เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 11-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 10 ? 11 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 12 ? 16 ก.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังแรงจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12 - 13 ก.ค. 67 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ในช่วงวันที่ 14 ? 15 ก.ค. 67


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 12 ? 16 ก.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 14 ? 16 ก.ค. 67












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 11-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'แม่น้ำ' ในเอกวาดอร์ชนะคดีละเมิดสิทธิ ศาลสั่งห้ามสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ
.......... โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล


KEY POINTS

- ศาลเอกวาดอร์ตัดสินให้ "แม่น้ำมาชังการา" ชนะคดีละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม เทศบาลจำเป็นต้องวางแผนทำความสะอาดและกำจัดสิ่งปนเปื้อนในแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

- แม่น้ำมาชังการา เต็มไปด้วยมลพิษ ทั้งจากการทิ้งน้ำเสีย ขยะ สิ่งปฏิกูล และสิ่งปนเปื้อนทุกประเภท ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย จนมีระดับออกซิเจนเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ซึ่งเป็นระดับสิ่งมีชีวิตในน้ำเจริญเติบโตได้ยาก

- เอกวาดอร์ เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ตระหนักถึงสิทธิของลักษณะทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ถึงขั้นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าธรรมชาติมีสิทธิที่จะไม่เสื่อมโทรมหรือปนเปื้อนจากมลพิษ




เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2024 ศาลเอกวาดอร์ตัดสินให้ "แม่น้ำมาชังการา" ได้รับการคุ้มครองจากมลพิษทางน้ำ และการเกิดมลพิษในแม่น้ำถือเป็นการ "ละเมิดสิทธิ" ของแม่น้ำ โดยเทศบาลจำเป็นต้องวางแผนทำความสะอาดและกำจัดสิ่งปนเปื้อนในแม่น้ำ

พร้อมหามาตรการในการลดระดับการปนเปื้อนในแม่น้ำอย่างรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และชี้ว่าปัญหาด้านงบประมาณไม่ควรเป็นอุปสรรคในการจัดการปัญหาดังกล่าว อีกทั้งศาลยังเน้นย้ำให้มีความร่วมมือและเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน ระหว่างภาคประชาสังคมและเทศบาล ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มาตรการต่าง ๆ บรรลุผลได้

แม้ว่าในขณะนี้ เทศบาลเมืองกีโตได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้ แต่เทศบาลจะต้องเริ่มดำเนินมาตรการกำจัดมลพิษในแม่น้ำทันที

ดาริโอ อิซา นักเคลื่อนไหวตัวแทนจากกลุ่มเอ็นจีโอ Kitu Kara ที่ยื่นฟ้องศาลในนามตัวแทนของแม่น้ำ กล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็น "การตัดสินประวัติศาสตร์"

"นี่เป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์เพราะแม่น้ำไหลผ่านกรุงกีโต เมืองหลวงของประเทศ และด้วยอิทธิพลของแม่น้ำนี้ ผู้คนจึงอาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำนี้มาก" อิซากล่าว

หลังจากคำสั่งศาลนี้ออกมา โครงการโรงบำบัดน้ำเสียทั้งขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้รับไฟเขียวในการศึกษา ออกแบบ และหาเงินทุนสำหรับการก่อสร้าง โดยหนึ่งในนั้นชื่อว่า PTAR Quito ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการลุ่มน้ำมาชังการา และบำบัดน้ำเสียในอัตรา 4.38 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปาเบล มูโนซ นายกเทศมนตรีเมืองคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 900 ล้านดอลลาร์

หลายประเทศในลาตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนในประเทศมีสิทธิ์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด แต่เอกวาดอร์ก้าวล้ำไปมากกว่านั้น เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ตระหนักถึงสิทธิของลักษณะทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ถึงขั้นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าธรรมชาติมีสิทธิที่จะไม่เสื่อมโทรมหรือปนเปื้อนจากมลพิษต่าง ๆ

"ธรรมชาติหรือ พระแม่ธรรมชาติ (Pacha Mama/ Mother Nature) ที่ซึ่งทำให้ชีวิตเกิดขึ้นและสืบพันธุ์ต่อได้ มีสิทธิที่จะได้รับการเคารพถึงการมีอยู่อย่างสมบูรณ์ เพื่อการบำรุง การเกิดใหม่ของวงจรชีวิต โครงสร้าง หน้าที่ และกระบวนการวิวัฒนาการ บุคคล ชุมชน ประชาชน และประเทศชาติสามารถเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐบังคับใช้สิทธิของธรรมชาติได้"

"รัฐจะให้สิ่งจูงใจแก่บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และชุมชนในการปกป้องธรรมชาติ และส่งเสริมความเคารพต่อองค์ประกอบทั้งหมดที่ประกอบเป็นระบบนิเวศ"

แหล่งกำเนิดของแม่น้ำมาชังการาอยู่ที่บนเทือกเขาแอนดีส และทอดยาวมายังกรุงกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ ซึ่งเกิดมลพิษในแม่น้ำ ทั้งจากการทิ้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและในครัวเรือนลงแม่น้ำ ตลอดจนขยะ สิ่งปฏิกูล และสิ่งปนเปื้อนทุกประเภทหลายล้านตัน ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย จนมีระดับออกซิเจนเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ซึ่งเป็นระดับสิ่งมีชีวิตในน้ำเจริญเติบโตได้ยาก

ความเสื่อมโทรมของแม่น้ำมาชังการา ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนประมาณ 2.6 ล้านคนในกรุงกีโต และประชากรจำนวนมากที่อยู่ปลายน้ำ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง

"แม่น้ำมาชังการาสูญเสียเอกลักษณ์ของมันไป ในตอนนี้แม่น้ำไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจ ที่มีประวัติศาสตร์ของเมืองอีกต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้อยู่อาศัย" Global Alliance for the Rights of Nature หรือ GARN เครือข่ายองค์กรด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมกล่าวในแถลงการณ์

ด้วยเหตุนี้กลุ่มนักอนุรักษ์จึงได้ยื่นคำร้องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ค. และเพิ่งมีผลการตัดสินออกมาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2024 ที่ผ่านมา

"ผลการตัดสินของศาลในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการปกป้องและขจัดการปนเปื้อนของแม่น้ำที่เปราะบางที่สุดในประเทศ การปนเปื้อนในแม่น้ำไม่เพียงแต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการรับประกันสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน" GARN กล่าว

ไม่ใช่แต่เอกวาดอร์ประเทศเดียวที่มีการฟ้องร้องคดีในลักษณะนี้ เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐฮาวายและชาวฮาวายได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากที่เยาวชนชาวฮาวายรวมตัวกันฟ้องกระทรวงคมนาคมแห่งรัฐฮาวาย เนื่องจากล้มเหลวในการปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ

ที่มา: Euro News, GARN, IFL Science, The Guardian


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1135189

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 11-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


เปิดอันดับ ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ปี 2024


Photo: Stefan Hiienurm/unsplash


ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) ของ Yale University ถูกจัดทำเป็นประจำทุกปี เพื่อหาสถิติผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศต่าง ๆ

โดยใช้ชุดข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีล่าสุด ที่ทำให้การประเมินสถานะของความยั่งยืนครอบคลุมที่สุด สำหรับดัชนีปี 2024 เป็นการสำรวจสถานะของความยั่งยืนของ 180 ประเทศ โดยใช้ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ 58 ตัว ในมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อม

EPI เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ในการติดตามความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ความตกลงปารีส (Paris Agreement) 2015 และกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework)?โดยช่วยระบุว่าประเทศใดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับผู้นำด้านความยั่งยืน และผู้ล้าหลังในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม


Top 10 ประเทศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

อันดับ 1 เอสโตเนีย 75.3 คะแนน
อันดับ 2 ลักเซมเบิร์ก 75.0 คะแนน
อันดับ 3 เยอรมนี 74.6 คะแนน
อันดับ 4 ฟินแลนด์ 73.7 คะแนน
อันดับ 5 สหราชอาณาจักร 72.7 คะแนน
อันดับ 6 สวีเดน 70.5 คะแนน
อันดับ 7 นอร์เวย์ 70.0 คะแนน
อันดับ 8 ออสเตรีย 69.0 คะแนน
อันดับ 9 สวิตเซอร์แลนด์ 68.0 คะแนน
อันดับ 10 เดนมาร์ก 67.9 คะแนน


Top 10 ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

อันดับ 180 เวียดนาม 24.5 คะแนน
อันดับ 179 ปากีสถาน 25.5 คะแนน
อันดับ 178 ลาว 26.1 คะแนน
อันดับ 177 เมียนมาร์ 26.9 คะแนน
อันดับ 176 อินเดีย 27.6 คะแนน
อันดับ 175 บังกลาเทศ 27.8 คะแนน
อันดับ 174 เอริเทรีย 28.6 คะแนน
อันดับ 173 มาดากัสการ์ 29.9 คะแนน
อันดับ 172 อิรัก 30.4 คะแนน
อันดับ 171 อัฟกานิสถาน 30.7 คะแนน

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 90 ของ 180 ประเทศ ด้วยคะแนน 45.4


กรณีศึกษาเอสโตเนีย จากผู้ปล่อย CO2 มากสุดอันดับ 2 ในสหภาพยุโรป?สู่อันดับ 1 ในดัชนีโลก EPI

ประเทศเอสโตเนียเป็นผู้นำในดัชนีจัดอันดับ EPI ปี 2024 ด้วยผลงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลดลง 40% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนจากเผาไหม้หินน้ำมันหรือน้ำมันที่เกิดจากการทับถมของซากพืช-ซากสัตว์อยู่ใต้ชั้นหินดินดานเพื่อผลิตไฟฟ้า มาเป็นพลังงานที่สะอาดกว่า นอกจากนั้น เอสโตเนียกำลังร่างข้อเสนอเพื่อให้บรรลุความเป็นกลางด้านคาร์บอนไดออกไซด์?และสร้างเครือข่ายการขนส่งสาธารณะที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ในเมืองใหญ่ ๆ ภายในปี 2040

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เอสโตเนียเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหภาพยุโรป โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเอสโตเนียมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากการเผาไหม้หินน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า (ตามรายงานของ CEE Bankwatch Network ปี 2018)?และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจคาร์บอนเข้มข้นมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD เหตุผลก็คือหินน้ำมันซึ่งเป็นหินตะกอนที่มีการขุดในเอสโตเนียเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 และยังได้ถูกนำมาใช้เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงดีเซลเหลวอีกด้วย

มลพิษที่มีความเข้มข้นสูงสร้างปัญหาสุขภาพให้กับคนในท้องถิ่น เด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการเผาไหม้หินน้ำมัน ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และอาจมีอายุเฉลี่ยขัยสั้นกว่าคนทั่วไปสี่ปี ดังนั้น เอสโตเนียจึงสร้างแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะลดจำนวนการเสียชีวิตก่อนกำหนดอันเนื่องมาจากมลพิษลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573

"คริสตี้ คลาส" รองรัฐมนตรีกระทรวง Green Transition ของเอสโตเนีย กล่าวว่า?เอสโตเนียได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 59% เมื่อเทียบกับปี 1990 ภาคพลังงานจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากเรามีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าที่ใช้จากพลังงานหมุนเวียนได้ 100% ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเยลระบุว่า?การพึ่งพาพลังงานชีวมวล (Biomass) ที่เพิ่มขึ้นของเอสโตเนีย ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ จึงไม่ชัดเจนว่าจะสามารถรักษาอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วได้หรือไม่


เทรนด์โลก Net Zero ต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า

ในปี 2022 เดนมาร์ก เป็นอันดับ 1 บนดัชนี EPI แต่ในปี 2024 หล่นลงมาอยู่อันดับที่ 10 เนื่องจากอัตราการลดคาร์บอนลดลง โดยการดำเนินการ "นโยบายผลไม้แขวนลอยต่ำ" ของประเทศส่งผลต่อประสิทธิภาพในช่วงแรก ๆ จากการเปลี่ยนมาใช้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ แต่การขยายตัวการผลิตพลังงานหมุนเวียนนั้นก็ยังไม่เพียงพอ

ดัชนี EPI ระบุด้วยว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา (ซึ่งปีนี้อยู่ในอันดับที่ 34) กำลังลดลงช้าเกินไปหรือยังคงเพิ่มขึ้น เช่นเดัยวกับ จีน รัสเซีย และอินเดีย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ กรีซ ติมอร์-เลสเต และสหราชอาณาจักร ที่ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ขณะที่เวียดนามและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน ลาว เมียนมาร์ และบังกลาเทศ อยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุด ซึ่งบ่งบอกถึงความเร่งด่วนของความร่วมมือระหว่างประเทศในการช่วยสร้างเส้นทางสำหรับประเทศที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้บรรลุความยั่งยืน

"แดเนียล เอสตี้"?ศาสตราจารย์ Hillhouse และผู้อำนวยการ Yale Center for Environmental Law & Policy (YCELP)?กล่าวว่า ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 เน้นย้ำถึงความท้าทายด้านความยั่งยืนที่สำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและอื่น ๆ อีกมากมาย และเผยให้เห็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการปกป้องระบบนิเวศที่สำคัญและความมีชีวิตชีวาของโลกของเรา


https://www.prachachat.net/sd-plus/s...y/news-1604564

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 11-07-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


พีคสุดรอบ 10 ปี "ปะการังหมู่เกาะอ่างทอง" ฟอกขาวเกิน 80%



พีคสุดรอบ 10 ปี พบ 10 อุทยาน 41 จุดท่องเที่ยวทางทะเล ปะการังฟอกขาวตาย โดยหมู่เกาะอ่างทองฟอกขาวเกิน 80% ปิดจุดดำน้ำ-พายเรือคายัคยอดฮิตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 จุด ครอบคลุมเกาะสามเส้า ทะเลใน หน้าทับ และเกาะร้าง รอวันฟื้นตัว ให้ไกด์ทำความเข้าใจนักท่องเที่ยว

แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนมาเกือบ 2 เดือนเศษ แต่สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในแหล่งท่องเที่ยวทะเลฝั่งอ่าวไทยยังคงวิกฤต

วันนี้ (10 ก.ค.2567) ไทยพีบีเอสออนไลน์ ร่วมสำรวจปะการังในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่เป็นจุดเช็กอินยอดฮิตของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะปะการังบริเวณเกาะสามเส้า 1 ใน 13 สถานีที่พบปัญหาปะการังฟอกขาว ทำให้ต้องปิดการท่องเที่ยวไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


คาด ส.ค. รอพ้นจุดพีคปะการังฟอกขาว

สุทิน พรหมปลัด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง บอกว่า จากการสำรวจปะการังทั้ง 13 สถานี พบปะการังฟอกขาวตั้งแต่ระดับ 40-75% ซึ่งพบปัญหาปะการังฟอกขาวตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี

สุทิน บอกว่า สาเหตุที่ปีนี้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรง เนื่องจากช่วงเดือนก่อนน้ำทะเลลดลงผิดปกติ ประกอบกับอุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่าค่าปกติ วัดได้ 31-32 องศาเซลเซียส จนทำให้ต้องประกาศปิดจุดท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คือ บริเวณเกาะสามเส้า ทะเลใน หน้าทับ และเกาะร้าง ซึ่งมีกิจกรรมดำน้ำตื้น และการพายเรือคายัค


แนะไกด์ทำความเข้าใจ ชมจุดเช็กอินทางเลือก

"ปะการังฟอกขาว หน้าหาดเกาะสามเส้า ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ถือว่าหนักสุดในรอบ10 ปี ในจำนวนนี้ 50% ที่ฟอกขาวเริ่มตายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ และเริ่มมีสาหร่ายปกคลุม"

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง บอกว่า จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 2 เดือนที่ปะการังฟอกขาว คาดว่าเร็วสุดช่วง ส.ค.นี้ น่าจะเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การปิดจุดท่องเที่ยว ไม่ได้กระทบกับนักท่องเที่ยวที่ 80% เป็นชาวต่างชาติแถบยุโรป เนื่องจากได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทัวร์

นอกจากนี้ มีกิจกรรมอื่นเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมในฤดูกาลนี้ เช่น เส้นทางขึ้นผาแจ่มจรัส ลงต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชม. เพื่อขึ้นไปจุดชมวิวของหมู่เกาะอ่างทองสามารถมองเห็นวิวแบบพาโรนามา 360 องศาของ 42 เกาะเรียงตัวตามแนวทะเลทิศเหนือใต้ และระหว่างทางจะมีค่างแว่นถิ่นใต้ และพืชหายากเฉพาะถิ่น รองเท้านารีช่องอ่างทอง ซึ่ง IUCN ขึ้นทะเบียนเป็นพืชหายากของโลก


"หมู่เกาะขนอม" สำรวจบางจุด ปะการังฟอกขาว 90%

ขณะที่วิมลมาศ นุ้ยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) บอกถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น โดยเฉพาะปีนี้จากสำรวจของอุทยานฯ ด้วยการใช้โดรนบินสำรวจมุมสูงพบปะการังฟอกขาวอยู่ในระดับวิกฤตทุกพื้นที่ เกิดปะการังฟอกขาวมากกว่าร้อยละ 80 เช่น เกาะราบทิศเหนือ ปะการังฟอกขาวถึง 85% มีพื้นที่ฟอกขาวมากกว่า 1 ไร่ ส่วนเกาะราบทิศตะวันตก ปะการังฟอกขาวแล้ว 80% มีพื้นที่ฟอกขาวมากกว่า 1 ไร่ ส่วนเกาะวังในทิศตะวันตก ปะการังฟอกขาวแล้ว 80%มีปะการังเริ่มซีดจาง 10% มีพื้นที่ฟอกขาวแล้วมากกว่า 1 ไร่

"ส่วนเกาะมัดโกงหนักสุด ปะการังฟอกขาว 90% ปะการังซีดจาง 5% คิดเป็นพื้นที่เสียหายกว่า 1 ไร่ ภาพรวมถือว่าน่ากังวลมาก เพราะแนวโน้มยังฟอกขาวเพิ่มขึ้นจนจะส่งผลต่อระบบนิเวศในระยะยาว"

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดขนอม บอกว่า หากดูจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ พบปีนี้หาดขนอมมีอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนมากที่สุด จากเดิมไม่มีไฟป่า แต่ปีนี้เกิดไฟป่าขึ้นหลายพื้นที่ คาดว่าหากมีฝนเข้ามา จะทำให้อากาศดีขึ้นและปะการังที่ฟอกขาวน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นด้วย

"ถือว่าโชคดีที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ นักท่องเที่ยวยังไม่หนาแน่นมาก ความเสียหายของปะการังจากฝีมือของนักท่องเที่ยวจึงไม่น่ากังวล"


อัปเดต 41 จุด 10 อุทยานฯ ปะการังฟอกขาวตาย

ข้อมูลจากส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล (สทล.) สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงการสำรวจปะการังฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.-2 ก.ค.2567 พบการตายจากการเกิดปะการังฟอกขาว 10 อุทยานแห่งชาติ 41 บริเวณ โดยแบ่งเป็นปะการังที่เกิดการฟอกขาวแล้วตายระดับสูง (31-50%) จำนวน 3 บริเวณ ปะการังที่เกิดการฟอกขาวแล้วตายระดับปานกลาง (11-30%) จำนวน 15 บริเวณ ปะการังที่เกิดการฟอกขาวแล้วตายระดับปานกลาง (1-10%) 23 บริเวณ


สำหรับ 10 อุทยานแห่งชาติ ที่พบการตายจากการเกิดปะการังฟอกขาว ได้แก่

- อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด 5 บริเวณ ได้แก่ เกาะทะลุ-หมู่เกาะเสม็ด, เกาะกุฎี, อ่าวลุงดำ, อ่าวกิ่วใน และเกาะกรวย

- อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี 2 บริเวณ ได้แก่ เกาะเหลากา และเกาะปากกะ

- อุทยานแห่งชาติสิรินาถ 3 บริเวณ ได้แก่ เขาไสคู, เกาะแวว และหน้าสถาบันประชารัฐพิทักษ์ทะเล

- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง 6 บริเวณ ได้แก่ เกาะทองหลาง-หมู่เกาะช้าง, เกาะมะปริง (หาดศาลเจ้า), เกาะไม้ซี้ใหญ่, เกาะหวาย, เกาะคลุ้ม และเกาะยักษ์ใหญ่

- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร 1 บริเวณ ได้แก่ เกาะรังกาจิว

- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา 3 บริเวณ ได้แก่ เกาะตามะใน, เกาะตามะกลาง และเกาะตามะนอก

- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 1 บริเวณ ได้แก่ เกาะปายัง (เกาะสอง)

- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 4 บริเวณ ได้แก่ เกาะสุรินทร์ใต้ (อ่าวเต่า), อ่าวไทรเอน, อ่าวแม่ยาย และอ่าวช่องขาด

- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง 13 บริเวณ ได้แก่ เกาะสามเส้า 05 (ทิศตะวันออกเฉียงใต้), เกาะสามเส้า (ทิศตะวันตก), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวหม่อง), เกาะไผ่ลวก (ไผ่ลวกน้อยทิศใต้), เกาะไผ่ลวก (ทิศตะวันตก), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวทองหลาง), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวคา), เกาะผี (อ่าวหน้าเกาะผี), เกาะแม่เกาะ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ), เกาะสามเส้า (หน่วยพิทักษ์ฯ), เกาะวัวตาหลับ (อ่าวดีปรี), เกาะแม่เกาะ (ทิศตะวันตก) และเกาะวัวตาหลับ (อ่าวตาซ้วง)

- อุทยานแห่งหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) จำนวน 3 บริเวณ ได้แก่ เกาะวังใน (ทิศตะวันตก), เกาะราบ (ทิศเหนือ) และเกาะราบ (ทิศตะวันตก)


https://www.thaipbs.or.th/news/content/341884

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:38


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger