เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 17-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 17 เมษายน 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้บางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และการระบายอากาศในบริเวณดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 28-30 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับในช่วงวันที่ 16 ? 17 เม.ย. 67 มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง

สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 17 ? 18 เม.ย. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 19 ? 22 เม.ย. 67 ลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานานตลอดช่วง

ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 17 เม.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 17-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


สิ่งมีชีวิตหมู่เกาะกาลาปากอส แม้ได้รับการคุ้มครอง แต่ยังคงเสี่ยง

แม้เขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอส ของเอกวาดอร์ มีฝูงปลาหลากสีสัน และปลาฉลามหัวค้อน แหวกว่ายในน่านนํ้าของมหาสมุทรแปซิฟิกที่ได้รับการคุ้มครอง แต่บริเวณรอบนอก มีเรือประมงอุตสาหกรรมหลายลำลอยอยู่อย่างน่ากลัว



เขตสงวนแห่งนี้ เป็นสถานที่ปลอดภัยของสัตว์และพืชพรรณต่าง ๆ นานา ที่อาศัยอยู่ในน่านนํ้ารอบหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่ง นายชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังชาวสหราชอาณาจักร ค้นพบแรงบันดาลใจสำหรับทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของเขาที่นี่

ทว่าภายนอกเขตอนุรักษ์ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดด้วยสิ่งกีดขวางทางกายภาพใด ๆ กลับไม่มีการคุ้มครองทะเลหลวง ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันเหล่านี้ ตกอยู่ในความเสี่ยง

นายสจวร์ต แบงก์ส นักวิทยาศาสตร์อาวุโสทางทะเล จากมูลนิธิชาร์ลส์ ดาร์วิน กล่าวบนเรือวิจัย "อาร์กติก ซันไรส์" ขององค์กรสิ่งแวดล้อม "กรีนพีซ" ว่า ปลาฉลามหัวค้อน, เต่า, อิกัวนา, สิงโตทะเล และปลาที่เจริญเติบโตในกาลาปากอส ไม่เข้าใจ ?พรมแดนการเมือง? นั่นหมายความว่า พวกมันจะเดินทางไปมาระหว่างดินแดนที่แตกต่างกัน และตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิ่งต่าง ๆ เช่น การประมงเชิงอุตสาหกรรม และการจับสัตว์นํ้าพลอยได้

แม้กรีนพีซระบุว่า แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การทำให้พื้นที่มหาสมุทรกว้างขึ้น โดยสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งแรกในทะเลหลวง ซึ่งมีอาณาเขตติดกับเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอส อย่างไรก็ตาม สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีอย่างน้อย 60 ประเทศ ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาทะเลหลวง ที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรองเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน

ทั้งนี้ เขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอส ซึ่งมีขนาดเกือบ 200,000 ตารางกิโลเมตร เป็นหนึ่งในพื้นที่สงวนขนาดใหญ่ที่สุด และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดในโลก โดยมีสิ่งมีชีวิตมากกว่า 3,000 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถพบเจอที่อื่นได้

เรือวิจัยอาร์กติก ซันไรส์ เดินทางไปยังหมู่เกาะกาลาปากอสในเดือนนี้ เพื่อปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์ และตรวจสอบภัยคุกคามต่อเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอสซึ่งกรีนพีซอธิบายว่ามันอาจเป็นโครงการอนุรักษ์ซึ่งดำเนินการในมหาสมุทรที่ดีที่สุด

ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ ทำการทดสอบตัวอย่างนํ้า และตรวจสอบจำนวนปลาและความชุกชุม เพื่อระบุชนิดพันธุ์ เส้นทางการอพยพ และความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงการสำรวจแนวปะการัง ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร และแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่สำคัญ

ด้านนาง โซฟี คุก ผู้นำการสำรวจ กล่าวว่า หมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นจุดอพยพสำคัญสำหรับสัตว์หลายชนิด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการเชื่อมต่อพื้นที่คุ้มครองทางทะเลต่าง ๆ และปกป้องเขตสงวนเหล่านี้ไว้ เพื่อรักษาเส้นทางการอพยพของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้


https://www.dailynews.co.th/news/3345700/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 17-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'ดร.ธรณ์' บอกโนอาประกาศ 'ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ' เป็นทางการแล้ว!



17 เม.ย.2567 - ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า NOAA ประกาศ"ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ" (Global Coral Bleaching Event) "อย่างเป็นทางการ

ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ สองครั้งหลังเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงความรุนแรงของโลกร้อนทะเลเดือด

ปัจจุบันมี 53 ประเทศใน 3 มหาสมุทร เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก

ในทะเลไทย อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นในช่วงปลายมีนาคม/ต้นเมษายน แต่คงที่/ลดเล็กน้อยในช่วงสงกรานต์
ยังไม่พบปะกายังฟอกขาวอย่างชัดเจนในขณะนี้

ต้องเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสิ้นเมษายน/ตลอดเดือนพฤษภาคม อันเป็นช่วงวิกฤต

การลดผลกระทบด้านอื่นๆ ในแนวปะการัง เช่น ตะกอน น้ำทิ้ง การท่องเที่ยว แพลงก์ตอนบลูม ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มความทนทานของระบบนิเวศ

การย้ายปะการัง เก็บสะสมพ่อแม่พันธุ์ ฯลฯ อาจจำเป็นหากเกิดฟอกขาวรุนแรง แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ภายใต้การดูแลของกรมทะเล/ผู้เชี่ยวชาญ

การลดจำนวนนักท่องเที่ยว ปิดบางพื้นที่ อาจจำเป็นแต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวควบคู่กันไป

การสร้างแหล่งดำน้ำอื่นๆ เพื่อดึงคนออกจากแนวปะการัง มีส่วนช่วยได้ เช่น เรือปราบ/สัตกูด (ฟอกขาวในปี 2553)

เครือข่ายปะการังฟอกขาวของไทยเข้มแข็ง และจะติดตามต่อไป หากเพื่อนธรณ์พบพื้นที่ใดที่ปะการังเริ่มซีด ช่วยกันแจ้งเพื่อให้มีการตรวจสอบและประเมินให้เร็วทันเวลา

กลับจากใต้ พักแป๊บนึง จากนั้นผมจะไปทะเลตะวันออก ตามดูทั้งปะการังและหญ้าทะเล

โลกร้อนกำลังส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปะการัง หญ้าทะเล น้ำเขียว เต่าทะเล ฯลฯ

เหนื่อยครับ บอกตามตรง ก็ได้แต่หวังว่าเราจะช่วยกันรักษาทะเลให้มากที่สุด เพราะเธอกำลังอ่อนแออย่างไม่เคยเกิดมาก่อนเลยครับ


https://www.thaipost.net/x-cite-news/571557/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 17-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


อุณหภูมิมหาสมุทรแปรปรวน ส่งผลฉลามขึ้นบนผิวน้ำ อพยพเข้าเขตที่อยู่มนุษย์


SHORT CUT

- ฉลามเปลี่ยนพฤติกรรมในการพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น มันว่ายเข้ามาใกล้ผิวน้ำมากกว่าปกติมาก

- ฉลามหรือสัตว์ทะเลแต่ละสายพันธุ์ บางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ตามขอบเขตที่มนุษย์อาศัย

- เราจำเป็นต้องคิดถึงการขยายพื้นที่อนุรักษ์และจัดลำดับความสำคัญของสายพันธุ์ต่างๆ




จากการศึกษาพบว่ามหาสมุทรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ฉลาม ปลากระเบน และสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ หนีจากผืนน้ำที่ร้อนขึ้น อาจได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำเย็นที่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรและระบบความกดอากาศที่เกิดจากการสลายตัวของสภาพอากาศ ทำให้ความรุนแรงของการเพิ่มขึ้นของน้ำ ซึ่งอาจเพิ่มความเปราะบางของสัตว์อพยพ เช่น ฉลามหัวบาตร

นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์การตายครั้งใหญ่ของฉลามในปี 2021 ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบและรอดชีวิตมาคือฉลามหัวบาตร และได้รับการติดแท็กด้วยดาวเทียม พวกเขาพบว่ามันติดอยู่ในน้ำซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สัตว์เขตร้อนชนิดนี้คุ้นเคย

จากรายละเอียดพบว่าฉลามเปลี่ยนพฤติกรรมในการพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น มันว่ายเข้ามาใกล้ผิวน้ำมากกว่าปกติมากและเคลื่อนอพยพ

นักวิทยาศาสตร์ได้ติดแท็กเหล่าฉลามและใช้ข้อมูลอุณหภูมิผิวน้ำทะเล 41 ปี และบันทึกลม 33 ปี เพื่อตรวจสอบความถี่และความรุนแรงของการตายของฉลาม ความเย็นบริเวณชายฝั่งกระแสน้ำอะกุลลัสในมหาสมุทรอินเดีย และกระแสน้ำออสเตรเลียตะวันออกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ฉลามหัวบาตรที่ติดแท็กดูเหมือนจะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงอุณหภูมิที่ลดลงอย่างกะทันหันโดยการว่ายน้ำเข้าใกล้ผิวน้ำมากขึ้น ซ่อนตัวในอ่าวและปากแม่น้ำ และเคลื่อนตัวเฉพาะในขอบเขตการกระจายตัวของพวกมันบริเวณขั้วโลกในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น

นักชีววิทยาทางทะเลทำงานร่วมกับนักสมุทรศาสตร์เพื่อจัดทำแผนที่คาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความชัดเจนมากขึ้น และความถี่ของอุณหภูมิที่เย็นจัดจะเพิ่มขึ้นพร้อมกับช่วงที่มีความร้อนบนพื้นผิวที่รุนแรง

ฉลามหรือสัตว์ทะเลแต่ละสายพันธุ์ บางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ตามขอบเขตที่มนุษย์อาศัย ซึ่งฉลามเหล่านี้มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน นักวิจัยกว่าวว่า "ฉลามหัวบาตรได้รับผลต่อความเย็นและหลบไปยังเขตร้อน อาจส่งผลให้เกิดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพได้"

นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในแนวทางใหม่ในการอนุรักษ์ทางทะเลที่รวมเอาความรู้เกี่ยวกับหลากหลายแขนงมากขึ้นซึ่งความสับสนวุ่นวายของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล เราจำเป็นต้องคิดถึงการขยายพื้นที่อนุรักษ์และจัดลำดับความสำคัญของสายพันธุ์ต่างๆ

ที่มา : The Guardian


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849531

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 17-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


สรุปขยะสงกรานต์ 2567 ในกทม. 7 วัน กว่า 50,000 ตัน มากกว่าปีที่แล้วเกือบพันตัน


SHORT CUT

- ขยะมูลฝอยต่างๆ ในพื้นที่ กทม. 7 วัน มีขยะจำนวนมากกว่า 50,000 ตัน

- 10-16 เมษายน 2567 เป็นเวลา 7 วัน มีขยะจำนวน 51,473.43 ตัน เฉลี่ย 7,348.20 ตันต่อวัน

- ขยะสงกรานต์ 2567 มากกว่าปี 2566 ถึง 699.76 ตัน




สงกรานต์ 2567 สิ้นสุดดลงแล้ว สิ่งที่หลงเหลือไว้คงเป็นขยะมูลฝอยต่างๆ ซึ่งขยะสงกรานต์ปีนี้ในพื้นที่ กทม. 7 วัน มีขยะจำนวนมากกว่า 50,000 ตัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเกือบพันตัน

ขยะสงกรานต์ในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 10-16 เมษายน 2567 เป็นเวลา 7 วัน มีขยะจำนวน 51,473.43 ตัน เฉลี่ย 7,348.20 ตันต่อวัน โดยวันที่มีปริมาณขยะมากที่สุดคือวันที่ 11 เมษายน จำนวน 9,021.96 ตัน

สรุปขยะสงกรานต์ 2567 ในกทม. 7 วัน กว่า 50,000 ตัน มากกว่าปีที่แล้วเกือบพันตัน

ขยะสงกรานต์ 2567 มากกว่าปี 2566 ถึง 699.76 ตัน โดยปีที่แล้วมีขยะเกิดขึ้นใน กทม. 50,767.67 ตัน เฉลี่ยวันละ 7,252.52 ตัน


รายงานจำนวนขยะบริเวณถนนข้าวสารและพื้นที่ใกล้เคียง (รามบุตตรี ไกรสีห์ จักรพงษ์)


วันที่ 12 เมษายน 2567

ถนนข้าวสาร จำนวน 12 ตัน

พื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 22 ตัน

รวม 34 ตัน


วันที่ 13 เมษายน 2567

ถนนข้าวสาร จำนวน 15 ตัน

พื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 25 ตัน

รวม 40 ตัน


วันที่ 14 เมษายน 2567

ถนนข้าวสาร จำนวน 15 ตัน

พื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 27 ตัน

รวม 42 ตัน


วันที่ 15 เมษายน 2567

ถนนข้าวสาร 16 ตัน

พื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 30 ตัน

รวม 46 ตัน

รวมทั้งหมด 162 ตัน


https://www.springnews.co.th/keep-th...ronment/849532

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 17-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


นักวิทยาศาสตร์กำลังเรียนรู้ที่จะพูดภาษาวาฬ ................ โดย แคเธอรีน ลาแธม ผู้สื่อข่าวฟีเจอร์


วาฬหลังค่อมและลูกของมัน
ที่มาของภาพ,JODI FREDIANI



นักวิทยาศาสตร์เพิ่งมีการ "สนทนา" กับวาฬเป็นครั้งแรกของโลก ขณะนี้ นักวิจัยกำลังพยายามไขปริศนาว่า เหล่าวาฬต้องการจะสื่อสารอะไรกันแน่

เสียง "ธรอป" อันดังกึกก้องเลียนแบบเสียงคราง ถูกส่งออกมาจากลำโพงใต้น้ำของเรือวิจัย วาฬหลังค่อมตัวหนึ่งแยกตัวออกจากฝูงและว่ายน้ำเข้ามาหา มันวนรอบตัวเรือ โผล่ขึ้นมาหายใจแล้วดำลงไปอีก หางจมหายลงสู่น้ำอย่างเงียบเชียบ พร้อมกับร้องเลียนเสียงนั้นตอบกลับ

เหล่านักวิจัยที่ "สนทนา" กับวาฬหลังค่อมตัวนี้ บอกว่า การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจเป็นก้าวแรกสู่การสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตอัจฉริยะต่างสายพันธุ์ โดยมันเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2021 บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอะแลสกา เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ 6 คน ได้เปิดเสียงบันทึกเสียงทักทายของวาฬหลังค่อมผ่านลำโพงใต้น้ำ พวกเขาต้องตะลึงพรึงเพริดเมื่อวาฬหลังค่อมตัวหนึ่งที่พวกเขาตั้งชื่อว่า ทเวน ตอบสนองกลับมาในลักษณะที่เหมือนการสนทนา

โจซี ฮับบาร์ด นักพฤติกรรมสัตว์ผู้กำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าวว่า "มันเหมือนกับได้สัมผัสกับโลกอีกใบหนึ่ง คุณจะได้ยินเสียงพวกมันโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แล้วก็มีเสียงหายใจแรง ๆ คุณมองเห็นมัน และพวกมันอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม มันวิเศษจริง ๆ"

ฮับบาร์ดอยู่บนเรือวิจัยที่กำลังลอยลำ โดยเครื่องยนต์ทั้งหมดถูกปิดเงียบอยู่ในเฟรเดอริก ซาวน์ รัฐอะแลสกา ขณะที่เธอพบเข้ากับวาฬหลังค่อมเป็นครั้งแรก "ตามกฎระเบียบแล้ว คุณต้องหยุดห่างจากวาฬประมาณสองร้อยถึงสามร้อยเมตร และดับเครื่องยนต์" ฮับบาร์ด กล่าว เธอบอกว่า วาฬอาจจะเข้ามาหาบ้าง ในกรณีนี้ ทเวน วัย 38 ปี ได้เคลื่อนตัวเข้ามาหาเรือ และวนรอบเรือเป็นเวลา 20 นาที

ฮับบาร์ดเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่ทรงภูมิปัญญา (Search for Extraterrestrial Intelligence) เรียกย่อ ๆ ว่า "SETI" พวกเขาหวังที่จะทำความเข้าใจความซับซ้อนในการสื่อสารและสติปัญญาของวาฬหลังค่อม และเมื่อขณะอยู่บนชั้นดาดฟ้าด้านบน ฮับบาร์ด ก็ลืมไปสนิทเลยว่านักวิทยาศาสตร์ด้านเสียงกำลังทำงานอยู่ใต้น้ำ

ด้านล่างนั้น เบรนดา แม็คโคเวน กำลังส่งเสียงเรียกติดต่อของวาฬหลังค่อมที่บันทึกไว้ เสียง "วัป" หรือ "ธรอป" ถูกส่งผ่านลำโพงใต้น้ำ ในที่สุดทเวนก็ว่ายจากไป ด้านฮับบาร์ดวิ่งลงไปข้างล่างเพื่อพบกับความตื่นเต้น เมื่อทราบว่าทเวนได้ "พูด" ตอบกลับ และมีส่วนร่วมในการ "สนทนา" ที่กินเวลานานถึง 20 นาทีเต็ม

บทเพลงขับร้องของวาฬที่กินเวลาค่อนข้างนาน เป็นจังหวะ และมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ สามารถเดินทางข้ามแอ่งมหาสมุทรได้ทั้งแอ่ง พวกมันสื่อสารกันด้วยเสียงหวีด ๆ และเสียงสั่น หรือใช้การสะท้อนเสียงเพื่อสร้างภาพจำลองของโลกใต้ทะเล

มนุษย์ถูกวาฬมัดใจมาหลายศตวรรษแล้ว ในความเป็นจริง พวกมันแสดงพฤติกรรมมากมายที่คล้ายกับมนุษย์ วาฬร่วมมือกันเองเช่นเดียวกันกับสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ พวกมันสอนทักษะที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดูแลลูกของกันและกัน และเล่นด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม พวกมันต่างจากมนุษย์ตรงที่ประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุดของวาฬไม่ใช่การมองเห็น แต่เป็นการได้ยิน เมื่อดำดิ่งลงไป 200 เมตรใต้ผิวน้ำ คุณจะเดินทางไปไกลเกินกว่าที่แสงจะส่องถึง ในทางกลับกัน เสียงสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลกว่าและเร็วกว่าในน้ำมากกว่าในอากาศ

วาฬบาลีน รวมถึงวาฬหลังค่อม วาฬขวา และวาฬสีน้ำเงิน ได้วิวัฒนาการกล่องเสียงที่ไม่เหมือนใคร ช่วยให้พวกมันสร้างเสียงความถี่ต่ำพิเศษที่สามารถเดินทางได้ไกลเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น วาฬสีน้ำเงินปล่อยเสียงความถี่ต่ำถึง 12.5 เฮิรตซ์ จัดเป็นเสียง "อินฟราซาวด์" ซึ่งต่ำกว่าระดับที่หูมนุษย์จะได้ยิน ในขณะเดียวกัน วาฬมีฟัน ซึ่งรวมถึงวาฬสเปิร์ม (หรือวาฬหัวทุย) โลมา พอร์พอยส์ และวาฬเพชฌฆาต จัดเป็นสัตว์ที่ส่งเสียงได้ดังที่สุดชนิดหนึ่งบนโลก และใช้เสียงคลิกความถี่สูงมากสำหรับการสะท้อนเสียง เพื่อ "มองเห็น" โลกของพวกมัน เช่นเดียวกับการใช้การสั่นสะเทือนที่แผ่เป็นคลื่นอ่อน ๆ และเสียงหวีดเพื่อสื่อสารจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน้ำได้วิวัฒนาการมานานกว่า 50 ล้านปี เพื่อสร้างและรับฟังเสียงที่ซับซ้อนหลากหลาย พวกมันอาศัยเสียงในการสื่อสารกันเอง นำทาง หาคู่และหาอาหาร ปกป้องอาณาเขตและทรัพยากร และหลีกเลี่ยงผู้ล่า ลูกวาฬส่งเสียงอ้อแอคล้ายกับทารกมนุษย์ เชื่อกันว่าบางตัวมีชื่อเป็นของตัวเอง และวาฬกลุ่มต่าง ๆ จากบริเวณต่าง ๆ ของมหาสมุทรมีสำเนียงถิ่นที่แตกต่างกัน มีการบันทึกเสียงวาฬเลียนแบบสำเนียงถิ่นของกลุ่มแปลกถิ่น และบางคนยังคิดว่าวาฬบางตัวเคยลองเลียนแบบภาษาของมนุษย์

เสียงร้องของวาฬหลังค่อมนั้น เชื่อกันว่ามีความซับซ้อนมากที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์ต่าง ๆ บนโลก การบันทึกเสียงร้องของวาฬหลังค่อมครั้งแรก ทำโดยวิศวกรกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา แฟรงก์ วัตลิงตัน ในปี 1952 เกือบ 20 ปีต่อมา นักชีววิทยาทางทะเล โรเจอร์ เพย์น สังเกตว่า เสียงร้องเหล่านี้ถูกจัดระเบียบเป็นรูปแบบที่ซ้ำ ๆ การค้นพบนี้เปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเสียงร้องของวาฬ และจุดประกายความสนใจที่นำไปสู่การวิจัยยาวนานหลายทศวรรษ

กลับมาที่ปัจจุบัน ทีมวิจัย SETI หวังว่าการถอดรหัสการสื่อสารของวาฬจะช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์ต่างดาว หากเขาพบเจอพวกมัน ทีมวิจัยนี้ตั้งสมมติฐานว่า เสียงของวาฬประกอบด้วยข้อความที่ซับซ้อนและชาญฉลาด คล้ายกับภาษาที่มนุษย์ใช้หรืออาจจะเป็นภาษาของมนุษย์ต่างดาวก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม็คโคเวน บอกว่า ความเข้าใจของเรายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ในวันนั้น ตรงบริเวณชายฝั่งของอะแลสกา แม็คโคเวน ได้เปิดเสียงต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่มีการตอบสนอง "แต่เสียงเรียกนี้ถูกบันทึกไว้ในวันก่อนหน้านั้น" เธอกล่าว "และมันมาจากประชากรวาฬกลุ่มนี้ หลังจากเล่นเสียงติดต่อสามครั้ง เราก็ได้รับการตอบสนองอันยอดเยี่ยม จากนั้นเพื่อให้สัตว์ตัวนี้สนใจต่อไป ฉันจึงเริ่มพยายามจับคู่เสียงเรียกของมันกับเสียงเรียกของเรา ดังนั้น ถ้ามันรอ 10 วินาที ฉันก็รอ 10 วินาที สุดท้ายเราก็ตอบสนองซึ่งกันและกัน เราทำแบบนี้ 36 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 20 นาที"

ตลอดการสนทนา ทเวนมักจะจับคู่กับความแปรผันของช่วงเวลาระหว่างเสียงเรียกที่เล่นซ้ำแต่ละครั้งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับวาฬหลังค่อมครั้งแรกใน "ภาษา" ของวาฬหลังค่อม และเนื่องจากเสียงบันทึกนั้นมาจากกลุ่มครอบครัวของทเวน ฮับเบิร์ดเสริมว่า สิ่งนี้อาจบ่งบอกถึงการรับรู้ในบางรูปแบบ อาจจะรวมถึงการรู้จักตัวเองด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับวาฬนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม็คโคเวน เน้นย้ำว่า ทเวนเลือกที่จะเข้ามาใกล้เรือและสามารถจากไปได้ทุกเมื่อที่ต้องการ แต่ปัญหาก็อยู่ตรงนั้นเอง โดยทั่วไปแล้ว วาฬมักจะพบได้ทุกที่ที่มีปลา ฮับบาร์ดกล่าว "แต่เราไม่รู้ว่าปลาอยู่ที่ไหน ดังนั้น คุณต้องค้นหาเพื่อที่จะศึกษาพวกมัน" และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ นักวิจัยจำเป็นต้องจำลองข้อมูลกับฝูงวาฬหลายฝูงที่แตกต่างกัน

ขั้นต่อไป ทีมวิจัยวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงเสียงที่พวกเขาเปิด "เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น" แม็คโคเวน กล่าว "ความท้าทายใหญ่สำหรับเราคือการจำแนกสัญญาณเหล่านั้นและกำหนดบริบทของมัน เพื่อที่เราจะสามารถระบุความหมายได้ ฉันคิดว่าปัญญาประดิษฐ์จะช่วยเราทำสิ่งนั้น"

ห่างจากจุดนี้กว่า 8,000 กิโลเมตร มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ นักถอดรหัส นักภาษาศาสตร์ นักชีววิทยาทางทะเล ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ และนักสำรวจเสียงใต้น้ำ อีกกลุ่มหนึ่งที่หวังจะใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อถอดรหัสบทสนทนาของวาฬสเปิร์มหรือวาฬหัวทุย

โครงการริเริ่มการแปลภาษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลหรือ Ceti (Cetacean Translation Initiative) เปิดตัวในปี 2020 โดยมี เดวิด กรูเบอร์ นักชีววิทยาทางทะเลเป็นผู้นำโครงการ ได้ทำการบันทึกเสียงวาฬกลุ่มหนึ่งบริเวณชายฝั่งของโดมินิกา ซึ่งเป็นเกาะในทะเลแคริบเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ไมโครโฟนบนทุ่น เรือดำไร้คนขับ และแท็กที่ติดอยู่กับหลังของวาฬ

กรูเบอร์ค่อนข้างเป็นคนแปลกประหลาก เขาเป็นนักจุลชีววิทยาซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แต่กลับกลายเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งบนโลก เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการมองไปที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียและโปรโตซัวในมหาสมุทร ที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากนั้นเขาเปลี่ยนไปศึกษาปะการัง แมงกะพรุน และฉลาม จนความสนใจนำพาเขามาสู่วาฬ "มันเป็นเรื่องของการมองโลกจากมุมมองของสัตว์" เขากล่าว หรือในกรณีของวาฬ มันคือ "การได้ยินโลก"

วาฬสเปิร์ม ซึ่งมีสมองที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด จะรวมตัวกันที่ผิวน้ำของมหาสมุทรเป็นกลุ่มครอบครัว และสื่อสารกันโดยใช้ลำดับการคลิกที่คล้ายรหัส มอร์ส เรียกว่า "โคดาส" กลุ่มวาฬสเปิร์มที่ทีมวิจัย Ceti ทำงานด้วย ประกอบด้วยแม่วาฬ ยายวาฬ และลูกวาฬรวม 400 ตัว ฝูงดังกล่าวนี้หรืออาจจะแบ่งออกเป็นสองฝูงก็ได้ ส่งเสียงคลิกที่เว้นระยะเท่า ๆ กัน แล้วตามด้วยสามคลิกติดต่อกันอย่างรวดเร็ว

"มันยากสำหรับเราที่จะมองเข้าไปในโลกของพวกมัน นอกเหนือจากการโต้ตอบสั้น ๆ เหล่านี้ที่ผิวน้ำ มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ อ่อนโยน และมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น" กรูเบอร์ กล่าว "ทุกครั้งที่เรามอง เราพบความซับซ้อนและโครงสร้างที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการสื่อสารของพวกมัน" เขาเชื่อว่าเรากำลังเข้าสู่จุดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งหมายความว่าเรา "อาจจะ" ถอดรหัสการสื่อสารของวาฬได้

ข้อมูลที่รวบรวม ถูกประมวลผลโดยใช้ขั้นตอนการเรียนรู้ของเครื่องกลเพื่อตรวจจับและจำแนกประเภทการคลิก โดยผลลัพธ์มีกำหนดเผยแพร่ในปี 2024 เป้าหมายของ กรูเบอร์ คือการสามารถสร้าง "บทสนทนาหลายฝ่าย" ขึ้นใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการสร้าง "บทสนทนา" โดยใช้เสียงร้องของวาฬสเปิร์มเอง

แต่แม้ว่าเราจะคุยกับวาฬได้ แล้วเราก็ควรคุยไหม ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการติดต่อกับวาฬ อาจถูกนำไปใช้ล่าพวกมันได้หรือไม่ ?

เทคโนโลยีใหม่เคยถูกใช้เพื่อช่วยเหล่านักล่ามาก่อน ตัวอย่างเช่น โซนาร์สามารถใช้ค้นหาและไล่วาฬขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อให้ยิงได้ง่ายขึ้น "เราอาจจะต้องฟังให้มากขึ้นและพูดให้น้อยลง" ซาแมนธา เบลกแมน ผู้จัดการข้อมูลทางทะเลของศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งชาติกล่าว

เธอเตือนว่าเราควรระมัดระวังกับการมองสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในมิติของความเป็นมนุษย์ "ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ คุณพยายามศึกษาสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ลำเอียง" เธอกล่าว "คุณพยายามถอดตัวเองออกจากสมการเสมอ แม้ว่ามันเป็นเรื่องยากจริง ๆ"


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 17-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai



นักวิทยาศาสตร์กำลังเรียนรู้ที่จะพูดภาษาวาฬ ........... ต่อ


เบลกแมน บอกว่า วาฬบาลีน อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งหมายความว่าพวกมันมีบทบาทสำคัญจริง ๆ ในระบบนิเวศ "พวกมันเป็นตัวชี้วัดสำหรับพวกเราที่กำลังศึกษาสุขภาพของระบบนิเวศทางทะเล เพราะสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อาหารที่ระดับล่าง ๆ มันจะส่งผลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อาหารในระดับบน" เบลกแมน กล่าว

ทั้งนี้ มากกว่าหนึ่งในสี่ของสัตว์จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลทุกชนิดกำลังถูกคุกคาม ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

วาฬยังเป็นปุ๋ยธรรมชาติอีกด้วย เบลกแมน กล่าว ปัจจัยที่จำกัดชีวิตในมหาสมุทรคือการขาดธาตุเหล็ก แพลงก์ตอนพืชต้องการแสงและสารอาหารเพื่อเจริญเติบโต โดยปกติแล้ว พวกมันสามารถหาไนเตรทและฟอสเฟตได้ แต่ธาตุเหล็กมักจะขาดหายไป แต่มูลของวาฬมีธาตุเหล็กเข้มข้นสูง "พวกมันกินในพื้นที่หนึ่งและขับถ่ายในอีกพื้นที่หนึ่ง" เธอกล่าว "นำธาตุเหล็กกลับคืนสู่แหล่งน้ำ ซึ่งสามารถทำให้เกิดชีวิตมากมายในพื้นที่ใหม่แห่งนี้"

วาฬยังมีบทบาทสำคัญในวัฏจักรคาร์บอนของโลก แพลงก์ตอนทะเลดักจับคาร์บอนผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง แพลงก์ตอนเหล่านี้ถูกลูกวาฬกินเข้าไป "เมื่อพวกมันตาย [วาฬ] จะจมดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทร" แบลกแมน กล่าว "ดังนั้น คาร์บอนนั้นจะถูกกักเก็บไว้ไม่ให้ไปสู่ชั้นบรรยากาศเป็นเวลานานมาก"

กรูเบอร์หวังว่าผลงานของทีม Ceti จะช่วยเพิ่มพูนความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ "เอไออาจช่วยให้เราเข้าใจระบบการสื่อสารของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากมายในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

"ผมคิดว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับโลกใบนี้ ถ้าเราตั้งใจฟังจริง ๆ ถ้าเราใส่ใจสิ่งที่วาฬกำลังสื่อสาร"


https://www.bbc.com/thai/articles/c163r8rx1ddo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:52


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger