#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนในบริเวณภาคเหนือระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนควรดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1?2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เนื่องจากมีฝนเพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 20 ? 21 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่ในช่วงวันที่ 21 - 22 มี.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 22 - 26 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 20 - 21 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ และภาคกลางระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 22 ? 26 มี.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นบางพื้นที่ไว้ด้วย
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
ระทึก เรือบรรทุกสารเคมีคว่ำ ใกล้ชายฝั่งญี่ปุ่น ลูกเรือดับสลดอย่างน้อย 7 ศพ เรือบรรทุกสารเคมีติดธงเกาหลีใต้ ประสบเหตุคว่ำใกล้ชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น ทั้งที่จอดทอดสมอ หลบภัยท้องทะเลปั่นป่วนลมกระโชกรุนแรง ลูกเรือเสียชีวิตอย่างน้อย 7 ศพ สูญหาย 2 ราย เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เรือบรรทุกสารเคมี ติดธงเกาหลีใต้ ชื่อ ?Keoyoung Sun?(เคียวยอง ซัน) ประสบเหตุคว่ำ ใกล้เกาะมัตซูรี นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียว ประมาณ 1,000 กิโลเมตร เมื่อเวลาประมาณ 07.00 น.วันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเหตุให้ลูกเรือเสียชีวิตสลด 7 ศพ ยังสูญหายอีก 2 ราย หลังรับแจ้งเหตุร้าย หน่วยยามฝั่งของญี่ปุ่นได้ส่งเรือหลายลำ และเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือของเรือ Keoyoung Sun ที่ประสบภัยทันที และเบื้องต้น มีรายงานเจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งญี่ปุ่นสามารถช่วยลูกเรือได้ 9 คน จากลูกเรือบนเรือบรรทุกสารเคมีลำนี้ ทั้งหมด 11 คน โดยลูกเรือ 2 คน รวมทั้งกัปตันเรือ สัญชาติเกาหลีใต้ ขณะที่มีลูกเรือชาวอินโดนีเซีย 8 คน และจีน 1 คน ก่อนต่อมา มีการยืนยันว่าลูกเรือเสียชีวิตแล้ว 7 ราย และยังสูญหายอีก 2 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งญี่ปุ่นกำลังเร่งค้นหา ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ NHK ในญี่ปุ่นระบุว่า ลูกเรือบนเรือเคียวยอง ซัน ได้แจ้งหน่วยยามฝั่งว่า เรือกำลังเอียงขณะที่จอดทอดสมอ ใกล้กับเกาะมัตซูรี ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย คลื่นลมรุนแรง โดยสถานีโทรทัศน์ NHK ได้เผยแพร่คลิปนาทีที่เรือบรรทุกสารเคมีเคียวยองซันคว่ำ จนเห็นท้องเรือซึ่งทาสีแดง ท่ามกลางคลื่นสูง กระแสลมกระโชกแรงมาก ต่อมา เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า เรือเคียวยอง ซัน บรรทุกสารอะคริลิค หนัก 980 ตัน และยังตรวจไม่พบว่าสารเคมีเหล่านี้รั่วไหลออกมาจากเรือ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังศึกษาเพื่อหามาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมหากสารเคมีอาจรั่วออกมาจากเรือลำนี้ ที่มา : Aljazeeera https://www.thairath.co.th/news/foreign/2772095
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ
นทท.แห่ชมปรากฏการณ์น้ำตาสีน้ำเงินในทะเลฝูเจี้ยน นักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่ชมปรากฏการณ์บลูเทียร์ หรือน้ำตาสีน้ำเงิน ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาดูได้ยาก ที่ปีนี้พบเห็นบริเวณชายฝั่งเกาะผิงตัน มณฑลฝูเจี้ยนของจีน ภาพของน้ำทะเลสีน้ำเงินสะท้อนแสง หรือที่เรียกกันว่า ปรากฏการณ์บลูเทียร์ น้ำตาสีน้ำเงิน เกิดขึ้นบริเวณทะเลใกล้เกาะผิงตัน มณฑลฝูเจี้ยนของจีน ซึ่งเกิดจากตะไคร่น้ำที่มีชื่อว่า ซี สปาร์คเกิล ซึ่งมีความสามารถในการเรืองแสงได้ แต่สังเคราะห์แสงไม่ได้ และมักจะพบได้จำนวนมากใกล้ๆ เกาะ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของเกลือ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ จนทำให้สาหร่ายประเภทนี้สามารถเติบโตขึ้นมาได้เอง โดยปกติจะเกิดปรากฏการณ์นี้ในราวต้นเดือนเมษายนต่อกันไปจนถึงประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่ปีนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ปรากฏการณ์บลูเทียร์ นับเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ขึ้นมาอย่างสวยงาม ยิ่งในช่วงเวลากลางคืน สีฟ้าเรืองแสงจะตัดกับขอบท้องฟ้า ทำให้เหมือนอยู่ในห้วงอวกาศ หรือบางคนก็บอกว่าเหมือนได้เห็นทางช้างเผือก ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่ไปจับจองพื้นที่เพื่อถ่ายภาพเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก. ที่มา : เอพี https://www.thairath.co.th/news/foreign/2771946
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
สุดสมบูรณ์! "โลกใต้ท้องทะเล" ที่เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ อช.หาดวนกร พาชมความสวยงามของใต้ท้องทะเลที่เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดวนกร จ.ปรเจวบคีรีขันธ์ ที่มีความสมบูรณ์ของดอกไม้ทะเลเป็นอย่างมาก ภาพจาก ผู้พิทัก วนกร เฟซบุ๊กเพจ Hatwanakorn National Park อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์ โพสต์ภาพสุดสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเลที่เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ พร้อมข้อความว่า วันนี้แอดมินพาชมโลกใต้น้ำ เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ พาชมปลาการ์ตูน และดอกไม้ทะเลสีม่วง สำหรับ "เกาะจาน" อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเกาะที่ขึ้นชื่อในเรื่องของจุดดำน้ำตื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้ทะเล ทั้งดงดอกไม้ทะเล ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาการ์ตูน รวมทั้งฝูงปลาน้อยใหญ่ต่างๆ ทั้ง ปลานกแก้ว ปลากระเบนจุดฟ้า ปลาผีเสื้อปากยาว หอยมือเสือ ส่วนปะการัง มีทั้งเขากวาง ปะการังพุ่มดอกไม้ ปะการังโต๊ะ ปะการังถ้วยสีส้ม ปะการังผักกาดใบใหญ่ ปะการังดอกกระหล่ำ เป็นต้น เกาะท้ายทรีย์ ห่างจากเกาะจานไปเพียง 300 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ บริเวณรอบ ๆ เกาะก็มีธรรมชาติใต้ท้องทะเลที่สวยงามเช่นกัน ทั้ง 2 ที่ สามารถดำน้ำได้บริเวณหน้าเกาะและพักผ่อนบนชายหาดได้ แนะนำว่าใครที่สนใจไปเที่ยวชมที่นี่ต้องจองล่วงหน้าเพราะต้องนั่งเรือ ซึ่งเรือออกเป็นช่วงเวลา และด้วยเหตุผลที่มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้ง 2 ที่จึงมีความเป็นส่วนตัวและสงบ ร่มรื่น งดงาม ตามสมญา "พระเอกแห่งอ่าวไทย" https://mgronline.com/travel/detail/9670000024794
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
วิจารณ์สนั่น "ตั้ม" ไฮโซหนุ่มจับหอยมือเสือโชว์ แม้จะอ้างว่าถ่ายที่วานูอาตู พบไฮโซหนุ่ม ณฐกร แจ้งเร็ว ยูทูบเบอร์ชื่อดัง จับหอยมือเสือที่เกาะแห่งหนึ่งในวานูอาตู ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเสี่ยงสูญพันธุ์ในบัญชีอนุสัญญาไซเตส ชาวเน็ตเสียงแตก ทั้งไม่เหมาะสม ทั้งไปยุ่งอะไรด้วย แต่พบวานูอาตูเข้าร่วมสมาชิกไซเตสเมื่อปี 32 วันนี้ (20 มี.ค.) กลายเป็นที่วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ เมื่อเฟซบุ๊ก สาระตั้ม - thumbntk ของ ตั้ม ณฐกร แจ้งเร็ว ยูทูบเบอร์ชื่อดังและไฮโซหนุ่มทายาทผู้บริหารหมู่บ้านนิชดาธานี มูลค่าหมื่นล้านบาทในจังหวัดนนทบุรี โพสต์ภาพขณะที่ตนเองถือหอยมือเสือ พร้อมข้อความระบุว่า "ดำน้ำจับหอยมือเสือยักษ์ด้วยมือเปล่า ห้ามมาม่า (ดรามา) นะ นี่ไม่ใช่เมืองไทย ผมบอกไว้ก่อนเลยนะครับ กันดรามา EP ผมถ่ายทำที่ประเทศ Vanuatu (วานูอาตู) กับรายการใช้เงินซื้อความลำบาก ที่เกาะ Kwakea Island ด้วยทะเลที่ยังสมบูรณ์มาก แนวปะการังน้ำตื้นมีหลากหลายสายพันธุ์ หอยทั้งเล็กและใหญ่ให้เราลิ้มลอง แต่บอกเลยมีเยอะก็จริงแต่ไม่ได้แปลว่าหาง่ายนะครับ ต้องคอยสังเกต และพร้อมงม คนท้องถิ่นจะจับมากินทุกครั้งทุกคราว แต่เขาจะไม่เก็บเยอะเกินไปนะครับเอาแค่พอกิน งานนี้ผมได้มีโอกาสลองกินครั้งแรก บอกเลยว่า ว้าวมาก" อย่างไรก็ตาม แม้จะถ่ายทำนอกประเทศ แต่ก็เป็นที่วิจารณ์ในโลกโซเชียลฯ ว่าสมควรหรือไม่กับการทำลายระบบนิเวศ เพราะหอยมือเสือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเสี่ยงสูญพันธุ์ในบัญชีอนุสัญญาไซเตส (CITES) ให้เป็นหนึ่งในสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือหายากในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ แต่ก็มีผู้สนับสนุนนายตั้มตอบโต้ว่า เป็นเรื่องปกติของต่างประเทศ ที่คนไทยไม่ทำกันบ้าง และมองว่าคนที่ออกมาด่าเป็นพวกโลกสวย ฯลฯ ล่าสุดเพจที่ชื่อว่า "ปั่น" โพสต์ข้อความระบุว่า สถานะของหอยมือเสือในปัจจุบันได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครอง (CITES) และรู้หรือไม่ว่าประเทศวานูอาตูได้เข้าร่วมสมาชิกไซเตสเมื่อ 17 ก.ค. 2532 และมีผลบังคับใช้วันที่ 15 ต.ค. ปีเดียวกัน รวมทั้งยังอ้างอิงข่าวจากองค์กรทางทะเลแห่งชาติวานูอาตู เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 ว่าหอยมือเสือยักษ์ถูกพบอีกครั้งในบางเกาะของวานูอาตู หลังจากที่สายพันธุ์นี้สูญพันธุ์ไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวโดยคนมากเกินไป https://mgronline.com/onlinesection/.../9670000024661
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
หัวหน้าอุทยานฯ เผยภาพรวมท่องเที่ยวเกาะช้างเพิ่มขึ้น เก็บค่าเข้า 13 ล้านบาทใน 5 เดือน 20 มี.ค.2567 - นายนิรมิตร สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด เปิดเผยว่า หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมาได้เข้ามายกระดับการทำงานในอุทยานฯเกาะช้างใหม่ในหลายด้านโดยเฉพาะในเรื่องการให้บริการนักท่องเที่ยวท่่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง โดยเฉพาะ พื้นที่เป็นในน้ำตกคลองพลู น้ำตกธานมะยม และแหล่งดำน้ำดูประการังในหมู่เกาะรัง ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานฯเกาะช้างเพิ่มขึ้นจำนวนมาก กล่าวว่าคือ ระหว่างเดือนตุลาคม 2566-เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวน 100,361 คน ทำให้มีรายได้จำนวน 13,036,900 บาท "ต้องบอกว่า ในภาพรวมของการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ที่เกาะช้างมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าที่เกาะเสม็ดหรือที่แห่งใด แม้จะมีปัญหาเรื่องการเดินทางขึ้นหรือลงจากเกาะช้างที่ต้องใช้เวลารอขึ้นเรือเฟอร์รี่แต่ไม่รอนานมากเป็น 2-3 ชั่วโมง แต่ 30 นาทีหรือชั่วโมงก็รับได้ ส่วนในช่วงสงกรานต์นั้น จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนกับนักท่องเที่ยวยังคงทรงตัว คือ ต่างชาติจะมีวันละ 300-400 คน ซึ่งหากเป็นช่วงหยุดยาวหรือเทศกาลนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากช่วงวันปกติที่มี เฉลี่ย 200 คน จะเพิ่มขึ้นถึง 400-500 คน แต่ในช่วงสงกรานต์สัดส่วนจะเปลี่ยนไปเพราะนักท่องเที่ยวไทยจะเพิ่มขึ้นมากอีกมาก" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสนใจมีความหลากหลายทั้งการเดินทางเข้าเที่ยวในนำตกแต่ละแห่ง การเดินป่า และการดำน้ำชมประการัง รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอุทยานฯโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งกิจกรามเหล่านี้ทกให้นักท่องเที่ยวพักและเที่ยวในเกาะช้างเพิ่มระยะเวลานานขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนเรื่องที่ผู้ประกอบการตำบลเกาะช้างใต้ยังไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์มากขึ้นนั้น คงจะไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปเที่ยวในทุกแหล่งท่องเที่ยว แต่เพียงแต่ช่วงกลางคืนนักท่องเที่ยวจะค้างในพื้นที่ตำบลเกาะช้างมากกว่า เพียงแต่กิจกรรมท่องเที่ยวในตำบลเกาะช้างใต้เป็นกิจกรรมของกลุ่มเฉพาะมากกว่า เช่น การเที่ยวลงเรือมาด การไปเที่ยวเกาะง่าม หรือ ป่าชายเลน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มข้อมูลด้านการประชาสัมพันธ์มากขึ้น https://www.thaipost.net/district-news/555893/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#7
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'กรมประมง' กำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ 'ปลาหมอสีคางดำ' ฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพ กรมประมง เอาจริงเปิดกิจกรรม "ลงแขก ลงคลอง" นำร่องจับปลาหมอสีคางดำ 5 จังหวัด กำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ 'ปลาหมอสีคางดำ' เพื่อลดการแพร่ระบาด เร่งฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ จังหวัดสมุทรสงครามและประมงจังหวัดฯ นำร่องเปิดกิจกรรม "ลงแขก ลงคลอง" เดินหน้าจริงจัง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยผนึกกำลังทุกภาคส่วนเริ่มโครงการพิชิตปลาหมอสีคางดำในแม่น้ำลำคลองของจังหวัด เพื่อลดการแพร่ระบาดและสนับสนุนการนำไปเพิ่มมูลค่าอย่างเหมาะสม ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสัตว์น้ำพื้นถิ่นและสมดุลระบบนิเวศ นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า การเปิดตัวกิจกรรม "ลงแขก ลงคลอง" ในวันนี้ เป็นการเดินหน้าตามโครงการ "ปฏิบัติการล่า ปลาหมอสีคางดำ" ซึ่ง Kick Off ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกัน 5 จังหวัดนำร่อง คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเป้าหมายในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับกิจกรรมจับปลาของจังหวัดสมุทรสงครามครั้งนี้ เป็นหนึ่งในปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อปกป้องผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรและทรัพยากรประมงของประเทศ ทั้งนี้เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ชาวประมง เกษตรกร ชุมชน และข้าราชการ ในการฟื้นฟูสมดุลสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำ และเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน 'กรมประมง' กำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ 'ปลาหมอสีคางดำ' ฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพรวมทั้งได้มีการลากอวนจับปลาหมอสีคางดำในบ่อพักน้ำ บริเวณสระน้ำด้านข้างศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยประมงจังหวัดสมุทรสงคราม มีเป้าหมายในการจัดกิจกรรมนี้เดือนละ 1 ครั้ง ตลอดปี 2567 ควบคู่กับการจัดแสดงนิทรรศการชีววิทยาของปลาหมอสีคางดำ และการชิมอาหารจากการแปรรูปปลาหมอสีคางดำ "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกันและแก้ปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมและชุมชน ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและลดจำนวนปลาหมอสีคางดำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด" นายบัณฑิตกล่าว สำหรับแนวทางหลักในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1.การจับปลาด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งอวนล้อม อวนลาก และทอดแห 2.การปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพง 3.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า 4.นำไปทำปลาป่น เป็นอาหารสัตว์ 'กรมประมง' กำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ 'ปลาหมอสีคางดำ' ฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งที่ผ่านมาประมงจังหวัดสมุทรสงคราม มีการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ เพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำและช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อ เช่น การปล่อยปลากะพงขาว ปลาอีกง และมอบกากชา เพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำ ตลอดจนแนะนำให้ใช้เครื่องมือประมงอย่างเหมาะสมในการจับปลาแต่ละพื้นที่ทั้งทอดแหและลากอวน โดยดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561- ปัจจุบัน นายบัณฑิต กล่าวว่า กรมประมงยังได้หาแนวทางในการนำปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ปลาแดดเดียว น้ำปลา ผงคลุกข้าวแบบญี่ปุ่น ปุ๋ยน้ำ และเมนูอาหารหลายชนิด รวมถึงอาหารทานเล่น อาทิ ไส้อั่ว ปั้นขลิบ ข้าวเกรียบ ปลาแผ่นบด ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรและคนในชุมชน รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ สร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายการกำจัดปริมาณปลาหมอสีคางดำ https://www.bangkokbiznews.com/environment/1118664
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#8
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Nation
เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง กับกุญแจสำคัญแก้วิกฤต เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง พบเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน พร้อมกางแผนรับมือแก้วิกฤต ขณะที่ อธิบดีกรมทะเลคาดพะยูนตรังอาจเคลื่อนย้ายที่หากิน จ่อบินสำรวจใหม่ปลาย มี.ค.นี้ ด้าน "มูลนิธิอันดามัน" จี้ ตามคุ้มครองเจ้าหมูน้ำย้ายที่หากินออกนอกเขตอนุรักษ์ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าว หรือไม่ก็อาจผ่านตาตอนไถฟีดในโลกออนไลน์ ถึงการพบ "พะยูน" เข้ามาเกยตื้น ใกล้เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง จ.ตรัง ในสภาพลำตัวซูบยาว ผอมโซ โดยทางเพจ ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง ได้โพสต์รูปภาพและข้อความ ระบุว่า "จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย. ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆสภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ" คนที่ได้เห็นภาพนี้ จำนวนไม่น้อยต่างสะเทือนใจ พร้อมกับความรู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์พะยูนในทะเลตรัง คำถามที่ตามต่อมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเล เพราะพะยูนตัวที่เข้ามาเกยตื้น มีสภาพผอมโซ จนสุดท้ายแล้วเขาก็จากโลกนี้ไป ซึ่งนับเป็น "พะยูน" ตรัง ตัวที่ 4 แล้ว ที่ตายลงในช่วงปี 2567 นี้ ถึงแม้ว่าจะผ่านมาไม่ถึง 3 เดือนก็ตาม มิหนำซ้ำ จากผลการบินสำรวจของคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเล ที่สำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง เบื้องต้น เจอประชากรพะยูนทะเลตรังลดฮวบ หากเทียบกับในปี 2566 "Nation STORY" ขอนำเรื่องราวของหญ้าทะเลและพะยูนตรัง เมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับวิกฤต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเคลื่อนไหวกับแผนรับมืออย่างไร แล้วผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุที่หญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรม คืออะไรกันแน่? สาเหตุ "พะยูน" เกยตื้นส่วนใหญ่ เกิดจากอาการป่วย อย่างที่กล่าวในตอนต้น พะยูนตัวที่ผอมได้ตายไป ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ได้นำซากพะยูนดังกล่าวมาทำการผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย หลังผ่าพิสูจน์ 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตายว่า สัตว์ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร พร้อมทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว ที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย.-ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง "จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี พบสาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะซากจะเน่า น้อยมากที่จะเจอซากที่สด เมื่อเจอซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก จะเห็นได้ว่าตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้น ชี้ชัดว่ามันป่วย ส่วนพะยูนตัวดังกล่าวผอม เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ มันป่วยแล้วทำให้มันผอม หรือ มันอดอาหารแล้วเหนี่ยวนำทำให้มันป่วย ซึ่งจากการชันสูตรในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่นี่พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง" นายสันติ กล่าว หญ้าทะเลเสื่อมโทรมหนัก กระทบเจ้าหมูน้ำตรัง จากที่พบว่าพะยูนเกยตื้นตายในปีนี้แล้ว 4 ตัว เบื้องต้นมีการคาดสาเหตุหลัก เกิดจากปัญหาสภาพระบบนิเวศในทะเลที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นดินปกคลุมด้วยตะกอนดิน หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนทั่วทะเลตรังเสื่อมโทรมหนัก รวมไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งผลทำให้พะยูนและสัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลาหายไป จนชาวบ้านไม่มีแหล่งหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งเหมือนที่ผ่านๆมา เกี่ยวกับเรื่องพะยูนตรังและหญ้าทะเลนั้น ทาง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุถึง 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ อ.ธรณ์ ยกขึ้นมาให้เห็น คือ หญ้าทะเลตรัง/กระบี่ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน อาจมีรายงานเรื่องขุดลอกหรือทรายกลบที่ลิบง แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ในอดีตและการขุดลอกหยุดไปหลายปีแล้ว ขณะที่หญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 2565-2567 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด นอกจากนี้ ยังมีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (พังงา) อีกหลายพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติม อ.ธรณ์ ยังได้โพสต์ภาพหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปรกติ น้ำยังร้อน/แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว หญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด ยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องโรค (เชื้อรา) พะยูน 220 ตัวอยู่ที่ตรัง/กระบี่ (ศรีบอยา) เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ เร่งหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม - เจอประชากรพะยูนทะเลตรังลดฮวบ ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ดูเหมือนจะค่อยๆ ชัดขึ้น เมื่อกรมทะเลและชายฝั่ง ส่งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด ซึ่งทางคณะทำงานฯ ได้แบ่งการทำงานทั้งภาคพื้นดินในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลหน้าดินบริเวณแหล่งหญ้า ติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรัง (Line Transect, เก็บตัวอย่างดินตะกอน) เก็บข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์กายภาพในพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม เก็บตัวอย่างการปนเปื้อนของโลหะหนัก (Heavy metals) และ มลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน(Persistent Organic Pollutants) ในตะกอนดินและหญ้าทะเล นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้สำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จากทั้งทางอากาศและทางเรือ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง เบื้องต้น เจอพะยูนเพียง 36 ตัว พบพะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 1 คู่ โลมาหลังโหนก 6 ตัว พบโลมาคู่แม่-ลูก 2 คู่ และเต่าทะเล 38 ตัว หากเทียบกับในปี 2566 พบพะยูน 194 ตัว คู่แม่ลูกถึง 12 คู่ จึงเชื่อว่าพะยูนทะเลตรังกำลังเผชิญวิกฤต มีโอกาสจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังในอนาคตอันใกล้นี้ ผลสรุปเบื้องต้น หญ้าทะเลตายเพราะอะไร - กางแผนรับมือวิกฤต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงติดตามแก้ไขปัญหาวิกฤตหญ้าทะเลและพะยูนในทะเลตรังอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) สั่ง ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทส. ลงพื้นที่ จ.ตรัง ร่วมกับ นายนิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชี รายชื่อ พรรคก้าวไกล , นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) , ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเร่งแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม จากนั้น คณะของ ร.อ.รชฏ ได้แถลงข่าวกับนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง , นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน , เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล , กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังมีการลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนและหญ้าทะเลตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยระบุว่า จากการติดตามบริเวณเกาะลิบงนั้น พบว่า หญ้าทะเลตายไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับน้ำลดลง30-40 เซนติเมตร เมื่อน้ำลด ทำให้หญ้าทะเลตากแห้งเป็นเวลานาน ทำให้หญ้าทะเลตาย รวมทั้งตะกอนดิน ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ที่แน่ชัด ร.อ.รชฏ ผู้ช่วย รมว.ทส. บอกว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหญ้าทะเล และผลกระทบที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องเร่งพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมโดยใช้หลักการ ตลอดจนเร่งการศึกษาวิจัยด้านการฟื้นฟูและเสริมความแข็งแรงของระบบนิเวศให้หญ้าทะเลได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้โดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการพักฟื้นเราก็สามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวได้โดยไม่สร้างมลพิษหรือภัยคุกคามเพิ่มเติม จึงขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือและโรงแรม ใน 3 แนวทาง คือ 1. ให้เดินเรือหรือสัญจรทางน้ำอย่างระมัดระวัง ไม่ทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล 2. งดปล่อยน้ำเสียลงในทะเล 3. ไม่ก่อสร้างที่จะก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล เพราะแหล่งหญ้าทะเล และพะยูน อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติ ที่ต้องคงอยู่คู่กับท้องทะเลตรังสืบไป (ต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#9
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก Nation
เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง กับกุญแจสำคัญแก้วิกฤต ........... ต่อ ขณะที่ นายปิ่นสักก์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า คณะทำงานได้จัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นการเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากหญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงที่เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศทางทะเลไทย จากการทำงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้นพบการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง สรุปสาเหตุหลักและสาเหตุประกอบอื่นๆ ได้แก่ เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง กับกุญแจสำคัญแก้วิกฤต 1.สาเหตุหลักที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมตายลงเป็นวงกว้าง คือระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าปกติ เป็นสาเหตุหลักทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศที่รุนแรงและแปรปรวนมากขึ้น และพบกรณีหญ้าทะเลตายในลักษณะดังกล่าวในบริเวณอ่าวไทย ทั้งระยอง ตราด จันทบุรี รวมถึงในมาเลเซียด้วย หญ้าทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศหนึ่งในทะเลย่อมได้รับผลกระทบจากการต้องผึ่งแห้งและโดนแดดนานขึ้น ซึ่งจากการนำข้อมูลของกรมอุทกศาสตร์มีศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในปี 2567นี้ พบว่า ระดับน้ำทะเลมีความเปลี่ยนแปลงลดลงต่ำกว่าปกติของทุกปีเฉลี่ย 30 เซนติเมตร เรียกว่าเกิดภาวะการกระเพื่อมของน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใกล้หาดมาก เห็นได้จากกรณีที่ปรากฏ "กัลปังหาแดง" โผล่พ้นน้ำในพื้นที่เกาะสุกร จังหวัดตรัง ทำให้หญ้าทะเลที่เป็นพืชนั้นสูงผึ่งแดดแห้งและตายลงเป็นวงกว้าง ขณะที่หญ้าทะเลที่อยู่ในน้ำกลับปกติดี แต่อาจมีใบที่ขาดสั้นเพราะเมื่อแหล่งหญ้าใหญ่เสื่อมโทรม ทั้งพะยูนและเต่าทะเลก็มารุมกันกัดกินเป็นอาหาร 2.การทับถมและการเปลี่ยนสภาพของตะกอนในแหล่งหญ้าทะเล จากการศึกษาตะกอน ในเบื้องต้นบริเวณท่าเทียบเรือเกาะมุกด์ พบว่าลักษณะตะกอนชั้นบน 0-4 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดปนเลนและเปลือกหอย มีสีขาวปนเทา มีลักษณะอัดแน่นทำให้พื้นค่อนข้างแน่นแข็งไม่มีการจมตัว ตะกอนชั้น 3-6 เซนติเมตร เป็นชั้นทรายละเอียดอัดแน่นมีสีดำเล็กน้อยของไฮโดรเจนซัลไฟด์ พบเศษเหง้าหญ้าทะเลตายเล็กน้อย ที่ชั้นตะกอน 5-6 เซนติเมตรเป็นทรายละเอียดอัดแน่น คล้ายกับตะกอนดินที่พบหญ้าทะเลตายที่เกาะลิบง ทั้งนี้ การศึกษาการปนเปื้อนของโลหะหนัก และมลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน ในตะกอนดินและหญ้าทะเลจากบริเวณแนวหญ้าทะเลจังหวัดตรัง เก็บตัวอย่างตะกอนผิวหน้าและชั้นตะกอน พบว่าลักษณะของตะกอนส่วนใหญ่เป็นทราย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะตะกอนจากอดีตที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทราย ซึ่งเราไม่ตัดประเด็นของตะกอนทับถมทิ้ง และกำลังศึกษาหาแหล่งที่มาของตะกอนดังกล่าวว่ามาจากพื้นที่ใด 3.การระบาดของโรคในหญ้าทะเล หรือปัจจัยอื่นๆ ทางทีมวิจัยมีการศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไปอีก โดยอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้หญ้าทะเลอ่อนแอมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น การผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลง อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่แผ่ขยายเป็นพื้นที่กว้าง โดยเริ่มมีรายงานพบหญ้าทะเลที่ใบขาดในประเทศอื่นๆด้วย ทำให้ สมมุติฐานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความเป็นไปได้สูง แนวทางฟื้นฟูคงต้องให้ระบบนิเวศฟื้นตัวและมีความพร้อม ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ต้องใช้เวลา 4-5 ปี ให้ธรรมชาติฟื้นฟูด้วยตัวเอง หรือเมื่อเข้าสู่ช่วงฝนตก ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงคงที่ เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง กับกุญแจสำคัญแก้วิกฤต และเราพบว่าหญ้าทะเลในทั้งหมด 13 ชนิด นอกจากหญ้าคาทะเลที่เสื่อมโทรมเป็นหลักแล้ว หญ้าชนิดอื่นก็เริ่มมีการฟื้นตัว เช่น หญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นแหล่งอาหารหนึ่งของพะยูน เป็นต้น แต่ขณะนี้จำเป็นต้องเตรียมการคัดเลือกและสะสมพันธุ์หญ้าทะเลที่มีความทนทานสูง โดยรวบรวมจากหลายพื้นที่เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมของหญ้าทะเล การพัฒนาเทคนิคการลงปลูกในแหล่งธรรมชาติ โดยใช้ต้นแบบจากแปลงปลูกที่ประสบความสำเร็จแล้ว อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการเพาะขยายพันธุ์โดยใช้บ่อพักน้ำทะเลหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อสร้างความพร้อมในการนำไปปลูกเสริมในสภาพธรรมชาติต่อไป "ส่วนการบินสำรวจประชากรพะยูนล่าสุดที่ลดลงมาอย่างน่ากังวล พบเพียง 36 ตัว จากปี 2566 ที่พบถึง 194 ตัว กรมยังขอไม่ยืนยันตัวเลขนี้ เพราะในช่วงการบินสำรวจดังกล่าวสภาพอากาศและน้ำไม่อำนวย และไม่พบซากพะยูนที่หายไปเป็นร้อยตัว จึงสันนิษฐานว่ายังไม่ตาย แต่อาจเคลื่อนย้ายที่หากิน โดยจะมีการบินสำรวจใหม่ในปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อวางแผนกำหนดพื้นที่ปลอดภัยที่พะยูนมีการเคลื่อนย้ายต่อไป และขอให้เชื่อมั่นว่าเรากำลังดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่สุดเพื่ออนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งออกอาหารทะเล ที่สหรัฐเมริกาเข้มในเรื่องมาตรการประเทศต้นทางในเรื่องการดูแลพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์" นายปิ่นสักก์ กล่าว "มูลนิธิอันดามัน" จี้ หน่วยงานตามคุ้มครอง "พะยูน" ย้ายที่หากินออกนอกเขตอนุรักษ์ ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า แม้จะอยู่ระหว่างการหาสาเหตุ และแนวทางการฟื้นฟูที่ต้องใช้เวลา แต่แนวทางการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูนก็ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เมื่อพะยูนมีการย้ายพื้นที่หากินออกนอกพื้นที่จังหวัดตรังตามประกาศกระทรวงทส.ที่กำหนดเขตคุ้มครองไว้ โดยจากข้อมูลที่เครือข่ายมูลนิธิฯในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงาแจ้งมาพบว่า ในขณะนี้มีชาวบ้านพบเห็นพะยูนในพื้นที่กระบี่และพังงานเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานติดตามวางแผนการคุ้มครองภัยคุกคามพะยูนที่ย้ายถิ่นด้วย เปิดผลสรุปเบื้องต้น สาเหตุหญ้าทะเลตาย กระทบ "พะยูน" ตรัง กับกุญแจสำคัญแก้วิกฤต หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อว่า สุดท้ายแล้ว กุญแจ(มาตรการ)ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พลังของเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่ จะไขวิกฤตหญ้าทะเลใน จ.ตรัง ได้หรือไม่ แล้ว "พะยูนตรัง" จะย้ายที่หากินจริงๆ หรือไปที่ไหน อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่และบุคคลที่จะช่วยทั้งหญ้าทะเลและเจ้าหมูน้ำ เพื่อให้พวกเขาอยู่คู่กับท้องทะเลต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเล คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง https://www.nationtv.tv/news/social/378941699
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|