เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 08-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 7 ? 8 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 9 ? 10 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 11 ? 13 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 08-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


"ฉลามวาฬ" ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งอันดามัน ต้นแบบ..การท่องเที่ยวยั่งยืน



โลกในปัจจุบันกำลังถูกคุกคามด้วยภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน และการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยจึงหันมาสนใจกับการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด Sustainability ที่เน้นความยั่งยืนของระบบนิเวศและธรรมชาติ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในหลากหลายรูปแบบ

ล่าสุด เพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผอ.ส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ต่อพงษ์ วงเสถียรชัย ประธานกรรมการผู้จัดการ เลิฟอันดามัน และบริษัทบัตรเครดิต เคทีซี นำเสนอการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ภายใต้แฮชแท็ก #GLOรักษ์โลก #GLOZerowaste

เปิดตัวทริปแรกกับ "เรือฉลามวาฬ" ซึ่งเป็นเรือ Speed Catamaran ขนาด 2 ท้อง 4 เครื่องยนต์ ที่ปรับขนาดความจุจาก 75 ที่นั่งให้เหลือ 44 ที่นั่ง เพื่อความสะดวกสบายกว่าเดิม

สตางค์-ต่อพงษ์ วงเสถียรชัย ผู้เปิดตำนานเกาะตาชัยให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับต้นๆของเอเชียมาแล้ว เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบเรือฉลามวาฬ ว่า เราเลือกฉลามวาฬเพราะว่าน้องคือสัตว์ทะเลยักษ์ใหญ่ใจดีของท้องทะเลอันดามันและเรือลำนี้ก็เป็นเรือสองชั้นลำใหญ่ลำแรกของบริษัทเลิฟอันดามัน ก็เลยอยากให้ฉลามวาฬเป็นตัวแทนของการสื่อสารถึงความรักที่เรามีต่อสัตว์ทะเล และทะเลอันดามันไปพร้อมๆกัน เพื่อให้คนที่ได้พบเห็นตระหนักถึง การท่องเที่ยวทางทะเล ยังมีสัตว์ทะเลที่อยู่ใต้น้ำอีกเป็นล้านล้านชีวิต ที่เราเองก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบทุกครั้งเมื่อออกมาท่องเที่ยวด้วยกัน

ประธานกรรมการผู้จัดการ เลิฟอันดามัน บอกว่า เราอยากให้การล่องเรือกับฉลามวาฬเป็นการท่องเที่ยวแนวรักษ์โลก ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การที่เราทำคอลเลกชันเรือออกมาให้เป็นลายสัตว์ทะเล ก็เพื่อให้ทุกคนได้มีความผูกพันกับสัตว์ทะเลมากขึ้น เมื่อรู้จักกันแล้ว ก็จะมีความรักและความหวงแหน

"ในทริปท่องเที่ยวกับฉลามวาฬ เราจะสื่อสารให้นักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีถ้าเราทิ้งขยะลงในทะเลจะใช้เวลาย่อยสลายกี่ปี โดยมีข้อความติดที่ด้านหลังยูนิฟอร์มของพนักงานเลย" สตางค์บอกพร้อมกับบอกว่า ใครที่เคยท่องเที่ยวกับเลิฟอันดามันจะรู้ว่าไกด์และลูกเรือของเราจะได้รับการเทรนด์มาอย่างดีในการให้ข้อมูลเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่คราวนี้ก็จะได้รู้เรื่องราวของเจ้าฉลามวาฬยักษ์ใหญ่ใจดี ที่ในแต่ละปีมีจำนวนลดน้อยลงมาก และมีโอกาสเสียชีวิตสูงจากการกินเศษพลาสติกหรือขยะที่ตกค้างอยู่ในทะเล

สำหรับเรือฉลามวาฬ ถือเป็นเรือน้องใหม่ล่าสุดของเลิฟอันดามัน ที่ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ท้องทะเล ตั้งแต่สีและลายเส้นที่ถ่ายทอดเป็นลายเรือสัตว์ทะเล ซึ่งเลิฟอันดามันเป็นตัวแทนที่ใช้การออกแบบเพื่อสื่อสารให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้มาพบเห็นและเข้าใจถึงเรื่องราวเหล่านี้ นอกจากนี้ ท้ายเรือยังมีแพนท้ายเรือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นลงเรืออย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆที่เลือกใช้เรือที่มีแพนท้าย และสำคัญที่สุดคือ เลือกใช้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ ที่ไม่ทิ้งคราบน้ำมันลงทะเลด้วย

เราเดินทางกับทริปฉลามวาฬด้วยความอิ่มเอมใจ นอกจากตัวเรือและคอนเซปต์ที่ชัดเจนแล้ว ทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง น้องๆไกด์ และทีมงานจะคอยให้ข้อมูลถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งปะการัง ปลานกแก้ว ไปจนถึงการเลือกใช้ครีมกันแดด

เอมมี่...ไกด์ร่างใหญ่หัวใจสาวงาม บอกกับพวกเราว่า ปลานกแก้ว 1 ตัว สามารถสร้างหาดทรายและผืนทรายใต้ท้องทะเลได้ถึงปีละ 9 กิโลกรัม จากการขับถ่ายออกมาเป็นทราย ไม่รวมการที่น้องๆปลานกแก้วจะช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของสาหร่ายบนแนวปะการัง ที่มีส่วนทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงและอาจทำให้ปะการังตายได้ นอกเหนือจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่แล้ว

ส่วนครีมกันแดด เธอบอกว่า บริษัทของเธอเน้นมากที่จะไม่ให้มีการใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารที่ทำลายปะการัง เช่น Oxybenzone หรือ Benzophenon, Octinoxate หรือง่ายๆก็คือ แนะนำนักท่องเที่ยวให้ใช้ครีมกันแดดที่มีคำว่า "reef-safe", "Ocean Friendly", หรือมีตราสัญลักษณ์ "Protect Land & Sea" ที่ข้างขวดเท่านั้น

ทั้งนี้ เรื่องนี้เคยมีงานวิจัยโดย Downs และคณะ เพื่อองค์กร National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และองค์กรอื่นๆในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่าปะการังอ่อนที่สัมผัสกับสาร Oxybenzone และ Octinoxate ที่มีในสารกันแดดแสดงออกถึงภาวะเครียด โดยมีสีซีดจางลง ทำให้ปะการังติดเชื้อได้ง่ายและไม่สามารถได้รับสารอาหารได้เต็มที่อย่างที่เคย อีกทั้งสารทั้งสองชนิดยังสร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ แถมทำให้โครงสร้างปะการังเจริญเติบโตผิดปกติด้วย และในแต่ละปีแทบไม่น่าเชื่อว่ามีครีมกันแดดถึง 6,000 ตันตกค้างอยู่ในทะเลทั่วโลก โดยจะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณที่นักท่องเที่ยวมาว่ายน้ำหรือดำน้ำดูปะการังเป็นส่วนใหญ่

สุดท้าย การเที่ยวทางทะเลไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำอาหารหรือขนมปังไปให้ปลา เพราะจะทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย ส่งผลถึงชีวิตของทั้งสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่ควรจะอยู่คู่กับทะเลเพื่อเป็นความสวยงามของโลกต่อไปนานๆ.


https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2791416

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 08-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ปลากะพงขาวสดกับสารปรอท



ปลากะพงขาว วัตถุดิบธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงแถมย่อยง่าย มีไขมันต่ำ เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารหลากหลายเมนู ทั้งปลากะพงทอดน้ำปลา ปลากะพงนึ่งมะนาว ปลากะพงทอดกระเทียม แกงส้มปลากะพง ทว่าอาหารที่มาจากท้องทะเลอาจมีอันตรายแอบแฝงที่ต้องระมัดระวังคือ การปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น สารปรอท ซึ่งปกติปรอทจะนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมต่างๆ แต่หากในระหว่างการใช้ ไม่มีการควบคุมที่ดีเพียงพอ หรือผู้ประกอบการกำจัดออกจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างขาดความรับผิดชอบ ก็อาจทำให้สารปรอทปนเปื้อนและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ ดิน และทะเลได้ ที่สำคัญยังทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงปลากะพงขาวมีสารปรอทปนเปื้อนไปด้วย เมื่อเรานำปลากระพงขาวที่ปนเปื้อนสารปรอท มาใช้ปรุง ประกอบอาหารและทานเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ได้รับอันตราย หรือเกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกายจากสารปรอทได้ เช่น พิษต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาท ระบบผิวหนังและเยื่อบุ ระบบโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด การทำงานของไตผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การมองเห็นผิดปกติ ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ตัวซีด ระบบการหายใจล้มเหลวได้

ตามกฎหมายของไทยกำหนดให้พบเมธิลเมอร์คิวรีปนเปื้อนในปลาสด (ปลานักล่า) ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างปลากะพงขาวสด จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในตลาดสดเขตกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์สารปรอทปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่ามีปลากะพงขาวสด 1 ตัวอย่าง พบสารปรอทปนเปื้อนในปริมาณ 0.024 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณที่พบนับว่าน้อยมาก และน้อยกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด วันนี้ผู้บริโภคทานปลากะพงกันได้อย่างสบายใจ แม้ปลากะพงจะเป็นอาหารที่ดี และมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ควรทานอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ ควรเลือกทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ เพื่อความปลอดภัยและร่างกายที่แข็งแรง.


https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2791135

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 08-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


8 มิถุนายน วันทะเลโลก "โลกเดือด ทะเลร้อน"
........ โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย


KEY POINTS

- 8 มิถุนายน วันทะเลโลก หรือวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) เกิดขึ้นในปี 2535 ในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม (The Earth Summit) ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร โดย 178 ประเทศสมาชิก

- นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าระดับปกติ 1.5 องศาเซนติเกรด ปะการังในโลกจะถูกทำลายกว่าร้อยละ 70-90 และหากสูงขึ้น 2.0 องศาเซนติเกรด ปะการังจะถูกทำลายสูงถึงร้อยละ 99

- ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรเพิ่มเป็นประวัติการณ์ และส่งผลต่อแนวปะการังกว่า 54 ประเทศแล้ว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยทั้งหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน หมู่เกาะชุมพร และเกาะโลซิน




8 มิถุนายน วันทะเลโลก หรือวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2535 โดยความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก ในการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม (The Earth Summit) ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

โดยมีประเทศสมาชิก 178 ประเทศ รวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งต่อไปยังประชาชนเกิดจิตสำนึกและความตระหนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

และในปีนี้ ก็เป็นเวลากว่า 32 ปีแล้ว โดยในแต่ละปีก็จะมีธีมในการรณรงค์แตกต่างกัน หลายปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญการหยุดยั้งปัญหาขยะทะเล และในปี 2567 ให้ความสำคัญของการลงมือทำ (Action) "Catalyzing Action for our Ocean & Climate : เร่งลงมือเพื่อทะเลและภูมิอากาศ"

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ได้เรียบเรียงข้อมูลพร้อมหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก และปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า


นักวิทยาศาสตร์ได้มีการประเมินว่า ถ้าอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าระดับปกติ 1.5 องศาเซนติเกรด ปะการังในโลกจะถูกทำลายกว่าร้อยละ 70-90 และหากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น 2.0 องศาเซนติเกรด ปะการังจะถูกทำลายสูงถึงร้อยละ 99 เลยทีเดียว

ระบบนิเวศแนวปะการัง นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ยังเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอีกด้วย

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และส่งผลต่อแนวปะการังทั่วโลกกว่า 54 ประเทศแล้ว ในส่วนของประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาว

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สำรวจแหล่งปะการังหลายพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ระบุว่าเกิด ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง จากระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น จนต้องประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 12 แห่ง ทั้งฝังทะเลอันดามันและอ่าวไทย

พื้นที่ที่เริ่มเกิดปะการังฟอกขาวแล้วกว่าร้อยละ 50 - 70 ได้แก่ หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน หมู่เกาะชุมพร และอยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติมอีกในหลายพื้นที่

และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2567 บริเวณเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานีพบปะการังฟอกขาว ร้อยละ 40 สีจางร้อยละ 30 และยังอยู่ในสภาพปกติเพียงร้อยละ 30 โดยปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด ปะการังช่องเล็ก และกลุ่มปะการังเขากวางแผ่นแบนแบบโต๊ะ

ดร.วิจารย์ ยังบอกเพิ่มเติมถึงปัญหาต่างๆของทะเลว่า ขยะทะเล เป็นปัญหาสำคัญของประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะขยะพลาสติก การผลิตพลาสติกทั่วโลกปีละกว่า 400 ล้านตัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการและถ้าหากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องก็จะมีปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและทะเลได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีปัญหาขยะในทะเลระดับท๊อปเท็นของโลก พร้อมกับอีก 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี ประมาณร้อยละ 13-15 จากขยะชุมชนทั้งหมด ที่มีปริมาณปีละ 28 ? 29 ล้านตันต่อปี

มีการประเมินว่ามีระบบจัดการได้อย่างถูกต้อง โดยการนำไปรีไซเคิลได้ประมาณ ร้อยละ 25 ที่เหลือร้อยละ 75 ถูกนำไปฝังกลบ หรือเผา หรือกองทิ้ง

จึงทำให้ขยะพลาสติกส่วนหนึ่งเล็ดลอดออกสู่คลอง แม่น้ำ และปลายทางที่ทะเล ประเมินว่าขยะพลาสติกที่เราใช้ประโยชน์ 50-60 ปีที่แล้ว เมื่อลงสู่น้ำหรือทะเล จะดูดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติก ใช้เวลาเป็นร้อยปี

พลาสติกเหล่านี้ เมื่ออยู่ในน้ำก็จะคล้ายๆ กับแพลงก์ตอน สัตว์น้ำจึงกินเข้าไป และสะสมในส่วนต่าง ๆ และมนุษย์ก็ถูกถ่ายทอดไมโครพลาสติกจากการรับประทานสัตว์น้ำต่างๆ นอกจากนี้ก็มีการปนเปื้อนในน้ำ ในเกลือ และระบบนิเวศทางทะเลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาน้ำเสีย เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อทะเล โดยน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดต่างๆที่ไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสีย ได้ไหลผ่านแม่น้ำคูคลองต่างๆปลายทางที่ทะเล ได้ส่งผลกระทบต่อทะเลแล้ว ดังปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี จากสารอาหารที่มากเกินไปจากน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการท่องเที่ยว

กรณีที่เกิดขึ้นที่บางแสน และศรีราชา ช่วงหลังมานี่เกิดขึ้นถี่และกินบริเวณกว้าง ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อน สำหรับน้ำเสียจากแหล่งชุมชน ที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียได้เพียงร้อยละ 26 ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่านั้น

การท่องเที่ยวทางทะเล ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก การท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ก็จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี คำนึงศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการมีการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งระบบบำบัดน้ำเสียและการจัดการขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยว

"ขณะนี้ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภารกิจในเรื่องนี้ในหลายๆพื้นที่ รัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้าไปช่วยดำเนินการทั้งงการลงทุน การบริหารจัดการ การดูแลระบบ ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน"

ยกตัวอย่าง เกาะลันตา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาขยะ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยทุน บพข. ( หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ในการพัฒนารูปแบบและกลไกการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะและขยะพลาสติกครบวงจร ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยการ ลดและแยกขยะ การนำขยะอาหารไปเลี้ยงสัตว์ การนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชน

ในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 จังหวัดกระบี่และชาวเกาะลันตา ได้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันทะเลโลกและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ ?การสัมมนาชาวเกาะเพื่อการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน? ที่มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ร่วมให้ข้อมูลในส่วนการจัดการสิ่งแวดล้อมบนเกาะ

"โลกกำลังจะเดือด ทะเลกำลังจะร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะตามมา เป็นปัญหาที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบและต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเร่งรีบแก้ไขปัญหาเดิมและเตรียมพร้อมรองรับกับปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ดร. วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1130442

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 08-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"ปิ่นสักก์" กับภารกิจหยุด "ปะการังฟอกขาว" เพื่อ "ทะเลไทย"



"ปะการังฟอกขาว" เป็นสิ่งสะท้อน "วิกฤตโลกร้อน" ได้อย่างชัดเจนที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่เกิดขึ้นในทะเลต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ใน "ทะเลไทย" ก็รุนแรงไม่แพ้กัน
"ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์พิเศษ "ปิ่นสักก์ สุรัสวดี" อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในห้วงเวลาวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิ.ย. และวันทะเลโลก วันที่ 8 มิ.ย.

เพื่อหาคำตอบว่า "ทะเลไทย" เข้าข่าย "วิกฤต" อย่างไร เมื่อโลกร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็ว และเราในฐานะที่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันอย่างไร เพื่อให้ทะเลคงอยู่ต่อไปอย่างมีคุณภาพ

และในฐานะที่ "ปิ่นสักก์" เป็นเสมือนหัวขบวนของการปกป้องทรัพยากรทางทะเล จึงต้องจับมือกับเครือข่าย ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และภาคเอกชน เพื่อปกป้องให้ "ปะการัง" ลดการฟอกขาวลง และเพื่อไม่ให้เกิดการขยายวงเพิ่มขึ้น


ไทยพีบีเอสออนไลน์ : สถานการณ์ปะการังประเทศไทยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ปิ่นสักก์ : ปะการังเป็นโครงสร้างหินปูนสีขาว แต่จะมีตัวปะการังซ้อนอยู่ข้างใน เรียกว่า ซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ที่มีสีอยู่ ทำให้เราเห็นว่าปะการังมีสี แต่ในสภาพที่มันเกิดความเครียด ไม่ว่าจะด้วยอุณหภูมิความร้อน ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับที่มันรับได้ คือ 29 องศาเซลเซียส แสงแดดจัดมาก ร้อนมาก มันอยู่ไม่สบาย อาจจะทำให้ปะการังขาวๆ มันจะคายสาหร่ายเซลเดียวออกมา ทำให้เราเห็นว่าเป็นสีขาว พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเขาเครียดจากความร้อนและแสงเขาจะเป็นสีขาว

"ปีนี้เป็นปีที่เราพยากรณ์ไว้ว่า อุณหภูมิของน้ำในประเทศไทยรวมทั้งในสากลในโลก จะร้อนมาก ขนาดองค์กร NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration ) หรือ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ บอกว่า ปีนี้จะร้อนสุดๆ จริง ๆ และปะการังจะฟอกขาวครั้งใหญ่ เป็นระดับโลก เป็นครั้งที่ 4 ที่เกิดวิกฤตขึ้นมา"

บ้านเราเองก็มีระบบในการติดตามว่ามันฟอกหรือไม่ฟอก หรือฟอกมากแค่ไหน การคาดการณ์ในตอนต้น ก่อนที่จะถึงหน้าร้อน เราคาดการณ์ว่ามันจะฟอกขาวหนักๆ อยู่ 3 พื้นที่ ก็คือ อันดามันตอนล่าง ทะเลภาคตะวันออก และอ่าวไทยตอนกลาง และเราก็ร่วมกับเครือข่ายนักดำน้ำ อาสาสมัคร นักวิชาการ ช่วยกันทำระบบรายงานมา

"เพราะฉะนั้นตอนนี้ เราจะมีคนรายงานมาอย่างต่อเนื่องแบบเรียลไทม์ ว่าที่ไหนฟอก ฟอกระดับไหน คือเราแบ่งว่า ถ้าฟอกหนักเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ฟอกปานกลาง 11-50 เปอร์เซ็นต์ เริ่มฟอกสีซีด 1-10 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าไม่ฟอกก็ไม่มีอะไร ให้เขารายงานมาตามเกณฑ์นี้ พร้อมกับส่งรูปมาประกอบ"

จะเห็นว่ามีหลายพื้นที่มากที่เริ่มฟอกหนักแล้ว แต่เอาจริง ๆ ภาพรวมคือ ฟอกขาวแล้วเกือบทั้งประเทศ แต่บางพื้นที่จะฟอกหนัก

ตัวอย่างที่อัพเดทที่สุดคือวันที่ 28 พ.ค.2567 จะเห็นว่าส่วนใหญ่มีการฟอกขาวตามที่เราติดตามไว้ 3 พื้นที่ โดยตัวอย่างที่ให้เห็น

"ขอเน้นย้ำว่า ที่ฟอกขาวไม่ได้หมายความว่ามันตายนะ ฟอกคือป่วย เพราะฉะนั้นช่วงนี้คือช่วงวิกฤที่เราต้องดูแลให้ดี"


ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ช่วงเวลานี้ (มิ.ย.2567) บริเวณไหนที่วิกฤต

ปิ่นสักก์ : วิกฤตเกือบหมด อ่าวไทยจะวิกฤตมากกว่าฝั่งอันดามัน เพราะสภาพทางสมุทรศาสตร์ ของอ่าวไทย เรื่องของกระแสน้ำ มันถ่ายเทน้อยกว่า อุณหภูมิความร้อนมันสะสมมากกว่า

"ฝั่งอันดามันตอนเหนือ โชคดีว่าเรามีกระแสน้ำเย็นเข้าในช่วงต้นปี ปลายปีก่อน จึงทำให้สถานการณ์ทุเลาลง ส่วนอันดามันตอนล่างก็ยังวิกฤต"


ไทยพีบีเอสออนไลน์ : การเปลี่ยนแปลงมันใช้เวลามากน้อยแค่ไหน

ปิ่นสักก์ : เราเรียกว่า Degree Heating Week คือ จำนวนสัปดาห์ที่สะสม คือจำนวนวันที่สะสมที่ปะการัง เขาอยู่ในอุณหภูมิน้ำที่เขาทนได้ โดยหลักๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ สัปดาห์กว่าๆ ก็ขาวซีดแล้ว และถ้าเขาฟอกไปแล้ว จะไม่เกิน 1 สัปดาห์เขาก็จะตายแล้ว มันตอบแบบประมาณ

"ปะการังก็เป็นสิ่งมีชีวิต เหมือนคนป่วย เราแข็งแรงเราก็ทนได้นาน ถ้าคนอ่อนแอ เป็นไข้หวัดตายก็มี"

ถามว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้า ตอนนี้ทาง NOAA ก็ให้ข้อมูลว่าอีก 1 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ก็ค่อนข้างมีความเครียด ฝั่งอันดามันจะบรรเทาเบาบางลดลง ลดระดับการเตือนภัยลง

"วันนี้ถึงจุดที่พีคของอุณหภูมิไปแล้ว ตอนนี้จะมีแต่ลดลง เราก็สังเกตได้ ฝนเริ่มมา เมฆเริ่มมา เพราะฉะนั้นก็ได้แต่คาดหวังว่า ปะการังจะยังไม่ตาย ที่ฟอกแล้วก็ยังไม่ตาย ที่ตายแล้วก็ยังต้องมีการฟื้นฟู"

จะเห็นว่า ทั้งอันดามันและอ่าวไทยเหมือนกัน คือเราเลยจุดพีคที่มันร้อนที่สุดแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดที่เราต้องช่วยกันดูแลปะการังที่เขาป่วย


ไทยพีบีเอสออนไลน์ : จุดวิกฤตตอนนี้เรียกลำดับยังไงบ้าง

ปิ่นสักก์ : ตอนนี้จุดวิกฤตมี 3 พื้นที่หลักๆ ก็คือ อันดามันตอนล่าง แถวกระบี่ ภูเก็ต อ่าวพังงา ก็จะเป็นโซนที่มีปะการังฟอกขาวเยอะ โซนที่ 2 ก็แถวชุมพร โซนที่ 3 แถวฝั่งตราด โซนตรงนี้แหละที่อยากเรียนภาคประชาชนว่า ต้องขอร้องให้ช่วยกันดูแลเป็นพิเศษ

อันดามันตอนล่างแดดยังร้อน น้ำเย็นเข้าตอนบนเยอะ ตอนล่างเพิ่งเข้า ฝั่งอันดามันตอนนี้มันเริ่มปิดฤดูท่องเที่ยวแล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาที่เพิ่มเติมจากมนุษย์น่าจะลดลง ก็ต้องรอดูว่าปะการังเขาจะฟื้นตัวเองได้มั้ย

"ทะเลฝั่งตะวันออกยังคงมีปัญหา อาจจะต้องลดการท่องเที่ยว และลดผลกระทบในพื้นที่นั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราห้ามเที่ยวทะเล แต่ควรไปว่ายน้ำในจุดที่ไม่มีปะการังฟอกขาว หรือไม่มีผลกระทบแทน"


ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ทำยังไงกับการปกป้องดูแล

ปิ่นสักก์ : เนื่องจากตอนนี้เป็นรอบที่ 4-5 แล้วในการฟอกขาวในประเทศไทย วันนี้เราจึงมีการคุยกันในหมู่นักวิชาการ เครือข่าย อาสาสมัคร นักอนุรักษ์ ว่า การแก้ปัญหาหรือการเตรียมรับมือกับปะการังฟอกขาว

"เราต้องเตรียมการณ์ตั้งแต่ก่อนมันเกิด ตั้งแต่มกราคมแล้ว ที่เราเผยแพร่เป็นความรู้ มีช่องทางในการติดต่อสื่อสาร มีการตรวจสอบตรวจวัด คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ระดับน้ำ รวมถึงการทำโมเดลในการติดตามไปข้างหน้า เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง"

เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว เราจะมีเครือข่ายที่เราเตรียมไว้คอยรายงานเรา วันนี้ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.จะมีรายงานเข้ามาเยอะว่าที่ไหน ไม่ฟอกก็ไม่ทำอะไร ฟอกไม่รุนแรง ฟอกรุนแรง ฟอกรุนแรงมาก ซึ่งก็คือฟอกรุนแรงและยังมีความร้อนต่อเนื่อง น่าจะตาย

เราจึงมีมาตรการไปช่วยเหลือเขาใน 3 ระดับคือ ลด งด ช่วย ถ้ามันเริ่มฟอก เราจะ "ลด" ภัยคุกคามอื่น เพราะปะการังเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมดีเขาจะทน แต่ถ้ามีสิ่งแปลกปลอม จะทำให้เขามีปัญหาเพิ่มเติม เช่น ตะกอน ครีมกันแดดที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม คราบน้ำมัน สารอาหารที่เป็นอันตราย ต้อง "ลด" แต่ต้น

แต่เมื่อไหร่ที่มันรุนแรงแล้ว เราต้อง "งด" เช่น อุทยานฯ ประกาศงดการดำน้ำ ลดกิจกรรมการดำน้ำในจุดที่ฟอกรุนแรงแล้ว เพราะปะการังมันป่วยจนจะตายอยู่แล้ว ถ้าเราเอาเรือเข้าไป ไปดำน้ำ ไปเตะมัน เป็นตะกอน เอาน้ำมันเข้าไป หรือสารพิษเข้าไปมันก็ยิ่งทำให้ จากที่ "จะตาย" กลายเป็น "ตาย" แต่ตรงไหนที่มัน ตายแล้วเราจะช่วยมันด้วย

ถึงแม้จะช่วยไม่ได้มาก เราก็จะรักษาความหลากหลายชาวชีวภาพพื้นที่นั้นไว้ให้มากที่สุด 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังดี เพราะยังเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในอนาคต เราจึงมีมาตรการช่วยในการทำสแลนป้องกัน มันฟอกเพราะร้อน มันฟอกเพราะแดดจัด ร้อนเราทำอะไรไม่ได้ แต่แดดจัดเราช่วยได้ และหลังจากนี้เราจะมีการประเมินผลกระทบและติดตามการฟื้นตัว

"จะเห็นว่า นี่คือลด ไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งมลพิษ ไม่ให้อาหารปลา เพราะปลาบางชนิดเป็นตัวสร้างสมดุลของปะการัง ควบคุมอุณหภูมิของสาหร่าย ไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง"

"งดก็คืองดกิจกรรม ที่เข้าไปในพื้นที่ ยังไงถ้าปะการังป่วยอยู่แล้ว คนเข้าไปก็มีผลกระทบ อยากให้เห็นใจอุทยานฯ ที่เขาจำเป็นต้องประกาศปิดพื้นที่ดำน้ำ และมีการประกาศปิดไปแล้วหลายแห่ง จากข้อมูลที่เราได้มา"

"ช่วย" คืออะไร ให้เห็นว่า ฟอกเพราะร้อนและฟอกเพราะแดดจัด ร้อนเราคุมไม่ได้ แต่เราคุมแดดได้ ฉะนั้นเราจึงพยายามปกป้องพื้นที่ที่มีความหลากหลายไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต แทนที่พอมันตายไปแล้วไม่มีพ่อแม่พันธุ์เลย เราต้องหาจากที่อื่นมา กว่าจะมาปลูก มันยาก และความหลากหลายทางชีวภาพก็ไม่ได้ แต่ถ้าเราปกป้องได้แค่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เขามีศักยภาพในการฟื้นตัว แต่ว่าอันนี้อยู่ในขั้นศึกษา ทดลอง

เราจึงมีความพยายามที่จะใช้การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เก็บไข่ เก็บสเปิร์ม อย่างจุฬาฯ และหลายมหาวิทยาลัยกำลังทำอยู่ พอถึงจุดหนึ่งมันฟอกบ่อยขึ้น ฟอกถี่ขึ้น ฉะนั้นมนุษย์ก็ต้องไปช่วยในการฟื้นฟูให้เร็วขึ้น


ไทยพีบีเอสออนไลน์ : มีอะไรที่ช่วยป้องกันไม่ให้มันฟอกขาวหรือฟอกขาวช้าลง

ปิ่นสักก์ : ถ้ามันแข็งแรง มันฟอกช้าลงแน่นอน เพราะฉะนั้นปะการังมันอยู่ในน้ำ อยู่ในสิ่งแวดล้อม การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดนั่นคือช่วยมันแล้ว

อันที่สอง ถ้าดูรูปปะการังที่ฟอกขาว จะเห็นว่า มันไม่ได้ตายทุกกิ่ง แสดงว่าความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญมาก ถ้ามันมีจุดที่เขาไม่ตาย เราต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ แม้แต่เรื่องของปลา ปลาบางชนิดเขาจะควบคุมปริมาณสาหร่าย ไม่ให้ชิงพื้นที่ปะการัง ไม่ทำให้ปะการังเครียด ถ้าปลามันยังมีอยู่ในสมดุลธรรมชาติ อาจจะทำให้ปะการังเครียดน้อยลง ตายน้อยลง


ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ตอนนี้เราจะบอกคนทั่วไปยังไง ให้เขาตระหนักเรื่องเหล่านี้

ปิ่นสักก์ : ทุกวันนี้เชื่อว่า การตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดทุกที่แล้ว ทุกคนรู้แล้วว่าปัญหาโลกร้อนมันมีจริง แต่ก่อนเมื่อ 5 ปี 10 ปี คนคิดว่ามันยังไม่มี มันยังไม่เกิด แต่วันนี้ไม่มีใครเถียงแล้วว่ามันไม่จริง และไม่มีใครเถียงด้วยว่ามันรุนแรง

"ปีนี้เป็นปีที่ร้อนจัดมาก น้ำท่วม ทุกอย่างมันรวนไปหมด โลกมันรวนมากจริง ๆ ปะการังตาย หญ้าทะเลตาย เต่าทะเล พะยูน ฯลฯ มีผลกระทบทั้งหมด อันนี้ทุกคนกำลังช่วยอยู่ เพียงแต่ว่า ความเร็วในการช่วยมันจะต้องมากกว่านี้"

"ปะการังฟอกขาว" เป็นอีกหนึ่งในสิ่งแวดล้อม ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน รองลงมาจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมาก ทั้งที่เมื่อก่อนเราอาจมองว่า น้ำจะช่วยผ่อนคลายความร้อน แต่วันนี้กลับแทบจะเป็น "ทะเลเดือด" ที่เราต้องช่วยกันทำให้เย็นลง


https://www.thaipbs.or.th/news/content/340797

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 08-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เมื่อมหาสมุทร "สุขภาพดี" มนุษย์ย่อมอยู่รอด

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกล่าวว่ามหาสมุทรที่สุขภาพดี จะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ วันมหาสมุทรโลก 2024 จึงตั้งธีมว่า "เร่งดำเนินการเพื่อมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศของเรา"



วันมหาสมุทรโลก ตรงกับวันที่ 8 มิ.ย.ของทุกปี ก่อตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2008 เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทรและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญต่อทุกชีวิตบนโลก สำหรับธีมในปีนี้คือ Catalyzing Action for Our Ocean & Climate หรือ เร่งดำเนินการเพื่อมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศของเรา


ความสำคัญของมหาสมุทร

มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของพื้นผิวโลก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศอย่างมากมาย ได้แก่ การผลิตออกซิเจน ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มหาสมุทรยังควบคุมคุณภาพอากาศโลก ดูดซับความร้อนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจ มหาสมุทรควบคุมสภาพอากาศ ผลิตออกซิเจนให้กับคนครึ่งโลก ปลาจากมหาสมุทรเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับคนหลายพันล้าน

"พูดง่าย ๆ ถ้ามหาสมุทรมีสุขภาพดี มนุษย์ก็ย่อมอยู่รอดและดำรงชีวิตต่อไปได้"


ปัญหาใหญ่ในทะเลหลวง

ความสำคัญของมหาสมุทรนั้นใหญ่พอ ๆ กับปัญหาที่มหาสมุทรกำลังเผชิญ ทั้งเรื่องของมลพิษทางน้ำ การทิ้งขยะพลาสติก สารเคมีลงทะเล การประมงที่เกินขนาด จำนวนประชากรสัตว์ทะเลลดลง และปัญหาที่ถือเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดในยุคนี้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทำให้สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

ส่วนสำคัญในมหาสมุทรที่โลกต้องหันกลับมาให้ความสนใจจริง ๆ คือ "ทะเลหลวง" พื้นที่ที่ "อยู่นอกสายตาและไร้การดูแล" มานานแสนนาน โลกเปิดเสรีให้มีกิจกรรมที่ทุกคนบนโลกทำได้บนน่านน้ำทะเลหลวง ทั้งเดินเรือ ประมง วางสายและท่อใต้ทะเล หรือแม้กระทั่งบินเหนือน่านฟ้าทะเลหลวง แต่พื้นที่ที่กินอาณาบริเวณกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โลกนี้ กลับไร้ความพยายามปกป้อง ดูแล จากผู้ที่หยิบเอาแต่ผลประโยชน์ไปแม้แต่หน่อย

"ทะเลหลวง (High Sea)" คือส่วนทั้งหมดของทะเลที่ไม่รวมอยู่ในทะเลอาณาเขตหรือในน่านน้ำภายในของรัฐ เปิดให้แก่ชาติทั้งปวง ไม่มีรัฐใดอ้างสิทธิที่จะทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของทะเลหลวงตกอยู่ในอธิปไตยของตนได้ ซึ่งพื้นที่ทะเลหลวงนี้กินอาณาเขตมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โลก ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่บริเวณทะเลหลวงมีทั้ง ปะการังทะเลน้ำลึก วาฬ ปลาและสัตว์ทะเลอื่น ๆ

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มนุษย์ทุกคนอยากมีสุขภาพที่ดี มหาสมุทรก็เช่นกัน มหาสมุทรที่มีสุขภาพดีจะเป็นบ่อเกิดสภาพอากาศที่ดี เราขอเรียกร้องการดำเนินการที่เข้มแข็งจากระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติเพื่อดูแลมหาสมุทร


รักษ์มหาสมุทรเริ่มต้นได้จากมือเรา

- อาบน้ำให้ไวขึ้น : การลดเวลาอาบน้ำลงเพียง 1 นาที สามารถประหยัดน้ำได้ 8 ลิตร

- ใช้ถังรองน้ำฝนสำรองน้ำไว้รดน้ำต้นไม้ หรือซักผ้า

- กำหนดวันซักผ้า ซักต่อเมื่อผ้าเต็มถัง

- ปิดน้ำขณะแปรงฟัน สามารถประหยัดน้ำ ได้มากถึง 30 ลิตร/วัน


นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการกันว่าในแต่ละปีจะมีพลาสติกประมาณ 1.7 ล้านตันถูกทิ้งลงมหาสมุทร ของเสียนี้ส่งผลร้ายแรงต่อสัตว์ทะเลและสร้างความเสียหายต่อโลก ทั้งนก โลมา วาฬ เต่า ที่กินพลาสติกและตายจากพลาสติกคลุมตัวจนหายใจไม่ออก อนุภาคเล็กๆ ของพลาสติกที่เรียกว่าไมโครพลาสติก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงสำหรับสัตว์ทะเลได้ เราสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ ดังนี้

- งดการใช้หลอดพลาสติก ให้เปลี่ยนเป็นการใช้หลอดแบบใช้ซ้ำได้แทน

- พกขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขวดน้ำแบบใช้ครั้งเดียวสามารถฆ่าสัตว์ทะเลได้ประมาณ 1.1 ล้านตัว/ปี

- งดการขอช้อน-ส้อมพลาสติกเมื่อสั่งอาหารกลับบ้าน


https://www.thaipbs.or.th/news/content/340759

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:49


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger