เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 29-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และการระบายอากาศในบริเวณดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 30-31 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. ? 2 พ.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ส่วนในช่วงวันที่ 3 ? 4 พ.ค. 67 มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันออกของภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 28 ? 29 เม.ย. 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. ? 4 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันตกพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. ? 2 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ไว้ด้วย

ส่วนในช่วงวันที่ 3 ? 4 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง สำหรับชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 29-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'ภาวะโลกร้อน' ทำพิษ 'โอเอซิส' กลายเป็นทะเลทราย ................. โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล

"โอเอซิส" พื้นที่สีเขียวในทะเลทราย อาจล่มสลายในไม่ช้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จนทำให้กลายเป็น "ทะเลทราย" รวมไปถึงกิจกรรมของมนุษย์



เป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วที่ "โอเอซิส" พื้นที่สีเขียวในทะเลทราย คอยช่วยชุบชีวิตนักเดินทางในทะเลทราย และทำหน้าที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รักษาชุมชน ส่งเสริมการค้าขาย จุดประกายความหวังและจินตนาการ ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการแทรกแซงของมนุษย์กำลัง "ทำลาย" โอเอซิสเหล่านี้ จากพื้นที่เขียวชอุ่มให้กลายเป็น "ทะเลทราย"

"โอเอซิส" ไม่ได้เป็นเพียงภาพลวงตาในทะเลทราย แต่มีอยู่จริง เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณเจริญเติบโต มีแหล่งน้ำ ขัดกับสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งโดยรอบอย่างชัดเจน

โดยแหล่งน้ำของโอเอซิสสามารถมาจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น

- แหล่งน้ำบาดาล คือ น้ำใต้ดินที่ผุดขึ้นมา ทำให้เกิดน้ำพุธรรมชาติหรือแอ่งน้ำ

- แหล่งน้ำจากภูเขา เป็น น้ำจากฝนหรือหิมะละลายที่ไหลลงมาจากที่สูงรวมตัวกันในพื้นที่ทะเลทรายที่อยู่ต่ำ


แม้โลกของเราจะมีโอเอซิสอยู่เพียงประมาณ 1.5% ของพื้นที่บนโลก กระจายตัวอยู่ใน 37 ประเทศทั่วโลก โดย 77% ของโอเอซิสตั้งอยู่ในเอเชีย และอีก 13% พบในออสเตรเลีย แต่โอเอซิสก็มีบทบาทสำคัญต่อประชากร 10% ของโลก ในฐานะแหล่งทรัพยากรและช่วยให้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแห้งแล้งรุนแรงได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์คุกคามโอเอซิสอย่างรุนแรง การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth's Future แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโอเอซิสทั่วโลกตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งรูปแบบของแหล่งน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป และการแปรสภาพจากโอเอซิสกลายเป็นทะเลทราย

"แม้ว่าชุมชนนักวิทยาศาสตร์จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของโอเอซิสมาโดยตลอด เพราะ โอเอซิสมีความสำคัญทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคแห้งแล้ง แต่ยังไม่เคยมีใครสำรวจการกระจายตัวของโอเอซิสทั่วโลกมาก่อน" ??ตงเว่ย กุ่ย นักธรณีวิทยาจาก สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษากล่าว


"โอเอซิส" ที่มนุษย์สร้าง อาจก่อปัญหาในระยะยาว

นักวิจัยใช้ข้อมูลดาวเทียมในการค้นหาพื้นที่สีเขียวในพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ของโอเอซิส และติดตามการเปลี่ยนแปลงตลอด 25 ปี โดยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียวสามารถบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินและสุขภาพของโอเอซิส

ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งนักวิจัยยังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงประเภทพื้นผิวดินเพื่อค้นหาการแปลงการใช้ที่ดิน

นักวิจัยพบว่า ในช่วงเวลา 25 ปีที่ติดตามข้อมูล พื้นที่โอเอซิสทั่วโลกเพิ่มขึ้น 220,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์จงใจเปลี่ยนพื้นที่ทะเลทรายให้เป็นโอเอซิส โดยใช้การสูบน้ำใต้ดินและการผันน้ำจากที่สูง


โอเอซิสที่มนุษย์สร้างขึ้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ ได้แก่

- โครงการชลประทานขนาดใหญ่ เป็นการเปลี่ยนเส้นทางน้ำจากแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือเจาะบ่อน้ำใต้ดิน เพื่อส่งไปยังพื้นที่ทะเลทราย

- เกษตรกรรมที่ใช้น้ำมาก วัตถุประสงค์หลักของโอเอซิสเทียมหลายแห่งคือการสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้ง สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชที่อาจไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งตามธรรมชาติ ส่งผลให้มีความต้องการน้ำสูง

- การพัฒนาเมือง โอเอซิสเทียมถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองหรือการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิประเทศแบบทะเลทราย โครงการเหล่านี้มักต้องการทรัพยากรน้ำจำนวนมากและต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการขยายโอเอซิสเทียมนั้นอยู่ที่ความไม่ยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้นได้ โครงการเหล่านี้มักจะอาศัยแหล่งน้ำที่มีจำกัดหรือมีการใช้มากเกินไป โดยจีนเป็นประเทศที่มีการสร้างโอเอซิสมากที่สุดถึง 60%

จากข้อมูลพบว่าประชากรมากกว่า 95% ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีนอาศัยอยู่ในบริเวณโอเอซิส ทำให้เกิดการอนุรักษ์ และขยายโอเอซิสบนพื้นที่ 16,700 ตารางกิโลเมตร

ขณะเดียวกัน "การกลายสภาพเป็นทะเลทราย" (Desertification) ก็ทำให้สูญเสียพื้นที่โอเอซิสมากกว่า 134,000 ตารางกิโลเมตร ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

นักวิจัยประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงของโอเอซิสจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนประมาณ 34 ล้านคนทั่วโลก

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย คือการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง มักเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำปศุสัตว์ที่มากเกินไป (overgrazing) และการใช้น้ำอย่างไม่ยั่งยืน


สร้างความยั่งยืนให้ "โอเอซิส"

เมื่อเทียบพื้นที่โอเอซิสที่เพิ่มขึ้น และสูญเสียไปจากการกลายสภาพเป็นทะเลทรายแล้ว จะยังมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 86,500 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี 1995-2020 หากมองดูเผิน ๆ การขยายตัวของโอเอซิสอาจเป็นเหมือนชัยชนะของมนุษย์เหนือสภาพทะเลทรายที่รุนแรง แต่ความจริงแล้วแหล่งโอเอซิสจากฝีมือมนุษย์ กำลังปกปิดการสูญเสียโอเอซิสตามธรรมชาติ เนื่องจากการแปรสภาพเป็นทะเลทรายไปพร้อม ๆ กัน

มีความเป็นไปได้สูงที่โอเอซิสเทียมเหล่านี้อาจจะล่มสลายลงในไม่ช้า เพราะโอเอซิสที่มนุษย์สร้างขึ้นอาศัยการใช้น้ำบาดาลที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเปลี่ยนทิศทางน้ำจากระบบนิเวศที่ต้องอาศัยแม่น้ำหรือทะเลสาบ ซึ่งถือเป็นการใช้น้ำที่ไม่ยั่งยืน เพราะเป็นการทำให้พื้นที่หนึ่งสูญเสียน้ำ เพื่อให้อีกพื้นที่หนึ่งอยู่รอดได้

เมื่อแหล่งน้ำลดน้อยลงและระบบนิเวศถูกรบกวน โอเอซิสที่มนุษย์สร้างขึ้นก็จะเริ่มไม่มั่นคง และหาทางรักษาให้อยู่รอดได้ยากขึ้น ดังนั้นเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า การสร้างโอเอซิสเทียม ที่เป็น วิธีนี้แก้ปัญหาระยะสั้น จะส่งผลร้ายแรงในระยะยาวหรือไม่

ขณะเดียว "ภาวะโลกร้อน" ทำให้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แหล่งน้ำของโอเอซิสเพิ่มขึ้น แต่เมื่อธารน้ำแข็งละลายหายไปจนหมด ในที่สุดแล้วปริมาณน้ำในโอเอซิสก็จะลดลง จนทำให้สูญเสียพื้นที่สีเขียว และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณโอเอซิส

การศึกษาเน้นย้ำถึงวิธีการอนุรักษ์โอเอซิสอย่างยั่งยืน โดยเสนอในการปรับปรุงการจัดการทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมการใช้และการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำและการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการเหล่านี้ยังช่วยให้สามารถรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบันได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กุ่ยยังเสนอให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความยั่งยืนของโอเอซิส ?เนื่องจากโอเอซิสแต่ละแห่งกินพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้โอเอซิสกลายเป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตในหลายประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิด ความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน? เขากล่าว

ที่มา: Earth, Phys, Science Daily


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1124079

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 29-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ดร.เสรี คาดอุณหภูมิที่ร้อนแบบเดือดๆ ลดช่วงกลางปี จ่อเผชิญพายุโซนร้อน 18 ลูก



ดร.เสรี คาดไทยจะผ่านความร้อนแบบเดือดๆ ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. จนเข้าเดือน มิ.ย. จะเริ่มดีขึ้น การเปลี่ยนผ่านจาก เอลนีโญไปสู่ลานีญา กำลังเกิดขึ้นช่วงกลางปี บางพื้นที่ฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมรอการระบาย

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประเด็น ผ่านร้อนปีนี้จนถึงต้นสัปดาห์หน้าค่อยว่ากันปีหน้าจะเป็นอย่างไร ระบุว่า จากรูปอุณหภูมิเฉลี่ยรายสัปดาห์จะเห็นเฉดสีชัดเจนว่า เรากำลังจะผ่านความร้อนแบบเดือดๆ ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม จนเข้าเดือนมิถุนายน จะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่อย่าลืมว่าโลกยังคงร้อนขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด (ขึ้นกับการใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นสำคัญ)

จากรายงานล่าสุด กลุ่มประเทศยุโรปกลุ่มเดียวที่มีการปล่อย CO2 ลดลง ประเทศจีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มทวีปเอเชีย รวมทั้งทวีปอเมริกาเหนือ (สหรัฐ และแคนาดา) ยังคงใช้พลังงาน และปลดปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 1-5% ในปี 2565 (แทนที่จะต้องลดลง 9% ต่อปีเพื่อหลีกเลี่ยง 1.5oC ตามข้อตกลงปารีส) แม้หนทางจะคับแคบ แต่ก็ยังมีความหวังน้อยๆอยู่

การเปลี่ยนผ่านจาก El Nino ไปสู่ La Nina กำลังเกิดขึ้นช่วงกลางปีนี้ และคาดว่าปลายปีจะเข้าสู่ La Nina (ระดับปานกลาง) อุณหภูมิที่ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีจึงจะลดลงตั้งแต่กลางปีไปถึงปลายปี แต่ความหวังเรื่องของฝนยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

การคาดการณ์ล่วงหน้าปริมาณฝนช่วงต้นฝน (เม.ย.-พ.ค.) ทุกแบบจำลองให้ผลสอดคล้องกันว่าไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อเข้าสู่กลางฤดู ถึงปลายฤดู ปริมาณฝนจะเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไปบริเวณ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไม่ค่อยได้ฝนมากนัก

เกษตรกรควรวางแผนความเสี่ยงโดยการเลื่อนระยะเวลาปลูกข้าวนาปีไปจนถึงกลางเดือนกรกฏาคม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ La Nina ช่วงปลายปี อาจจะทำให้มีบางพื้นที่ฝนตกหนัก (ในเวลาจำกัด) ทำให้เกิดน้ำท่วมรอการระบาย หรือพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางพายุจร ซึ่งคาดการณ์ว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะมีจำนวนพายุโซนร้อนเกิดขึ้นประมาณ 18 จากเฉลี่ย 20 ลูก และพัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นประมาณ 10 จาก เฉลี่ย 13 ลูก

อนึ่งการคาดการณ์ฝนล่วงหน้า มีความไม่แน่นอนจึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมบริหารความเสี่ยงด้วยครับ หากมีเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และอาจจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใด ทาง Futuretales LAB, MQDC จะแจ้งให้ทราบต่อไป เพราะเราห่วงใยทุกชีชีวิตบนโลกใบนี้


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849867

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 29-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


นักล่ามือสมัครเล่นค้นพบสัตว์เลื้อยคลานทะเลโบราณขนาดมหึมา จากซากฟอสซิล .......... โดย จอร์จินา แรนนาร์ด


ที่มาของภาพ,SERGEY KRASOVSKIY

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สัตว์เลื้อยคลานทะเลชนิดนี้อาจมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา เนื่องจากมันมีความยาวมากกว่ารถบัส 2 คันที่จอดต่อกัน

สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อราว 202 ล้านปีที่แล้ว ร่วมยุคกับไดโนเสาร์

ฟอสซิลส่วนกรามของมันถูกค้นพบโดยนักล่าฟอสซิลบนชายหาดในมณฑลซัมเมอร์เซ็ต สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2016 และในปี 2020 พ่อลูกคู่หูนักล่าฟอสซิลได้ค้นพบฟอสซิลกรามอีกชิ้นที่มีลักษณะคล้ายกัน

จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ฟอสซิลทั้ง 2 ชิ้น เป็นของสัตว์เลื้อยคลานทะเลยักษ์ประเภท "อิกทิโอซอรัส" (Ichthyosaur) ซึ่งคาดว่ามีความยาวประมาณ 25 เมตร

ขนาดของมันใหญ่กว่าไพลโอซอร์ ไดโนเสาร์นักล่าแห่งท้องทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่กะโหลกศีรษะถูกค้นพบในหน้าผาหินดอร์เซ็ต และถูกนำเสนอในสารคดี "The Giant Sea Monster" อาจแปลเป็นไทยว่า "สัตว์ประหลาดท้องทะเลขนาดมหึมา" โดย เซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ นักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง

"จากขนาดของกระดูกขากรรไกร ชิ้นหนึ่งยาวกว่า 1 เมตร และอีกชิ้นยาว 2 เมตร เราสามารถคำนวณได้ว่าตัวเต็มของสัตว์ชนิดนี้ยาวประมาณ 25 เมตร ยาวพอ ๆ กับวาฬสีน้ำเงิน" อธิบายโดย ดร.ดีน โลแม็กซ์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ผู้เขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เขายังคงต้องการหลักฐานเพิ่มเติม เช่น กะโหลกศีรษะและโครงกระดูกที่สมบูรณ์ เพื่อยืนยันขนาดที่แน่ชัดของสัตว์ชนิดนี้ เนื่องจากมีเพียงชิ้นส่วนเพียงเล็กน้อยที่ถูกค้นพบจนถึงตอนนี้

เขาบอกว่า สัตว์เลื้อยคลานทะเลยักษ์เหล่านี้สูญพันธุ์ไปจากเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า อิกทิโอซอรัส มีชีวิตรอดหลังจากเหตุการณ์นั้น ไม่เคยมีขนาดใหญ่โตมหึมาเท่านี้อีกเลย

การค้นพบครั้งแรกของสัตว์ชนิดนี้เกิดขึ้นในปี 2016 ขณะที่ พอล เดอ ลา ซัลล์ นักล่าฟอสซิล กำลังค้นหาฟอสซิลบนชายหาดในซัมเมอร์เซ็ต เขามีประสบการณ์ในการสะสมฟอสซิลมาแล้วกว่า 25 ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก สตีฟ เอ็ตเชส นักบรรพชีวินวิทยาชื่อดัง

ขณะที่กำลังเดินเล่นบนชายหาดกับแคโรล ภรรยาของเขา พอลได้พบกับสิ่งที่กลายเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา นั่นคือ ฟอสซิลกรามชิ้นแรกของสัตว์เลื้อยคลานทะเลยักษ์ชนิดนี้

หลังจากเขาได้พูดคุยกับ ดร.ดีน โลแม็กซ์ พวกเขาคาดการณ์ว่านี่อาจจะเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ พวกเขาจึงตีพิมพ์ผลการศึกษาในปี 2018

แต่พวกเขายังคงต้องการหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อที่จะเข้าใจขนาดที่แท้จริงของสัตว์ชนิดนี้

"เราต่างคาดหวังให้มีการค้นพบเพิ่มเติม" ดร.ดีน บอก

จากนั้นในปี 2020 จัสติน และ รูบี้ เรย์โนลส์ พ่อลูกนักล่าฟอสซิล ได้ค้นพบสิ่งที่ ดร.ดีน กำลังตามหา ห่างไป 10 กิโลเมตร ลงไปทางชายหาดบลูแองเคอร์

"ผมประทับใจอย่างมาก มันตื่นเต้นจริง ๆ เมื่อผมรู้ว่ามีฟอสซิลกรามยักษ์ชิ้นที่สองจากอิกทิโอซอรัสตัวมหึมานี้ เหมือนกับของพอลเลย" ดร.ดีน กล่าว

พอลรีบไปที่ชายหาดและช่วยพ่อลูกขุดค้นเพิ่มเติม "ผมขุดผ่านชั้นโคลนหนา หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง พลั่วของผมไปโดนอะไรแข็ง ๆ ฟอสซิลชิ้นนี้ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์" เขากล่าว

ทีมงาน รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ยังคงค้นหาเศษชิ้นส่วนของกรามชิ้นที่สองต่อไป โดยชิ้นส่วนสุดท้ายถูกค้นพบในปี 2022

การค้นพบครั้งนี้ทำให้พวกเขามีหลักฐานเพิ่มเติมในการประเมินขนาดของสัตว์ชนิดนี้ ปัจจุบัน พวกเขาสรุปได้ว่าสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดนี้เป็น อิกทิโอซอรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยพวกเขาตั้งชื่อให้มันว่า "Ichthyotitan severnensis" หรือกิ้งก่าปลายักษ์แห่งเซเวิร์น

ดร.ดีน ร่วมเขียนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดร่วมกับ รูบี้ เรย์โนลด์ เขาบอกว่า สักวันหนึ่ง ตัวอย่างฟอสซิลที่เธอค้นพบ อาจจะถูกตั้งชื่อตามเธอว่า "รูบี้" ด้วย

ตัวอย่างฟอสซิลที่พอลค้นพบนั้น อยู่ในโรงรถของเขามานานถึงสามปี ในขณะที่ทีมวิจัยกำลังวิเคราะห์มัน ในเร็ว ๆ นี้ มันจะถูกจัดแสดงต่อสาธารณชนที่พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์บริสตอล

"ผมจะรู้สึกเศร้าเล็กน้อยที่จะต้องบอกลา มันเหมือนผมได้รู้จักและศึกษาฟอสซิลชิ้นนี้มาอย่างละเอียด แต่ในขณะเดียวกัน ก็โล่งอกด้วย เพราะผมจะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับมันมากอีกต่อไป" พอลกล่าว

ดร.ดีน กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ เน้นย้ำถึงความสำคัญของนักล่าฟอสซิลมือสมัครเล่น

"ครอบครัวและทุกคนสามารถค้นพบสิ่งที่น่าทึ่งได้ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก แค่เพียงคุณมีความอดทนสักหน่อย และมีสายตาที่เฉียบแหลม คุณก็สามารถทำการค้นพบได้เช่นกัน" เขากล่าว


https://www.bbc.com/thai/articles/cd18zdxj2k5o

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 29-04-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


"น้ำท่วมรุนแรง คลื่นความร้อนสูง แล้งยาวนาน ไฟป่าพุ่ง" สภาพอากาศสุดขั้วที่โลกกำลังเผชิญ ............. โดย มาร์ก พอยน์ทิง และ เอสมี สตอลลาร์ด บีบีซีนิวส์ แผนกข่าวภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์


ที่มาของภาพ,REUTERS

การศึกษาใหม่ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เผชิญกับฝนที่หนักและถี่ขึ้น และนี่คือ 4 สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)


1.ฝนตกหนักสุดขั้ว น้ำท่วมรุนแรง

สำหรับทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ชั้นบรรยากาศจะสามารถเก็บกักความชื้นได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7%

สิ่งนี้อาจส่งผลให้เกิดละอองน้ำฝนมากขึ้นและฝนตกหนักขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นลงและในพื้นที่ที่แคบลง

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า สภาพอากาศสุดขั้วแต่ละเหตุการณ์ สามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ โดยพิจารณาจากสาเหตุตามธรรมชาติและสาเหตุจากมนุษย์

กรณีฝนตกหนักที่นครดูไบและประเทศโอมาน ในเดือน เม.ย. 2024 เป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้อย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทมากน้อยเพียงใด เนื่องจากฝนตกหนักในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นได้ยาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อเปรียบเทียบน้อยลง

แต่กลุ่มวิเคราะห์สภาพอากาศโลก (WWA) ชี้ว่า ปริมาณฝนประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะหนักขึ้น 10-40% และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน่าจะเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุด

ในเดือนเดียวกันนั้น ยังพบเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในบางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออกด้วย

แม้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทอย่างไรในเหตุการณ์นั้น แต่ WWA พบว่า สถานการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคเดียวกันช่วงเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2023 นั้นเลวร้ายลง เนื่องจากการผสมผสานกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศธรรมชาติที่เรียกว่า "ปรากฏการณ์ไอโอดี (Indian Ocean Dipole-IOD)? ซึ่งเป็นการสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อ ก.ย. 2023 น้ำท่วมรุนแรงสร้างความสูญเสียต่อชีวิตประชาชนทางตอนเหนือของประเทศลิเบีย

ฝนที่ตกลงมานี้ มีโอกาสเกิดขึ้นเพิ่มสูงถึง 50 เท่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคงหลายปีติดต่อกัน กำลังส่งผลกระทบต่อการเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์เช่นนี้

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ รายงานว่า สถานการณ์ฝนตกหนักเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่บกส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ทาง IPCC ยังระบุด้วยว่า รูปแบบนี้จะยังคงดำเนินต่อไป หากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น


2.คลื่นความร้อนสูงขึ้น และยาวนานกว่าเดิม

แม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพอากาศร้อนสุดขั้ว

การกระจายตัวของอุณหภูมิประจำวันจะเปลี่ยนไปทางที่อุ่นขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่าจะเกิดวันที่มีสภาพอากาศร้อนจัดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น

เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2024 คลื่นความร้อนรุนแรงพัดผ่านภูมิภาคซาเฮลของแอฟริกา ส่งผลให้สาธารณรัฐมาลีมีอุณหภูมิสูงถึง 48.5 องศาเซลเซียส สถานการณ์นี้เชื่อมโยงกับจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น

WWA พบว่า อุณหภูมิระดับนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ และมันกำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเมื่อโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง

ในสหราชอาณาจักร พบว่า เดือน ก.ค. 2022 อุณหภูมิพุ่งสูงแตะ 40 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกเท่าที่เคยมีการบันทึกข้อมูล ซึ่งต่อมาพบว่าสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ โดย WWA ระบุว่า เหตุการณ์เช่นนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า คลื่นความร้อนคงอยู่นานขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงสหราชอาณาจักรด้วย

สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นจากโดมความร้อนซึ่งเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูง ส่งผลให้อากาศร้อนถูกกดลงมาและติดอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น เมืองต่าง ๆ

มีทฤษฎีหนึ่งชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในแถบอาร์กติก ซึ่งร้อนขึ้นเกือบสี่เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก กำลังส่งผลให้กระแสลมกรด (jet stream) ซึ่งเป็นลมแรงที่พัดอยู่บนชั้นบรรยากาศไหลช้าลง ส่งผลต่อการเกิดโดมความร้อนได้ง่ายขึ้น


3. ความแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น

การเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับภัยแล้งแต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ยาก

ปริมาณน้ำที่เรามีใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เพียงอุณหภูมิและฝนเท่านั้น และระบบสภาพอากาศตามธรรมชาติก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยกรณีภัยแล้งในแอฟริกาใต้ช่วงต้นปี 2024 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง

แต่คลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถทำให้ภัยแล้งเลวร้ายลงได้ เนื่องจากความร้อนทำให้ดินแห้งเร็วขึ้น ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศด้านบนร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ความร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ในช่วงที่มีอากาศร้อน ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากภาคเกษตรกรรม ยิ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่

บางพื้นที่ในแอฟริกาตะวันออกเผชิญกับฤดูฝนที่แล้งต่อเนื่องถึง 5 ฤดูกาลต่อเนื่องกันในช่วงปี 2020 และ 2022 ส่งผลให้ภูมิภาคนี้ประสบกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี ภัยแล้งดังกล่าวทำให้ประชาชนกว่า 1.2 ล้านคนในโซมาเลียต้องย้ายถิ่นฐาน

กลุ่มวิเคราะห์สภาพอากาศโลก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภัยแล้งลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 100 เท่า

นอกจากนี้ยังพบว่าเบื้องหลังภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 50 ปีของป่าฝนแอมะซอนช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ยังเกิดจากภาวะโลกร้อนซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ด้วย


4. การเพิ่มขึ้นของชนวนไฟป่า

ไฟป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในหลายพื้นที่ของโลก การชี้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุหรือทำให้ไฟป่าครั้งใดรุนแรงขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

แต่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้สภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของไฟป่ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น

ความร้อนที่รุนแรงยาวนาน จะดึงความชื้นออกจากดินและพืชมากขึ้น ต่อมาพบว่าสภาพแห้งกรังเหล่านี้ จะเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าซึ่งสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีลมแรง

อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังอาจเพิ่มโอกาสเกิดฟ้าผ่าในป่าทางเหนือสุดของโลก อันส่งผลให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย

แคนาดาประสบกับฤดูไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 โดยมีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ไปประมาณ 18 ล้านเฮกเตอร์ หรือ 113 ล้านไร่

กลุ่มวิเคราะห์สภาพอากาศโลก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเอื้อให้เกิด "สภาพอากาศที่เหมาะสมให้เกิดไฟไหม้รุนแรง" เป็น 2 เท่า ในพื้นที่ทางตะวันออกของแคนาดา ซึ่งช่วยให้ไฟป่าลุกลามเป็นวงกว้างด้วย

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) คาดการณ์ว่า สภาวะไฟป่ารุนแรงสุดขั้วจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกในอนาคต เนื่องจากผลกระทบร่วมกันของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทาง UNEP ยังประเมินด้วยว่า จำนวนไฟป่าที่รุนแรงที่สุดอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 50% ภายในปี 2100


https://www.bbc.com/thai/articles/c3g9j6dy6keo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:28


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger