประโยชน์โดยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดโดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน แต่ด้วยการที่กัลปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเกิดค่านิยมผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำมาประดับตู้ปลา นำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน หรือแม้แต่นำส่วนที่เป็นแกนในสีดำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง เครื่องประดับ ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ในปัจจุบัน สามารถรับรองได้เลยว่ากัลปังหามีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้จริงตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ อีกทั้งในระบบนิเวศตามธรรมชาตินั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำลายหรือย้ายกัลปังหาจากแหล่งที่อยู่เดิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่มีที่หลบสัตว์นักล่า จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้ นอกจากนี้ กัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุต และในหนึ่งต้นนั้นมีตัวกัลปังหาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำลายกัลปังหาหนึ่งต้นเท่ากับทำลายตัวกัลปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว และเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย ดร. ปิ่นสักก์ กล่าวต่ออีกว่า กัลปังหาเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ทำการค้าขาย หรือนำเขา-ส่งออกโดยเด็ดขาด (ทั้งที่ยังมีชีวิต หรือเป็นซาก) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามครอบครอบ เว้นแต่ผู้ใด้รับอนุญาตให้ครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ประกอบการนำเที่ยว ไม่ควรเข้าใกล้ กัลปังหาแดง เกาะสุกร อันจะเป็นการรบกวนทำลาย มาร่วมด้วยช่วยกัน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เก็บความประทับใจกลับบ้าน รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่สืบไป https://www.thaipbs.or.th/news/content/338111
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|