#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับบริเวณอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 14?18 ก.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2?3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 12 ? 13 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 14 ? 18 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางซึ่งมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 15 ? 16 ก.ค. 67 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 14 ? 18 ก.ค. 67
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
เผยเหตุผลที่ไร้ชิ้นส่วนศพมนุษย์ ในซากเรือไททานิก ทั้งที่มีไม่ต่ำกว่า 1,500 ศพ ผู้เชี่ยวชาญอธิบายเหตุผลที่ไม่เคยมีการค้นพบซากกระดูกของผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำเรือไททานิกที่ประสบอุบัติเหตุ ชนภูเขาน้ำแข็งจนจมลงสู่ก้นทะเลเมื่อ 112 ปีก่อน ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,500 คน ปี ค.ศ. 2024 นี้นับว่าครบรอบปีที่ 112 ที่เรือสำราญสุดหรู "ไททานิก" ประสบอุบัติเหตุจนจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อปี ค.ศ. 1912 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,517 คน กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่โลกลืมไม่ลง? แม้จะมีผู้เสียชีวิตในจำนวนหลักพันและมีหลักฐานว่าผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่จำนวนมากยังคงติดอยู่ในเรือขณะที่จมลงท่ามกลางน้ำทะเลที่เย็นจัดเพราะอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือที่ความลึก 3,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่กลับไม่เคยมีทีมสำรวจทีมไหนเคยพบศพมนุษย์หรือแม้แต่โครงกระดูกของผู้เสียชีวิตในซากเรือไททานิกเลยแม้แต่ร่างเดียว สาเหตุสำคัญก็คือแบคทีเรียในทะเลที่ระดับน้ำลึกมาก ๆ นั้นสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์หรือก็คือเนื้อหนังของผู้เสียชีวิตออกจากโครงกระดูก? ส่วนสาเหตุที่ทำให้แม้แต่กระดูกของผู้เสียชีวิตก็ยังไม่มีเหลือนั้น ก็เนื่องมาจากองค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลที่จะเปลี่ยนแปลงตามระดับความลึกเป็นตัวการสำคัญ โรเบิร์ต บัลลาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจทะเลลึกซึ่งเป็นคนแรกที่ค้นพบซากเรือไททานิกในปี ค.ศ. 1985 อธิบายว่า น้ำทะเลที่อยู่ลึกลงไปจนถึงระดับหนึ่งนั้น สามารถสลายกระดูกมนุษย์ได้ เพราะน้ำทะเลที่อยู่ลึกมาก ๆ จะอยู่ในสภาพที่พร่องสารแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของน้ำทะเล ไม่เหมือนน้ำทะเลที่อยู่ด้านบนที่ผิวน้ำจะอิ่มตัวด้วยสารนี้ เนื่องจากสารแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกคนและสัตว์ ดังนั้น เมื่อมีสิ่งมีชีวิตที่ตายหรือตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าและโดนกินเนื้อหนังจนหมด เหลือแต่กระดูก น้ำทะเลก็จะทำให้ชิ้นส่วนกระดูกละลายหายไปกลายเป็นหนึ่งเดียวกับน้ำทะเล แต่ถึงแม้จะไม่พบซากชิ้นส่วนใด ๆ ที่บ่งบอกว่าเคยมีคนจำนวนมากที่จมลงพร้อมกับเรือไททานิก ทีมสำรวจกลับยังคงพบเห็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ หลายชิ้นที่ยังคงทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเลลึก เช่น รองเท้า, เครื่องประดับ เป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยมีชีวิตอยู่บนเรือแห่งโศกนาฏกรรมลำนี้ ที่มา : unilad.com https://www.dailynews.co.th/news/3635947/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
เปิดภาพนาที "พายุงวงช้าง" โผล่กลางทะเล หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวบ้านแชร์ภาพนาทีพายุงวงช้างกำลังดูดน้ำทะเลขึ้นไปบนท้องฟ้า ที่ หาดป่าตอง หลังฝนตกหนักในภูเก็ต เกรงจะเกิดพายุถล่ม แต่สุดท้ายสลายตัวไป เมื่อเวลา 11.45 น.วันนี้ (12 ก.ค.) มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โพสต์คลิปพายุงวงช้างที่กำลังเกิดขึ้นกลางทะเล อ่าวป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่กำลังเล่นน้ำอยู่ริมชายหาดป่าตอง โดยในคลิปท้องฟ้ามืดครึ้ม จากนั้นได้มีเมฆก่อตัวคล้ายม่านเป็นแผ่นกว้าง และพบว่าแนวก้อนเมฆมีพายุงวงช้างกำลังหมุน พร้อมกับสูบน้ำทะเลขึ้นไปบนท้องฟ้า โดยในคลิปมีการบรรยายด้วยว่า "พายุงวงช้างลงที่ทะเล ถ่ายจากชายหาดป่าตองหน้าโรงแรมเกรซแลนด์ ป่าตอง พายุงวงช้างหรือทอร์นาโดหน้าหาดป่าตอง น่ากลัวครับ น่ากลัว กำลังดูดน้ำทะเลขึ้นไป น่ากลัวครับ น่ากลัว" จากการสอบถาม ทราบว่า พายุงวงช้างก่อตัวอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นได้สลายตัวไปกลางทะเลอ่าวป่าตอง จากนั้นฝนได้ตกลงมาในพื้นที่ ทั้งนี้ พายุงวงช้าง หรือ Water Spqut เกิดจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยอากาศบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูงและมีลมอ่อน ทำให้อากาศที่ผิวน้ำไหลขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศที่อยู่โดยรอบซึ่งเย็นกว่าไหลเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว พายุดังกล่าวอาจเรียกว่าลมงวงช้างหรือทอร์นาโด https://mgronline.com/south/detail/9670000059363
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
'ดร.ธรณ์' หวั่น ผลกระทบ 'ปลาหมอคางดำ' ไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก 12 ก.ค.2567- ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในกรณีที่ปลาหมอคางดำลงทะเล ระบบนิเวศที่จะได้รับผลกระทบคือหาดทราย หาดเลน ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่อยู่ในน้ำกร่อยได้ สัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งจึงถูกคุกคาม หาดทราย/หาดเลนบางแห่งอยู่ในเขตน้ำกร่อย โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำลำคลอง ความเค็มต่ำ ปลาหมออยู่ได้ บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ขนาดเล็กที่อาจตกเป็นอาหารปลา ทำให้สัตว์น้ำลดลง ชาวบ้านทำมาหากินริมทะเล เช่น เก็บสัตว์น้ำ ทอดแห วางอวนทับตลิ่ง ฯลฯ ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างง่ายๆ คือปลากระบอกเริ่มหายไป ทอดแหวางอวนดันได้ปลาหมอมาแทน ป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งอยู่ตามชายฝั่ง ในเขตน้ำกร่อย เจอผลกระทบเช่นกัน ระบบนิเวศทั้งสองแบบเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งปลาหมอคางดำจะกินสัตว์เหล่านั้น ผลกระทบจึงไม่เกิดเฉพาะพื้นที่ แต่จะส่งผลถึงทะเลข้างนอก ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ในกรณีของแนวปะการัง อยู่ห่างชายฝั่ง น้ำเค็มมากหน่อย คิดว่าปลาหมอคงไปไม่ถึง แต่ยังมีหย่อมปะการังริมฝั่งที่อาจได้รับผลบ้าง ต้องติดตามดู เมื่อดูจากแผนที่ ผลกระทบตอนนี้อยู่ในอ่าวไทยตอนใน กำลังขยายตัวไปทางภาคตะวันออก ชายหาด ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเลริมฝั่งในจังหวัดระยอง เช่น ปากน้ำ บ้านเพ เรื่อยไปจนถึงจันทบุรีและตราด เป็นพื้นที่เสี่ยงลำดับต่อไป ยังรวมถึงหย่อมการแพร่กระจายอื่นๆ เช่น ภาคใต้ ปัญหาสำคัญคือการจับปลาหมอในทะเลลำบากกว่าในบ่อหรือในคลอง หากแพร่ระบาดออกไปจะยากต่อการควบคุม คิดว่าปลาหมอจะขยายพื้นที่ไปตามปากแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งรอบๆ แต่จะไม่ออกไปตามเกาะเล็กเกาะน้อย (ยกเว้นเกาะขนาดใหญ่ที่มีลำคลอง) ไม่คิดว่าปลาหมอจะว่ายตัดทะเลไปเกาะใหญ่ๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าติดไปแล้วลงสู่แหล่งน้ำบนเกาะ จะแพร่พันธุ์รอบเกาะได้ การควบคุมให้ปลาหมอไปไม่ถึงเกาะต่างๆ จึงสำคัญอย่างมาก ต้องช่วยกันระวังอย่าให้คนพาไป (ไม่ตั้งใจก็ต้องระวัง) สถานการณ์ตอนนี้คงต้องเริ่มจากติดตามว่าปลาหมอกลุ่มที่อยู่ตามชายฝั่งมีที่ไหนบ้าง มีมากมีน้อย แนวโน้มเป็นอย่างไร หาทางป้องกัน/กำจัดอย่างไร เรายังต้องการข้อมูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับปลาหมอคางดำในทะเล เพราะเป็นปลาเอเลี่ยน เราจึงไม่รู้การปรับตัว พฤติกรรมในทะเล อาหาร ผลกระทบ ฯลฯ ในทะเลไทยไม่เคยมีเอเลี่ยนจริงจังมาก่อน เมื่อมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ เราต้องรีบหาทางรับมือ หากเจอต้องช่วยกันรายงาน ปลาน้อยจับง่าย ปลาเยอะจับไม่หวาดไม่ไหว โดยเฉพาะตามเกาะใหญ่ๆ ที่มีแหล่งน้ำจืดไหลลงทะเล เช่น เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด เกาะสมุย พะงัน ฯลฯ เราต้องจัดการปัญหาตั้งแต่ต้น หากเจอรีบแจ้งเลยครับ https://www.csitereport.com/nexusans... https://www.thaipost.net/environment-news/619286/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
'เอลนีโญ-ลานีญา' ทำ 'ยุโรป' รวน พายุ-น้ำท่วม-คลื่นความร้อน-ไฟป่า มาพร้อมกัน .......... โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล KEY POINTS - "ยุโรป" กำลังเผชิญ "สภาพอากาศสุดขั้ว" ทางตอนเหนือของทวีปกำลังเผชิญหน้ากับฝนตกหนักและอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก แต่ขณะเดียวกันทางใต้ของยุโรปกำลังต่อสู้กับคลื่นความร้อนและไฟป่า - ระหว่างปี 2021-2023 เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 11,442 ครั้ง เป็น 16,956 ครั้งต่อปี โดยภูมิภาคยุโรปใต้มีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักที่สุด - ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนีโญและลานีญาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในยุโรป ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเอลนีโญและลานีญา ซึ่งในเวลานี้เป็นช่วงที่เอลนีโญคงมีอิทธิพล "ยุโรป" กำลังเผชิญ "สภาพอากาศสุดขั้ว" ทางตอนเหนือของทวีปกำลังเผชิญหน้ากับฝนตกหนักและอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ในขณะที่ทางใต้ของยุโรปกำลังต่อสู้กับคลื่นความร้อนและไฟป่า เบลเยียมเจอกับฝนตกหนักมากกว่าปรกติเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ถือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 119 ปี ช่วงกลางเดือนมิถุนายนเกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ จนทำให้มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบเดือน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายภูมิภาค เดือนมิถุนายน 2024 กลายเป็นเดือนที่แดดออกน้อยกว่าปรกติทั่วทั้งโซนยุโรปเหนือ โดยอุณหภูมิยังคงทะลุ 20 องศาเซลเซียสในหลาย ๆ พื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันประเทศทางใต้และตะวันออกกลับเจอกับปัญหาอากาศร้อนอบอ้าว รายงานล่าสุดของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เดือนมิถุนายน 2024 ทั่วโลกเผชิญกับอากาศร้อนกว่าเดือนมิถุนายนในปีก่อน ๆ นับเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือก็เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปีเช่นกัน ตั้งแต่ กรกฎาคม 2566-มิถุนายน 2567 ถือเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 อยู่ที่ 0.76 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมอีก 1.64 องศาเซลเซียส ยุโรปใต้เจอคลื่นความร้อนและไฟป่า สเปน อิตาลี และกรีซยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับวันหยุดฤดูร้อนของชาวยุโรป แต่จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวยุโรป หรือ ETC กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าไปยุโรปตอนใต้ลดลง 10% ตั้งแต่ปี 2022 เนื่องจากกลัวปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 76% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าพวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของตนเองตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่อีก 17% กล่าวว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงจัด โดยตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 32% ในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่านักเดินทางสูงวัยมีความกังวลเกี่ยวกับการรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด ในปีนี้ "คลื่นความร้อน" มาเยือนยุโรปเร็วกว่าที่เคย ภูมิภาคต่าง ๆ ของกรีซ ไซปรัส ตุรกี และอิตาลี กำลังเผชิญกับความร้อนจัด โดยบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลถึง 10 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 คนถูกพบว่าเสียชีวิตในกรีซหลังจากออกไปเดินป่าในช่วงอากาศร้อนจัด และยังมีอีกหลายคนหายตัวไป เมื่ออุณหภูมิที่ร้อนจัดเจอกับลมแรงทำให้เกิดไฟป่าใกล้กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ และในเขตอิซมีร์ของตุรกี ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตน อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศสจะเริ่มต้นขึ้น เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยของนักกีฬา จากอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ผู้จัดงานอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ สั่งซื้อเครื่องปรับอากาศแบบพกพาไว้ใช้ในหมู่บ้านนักกีฬา แต่จะต้องออกเงินจ่ายกันเอง เพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมของตนจะเย็นอยู่เสมอ ขณะที่ เจ้าหน้าที่ในสเปนเปิดตัวแผนที่ใหม่ สำหรับช่วยคาดการณ์คลื่นความร้อนได้แม่นยำยิ่งขึ้น และป้องกันการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ยุโรปเหนือเจอพายุและน้ำท่วม พายุพัดถล่มสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และทางตอนเหนือของอิตาลี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย เมืองเซอร์แมตต์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสกีรีสอร์ต ในสวิตเซอร์แลนด์ เผชิญฝนตกหนักจนหิมะในหุบเขาละลาย ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำของเมืองเอ่อล้น และเกิดน้ำท่วม ดินถล่มในหลายพื้นที่ จนปิดเส้นทางการเข้าถึงเมือง ขณะที่ ทางตอนเหนือของอิตาลี เกิดน้ำท่วม พายุฝนฟ้าคะนอง และดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน นักดับเพลิงชาวอิตาลีในแคว้นปีเยมอนเต ทางตอนเหนือของประเทศ เปิดเผยว่าตั้งแต่เข้าฤดูร้อนเป็นต้นมา พวกเขาได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้วประมาณ 80 ครั้ง โดยสามารถอพยพผู้คนได้หลายสิบคน ชาวบ้านในแคว้นวัลเลดาออสตา ของอิตาลีที่มีพรมแดนติดับฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ จำเป็นต้องอพยพย้ายออกจากหมู่บ้าน เนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก ขณะที่จังหวัดโอบ ในฝรั่งเศส เกิดลมกระโชกแรง จนต้นไม้หักโค่นทับรถ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ยุโรปเจอวิกฤติสภาพอากาศสุดขั้ว เพราะ "เอลนีโญ-ลานีญา" จากการวิจัยของ Inverto ที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับสากล พบว่าระหว่างปี 2021-2023 เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 11,442 ครั้ง เป็น 16,956 ครั้งต่อปี ในที่นี้รวมถึงการเกิดพายุลูกเห็บขนาดใหญ่ ฝนตกหนักหรือหิมะตก ฟ้าผ่าที่สร้างความเสียหาย ตลอดจนความแห้งแล้งที่เกิดจากอากาศร้อน และแม้กระทั่งพายุทอร์นาโด เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแต่ความเสียหายทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตอีกด้วย พายุลูกเห็บเพียงครั้งเดียวที่ใกล้เมืองบาเลนเซียทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน เมื่อปี 2566 ทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 40 ล้านยูโร ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนีโญและลานีญาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในยุโรป ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเอลนีโญและลานีญา ซึ่งในเวลานี้เป็นช่วงที่เอลนีโญคงมีอิทธิพล และทำให้อุณหภูมิสูงในมหาสมุทรและอากาศ ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้สัมพันธ์กันและเกิด "โดมิโนเอฟเฟกต์" กล่าวคือ สภาพอากาศในที่หนึ่งสามารถเปลี่ยนสภาพอากาศในอีกที่หนึ่งได้ ในบางพื้นที่อาจจะมีฝนลดน้อยลง แต่อีกที่อาจจะมีฝนมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยุโรปยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฐานะ "ทวีปที่ร้อนขึ้นเร็วที่สุด" สังเกตได้จากข้อมูลล่าสุดจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และ C3S พบว่าอุณหภูมิดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1991 ภูมิภาคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบหนักขึ้นจากสภาพอากาศสุดขั้วจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดคือ ยุโรปใต้ เช่น สเปน อิตาลี กรีซ ที่ถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของยุโรป ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านราคาอาหารและความพร้อมจำหน่ายมากขึ้น ทั้ง WMO และ C3S ต่างเตือนว่า ยุโรปจำเป็นต้องดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้รวดเร็วกว่านี้ ที่มา: Euro News https://www.bangkokbiznews.com/environment/1135478
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|